fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (8.2): ความผกผันทางการเมืองสยาม-ไทย กับกำเนิดขบวนการแยกดินแดนปาตานี

ดังที่นำเสนอในตอนที่แล้ว รากฐานของความขัดแย้งระหว่างสยามและปาตานีสั่งสมมาอย่างยาวนานและสลับซับซ้อน การทบทวนความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในบริบทอาณานิคม โดยเฉพาะในฐานะที่ภูมิภาคปาตานีเป็นดินแดนที่ ‘อยู่ระหว่าง’ การต่อรองอำนาจระหว่างสยามและเจ้าอาณานิคมบริติช จะช่วยให้เข้าใจที่มาของความขัดแย้งอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวมลายูมุสลิมปาตานีได้อย่างรอบด้านและสลับซับซ้อน มากกว่าที่จะกล่าวอย่างเหมารวมว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องผิดในตัวเองตั้งแต่แรก พร้อมกันนั้นจะทำให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลในประวัติศาสตร์ไม่ได้แยกขาดจากบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ด้วยเหตุที่ปาตานีมีที่ตั้งอยู่ระหว่างหน่วยทางการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่า ชะตากรรมของชาวมลายูปาตานีจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การกำหนดของตนเอง ทั้งยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำหนดของสยามหรือไทย มาลายา และเจ้าอาณานิคมบริติชที่อยู่รายรอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในฐานะที่ประเทศเหล่านี้มีตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ในระดับนานาชาติ จึงสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้ท่ามกลางประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนทางการเมืองในประวัติศาสตร์ทำให้ชีวิตทางสังคมและการเมืองของบุคคลสองคนกลายมามีบทบาทสำคัญในฐานะที่สร้างจุดเปลี่ยนในหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานี (ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับมาลายา สหราชอาณาจักรบริเตน และชาติอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง) ประวัติชีวิตและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลทั้งสองเป็นที่กล่าวขานและเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ชาวมลายูถูกกระทำจากรัฐไทย กระทั่งทำให้บุคคลทั้งสองนี้กลายไปเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของชาวมลายูปาตานีในเวลาต่อมา บุคคลทั้งสองนี้คือ ‘มะห์มูด มะไฮยิดดิน’ บุตรชายคนเล็กของรายาปาตานีคนสุดท้าย และครูสอนศาสนาที่รู้จักกันในนาม ‘ฮัจญีสุหลง’ โดยจะกล่าวถึงมะไฮยิดดินก่อน และจะกล่าวถึงฮัจญีสุหลงเป็นลำดับถัดไป

เติงกู มะห์มูด มะไฮยิดดิน (Tengku Mahmood Mahyiddeen) เกิดในปี 1908 ที่ปัตตานีและใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในกลันตัน ก่อนจะถูกส่งไปเรียนหนังสือในกรุงเทพมหานครเมื่ออายุได้ 12 ปี เมื่อราวปี 1920 กระนั้น เขาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของสยามได้เพียง 3 ปีก็ต้องอพยพข้ามพรมแดนไปกลันตัน เมื่อรายาอับดุลกาเดร์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลุกฮือเพื่อต่อต้านอำนาจสยามในช่วงปี 1923 (บ้างก็ว่าเขาอพยพไปอยู่กลันตันตั้งแต่ราวปี 1915 แล้ว บ้างก็ว่าเขายังอาศัยอยู่ที่ปัตตานีจนถึงช่วงเวลานั้นและอพยพไปหลังจากมีข้อกล่าวหา) มะไฮยิดดินอยู่ที่กลันตันได้ไม่นานก็ถูกส่งไปเรียนหนังสือต่อที่ปีนังจนถึงราวปี 1928 และจึงกลับมาทำธุรกิจเปิดร้านขายของในเมืองโกตาบารู (Kota Bharu) เมืองหลวงของกลันตัน[i]  

นักประวัติศาสตร์ ฮิวจ์ วิลสัน (Hugh Wilson) เห็นว่า การเรียนหนังสือในระบบของอังกฤษ โดยเฉพาะที่โรงเรียนเสรีแห่งปีนัง (Penang Free School) ซึ่งหลักสูตรมีเป้าหมายตระเตรียมนักเรียนให้เข้าสอบในระบบแบบเคมบริดจ์ น่าจะมีส่วนอย่างมากต่อการก่อร่างทางความคิด ความรู้ ตลอดจนความเคารพและภักดีต่ออังกฤษของมะไฮยิดดิน ในขณะที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้า มะไฮยิดดินเขียนจดหมายติดต่อและแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่บริติชโดยเฉพาะที่ปรึกษาชาวอังกฤษของสุลต่านกลันตันเป็นระยะ เขาสอบถามเกี่ยวกับสวัสดิภาพของผู้คนชาวมลายูในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะการแต่งงาน การผดุงครรภ์ การทำแท้ง ไปจนถึงสิทธิและการศึกษาของสตรี แม้ว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้จะไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติโดยทันทีทันใด แต่จดหมายของเขาก็คล้ายจะเป็นใบเบิกทางให้สำนักงานที่ปรึกษาบริติชแห่งรัฐบาลกลันตันชักชวนให้เขาเข้ามาทำงานด้านการศึกษา เขาเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ตรวจการการศึกษาในปี 1933 ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจนำเข้าส่งออกต่อไป[ii]

ผลงานในฐานะข้าราชการกรมการศึกษากลันตันของมะไฮยิดดินเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน ระหว่างปี 1933 จนถึง 1938 เขาผลักดันให้มีการเปิดโรงเรียนมากขึ้น ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง เพิ่มการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ คหกรรม และการครัวแบบมลายู กระทั่งอัตราการเข้าโรงเรียนของชาวมลายูในกลันตันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในเวลาต่อมาเขาได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและพัฒนาการศึกษาสมัยใหม่ของกลันตัน โดยเฉพาะการศึกษาสำหรับสตรี[iii]

ระหว่างญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรมาลายาและหลายส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะไม่ปรากฏรายละเอียดและลำดับเหตุการณ์ที่ชัดเจน แต่อย่างน้อย บันทึกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ทราบว่า ระหว่างปี 1939 จนถึง 1941 มะไฮยิดดินรับหน้าที่ทางด้านข่าวกรองว่าด้วยการสืบข้อมูลการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในประเทศไทย ขณะเดียวกันกับที่เขาเข้าร่วมอาสาสมัครกลันตัน (Kelantan Volunteers) ที่สำคัญ ในช่วงเวลาก่อนที่สิงคโปร์จะพ่ายแพ้และถูกญี่ปุ่นยึดครอง เขาอยู่ในทีมที่ช่วยเหลือคณะทหารอีกจำนวนหนึ่งให้หนีรอดจากการโจมตีของญี่ปุ่น และสามารถอพยพไปยังอินเดียได้สำเร็จ เมื่ออยู่ที่อินเดีย มะไฮยิดดินดูแลวิทยุกระจายเสียงภาษามลายูที่สื่อสารกับผู้คนในมาลายา ระหว่างสงคราม เขายังได้เดินทางไปอียิปต์ เมกกะ และดินแดนแถบคาบสมุทรอาหรับอื่นๆ เพื่อเกณฑ์ชาวมลายูที่กระจัดกระจายอยู่ในดินแดนแถบตะวันออกกลางมาร่วมรบ เขามีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งหน่วย ‘กองกำลังที่ 136’ (Force 136) และมีตำแหน่งระดับพันตรี (Major) เมื่อสงครามสิ้นสุดลง[iv]

มะไฮยิดดินตระหนักดีว่าชาวมลายูปาตานีมีความรู้สึกต่อต้านสยาม โดยเฉพาะภายใต้นโยบายชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังปรากฏว่า ในขณะที่เขาอยู่ที่เมกกะ (ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปลายปี 1943 จนถึงต้นปี 1944) ชาวปาตานีไม่ต่ำกว่า 80 คน ตั้งใจเดินทางมาพบกับเขา เพื่อพูดคุยและแสดงความภักดีต่อเขาในฐานะเชื้อสายของรายาปาตานี ทั้งนี้ ในระหว่างอยู่ที่อินเดียตลอดจนเดินทางไปแถบคาบสมุทรอาหรับ มะไฮยิดดินดูจะเชื่อว่าพวกบริติชจะสนับสนุนเขา เพื่อที่เขาจะกลับไปปกครองปาตานี เมื่อปาตานีเข้าร่วมกับบริติชมาลายาหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง โดยเฉพาะเมื่อมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าไทยจะแพ้สงครามและต้องคืนดินแดนมลายูตอนเหนือกลับไปให้อังกฤษ[v]

ทางฝั่งไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 1944 เติงกูอับดุลจาลัล บินเติงกูอับดุลมุตตอลิบ (Tengku Abdul Jalal bin Tengku Abdul Muttalib) หรือในชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี บุตรชายของรายาสายบุรีคนสุดท้าย ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดนราธิวาส ยื่นหนังสือร้องเรียนหลายฉบับต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งในสมัยจอมพล ป. เรื่อยมาจนถึง ควง อภัยวงศ์ ให้ปรับเปลี่ยนนโยบายที่สร้างความลำบากทางศาสนาและชาติพันธุ์ ตลอดจนการกดขี่ข่มเหงชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ปาตานี ในเวลาต่อมา เมื่อพบว่าความพยายามทางรัฐสภาไทยไม่เป็นผล เขาจึงอพยพไปกลันตันและหันไปเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติแทน[vi]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เติงกูอับดุลจาลัลเป็นหนึ่งในเจ็ดชนชั้นนำมลายูปาตานีที่ลงนามในจดหมายร้องทุกข์ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 1945 ถึงเลขาธิการแห่งอาณานิคมของบริเตนเพื่อเรียกร้องให้ชาติสัมพันธมิตรช่วยปลดปล่อยดินแดนและผู้คนชาวปาตานีออกจากการปกครองของชาวสยาม และถึงแม้ไม่ปรากฏว่ามะไฮยิดดินร่วมลงนามในจดหมายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฝั่งบริเตนก็เชื่อว่าเขาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หลังการปรึกษาและถกเถียงกันในหมู่เจ้าหน้าที่อาณานิคมและกระทรวงต่างประเทศ รัฐบาลบริติชก็ตัดสินใจเพิกเฉยจดหมายดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับไทย ซึ่งนับว่าสร้างความผิดหวังให้กับชนชั้นนำมลายูปาตานีในกลันตันรวมถึงมะไฮยิดดินเป็นอย่างมาก[vii]

ภายใต้ความหวังว่าหากไทยถูกพิจารณาให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามและจะมีโอกาสให้ปาตานีไปรวมกับบริติชมาลายา เติงกูมะห์มูด มะไฮยิดดิน, เติงกูอับดุลจาลัล, เติงกูปุตรา และชนชั้นนำปาตานีอพยพในกลันตันจึงก่อตั้งสมาคมมลายูแห่งมหาปาตานี (Association of the Malays of Greater Patani หรือ Gabungan Melayu Patani Raya: GAMPAR) ทางฝั่งมาลายา (น่าจะก่อตั้งขึ้นระหว่างปี 1944–1947 บ้างก็นับจากการเปิดตัวเป็นทางการในปี 1948 – โปรดดูต่อไปข้างหน้า) ในอีกฟากฝั่งของพรมแดน ทางฝั่งไทย ครูสอนศาสนาและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีที่รู้จักกันในนามฮัจญีสุหลง ก็ก่อตั้งเครือข่ายขบวนการประชาชนปาตานี (Patani People’s Movement: PPM) มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำศาสนาอิสลามและสนับสนุนวิถีชีวิตแบบมุสลิมของชาวมลายูปาตานี การเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวสองกระแสนี้แสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ไทยกับปาตานีอันจะกลายเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติ ทั้งยังคล้ายเป็นการวางรากฐานให้กับความเคลื่อนไหวที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน[viii]

ในขณะที่ GAMPAR ก่อตั้งโดยกลุ่มชนชั้นนำจารีต เครือข่าย PPM ก่อตัวขึ้นมาจากกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่กำลังขยายตัว นั่นคือผู้นำทางศาสนา หรือที่เรียกว่า ‘อูลามา’ (ulama) แบบสมัยใหม่ กล่าวในแง่นี้ นัยทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวที่นำโดยฮัจญีสุหลงประการสำคัญคือ ทำให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานีเคลื่อนจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำจารีต ไปสู่ความขัดแย้งแบบมวลชนมากขึ้น ทั้งยังทำให้เห็นว่าศาสนาอิสลามกลายมาเป็นส่วนสำคัญในอัตลักษณ์มลายูอย่างแยกไม่ออก ดังปรากฏผ่านการที่ผู้นำศาสนาอย่างฮัจญีสุหลงกลายมาเป็น ‘ผู้นำ’ และ ‘สัญลักษณ์’ ของการเคลื่อนไหว

ฮัจญีมูฮัมหมัดสุหลง บินอับดุลกาเดร์ บินมูฮัมหมัดอัลฟาฏอนี (Haji Muhammad Sulong bin Abdul Kadir bin Muhammad Al-Fatani) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในนาม ฮัจญีสุหลง เกิดที่ปัตตานีราวปี 1895 และถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมกกะเมื่ออายุได้ 12 ปี เขาศึกษาศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับอย่างแตกฉานจนสามารถเปิดโรงเรียนสอนศาสนาของตนเองที่เมกกะได้ เขากลับมาปัตตานีราวปี 1927 เมื่ออายุได้ราว 32 ปี หลังจากบ้านเกิดไปนานถึง 20 ปี เมื่อกลับมาแล้วพบว่าสถานการณ์ทางสังคมไม่เอื้อต่อการศึกษาศาสนาอิสลาม ทั้งการที่โต๊ะครูจำนวนมากไม่ได้สอนศาสนาอิสลามตามหลักการในคัมภีร์อัลกุรอานอย่างถูกต้อง ไปจนถึงการที่เขาเห็นว่า ชาวมลายูปาตานียังเชื่อในสิ่งลี้ลับซึ่งขัดกับหลักศาสนาอยู่มาก เขาจึงล้มเลิกความตั้งใจเดิมที่จะกลับไปสอนศาสนาที่เมกกะ โดยมุ่งมั่นที่จะลงหลักปักฐานและเผยแผ่ศาสนาอิสลามในดินแดนปาตานีอันเป็นบ้านเกิดแทน[ix]

ฮัจญีสุหลงตระเวนสอนศาสนาอิสลาม ‘แบบสมัยใหม่’ ตามชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคปาตานี ในด้านหนึ่ง กล่าวกันว่าผู้คนชาวมลายูปาตานีสนใจที่จะฟังการบรรยายของเขามากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของเขา นอกจากจะทำให้พวกโต๊ะครูหัวเก่าไม่พอใจแล้ว เขายังเริ่มถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย จนถึงช่วงปลายปี 1930 โครงการก่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอย่างเป็นรูปธรรมแห่งแรกในปัตตานีจากการริเริ่มของฮัจญีสุหลงและด้วยการสนับสนุนจากประชาชนก็เริ่มต้นขึ้น กระนั้นก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและการขัดแย้งกันในท้องถิ่นทำให้การดำเนินการชะลอตัวเป็นระยะ จวบจนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 โครงการก่อสร้างโรงเรียนดังกล่าวจึงได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้เดินทางมาร่วมงานเปิดโรงเรียนเมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1933 ด้วย นับแต่นั้นมา ฮัจญีสุหลงจึงเริ่มต้นเป็นโต๊ะครูอย่างเป็นกิจลักษณะ และทำให้ความยอมรับนับถือของประชาชนชาวมลายูปาตานีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ[x]

ความนิยมและความยอมรับนับถือในตัวฮัจญีสุหลงของประชาชนปาตานีกลายมาเป็นรูปธรรมเชิงโครงสร้างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคณะราษฎรสายปรีดี พนมยงค์ขึ้นมามีอำนาจ ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว การออก ‘พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธสักราช 2488’ [สะกดอักขระตามต้นฉบับ] ในปี 1945 จึงสถาปนาความเป็นสถาบันให้กับชนชั้นนำมุสลิมกลุ่มใหม่อย่างกลุ่มผู้นำศาสนา ผ่านกลไกในระดับท้องถิ่นอย่างคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด[xi] และฮัจญีสุหลงเป็นผู้ได้รับตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเป็นคนแรกหลังจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศใช้[xii]

ความไม่ลงรอยอันนำไปสู่การก่อตัวของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างฮัจญีสุหลงกับรัฐไทยในความหมายกว้างปรากฏชัดในกรณีการรื้อฟื้นตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมในช่วงปลายปี 1946 โดยมีเกณฑ์การรับสมัครข้อหนึ่งว่า ผู้สมัครจะต้องมีความรู้ภาษาไทยระดับอ่านออกเขียนได้ เรื่อยไปจนถึงข้อถกเถียงว่าจะต้องมีการแยกศาลศาสนาอิสลามเป็นเอกเทศจากศาลจังหวัดหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าข้อโต้แย้งของฝ่ายฮัจญีสุหลงและกลุ่มผู้นำศาสนาสายเดียวกันไม่เป็นผล การถูกปฏิเสธซ้ำๆ ไม่เพียงแต่สร้างความผิดหวัง แต่ยังมีส่วนในการทำให้เหตุผลทางศาสนาก่อตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเหตุผลทางการเมืองในการต่อต้านรัฐบาลไทยด้วย ขณะเดียวกัน การคัดค้านนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ฮัจญีสุหลงถูกจับตามองอย่างเข้มข้นขึ้นเช่นเดียวกัน[xiii]

หมุดหมายสำคัญคือ คำร้องขอ 7 ข้อที่มาจากการประชุมกันของกลุ่มผู้นำชาวมลายูมุสลิมปาตานีกว่า 100 คน ในช่วงเดือนเมษายน 1947 ซึ่งฮัจญีสุหลงในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเป็นตัวแทนเสนอต่อ ‘คณะกรรมการสอดส่องภาวะการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้’ ที่ตั้งโดยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์[xiv] แม้ว่าคำร้องขอดังกล่าวจะพิจารณาได้ว่ามีนัยว่าด้วยการปกครองตนเองภายใต้รัฐไทยมากกว่าที่จะเป็นการแบ่งแยกดินแดน แต่สำหรับรัฐบาลสมัยนั้น วิธีคิดว่าด้วยการปกครองตนเองก็ถือว่าโน้มเอียงไปในทางแบ่งแยกในตัวของมันเองแล้ว ภายใต้ความกระอักกระอ่วนดังกล่าว สิ่งที่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์พยายามผ่อนปรนคือเรื่องศาสนาอิสลาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ตลอดจนการสอนภาษามลายูในระดับพื้นฐาน ขณะที่เรื่องการปกครองตนเองซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดดูจะเป็นไปไม่ได้มากที่สุด[xv]

ในขณะที่ข้อขัดแย้งเรื่องดะโต๊ะยุติธรรมและการแยกศาลยืดเยื้อมาจนถึงเดือนสิงหาคม 1947 ก่อนที่ฮัจญีสุหลงจะได้รับหนังสือปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าการแยกศาลเป็นไปไม่ได้ ส่วนคำร้องขอทั้ง 7 ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับมวลชนของฮัจญีสุหลงจึงปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการปลุกระดมมวลชนผ่านมัสยิดและการปลูกฝังกรอบคิดเชิงชาตินิยมมลายูผ่านโรงเรียนสอนศาสนา ว่ากันว่าช่วงกลางเดือนสิงหาคม 1947 น่าจะเป็นกรณีแรกๆ ที่มีการบันทึกว่าฮัจญีสุหลงกล่าวในที่ประชุมที่มีผู้เข้าร่วมราว 100 คน ว่า เห็นควรจะต้องเชิญมะไฮยิดดินกลับมาเป็นผู้นำเมื่อชาวมลายูปาตานีสามารถเรียกร้องการปกครองตนเองได้สำเร็จ[xvi]

หลังการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 1947 ภายใต้การนำของผิน ชุณหะวัน คณะรัฐประหารมอบหมายให้ควง อภัยวงศ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในด้านหนึ่งรัฐบาลควงพยายามพิจารณาผ่อนปรนนโยบายเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม แต่พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็มุ่งหมายจะแก้ปัญหาความไม่สงบทางภาคใต้ โดยมุ่งจัดการกับผู้มีความคิดแบ่งแยกดินแดนด้วย แน่นอนว่ากลุ่มของฮัจญีสุหลงถูกจับตามองเป็นอย่างมาก และเมื่อรัฐบาลในขณะนั้นรู้สึกว่าความคิดต่อต้านรัฐบาลเริ่มเข้มแข็งและปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความเชื่อที่ว่าหากจับกุมฮัจญีสุหลงและแกนนำชาวมลายูได้ ความเคลื่อนไหวก็คงอ่อนกำลังลง จนถึงกลางเดือนมกราคม 1948 พระยารัตนภักดีในฐานะข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีดำเนินการจับกุมฮัจญีสุหลงในฐานะ ‘ตัวการก่อหวอดแบ่งแยกดินแดน’ โดยอาศัย ‘หนังสือฉันทานุมัติ’ ที่ฮัจญีสุหลงเสนอให้มะไฮยิดดินเป็นตัวแทนชาวมลายูปาตานีไปเจรจากับผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ เป็นหลักฐาน[xvii]

ในขณะนั้น ฮัจญีสุหลงพยายามรวบรวมรายนามและลายเซ็นชาวมลายูปาตานีเพื่อเสนอให้มะไฮยิดดินเป็นตัวแทนไปเจรจากับผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ หลังจากได้ข่าวว่ารัฐบาลไทยเองก็ต้องการเจรจากับมะไฮยิดดินซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในกลันตันเช่นกัน ในจดหมายลงวันที่ 5 มกราคม 1948 มีข้อความว่า

พวกเรา ชาวมลายูอิสลามภายใต้การปกครองของสยาม ต้องการจะแจ้งให้ท่านทราบว่าพวกเราไม่สามารถทนกับความอยุติธรรม ความทุกข์ยาก การกดขี่ และการสูญเสียอิสรภาพส่วนบุคคลทั้งหลายที่รัฐบาลสยามกระทำต่อเราได้อีกต่อไปแล้ว และแม้ว่าเราจะพยายามร้องขอต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาลสยามอยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อให้เรามีสิทธิในฐานะมนุษย์ ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับคำตอบที่พึงพอใจ แต่หลายครั้งเราไม่ได้รับการตอบกลับใดเลยเสียด้วยซ้ำ พวกเราจึงขอมอบอำนาจและสิทธิให้ท่านเป็นตัวแทนในการทำอะไรก็ตามเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อที่เราจะสามารถมีชีวิตอย่างที่มนุษย์ทั้งหลายในโลกที่มีเสรีภาพ ทวงคืนความเป็นชนชาติมลายูและศาสนาอิสลามของเรา ภายใต้ความมุ่งหมายและความประสงค์นี้ พวกเรา ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล ยินยอมพร้อมใจและยินดีที่จะมอบลายเซ็นหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ เพื่อมอบฉันทานุมัติให้ท่านเป็นตัวแทนในกระบวนการดังกล่าว[xviii]

หลังจากฮัจญีสุหลงและคนใกล้ชิดอีกสามคนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 1948 ในช่วงแรกพวกเขาถูกควบคุมตัวโดยปราศจากการตั้งข้อกล่าวหาและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว การจับกุมดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวมลายูจำนวนไม่น้อยออกมาประท้วงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวหรือประกันตัวเป็นระยะ ขณะที่ประชาชนชาวมลายูอีกจำนวนหนึ่งเริ่มอพยพหนีข้ามไปยังฝั่งกลันตัน ขณะเดียวกัน ทางฝั่งกลันตันเองก็มีความเคลื่อนไหว โดยเติงกูอับดุลจาลัลส่งโทรเลขร้องเรียนไปยังสหประชาชาติและนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรฯ ว่ารัฐบาลไทยกดขี่ข่มเหงชาวมลายู รวมถึงจับกุมผู้นำศาสนาอย่างไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยของไทยก็ได้รับโทรเลขนิรนามจากโกตาบารูเรียกร้องให้มีการทำประชามติว่าชาวมลายูทางภาคใต้ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของไทยหรือต้องการไปรวมกับมาลายา เชื่อว่าโทรเลขดังกล่าวน่าจะส่งโดยมะไฮยิดดิน แต่กระทรวงมหาดไทยก็เพิกเฉยไป[xix]

ความเคลื่อนไหวของชาวปาตานีอพยพในมาลายาปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1948 เมื่อ GAMPAR เปิดตัวอย่างเป็นทางการในโกตาบารู มีการแถลงวัตถุประสงค์ของขบวนการว่าต้องการรวบรวมชาวมลายูแห่งภาคใต้ของสยามและลูกหลานให้เป็นปึกแผ่น เพื่อปกป้องสวัสดิภาพ ปรับปรุงคุณภาพชีวิต การศึกษา และวัฒนธรรมของชาวมลายูทั้งหลาย ไม่นานจากนั้นพบว่า GAMPAR ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีสำนักงานอยู่ทั้งในเปอร์ลิส เคดะห์ ปีนัง และสิงคโปร์ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยมมลายูในมาลายาด้วย[xx]

การรัฐประหารอีกครั้งในเดือนเมษายน 1948 ทำให้จอมพล ป. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเชื่อได้ว่าในครั้งนี้จอมพล ป. เห็นว่าจำเป็นต้องประนีประนอมกับชาวมลายูมุสลิมปาตานีแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังคงจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องเสรีภาพทางศาสนา การแต่งกาย การสนับสนุนการสร้างมัสยิด และการพัฒนาระบบการศึกษา ส่วนเรื่องการปกครองตนเองนั้นยังคงถูกปฏิเสธอยู่เช่นเดิม แน่นอนว่า GAMPAR จึงเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. นั้นไม่ได้เข้าใจความต้องการของชาวมลายูปาตานีเสียเลย เพราะถึงที่สุดแล้วประเด็นสำคัญคือเรื่องสิทธิในการปกครองตนเอง[xxi]

ขณะเดียวกันกับที่ขบวนการทางการเมืองเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ ทางฝั่งไทย การปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยกับกลุ่มผู้ประท้วงชาวมลายูเรื่อยไปจนถึงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธก็ปรากฏเป็นระยะๆ ในหลายพื้นที่ แม้ว่าฝ่ายไทยจะไม่สามารถพบความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ได้อย่างชัดเจนก็ตาม และถึงแม้ว่าการปะทะกันด้วยอาวุธเหล่านี้จะเป็นข่าวไปทั้งในมาลายา สิงคโปร์ เรื่อยไปจนถึงอังกฤษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลต่างประเทศใดหรือองค์กรระหว่างประเทศไทยจะเข้ามาแทรกแซง[xxii]

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสยาม-ไทยกับปาตานียุ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อเป้าหมายหลักของรัฐบาลสหราชอาณาจักรคือการป้องกันมาลายาจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่กำลังเติบโตขึ้น ขณะที่ทางฝั่งไทยเอง รัฐบาลจอมพล ป. ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคใต้และเพิ่มกองกำลังทหารลงไปในภูมิภาคปาตานีโดยให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทางฝั่งมาลายาเองก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงปลายปี 1948 เช่นกัน ที่สำคัญ เมื่ออังกฤษกับไทยตกลงร่วมมือตรวจตราและกดปราบความเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนอย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 1949 เจ้าหน้าที่อาณานิคมบริติชก็เริ่มที่จะทัดทานและกดดันขบวนการเคลื่อนไหวของชาวปาตานีในฝั่งมาลายามากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งว่าสำนักงานของ GAMPAR ในสิงคโปร์ยังเคยถูกเจ้าหน้าที่บริติชบุกตรวจค้น เป็นต้น[xxiii]

สำหรับกรณีของฮัจญีสุหลง กว่าที่คดีของเขาและคนใกล้ชิดจะเริ่มพิจารณาก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือนมิถุนายน 1948 โดยย้ายไปพิจารณาที่นครศรีธรรมราช เนื่องจากฝ่ายรัฐเกรงว่าการพิจารณาคดีตลอดจนพยานในคดีจะถูกกดดันจากประชาชนชาวมลายูในพื้นที่ปาตานี หลังจากพิจารณาอย่างยาวนาน โดยประเด็นสำคัญคือการทำ ‘หนังสือฉันทานุมัติ’ ที่จะมอบให้กับมะไฮยิดดินดังที่กล่าวข้างต้น (ทั้งยังเกี่ยวโยงไปถึงคำร้องขอ 7 ข้อด้วย) จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 1949 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ลงโทษสถานเบา โดยกำหนดโทษไว้ที่จำคุก 3 ปี ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีอีกกว่า 1 ปี 3 เดือน จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 1950 จึงพิพากษาเพิ่มโทษฮัจญีสุหลงเป็น 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยคนอื่นให้ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทางฝั่งฮัจญีสุหลงจึงยื่นฎีกาเพื่อขอลดโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ฝ่ายจำเลยยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้คิดการกบฏและไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นรัฐบาล ทั้งยืนยันว่าสิ่งที่กระทำทั้งหมดล้วนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ถึงกระนั้น ปลายเดือนพฤศจิกายน 1950 คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาพิจารณาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ในท้ายที่สุด ฮัจญีสุหลงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดราวๆ 2 เดือนเศษ โดยถูกจำคุกอยู่จนถึงเดือนมิถุนายน 1952 (รวมระยะเวลาทั้งหมดราว 4 ปี 6 เดือน) ว่ากันว่าในตอนที่เขากลับถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มีประชาชนชาวปาตานีมาต้อนรับกว่า 1,000 คน[xxiv]

หลังได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลไทยยังคงติดตามดูฮัจญีสุหลงต่อไป ดังปรากฏว่ายังมีชื่อของเขาอยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่รัฐเพ่งเล็งเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกระทั่งช่วงเดือนสิงหาคม 1954 ตำรวจสันติบาลสงขลาเชิญฮัจญีสุหลงและคนใกล้ชิดไปพบ วันที่ 13 สิงหาคม 1954 ฮัจญีสุหลง เดินทางไปสงขลากับแวสะแม มูฮัมหมัด, เจ๊ะสาเฮาะ ยูโซ๊ะ และอาห์หมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตของเขา ก่อนที่ทั้งสี่คนจะหายสาบสูญไป เชื่อว่าทั้งหมดน่าจะถูกฆาตกรรม ผ่าท้อง ยัดแท่งปูน และทิ้งให้ศพจมทะเลบริเวณเกาะหนู ตรงข้ามหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา[xxv]

การเคลื่อนไหวระดับนานาชาติที่ไม่เป็นผลสำเร็จของ GAMPAR ไม่ว่าจะด้วยความสัมพันธ์ต่างตอบแทนระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลไทย หรือจะด้วยความไม่หนักแน่นของ GAMPAR เอง ไปจนถึงการสูญหาย (จากการถูกสังหาร) ของฮัจญีสุหลงและคณะ ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างสยาม-ไทยกับปาตานีนั้นไม่สามารถกลายไปเป็นปัญหาในระดับนานาชาติได้อย่างจริงจัง แต่ถูกพิจารณาให้เป็นแต่เพียงปัญหาภายในประเทศ (ของไทย) เท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความร่วมมือระหว่างมาลายากับไทย เรื่อยมาจนถึงมาเลเซียกับไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยทางการเมืองสองหน่วย ดูจะมีอิทธิพลเหนือกว่าความเชื่อมโยงเชิงชาติพันธุ์และวัฒนธรรมระหว่างชาวมลายูระหว่างสองฝั่งของพรมแดน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งในกรณีนี้กล่าวถึงมะไฮยิดดินและฮัจญีสุหลงเป็นการเจาะจง ล้วนแต่ไม่สามารถพิจารณาอย่างตัดขาดจากบริบททางสังคมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์การเมืองได้ ความผกผันในชีวิตของทั้งคู่ล้วนแต่ผูกโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่ 19 เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งกระแสชาตินิยมก่อตัวขึ้นในฐานะพลังทางสังคมที่มุ่งปลดแอกจากอาณานิคม การก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหวที่วางอยู่บนกรอบคิดชาตินิยมมลายูของชาวมลายูปาตานีก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับขบวนการชาตินิยมในมาลายา อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ในสยามเอง

กระนั้นก็ตาม ผลของสนธิสัญญาในปี 1909 ตลอดจนความตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองจึงทำให้สังคมปาตานีไม่สามารถถอดถอนความเป็นอาณานิคมได้ ต่างไปจากรัฐมลายูอื่นๆ ในมาลายา หรืออินโดนีเซีย สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มชาตินิยมมลายูจำนวนหนึ่งปรับตัวไปสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีเป้าหมายชัดเจนและเฉพาะเจาะจงขึ้น (และแตกต่างกันระหว่างกลุ่มต่างๆ) ตลอดจนใช้วิธีการที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BNPP (Barisan Nasional Pembebasan Patani), BRN (Barisan Revolusi Nasional), PULO (Patani United Liberation Organization) หรือ BBMP (Barisan Bersatu Mujahideen Patani) ที่ปรากฏตัวขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน


[i] ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ภายใต้ความพยายามต่อต้านอำนาจของสยามที่ไม่เป็นผล เติงกูอับดุลกาเดร์ รายาคนสุดท้ายของปาตานี ถูกขังอยู่ที่พิษณุโลกนานกว่าสามสิบเดือน ต่อมา เขาถูกปล่อยตัวให้กลับสู่ภูมิลำเนาในช่วงปี 1905 โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก การกลับมาเคลื่อนไหวต่อต้านสยามจึงทำให้เขาต้องลี้ภัยในที่สุด, Nantawan Haemindra, ‘The Problem of the Thai-Muslims in the Four Southern Provinces of Thailand (Part One)’, Journal of Southeast Asian Studies 7, no. 2 (1976): 203, https://doi.org/10.1017/S0022463400015010; Hugh Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen and the Dilemma of Partisan Duality’, Journal of Southeast Asian Studies 23, no. 1 (1992): 38.

[ii] Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen’, 39–41.

[iii] Wilson, 41–43.

[iv] Wilson, 43–44.

[v] Wilson, 44–45.

[vi] Haemindra, ‘The Problem of the Thai-Muslims in Southern Thailand’, 206–7.

[vii] Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen’, 48–49; ดูจดหมายฉบับเต็มใน Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 227–30.

[viii] Wan Kadir bin Che Man, ‘Muslim Separatism: The Moros in Southern Philippines and the Malays in Southern Thailand’ (PhD Thesis, Australian National University, 1987), 98–99.

[ix] เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พ.ศ. 2482–2497’ (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529), 9–14.

[x] ดูเพิ่มเติม เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, 14–22.

[xi] ณภัค เสรีรักษ์, ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (8.1): ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ รากฐานของความขัดแย้งสยาม-ปาตานี’, The 101 World (blog), 24 July 2023, https://www.the101.world/sea-history-of-losers-patani/.

[xii] ดูเพิ่มเติม เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 54–58.

[xiii] Thanet Aphornsuvan, Rebellion in Southern Thailand: Contending Histories, Policy Studies 35 (Singapore and Washington, D.C: Institute of Southeast Asian Studies and East-West Center Washington, 2007), 39–40; ดูเพิ่มเติม เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 58–73.

[xiv] ดูเพิ่มเติม พุทธพล มงคลวรวรรณ, ‘ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับ “ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง”’, รูสมิแล 30, no. 3 (2552): 15–27.

[xv] ดูเพิ่มเติม เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 74–83.

[xvi] เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, 91–92; Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen’, 52–53.

[xvii] ดูเพิ่มเติม เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 104–14.

[xviii] อ้างและแปลจาก Haemindra, ‘The Problem of the Thai-Muslims in Southern Thailand’, 210, นันทวรรณ เหมินทร์ อ้างจากจดหมายที่มะไฮยิดดินเขียนถึงบาร์บาร่า วิททิงนั่ม-โจนส์ (Barbara Whittingham-Jones) นักข่าวชาวอังกฤษซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา; สำหรับข้อความฉบับภาษาไทย จากคำพิพากษาคดี โปรดดู เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 107.

[xix] Haemindra, ‘The Problem of the Thai-Muslims in Southern Thailand’, 211–12; Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen’, 55–56.

[xx] นอกจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ยังขยายไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการทหารด้วย ดังที่ฝ่ายความมั่นคงของมาลายารายงานในช่วงเดือนมีนาคม 1948 ว่า พบค่ายฝึกทหารแบบกองโจรตามแนวชายแดนไทย-มาลายา มีค่ายฝึก ลานสวนสนาม และที่พัก โดยมีชาวมลายูจากปาตานี กลันตัน และเปรัก อายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี รวมกว่า 600 คน พร้อมอาวุธสงครามอยู่ในบริเวณดังกล่าว, Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen’, 56–57.

[xxi] Haemindra, ‘The Problem of the Thai-Muslims in Southern Thailand’, 216–20.

[xxii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 184–85.

[xxiii] Christie, 185; Wan Kadir bin Che Man, ‘Muslim Separatism’, 100–101; Wilson, ‘Tengku Mahmud Mahyiddeen’, 58–59.

[xxiv] Haemindra, ‘The Problem of the Thai-Muslims in Southern Thailand’, 218, 224; เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 120–47.

[xxv] เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’, 186; Thanet Aphornsuvan, Rebellion in Southern Thailand, 56.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save