fbpx

จากครรภ์มารดาสู่อนาคตชาติ : คุยกับ ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ ว่าด้วยการพัฒนาเด็กและเยาวชนของ กทม.

ท่ามกลางตัวเลขอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ ในสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นหนึ่งในปมปัญหาที่ทำให้การเติบโตของเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้กระทั่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เด็กจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญสภาพชุมชนแออัด ปัญหาคนจนเมือง การเข้าไม่ถึงสวัสดิการ การศึกษา ศูนย์ดูแลเด็กและโรงเรียนมีคุณภาพน่ากังขา ฯลฯ

เมื่อเด็กคืออนาคตสำคัญของประเทศ 101 จึงชวน ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องนโยบายพัฒนาเด็กในเมืองกรุงที่ทาง กทม. กำลังดำเนินการ สะท้อนภาพปัญหาเชิงโครงสร้างระดับประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่ดีพร้อมแก่การเจริญเติบโตของเด็กไทย


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.306 เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน: พัฒนาเด็ก-เยาวชนใน กทม. สู่นโยบายเชิงโครงสร้าง กับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ เผยแพร่วันที่ 7 สิงหาคม 2566


YouTube video


หนึ่งปีกับนโยบายเด็กและเยาวชนของ กทม.


จากการทำงานในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ศานนท์ชี้แจงว่าได้ขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ข้อจำกัดของการทำงานในปีแรกคือ ทาง กทม. ไม่มีงบประมาณเท่าที่ควร สิ่งที่ทำได้จึงเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณน้อยแต่เกิดประสิทธิภาพ เช่น การปรับข้อบัญญัติงบอุดหนุนเพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กต่างๆ สามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น, การร่วมกับภาคีเครือข่ายนำร่องหลักสูตร EF ใช้ในการพัฒนาเด็กเล็ก, การเปิด ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่สนใจและอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมงาน กทม. เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายที่ใช้ได้จริงต่อไป

ศานนท์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ด้วยตัวเลขอัตราการเกิดที่ต่ำลง ขณะเดียวกันทรัพยากร (Facilities) เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ยังคงมีเท่าเดิม การดูแลเด็กเล็กจึงควรมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น เมื่อพบว่าศูนย์เด็กเล็กภายใต้การดูแลของ กทม. มีอยู่ 274 ศูนย์ แต่ดูแลเด็กเพียงห้าถึงหกหมื่นคนจากเด็กทั้งหมดกว่าสามแสนคน สิ่งที่ กทม. พยายามทำจึงเป็นการตรวจสอบว่า ยังมีเด็กที่ตกหล่นตามชุมชนอยู่อีกหรือไม่ เพื่อนำพวกเขากลับเข้ามาในระบบและดูแลได้อย่างทั่วถึง

“กทม. พยายามเฟ้นหาว่าเรามีคนที่ตกหล่นเยอะแค่ไหน ยังมีเด็กตามชุมชน หรือยังมีชุมชนที่ไม่ถูกจัดตั้งเป็นชุมชนแล้วเราไม่สามารถเอางบไปสนับสนุนได้หรือเปล่า ศูนย์เอกชนมีเยอะแค่ไหน สิ่งที่ขาดหายไปนี้คือโจทย์แรก

“เราได้ข้อมูลมาเบื้องต้นว่า มีชุมชนที่ยังไม่ถูกจัดตั้งอยู่ประมาณ 500-600 ชุมชน และในนั้นมีเด็กเล็ก แต่พวกเขาไม่สามารถจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กได้ และไม่ได้มีกำลังที่จะพาไปเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาล (Nursery) ในส่วนนี้เป็นภารกิจหลักว่าเราจะดูเด็กเล็กอย่างไรให้ทั่วถึง”

สิ่งที่ กทม. ต้องการทำในขั้นแรกคือขยายชั้นอนุบาลโรงเรียนภายใต้สังกัด กทม. กล่าวคือ โรงเรียนในสังกัด กทม.ที่เปิดชั้นอนุบาลมีอยู่ทั้งหมด 429 แห่ง แต่เริ่มรับเฉพาะเด็กอนุบาล 1 และ 2 (อายุ 4-5 ขวบ) กทม.จึงต้องการขยายให้เป็นชั้นอนุบาล 1 2 และ 3 โดยเริ่มรับเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป

ขั้นที่สอง คือ กระจายศูนย์เด็กเล็กให้มากขึ้น โดยสำรวจชุมชนตกหล่นเพื่อนำพวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบ ออกเป็นข้อบัญญัติระยะยาวเกี่ยวกับศูนย์เด็กเล็กของ กทม. ขยับจากการสนับสนุนแบบสงเคราะห์ให้เป็นภารกิจโดยตรงของสำนัก และเสริมหลักสูตรการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้ครบวงจรมากขึ้น

“ข้อบัญญัติที่เรามีในปัจจุบันไม่มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับศูนย์เด็กเล็กเลย มีเพียงข้อบัญญัติสนับสนุนชุมชน สมมติว่าคุณมีบ้านแล้วอยากจะทำเป็นศูนย์เด็ก ก็ต้องมาจดทะเบียนกับประธานในชุมชนก่อน ให้มีจำนวนเด็กและมาตรฐานตามกำหนด กทม.จึงจะสนับสนุนได้ เพราะฉะนั้นกระดุมเม็ดแรกคือความเป็นชุมชน

“พอกลับมาดูแล้วที่ตกหล่นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นชุมชน เราตรวจสอบแล้วมีอีกประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 150 แห่งที่เป็นคล้ายๆ บ้านตายายหรือศูนย์เด็กเล็ก เราสามารถเอาเขาเข้ามาในระบบได้หรือไม่ และใช้ข้อบัญญัติเดิมในการสนับสนุนทำให้เขามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้หรือเปล่า”



หมู่บ้านที่ดีจะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

มองปัญหาการพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย


ศานนท์ให้ความเห็นถึงปัญหาการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครเองว่า มีหลากหลายเรื่อง ทั้งด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพโรงเรียน ที่ความเจริญกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ โรงเรียนรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกของผู้ที่มีทางเลือกในการศึกษา หากประเทศไทยสามารถทำโรงเรียนรัฐให้มีคุณภาพมากขึ้น น่าจะส่งผลต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีพื้นที่ให้เด็กได้ทดลองใช้ชีวิตนอกเหนือจากตำราเรียนเหมือนที่ต่างจังหวัด เด็กจากบางครอบครัวเติบโตมากับห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในคอนโดแทนที่จะเป็นพื้นที่กว้าง อีกทั้งเมื่อกรุงเทพเป็นเมืองเศรษฐกิจ แรงงานต่างเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง แม้มีการจดทะเบียนประมาณ 5.6 ล้านคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงของประชากรแฝงมีอยู่สิบล้านคน ฉะนั้นที่อยู่อาศัยต่างๆ จึงเป็นที่อยู่แบบชั่วคราว เป็นชุมชนแออัด และเกิดปัญหาด้านชุมชนขึ้น

กล่าวได้ว่า เด็กกรุงเทพฯ จะมีปัญหาเชิงพื้นที่และการเข้าถึงทรัพยากรที่แม้มีมาก แต่มีไม่พอ ส่วนต่างจังหวัดมีปัญหาในเชิงคุณภาพและโอกาส สิ่งที่ควรทำคือ การเพิ่มโอกาสให้กับจังหวัดนอกเมืองหลวง ไม่กระจุกความเจริญอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว สร้างเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมสำคัญในเมืองต่างๆ ไม่จำเป็นต้องพึ่งเพียงการท่องเที่ยว

“กรุงเทพฯ เจริญเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจ ฉะนั้น ภายนอก กทม.ต้องสร้างอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจ สร้างความเป็นเมืองให้ได้มากกว่านี้ ถ้าเศรษฐกิจไม่ไป การจะเอางบประมาณจากภาครัฐไปลงทั้งหมดคงยาก ถ้าสามารถทำให้เมืองมีเศรษฐกิจที่ดี คนก็จะไปอยู่ พอคนไปอยู่ ระบบสวัสดิการต่างๆ การศึกษาที่ดี การลงทุนในการสร้างโรงเรียนดีๆ ก็จะตามไปด้วย”



การศึกษาคือกุญแจปลดล็อกวังวนความเหลื่อมล้ำ


ศานนท์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะทำให้คนคนหนึ่งหลุดออกจากวงจรของความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน หัวใจของการพัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนคือการทำแผนระยะยาว ระยะกลาง และระยะสั้นไปพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งมองว่าโลกยุคปัจจุบันเป็นเรื่องของดิจิทัล เมื่อก่อนเราอาจจะต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา แต่ปัจจุบัน เด็กจากบ้านที่มีรายได้ต่ำสามารถใช้โลกอินเทอร์เน็ตเข้าถึงการศึกษาได้ไม่ต่างจากเด็กที่บ้านรายได้สูง เพียงแค่มีช่องทางเท่านั้น สิ่งนี้จึงเป็นโอกาสในการปิดช่องว่างการเรียนรู้จากความเหลื่อมล้ำได้

เมื่อเล็งเห็นโอกาสแล้ว ที่ผ่านมา กทม.จึงพยายามผลักดันให้โรงเรียนต่างๆ เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยี (Digital Tranformation)

“เราไม่สามารถซื้อแล็ปท็อปให้เด็กทุกคนได้ เบื้องต้นเราจึงซ่อมห้องคอมพิวเตอร์ก่อน อันนี้เราทำทุกโรงเรียนแล้ว อย่างต่อไป เรากำลังจะทำ Digital Classroom เปิดรับบริจาคแล็ปท็อปจากคนที่ต้องการทิ้งคอมฯ เก่า หรือบริษัทที่ต้องโละคอมฯ เก่า แล้วเราก็จะเอาตรงนี้มาพัฒนาต่อ ตอนนี้ทาง Google ก็มีซอฟต์แวร์ Chromebook ที่เหมาะกับการเรียนการสอน สิ่งนี้ก็จะทำให้โรงเรียนมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น”

การพัฒนาการศึกษาตามแนวทางของศานนท์จึงเป็นการวางโร้ดแมป ให้การเข้าถึงการศึกษาและแหล่งข้อมูลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พัฒนากายภาพโรงเรียน พัฒนาครูให้เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้การคิดวิเคราะห์แยกแยะต่างๆ โดยไม่ต้องท่องจำ แต่เป็นความเข้าใจ

อนึ่ง การส่งเสริมให้เด็กเข้าสู่สายอาชีพก็เป็นหนึ่งความท้าทายสำคัญ ศานนท์อธิบายว่า โรงเรียนใน กทม.ส่วนใหญ่จะรับเด็กถึงแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีจำนวนน้อยที่รับถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงเกิดความไม่ต่อเนื่องของการศึกษา ซึ่งหากเรามองภาพมิติใหญ่จะพบว่า ปัญหาอุตสาหกรรมขาดคน แรงงานหลายคนว่างงาน อุปสงค์กับอุปทานของตลาดสวนทางกัน ก็อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่ต่อเนื่องนี้

“โรงเรียนที่ผลิตแรงงานก็เริ่มหาคนยากเหมือนกัน ผมเลยคิดว่าเราน่าจะเอาหลักสูตรของสายอาชีพมาบูรณาการกับการส่งต่อของเด็ก เช่น หลายบริษัทที่มีสาขา คนขาดคนหมดเลย ให้เขาเอาหลักสูตรเข้ามาพัฒนาในอาชีวะ แล้วทาง กทม.ก็ส่งต่อ อาชีวะกับ กทม.จะทำงานร่วมกัน ให้เด็กเข้าสู่ระบบแรงงาน ตอนเรียนก็ได้เงินด้วย

“เด็กหลายคนต้องพักการเรียนชั่วคราว (Drop) เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ แต่ว่าหลักสูตรนี้ทำให้พวกเขาได้วุฒิไปพร้อมๆ กับได้เงิน ได้ครบวงจรเลย เราต้องเชื่อมหลายหลักสูตรของหลายๆ อาชีพ ในตลาดแรงงานที่สำคัญ เด็กที่จบ ม.3 ในหนึ่งปีของ กทม. มีประมาณเกือบๆ หมื่นคน ในจำนวนนี้ต้องมีสัดส่วนคนได้งานทำ เข้าสู่ระแบบแรงงานได้”


เมื่อ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ คือสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการ


ในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าฯ กทม. อธิบายถึงลักษณะเด็กในศูนย์เด็กเล็กภายใต้การสนับสนุนของ กทม. ว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กในชุมชนที่มีรายได้ไม่มาก คล้ายกันกับโรงเรียนในสังกัด กทม.ที่ส่วนใหญ่จะรองรับเด็กจากครอบครัวที่ผู้ปกครองทำงาน ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูกมากนัก แต่ศานนท์มองว่าข้อดีของเด็กลักษณะนี้คือ พวกเขามีความอดทนสูง สามารถมีความสุขได้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ เพราะชีวิตผ่านความลำบากมามาก และการต่อสู้กับความยากลำบากของพวกเขาจะเป็นต้นทุนที่ดีในการพัฒนาตนเอง เพื่อเข้าสู่การทำงานในตลาดแรงงานต่อไป

“จะเห็นว่าหลายๆ โรงเรียนไม่ได้สอนแค่เฉพาะวิชาการแล้ว แต่เขาสอนทักษะอาชีพ สอนการเรียนรู้เชิงเศรษฐกิจเข้าไปด้วย เรื่องการเรียนรู้เพื่อส่งเข้าสู่อาชีพจึงเป็นหนึ่งในข้อสำคัญที่ กทม.จะทำในปีนี้”

ถึงกระนั้น ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สูงมักจะมีปัญหาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ตามมา ถึงแม้เด็กจะเจอการเรียนการสอนที่มีคุณภาพแล้ว แต่เมื่อกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัวที่ติดกับวงจรความเหลื่อมล้ำ อาจจะเป็นเรื่องยากที่เด็กจะสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศานนท์จึงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการมี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับเด็ก



ทาง กทม. นำร่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยอาศัยโรงเรียนเป็นหลัก อย่างแรกคือ ออกประกาศ กทม. ว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กด้านต่างๆ การแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด รวมถึงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนและทรงผม ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือ ทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อตัวของตนเอง ทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งต่อร่างกายและจิตใจ เด็กจึงจะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี หลายๆ โรงเรียนเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เด็กมีความสุขมากขึ้น

อย่างที่สอง ขยายเวลาเปิด-ปิดโรงเรียน โดยในแต่ละวันโรงเรียนต้องปิดรั้วช้าลง และเปิดพื้นที่ให้ใช้ในวันสุดสัปดาห์ด้วย เนื่องจากมีเด็กหลายคนไม่ต้องการกลับบ้าน ถ้าพวกเขาต้องการทำกิจกรรม วิ่งเล่น อ่านหนังสือ โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ ศานนท์กล่าวว่าที่ผ่านมา บางโรงเรียนจะปิดหลัง 18.30 น. มีการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน เปิดห้องเรียนให้ครูสามารถสอนหนังสือนอกเวลาแก่เด็ก รวมถึงเสาร์-อาทิตย์มีอาสาสมัครมาสอนในชั้นเรียน หรือเปิดพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมนันทนาการในวันหยุด

“เวลาถามเด็กว่าพื้นที่แบบไหนที่พวกเขาสบายใจ พวกเขามักจะตอบว่า ‘โรงเรียน’ สิ่งที่เราทำคือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยเสียก่อน พยายามจะสร้างพื้นที่ให้พวกเขามากขึ้น เพราะหากไปแก้ที่ครอบครัวเลยผมว่ายาก ถ้าเราขยายเวลาให้เด็กได้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยแบบนี้มันเร็วกว่า

“ส่วนในเรื่องของครอบครัวก็ต้องผลักดันเรื่องของยาเสพติด สุขภาพ นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำคู่กัน การเพิ่มพื้นที่ค้าขาย การทำอย่างไรให้เด็กห่างไกลยาเสพติด รู้ผิดชอบ มีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง”

นอกจากโรงเรียนแล้ว นิยามของคำว่าพื้นที่ปลอดภัยยังหมายถึง ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่ให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยศานนท์อธิบายว่า พื้นที่ปลอดภัยลักษณะนี้มีความหลากหลาย แต่ละชุมชนก็จะมีพื้นที่ปลอดภัยที่แตกต่างกัน

“เราเคยไปชุมชนริมน้ำสามเสน พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาคือ ริมน้ำ แต่ความไม่ปลอดภัยคือที่ตรงนั้นไม่ค่อยมีแสงสว่าง การให้เขตฯ ไปเพิ่มไฟริมคลอง ริมแม่น้ำ จะทำให้เด็กมีพื้นที่มากขึ้น เพราะพวกเขาใช้ตรงนั้นทำกิจกรรม

“หรือบางที่เป็นห้องสมุด อย่างสลัมคลองเตยจะมีห้องสมุดที่หนึ่งที่พวกเขาไปนั่งกันนานๆ เป็นทั้งพื้นที่เล่น พื้นที่อ่านหนังสือ เพราะพวกเขารู้สึกว่าสถานที่นี้ปลอดภัย สบายใจ”

รวมถึงทาง กทม.เอง มีนโยบายเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ เช่น ปรับปรุงบ้านหนังสือ ลานกีฬา ทำสถานที่สาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ซึ่งจุดนี้ศานนท์ให้ความเห็นว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยโดยการพัฒนาจากสิ่งเดิม เมื่อพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นแล้ว เด็กๆ จะได้สัมผัสกับตัวเลือกที่หลากหลาย หลุดออกจากวังวนเดิมและมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

เมื่อกล่าวถึงงบประมาณในการนำมาใช้เพื่อการสร้างพื้นที่สาธารณะ ศานนท์กล่าวว่า กทม.พยายามทำทุกอย่างให้สมดุลกับงบประมาณที่มีอยู่ หลายๆ เรื่องไม่จำเป็นต้องใช้งบมากนัก เช่น ปรับปรุงสถานที่เดิมที่มีอยู่แล้วด้วยการทาสีใหม่ ทำไฟใหม่ หรือมีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทเอกชนบ้างในบางโครงการ แต่ในอนาคตจะมีการเพิ่มสิ่งใหม่เข้ามาด้วยเช่นกัน

“จริงๆ การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะเดิมใช้เงินน้อยมากเพราะมันมีที่อยู่แล้ว เราแค่เข้าไปปรับปรุงบางจุดให้ดีขึ้น ล่าสุดมีโครงการจากบริษัทเอกชนมาทำโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Dream Stadium’ คือไปวาดภาพกัปตันซึบาสะตรงลานกีฬา เท่านั้นเด็กก็ออกมาเตะบอล ออกมาเล่นกันเยอะขึ้นแล้ว

“ทั้งนี้ทั้งนั้นอนาคตก็ต้องสร้างสิ่งใหม่เช่นกัน เรามีแผนปรับปรุงลุมพินีสถาน ให้เป็นพื้นที่ที่กลุ่มละคร กลุ่มลีลาศแถวนั้นได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมมากขึ้น ส่วนที่ใช้งบก็ต้องใช้ แต่ส่วนใหญ่มันเป็นเครือข่ายทางสังคม (Social Connection) ทั้งนั้นเลย ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเท่าไร”

อย่างไรก็ตาม การพยายามสร้างสมดุลกับงบประมาณที่มีจำกัดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ศานนท์อธิบายโดยการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า สมมติงบประมาณของ กทม. มีอยู่ 100 เป็นค่าจ้างบุคลากรไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นงบที่ต้องลงไปกับโครงการใหญ่ทั้งหลาย ทำให้เหลือใช้จ่ายกับแผนงานต่างๆ อยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และการปรับงบประมาณในส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“สิ่งที่เราพยายามทำคือต้องใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ Traffy Fondue ทำให้เราสามารถรู้ได้เลยว่าตรงไหนเป็นจุดที่ประชาชนต้องการให้แก้ไข ปัญหาอยู่จุดใด อย่างเรื่องน้ำท่วม ถ้าเราต้องลอกสองสามพันคลองก็คงไม่ไหว แต่ถ้าเรารู้ว่าจุดเปราะบางอยู่ตรงไหน ก็จะเอาเงินไปลงตรงจุดที่ถูกต้องมากขึ้น

“การสร้างภาคีเครือข่ายให้ได้มากก็สำคัญ โดยเฉพาะกับงานเศรษฐกิจ อย่างปีงบประมาณนี้เราแทบไม่มีงบในเรื่องของกิจกรรม (Event) เลย เราตัดเกือบหมด แล้วเอางบมาลงกับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มากขึ้น เศรษฐกิจก็ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะงบจะคล่องกว่า เร็วกว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ข้ออ้างแต่คือเงื่อนไข”



ศูนย์เด็กเล็กแบบใด ชุมชนแบบไหน คือ ‘หมู่บ้าน’ ที่ดีของเยาวชน


กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ควรได้รับการประคับประคองมากที่สุดในสายตาของรองผู้ว่าฯ กทม.นี้ แน่นอนว่า ต้องเป็นเด็กจากครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ยิ่งในชุมชนที่ไม่ถูกจัดตั้งตามกฎหมาย ชุมชนแออัด จำเป็นจะต้องได้รับความใส่ใจมากเป็นพิเศษ ควรมีศูนย์ดูแลเด็กหรือโรงเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีความเสี่ยงเยอะ ซึ่งศานนท์มองว่าชุมชนที่ดีคือชุมชนตามแบบฉบับเมืองน่าอยู่ธรรมดา ไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิต

“ในวันที่เด็กน้อยลง ต้องมาช่วยกันดูให้ละเอียดขึ้น ความเอาใจใส่ต้องลงมาที่เด็กเล็กมากขึ้น ผมว่านี่คือหัวใจ สิ่งที่ผมอยากทำในยุคสมัยนี้คือทำให้เรื่องของเด็กเล็กไม่ใช่แค่การสงเคราะห์ แต่ทำให้เป็นข้อบัญญัติ และทำให้เป็นการดูแลโดยที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ

“ความฝันจริงๆ ที่อยากจะทำในเทอมนี้คือ ผมเห็นชุมชนกำลังโดนไล่รื้อพอสมควร เราอยากมองชุมชนในเชิงคุณภาพชีวิตด้วย ก็เพิ่งคุยกับทางกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ว่า ทาง กทม. อยากสนับสนุนเรื่องของคุณภาพชีวิต เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์สุขภาพ ลานกีฬา ชมรมผู้สูงอายุ ตลาดนัดต่างๆ แทนที่จะคิดผังเรื่องบ้านอย่างเดียว ขอให้มาคิดผังเรื่องพวกนี้ด้วยได้หรือไม่ แล้ว กทม.จะมาช่วยดู มาออกแบบร่วมกันว่าเราจะสร้างชุมชนใหม่ จะทำอย่างไรให้เป็นชุมชนที่มั่นคงจริงๆ ไม่ใช่แค่บ้านแต่มีทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย”

ในด้านของศูนย์เด็กเล็ก ศานนท์มองว่าควรมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ครบทุกมิติ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสมองและอารมณ์ เพราะวัยเด็กเล็กเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหลายๆ เรื่องเพื่อการเติบโตในสังคม พวกเขาต้องการความดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ปกครองมักไม่มีเวลาเลี้ยงดูเนื่องจากจำเป็นต้องทำงานหารายได้ หากมีการขยายวันลาเลี้ยงดูบุตรเพื่อให้พวกเขาสามารถเลี้ยงบุตรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นเรื่องดี แต่การมีศูนย์เด็กเล็กที่ดีก็ถือเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่

“เราต้องมีศูนย์เด็กที่ดีที่เริ่มดูแลตั้งแต่เด็กอายุหลักเดือน มีกฎหมายขยายวันลาให้คุณพ่อคุณแม่เหมือนที่ต่างประเทศ สิ่งนี้ต้องทำคู่กัน เราไม่สามารถคิดในมุมของพัฒนาการเด็กโดยไม่มองสถานะทางครอบครัว ต้องทำให้ศูนย์เด็กเป็นที่พึ่งของคนในชุมชนให้ได้ และพัฒนาการศึกษาต่อเนื่องว่าพอเขาจบจากศูนย์เด็ก เขาไปต่อที่ไหน ประถม มัธยม แล้วต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เห็นชัดขึ้น”


ว่าด้วยการ ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนจะต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน’


ศานนท์กล่าวว่า การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนให้เติบโตได้นั้น สภาพสังคมต้องน่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขสวัสดิการที่ดี เพราะสิ่งแรกที่ผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งจะต้องเจอในสังคมไทยปัจจุบันคือการหาเช้ากินค่ำ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวรายได้น้อยหรือปานกลางก็ตาม ทำให้ไม่สามารถคิดถึงการดูแลเด็กให้ดีอย่างครอบคลุม แต่หากเมืองถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพ มีการศึกษาฟรี มีสิทธิและสวัสดิการรักษาพยาบาล มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะต้องรื้อบ้านหรือย้ายที่อยู่ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เด็กมีการเติบโตที่ดีได้

อีกมิติหนึ่งคือการไม่คาดหวังกับเด็กมากจนเกินไป มีพื้นที่สาธารณะให้เด็กทุกคนได้สัมผัสถึงความหลากหลาย ค้นหาตัวตน ไม่จำเป็นต้องเก่งกว่า รวยกว่า ดีกว่า ขยันกว่า ก็สามารถเติบโตและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

“ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่ดูเหมือนนามธรรม แต่จริงๆ มันสร้างความเท่าเทียมที่ชัดเจนที่สุดเลย ตอนจัดงานหนังกลางแปลง ผมเห็นคนไร้บ้านมานั่งดูหนังในพื้นที่เดียวกับดาราที่เป็นคนเล่นหนังเรื่องนั้น เห็นคุณพ่อที่แก่มากกับเด็กเล็กมากมานั่งดู ความหลากหลายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไม่สร้างพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ฉะนั้น ถ้าเด็กจะเกิดมาได้ผมว่าต้องมีพื้นที่สาธารณะแบบนี้ เพราะนี่คือที่เดียวที่จะสร้างความเท่าเทียมได้จริงๆ

“เราต้องทำให้เยาวชนยังมีความหวัง มีที่ให้เขาปล่อยของได้โดยไม่มีใครเอาไม้บรรทัดมาวัด เรื่องพวกนี้ดูไม่สำคัญแต่มันสำคัญกับเด็กและเยาวชนมากในวันที่ดูแล้วไม่ค่อยมีความหวังเท่าไร เมืองนี้ควรจะมีอะไรที่ให้ความหวังเขาได้มากขึ้น”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save