fbpx

Remake โลกสู่เวอร์ชันใหม่ บนโลกปัจจุบันอันไร้ความแน่นอน กับ สันติธาร เสถียรไทย

“วันนี้พ่อขอจบจดหมายแห่งอนาคตไว้ที่ฉบับนี้ แต่ขอเตือนว่า แม้จดหมายฉบับนี้คือฉบับสุดท้าย แต่อาจไม่ใช่ ‘เวอร์ชัน’ สุดท้าย เมื่อโลกเปลี่ยน พ่อคงเรียนรู้อะไรที่แตกต่าง และอาจเขียนจดหมายถึงลูกใหม่…” คือข้อความที่ทิ้งไว้ในบทสุดท้ายของ ‘Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต’ ผลงานหนังสือเล่มแรกของสันติธาร เสถียรไทย เมื่อปี 2019 ด้วยรูปแบบการเขียนจดหมายบันทึกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ส่งถึงลูกเขาเอง เป็นบทเรียนให้เดินสู่อนาคตอย่างมั่นคง

ฉับพลัน เพียงไม่กี่เดือนหลัง Futuration ถูกวางขายตามร้านหนังสือ การระบาดของ ‘โควิด-19’ ก็อุบัติขึ้น โดยไม่ได้เป็นแค่พาหะนำพาแค่เชื้อร้าย แต่ยังนำ ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ หลายอย่างไปเยือนทั่วโลก  

ข้อความที่ว่า “แม้จดหมายฉบับนี้คือฉบับสุดท้าย แต่อาจไม่ใช่ ‘เวอร์ชัน’ สุดท้าย” จึงได้รับการพิสูจน์ว่า ‘จริง’ เมื่อสันติธารนำหนังสือเล่มใหม่ออกวางแผงในชื่อ ‘The Great Remake สู่โลกใหม่’ ในปี 2021 แม้อาจจะไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นจดหมายถึงลูกโดยตรงก็ตาม

จดหมายเวอร์ชันใหม่ของสันติธารที่เว้นมาจากจดหมายฉบับล่าสุดเพียงแค่ 2 ปี อาจสะท้อนได้ว่า แค่ 2 ปีนี้ โลกช่างเปลี่ยนไปไวเหลือเกิน และยังเป็น 2 ปีที่ให้บทเรียนใหม่ๆ กับสันติธารมากมาย

สันติธารมีประสบการณ์ในแวดวงเศรษฐกิจมาโชกโชน ปัจจุบัน เขาเป็นประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการของ Sea Group บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าของ Garena, Shopee และ SeaMoney และเขายังเป็นคนแรกในกลุ่มชาติอาเซียนที่ได้รับเชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในการออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

สันติธารเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกมาต่อเนื่องยาวนาน และในช่วงเวลานี้ที่โควิด-19 กำลังบีบให้ทุกองคาพยพของโลกต้อง Remake ตัวเองสู่โฉมใหม่ ขณะที่โลกยังคงถูกปกคลุมด้วยความสับสนและความไม่แน่นอน สันติธารคือคนที่เราจะไม่คุยด้วยไม่ได้

:: จาก Futuration สู่ The Great Remake
2 ปีที่โลกหมุนไวกว่าที่คิด ::

หลายคนต่างบอกว่าโควิดกำลังบีบให้โลกต้องเปลี่ยนแปลง โดยคุณใช้คำอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า ‘The Great Remake’ ทำไมคุณถึงใช้คำนี้

เราจะเห็นว่าหนังหรือเกมมีการสร้างเวอร์ชันใหม่ขึ้นมาอยู่เสมอ เหมือนอย่าง ‘สามก๊ก’ ที่ถูกนำมารีเมคหลายเวอร์ชันมาก ซึ่งก็ไม่ต่างจากชีวิตของคนหรือขององค์กร ที่สามารถรีเมคใหม่ได้ และยิ่งเมื่อเกิดวิกฤต เราก็ยิ่งต้องรีเมคตัวเอง ทลายกรอบที่มีอยู่เดิม ให้เราไปสู่เวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม โดยไม่ใช่ว่าเริ่มตั้งต้นใหม่จากศูนย์ เพราะคนเราต่างก็มีประวัติศาสตร์ มีสิ่งที่เคยทำมาในอดีต ที่ไม่สามารถกลับไปรีเซ็ต (reset) ใหม่ได้ ผมถึงใช้คำว่า ‘The Great Remake’

หนังสือใหม่ของผมก็ตามความหมายของ The Great Remake เลยครับ พาไปมองว่าโลกหลังโควิดจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ไล่ตั้งแต่ระยะสั้นที่โควิดยังอยู่ ไปจนถึงระยะกลางและระยะยาว แล้วชวนคิดว่าเราจะปรับตัวอย่างไรต่อไปในโลกหลังจากนี้ที่จะแตกต่างจากโลกยุคก่อนโควิดอย่างชัดเจนในหลายมิติ ซึ่งอาจจะไม่ถึงกับว่าเป็นไกด์ แต่เป็นเหมือนเข็มทิศกว้างๆ ที่ชี้ว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหนมากกว่า แล้วแต่ละคนค่อยไปเขียนแผนที่กันเองว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

ถ้าย้อนไปมองหนังสือเล่มแรกของคุณอย่าง ‘Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต’ ผ่านมา 2 ปี หนังสือ ‘The Great Remake สู่โลกใหม่’ มีแนวคิดอะไรที่เปลี่ยนไปจากเล่มนั้นบ้าง สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงระยะเวลา 2 ปีระหว่างหนังสือสองเล่มนี้อย่างไร

ในหนังสือ Futuration ตอนนั้น เราเริ่มเห็นเทรนด์หลายอย่างเกิดขึ้นมาบนโลกของเราแล้ว และต่อมาพอเกิดการระบาดของโควิดขึ้น กลายเป็นว่าเทรนด์พวกนี้เข้ามาดิสรัปต์ (disrupt) เร็วขึ้นกว่าเก่า ที่ผมเคยทายอะไรไว้หลายอย่างใน Futuration เลยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้ เหมือนกับว่าเวลาของโลกถูกกรอไปข้างหน้าเร็วขึ้นมากๆ ในช่วงเวลาแค่ 2 ปีนี้เห็นชัดเลยว่าอะไรๆ เปลี่ยนไปเยอะมาก ทำให้วิธีการรับมือของเราก็ต้องเปลี่ยนไปพอสมควร และผมก็ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้วิกฤตโควิดจะสร้างความเสี่ยงมหาศาล แต่อีกด้านก็เป็นจังหวะสำคัญมากที่เราจะได้ปรับตัวกัน 

อีกส่วนที่พัฒนามาจาก Futuration ก็คือเรื่องการสร้างคน ใน The Great Remake ผมเจาะให้เห็นชัดไปเลยว่าแล้วเราจะสร้างคนอย่างไร ตัวเราเองสร้างอย่างไร องค์กรสร้างอย่างไร แล้วมหาวิทยาลัยควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนนี้ก็มาจากประสบการณ์ของผมเองที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะตอนเขียน Futuration ผมยังทำงานอยู่ในภาคการเงิน แต่ตอนนี้ผมมาทำงานให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้เห็นว่าแต่ละเซคเตอร์พัฒนาคนต่างกันอย่างไร The Great Remake เลยถือว่าพัฒนามาจากการเติบโตของประสบการณ์ผมเองด้วย

เทรนด์ที่คุณมองว่าเร่งขึ้นในช่วงโควิดคือเทรนด์อะไรบ้าง

ผมขอสรุปเป็น 6D ซึ่ง D ทั้ง 6 ตัวนี้จะมีความสำคัญกับเทรนด์การดีเบตเชิงนโยบายของโลกในอนาคต คือ Debt (หนี้), Divided (ความไม่เท่าเทียม), Divergence (การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ), Deglobalization (กระแสโลกาภิวัตน์ที่ถดถอย), Degradation (ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม) และ Digitalization (การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล)

D แต่ละตัวคืออะไร กำลังมาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร แล้วโควิดมาเร่ง D พวกนี้อย่างไร

D ตัวแรก ‘Debt’ คือตัวที่ส่งผลในระดับมหภาคมากที่สุด เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเรากำลังอยู่ในสภาพ ‘2 เตี้ย 2 สูง’ ตัวที่เตี้ยคือดอกเบี้ยและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (growth) ส่วนตัวที่สูงคือหนี้และค่าเงินที่แข็ง โดย growth ที่เตี้ยลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้ที่สูงขึ้น รวมถึงอาจมีภาคเศรษฐกิจบางภาคที่อาจไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาเหมือนเดิมได้ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ศักยภาพการเติบโตระยะยาวต่ำลง ส่วนเตี้ยอีกตัวหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ยที่กำลังต่ำลงยาวทั่วโลก เป็นผลมาจากหนี้ที่สูงขึ้นเช่นกัน และจะมีผลเชื่อมโยงไปถึงนโยบายการเงิน ที่จะเห็นแนวโน้มการใช้นโยบายแบบนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policy) มากขึ้น เพราะหากดอกเบี้ยยังต่ำไม่พอ ก็จะทำให้ธนาคารกลางอาจต้องอัดนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) ผสมเข้าไปอีก และจะมีผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะเงินท่วมโลก ไหลเข้ามาที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยด้วย ทำให้ในอนาคต เมื่อประเทศไทยผ่านพ้นการระบาดรุนแรงไปแล้ว ค่าเงินบาทอาจจะกลับมาแข็งอีก ซึ่งจะไปกระทบภาคส่งออก นี่จึงสร้างโจทย์ใหม่ทางนโยบายขึ้นมาอีกว่า เราจะทำอย่างไรกับเงินที่จะไหลเข้ามาเยอะเกินไป

D ตัวที่สอง ‘Divided’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะวิกฤตครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่น ตรงที่ครั้งอื่นเกิดขึ้นที่ภาคการเงินแล้วลามไปภาคอื่น แต่ครั้งนี้กระทบไปที่ภาคบริการ แรงงานทักษะน้อย และกลุ่ม SMEs โดยตรง ทำให้ความเหลื่อมล้ำและความยากจนสูงขึ้นมาก ตอนนี้แบงก์ชาติเลยจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น พูดไม่ได้เต็มปากอีกต่อไปแล้วว่าความเหลื่อมล้ำไม่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน กลายเป็นว่าแบงก์ชาติมีโจทย์ใหม่ที่ต้องคิดทั้งการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อและบริการการเงินต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับคนจน นอกจากนโยบายการเงินแล้ว การคลังก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน เราจะมองแค่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยให้ GDP กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองด้วยว่าเงินที่เข้าไปกระตุ้นไปถึงกลุ่มคนเปราะบางมากขนาดไหน

D ตัวที่สาม ‘Divergence’ เป็นปรากฏการณ์ที่ขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกกำลังขยับมาจากโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออกมากขึ้น และพอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา ปรากฏการณ์นี้ก็เร่งขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้วที่ประเทศฝั่งโลกตะวันตกควบคุมการระบาดไม่ค่อยได้ จนอาจเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจระยะยาว ในอนาคต เราก็จะเห็นเอเชียขึ้นมามีบทบาทในระเบียบโลกมากขึ้น

D ตัวที่สี่ ‘Digitalization’ เป็นธีมที่ชัดเจนมากว่ามาแรงขึ้นในช่วงโควิด ไม่ใช่แค่ว่าคนที่ใช้เทคโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว ต้องมาใช้กันมากขึ้นเท่านั้น แต่คนหรือธุรกิจที่ไม่เคยใช้ดิจิทัลมาก่อนก็ถูกผลักดันให้ต้องมาใช้กันร้อยเปอร์เซนต์ แล้ว Digitalization นี้จะเกิดขึ้นแบบถาวรเลย จนเกิดธีม Digital by Default ซึ่งแปลว่าต่อไปนี้ การที่คนไหนหรือธุรกิจไหนไม่ใช้ดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องแปลก เพราะคนจะเริ่มเคยชินกับการใช้ชีวิตอยู่กับดิจิทัลในเกือบทุกเรื่อง และจะย้อนกลับไปโลกออฟไลน์กันไม่ค่อยได้แล้ว ดิจิทัลจะแผ่เข้าไปในทุกส่วนของชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริโภค นักเรียน พนักงานออฟฟิศ หรือว่าผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่ใช่ว่าดิจิทัลในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วนจะได้รับอานิสงส์จากโควิดนี้เหมือนกันหมด มีทั้งคนได้และคนเสีย โดยดิจิทัลจำพวกอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) อีเพย์เมนต์ (E-payment) และการเรียนออนไลน์ จะถูกเร่งหนักมาก กลับกันดิจิทัลที่อยู่กับภาคการท่องเที่ยวจะฟุบลงไป

D ตัวที่ห้าคือ ‘Deglobalization’ ปกติแล้วพอเราพูดถึงคำว่า Globalization (โลกาภิวัตน์) เราอาจจะนึกถึงการค้าระหว่างประเทศอย่างเดียว แต่ที่จริงมันยังมีอีกหลายมิติ อย่างการลงทุนระหว่างประเทศก็คือการเคลื่อนของเงินข้ามพรมแดน การท่องเที่ยวก็คือการเคลื่อนของคนข้ามพรมแดน รวมถึงดิจิทัลซึ่งก็คือการเคลื่อนข้อมูลข้ามพรมแดน การเกิด Deglobalization ขึ้นมาคือการบ่งบอกว่าบางสิ่งในนี้กำลังถดถอยไป ในช่วงโควิด เรื่องที่ถดถอยชัดเจนที่สุดก็คือการเดินทางข้ามประเทศ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า Globalization ถดถอยเสียทีเดียว แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบจากการที่คนเดินทางออกไปเจอกันไปเป็นการเจอกันผ่าน Zoom และถึงแม้การเดินทางของคนอาจจะน้อยลง แต่อีกด้าน การเดินทางของข้อมูลมีมากขึ้น

และ D ตัวสุดท้าย ‘Degradation’ เป็นธีมที่น่าสนใจ เพราะในช่วงโควิด คนมีความกังวลและเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาก อาจเป็นเพราะคนได้มานั่งคิดว่า ที่เกิดโรคระบาดขึ้นมาเป็นเพราะเราไม่ได้ดูแลธรรมชาติดีพอหรือเปล่า ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นภาพของบริษัทหรือกองทุนใหญ่ๆ เริ่มออกมาผลักดันเรื่องการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental Social Governance – ESG) เพิ่มขึ้นมาก นอกจากบริษัทแล้ว รัฐก็เข้าสู่เทรนด์นี้เหมือนกัน ในที่ปีผ่านมา เห็นได้ว่าประเทศที่สัญญาว่าจะลดคาร์บอนมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ของโลก แล้วตอนนี้ การจะวัดเศรษฐกิจด้วย GDP หรือกำไรอย่างเดียวก็แคบเกินไปแล้ว เราจะต้องมีการวัดผลที่กว้างขึ้น ต้องมองเรื่อง ESG ด้วย เหมือนที่ผมเขียนไว้ในหนังสือในบท ‘ไม้บรรทัดที่อยู่ผิดยุค’

บนเวที World Economic Forum (WEF) บอกไว้ว่าวิกฤตโควิดตอนนี้ทำให้โลกเราเข้าสู่ยุค The Great Reset หรือการตั้งต้นใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ ในฐานะที่คุณเป็นคนไทยที่มีโอกาสได้เข้าร่วม WEF คุณเห็นเวทีโลกตีโจทย์นี้กันอย่างไร

ผมมองว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดของ The Great Reset คือ ‘Stakeholder Capitalism’ หรือแนวคิดทุนนิยมที่คำนึงถึงทุกภาคส่วนมากขึ้น ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เพียงตัวเจ้าของทุนเพียงอย่างเดียว หรือเรียกได้ว่าเป็นทุนนิยมแบบมีหัวใจหรือแคร์คนอื่นมากขึ้น แคร์ว่าแรงงานจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือเปล่า หรือแคร์ว่าการลงทุนจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า

ธีมใหญ่ของ The Great Reset เน้นไปเรื่องสังคมกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ เพราะเขามองว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นเวลาปกติที่โลกวิ่งไปเรื่อยๆ บนสายพาน ก็คงไม่ได้มีใครคิดที่จะปรับเปลี่ยนตรงนี้กันอย่างจริงจัง แต่พอสายพานหยุดชะงักลง เลยเป็นโอกาสให้เราได้คิดว่าเรายังอยากจะขึ้นสายพานเดิมอยู่หรือเปล่า หรือจะไปขึ้นสายพานอื่นที่ไม่เหมือนเดิม

ในแง่สังคมก็คือการหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจช่วยลดความเหลื่อมล้ำลง ส่งเสริมความเท่าเทียมทางโอกาสให้มากขึ้น ซึ่งก็คือการแก้ปัญหา D-Divided หลังจากที่โควิดเข้ามาฉายปัญหานี้ให้เห็นชัดเจน ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็เป็นการแก้ปัญหา D อีกตัวคือ Degradation อย่างที่ผมบอกว่ากลุ่มธุรกิจใหญ่และรัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ถือว่าผิดความคาดหมายของผมเหมือนกัน เพราะตอนแรก ผมเข้าใจว่าหลังโควิด คนจะพยายามฟื้นเศรษฐกิจให้ได้ก่อน แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาทีหลัง ซึ่งผมว่าก็ดีแล้วที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ถ้าหันไปดูตัวอย่างของประเทศอย่างเกาหลีใต้ หรือชาติยุโรป ก็มีการทำนโยบายในลักษณะ Green New Deal ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นไปทางพลังงานทดแทน นี่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งกัน และเราสามารถใช้นโยบายระยะสั้นกับระยะยาวคู่กันไปได้

และภายใต้ธีม The Great Reset ผมมองว่าต่อไปนี้ ยุทธศาสตร์ชาติจะต้องประกอบด้วย 4 มิติสำคัญ โดย 2 มิติแรกคือ ‘การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ ตามที่ WEF ให้ความสำคัญ ประกอบกับอีก 2 มิติคือ ‘Competitiveness’ หรือความสามารถที่จะแข่งขันได้ในโลกใหม่ และ ‘Resilience’ คือต้องมีภูมิคุ้มกันในโลกที่กำลังมีความไม่แน่นอนสูง

:: ฟันฝ่าโลกแห่งความไม่แน่นอน
เอาตัวรอดในวิกฤตโควิด ::

เราเห็นภาพของเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่โลกจะต้องรับมือหลายอย่างในยุคหลังโควิด แต่ก่อนถึงจุดนั้น ตอนนี้โลกยังคงวุ่นกับการรับมือกับโควิดที่ยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ แล้วโลกเราจะก้าวข้ามช่วงเวลานี้เพื่อไปสู่โลกหลังโควิดได้อย่างไร

ผมแบ่งวิกฤตในยุคโควิดออกเป็น 3 เฟส เรียกง่ายๆ ว่า “อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยืน”

เฟสแรก ‘อยู่รอด’ คือช่วงที่มีการระบาดหนัก จนต้องล็อกดาวน์เต็มที่ และแทบจะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรไม่ได้เลย ถ้าเป็นคนก็เหมือนกับคนที่กำลังจะจมน้ำ และต้องตะเกียกตะกายเอาตัวรอดให้ได้

เฟสต่อมาคือ ‘อยู่เป็น’ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ระดับหนึ่ง ทำให้คนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แต่ยังไม่เป็นปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนคนที่ตอนแรกจมน้ำอยู่แล้วเจอเรือให้เกาะขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นเรือเล็กกลางทะเลใหญ่ที่ยังมีมรสุมที่อาจซัดเรือเราล่มได้ทุกเมื่ออยู่ ช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วง New Abnormal (ความไม่ปกติใหม่) คนที่อยู่ในเฟสนี้จะต้องอยู่เป็นเพราะสถานการณ์อาจพลิกกลับไปกลับมาได้เสมอ การบริหารความเสี่ยง (risk management) ถือว่ามีความสำคัญมากในเฟสนี้

และเฟสที่ 3 คือ ‘อยู่ยืน’ เป็นช่วงที่เริ่มฉีดวัคซีนไปเยอะแล้ว ทำให้โควิดไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป และชีวิตกลับเข้าสู่ความปกติ แต่เป็นความปกติใหม่หรือ New Normal ถ้าให้เทียบก็เหมือนเราได้ออกจากเรือเล็กไปขึ้นเกาะแล้ว แต่เป็นเกาะใหม่ไม่ใช่เกาะเดิมที่เราอยู่ตอนแรก ทำให้เราต้องมาคิดว่าธุรกิจ อุตสาหกรรม อาชีพการงานต่างๆ ที่เราเคยรู้จัก จะเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปจากเดิมมากแค่ไหน

ส่วนมาก คนหรือผู้นำมักจะมองข้ามเฟสอยู่เป็น เพราะจุดหนึ่งเมื่อสามารถอยู่รอดได้แล้ว ก็จะชอบคิดข้ามไปเลยว่าโลกจะเป็นอย่างไร แต่ที่จริงแล้วเฟสอยู่เป็นถือว่ามีระยะเวลายาวนานที่สุด และโลกของเราก็กำลังอยู่ในเฟสนี้

เพราะอะไร เฟสอยู่เป็นถึงได้นานกว่าเฟสอื่นๆ แล้วเราจะข้ามเฟสนี้ไปได้อย่างไร

แต่เดิม คนมักจะคิดว่าพอเรามีวัคซีนแล้ว ความท้าทายต่างๆ จะค่อยๆ จางหายไป แล้วเราก็จะเข้าสู่เฟสอยู่ยืนได้ แต่ตอนนี้ ฉากแบบนั้นเปลี่ยนไปพอสมควร เป็นเพราะว่าวัคซีนมีหลายอุปสรรค อย่างแรกคืออุปทาน (supply) ของวัคซีน ขึ้นอยู่กับว่าปริมาณวัคซีนเพียงพอหรือเปล่า และนอกจากนั้น เรายังต้องมีวัคซีนถูกประเภทด้วย เพราะไวรัสกลายพันธุ์ไปมากพอสมควร เราเลยพูดไม่ได้ว่าวัคซีนตัวไหนก็เหมือนกัน

อุปสรรคอย่างที่สองคือเรื่องการกระจายวัคซีน เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่า จะกระจายวัคซีนอย่างไรภายใต้ความสามารถทางสาธารณสุขที่มีจำกัด และต้องไม่ปล่อยให้หมอ-พยาบาลป่วย รวมถึงว่าจะกระจายวัคซีนอย่างไรให้เร็วที่สุด และจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงก่อนหรือให้พื้นที่ที่ระบาดเยอะก่อน 

อุปสรรคที่สามคือความลังเลของประชาชนว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนกำลังเจอ เพราะถึงจุดหนึ่ง คนที่เต็มใจฉีดวัคซีนฉีดกันไปหมดแล้ว จนเหลือแต่คนที่ไม่อยากฉีด เป็นโจทย์ที่แต่ละประเทศต้องหาทางเปลี่ยนความคิดของคนที่มีต่อวัคซีน

และปัญหาตอนนี้ยังมีอีกชั้นหนึ่งก็คือว่า ต่อให้ฉีดวัคซีนเสร็จหมดแล้ว ก็ไม่แน่ว่าสงครามจะจบ แล้วเราจะกลับไปสู่ช่วงอยู่ยืนร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างสิงคโปร์ก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ยอมรับว่าโควิดจะไม่หายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเหมือนโรคอื่นๆ อย่างไข้หวัดใหญ่ ที่คนอาจจะต้องไปฉีดวัคซีนกันทุกปี หรืออาจจะต้องมานั่งตรวจเชื้อ ใส่หน้ากากกันอยู่ เพราะฉะนั้น รอยต่อระหว่างช่วงอยู่เป็นกับอยู่ยืนจะลากยาวมาก ไม่ใช่ว่าเราเจอฝั่งแล้ว จะกระโดดขึ้นฝั่งไปอยู่ยืนได้เลยง่ายๆ แต่ก่อนที่เราจะขึ้นฝั่งได้ เราจะยังคงลอยคออยู่ในน้ำทะเลก่อนขึ้นชายหาดในระยะที่ไกลมาก แล้วถึงจะค่อยๆ ขยับขึ้นฝั่ง

ถ้าตอนนี้โลกอยู่ในช่วงอยู่เป็น แล้วประเทศไทยอยู่ในช่วงอยู่เป็นเหมือนกันไหม

โลกอยู่ช่วงอยู่เป็น แต่ประเทศไทยกำลังกลับไปอยู่ในช่วง ‘อยู่รอด’ ครับ เพราะประเทศที่อยู่ในระยะนี้คือประเทศที่ระบบสาธารณสุขเริ่มล้น การเสียชีวิตสูงขึ้น ซึ่งเราก็เห็นชัดเจนเลยว่าไทยกำลังอยู่ในระยะนี้ และอยู่มาได้สักพักแล้ว และเราก็กลับมาเจอโจทย์ที่ว่าเราต้องล็อกดาวน์ไหม และล็อกดาวน์อย่างไรอีก

แต่ถ้าเราดูในหลายประเทศ จะเห็นว่าการล็อกดาวน์ไม่ใช่คำตอบ แต่คือการซื้อเวลา แล้วเราก็ต้องถามตัวเองว่า เราซื้อเวลานั้นมาเพื่อที่จะทำอะไรและซื้อมาด้วยราคาเท่าไหร่

คำถามแรกที่ว่าเราซื้อเวลานั้นมาเพื่อทำอะไร แน่นอนว่าคำตอบที่ดีที่สุดคือเพื่อทำการตรวจเชื้ออย่างมหาศาล เจาะจงได้ว่าใครติดหรือไม่ติดเชื้อ และแยกคนติดเชื้อออกมาให้ได้เร็วที่สุด ถ้าเกิดว่าเราไม่ตรวจเชื้อมากพอ ต่อให้ใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นขนาดไหนก็ไม่ได้ผล ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาว่าเราตรวจเชื้อไม่พอจริงๆ เพราะฉะนั้นจำเป็นมากที่ต้องปลดล็อกให้คนสามารถตรวจเชื้อเองได้ที่บ้านด้วยการใช้ Antigen Test Kits หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตรวจแบบกลุ่มใหญ่เหมือนอย่างจีน

และคำถามที่สองคือเราซื้อเวลามาด้วยราคาเท่าไหร่ ต้นทุนของการซื้อเวลาคือต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มหาศาลมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เปราะบางอยู่แล้ว หลายประเทศพยายามลดต้นทุนของการล็อกดาวน์ให้มากที่สุดด้วยการเยียวยา

สรุปคือสาธารณสุขกับเศรษฐกิจต้องมาคู่กัน ทันทีที่เราบอกว่าเราจะซื้อเวลาด้วยการล็อกดาวน์เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุข รัฐจะต้องก้าวเข้ามามีบทบาททันทีทั้งเรื่องการเยียวยา รวมถึงการตรวจเชื้อในวงกว้าง การล็อกดาวน์อย่างเดียวไม่ใช่ทางออก นี่คือโจทย์ของช่วงอยู่รอดของประเทศไทย

เมื่อไม่นานนี้ สิงคโปร์ประกาศแผนในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งอาจเท่ากับว่ากำลังเตรียมขยับจากอยู่เป็นไปอยู่ช่วงอยู่ยืนแล้ว ในฐานะที่คุณอยู่สิงคโปร์ คุณมองว่าเราจะถอดบทเรียนจากประเทศนี้อย่างไรได้บ้างถ้าเราอยากจะก้าวข้ามไปอยู่ยืน

ผมคิดว่ามี 3 ข้อใหญ่ที่สิงคโปร์ทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา คือ Testing (การตรวจเชื้อ) Tracing (การติดตามสืบสวนที่มาการระบาด) และ Vaccination (การกระจายวัคซีน)

ประเด็นแรกคือ ‘Testing’ สิงคโปร์สามารถทำให้การตรวจเชื้อง่ายขึ้น ถูกลง ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทำให้เขาตรวจต่อวันได้เยอะมากเมื่อเทียบจำนวนประชากร เขาใช้ช่วงเวลาที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อยอยู่เมื่อปลายปีที่แล้ว มาเตรียมการเรื่องนี้ไว้เยอะ สิงคโปร์มีวิธีตรวจเชื้อแบบใหม่ที่ง่ายกว่าเดิมคือการใช้เครื่องตรวจจับด้วยการเป่าลมหายใจแล้วรู้ผลได้ทันที ซึ่งสิงคโปร์เริ่มใช้วิธีนี้แล้วในบางพื้นที่ รวมถึงยังใช้วิธีตรวจน้ำเสียให้รู้ว่าน้ำจากบริเวณนี้มีเชื้อไหม เพื่อหาที่มาของคลัสเตอร์ให้เจอก่อน แล้วค่อยตรวจแบบเข้มข้นอีกที

ประเด็นต่อมาคือ ‘Tracing’ ซึ่งสิงคโปร์ให้ความสำคัญมาก เขามีแอพลิเคชันคล้ายๆ ไทยชนะหรือหมอชนะของเรา แถมตอนนี้เขาทำให้มันง่ายขึ้น ด้วยการแจกเครื่องโทเคน (token) เล็กๆ ซึ่งใช้สัญญาณบลูทูธ (bluetooth) เป็นทางเลือกแทนการใช้แอพลิเคชัน ช่วยให้คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือคนที่อาจจะไม่อยากโหลดแอพนี้สะดวกขึ้น แค่ถือเครื่องนี้ติดตัว เครื่องก็ทำงานของมันเอง และสิงคโปร์ก็แจกเครื่องนี้ฟรีทั้งเกาะ ทำให้เขาสามารถ Tracing ได้ง่าย  

ประเด็นสุดท้ายก็คือ ‘Vaccination’ อย่างที่ผมบอกไปแล้ววัคซีนที่มีจะต้องถูกประเภท โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เชื้อกำลังกลายพันธุ์ ผมได้ไปอ่านยุทธศาสตร์วัคซีนของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลหรือสิงคโปร์ ก็เห็นว่าประเทศพวกนี้กล้าเสี่ยงมาก คือกล้าเสี่ยงซื้อวัคซีนทั้งที่ยังไม่รู้ว่าวัคซีนตัวไหนจะได้ผลอย่างไร ในวันที่เขาซื้อวัคซีน เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า mRNA เป็นวัคซีนที่ได้ผลที่สุดกับไวรัสกลายพันธุ์ แต่สิงคโปร์ก็ยอมจ่ายล่วงหน้าไปเยอะมาก ลงทุนศึกษาไปเยอะ และยังปรับกฎหมายของตัวเองให้รองรับเยอะเหมือนกัน หรืออย่างอิสราเอลก็ถึงขนาดยอมเอาตัวเองเป็นหนูทดลอง วันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่ารัฐที่ประสบความสำเร็จในเรื่องวัคซีนก็คือรัฐที่กล้าเสี่ยงและกระจายความเสี่ยง อย่างสิงคโปร์ ถึงแม้จะได้วัคซีน Pfizer และ Moderna มาแล้ว ก็ยังเจรจาจะเอา Novavax และ Sinovac มาเพิ่ม เพราะเขาต้องการให้มีความหลากหลาย รองรับคนที่อาจจะแพ้วัคซีน mRNA และรองรับความชอบของแต่ละคนด้วย

นอกจาก 3 บทเรียนนี้แล้ว ผมขอเพิ่มอีกบทเรียนหนึ่งก็คือเรื่อง ‘การสื่อสาร’ เพราะว่าช่วงอยู่เป็นมีความไม่แน่นอนสูงมาก และคนเราก็ไม่ชอบความไม่แน่นอน เราคงไม่ชอบสถานการณ์ที่ว่าเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ร้านอาหารของเราจะยังเปิดได้อยู่ไหม เหมือนอย่างสิงคโปร์ที่มีอยู่อาทิตย์หนึ่งยังดูปลอดภัยมาก แต่ผ่านมาไม่กี่วันก็เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาอีก แต่นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้ ความไวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่ต้องขยับ แต่ต้องขยับทั้งประเทศ ประชาชนต้องร่วมมือกัน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้นำสามารถสื่อสารแล้วทำให้ประชาชนทุกคนเชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบได้ และทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าพวกเขาจะช่วยอะไรได้มากแค่ไหน ผู้นำที่เก่งจะทำสิ่งนี้ได้ดี

ขณะที่สิงคโปร์ประกาศแผนใช้ชีวิตร่วมกับโควิดออกมา ไทยก็ประกาศว่าจะเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน คุณมองว่าอย่างไร

ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันก็คงยาก ผมขอมองเรื่องนี้แยกเป็น 2 ประเด็นคือตัวแผนเองกับเรื่องการสื่อสาร

ในประเด็นแรก แผนการของไทยเองก็ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะถ้าเรายังฉีดวัคซีนไม่มากพอ และเท่าที่ดูตอนนี้ก็ยังเป็นไปได้ยาก ถึงสิ้นปี เราก็ไม่น่าจะเปิดประเทศได้เยอะตามที่คิดไว้

ส่วนเรื่องการสื่อสาร ผมว่าการที่ออกมาสัญญาว่า 120 วันจะเปิดประเทศเป็นการสัญญาที่เสี่ยงมาก เพราะความจริงคือไม่มีใครรู้อนาคตข้างหน้า วันที่ 119 สถานการณ์อาจจะโอเค แต่วันที่ 120 อาจจะมีคลัสเตอร์ใหม่ก็ได้ จริงๆ แล้วผมว่าผู้นำที่เก่งจะต้องสื่อสารว่าเรากำลังอยู่บนความไม่แน่นอนมากกว่า ไม่ใช่สร้างความเชื่อมั่นโดยการบอกว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ แล้วทำให้คนตั้งความหวังแบบผิดๆ อย่างในสิงคโปร์ ทุกครั้งที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่แล้วต้องกลับไปเข้มงวด คนก็โกรธตามปกติ แต่เขาก็พอเข้าใจ เพราะรัฐบาลเคยเตือนไว้ก่อนแล้วว่าถ้าสถานการณ์กลับไปเป็นแบบนี้ เขาจะใช้มาตรการแบบนี้ ทำให้ประชาชนวางแผนตัวเองได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้สถานการณ์จะไม่แน่นอนสูง ถ้าเป็นร้านอาหารก็จะวางแผนได้ว่า เขาไม่ควรสต็อกวัตถุดิบเยอะหรือไม่ควรเปิดสาขาใหม่ในตอนนี้ เพราะวันดีคืนดีร้านอาหารก็อาจจะต้องปิดชั่วคราว

ประเทศไทยมีแผนนำร่องเปิดประเทศด้วยโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ (Phuket Sandbox) สมุยพลัส (Samui Plus) ฯลฯ คุณคิดอย่างไร

ผมว่าโมเดลนี้จำเป็นนะ มันก็คล้ายๆ กับโมเดลของสิงคโปร์ที่ว่าจะอยู่กันแบบ New Normal อย่างไร แต่สิงคโปร์ทำพร้อมกันทั้งประเทศ และผมว่าเวลาเราถอดบทเรียนมาปรับใช้ เราก็ต้องดูบริบทของเรา แน่นอนว่าประเทศเราทำแบบสิงคโปร์ทีเดียวทั้งประเทศเลยคงยังไม่ได้ แต่เราทำเป็นพื้นที่ๆ ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ และผมว่าการใช้พื้นที่อย่างภูเก็ตหรือเกาะสมุยก็สมเหตุสมผล

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เราต้องทำการทดลองเยอะเพื่อจะหาสูตรใหม่ให้ได้ว่าเราจะสร้างสมดุลระหว่างเรื่องสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ เราจะได้เห็นว่าถ้าทำแบบนี้แล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเกิดปัญหา เราก็จะรู้ว่าจะแก้อย่างไร คล้ายๆ กับแซนด์บอกซ์ในโลกสตาร์ตอัพ (start-up) การเกิดปัญหาในช่วงแรกๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฉะนั้นผมว่าโมเดลพวกนี้เป็นเรื่องที่ดีและควรทำต่อไป แต่ต้องยึดหลักว่าเราต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียด ประเมินผลตลอดเวลา และต้องปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ถ้าสมมติเกิดการติดเชื้อขึ้นมาเป็นวงกว้าง ก็อาจจะต้องหยุดหรือปรับเปลี่ยน แต่อย่าเลิก ต้องทำให้เป็นแซนด์บ็อกซ์ที่เป็นกล่องทรายจริงๆ ไม่ใช่ปราสาททราย

ในภาวะที่ไทยเป็นอยู่ตอนนี้ โจทย์ทางเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร เราจะฟื้นตัวได้อย่างไร

หลายคนถามกันมานานแล้วว่าเศรษฐกิจเราจะฟื้นตัวไปในรูปแบบไหน จะเป็นเหมือนตัวอักษร K, W หรือ L แต่ผมว่าการฟื้นตัวของเรามันจะมีทั้ง 3 ตัวอักษรนี้รวมอยู่ด้วยกัน

ตัว K แปลว่าจะมีทั้งส่วนที่ฟื้นและส่วนที่ไม่ฟื้น ซึ่งหางที่ฟื้นขึ้นอาจเป็นเรื่องส่งออก จากเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ส่วนหางอีกด้านหนึ่งที่ตกลงไปก็แน่นอนว่าเป็นภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ถ้าเรามองในมุมธุรกิจ เราก็ต้องรู้ว่าเซกเตอร์ไหนมีแนวโน้มจะฟื้นหรือไม่ฟื้น เช่นถ้าการส่งออกพอจะฟื้นได้แล้ว เราอาจจะเน้นส่งออกได้มากขึ้น แต่ถ้าเรายืนในฝั่งที่ต้องพึ่งพาภาคบริการอย่างการท่องเที่ยวเยอะ เราก็ต้องระวัง

และตัว K ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะมันบ่งบอกว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งอย่างเช่น แรงงานหรือผู้ประกอบการ SMEs ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นผมว่าในเชิงธุรกิจ บริษัทใหญ่ๆ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคม ใส่ใจคนที่อยู่ข้างหลังมากขึ้น ธุรกิจอย่างธนาคารอาจจะปล่อยกู้เฉพาะคนมีเงินเยอะไม่ได้อีกแล้ว และก็แน่นอนว่าภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้นเหมือนกัน

ตัวอักษรต่อมา W คือการฟื้นแล้วฟุบใหม่ เป็นสถานการณ์ที่เห็นชัดเจนในตอนนี้เลย เหมือนกับที่ผมเขียนไว้ในบทความ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ – สอบใหญ่จริงของเศรษฐกิจไทย ว่าอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นคือการที่ระบาดระลอก 2-3 ที่อาจเกิดตามมา หรือไม่ก็อาจเป็นช็อกอื่นๆ ที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อในโลกที่ไม่แน่นอนแบบนี้ เราเลยต้องระวังตัวกันมาก Risk Management ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นบริษัท ก็ต้องคิดว่าจะกระจายกลุ่มลูกค้าอย่างไร หรือถ้ามีศักยภาพ ก็อาจทำธุรกิจหลายแบบได้โดยไม่พึ่งเพียงอุตสาหกรรมประเภทเดียว รวมถึงทำธุรกิจให้ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสถานการณ์ เช่นเดียวกับการบริหารประเทศที่ต้องกระจายความเสี่ยงเหมือนกัน เช่น ต้องคิดให้ดีว่าจะกระจายตลาดส่งออกอย่างไร ผลักดันการเติบโตทางไหนได้บ้าง

ตัวสุดท้ายคือตัว L หมายถึงเศรษฐกิจอาจดิ่งยาว ฟื้นตัวได้ช้า หลายธุรกิจอาจไม่สามารถเริ่มต้นในอุตสาหกรรมอื่นได้ คนบางกลุ่มสูญเสียความสามารถทางการทำงานอย่างถาวร เพราะรูปแบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปมาก ที่จะเปลี่ยนไปถาวรมี 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ เพราะคนเริ่มค้นพบว่าจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปประชุมธุรกิจหรืองานอีเวนต์มากเท่าเก่า แต่จะไปใช้ออนไลน์มากขึ้น และเมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร ก็แปลว่าความต้องการแรงงานต่างๆ จะเปลี่ยนไปด้วย ธุรกิจบางประเภทที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนเช่นสายการบิน อาจไม่ได้มีดีมานด์เยอะเหมือนเก่าแล้ว นี่เลยเป็นโจทย์ให้แต่ละภาคเศรษฐกิจต้องพากันปรับตัว

แล้วมาตรการการเงินการคลังในช่วงเวลานี้ควรเป็นแบบไหน ของไทยถือว่าตอบโจทย์หรือเปล่า

ผมเคยพูดไว้ว่ามาตรการการเงินการคลังที่ดีจะต้องมี 5T คือ Targeted (ถูกเป้า), Timely (ถูกเวลา), Temporary (ใช้ชั่วคราว), Transparent (โปร่งใส) และ Titanic (ใหญ่พอ) ซึ่งการให้น้ำหนักของแต่ละ T อาจจะไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ตอนนั้นสถานการณ์ของเราอยู่ในช่วงอยู่เป็น ผมบอกไว้ว่าเราต้องให้ความสำคัญกับ Targeted คือเน้นช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย  

แต่ตอนนี้สถานการณ์เรากลับไปอยู่ช่วงอยู่รอด ทำให้เราต้องให้ให้ความสำคัญกับ T อื่นด้วย ตัวหนึ่งก็คือ Timely แปลว่ามาตรการต้องเร็ว เร่งกระจายก่อน อาจจะช่วยเหลือเกินกว่ากลุ่มเป้าหมายบ้างก็ไม่เป็นไร ถือว่าเหลือดีกว่าขาด สำหรับประเทศไทย ผมว่าเรามีปัญหาเรื่อง Timely อยู่ เพราะเวลามีการประกาศล็อกดาวน์ต่างๆ มักจะไม่ค่อยชัดเจน หลายครั้งชอบล็อกดาวน์ก่อน แล้วบอกว่าค่อยมาคุยเรื่องเยียวยา อย่างนี้ไม่ได้ จริงๆ สองอย่างนี้ต้องมาพร้อมกันเลย หรือบางครั้งรัฐก็อาจมีโจทย์ว่าจะใช้โอกาสนี้ดึงคนเข้ามาใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น เลยตั้งเงื่อนไขต่างๆ ในการเยียวยาขึ้นมา แต่ผมว่านี่ไม่ใช่เวลาที่จะทำเรื่องนั้น เพราะสิ่งที่ต้องทำอันดับแรกตอนนี้คือปูพรมช่วยคนให้ได้มากและเร็วที่สุดก่อน เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ เราต้องรีบช่วยเขาก่อน แล้วพอสถานการณ์ดีขึ้น กลับไปอยู่ในช่วงอยู่เป็น เราค่อยทำเรื่องนั้น

อีกตัวหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือ Transparent เพราะเวลาล่วงเลยมาปีกว่าแล้ว ตอนเพิ่งเกิดวิกฤตอาจจะยังไม่เป็นอะไร แต่ตอนนี้ประชาชนควรต้องรู้แล้วว่าการใช้จ่ายงบประมาณไปลงที่ไหนบ้าง อย่างตอนนี้ก็มีหลายเรื่องที่เราเพิ่งมาค้นพบพอมีการระบาดครั้งใหม่ เช่นว่าทำไมสาธารณสุขใช้งบไปน้อยกว่าที่ตั้งไว้มาก ผมว่าความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งใช้งบเยอะ ก็ต้องยิ่งโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเราจะได้รู้ว่ามันติดขัดอะไรบ้าง แล้วมาช่วยกันคิดว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ตรงไหนที่ผิดที่ผิดทางบ้าง

ส่วนตัว Targeted ก็ยังคงสำคัญอยู่ เพราะคนแต่ละกลุ่มเจ็บปวดไม่เหมือนกัน วิธีการคือเราต้องเก็บข้อมูลแล้วเอามาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ แต่ปัญหาของเราคือเรายังใช้ข้อมูลไม่ดีพอ และยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่เราไม่ค่อยรู้ ทุกวันนี้เรามีมาตรการซีรีส์ ‘ชนะ’ ออกมามากมาย มีคนลงทะเบียนเป็นสิบล้านคน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ารัฐได้เอาข้อมูลตรงนี้มาใช้เกิดประโยชน์หรือยัง

อีกอย่างหนึ่งคือเราก็ไม่รู้ด้วยว่านโยบายที่เราทำไปตั้งแต่ปีที่แล้วเวิร์กหรือเปล่า มันจำเป็นต้องมีการประเมินผล ล่าสุดมีบทความของอาจารย์เนื้อแพรและคณะออกมา ซึ่งไปดูว่ากลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับเยียวยา อาจไม่ใช่กลุ่มที่เปราะบางที่สุดหรือเปล่า เช่น กลุ่มวิชาชีพเกี่ยวกับไอที ซึ่งอาจไม่ได้ถูกดิสรัปต์ขนาดนั้น เพราะพอทำงานที่บ้านได้ ในขณะที่ภาคการผลิตกลับไม่ได้รับชดเชยมากนัก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่สามารถทำงานได้เลยในช่วงล็อกดาวน์ มันก็สะท้อนว่ามาตรการอาจจะ Target ไม่ถูกกลุ่มหรือเปล่า

:: Remake ประเทศไทย สู่เวอร์ชันใหม่ที่ดีกว่าเดิม ::

ถึงจุดหนึ่งเมื่อเราก้าวข้ามจากช่วงเวลานี้ได้แล้ว แน่นอนว่าประเทศไทยต้องหันมาทบทวนตั้งหลักตัวเองกันใหม่ ถ้าเราจะต้องรีเมคประเทศไทย คุณว่าเราควรจะเริ่มจากตรงไหน

ช่วงเวลานี้ทำให้เรามีโอกาสทบทวนตัวเองว่าเรามีจุดดีหรือไม่ดีตรงไหน เราต้องมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มองจากโลกภายนอกเข้ามาข้างใน ดูว่าต่างประเทศจะต้องการอะไรจากเรา

ถ้าเรามองหาจุดเด่นของประเทศเรา บางคนอาจจะบอกว่าจุดแข็งของเราคือการท่องเที่ยวหรือเกษตรอินทรีย์ แต่ผมว่าอย่างนั้นไม่ใช่ เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นจุดแข็ง เวลามองหาจุดแข็ง ต้องถอยออกมาก้าวนึง มองจุดแข็งเป็นธีมกว้างขึ้น เพราะเมื่อมองเป็นธีมใหญ่ๆ เราจะสามารถเอาธีมต่างๆ มาผสมผสานกัน แล้วสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของเราขึ้นมาได้มากขึ้นอีก และผมมองว่าจุดเด่นของแบรนด์ประเทศไทยมีอยู่ 5 อย่าง ผมขอสรุปออกมาเป็น 5C

C แรกคือ ‘Culinary’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารไทยอย่างเดียว แต่รวมถึงครัวไทย สมุนไพรไทย วัตถุดิบไทย และศาสตร์การทำอาหารของไทย ที่เราสามารถทำให้เป็นอำนาจอ่อน (soft power) ของเราได้ อาจจะผ่านทางรายการทำอาหาร หรือการที่มีคนเอาอาหารไทยไปผสมผสานกับอาหารอื่นๆ เช่นตามร้านอาหารฟิวชัน ก็ถือเป็นการโปรโมตอาหารไทยอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงอาหารไทย มันไม่ได้จำกัดแค่อาหารจำพวกแกงส้มหรือแกงเขียวหวานเท่านั้น แต่สามารถเอาไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก

C ที่ 2 คือ ‘Creativity’ (ความคิดสร้างสรรค์) ซึ่งผมเชื่อว่าไทยโดดเด่นมากพอสมควร เช่นหน้ากากอนามัย ของไทยจะมีสีสันลวดลายที่สวยงามแปลกตามาก พอเราใส่แล้วจะมีความโดดเด่น ต่างกับของสิงคโปร์ ทำให้ผมแยกออกเลยว่าคนไหนใช้หน้ากากจากเมืองไทย คนไหนใช้หน้ากากสิงคโปร์

C ที่ 3 คือ ‘Culture’ (วัฒนธรรม) นอกจากเรื่องเพลงหรือการฟ้อนรำต่างๆ ยังมีอีกอย่างที่คนไม่ค่อยนึกถึงก็คือศิลปะการป้องกันตัวอย่างมวยไทย ซึ่งเราสามารถแตกแขนงออกมาได้เป็นธุรกิจหลายรูปแบบ นอกจากการจัดการแข่งขัน เรายังทำในเชิงการออกกำลังกายได้ด้วย

C ที่ 4 คือ ‘Corridor’ (ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์) ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมาก อยู่ตรงกลางระหว่างอินเดียกับจีน และอยู่ตำแหน่งค่อนข้างกลางในกลุ่มประเทศอาเซียน เรายังมีทั้งเส้นทางทางทะเลและทางบกที่เป็นจุดเชื่อมโยงได้ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อว่าต่อไปเป็นยุคที่เศรษฐกิจแห่งเอเชียจะผงาดมีอำนาจมากขึ้น ก็ถือว่าเราอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว

C สุดท้าย ‘Care’ คือสาธารณสุขที่ดี เรามีความโดดเด่นในด้านนี้มานาน แล้วในยุคหลังโควิด ผู้คนก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพกันเยอะขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของเรา และต้องไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ต้องเป็นสุขภาพที่มาพร้อมกับบริการที่ดี ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเด่นของเราเหมือนกัน

แต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตสาธารณสุขจากการระบาดระลอกใหม่นี้อยู่ แล้ว Care จะยังเป็นจุดเด่นของแบรนด์ประเทศไทยได้อยู่หรือเปล่า หรือพอมีทางที่เราจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ไหม

เป็นคำถามที่ดีมาก ถ้าตอบสั้นๆ ผมคิดว่ายังเป็นจุดเด่นได้อยู่ ผมไม่คิดว่าคนต่างประเทศมองสาธารณสุขไทยว่าล้มเหลว เขาน่าจะมองว่าเกิดจากการตัดสินใจและบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐมากกว่า ชื่อเสียงของไทยตรงนี้ไม่น่าจะถูกทำลายไปมาก แถมเรายังอาจมีบทเรียนที่จะนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขของเราในอนาคตได้อีกในระยะยาว บทเรียนที่ผมคิดได้ตอนนี้มี 2 ข้อ

ข้อแรกคือ การปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาคนครั้งนี้อาจจะทำให้เราเจอวิธีการใหม่ๆ ในการรักษา อย่างหนึ่งแน่ๆ คือการใช้เทคโนโลยีในการรักษามากขึ้น เช่น การรักษาทางไกล (telemedicine) และ การรักษาที่บ้าน (home-based therapy) สมมติว่าอนาคตมีคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) บางทีเขาอาจจะไม่ได้อยากนอนโรงพยาบาล เราก็อาจใช้ระบบติดตามสุขภาพเขาแทนได้ และการใช้ระบบพวกนี้ก็จะต้องใช้เทคโนโลยีและข้อมูลมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างในอนาคตด้วย

อีกข้อหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องทัศนคติของคน บางทีคำว่า healthcare กับ medicine ก็ไม่เหมือนกัน ผมว่าประเทศไทยเก่งมากๆ อยู่แล้วในเรื่อง medicine คือเรามีคุณหมอที่รักษาเก่ง แต่สุดท้ายแล้ว healthcare มันมีมากกว่าแค่เรื่องยาและการรักษาโรคอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับการให้บริการ (service) ซึ่งเราจะต้องมีความใส่ใจ โดยเฉพาะในเรื่องการสื่อสารและการตั้งใจฟังกันและกัน

ผมเคยอ่านบทหนึ่งจากหนังสือ ‘Ten Lessons for a Post-Pandemic World’ เขียนไว้ว่า ประชาชนต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ และผู้เชี่ยวชาญก็ต้องฟังประชาชน ผมว่าขาที่สองสำคัญมาก เพราะผู้เชี่ยวชาญทั้งหมอและพยาบาลต้องมีความเป็น service-provider และผมว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มาคลุกคลีกับคน เปิดใจฟังคนมากขึ้น ถึงจะมีดราม่าเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างก็ตามในช่วงนี้ แต่มันก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนา empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) ของเจ้าหน้าที่แพทย์ และจะเป็นประโยชน์ต่อการทำ healthcare ต้อนรับคนจากทั่วโลกมากขึ้น

แล้วจาก 5C ที่คุณว่ามานี้ มันจะนำไปสู่การสร้างแบรนด์ใหม่ให้ประเทศไทยอย่างไร

เราสามารถเอาทั้ง 5 ธีมนี้มาผสมผสานกันได้หลายรูปแบบ และพอเราผสมออกมาจนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว ก็อยู่ที่ขั้นต่อไปว่าเราจะส่งออกรูปแบบไหน อย่างไร ซึ่งผมว่าดิจิทัลจะเข้ามาช่วยได้มาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดคือว่า ทุกๆ วงการต้องมานั่งคิดใหม่ว่าเราจะให้ประสบการณ์คนได้อย่างไรโดยที่ไม่ได้เจอหน้ากัน ผมว่าการสร้างประสบการณ์ทางดิจิทัล (digital experience) เป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้คนเข้าถึงเราได้ ในหนังสือของผม ผมเลยแยกออกมาบทหนึ่งเลยในชื่อ ‘Digital Soft Power’ โจทย์คือประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะๆ ควรจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาเยี่ยมเยือนประเทศไทย และมีความประทับใจตั้งแต่ก่อนที่เขาจะสามารถขึ้นเครื่องบินได้ ไม่ว่าจะด้วยหนัง ซีรีส์ เพลง หรือเกม ฯลฯ

ถ้าเราสามารถใช้ยุคที่คนเสพข้อมูลเยอะขึ้นมาสร้าง Soft Power ที่เป็นแบรนด์ของไทยได้ ก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล แล้วทันทีที่เขาเดินทางได้ เขาก็จะเดินทางมาที่ไทย ส่วนตอนที่ยังเดินทางไม่ได้ เขาก็อาจจะซื้อสินค้าไทยด้วยว่ามันมีมูลค่าของแบรนด์อยู่ เช่น เกาหลีที่มีซีรีส์ที่ชวนคนให้อยากไปเที่ยวที่นั่น หรือดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) ที่เราอาจจะยอมเสียเงินกับการซื้อของเล่นของเขา ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่เคยไปด้วยซ้ำ หรือญี่ปุ่นที่ใช้หมีคุมะมง (Kumamon) เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ (brand ambassador) ของสินค้าเกษตร

นั่นแปลว่าดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมประเทศไทย แล้วตอนนี้ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เราต้องปรับตัวกันอย่างไร

ในโลกดิจิทัล ไม่มีวันที่จะมีใครพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่บริษัทที่เป็นดิจิทัลเต็มตัวก็ตาม ทุกคนย่อมมีความกลัวอยู่ระดับหนึ่งว่าเราไม่พร้อมเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ถึงแม้ตอนนี้เราอาจจะนำเทรนด์อยู่อันดับหนึ่งก็ตาม เราก็ต้องคอยระวังหลังอยู่ตลอด เพราะอยู่ดีๆ วันหนึ่งอาจมีคนที่พร้อมกว่ากระโดดมายืนข้างหน้าเรา แล้วกลายเป็นเราที่ปรับตัวไม่ทันเอง สำหรับประเทศไทย ผมว่ามีหลายอย่างที่เราต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลยคือการเตรียมพร้อมทักษะ

ถ้าอย่างนั้น คุณคิดว่าทักษะอะไรที่เราจำเป็นต้องมีบ้างในยุคนี้

ผมว่าในยุคหลังโควิด เราจำเป็นต้องมี 3 ทักษะ + 2 mindsets (กรอบความคิด)

ทักษะแรกคือ ‘ความรู้ดิจิทัลพื้นฐาน’ (Basic Digital Literacy) เราเห็นชัดมากในช่วงโควิดว่าคนที่ไม่มีทักษะดิจิทัลพื้นฐาน เช่นซื้อ-ขายของออนไลน์ไม่เป็น เรียนออนไลน์ไม่เป็น ก็จะเดือดร้อนกันหนัก และที่สำคัญยังต้องมีพื้นฐานของการแยกแยะข่าวจริง-ข่าวปลอม และรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ เพราะในช่วงโควิด ก็เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ถูกหลอก

ทักษะที่ 2 คือ ‘ทักษะดิจิทัลขั้นสูง’ (Advanced Digital Skill) เช่น การเขียนโค้ด ปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และบล็อกเชน ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่เพียงคนหยิบมือเดียวมี และเราจำเป็นต้องสร้างคนหยิบมือเดียวนี้ให้มีจำนวนมากและเก่งให้ได้ นี่จะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญมาก

ทักษะที่ 3 คือ ‘ทักษะที่มนุษย์เท่านั้นทำได้‘ (Human Skill) ต่างจากสองทักษะแรกที่ต้องพึ่งเทคโนโลยี อย่างเช่นทักษะการบริการ การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม ถึงทักษะพวกนี้จะมีความเป็นมนุษย์มากๆ แต่ก็สำคัญมากในยุคของหุ่นยนต์เช่นกัน เพราะถ้าสังเกตในช่วงโควิด ผู้คนอาจติดต่อกันได้แค่ทางออนไลน์ แต่เอาเข้าจริงก็ยังต้องการปฏิสัมพันธ์กันแบบตัวเป็นๆ อยู่ ผมว่าในแง่ทักษะที่มีความเป็นมนุษย์นี้ ไทยค่อนข้างทำได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในด้านการบริการและความเห็นอกเห็นใจ เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาไว้

ถัดจาก 3 ทักษะก็คืออีก 2 mindsets อันแรกคือ Growth Mindset ซึ่งก็คือการมีความคิดที่ว่าตัวเราในวันพรุ่งนี้จะสามารถดีได้กว่าวันนี้ ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นมาแข็งแกร่งกว่าเดิมได้ และมองความล้มเหลวเป็นบทเรียนที่จะพัฒนาตัวเอง ทำให้เรากล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ นี่เป็น mindset ที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราสามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง แต่ผมเคยทำวิจัยและพบว่าไทยยังขาด Mindset แบบนี้อยู่เยอะเทียบกับชาติอื่นๆ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของเรา

อีกอันหนึ่งคือ Global Mindset ซึ่งก็คือความกล้ามองในระดับที่กว้างแค่ประเทศตัวเอง ผมพบมาว่าที่จริงแล้ว ผู้ประกอบการไทยก็มีความสามารถกันมากมาย แต่ปัญหาคือไม่ค่อยมองกว้างกว่าประเทศไทยเท่าไหร่ เพราะด้วยขนาดประชากรไทยที่มีอยู่ 60-70 ล้านคน ถึงแม้จะใหญ่ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ใหญ่พอที่จะสร้างธุรกิจให้ไปไกลระดับยูนิคอร์นได้ และการไม่อยากขยายออกไปนอกประเทศนี้ก็จะไปจำกัดการเติบโตของตัวเอง ผมอยากให้มองตัวอย่างสิงคโปร์ ด้วยความที่เขาคิดว่าประเทศตัวเองเล็กมาก ทำให้เขาต้องดึงดูดคนและบริษัทเก่งๆ ระดับโลกเข้ามา และทำให้ตอนนี้ประเทศเขามีธุรกิจระดับยูนิคอร์นประมาณ 5 ตัวแล้ว ซี่งส่วนมากก็ไม่ได้ขายแค่ในตลาดสิงคโปร์ แต่ใช้สิงคโปร์เป็นฮับเพื่อออกไปสู่ตลาดโลก

ที่คุณพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่ใช่ทุกคนและทุกธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จาก Digitalization และอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังเลยด้วยซ้ำ ประเทศไทยควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ใช่ครับ จุดอ่อนของยุคดิจิทัลคือมันจะมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้หรืออาจจะเข้าถึงได้ไม่เร็วพอ ถึงวันหนึ่งอาจจะเข้าถึงได้ แต่ก็จะตามคนอื่นไม่ทันแล้ว นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลมีอยู่ 3 ประเด็น อย่างแรกที่ชัดเจนที่สุดเลยคือ ‘การเข้าไม่ถึง’ ต่อให้เราจะเก่งขนาดไหน แต่ถ้าสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ก็ลำบากหมด ผมว่าเราจะต้องทำให้การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

เรื่องที่ 2 คือ ‘ทักษะดิจิทัลพื้นฐาน’ คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่มีทักษะตรงนี้ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เป็นสังคมสูงอายุ คนสูงวัยที่ไม่คุ้นกับดิจิทัลมีมากพอสมควร ในช่วงโควิด เราก็จะเห็นว่าลูกหลานต้องสอนญาติผู้ใหญ่ในบ้านใช้เทคโนโลยีกันเยอะ ผมว่าเราอาจจะต้องจ้างคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่กำลังหางานยาก ให้ไปเป็นโค้ชสอนดิจิทัลพื้นฐานให้กับคนในชุมชนของตัวเอง แทนที่จะให้เงินช่วยเหลือคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เปล่าๆ

และเรื่องที่ 3 ก็คือ ‘การเข้าถึงแหล่งการเงิน’ บางคนอาจจะมีอินเทอร์เน็ตใช้และมีทักษะ แต่กลับไม่มีเงินทุนที่จะมาตั้งต้นทำธุรกิจออนไลน์ หรือไปเข้าคอร์สเรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ ประเทศรอบภูมิภาคเราอย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซีย มีการให้เงินสนับสนุนคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์ โดยส่วนมากไม่ได้ให้เป็นเงินสด แต่ให้เป็นเงินเครดิต เอาไปตั้งต้นทำธุรกิจในแพลตฟอร์ม E-Commerce ไหนก็ได้ รวมถึงเอาไปเข้าคอร์สออนไลน์เพื่อเรียนรู้ทักษะในการทำธุรกิจ ผมว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนการเข้าถึงดิจิทัลของผู้คนได้ และเมื่อคนเข้าถึงดิจิทัลได้มากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้เข้าถึงสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) เป็นแหล่งเงินทุนอีกช่องทางหนึ่งด้วย

ถ้ามองไปที่นโยบายของรัฐไทยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลตอนนี้ คุณคิดว่าเป็นอย่างไร

ผมว่าส่วนที่สำเร็จก็คือการสร้างความตื่นตัวให้กับคน อย่างนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็ปลุกให้คนตื่นตัวขึ้น ทำให้รู้ตัวว่าการเปลี่ยนผ่านกำลังจะมาถึง และ 4.0 ก็กลายเป็นคำที่ทุกคนคุ้นหู

ผมว่าต่อจากนี้ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องเพิ่มขึ้น เรื่องแรกคือทักษะความสามารถ (Talent) ที่ผมพูดถึงไปแล้ว เรื่องที่ 2 คือ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) และสุดท้ายคือกฎกติกา (Regulation)

ในด้าน ‘Digital Infrastructure’ ปัญหาสำคัญคือเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ที่ยังไม่ค่อยเข้าถึง หรือสัญญาณไม่ค่อยดี ซึ่งส่งผลกระทบมากกับกิจกรรมที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตอย่างการเรียนออนไลน์ รัฐควรใช้โอกาสจากตอนนี้ที่ 5G เข้ามา แก้ปัญหาเรื่องนี้

อีกเรื่องที่ควรทำก็คือ Digital ID (กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสะดวกสบายขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วยลดความจำเป็นในการใช้เอกสารไปแสดงตัวตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี การลงทุน การขอสินเชื่อ ไปจนถึงการเข้าโรงพยาบาล ส่วนมากแล้ว Digital ID จะเกี่ยวโยงกับธุรกรรมการเงินสูง อย่างไทยก็มีพร้อมเพย์ ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดี

ส่วนของสิงคโปร์ก็พัฒนาล้ำขึ้นไปขั้นหนึ่ง คือเขามีระบบ My Info ซึ่งมีหลักการคือตัวเราเป็นเจ้าของข้อมูลของเราเอง ไม่ว่าข้อมูลนี้จะถูกเก็บไว้ที่หน่วยงานไหนก็ตาม และตรงนี้ก็นำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น Singapore Financial Data Exchange (SGFinDex) ซึ่งมีหลักการว่าเรามีข้อมูลส่วนหนึ่งอยู่ที่ภาครัฐ และอีกส่วนอยู่ที่สถาบันการเงินต่างๆ โดยเราสามารถดึงข้อมูลทั้งหมดของเรามารวมกันอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันได้หมด ทำให้เราสามารถเห็นข้อมูลภาพรวมของตัวเองได้หมดว่ามีทรัพย์สิน หุ้น หนี้สิน และสินเชื่อต่างๆ อยู่เท่าไหร่บ้างภายในแอพลิเคชันเดียวกัน โดยที่ธนาคารจะปฏิเสธไม่ให้ดึงข้อมูลเพียงเพราะแพลตฟอร์มนั้นไม่ใช่ของธนาคารตัวเองไม่ได้ เช่นเดียวกับรัฐที่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น นวัตกรรมนี้ช่วยให้เราบริการจัดการสินทรัพย์ตัวเองและทำธุรกรรมต่างๆ ง่ายขึ้น เพียงแค่เราเซ็นยินยอมให้ธนาคารเอาข้อมูลการเงินและข้อมูลที่อยู่กับรัฐไปใช้ โดยที่เราไม่ต้องกรอกเอกสารซ้ำหลายรอบ ผมก็หวังว่าประเทศไทยจะไปถึงขั้นนั้นได้วันหนึ่ง

ส่วนทางด้าน ‘Regulation’ ตอนนี้เรามีปัญหาว่ากฎกติกาของเราซับซ้อน มีเป็นแสนๆ ฉบับ ซึ่งมันทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ ผมว่าเราต้องใช้โอกาสช่วงโควิดนี้ทำ Regulatory Guillotine คือต้องมาทบทวนกันว่ากฎอะไรที่ไม่จำเป็น อย่างต้นปีที่แล้ว เรามีการแก้กฎเกี่ยวกับการประชุมออนไลน์ ซึ่งก็ช่วยปลดล็อกได้หลายเรื่อง ถ้าเราแก้ไขเรื่องนี้ได้ ก็จะทำให้เราเข้าสู่โลกดิจิทัลได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าศักยภาพรัฐไทยกำลังมีปัญหา โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่เรามองเห็นข้อบกพร่องของระบบราชการไทยเต็มไปหมด ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ ก็อาจจะแก้เรื่องอื่นยาก คุณคิดว่าเราควรจะถือโอกาสนี้ปฏิรูประบบราชการกันอย่างไร

ยอมรับเลยครับว่าระบบราชการไทยมีปัญหาเยอะ เวลาที่ผมคุยกับคนเก่งๆ ในภาครัฐ ผมจะรู้สึกมีความหวังและหมดหวังพร้อมๆ กัน ซึ่งมันย้อนแย้งมาก ผมมีความหวังตรงที่ว่า คนเก่งไฟแรงที่เข้าใจปัญหาที่ทำงานอยู่ในภาครัฐมีเยอะกว่าที่คิด พอไปคุยกับเขาเวลาที่ไม่ต้องใส่หมวกข้าราชการ เราก็จะเห็นว่าเขาเก่งนะ เขาพยายามเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่าทั้งๆ ที่ระบบราชการมีคนเก่งมากขนาดนี้ ทำไมผลออกมาถึงจำกัดขนาดนี้ เราเห็นได้เลยว่าระบบของมันเป็นโซ่ตรวนที่ผูกคนเหล่านี้ไว้เยอะมาก

ถ้าถามว่าเราจะปรับกันอย่างไร อาจจะต้องกลับไปดูที่หนังสือ The Great Remake มีบทหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวแต่จริงๆ มันเกี่ยว ผมพูดถึงการเอาโมเดลแพลตฟอร์มมาใช้กับรัฐ ซึ่งมันไม่ได้แปลแค่ว่าให้รัฐสร้างแอพลิเคชันหรือสร้างแพลตฟอร์ม นั่นคือการตีความแบบกำปั้นทุบดินที่น่ากลัวมาก การเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ได้อยู่ที่ว่ามันดิจิทัลหรือเปล่า มันอยู่ที่ปรัชญาของมันซึ่งมี 4 ตัว แบ่งเป็นตัวอักษร A B C D เป็นหลักที่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ใช้กัน และผมว่าถอดมาใช้กับภาครัฐได้ ผมขอไล่จาก D ขึ้นไปจะง่ายกว่า

D-Data คือการใช้ข้อมูลให้มากขึ้น เหมือนกับแพลตฟอร์มที่ต้องใช้ข้อมูลมหาศาลในการฟังเสียงของคน เพื่อจะนำไปสู่การปรับตัว นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับรัฐโดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีความไม่แน่นอนสูง เราต้องหันได้เร็ว ทำผิดได้แต่อย่าผิดนาน ซึ่งการที่จะรู้ว่ามันผิดหรือไม่ผิดคือเราต้องมีข้อมูล และในแง่ข้อมูล ยังรวมถึงเรื่องการให้ข้อมูลด้วย คือต้องสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่ารัฐกำลังทำอะไรอยู่

C-Customer-centric หมายถึง mindset ในการให้บริการลูกค้า ในกรณีของรัฐคือต้องให้บริการประชาชน รัฐจำเป็นต้องปรับกฎกติกาเพื่อตอบโจทย์ประชาชนให้ได้ ไม่ใช่ให้ประชาชนเข้าใจรัฐฝั่งเดียว อย่างตอนนี้ที่ประชาชนบ่นเรื่องวัคซีน ถ้ารัฐมีแนวคิดแบบบนลงล่าง (top-down) หรือไม่ได้รู้สึกว่ามีหน้าที่ต้องรับใช้ประชาชน สิ่งที่รัฐจะรู้สึกก็คือทำไมคนพวกนี้ขี้บ่นจัง แต่ถ้ารัฐมี Customer-centric Mindset ก็จะมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ เพราะลูกค้ามีตั้ง 60-70 ล้านคน ย่อมมีความแตกต่าง เหมือนกับพวกธุรกิจแพลตฟอร์มที่อย่างไรก็ต้องมีลูกค้าบ่นบ้าง แต่หน้าที่ของเราคือการรับการด่าของคนแล้วก็ปรับตัวเท่าที่เราจะทำได้มากที่สุด อีกอย่างคือรัฐต้องไม่อ้างแต่กฎระเบียบ แทนที่จะเริ่มจากกฎระเบียบ เราต้องเอาโจทย์เป็นที่ตั้งมากกว่า เช่นตั้งโจทย์ว่าเวลานี้เราต้องหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด แล้วถึงจะไปมองว่าเราต้องแก้กฎอะไรบ้างให้เราทำโจทย์นี้ได้ ไม่ใช่มาบอกว่าประชาชนต้องเข้าใจระเบียบกระบวนการของรัฐ

B-Bridge the Gap เป็นบทบาทที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปทำทุกอย่างเอง แต่คอยหาช่องว่างที่เอกชนทำไม่ได้ แล้วเข้าไปช่วยแก้ปัญหา แล้วการที่รัฐจะทำตรงนี้ได้ดีจำเป็นต้องมีความสามารถในการประสานงาน เพราะบางทีปัญหาอาจเกิดขึ้นคนละหน่วยงาน เลยต้องมีการประสานข้ามหน่วยงานตลอดเวลา เช่นหน่วยงานด้านสาธารณสุขกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อย่างในช่วงนี้จะเห็นเลยว่าพอประสานงานกันไม่ดี ก็เกิดปัญหาขึ้นมาเยอะ ส่วนตัวผมแนะนำว่าอยากให้มีคณะทำงาน (task force) ที่รวมทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจอยู่ด้วยกันเลย จะได้ไม่มีการเกี่ยงกันระหว่างหน่วยงาน

สุดท้าย A-Attract คือการดึงดูด ปกติแล้ว แพลตฟอร์มไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเอง เราอาจจะไปหาพาร์ทเนอร์มาช่วยทำบางด้านเช่น การโฆษณา หรือการขนส่ง รัฐก็เหมือนกัน สามารถดึงดูดคนหรือองค์กรข้างนอกมาช่วยงานได้ ในประเทศไทยมีคนและองค์การเก่งๆ เยอะอยู่แล้ว รัฐแค่ศึกษาดูว่ามีนวัตกรรมสังคม (social innovation) อะไรบ้างที่เอกชนทำ แล้วรัฐแค่ไปช่วยสนับสนุนให้เขาไปได้ไกลขึ้น และที่สำคัญรัฐต้องมีระบบที่ดี ที่ทำให้คนเก่งที่กล้าตัดสินใจ ยอมฝืนกฎเพื่อประโยชน์ของสังคมยามวิกฤต กล้าอยู่ในระบบต่อ และเราต้องมีระบบที่ปกป้องเขาด้วย ไม่อย่างนั้นทุกคนจะปล่อยเกียร์ว่าง คนเก่งออกจากราชการหมด

จากที่คุณเล่ามาทั้งหมดบ่งบอกว่าเรากำลังถูกบีบทุกทางให้ต้องเปลี่ยนแปลง สุดท้ายนี้ คุณอยากฝากข้อคิดอะไรถึงคนที่กำลังต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างเลี่ยงไม่ได้?

ในหนังสือผมมีประโยคหนึ่งบอกไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ย่อมถูกเขียนจากอนาคตที่เราเลือกเดิน”

วันข้างหน้าอาจมีคนทำหนังเรื่องโควิดขึ้นมา เหตุการณ์นี้จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เหมือนกับช่วงไข้หวัดสเปนหรือสงครามโลก และแน่นอนว่าในบันทึกต้องเขียนไว้ว่าประเทศนี้ทำอะไรบ้าง ผู้นำคนนั้นคนนี้ทำอะไรบ้างในช่วงนั้น แต่ละคนก็เหมือนกัน เราอาจจะมีเขียนไดอารี่ให้เราได้มองย้อนกลับมา

เราเลือกได้ว่าเราอยากจะมีคาแรคเตอร์อย่างไร เป็นตัวละครแบบไหนในหนังเรื่องนี้ เราได้พยายามพัฒนาตัวเองหรือเปล่าในตอนนั้น เราผ่านวิกฤตนั้นไปอย่างไร ก้าวข้ามความสูญเสียอย่างไร หรือช่วยคนที่สูญเสียอย่างไร ไม่ว่าเราอยากจะถูกจารึกไว้ใน 10-20 ปีข้างหน้าอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องทำสิ่งนั้นเลยตั้งแต่วันนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นผู้นำองค์กรหรือผู้นำประเทศ ผมอยากให้คุณคิดว่าสุดท้ายแล้ว คุณจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์อย่างไร


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save