fbpx

7 เดือนของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จาก ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ สู่การเผชิญหน้ากับความท้าทายใหญ่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.

นับตั้งแต่การชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อกลางปี 2565 ชื่อของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ก็อยู่ในกระแสสังคมการเมืองไทยมาโดยตลอด ทั้งเสียงจากกองเชียร์ที่ติดตามด้วยความหวังว่าพลังของเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ได้ และจากผู้ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ต่อปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติฟีเวอร์’

น่าสนใจว่า ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาของการทำงานจริง ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ เห็นอะไรบ้าง การเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ยากแค่ไหน เป็นอย่างที่คิดหรือไม่ อะไรคือโอกาส ความเป็นไปได้ และข้อจำกัดของกรุงเทพฯ

101 ชวน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุยลึกและทบทวนช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาจากประสบการณ์บริหารในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรายการ 101 One-on-One Ep.286: กทม. 2566 ข้อจำกัด ความเป็นไปได้ และอนาคต กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์



7 เดือนในสนามจริงหลังกระแส ‘ชัชชาติฟีเวอร์’


หลังจากชัยชนะแบบ ‘ซูเปอร์แลนด์สไลด์’ กว่า 1.3 ล้านเสียงในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 และตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาในการทำงานจริงของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขากล่าวว่าตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบันยังคงมีภารกิจและโครงการต่างๆ ที่ต้องทำอีกมาก ซึ่งในขณะนี้มีทั้งเรื่องที่ทำสำเร็จแล้วตามนโยบายที่ประกาศไว้ รวมถึงสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จและยังคงต้องผลักดันต่อไป สำหรับชัชชาติมองว่าความสำเร็จสูงสุดที่เกิดขึ้นกับการบริหารกรุงเทพฯ คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ยึดประชาชนเป็นที่ตั้งมากขึ้น

“ถ้าจะให้ประเมินตัวเองก็คงให้ 5 จาก 10 คือแค่พอผ่าน ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี คือการเปลี่ยนวิธีคิดของเพื่อนร่วมงานเรา ให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้งมากขึ้น ตอบโจทย์ประชาชนให้มากขึ้น พยายามดูแลประชาชนให้ละเอียดขึ้น นี่เป็นสิ่งที่พยายามจะทำให้เป็นตัวอย่างต่อไป

“ที่ผ่านมาจะเห็นเหตุการณ์หนักๆ อย่างน้ำท่วม แต่ผมว่าเราดูแลได้ค่อนข้างดี คือเราลงไปลุย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ลุยไปกับเรา ทุกคนทำงานหนัก สามารถรวมใจของเจ้าหน้าที่ กทม. ได้ ผลที่ได้ก็ดีกว่าที่เราคาดการณ์ ถึงจะมีน้ำท่วมบ้าง แต่ทุกคนก็ร่วมกันทำงานให้กรุงเทพฯ ได้ดี” ชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำงานของ กทม. ในช่วงที่ผ่านมามีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ภายในทีมไม่น้อย ซึ่งอาจนำมาสู่แรงต่อต้านภายใน ประเด็นนี้ชัชชาติระบุว่าเป็นการทำงานตามระบบและขั้นตอนที่วางไว้ โดยยืนยันว่าดำเนินการบนพื้นฐานของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งการเลื่อนตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ การโยกย้ายพนักงาน การคัดเลือกคนที่มีความสามารถและเชื่อถือได้ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นระบบที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ในทีมตื่นตัวและมีกำลังใจในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการถามความคิดเห็นของคนในทีมเพื่อนำมาปรับปรุงระบบการทำงานอยู่เสมอ

“เวลาโยกย้ายคน แน่นอนว่าคนก็ต้องผิดหวังมากกว่าสมหวังอยู่แล้ว แต่ผมพูดตั้งแต่ต้นว่าเรื่องความโปร่งใสและยุติธรรมในการแต่งตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราแต่งตั้งโดยใช้เส้นสาย มีการเรียกเงินซื้อตำแหน่ง จะให้มีระบบแบบนี้ไม่ได้เลย เราต้องพยายามแต่งตั้งให้โปร่งใสที่สุด รวมถึงมีระบบการตรวจสอบและแต่งตั้งที่ชัดเจน”

ชัชชาติยกตัวอย่างการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา คือการโยกย้ายเจ้าหน้าที่เทศกิจกว่า 42 ตำแหน่งไปตามเขตต่างๆ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการทำงาน มองเห็นปัญหาในแต่ละเขต และร่วมกันปรับปรุงการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละตำแหน่งต่อไป

“ผมคิดว่าการโยกย้ายและ merit system เป็นเรื่องสำคัญนะ ต้องพยายามให้คนมีความสามารถเข้าไปทำงาน และต้องเป็นการทำงานที่โปร่งใสทั้งระบบตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะการซื้อตำแหน่งที่เราเห็นกันตามข่าว เหล่านี้เป็นต้นตอของการทุจริตคอรัปชันทั้งนั้นเลย” ชัชชาติให้ความเห็น

มากไปกว่านั้น เขาระบุว่าปัญหาทุจริตคอรัปชัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งส่วยหรือการจ่ายสินบน ล้วนเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะระบบการขอใบอนุญาตที่พบว่ามีจ่ายเงินใต้โต๊ะแทบทุกกระบวนการ เบื้องต้นทาง กทม. เริ่มแก้ปัญหาด้วยการปรับกระบวนการขอใบอนุญาตเป็นระบบออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการติดสินบน การให้ประชาชนสามารถทำธุระต่างๆ ด้วยตนเองได้ทั้งหมดผ่านช่องทางออนไลน์อาจเป็นก้าวแรกที่ทำให้กระบวนการต่างๆ โปร่งใสมากขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการปรับตัว และต้องให้ภาคประชาชนเริ่มชินกับระบบใหม่เสียก่อน ระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับประชาชนถึงสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมาย อีกทั้งในอนาคตจะมีการเปิดศูนย์รับข้อมูล และเตรียมตำแหน่งสำหรับย้ายเจ้าหน้าที่ที่อาจมีปัญหาในการทำงาน

“เรื่องความโปร่งใสเป็นเรื่องที่ต้องลุยทำตอนนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าเราไม่พูดเรื่องปัญหาคอรัปชัน เราจะปรับปรุงกรุงเทพฯ ไม่ได้ แต่ก็คงต้องใช้เวลา เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน”


Traffy Fondue : อำนาจอยู่ในมือประชาชน


ครึ่งปีที่ผ่านมา แม้จะมีงบประมาณให้ใช้ในการบริหารและปรับปรุงโครงสร้างของกรุงเทพฯ ไม่มากนัก ทว่าชัชชาติมองว่าปัญหาของการบริหารไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องความไว้ใจระหว่างรัฐกับประชาชน อย่างไรก็ดี หลังจากมีการพัฒนาแอปพลิเคชันทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็น แพลตฟอร์มให้ประชาชนร่วมส่งเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาที่ต้องการให้ กทม. แก้ไขเข้ามาโดยตรง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดการ

หัวใจหลักในการทำงานของ Traffy Fondue คือลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่ยุ่งยากและซับซ้อน ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนผ่านทางแอปพลิเคชันได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องโทรติดต่อหรือส่งเอกสารอย่างที่เคยทำในอดีตอีกต่อไป อีกทั้งกลไกการทำงานของ Traffy Fondue ยังเป็นการเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมา และเป็นการแก้ปัญหากรณีต่อกรณี ซึ่งจะต่อยอดในการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้อีกด้วย

“เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น จนถึงวันนี้มีคนแจ้งมา 200,000 กว่าเรื่อง เราแก้ไขไปแล้วประมาณ 140,000 เรื่อง ทั้งหมดคือปัญหาที่ประชาชนเจออยู่ทุกวันแต่ไม่ได้รับการแก้ไข แพลตฟอร์มนี้ทำให้เราทำงานได้ตรงจุดขึ้น ทุกคนได้เห็นว่าเรื่องที่ร้องเรียนไปถึงไหนแล้วโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วในการบริหารจัดการ

“เมื่อก่อนถ้ามีปัญหาเราก็ต้องเขียนจดหมายหรือส่งเอกสาร แต่พอมีแพลตฟอร์มนี้ก็สามารถเชื่อมระหว่างเขตไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ลดกระบวนการการติดต่อทางเอกสาร ทำให้การตอบสนองประชาชนเร็วขึ้นด้วยงบประมาณเท่าเดิม”

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถให้คะแนนความพึงพอใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ตนเองส่งเรื่องไปได้ ซึ่งระบบเช่นนี้จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ กระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาที่ได้รับแจ้งผ่านทางแอปพลิเคชัน และให้ความสำคัญกับปัญหาที่ประชาชนพบเจอมากยิ่งขึ้น

“ผมบอกเจ้าหน้าที่ กทม. ว่าที่เขาส่งมา 200,000 เรื่องไม่ใช่ว่ามันเป็นจุดอ่อนของเรา แต่มันคือความไว้ใจที่เขามีให้เรา ถ้าเขาไม่ไว้ใจเขาไม่เสียเวลาไปถ่ายรูปส่งเรื่องมาให้เราหรอก จริงไหม

“พลังที่สำคัญของ Traffy Fondue คือมีความเป็นประชาธิปไตย ทุกคำร้องเท่าเทียมกันหมด ไม่มีเรื่องของเส้นสาย และเป็นแนวคิดของการทำงานแบบเส้นเลือดฝอย สุดท้ายถ้าทั้งประเทศใช้ระบบนี้มันจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกันหมดเลย เป็นพลังที่เสริมให้เราตอบสนองประชาชนได้ดีขึ้น เป็นแพลตฟอร์มที่ให้อำนาจแก่ประชาชน” ชัชชาติเสริม

Traffy Fondue เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญที่ชัชชาติตั้งใจจะต่อยอดไปในมิติอื่นๆ ของการบริหารเมือง ทั้งการปรับโครงสร้างให้เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หากนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ปัญหาทุจริตคอรัปชัน จะยิ่งทำให้เป็นช่องทางที่ทรงพลังและใช้แก้ปัญหาต่อไปได้ในระยะยาว


น้ำท่วม-รถไฟฟ้า-งบประมาณ : ความท้าทายใหญ่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.


ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ของชัชชาติคือปัญหาน้ำท่วมรอการระบาย ประเด็นนี้ชัชชาติอธิบายว่าในกรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำยาวประมาณ 6,000 กิโลเมตร แต่อุโมงค์กลับมีความยาวแค่ 20 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีปัญหา

สิ่งที่ทาง กทม. กำลังแก้ไขคือวิธีการพาน้ำไปถึงอุโมงค์ มีการลอกท่อเพิ่มอีกหลายพันกิโลเมตร เนื่องจากท่อคือตัวกลางที่พาน้ำไปถึงอุโมงค์ รวมถึงเร่งจัดการสิ่งกีดขวางในคลองเพื่อให้อุโมงค์ระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างอุโมงค์เพิ่มอีก 4-5 แห่ง โดยจะดำเนินการตามลำดับความสำคัญและความหนักเบาของปัญหาในแต่ละพื้นที่

“อุโมงค์เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่พาน้ำระบายออกไปเร็วๆ แต่ปัญหาคือน้ำต้องไปถึงอุโมงค์ก่อน ถ้าน้ำไม่ถึงอุโมงค์ก็ไม่สามารถระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพได้ เรื่องนี้ไม่ใช่ระบบที่มีแค่เส้นเลือดใหญ่ เพราะเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยต้องทำงานด้วยกัน เรามีเส้นเลือดใหญ่ที่ดีพอสมควร เราจึงต้องทำเส้นเลือดฝอยให้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนต่อขยาย 1 กับส่วนต่อขยาย 2 ชัชชาติอธิบายว่าส่วนต่อขยาย 1 ที่ กทม. จ้างทางกรุงเทพธนาคม หรือ KT นั้นเป็นส่วนที่ไม่มีปัญหา เนื่องจากผ่านสภาเรียบร้อย ทว่าส่วนต่อขยาย 2 ที่ไม่ได้ผ่านสภาทั้งที่มีการจ้างเป็นเงินหลายแสนล้าน ถือว่าเป็นปัญหาเพราะกระบวนการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ปัจจุบันจึงมีการรับเรื่องมาและตั้งกรรมการวิสามัญมาพิจารณา เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป เราก็ต้องยืนบนหลักการของความถูกต้อง เพราะเราเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ตอนนี้สิ่งที่ดีคือมีการตั้งคณะการทำงานร่วมกันระหว่างสภา กทม. กับผู้บริหารสภา มีการเลือกตั้งกรรมการวิสามัญมาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ภายในไม่กี่เดือนนี้น่าจะพอเห็นคำตอบของปัญหา”

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การทำงานในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของชัชชาติเป็นที่จับตามองอย่างมาก คือการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. โดยไม่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในสังกัดของตนเอง เนื่องจากลงสมัครเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระ ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการทีมและ ส.ก. แต่ละเขตว่าจะกลายเป็นจุดอ่อนของการทำงานมากน้อยขนาดไหน

ส่วนตัวของชัชชาตินั้นมองว่าการไม่มี ส.ก. ในสังกัดของตนเองไม่ได้ก่อปัญหาในการทำงาน ไม่ว่า ส.ก. แต่ละคนจะมาจากสังกัดพรรคการเมืองไหน ตนย่อมต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหมด เพราะ ส.ก. ทุกคนถือเป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ ทั้งยังเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นอีกด้วย และแม้จะมีปัญหาเชิงนโยบายที่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกันในบางครั้ง แต่ก็มีวิธีการแก้ไขคือต้องมาปรับคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

“ผมว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผมไม่มี ส.ก. ในสังกัด เพราะผมไม่มีพรรค แต่ผมดูแลทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ทำให้รู้สึกว่าต้องดูแลใครพิเศษกว่าใคร เพราะทุกพรรคก็เหมือนกัน ความเป็นพรรคไม่มีความหมายในสภา กทม. ตัวผมก็ไม่รู้ว่า ส.ก. แต่ละคนมาจากพรรคไหนบ้าง ผมไม่ได้สนใจ คุณแค่มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนในแต่ละเขตให้ดี” ชัชชาติกล่าว

“ปัญหาระดับชุมชนบางทีเราก็ไม่รู้ เราก็ได้ ส.ก. เข้ามาช่วย หลายๆ เรื่องเราก็ต้องฟัง ส.ก. การไม่มีพรรคมีข้อดีคือทำให้เราสามารถดูแลทุกคนเท่ากัน ไม่มีความเป็นพรรคพวก แต่ละคนคือตัวแทนของประชาชนเหมือนกัน เขาก็สามัคคีกันดีนะ สุดท้ายทุกคนก็เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง”

นอกจากนี้ ชัชชาติยอมรับว่าอำนาจในฐานะผู้ว่าฯ กทม. อาจไม่ครอบคลุมในทุกเรื่องที่ประชาชนร้องขอ นับเป็นข้อจำกัดที่หลายคนยังไม่เข้าใจ เช่น ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง แท้จริงแล้วผู้ที่มีอำนาจจัดการคือสำนักงาน กสทช. เพราะเป็นหน่วยงานที่ควบคุมเรื่องสายสื่อสาร ดังนั้น หลักการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือทาง กทม. ต้องสื่อสารไปทาง กสทช. เพื่อให้เข้ามาจัดการอีกทอดหนึ่ง

“หลักสำคัญคือต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าขอบเขตเรามีถึงแค่ไหน สายสื่อสารเป็นตัวอย่างที่ดีเลย บางคนอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมผู้ว่าฯ ไม่เอาสายสื่อสารลงดิน เป็นเพราะเรามีหน่วยงาน กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เราต้องขอความร่วมมือให้จัดระเบียบก่อน และการสางสายก็ต้องใช้เวลา เราจึงต้องชี้แจงว่าบางเรื่องเราก็มีอำนาจจำกัด”

การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ล่าช้าอาจเกิดจาก sense of emergency ไม่เท่ากันของแต่ละหน่วยงาน กล่าวคือ บางประเด็นปัญหา กทม. มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอาจมีภาระอื่นที่เร่งด่วนกว่า จึงไม่สามารถเข้ามาจัดการปัญหาที่ กทม. ประสานมาได้ในทันที การผลักดันให้แก้ทุกปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาจึงไม่ง่ายนัก มาตรการที่อาจช่วยแก้ไขเรื่องนี้ได้คือต้องพยายามดึงอำนาจเข้ามาที่ กทม. ให้ได้มากที่สุด ต้องกระจายทรัพยากร บุคลากร และถ้าสามารถโอนย้ายบางหน่วยงานให้ขึ้นตรงกับ กทม. ได้ก็อาจเป็นผลดีในการทำงานมากขึ้น

“ตอนนี้เรื่องที่คนร้องเรียนมาเยอะคือเรื่องการจราจร แต่เราก็มีอำนาจจำกัด เช่น เราเข้าไปดูแลบนท้องถนนไม่ได้ เพราะมันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตำรวจจราจร สัญญาณไฟทั้งหมดในกรุงเทพฯ ก็ดูแลโดยตำรวจจราจร ดังนั้นผมมองว่าถ้าเราโอนตำรวจจราจรมาขึ้นตรงกับเราได้ อาจจะทำให้เราดูแลเรื่องการจราจรได้ดีขึ้น”

อีกความท้าทายใหญ่ที่ต้องเผชิญคือเรื่องงบประมาณที่อาจไม่เพียงพอต่อการนำมาบริหารจัดการกรุงเทพฯ ชัชชาติระบุว่างบประมาณของ กทม. ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านถึง 1 แสนล้าน ซึ่ง กทม. เก็บรายได้โดยตรงได้แค่จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับภาษีป้าย เมื่อรวมกับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลที่คำนวณตามหัวประชากร ขณะที่กรุงเทพฯ มีประชากรแฝงมหาศาล ทำให้งบประมาณที่ได้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทาง กทม. จึงจำเป็นต้องหารือกันในแง่การจัดหามาตรการ เช่น กระตุ้นให้คนโอนย้ายเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้งบประมาณที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น

“งบประมาณของ กทม. ประมาณแสนล้าน ค่าเงินเดือนบุคลากรก็ 40% แล้ว ที่เหลือก็กระจายไปตามความรับผิดชอบต่างๆ เพราะ กทม. รับผิดชอบหลายด้าน มีทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข บรรเทาสาธารณภัย การเก็บขยะ ตอนนี้ภารกิจหนึ่งของเราคือต้องหารายได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ตอนนี้เรื่องที่กังวลคือเรื่องหารายได้ของ กทม. เลยนะ เพราะมีหลายเรื่องที่ไม่สามารถจัดเก็บเป็นรายได้ได้ และอยากจะเพิ่มอำนาจของ กทม. ให้มีสิทธิจัดเก็บรายได้มากขึ้น” ชัชชาติกล่าว


หลักการบริหารเมืองบนพื้นฐานของประชาธิปไตย


ท่ามกลางความขัดแย้งและความร้อนแรงของการเมืองไทย กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่หลักของการชุมนุมปราศรัยและจัดกิจกรรมทางการเมือง เมื่อต้องเผชิญกับประเด็นการชุมนุมของคนหลากหลายกลุ่ม กทม. จึงเลือกเปิดพื้นที่เสรีให้คนมารวมตัวแสดงออกทางการเมือง แม้จะถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบางกลุ่มว่าเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการชุมนุมในช่วงประชุม APEC ที่ผ่านมา แต่ชัชชาติยืนหยัดหนักแน่นว่าการเปิดพื้นที่ชุมนุมเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและตั้งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย

“คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีเยอะ แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว เราต้องยืนบนหลักของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยย่อมมีการแสดงออก และการมีพื้นที่ให้คนได้ชุมนุมดีกว่าปล่อยให้เขาไปชุมนุมในที่ที่เราไม่รู้ มันจะยิ่งวุ่นวาย เพราะเราจะไม่สามารถเตรียมการดูแลให้ได้

“เราจะเตรียมสิ่งที่เรามีอำนาจ เช่น ห้องสุขา การปฐมพยาบาล แต่เรื่องที่นอกเหนืออำนาจเราเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดูแล และผมเชื่อว่าตั้งแต่เราเปิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา การชุมนุมบนถนนน้อยลง เพราะไม่มีเหตุผลที่คนจะต้องไปลงถนนในเมื่อคุณมีพื้นที่ปลอดภัยให้ชุมนุมได้” ชัชชาติให้ความเห็น

เมื่อชวนมองต่อไปในอนาคต ชัชชาติให้ข้อมูลว่าจากนโยบายกว่า 200 ข้อที่ประกาศออกมาช่วงเลือกตั้ง ณ ปัจจุบันมีนโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 19 ข้อ กำลังศึกษา 33 ข้อ และดำเนินการแล้ว 164 ข้อ ซึ่งมีทั้งนโยบายเล็กและนโยบายใหญ่ และในระหว่างการทำงานกว่า 7 เดือนก็มีนโยบายบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น โครงการสร้างถนนสวยทุกเขต อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่านโยบายบางข้ออาจไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ เพราะทางทีมเน้นการทำงานบนหลักความเป็นจริง (realistic) และรับฟังข้อคิดเห็นของคนในทีมมาร่วมกันปรับปรุงนโยบาย

ปัญหาทางเท้าไม่เสมอกันเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มานาน สาเหตุเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เดิมการสร้างฟุตปาธจะไม่มีเหล็กรองรับ ใช้วิธีเทปูนและวางกระเบื้องทับ เมื่อทางเท้าถูกน้ำหนักกดทับมากเกินไป เช่น มีมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาขับบนทางเท้า จะทำให้ฟุตปาธทรุดตัวและแตกหักได้ง่าย แนวทางแก้ไขคือต้องสร้างทางเท้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีเหล็กรองรับเพื่อให้มีความคงทนแข็งแรงและไม่ต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมบ่อยครั้ง

การปรับทางเท้าให้เอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชัชชาติให้ความสำคัญอย่างมาก โดยต้องปรับปรุงทางเข้าให้เสมอกับฟุตปาธ เนื่องจากคนพิการมักพบปัญหาว่าทางเข้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฟุตปาธ ชัชชาติเน้นย้ำว่าสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ เป้าหมายของ กทม. ตอนนี้คือการพัฒนาทางเท้าให้ได้อย่างน้อย 1,000 กิโลเมตร ทั้งยังเสริมว่าปัญหาทางเท้าไม่เสมอกันเป็นปัญหาที่ประชาชนแจ้งมาผ่านทาง Traffy Fondue อยู่เสมอ ทำให้การดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกระจายทั่วถึงหลายพื้นที่มากขึ้น

“เรื่องเมืองเดินได้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา กทม. ก็มีโครงการพัฒนาฟุตปาธมาอย่างต่อเนื่อง มี 2 ส่วนคือเป็นการแก้ไขโดยเขต เราให้ทางเขตสำรวจทางเท้าทั้งหมดและแก้ไขให้เร็วที่สุด ส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตต้องลงละเอียดมากขึ้น และโครงการปรับปรุงถนนสายหลักให้สวยทั้งเส้น ทั้งหมดนี้ต้องทำต่อเนื่องไป ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และเรามีทีมงานที่เป็นคนพิการ เราก็ต้องปรับการออกแบบให้ดีขึ้น”

ปัจจุบันเรื่องที่ กทม. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือเรื่องสาธารณสุขกับการศึกษา เพราะกล่าวได้ว่า 2 เรื่องนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ ชัชชาติเผยว่าทางทีม กทม. ใช้เวลาพัฒนา 2 เรื่องนี้มาโดยตลอด โดยมีแผนทำโรงพยาบาลเพิ่ม 1-2 แห่ง และหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างระบบสาธารณสุขคือต้องทำศูนย์สาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เข้มแข็ง สนับสนุนให้มีการตรวจสุขภาพในชุมชน และอาจมีการดำเนินโครงการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล คือประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่ให้หน่วยแพทย์เดินทางไปในชุมชนแทน ทั้งยังเสริมว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนับเป็นตัวกระตุ้นศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และเผยจุดอ่อนจุดแข็งของศูนย์สาธารณสุข

“หัวใจของเราคือเส้นเลือดฝอยหรือปฐมภูมิ หน้าที่หลักของเราคือทำศูนย์สาธารณสุขให้ดี ปรับปรุงให้มีความเข้มแข็งขึ้น ผมมองว่าโรงพยาบาลคือยานแม่ ยานลูกคือศูนย์สาธารณสุข และยานลูกย่อยคือคลินิกชุมชน เราต้องลิงก์กันเป็นระบบ ถ้าทำยานลูกให้เข็มแข็งขึ้นได้จะช่วยลดภาระงานของโรงพยาบาล

“ที่ผ่านมาคนไม่ค่อยไว้ในศูนย์สาธารณสุข คนจึงแห่กันไปที่โรงพยาบาล เราต้องปรับขยายให้ศูนย์สาธารณสุขทำงานเพิ่มมากขึ้น ปรับบุคลากรให้เหมาะสมสำหรับอนาคตและตอบโจทย์ประชาชนได้ เพราะเรื่องสาธารณสุขถือว่าสำคัญมากๆ ในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ”

ในส่วนของการศึกษา ปัจจุบันมีการเปิดพื้นที่ Sandbox เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองระบบการศึกษา มาตรการหลักคือต้องเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยเน้นผลักดันโรงเรียนประถมศึกษา ปรับคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังอีกหลายนโยบายที่ทีม กทม. กำลังร่วมกันผลักดันเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลต่อไปในอนาคต

“เราอาจจะเห็นเมืองแค่นิดเดียว แต่สิ่งที่อยู่ข้างใต้ยังมีอีกมหาศาลที่เราต้องผลักดัน” ชัชชาติกล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save