fbpx

“เรารู้ว่า กทม. มีปัญหาด้านการประสานงาน เราตั้งใจมาแก้ไขเรื่องนี้” 30 วันแรกในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. ของ ทวิดา กมลเวชช

เรานัดสัมภาษณ์ ทวิดา กมลเวชช ในวันที่ไฟไหม้ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่พอดิบพอดี

ไม่กี่นาทีก่อนจะเปิดเครื่องอัดเสียง เราจึงได้เห็นเธอวิ่งวุ่นอยู่ทั่วห้องประชุม ง่วนอยู่กับการติดต่อสื่อสารเจ้าหน้าที่ แว่วเสียงตัดสินใจ ย้ำเตือนเด็ดขาดหนักแน่น หากความทรงจำไม่บิดเพี้ยน เธอตัดสายสุดท้ายก่อนมานั่งคุยกับเราด้วยประโยคที่ว่า “โอเค ผู้ว่าฯ ไปตรงพื้นที่เกิดเหตุแล้ว” ก่อนจะเดินตัดข้ามห้องและส่งยิ้มพร้อมเอ่ยขอโทษมาให้เราผู้มาเยือนในห้วงยามแห่งความชุลมุน

“วางใจได้แล้วค่ะ เจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ไปถึงพื้นที่และควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ผู้ว่าฯ ก็กำลังไป” เธอบอก

ภายหลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและยังผลให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลายเป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ของเมือง ทวิดาคือหนึ่งในหัวเรือสำคัญที่เขาชวนมาร่วมงานด้วยในฐานะหนึ่งในสี่รองผู้ว่าฯ รับผิดชอบดูแลประเด็นว่าด้วยการแพทย์ งานอนามัยตลอดจนงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพฯ ทั้งมวล

ในฐานะที่เป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหลายปี รวมทั้งร่วมงานกับคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) มาแล้ว แต่สำหรับทวิดา นี่อาจเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่ไม่ง่ายและแสนท้าทาย เพราะในการจะดูแลเยียวยาทั้งเมืองที่ฟกช้ำหลายสิบหลายร้อยจุด มันหมายความว่าเธอต้องเข้าไปสำรวจระบบและกลไกทางราชการที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้

รองผู้ว่าฯ ที่มีอายุงานเพียง 30 วันทิ้งตัวลงนั่งสนทนากับเราหลังวางสายการประสานงานสุดท้ายเมื่อทราบว่าสถานการณ์ทุกอย่างเรียบร้อยดี -อย่างน้อยก็ในเวลานี้ แต่เรากำลังจะคุยกันถึงปัญหาเชิงระบบและกลไกที่หมักหมมจนเป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอหวังจะเร่งแก้ไข อย่างน้อยก็ให้ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยวันแรกของการดำรงตำแหน่งนี้

มาถึงก็เจอไฟไหม้บ่อนไก่เลย เป็นอย่างไรบ้าง

อยากหยุดประชุมเลย (ตอบเร็ว) แต่เป็นประชุมสำคัญกับ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) ของกรุงเทพฯ เป็นการประชุมว่าด้วยการผ่อนคลายมาตรการและฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งก็สำคัญ เราไม่อยู่ไม่ได้เพราะไม่อย่างนั้นจะรองรับสิ่งที่ ศบค. จัดมอบมาไม่ได้ และขณะที่ประชุมก็ได้รับข้อความเรื่องบ่อนไก่เลย คือเราตั้งระบบผู้อำนวยการสาธารณภัยเขตไว้ แปลว่าผู้อำนวยการเขตต้องตอบสนองทันทีไม่ว่าจะเขตเล็กแค่ไหนก็ตาม ไม่ใช่แค่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือหน่วยดับเพลิง ดังนั้นเราก็จะได้รับแจ้งพร้อมกันทันทีไม่ว่าเหตุจะเล็กน้อยแค่ไหน

เรื่องบ่อนไก่วันนี้ เราก็สงสัยว่าทำไมยังไม่มีรายงานว่าควบคุมหรือจำกัดวงได้ทั้งที่เกิดเหตุไปแล้ว 15 นาที โดยทั่วไปหน่วยดับเพลิงเป็นผู้รายงานสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามีระบบที่ให้ผู้อำนวยการเขตเข้ามาอยู่ด้วย เขาจึงมีหน้าที่ต้องรายงานมากกว่าสถานการณ์ เช่น เรื่องสภาพภูมิสังคม ความเดือดร้อนของภาคประชาชนต่างๆ เราจึงได้รับรายงานตลอดว่ามีผู้เสียหาย 5-6 หลังคาเรือน ถึงตอนนั้นเราก็นั่งไม่ติดแล้ว ขณะที่ผู้ช่วยเลขาฯ และที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ ซึ่งทำงานเป็นคู่ประสานกับเราก็ลงพื้นที่ไปก่อนเพื่อไปสนับสนุน ก่อนเราจะมาให้สัมภาษณ์กับคุณ คนที่อยู่หน้างานก็รายงานมาแล้วว่าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ขณะเดียวกันเราก็ต้องสั่งทำรายงานเลยว่าเดือดร้อนแค่ไหน ที่พักพิงชั่วคราวอยู่ไหน จะเยียวยาเบื้องต้น รักษาพยาบาลอย่างไร ผู้อำนวยการเขตก็จัดการต่อได้

อันที่จริง วันแรกๆ ที่เราเข้ามาทำงานก็เจอเหตุการณ์ไฟไหม้ที่สีลม ครั้งนั้นดับได้เร็วเพียงแต่รถติด ซึ่งต้องขอโทษพี่น้องประชาชนด้วย เพราะเหตุเกิดในช่วงที่รถติดทำให้การจราจรแย่มาก ทั้งนี้ไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ ไม่มีความเสียหายโดยรอบ แต่สิ่งที่เราพบเห็นคือซอยแคบมาก การเข้าออกยากลำบาก ผู้ว่าฯ ชัชชาติก็สั่งเลยว่า (ทำเสียงชัชชาติ) “อาจารย์! ตรวจให้หมดเลยนะ พวกซอยเล็กๆ พวกนี้”

ฉะนั้น จากนี้กรุงเทพฯ ต้องทำงานเชิงกรุก ไม่ได้นั่งรอเรื่อง เมื่อมีเรื่องแล้วต้องไปให้ไวที่สุด ซึ่งเป็นมาตรฐานปกติ แต่ถ้ารู้ก่อน เห็นสัญญาณและระบุได้ว่าบางพื้นที่อาจจะเกิดเหตุได้มาก ทำให้เราเตรียมทีมแล้วสะกิดกันได้เร็วขึ้น เรามีอาสาในชุมชนที่คอยดูเรื่องนี้ให้อยู่แล้ว ทั้งอาสาสมัครการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและอาสาสมัครที่เป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ หากทำงานแบบนี้เราก็จะป้องกันในส่วนที่ทำได้ เห็นได้เร็ว ไปได้ไวและช่วยได้ตรงจุด

เท่าที่ฟัง ดูเหมือนระบบสาธารณภัยต่างๆ ก็แข็งแรงอยู่แล้วด้วย

พูดในฐานะที่เคยเป็นคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) มาก่อน ทั่วประเทศเรามีระบบอยู่แล้ว อย่างกรุงเทพฯ เองแม้จะใช้ระบบเดียวกันกับจังหวัดอื่น แต่ก็เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีฐานะเทียบเท่าจังหวัดในเรื่องสาธารณภัย กระนั้น ผู้อำนวยการเขตซึ่งควรจะเทียบเท่านายกเทศมนตรี ในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ/หรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันใน พ.ร.บ. นี้ ดังนั้นถ้าเทียบแล้ว ผู้อำนวยการเขตก็เหมือนท้องถิ่นเล็ก เทศบาลเล็กๆ กลไกการทำงานก็จะต่างจากระบบใหญ่นิดหน่อย แต่เขาเทียบให้ว่าเท่ากัน ดังนั้น สายการทำงานตามระบบจึงเหมือนกัน ต่างกันที่บริบทและความยากของพื้นที่ กับเครือข่ายด้วย เช่น แพทย์ฉุกเฉินเข้าไหม ตำรวจอยู่ไหน ถ้าต้องเอาประชาชนออกจริงจะทำอย่างไร

ระบบถูกออกแบบให้มีการส่งทอดคำสั่งซึ่งไม่ได้แปลว่ามีคนเดียวเท่านั้นที่สั่งได้ อย่างผู้ว่าฯ เองก็เพิ่งเสร็จจากภารกิจและตามไปที่บ่อนไก่แล้ว แปลว่าหน้างานก็ต้องสั่งได้ อะไรที่เกินกว่าหน้างานก็บอกมาที่รองผู้ว่าฯ ระบบจึงมีความเป็นมืออาชีพ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันแข็งเสียจนไม่สามารถทำงานได้ในกรณีที่มีสถานการณ์แปรเปลี่ยน

ฟังดูเป็นงานที่ต้องเน้นการประสานงานเยอะ ในฐานะรองผู้ว่าฯ มีอุปสรรคไหม

พูดอย่างให้ความยุติธรรมกันนะ หน่วยงานราชการทุกประเภทในไทยประสานงานกันไม่ค่อยเป็นโดยธรรมชาติ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตอบรับการทาบทามตำแหน่งรองผู้ว่าฯ คือรู้ว่าตัวเองจะได้ดูงานแพทย์ อนามัยและงานสาธารณสุขครบวงจร รวมทั้งงานสาธารณภัย ซึ่งสำคัญมากที่ต้องดูแลโดยคนคนเดียวกัน แต่ไม่ได้แปลว่าสั่งงานเพียงคนเดียวนะ การดูแลทั้งสามเรื่องทำให้มิติความปลอดภัยเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ถ้ามันแยกกันก็จะทำงานแบบแยก

เจตนาของผู้ว่าฯ โดยหลักที่สั่งเราทุกคนเลยคือทลายไซโล (การทำงานแบบแยกส่วน) ของ กทม. ให้ได้ ซึ่งต้องทำโดยสามอย่าง

หนึ่ง คือต้องมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ไซโลหายไป เป็นกลไกการขับเคลื่อนหรือคือ 214 นโยบายหรือ 214 ชิ้นงาน เช่น นโยบายต้นไม้หนึ่งล้านต้น ถามว่าเป็นแค่เรื่องของสำนักสิ่งแวดล้อมไหม คำตอบคือไม่ใช่นะ เพราะต้องปลูกในพื้นที่สำนักงานเขต จึงเป็นการบูรณาการการทำงานโดยกลไก

สอง คือให้หน่วยงานทำความเข้าใจว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งไหนของงานชิ้นไหน ต้องทำส่วนไหน บางชิ้นงานจาก 214 ชิ้น ถ้าทำด้วยตัวเองคนเดียวก็ไม่เสร็จ เพราะอีกหน่วยที่ต้องทำเรื่องคู่มาด้วยกันเขาทำไม่เสร็จ หน่วยงานจึงต้องทำความเข้าใจและส่งตัวช่วย มีทีมที่ปรึกษากำกับดูแง่ผลลัพธ์ รองผู้ว่าฯ แต่ละคนต้องดูแง่ฟังก์ชันว่าทุกคนทำงานให้เป้าหมายไหนอยู่บ้าง จึงต้องมีระบบติดตาม (tracking) ของแต่ละหน่วยงาน

สุดท้ายคือรองผู้ว่าฯ ทั้งสี่ต้องไม่ทำงานแยกจากกัน เช่น เรามีแผนทำเรื่องสุขภาพปฐมภูมิ การดูแลสุขภาพตั้งแต่บ้านถึงโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพราะเราจะดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาไปถึงเชิงตะกอน ซึ่งในระยะในครรภ์มารดาถึงหกขวบนั้น เด็กยังไม่เข้าโรงเรียนเลย ดังนั้นจึงไม่ใช่การดูแลโดยโรงเรียนอย่างเดียวและก็ไม่ใช่การดูแลเรื่องสุขภาพอย่างเดียว เพราะเด็กๆ ต้องมีพัฒนาการ ดังนั้นจึงแปลว่าเราต้องจับมือกับรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ซึ่งดูเรื่องการศึกษาและสำนักพัฒนาสังคม ดูแลประเด็นนี้ด้วยกัน

เรารู้ว่า กทม. มีปัญหาด้านการประสานงาน เราจึงตั้งใจมาแก้เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นก็ทำงานไม่ได้

101 สนทนากับ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หลังรับตำแหน่งนี้ครบ 30 วันเต็ม อันเป็นช่วงเวลาที่เธอได้เผชิญความท้าทายดุเดือดที่กรุงเทพฯ มอบให้ ไม่ว่าจะเหตุไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ไปจนถึงการพยายามประสานงานระบบราชการ อันเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและปฏิรูป 'กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง' แห่งนี้

ถ้าอย่างนั้นในการประสานงาน เราจำเป็นต้องเข้ากับทุกฝ่ายได้ไหม ต้องประนีประนอมแค่ไหน หรือมันขัดแย้งกันได้ประมาณหนึ่ง

เราต้องทำความเข้าใจว่าข้อจำกัดอยู่ตรงไหนมากกว่า พวกเราทั้งหมดเป็นคนนอกที่เข้ามา เราไม่ใช่สายงานชุดเดิมเลย เป็นคนใหม่ จะเป็นไปได้หรือที่เราจะรู้เรื่องใน กทม. เยอะกว่าคนใน กทม. ไม่จริงหรอกค่ะ ดังนั้นเราต้องขุดในเชิงลึก เชิงระบบ ว่าอะไรที่เป็นต้นตอของความยากลำบากที่ทำให้เขาทำงานร่วมกันยาก ผู้ว่าฯ ชัชชาติมาพร้อมนโยบาย 214 ข้อที่รู้ปัญหาทุกเรื่อง ทุกตรอกซอกซอย แต่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ว่าปัญหาแต่ละข้อถูกแก้ในเชิงลึกอย่างไร เราจึงต้องขอความช่วยเหลือจากข้าราชการ

ดังนั้น ผู้ว่าฯ จึงพูดตลอดเวลาว่านโยบาย 214 ข้อของเขานั้นเถียงได้ มันอาจจะผิดก็ได้ ขณะเดียวกันเราก็บอกข้าราชการเลยว่าเราต้องการให้ข้าราชการช่วยเรา เพราะนโยบาย 214 ของผู้ว่าฯ เป็นเป้าหมาย เป็นชิ้นงานที่อยากได้ แต่จะทำได้อย่างไรนั้นหน่วยงานต้องเป็นคนตอบ

อย่างระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาโดยนักวิจัยไทย) ที่ได้ ดร.วสันต์ (วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) มาช่วย ทำให้เราทราบปัญหารายพื้นที่และมีระบบติดตามว่าเแก้ไขภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งถ้าพูดแค่นี้ข้าราชการก็จะรู้สึกว่าเข้ามาก็ตามเช็กเลยเหรอ รู้ไหมว่าอัตรากำลังเรามีเท่าไหร่ เราก็คุยกับข้าราชการว่า อันไหนที่เป็นการร้องเรียนซ้ำแล้วระบบจะจัดการเคลียร์ให้ และกว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียนก็ไม่ใช่ประเด็นที่ กทม. ทำได้เอง แต่ต้องประสานกับฝ่ายอื่นๆ จะมีจอแสดงผลว่า กทม. ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ เช่น การประปานครหลวง ทำให้ข้าราชการรู้สึกว่าได้ทำงานของเขาแล้วนะ

ดังนั้น มันจึงต้องมีบางอย่างที่เราต้องรื้อดู ต้องฟาดฟัน แต่ทำบนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ว่าเราต้องการรู้ปัญหากับข้อจำกัดให้เจอ เพื่อที่เราจะช่วยเขาแก้ไข

เริ่มงานมาได้หนึ่งเดือน เจอประเด็นด่วนตั้งแต่เพลิงไหม้ไปจนถึงประเด็นเชิงระบบเลย เป็นอย่างไรบ้าง

รู้สึกเหมือนอยู่มาปีนึงเลย (หัวเราะ) เหนื่อย ยังไงก็คงต้องเหนื่อย และรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องเหนื่อย ขนาดว่ารับผิดชอบหนึ่งในสี่เพราะมีรองผู้ว่าฯ สี่คน ตารางงานแต่ละวันยังตกที่ 7-8 อย่าง ทุกหนึ่งชั่วโมงต้องมีงานที่ตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็มีงานที่มุ่งเป้าตามนโยบาย 214 ข้อที่ผู้ว่าฯ วางไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียง ซึ่งตอนนี้บวกไปอีกสองข้อจนเป็น 216 ข้อแล้ว

อาจารย์ชัชชาติไม่เคยถามพวกเราที่เป็นรองผู้ว่าฯ สักครั้งเลยว่าเหนื่อยไหม มีแต่ถามว่า ‘ยังสนุกอยู่ใช่ไหม’ แสดงว่าวิธีคิดของเขาคือบ่นไปก็เท่านั้น ในเมื่อรับมาทำหน้าที่นี้แล้วมีประชาชนที่รอให้เราทำให้มันดีขึ้นอยู่ ก็ต้องทำงาน ส่วนตัวคิดว่ารองผู้ว่าฯ ทั้งสี่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือมีโจทย์ที่เราอยากแก้ แล้วเมื่อแก้ไขได้เราก็สนุก รู้สึกชีวิตมีค่า แล้วยิ่งถ้าเป็นคนชอบแก้ปัญหาก็จะสนุกกับอะไรแบบนี้

ช่วงที่ผ่านมา คนในกรุงเทพฯ ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนอยากช่วยเรา ที่เรามารับตำแหน่งนี้เพราะเราอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงและเพราะคนที่เราศรัทธาอย่างอาจารย์ชัชชาติไว้ใจเรา ความศรัทธานั้นก็ถูกเปลี่ยนเป็นการยื่นมือมาช่วยของภาคประชาชนและเอกชน กระทรวง กรมข้างนอก ทำให้เรารู้สึกว่า ความเหนื่อยยากที่ต้องเจอก็สู้ ทะลวงไปได้ จึงเห็นว่ามีทางทำได้

จากนโยบาย 214 ข้อ มีเรื่องไหนบ้างที่เรารู้สึกว่าไม่ซื้อหรือเป็นไปได้ยาก

มีนะคะ แต่เป็นส่วนที่เราไม่ได้ดูแล ทำให้เห็นใจรองผู้ว่าฯ ศานนท์มากๆ (ยิ้ม) คือเรื่องการศึกษา เราอยู่แวดวงนี้และรู้ว่างานนี้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งแน่นอน มันคือเรื่องต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ พวกเราทุกคนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่อยากให้เกิด แต่ถามว่าถ้าเราเปลี่ยนต้นทาง แล้วกลางทาง-ปลายทางไม่เปลี่ยน ลักษณะการเข้าสู่อาชีพไม่เปลี่ยน เราทำไม่ได้ทั้งระบบจริงๆ เราก็จะผลักเด็กๆ เข้าไปสู่ความว่าง

ไม่ใช่ว่าเราไม่ซื้อนโยบายนะ (เน้นเสียง) แต่คิดว่านโยบายนี้มีส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับ กทม. โดยตรง และต้องปรับระบบแก้ไปทุกส่วน เราจึงมองว่าการศึกษายากสุด การศึกษาเริ่มตั้งแต่คุณแม่ตั้งท้อง จนเด็กมีพัฒนาการ เข้าโรงเรียน เราต้องดูแลเนื้อหาการศึกษา คุณภาพครูที่เงินเดือนน้อยมาก ถามว่า กทม. จะผลักอัตรากำลังครูและผลตอบแทนได้มากแค่ไหน คำตอบก็ไม่ใช่ง่าย ดังนั้น เรื่องการศึกษาเรื่องเดียวจึงเกี่ยวกับทุกเรื่องในกรุงเทพฯ เลย

ถ้าอย่างนั้นในมิติเรื่องสาธารณสุขที่อาจารย์ดูแล มองว่าเรื่องไหนเป็นรูปธรรมยากที่สุด

โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิของเราแย่ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. มี 11 แห่ง มีขนาดเตียงจำกัด ขณะเดียวกันเรามีโรงพยาบาลสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ แปลว่าในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลเยอะแต่เป็นของ กทม. น้อย กระนั้น โควิด-19 ทำให้เห็นว่าระบบการแพทย์เราแข็งแรงอย่างไรก็ต้องพึ่งระบบ community isolation (การกักตัวในชุมชน) แปลว่าถ้าทั้งระบบทำงานได้หมดจึงจะรองรับคนกรุงเทพฯ ได้ นั่นหมายถึงทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิก ร้านขายยา โรงพยาบาลทุกสังกัด แต่คำถามคือศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพของเรานั้นอยู่ในมาตรฐานที่คนจะไปหาหรือยัง นี่คือขั้นปฐมภูมิ

ตั้งเป้าการทำงานระยะสั้นกับระยะยาวของตัวเองอย่างไรบ้าง

ต้นเดือนหน้าที่จะต้องรายงานผล 30 วันให้ประชาชนดู นอกจากนี้เราจะบอกเป้าหมายบางอย่างด้วย เช่น ตอนนี้เราพยายามทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขมีคลินิกความหลากหลายทางเพศ ตอนนี้เรามีอยู่สองแห่งแล้วคือศูนย์วัดธาตุทองกับศูนย์กรุงธนบุรี ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ให้คำปรึกษาเบื้องต้นตลอดจนการจ่ายยา การตรวจฆ่าเชื้อใดๆ ก็ตาม เราตั้งเป้าว่าเดือนหน้าจะต้องมีแบบนี้อีกสองแห่ง เดือนถัดไปก็มีอีกสองแห่ง เบ็ดเสร็จในร้อยวันแรกของอาจารย์ชัชชาติ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีการให้บริการความหลากหลายทางเพศทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ต้องมีครบ 6 กลุ่มเขต ภายในสิ้นปีตั้งหลักว่า แต่ละกลุ่มต้องมีอย่างน้อยสองคลินิกที่มีทุกระบบการให้บริการของความหลากหลายทางเพศ ภายในสิ้นปี ทั้ง 50 เขตต้องสามารถให้คำปรึกษาได้ คือต้องทยอยสร้างการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมันต้องการคน ความรู้ เครื่องมือและทักษะต่างๆ

ระยะยาว เราอยากจัดการกับระบบการจ้างงานของกรุงเทพมหานคร ระบบการดูแลข้าราชการ ระบบการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง ระบบคุณธรรมควรต้องเกิดให้ได้ด้วยกลไก ไม่ใช่การมานั่งคิดว่าเจ้านายคนไหนจะมีใจ ซึ่งต้องเริ่มเลยเพราะเป็นเป้าหมายระยะยาวและใช้เวลานาน

นอกจากนี้คือเราจะทำระบบให้ประชาชนติดตามได้ด้วยว่า นโยบาย 214 ข้อของอาจารย์ชัชชาตินั้น นโยบายไหนใช้ระยะเวลาทำเท่าไหร่ ข้อไหนปีเดียว ข้อไหนสามปี หรือข้อไหนที่เขาบอกว่าต้องเสร็จในร้อยวัน เดี๋ยวจะวางระบบให้ประชาชนติดตามได้ เราคิดว่าระบบติดตามนี้ก็เป็นการให้กำลังใจข้าราชการคนทำงานด้วย อย่าลืมว่านโยบาย 214 อย่างที่อาจารย์ชัชชาติคิดนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่ กทม. จะไม่ได้ดำเนินการอยู่แล้วบ้าง ดังนั้น เมื่อเขาดำเนินการอยู่แล้วและจะส่งต่อเข้าสู่นโยบาย ก็ต้องแสดงผลให้เห็นว่านี่เป็นผลงานข้าราชการ

อีกเรื่องที่ทำเลยและเพิ่งทำไปคือ ทำให้ทุกอย่างออกมาในที่แจ้ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เราเอางบประมาณรายโครงการขึ้นให้ประชาชนดูไปแล้วว่างบที่กำลังจะมาถึงนั้นจะเอาไปทำอะไรบ้าง

งบประมาณ กทม. โดนลดจากแสนล้านบาทเหลือเจ็ดหมื่นกว่าล้าน เป็นปัญหาไหม

ตอนนี้สิ่งที่พวกเราทำกันทุกวันไม่ได้มีแค่งานประจำวัน แต่มีงานรื้อต่างๆ ด้วย ส่วนงานแต่ละส่วนของกรุงเทพมหานคร 50 สำนักงานเขต 15 สำนักกลาง 77 กลุ่มสายงาน ทุกคนมีงานที่ต้องทำและของบประมาณ ดำเนินการทั้งงบประมาณประจำที่ใช้อยู่ ค่าใช้จ่ายข้าราชการ และโครงการมุ่งเป้า ทั้งหมดนี้ไม่มีทางอยู่ในเจ็ดหมื่นกว่าล้านบาทหรอก เรามีหน้าที่ดูลำดับความสำคัญ และหน่วยงานเองก็มีสิทธิ์ส่งเสียงว่าความสำคัญของเขาคืออะไร จัดสรรอย่างไร แล้วก็กดลงให้เท่าที่รายได้เราประเมินได้

มันก็ไม่พอสิ

ใช่ค่ะ (ตอบเร็ว) การวางแผน 4-5 ปีจึงจำเป็น

ฉะนั้นถ้าเราเอาแผนระยะยาวมากางดูว่าอันไหนจะเอาเมื่อไหร่ แล้วเราวิ่งไปได้แค่ไหน มันจะอนุญาตให้เราตรวจสอบได้เลยว่า ที่ขอมาเยอะๆ แล้วเรามีเงินจำกัดแค่นี้มันทำได้เมื่อไหร่ และอาจมีบางส่วนที่ไม่ได้ต้องใช้เงินก็ทำได้ด้วยการขอความร่วมมือ

นี่เราพูดถึงเรื่องเงินที่เราต้องใช้ ยังไม่พูดถึงรายได้ว่าเราหารายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขนาดไหน นี่จึงไม่ใช่แค่การดูว่าจะจ่ายอะไรบ้าง แต่ดูว่าเราจะได้จากไหนด้วย ในที่สุด อาจไม่ได้หมายความว่าเราได้เพิ่ม แต่เราประหยัดกว่าเดิม และเราเก็บรายได้ได้มากขึ้น

ในฐานะอาจารย์และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ รอบสองปีคงเคยเห็นการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาในประเด็น 112 มาบ้างแล้ว เมื่อมาอยู่ในตำแหน่งนี้คิดว่าจะตอบสนองต่อความคาดหวังและข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้อย่างไร

ที่ผ่านมาในบทบาทของคณบดี เรื่องใดๆ ก็ตามที่เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะถ้าทำในบริเวณมหาวิทยาลัยหรือออกมาแล้วอยู่ภายใต้กฎหมายที่ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น สมัยที่เป็นคณบดีเราก็ไม่เคยห้าม และที่ผ่านมาเราก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากฝั่งที่รู้สึกว่าเราควรห้ามเด็ก และทั้งจากนักศึกษาเองก็อยากเห็นเรามีบทบาทมากกว่านี้ หลักคิดของคณะรัฐศาสตร์มีอยู่ว่าคณบดีไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อคณะกระทำการ คณะรัฐศาสตร์เป็นของประชาคมทุกคนที่มีความหลากหลาย ดังนั้นหากจะทำอะไรต้องอยู่บนฐานที่ว่าเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น เราจึงไม่ได้ห้าม นักศึกษาจะติดป้ายว่าเราหรือเรียกร้องอะไรเรา ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เขาไม่ได้ทำอะไรผิด

ด้วยหน้าที่ของคนดูแลเมืองกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ เองก็ชัดเจนว่าทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกภายใต้กฎหมายและความถูกต้อง ดังนั้นเมื่อการแสดงออกเป็นเช่นนั้นและถูกกฎหมาย เช่น มาในพื้นที่ที่ทาง กทม. จัดไว้ มีการประสานงานจากผู้จัดมา ทางตำรวจก็จะประสานงานเราเพื่อขอการสนับสนุนจาก กทม. เราก็จะสนับสนุนตามหน้าที่ตามกฎหมายที่มี

เรามีหลักคิดส่วนตัวที่ว่าคนในสังคมมีความแตกต่างหลากหลาย วิธีการเราคือทำยังไงก็ได้ให้คนทั้งสองกลุ่ม คือทั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมและคนที่เข้าร่วมการชุมนุมได้รับความปลอดภัย

ที่ผ่านมามีคนเคยพูดว่าไม่ควรทำงานกับคนที่เราชื่นชอบมากๆ เพราะจะทำให้ภาพศรัทธาบางอย่างของเราพัง เมื่อต้นบทสัมภาษณ์เห็นบอกว่าศรัทธาในคุณชัชชาติมากๆ พอมาร่วมงานด้วยกันแล้วเจอเรื่องผิดคาดอะไรบ้างไหม

(หัวเราะลั่น) ในมุมส่วนตัว เราทำงานกับ กทม. มานานมากและสิ่งหนึ่งที่ กทม. ติดขัดมาตลอดคือเรามักได้ยินข้าราชการใน กทม. พูดมาตลอดว่าอยากทำแต่ติดที่นโยบายผู้บริหารหรือไม่มีใครมาช่วยให้มันทำได้ แล้ววันนี้อาจารย์ชัชชาติเขาแสดงให้เราเห็นว่าเขาไม่ได้กังวลกับการต้องเป็นคนเปลี่ยนแปลง เรื่องที่เขาเป็นคนเก่ง-ฉลาดนั้นมันเห็นอยู่แล้วผ่านวิธีการพูด แต่เราเห็นความเป็นคนใจดีแต่เด็ดขาดของเขา เขาไม่เคยมองว่าใครทำผิดแล้วไม่ฟังนะ ไม่โทษ ไม่ดูถูก แต่เขาจะบอกว่าอันนี้ต้องทำให้ถูก ถ้าทำถูกได้ผมจะช่วยเต็มที่ คนที่มองคนแล้วให้โอกาส คนแบบนี้จะช่วยให้คนที่เสียกำลังใจไปทำงานได้

ขณะเดียวกัน เขาก็เป็นคนเด็ดขาดกับสิ่งที่ผิดจริงจังนะ คนที่บังเอิญพลาดเขาก็ให้โอกาส แต่คนที่ตั้งใจทำผิด เขาจะเด็ดขาด เขาเป็นคนใจกว้าง ฟัง ถ่อมตัวแต่เด็ดขาดและเก่ง คนเช่นนี้เป็นคนที่ระบบที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงต้องการ เราเองก็ศรัทธาในตัวเขา และเขาก็หยิบยื่นความไว้ใจให้เรา เราจึงมาทำงานนี้ เราไม่เคยผิดหวังในแง่ความศรัทธาเลย

แต่ถามว่ามันเหมือนกับที่คิดไว้ไหม (หัวเราะ) ไม่เหมือนอยู่เรื่องหนึ่ง คือปกติเราเป็นคนพลังงานสูงมากและทำงานเร็วมาก เชื่อตัวเองเช่นนั้นมาตลอด ไม่ได้คิดว่าจะเจอคนที่เร็วกว่า อย่างมากก็คิดว่าจะเร่งตัวเองตามเขาทัน สุดท้ายบางเรื่องเราก็คิดว่าตัวเองเร็วไม่ทันใจนะ ดังนั้นเราค่อนข้างผิดหวังกับตัวเองมากกว่า ที่เคยคิดว่าเราเร็ว แล้วเราเป็นคน multitasking ทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน มั่นใจมาตลอด พอมาเจอคนที่คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกันได้โดยไม่หลุดแม้สักนิดอย่างอาจารย์ชัชชาติ ก็พบว่าเขาคิดเร็ว พลังงานเหลือล้น ที่สำคัญที่สุดเขาคงไม่รู้จักคำว่าขี้เกียจน่ะ เขาวินัยสูงกว่าเรามาก

ทุกวันนี้เราตื่นตีห้า ซึ่งผู้ว่าฯ ตื่นตีสี่ค่ะ (ถอนหายใจ)

ตื่นเช้าอยู่นะ ลองไปวิ่งกับผู้ว่าฯ หน่อยไหม

เขายังไม่ชวนค่ะ ถ้าชวนน่ะไป! (เสียงสูง) ถ้าเขาจะวิ่งเร็วก็ปล่อยเขาวิ่งไป เราวิ่งได้แค่ไหนก็แค่นั้น บอกเขาว่าเจอกันปลายทางนะคะ (ยิ้ม)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save