fbpx

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ (8.1): ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ รากฐานของความขัดแย้งสยาม-ปาตานี

ประเด็นใจกลางที่เนื้อหาตอนต่างๆ ของซีรีส์นี้มีร่วมกันคือ ข้อเสนอว่าด้วยการปกครองตนเองไปจนถึงการแบ่งแยกดินแดนล้วนแต่มีรากฐานมาจากความไม่ลงรอยกันในการนิยามความหมายของความเป็น ‘รัฐ’ กับความเป็น ‘ชาติ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความหมายว่าด้วยชาติของกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็น ‘กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย’ ในรัฐนั้น (หรือผู้คนที่ตระหนักว่าตนเองกำลังจะกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในรัฐใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นต้น)

ในกรณีของชาวมลายูแห่ง ‘ภูมิภาคปาตานี/สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย’ กรอบคิดว่าด้วยชาติและสำนึกเชิงชาติพันธุ์ผูกโยงอยู่กับศาสนาอย่างแนบแน่น กล่าวคือ สำหรับคนมลายูปาตานีโดยทั่วไปแล้ว ‘ความเป็นมลายู’ กับ ‘ศาสนาอิสลาม’ เป็นสองสิ่งที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้เลย พูดอีกอย่างก็คือ ในบริบทของสังคมมลายูปาตานี การเป็นมลายูต้องเป็นมุสลิมด้วย ดังที่ปรากฏว่า การจะเข้าสู่ความเป็นมลายู (Masuk Melayu) หมายถึงการเข้ารับศาสนาอิสลาม และการรับศาสนาอิสลามก็นับเป็นลำดับขั้นตอนของการกลายเป็นมลายู เป็นต้น[i]

ในแง่นี้ ความแตกต่างในการนิยาม ชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา และรัฐ ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมไทยกับอุดมการณ์ชาตินิยมมลายูแห่งปาตานีจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการก่อตัวขึ้นของขบวนการที่มีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดนปาตานีตั้งแต่ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทั้งยังปรากฏการเคลื่อนไหวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้เราจะไม่สามารถเหมารวมว่าขบวนการทั้งหมดสืบเนื่องและเป็นเนื้อเดียวกันก็ตามที

เพราะฉะนั้น การทำราวกับว่าความขัดแย้งเพิ่งเกิดขึ้นราวสองทศวรรษจึงไม่เพียงพอ และการทำราวกับว่าปัญหาความขัดแย้งก่อตัวจากเรื่องปากท้องแต่เพียงอย่างเดียวก็ย่อมไม่เพียงพอเช่นกัน

เนื่องด้วยมูลเหตุพื้นฐานของความขัดแย้งดังกล่าวสั่งสมมายาวนานและซับซ้อนกว่านั้น การทบทวนประวัติศาสตร์สังคมปาตานี และที่สำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับสยาม อาจช่วยให้เข้าใจที่มาของความขัดแย้งได้อย่างรอบด้านและสลับซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเปลี่ยนแปลงในบริบทอาณานิคม ซึ่งทำให้ภูมิภาคปาตานีกลายเป็นดินแดนที่ ‘อยู่ระหว่าง’ (in-between) สยามกับมาลายาของอังกฤษ และต่อมาจะกลายเป็นประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียฝั่งคาบสมุทร

‘ปาตานี’ หรือ ‘ภูมิภาคปาตานี’ (region of Patani) เป็นคำเรียกรวมพื้นที่และดินแดนในเชิงภูมิศาสตร์ ในบริเวณที่กลายมาเป็นพื้นที่พรมแดนภาคใต้ของไทยกับภาคเหนือของมาเลเซียฝั่งคาบสมุทรในปัจจุบัน ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และเรื่อยมาจนถึงสถานการณ์ร่วมสมัย ครอบคลุมภูมิประเทศทั้งที่เป็นชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และพื้นที่สูงตอนในที่เป็นเขตป่าเขา กลุ่มชาติพันธุ์หลักคือชาวมลายู ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแรก และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม[ii] ในความหมายกว้าง ‘ภูมิภาคปาตานี’ อาจกินความครอบคลุมพื้นที่ที่เคยเรียกว่า ‘สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่เดิมส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและเป็นมุสลิม คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล แต่ในความหมายแคบจะเจาะจงเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออก เฉพาะแถบปัตตานี ยะลา นราธิวาส (และบางส่วนของสงขลา) โดยไม่นับสตูลทางฝั่งอันดามันเข้าไว้ด้วย ทั้งด้วยเหตุผลในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์[iii]

ในปัจจุบัน ภูมิภาคนี้ (โดยเฉพาะในความหมายแคบ) เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็น ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย’ หรือที่บ้างก็เรียกว่า ‘สามจังหวัดฯ สี่อำเภอฯ’ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดจนพื้นที่สี่อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย โดยมีนัยว่าด้วยการเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งระหว่างขบวนการเอกราชปาตานีกับรัฐไทย[iv]

หากพิจารณาจากจุดยืนที่มีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของรัฐรวมศูนย์แบบสยาม-ไทย อาจกล่าวได้ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือที่บ้างก็เรียกว่าภาคใต้ตอนล่าง (deep south) เป็นพื้นที่ชายขอบและห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง

อย่างไรก็ตาม หากเราจะย้ายศูนย์กลางของการทำความเข้าใจไปตั้งอยู่ที่จุดยืนของภูมิภาคปาตานีเอง หรืออีกนัยหนึ่ง พิจารณาท้องถิ่นต่างๆ ในฐานะที่มีประวัติศาสตร์อันเป็นเอกเทศในตัวเองระดับหนึ่ง (autonomous histories)[v] ผู้คนแห่งภูมิภาคปาตานีย่อมไม่ถือว่าตนเองเป็นชายขอบ

ปาตานีเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน หลักฐานทางโบราณคดีโดยเฉพาะอาคารและศิลปวัตถุแบบฮินดูและพุทธแสดงให้เห็นว่าดินแดนแถบดังกล่าวมีผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 หลักฐานทางโบราณคดีในสมัยกลางจำพวกเครื่องถ้วยชามประกอบกับบันทึกจากพ่อค้าและนักเดินเรือชาวจีน ญี่ปุ่น อาหรับ โปรตุเกส สเปน ดัตช์ และอังกฤษ ทำให้เราทราบว่าปาตานีเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างศตวรรษที่ 16 จนถึง 18 เป็นอย่างน้อย

สำหรับชาวปาตานี งานเขียนชิ้นสำคัญที่กลายเป็นแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์คือ ตำนานเมืองปาตานี หรือ ฮิกายัต ปาตานี (Hikayat Patani)[vi] ซึ่งเล่าเรื่องราวการตั้งถิ่นฐาน การก่อตั้งเมืองปาตานี จนกระทั่งขยายตัวไปเป็นอาณาจักร ตลอดจนตำนานการรับศาสนาอิสลามของชนชั้นปกครองปาตานี ในแง่หนึ่ง งานเขียนชิ้นนี้เป็นแหล่งอ้างอิงกลับไปถึงความยิ่งใหญ่ในฐานะเมืองท่าการค้าที่สำคัญในศตวรรษที่ 17 และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ ความรุ่งเรืองในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและการเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เปรียบได้กับการเป็น ‘บ้านแห่งอิสลาม’ ไม่ด้อยไปกว่าอาเจะห์[vii]

ในทางกลับกัน เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยความรุ่งเรืองคล้ายจะขับเน้นให้ประวัติศาสตร์ของความถดถอยเด่นชัดขึ้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ปาตานี (และเคดะห์) ถูกกองทัพสยามรุกรานอยู่หลายครั้งและมีฐานะเป็นดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของสยามแบบกลายๆ ภายใต้ระบบบรรณาการ (tributary) หรือที่เรียกว่า ‘ประเทศราช’ ซึ่งไม่ได้เป็นระบบถาวรและเปลี่ยนไปมาได้ตามแต่การเพิ่มพูนและถดถอยของอำนาจต่อรองระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าและต่ำกว่าในช่วงเวลาหนึ่ง (superior-inferior relations) ดินแดนของชาวมลายูทั้งปาตานี กลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิส และเคดะห์ ล้วนแต่ไม่ได้อยู่ใต้ระบบบรรณาการของสยามเพียงข้างเดียว หากยังอยู่ใต้อำนาจของดินแดนของชาวมลายูและชวาที่เหนือกว่าอื่นๆ ในหลายช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็น ปาเล็มบัง มัชปาหิต จนถึงมะละกา-โจโฮร์ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุดังกล่าว ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการสู้รบกันเรื่อยมา[viii]

หลังการสถาปนาอาณาจักรกรุงเทพโดยราชวงศ์จักรีในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 สยามก็ค่อยๆ ผนวกเอา ‘หัวเมืองมลายู’ ทั้งหลายมาอยู่ใต้อำนาจอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าที่จะเป็นเพียงประเทศราชใต้ระบบบรรณาการ รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในกรณีของภูมิภาคปาตานีคือ การถูกแยกย่อยภายใต้กรอบคิดแบบ ‘แบ่งแยกและปกครอง’ (divide-and-rule) ให้กลายเป็น ‘เจ็ดหัวเมือง’ ประกอบด้วย ปัตตานี หนองจิก รามัน ระแงะ สายบุรี ยะลา และยะหริ่ง โดยให้ขึ้นต่อสงขลา

กล่าวได้ว่า การขยายอิทธิพลของบริเตนบนคาบสมุทรมาลายาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเข้มข้นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในอินโดจีนระหว่างครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ล้วนแต่ส่งอิทธิพลกับการดำเนินนโยบายของสยามต่อ ‘อาณานิคมภายใน’ ของตนเอง

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการปฏิรูประบบราชการและกลไกการปกครองเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ปี 1899 ที่รัฐบาลสยามพยายามผนวกดินแดนประเทศราชเข้าสู่ระบบเทศาภิบาล เรื่อยมาจนถึงช่วงปลายปี 1901 เมื่อสยามออกข้อบังคับให้มีการแต่งตั้งปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง ไปช่วยพวกเจ้าเมืองต่างๆ ในการปกครอง ตลอดจนการเก็บภาษีอากรโดยตรงผ่านสรรพากร ในกรณีของภูมิภาคปาตานี พระยาตานี หรือรายาอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน (Tengku Abdul Kadir Kamaruddeen) ซึ่งนับเป็น ‘รายา’ หรือเจ้าเมืองปาตานีคนสุดท้าย ต่อต้านการถูกผนวกรวมอย่างเบ็ดเสร็จดังกล่าว[ix] ในช่วงต้นปี 1902 รัฐบาลสยามจับกุมเขาและพรรคพวกโดยส่งไปสืบสวนที่สงขลา ก่อนที่จะนำไปขังไว้ที่พิษณุโลกรวมระยะเวลากว่า 2 ปี 9 เดือน โดยถูกถอนถอนจากตำแหน่งเจ้าเมือง และนับจากนั้นเป็นต้นมาผู้ปกครองปาตานีก็เป็นคนที่ได้รับแต่งตั้งจากสยามโดยตรง แนวเรื่องเล่าภายใต้กรอบคิดแบบชาตินิยมมลายูปาตานีจึงเสนอว่าปี 1902 เป็นช่วงเวลาที่ปาตานีตกอยู่ใต้อำนาจของสยามโดยสมบูรณ์[x]

ยิ่งไปกว่านั้น การลงนามสนธิสัญญาแองโกล-สยาม (Anglo-Siamese Treaty) ในปี 1909 เป็นหมุดหมายสำคัญ ทำให้เส้นเขตแดนที่ระบุขอบเขตอำนาจของสยามกับบริติชเป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยกลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และเปอร์ลิส กลายเป็นดินแดนใต้อำนาจของบริติช ในขณะที่ภูมิภาคปาตานี (ในความหมายแคบ) และพื้นที่ที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสตูลซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของสุลต่านเคดะห์ กลายมาเป็นดินแดนของสยาม เส้นแบ่งเขตแดนดังกล่าวเป็นตัวอย่างสำคัญอีกกรณีหนึ่งที่การแบ่งเขตแดนในสมัยอาณานิคมกลายมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐในบริบทหลังอาณานิคม[xi] ในทำนองเดียวกันกับผลของเหตุการณ์ในปี 1902 ผลของสนธิสัญญาดังกล่าวจึงทำให้ปี 1909 เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี (รวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อมนุษยธรรม) ใช้เป็นจุดอ้างอิงถึงกำเนิดความล่มสลายของสังคมปาตานีในยุคสมัยใหม่

นับแต่นั้นมา กระบวนการสร้างความเป็นไทย ทั้งในแง่กลไกการปกครอง ศาสนา ระบบการศึกษา และภาษา จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านโดยชาวมลายูเป็นลำดับ กระทั่งสยามก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายของตนเอง[xii] อย่างไรก็ตาม จุดหักเหสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นำโดยคณะราษฎรในปี 1932 ซึ่งในแง่หนึ่งนั้น ดูเหมือนจะเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ชาวมลายูมุสลิมสามารถต่อรองกับกลไกการปกครองของรัฐไทยผ่านกลไกทางรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา แต่พร้อมกันนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการก่อตัวและขยายตัวของอุดมการณ์แบบชาตินิยมไทย ที่นำไปสู่กระบวนการผนวกรวมและดูดกลืนทางวัฒนธรรม (assimilation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขึ้นสู่อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี 1938

นโยบายวัฒนธรรมในสมัยจอมพล ป. ทั้งเรื่องการแต่งกาย การห้ามกินหมาก ฯลฯ รวมถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ต่างเป็นเครื่องยืนยันวิธีคิดว่าด้วยการสร้างเอกภาพของชาติ (ไทย) สมัยใหม่ (แบบตะวันตก) และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ แม้ว่านโยบายเหล่านี้จะไม่ได้มุ่งเจาะจงจะจัดการกับชาวมลายูมุสลิมปาตานี แต่มุ่งหมายกับผู้คนกลุ่มต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ (และที่สำคัญอาจมุ่งหมายไปที่ชาวจีนมากที่สุด) ทว่า สำหรับชาวมลายูมุสลิมแห่งปาตานีแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาทั้งสิ้น และที่สำคัญ ถึงแม้ว่าการต่อต้านอำนาจสยามจะมีมาตลอดประวัติศาสตร์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงเวลานี้เองที่เป็นบริบทในการก่อเกิดขบวนการชาตินิยมที่มีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดนปาตานีในแบบสมัยใหม่[xiii]

เมื่อก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและบุกยึดครองดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป. เอื้อต่อกระบวนการสร้าง ‘มหาอาณาจักรไทย’ โดยเฉพาะความพยายาม ‘ทวงคืน’ ดินแดนที่ (เชื่อว่า) เป็นของไทยและสูญเสียไปในสมัยอาณานิคม ทั้งในพม่า กัมพูชา ลาว และหัวเมืองมลายู สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ไทยกับสหราชอาจักรบริเตนเผชิญหน้ากันโดยตรง ทั้งยังเอื้อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาและสร้างความภักดีระหว่างพวกบริติชกับชนชั้นนำมลายูปาตานีบางส่วน[xiv]

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวคือ มะห์มูด มะไฮยิดดิน (Tengku Mahmud Mahyiddeen) บุตรของรายาอับดุลกาเดร์ อดีตเจ้าเมืองปาตานีซึ่งอพยพไปอยู่กลันตันและเสียชีวิตที่นั่นในที่สุด มะห์มูด มะไฮยิดดิน ทำงานเป็นข้าราชการในกลันตัน และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เข้าร่วมกับกองกำลังกลันตันและร่วมกับทหารอังกฤษสู้รบกับญี่ปุ่น เขามีบทบาทสำคัญในกองกำลังของอังกฤษทั้งในอินเดียและมาลายา โดยเฉพาะบทบาทในการเกณฑ์ชาวมลายูในรัฐมลายูทางตอนเหนือและปาตานีมาร่วมในหน่วยรบ ‘กองกำลังที่ 136’ (Force 136)[xv]  

หลังการพ่ายแพ้และถอนกำลังของญี่ปุ่นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเดือนสิงหาคม 1945 และทหารบริติชกลับเข้ามามีบทบาท ‘ฟื้นฟู’ อินโดจีนตอนใต้ ไทย มาลายา สุมาตรา และชวา จากภาวะสงคราม ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง ชนชั้นนำมลายูปาตานีส่งจดหมายร้องทุกข์ถึงเลขาธิการแห่งอาณานิคมของบริเตน (Secretary of State for the Colonies) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรบริเตนและชาติสัมพันธมิตร ‘ปลดปล่อย’ ชาวมลายูปาตานี เพราะไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลสยามอีกต่อไป นอกจากประเด็นเรื่องการถูกบังคับให้กลายเป็นไทยในเชิงวัฒนธรรมโดยเฉพาะภาษาและศาสนา นัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เชื่อว่าหากปาตานีไปรวมอยู่กับบริติชมาลายาแล้ว การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจจะดีกว่าอยู่ภายใต้สยามเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นการ ‘คืน’ ชาติของชาวมลายูให้แก่ชาวมลายูเพื่อให้ไปรวมอยู่กับชาติมลายูอื่นๆ ในคาบสมุทรด้วย[xvi]

จดหมายดังกล่าวลงนามโดยชนชั้นนำมลายูปาตานีเจ็ดคน โดยที่ไม่ได้มีชื่อของมะห์มูด มะไฮยิดดิน รวมอยู่ด้วย แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลบริเตนก็เชื่อว่าเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังไม่มากก็น้อย กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่บริเตนก็เห็นว่าคงเป็นเรื่องไม่สมควรที่จะตอบจดหมายที่มาจากประชาชนของชาติอื่น (อันหมายถึงไทย) ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้บรรยากาศที่สังคมต่างๆ ต้องการเสถียรภาพหลังสงคราม การร่วมมือกับรัฐบาลไทยจึงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และที่สำคัญ พม่าและมาลายาซึ่งบอบช้ำจากภาวะสงครามกำลังต้องการนำเข้าข้าวจำนวนมากซึ่งไทยเป็นผู้ผลิต ขณะเดียวกัน ประกอบกับการที่สหรัฐอเมริกาตั้งท่าว่าจะไม่สนับสนุนการเจรจาใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปัตย์ของไทย คำร้องขอของชนชั้นนำมลายูปาตานีจึงไม่สามารถเป็นจริงได้[xvii]

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความหวาดระแวงว่าอังกฤษจะผนวกเอาปาตานีไปรวมอยู่กับมาลายา ตลอดจนความพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ รัฐบาลคณะราษฎรสายปรีดี พนมยงค์ จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะการรื้อฟื้นธรรมเนียมและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่เคยปฏิบัติมาก่อนแล้วหลังการผนวกรวมหัวเมืองมลายูเข้าสู่การปกครองของสยามในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่เลิกไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งการละหมาดวันศุกร์ รวมไปถึงการใช้กฎหมายอิสลามในการตัดสินคดีความของชาวมุสลิมเกี่ยวกับมรดก ครอบครัว และการแต่งงาน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังรวมถึงการออก ‘พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธสักราช 2488’ [สะกดอักขระตามต้นฉบับ] อันจะนำไปสู่การสร้างและดึงเอาเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรี การก่อตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากพอสมควร[xviii]

ในทางหนึ่ง การปฏิรูปนโยบายเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในช่วงเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงแนวการดำเนินนโยบายทางวัฒนธรรมที่ดูจะเปิดพื้นที่ให้กับพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายความหมายของพลเมืองไทยให้ครอบคลุมพลเมือง (ไทย) ที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย แต่พร้อมกันนั้น การเปิดพื้นที่ยังมีนัยของการทำให้ปรากฏและดึงเข้าสู่โครงสร้างการปกครองเพื่อความสะดวกในการควบคุม ที่สำคัญ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นจุดกำเนิดของการสร้างความหมายว่าด้วยความเป็น ‘ไทยมุสลิม’ และ ‘ไทยอิสลาม’ ขึ้นมา[xix]

ในอีกทางหนึ่ง โครงสร้างและสถาบันทางสังคมอย่างเป็นทางการของชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คล้ายจะเป็นการวางรากฐานให้กับการเกิดขึ้นของชนชั้นนำมุสลิมกลุ่มใหม่ในชุมชน นั่นคือกลุ่มผู้นำทางศาสนา ให้ขึ้นมามีบทบาททัดเทียมหรือกระทั่งเหนือกว่ากลุ่มชนชั้นนำเดิมตามจารีตในเวลาต่อมา[xx]

กระนั้นก็ตาม ขณะที่ผลของการปฏิรูปยังไม่ปรากฏเป็นจริง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและภาวะไร้ขื่อแปหลังสงครามยังดำเนินอยู่ทั่วประเทศ พื้นที่ชายแดนไทย-มาลายาเป็นหนึ่งในพื้นที่ลักลอบขนย้ายสินค้าอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขนส่งข้าวไปยังมาลายา ในภูมิภาคปาตานีมีรายงานเรื่องการคอร์รัปชันจำนวนมาก ไปจนถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์และการซ้อมทรมานประชาชนชาวมลายูโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1947 เกิดการประท้วงหลายครั้งในปาตานีและสตูล รัฐบาลไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องราวการร้องทุกข์เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงและไปรับฟังข้อมูลข้อเรียกร้องจากผู้นำทางศาสนาชาวมุสลิมในปาตานี กลุ่มผู้นำทางศาสนาในปาตานีจึงประชุมกันเพื่อร่างข้อเสนอ ก่อนที่จะสรุปรวมเป็นคำร้องขอ 7 ข้อ โดยฮัจญีสุหลง (Haji Sulong) ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นตัวแทนเสนอ[xxi]

สาระสำคัญคือ การเสนอให้ผู้นำหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองระดับสูงในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) เป็นคนมุสลิมจากสี่จังหวัดนี้และมาจากการเลือกตั้งโดยชาวมุสลิมในพื้นที่, มีสัดส่วนข้าราชการให้เป็นคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ร้อยละ 80, การใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในหนังสือราชการ, ให้สอนภาษามลายูในโรงเรียนประถม, รายได้จากภาษีอากรในสี่จังหวัดนี้ให้ใช้เฉพาะแต่ในสี่จังหวัดนี้เท่านั้น, การใช้กฎหมายอิสลาม และให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสามารถออกระเบียบปฏิบัติทางศาสนาได้ภายใต้ความเห็นชอบจากผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในข้อแรก[xxii]

เห็นได้ว่าคำร้องขอดังกล่าวไม่มีนัยว่าด้วยการแบ่งแยกดินแดนเลย อย่างมากที่สุดก็คือการปกครองตนเองในกรอบของรัฐไทย ถึงกระนั้น ข้อเสนอเหล่านี้ก็สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลไทย คำร้องขอทั้ง 7 ถูกนำเข้าพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบนัก แม้ว่ารัฐบาลไทยดูจะยินยอมที่จะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่นั่นก็อยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดว่าด้วยความเป็น ‘ไทยมุสลิม’ อะไรก็ตามที่จะเป็นการให้สิทธิแก่ความเป็นชาติพันธุ์อื่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในที่นี้หมายถึงชาวมลายู ตลอดจนการให้อำนาจทางการเมืองในการปกครองตนเองในระดับภูมิภาค (regional autonomy) ดูจะอยู่นอกเหนือขอบเขตที่รัฐบาลไทยจะยินยอมได้ เนื่องเพราะเชื่อว่าจะเป็นการท้าทายวิธีคิดว่าด้วยการเป็นรัฐเดี่ยวที่แบ่งแยกไม่ได้ในตัวของมันเอง[xxiii]

ในสภาวะฝุ่นตลบ ผลพวงจากการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 1947 ที่นำโดยผิน ชุณหะวัณ ภายใต้การสนับสนุนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้สังคมไทยเคลื่อนกลับไปสู่ภาวะอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมอีกครั้ง คำร้องขอของชาวมลายูมุสลิมถูกให้ความหมายในฐานะที่เป็น ‘การก่อความไม่สงบ’ และกระทั่งว่าเป็นความพยายาม ‘แบ่งแยกดินแดน’ รัฐบาลไทยเชื่อว่าฮัจญีสุหลงและผู้นำศาสนาในปาตานีพยายามติดต่อมะห์มูด มะไฮยิดดิน ซึ่งในขณะนั้นพำนักอยู่ที่กลันตัน ให้กลับมาเป็นแกนนำชาวมลายูมุสลิมในการต่อต้านอำนาจรัฐไทย กระทั่งนำไปสู่การจับกุมฮัจญีสุหลงในเดือนมกราคม 1948[xxiv]

การเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงและมะห์มูด มะไฮยิดดินจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างสยาม-ไทยกับปาตานีอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป


[i] ในบริบทของความขัดแย้งที่ถูกทำให้เชื่อว่ามีรากฐานมาจากความต่างทางศาสนา คนมลายูที่ไม่ได้เป็นมุสลิม เช่น ครอบครัวชาวมลายูที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม หรือชาวมลายูที่แต่งงานกับผู้คนในศาสนาอื่นและ ‘ออก’ จากการเป็นมุสลิม หรือแม้แต่ผู้ที่ถูกพิจารณาว่า ‘ไม่เป็นมุสลิมมากพอ’ ก็มีโอกาสถูกผลักออกจาก (หรือทำให้รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับ) เครือข่ายสังคมของชาวมลายู ไม่มากก็น้อย

[ii] ดังที่กล่าวในตอนแรกของชุดบทความนี้ ผมใช้คำว่า ‘ปาตานี’ ในฐานะที่เป็น ‘ภูมิภาค’ ด้วยนัยที่ต้องการให้ต่างออกไปจากคำว่า ‘ปัตตานี’ ซึ่งเป็นชื่อจังหวัด ทั้งนี้ สำหรับข้อถกเถียงว่าด้วยความเป็นการเมืองในการใช้คำว่า ‘ปัตตานี’ ‘ปาตานี’ และ ‘ฟาฏอนี’ โปรดดูเพิ่มเติม รอมฎอน ปันจอร์, ‘การเมืองของถ้อยคำในชายแดนใต้/ปาตานี: การประกอบสร้าง “สันติภาพ” ในความขัดแย้งชาติพันธุ์การเมือง’ (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), โดยเฉพาะ 57-90; นอกจากนั้น แม้กระทั่งในการใช้คำว่า ‘ปาตานี’ ในฐานะที่เป็นชื่อภูมิภาคและชื่อเรียกอาณาจักรในประวัติศาสตร์ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการถอดเสียงว่าควรจะเป็น ‘ปาตานี’ ‘ปะตานี’ หรือ ‘ปตานี’ ซึ่งแสดงให้เห็นนัยที่ต่างออกไป ประเด็นนี้อยู่นอกเหนือเป้าประสงค์ของเนื้อหาตอนนี้และซีรีส์นี้ ผู้สนใจโปรดดูเพิ่มเติม จีรวุฒิ บุญรัศมี, ‘ปัตตานี VS ปาตานี กับประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ที่เพิ่งสร้าง’, The Momentum, 1 July 2023, https://themomentum.co/feature-history-patanee/; ทวีพร คุ้มเมธา, ‘“ปาตานี” vs สามจังหวัดชายแดนใต้ การเมืองของคำเรียก’, ประชาไท, 12 September 2015, https://prachatai.com/journal/2015/09/61358 เป็นต้น.

[iii] ในเว็บไซต์ Ethnologue ฐานข้อมูลออนไลน์ที่มุ่งหมายจะรวบรวมภาษาในโลกให้ได้มากที่สุด จำแนกภาษามลายูในประเทศไทยออกเป็นสองสำเนียง คือ มลายูปาตานี/ปัตตานี (Pattani Malay) และ มลายูสตูล (Satun Malay) หรือ มลายูเคดะห์ (Kedah Malay), โปรดดู ‘Thailand’, Ethnologue: Languages of the World, accessed 18 July 2023, https://www.ethnologue.com/country/TH/.

[iv] ทั้งนี้ การเรียกว่าเป็น ‘จังหวัดชายแดนภาคใต้’ นั้นถูกเรียกในฐานะพื้นที่หรือภูมิภาคเชิงสังคมวัฒนธรรมในภาพรวม แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เขตแดนระหว่างรัฐทั้งหมด กล่าวคือ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ขณะที่จังหวัดปัตตานี อำเภอเทพา และอำเภอจะนะ ไม่มีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ในขณะที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และมีด่านข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซียที่เป็นด่านหลักถึงสองด่าน คือ ด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ใน ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’

[v] ดูเพิ่มเติม John R. W. Smail, ‘On the Possibility of an Autonomous History of Modern Southeast Asia’, Journal of Southeast Asian History 2, no. 2 (1961): 72–102.

[vi] สำหรับฉบับภาษาไทยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ ‘ฮิกายัต ปัตตานี Hikayat Patani เล่าเรื่องเมืองปัตตานี’, ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ, 1 October 2019, https://peaceresourcecollaborative.org/deep-south/history/hikayatpatani.

[vii] Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London and New York: Tauris Academic Studies, 1996), 174.

[viii] Christie, 174; ดูเพิ่มเติม Kobkua Suwannathat-Pian, Thai-Malay Relations: Traditional Intra-Regional Relations from the Seventeenth to the Early Twentieth Centuries, East Asian Historical Monographs (Singapore: Oxford University Press, 1988).

[ix] ควรกล่าวด้วยว่า ในช่วงระหว่างปี 1901–1902 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดขึ้นของขบถผู้มีบุญทางภาคอีสาน และขบถเงี้ยวเมืองแพร่ทางภาคเหนือด้วยเช่นกัน

[x] Thanet Aphornsuvan, Rebellion in Southern Thailand: Contending Histories, Policy Studies 35 (Singapore and Washington, D.C: Institute of Southeast Asian Studies and East-West Center Washington, 2007), 23–29.

[xi] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 174–75.

[xii] ดูเพิ่มเติม พรรณงาม เง่าธรรมสาร, ‘กระบวนการบูรณาการรัฐชาติในกรณีจังหวัดชายแดนใต้: บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6’, ใน จินตทรรศน์จากปัตตานี: มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในกระแสการเปลี่ยนแปลง, บรรณาธิการโดย ณภัค เสรีรักษ์ และ รชฎ สาตราวุธ (ปัตตานี: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2558), 182–235.

[xiii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 176–77.

[xiv] Christie, 177–78.

[xv] Christie, 178.

[xvi] Christie, 179–80.

[xvii] Christie, 180–81.

[xviii] Christie, 181–82; Thanet Aphornsuvan, Rebellion in Southern Thailand, 38–40.

[xix] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 182; ดูเพิ่มเติม แพทริค โจรี, ‘จาก “มลายู” สู่ “มุสลิม”: ภาพหลอนแห่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในภาคใต้ของไทย’, ใน นอกนิยามความเป็นไทย ไทย-ปัตตานี: เมื่อเราไม่อาจอยู่ร่วม และแบ่งแยกจากกันได้, บรรณาธิการโดย ปริญญา นวลเปียน (สงขลา: ศูนย์ทะเลสาบศึกษา, 2551), 27–48.

[xx] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 182.

[xxi] Christie, 182–83.

[xxii] นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคมปาตานีอย่างต่อเนื่อง พุทธพล มงคลวรวรรณ แสดงให้เห็นว่า การอ้างอิง ‘ข้อเรียกร้อง’ หรือ ‘คำร้องขอ’ ทั้ง 7 ข้อนี้จากต่างแหล่งทำให้ปรากฏความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งอาจไม่ใช่สาระสำคัญ ทว่าหากพิจารณาในรายละเอียดแล้วอาจแสดงให้เห็นข้อจำกัดทางการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นกัน, ดูรายละเอียดใน พุทธพล มงคลวรวรรณ, ‘ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับ “ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง”’, รูสมิแล 30, no. 3 (2552): 15–27.

[xxiii] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 183; Thanet Aphornsuvan, Rebellion in Southern Thailand, 40–43.

[xxiv] Christie, A Modern History of Southeast Asia, 184; Thanet Aphornsuvan, Rebellion in Southern Thailand, 43.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save