fbpx
ร่มเกล้า ช้างน้อย

โตขึ้นอยากเป็นอะไร: คุยกับร่มเกล้า ช้างน้อย ครูผู้ขอให้ศิษย์ ‘เป็นมนุษย์’

ชลิดา หนูหล้า เรื่องและภาพ

 

วัยว้าวุ่น วัยมัน วัยเปลี่ยนผ่าน สารพัดคำเรียก ‘วัยรุ่น’ ต่างชี้ว่าวัยนี้เป็นวัยแห่งการพัฒนาบุคลิกภาพ วัยแห่งความสับสน แห่งการรู้จักและเข้าใจตนเอง เป็นชานพักระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่มีบทบาทในสังคมแตกต่างกันต่อไป

ใครหรือจะปฏิเสธได้ ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ซึ่งมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของวัยรุ่นมากที่สุด เมื่อพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงเรียน ถูกขัดเกลาด้วยองค์ความรู้และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครู ตลอดจนความเป็นไปในวงการการศึกษา กระนั้น ใครบ้างรับประกันได้ว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเติบโตของวัยรุ่น เมื่อโรงเรียนเต็มไปด้วยความรุนแรงที่สร้างบาดแผล บ้างลึก บ้างตื้น บ้างฝากแผลเป็น บ้างไม่อาจรักษาให้หายตลอดชีวิต โดยเฉพาะความรุนแรงอันเกิดจากวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมอันกระทบกระเทือนตัวตนของวัยรุ่น ทิ่มแทงพวกเขาด้วยความคาดหวังของผู้อื่น

ใครเลยจะไม่ปวดร้าวด้วยน้ำหนักแห่งความคาดหวังเหล่านั้น ไม่ว่าผู้ประนีประนอมรอมชอมได้หรือผู้แหลกสลายใต้น้ำหนักมหาศาล หลายคนว่าความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของการเติบใหญ่ ทว่า ครูกุ๊กกั๊กร่มเกล้า ช้างน้อย ครูจากโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ยังยืนยันจะปฏิบัติต่อนักเรียนเสมือนบอกคนเหล่านั้นว่า “เด็กๆ ไม่ต้องเจ็บปวดนักก็ได้” ผ่านการแสดงออกอย่างชัดเจนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ว่าความแตกต่างหลากหลายต่างหากเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ และการได้เห็นศิษย์เติบโตท่ามกลางความเข้าใจ โอกาส ตลอดจนความเมตตาอันไร้เงื่อนไข

‘เป็นมนุษย์’ อย่างที่เขาหรือเธอต้องการได้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับครูคนหนึ่ง

นอกจากนี้ วันที่ได้สนทนากับเขายังเป็นวันที่ครูกุ๊กกั๊กเพิ่งผ่านโจทย์อันท้าทาย คือการเป็นคนกลางระหว่างนักเรียนสองฝ่ายที่ต่างถูกทำร้ายด้วยความไม่เข้าใจ ด้วยความเชื่อว่าบาดแผลของวัยรุ่นจะไม่ขยายใหญ่ หากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยทันเวลา

 

ร่มเกล้า ช้างน้อย

 

ยกตัวอย่างความรุนแรงในโรงเรียนที่กระทบกระบวนการสร้างบุคลิกภาพของวัยรุ่นได้ไหม

มีหลากหลายรูปแบบ นักเรียนชายทะเลาะเบาะแว้ง ชกต่อยกันเพราะมองหน้า นักเรียนหญิงถูกคาดหวังให้ทำพานไหว้ครู นักเรียนชายหญิงดูดีหน่อยถูกคาดหวังให้ถือพานไหว้ครู ที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือสมาชิกชมรมนาฏศิลป์ถูกคาดหวังให้เป็นนักเรียนหญิงที่คนคิดว่า ‘หน้าตาดี’ ทั้งที่การรำใช้ลีลาภาษากายต่างหาก เราเคยสัมภาษณ์นักเรียนที่ครูขอให้ช่วยงานโรงเรียน นักเรียนบอกว่าไม่อยากทำ แต่เมื่อครูขอให้ช่วยก็ต้องทำ เมื่อสิ่งที่ทำให้มีความสุขกับสิ่งที่ถูกคาดหวังให้ทำไม่ใช่สิ่งเดียวกัน สิ่งนั้นก็กลายเป็นบ่วง เป็นเครื่องฉุดศักยภาพ แทนที่นักเรียนจะได้เลือกทางที่ไปได้ไกลกว่า

รูปร่างก็เหมือนกัน จะอ้วนหรือผอมก็โดน นักเรียนที่ผอมมากถูกถามว่า “ผอมขนาดนี้กรอบหรือยัง” ที่อ้วนมากก็ถูกล้อเลียน บางครั้งเป็นการล้อเล่น เล่นจนเกินเล่น จนเด็กแสดงออกให้เห็นว่าไม่ชอบก็เยอะ อย่าว่าแต่เด็ก ครูก็เหมือนกัน บางทีถูกทักว่าอ้วนขึ้นนะก็พยายามเข้าใจว่าเขาไม่รู้ว่าจะทักว่าอะไร หลายคนไม่รู้ตัวจริงๆ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็ทำ เขาอาจเคยถูกปฏิบัติด้วยอย่างนั้นจึงคิดว่าทำแล้วสนุก และทำต่อไปโดยไม่ได้คิดว่ามันลดทอนคุณค่าและความเป็นมนุษย์อย่างไร

 

เห็นได้ชัดว่าความรุนแรงหลายประเภทผูกพันกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างในโรงเรียนด้วย เพราะอะไรครูจำนวนมากจึงยังผลิตซ้ำความรุนแรงเหล่านี้ แม้จะมีความพยายามรณรงค์และเสริมสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

บางครั้งเดินผ่านห้องเรียนก็ได้ยินเสียงตวาด “ครูสั่งแล้ว เป็นนักเรียนทำไมไม่ทำ! ” โอ้โห ชัดเจน คือผู้กระทำคิดว่าตนมีอำนาจทำได้ ครูรู้ไหมว่าครูเลือกจะไม่ใช้อำนาจก็ได้เหมือนกัน

คงเพราะโครงสร้างองค์กรที่กดทับครูด้วยลักษณะบนลงล่าง กระทรวงสั่งเขตพื้นที่การศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาสั่งผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสั่งครู ครูสั่งนักเรียน เมื่อไม่มีใครเห็นทางเลือกใหม่ๆ จึงมีแต่ Fixed Mindset ไม่มี Growth Mindset ในองค์กร

เคยผ่านตาการทดลอง ‘Learned Helplessness’ (ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้) ให้สุนัขยืนบนพื้นที่ที่มีกระแสไฟฟ้าแล่นผ่าน โดยกลุ่มหนึ่งมีปุ่มหยุดกระแสไฟฟ้าบนผนังใกล้ๆ เมื่อสุนัขตะกายถูกปุ่มนั้นก็หยุดกระแสไฟฟ้าได้ อีกกลุ่มไม่มี เมื่อนำสุนัขทั้งสองกลุ่มใส่ลงในกล่องและช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าตลอดเวลา สุนัขกลุ่มแรกจะกระโดดหนีจากกล่องเพราะรู้ว่ามันจะรอดเมื่อทำอย่างนั้น แต่อีกกลุ่มไม่กระโดดเพราะมันไม่รู้ว่ามีทางเลือก ครูกำลังถูกทำให้เป็นอย่างนั้น ถูกทำให้คิดว่า ‘ถ้าฉันไม่ทำ ฉันจะมีความผิด จะถูกลงโทษ ฉันต้องทำเพราะฉันถูกสั่งให้ทำ’ และเมื่อครูส่งต่อทัศนคตินี้ให้เด็ก วันหนึ่งพอพวกเขาเติบโตขึ้นไปอยู่ในองค์กรต่างๆ ก็จะส่งต่อทัศนคตินี้ต่อไป

 

เมื่อเป็นอย่างนี้ ครูยังถูกคาดหวังให้เป็นต้นแบบของนักเรียนวัยรุ่นได้หรือไม่และครูควรมีบทบาทใดในชีวิตของวัยรุ่น

ครูแต่ละคนควรจะเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ครูบอกนักเรียนไม่ได้หรอกว่าตนเป็นต้นแบบที่ดีไหม เพราะมนุษย์นั้นแตกต่างหลากหลาย ถ้าครูมีส่วนก่อรูปร่างวัยรุ่น ครูควรจะเป็นตัวของตัวเองเพื่อให้เขารู้ว่ามนุษย์คนหนึ่งเป็นอะไรได้บ้าง นักเรียนจะซื้อหรือไม่ซื้อก็เป็นเรื่องของนักเรียน เพราะวันหนึ่งเด็กๆ จะรู้โดยธรรมชาติว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับเขา ผมเองพูดคำหยาบบ่อย แต่ภาษาที่ใช้เมื่อปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เด็กก็จะเรียนรู้ว่าผมและเขาเท่ากัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ผมมีบทบาทจัดการเรียนรู้

เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกว่า เมื่ออยู่ในโครงสร้างอำนาจแบบบนลงล่าง ให้ปฏิบัติต่อคนด้านล่างเหมือนปฏิบัติต่อคนด้านบน ถ้านักเรียนไม่ใส่ถุงเท้า ครูคงถามว่าทำไมไม่ใส่ถุงเท้า ผิดระเบียบนะ แต่ถามว่าครูจะพูดอย่างนั้นไหมถ้าผู้อำนวยการไม่ใส่ถุงเท้า ครูคงไม่ถาม ครูคงบอกว่าไม่เป็นไร เขาคงมีเหตุผลของเขา ถ้าครูคิดอย่างนั้นหรือปฏิบัติต่อเด็กอย่างนั้นได้บ้างคงดี ประโยค ‘จะรู้ว่าคนคนหนึ่งเป็นคนอย่างไร ให้ดูวิธีที่เขาปฏิบัติต่อผู้ด้อยกว่า’ นั้นจริงมาก

 

ร่มเกล้า ช้างน้อย

 

บางครั้งผู้กระทำความรุนแรงก็เป็นนักเรียนด้วยกัน กรณีนี้ครูให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร

ยกตัวอย่างผ่านประสบการณ์ของผม ผมเป็นผู้ชายที่มีหน้าอก เล่นวินนิง (Wining Eleven) แต่ไม่เล่นฟุตบอล ไม่ดูฟุตบอล ชอบเล่นวอลเลย์บอล เพราะพ่อเป็นโค้ชวอลเลย์บอล ผมถูกแซวว่าเป็นตุ๊ดซึ่งได้ยินแล้วไม่ชอบ ทำไมต้องมาตัดสินว่าเราเป็นอะไร เคยคิดว่าต้องตัดหน้าอก เคยเครียดจนซื้อเข็มขัดรัดหน้าอก รัดได้ไม่กี่วันเพื่อนก็จับได้ จนเข้ามหาวิทยาลัยได้ยินรุ่นพี่ที่คณะบอกว่า เวลาใครชมว่าเก่ง อย่ายอม ให้พูดย้ำอีกครั้งว่า “เออ! ฉันเก่ง” ผมนำไปใช้บ้าง ใครล้อเลียนว่านมใหญ่ก็ตอบ “เออ! ฉันนมใหญ่” และแปลกใจที่ทำแล้วกลับรู้สึกดี

เป็นไปตามลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ความต้องการขั้นแรกคือความต้องการทางกายภาพ ขั้นที่สองคือความมั่นคงปลอดภัย เมื่อถูกล้อเลียน ความปลอดภัยนั้นถูกทำลาย ต้องบอกตัวเองว่านั่นคือร่างกายของเรา ไม่ใช่เนื้อร้าย ไม่เป็นอันตราย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อบรรลุความต้องการขั้นนี้แล้วความรักจึงติดตามมา ผมเริ่มคิดว่าจะอยู่กับหน้าอกของตัวเองต่อไปอย่างไร ผมเริ่มออกกำลังกาย เมื่อต้นแขนใหญ่ขึ้นก็ได้สัดส่วนกับหน้าอก ในที่สุดก็ไปถึงขึ้นที่สี่ ยอมรับและนับถือตัวเอง และได้รับการยอมรับจากผู้อื่น นามสกุล ‘ช้างน้อย’ ของผมก็ถูกล้อเลียนเหมือนกัน ผมใช้วิธีเดิม คือตอบว่า “ใช่ ฉันนามสกุลช้างน้อย ทุกคนจะได้จำได้ไง! ” ครูต้องติดตั้งเครื่องมือนี้ในเด็ก แต่คำถามคือทำอย่างไรจึงจะติดตั้งได้ ทำอย่างไรเด็กจะนับถือตัวเอง ยากแน่นอน แต่เมื่อทำได้แล้วก็เป็นผลดีในระยะยาว เหมือนเด็กได้เห็นศักยภาพในตัวเอง

 

ในอดีตเคยได้รับความช่วยเหลือจากครูไหม

ไม่เคย เพราะไม่เคยขอคำปรึกษา ผมในวัยเด็กคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก โตแล้วจึงได้รู้ว่าไม่เล็ก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว หลายปีมานี้ครูเข้าหาเด็กๆ มากขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เกี่ยวกับกรอบความคิด ครูอายุน้อยอาจเข้าถึงเด็กง่ายกว่าเพราะวัยใกล้เคียงกัน แต่ครูวัยกลางคน ครูอายุมากก็เป็นเหมือนน้า อา เป็นญาติผู้ใหญ่ได้  ในหลายต่อหลายเวิร์กช็อปที่ได้ร่วม ครูมากกว่าร้อยละ 70 เชื่อว่าเด็กนั้นแตกต่างหลากหลายซึ่งสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่รู้ว่าในห้องเรียนจริงครูเหล่านั้นเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่ามีความเชื่อนี้อยู่ มนุษย์เริ่มเข้าใจว่าแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกันและในความต้องการเดียวกันก็มีระดับความต้องการแตกต่างกัน ภาคธุรกิจก็ใส่ใจความเห็นของผู้บริโภคมากขึ้น

แต่ก่อนเศรษฐกิจนำการศึกษา ภาคธุรกิจต้องการอะไร การศึกษาก็ต้องผลิตให้ได้อย่างนั้น เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ปรัชญาการศึกษาก็เปลี่ยนด้วย จากการจัดการเรียนรู้ที่เน้นเนื้อหา เน้นพัฒนาการ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นการใช้ปรัชญาอัตถิภาวนิยม เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์

 

แนวทางของคุณในการติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเป็นตัวของตัวเองคืออะไร

กลับไปหาลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ เด็กที่มาโรงเรียนได้มีแนวโน้มบรรลุความต้องการขั้นแรกแล้ว ถ้ายังไม่บรรลุ ครูที่ปรึกษาก็ต้องให้ความช่วยเหลือ ขั้นที่สอง ต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัย มั่นคงให้เด็กตั้งแต่ในห้องเรียน ผมจะไม่สร้างเงื่อนไขที่บังคับเด็กในห้องเรียน ไม่ทำอะไรที่เคยไม่ชอบเมื่อเป็นเด็ก ไม่สุ่มเลขที่แล้วถาม การสุ่มเลขที่เหมือนเป็นเรื่องสนุกทั้งสำหรับครูและเด็ก แต่จริงๆ แฝงการสร้างเงื่อนไขและบังคับ

โรงเรียนมีหลักสูตรโรงเรียน นักเรียนอาจออกแบบรายวิชาเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยเด็กๆ ควรออกแบบที่มาของคะแนนได้ ผมกำหนดโครงสร้างคะแนนให้นักเรียน ถามนักเรียนว่าต้องการให้แต่ละช่องมีที่มาจากอะไร บอกทางเลือกของนักเรียนรุ่นก่อนๆ เป็นข้อมูล แล้วออกจากห้องสักพัก ให้พวกเขาได้ร่วมกันตัดสินใจ เมื่อนักเรียนได้เป็นเจ้าของรายวิชานั้นด้วย ห้องเรียนก็เริ่มเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขั้นต่อไปคือทำให้เด็กกล้าตอบคำถามในห้องเรียน ไม่จี้ถาม แต่ขอให้นักเรียนช่วยตอบ ตอบผิดไม่ลงโทษ ไม่ตอบก็รอ การรอสำคัญต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ระหว่างสอบก็ไม่พยายามควบคุม แค่บอกเขาว่าครูเชื่อใจ ครูเชื่อว่าพวกเราทำได้ เมื่อให้เขียนสารภาพว่าลอกหรือเปล่า เกินร้อยละ 80 ไม่ลอก มีลอกบ้างก็เข้าใจได้ เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกว่าถูกตัดสินเขาก็กล้าเป็นตัวของตัวเองทั้งในการสอบและการเรียน ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมและมนุษยนิยมต่างกันที่จุดนี้ ขณะที่กลุ่มพฤติกรรมนิยมเน้นสร้างเงื่อนไขผ่านพฤติกรรม กลุ่มมนุษยนิยมสร้างเงื่อนไขผ่านความรู้สึก ผ่านการบอกว่าถ้าเธอไม่ทำ ฉันจะเสียใจอย่างไร ซึ่งมีพลังกว่ามาก ล่าสุดระหว่างคุมสอบ ผมต้องเข้าห้องน้ำกะทันหันจึงขอให้นิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูลงมาคุมแทน นิสิตคนนั้นบอกว่าเมื่อลงมาคิดว่ามีครูอยู่ในห้องนั้น เพราะเด็กๆ ไม่ลอกกัน คุยกันดีๆ นักเรียนก็ควบคุมตัวเองได้ นี่คือพลังของการคุย

 

ร่มเกล้า ช้างน้อย

 

แล้วแนวทางสื่อสารกับนักเรียนนอกห้องเรียนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร

จากสภาพจริง นอกจากครูไม่มีเวลาแล้ว เด็กก็ไม่มีเวลาด้วย เมื่อครูมีเวลาว่างนักเรียนต้องเรียน เมื่อครูกลับบ้านนักเรียนก็กลับบ้าน อาจมีโอกาสสื่อสารกันบ้างในโลกออนไลน์ซึ่งผมจะพยายามเป็นตัวของตัวเอง และให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเองด้วย ผมเพิ่งสร้างเพจให้เด็กได้แสดงตัวตนของเขาผ่านเนื้อหาที่เขาเสนอ ส่วนใหญ่เป็นภาพกับคำคม ไม่ต้องเป็นเรื่องฉลาดเฉลียวอะไรก็ได้ โดยมีผมเป็นเหมือนบรรณาธิการคัดกรอง ก็ได้เห็นมุมที่หลากหลายของเด็กคนหนึ่งมากขึ้น

ในที่สุดเมื่อครูคนหนึ่งสร้างความรู้สึกปลอดภัยได้แล้ว เด็กจะมาหาครูเองเมื่อต้องการความช่วยเหลือ เด็กส่งสัญญาณเสมอ และครูจะเข้าใจสัญญาณนั้นได้เมื่อรู้จักธรรมชาติของเขาเท่านั้น สมมติเด็กคนหนึ่งในห้องเรียนของผมนั่งเฉยๆ ทั้งที่ปกติเขาจะเดินไปโน่นมานี่ ผมก็ต้องถาม ต้องฟังเขา การฟังมีหลายระดับ ระดับที่ได้ยินเท่านั้น ระดับที่ฟังอย่างลึกซึ้ง และระดับที่ฟังสิ่งที่เขาไม่ได้พูด การสังเกตสัญญาณขอความช่วยเหลือคือการฟังในระดับที่สามนี้

 

หนึ่งในบุคลากรโรงเรียนที่มีโอกาสให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อมากที่สุดคือครูแนะแนว ปัจจุบันห้องแนะแนวเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียนมากน้อยเพียงใด

เท่าที่ได้ยินจากนักเรียน ปัญหาคือบางครั้งนักเรียนต้องการพึ่งพาครูแนะแนว แต่ในห้องนั้นมีกิจกรรมอื่น ครูอาจกำลังรับประทานอาหาร จึงไม่กล้าขอความช่วยเหลือ อีกกรณีหนึ่งคือนักเรียนบอกครูแนะแนวว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ครูกลับยื่นอีกข้อเสนอหนึ่งให้ ครูอาจคิดว่าสิ่งนั้นดีกว่า แต่คุณค่านั้นเป็นของครู ไม่ใช่ของเด็ก นักเรียนอาจรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและไม่ได้ต้องการสิ่งที่ครูต้องการ เมื่อเป็นอย่างนี้พื้นที่ปลอดภัยก็ไม่ถูกสร้าง ยิ่งกว่านั้นโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่มักมีครูแนะแนวเพียงคนเดียว ครูคนเดียวจะให้ความช่วยเหลือนักเรียนเป็นพันคนได้หรือ

ครูที่ปรึกษาจึงต้องมีทักษะแนะแนวและให้คำปรึกษาบ้าง อย่างน้อยต้องพิจารณาส่งต่อนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ เพราะครูที่ปรึกษาคือจุดพักใจแรกของนักเรียน ควรมีบทบาทในการเยียวยาเด็ก ไม่ให้หลุดจากโรงเรียน ครูวิชาต่างๆ ก็ต้องร่วมมือกัน สมมตินักเรียนคนหนึ่งมีความประพฤติดีมากในคาบเรียนคณิตศาสตร์ แต่ขาดเรียนวิชาอื่นๆ ทุกวิชาก็ต้องตั้งคำถามว่าเพราะอะไร เพราะห้องเรียนไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาหรือเปล่า เด็กไม่สนใจวิชาไม่เป็นไร แต่ไม่สนใจความรู้สึกของครูแล้วต่างหากที่น่าเป็นห่วง ตั้งแต่ปฏิบัติต่อเด็กโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของเขา ผมพบว่านักเรียนขาดเรียนน้อยลง ถ้าเด็กรู้สึกปลอดภัยในทุกห้องเรียน โรงเรียนก็จะเป็นบ้านหลังที่สองได้จริง

 

ควรมีการบรรจุการแนะแนวและให้คำปรึกษาในการฝึกอบรมครู หรือในชุมชมการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ของครูหรือไม่

ครูควรผ่านการฝึกอบรมการให้คำปรึกษาจริงๆ แต่ปัญหาคือในการจัดการเรียนรู้แก่ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้น ผู้เรียนต้องเห็นความจำเป็นของการเรียนรู้นั้นก่อน คำถามคือทำอย่างไรครูจึงจะรู้ว่าองค์ความรู้นี้สำคัญ ครูอาจต้องทบทวนว่าเพราะอะไรจึงยังเป็นครูในปัจจุบัน ถ้าครูคิดว่าครูตัวเล็ก ทำอะไรไม่ได้ ระบบการศึกษานี้ก็จะกลืนครูได้ แต่ถ้าครูเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าฉันเป็นถึงครูผู้ช่วยนะ ฉันเปลี่ยนแปลงโลกได้ ระบบนี้ก็กลืนครูไม่ได้ PLC นั้นสำคัญมาก ถ้าออกแบบได้ดี ครูจะเห็นคุณค่าของการจัดการเรียนรู้และการพัฒนานักเรียน

SLC (ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียน – School as Learning Community) ก็สำคัญ ครูต่างวิชาอาจลองเป็นคู่หูกัน ช่วยดูแลนักเรียนในระดับชั้นเดียวกัน สังเกตชั้นเรียนของกันและกัน ครูอาจนิเทศการจัดการเรียนรู้ของกันและกันไม่ได้ แต่ช่วยดูแลเด็กได้ ช่วยสังเกตว่าเด็กคนใดไม่เข้าใจเนื้อหาและเป็นเพราะอะไร อีกอย่างหนึ่งคือ หากนักเรียนคนนั้นกระตือรือร้นในคาบเรียนนั้น แต่ไม่ตั้งใจในคาบเรียนของครูที่สังเกตชั้นเรียน จะได้เริ่มตั้งคำถามและแก้ไขปัญหา

 

ร่มเกล้า ช้างน้อย

 

คุณบอกว่าเพิ่งมีเหตุทะเลาะวิวาท มีตัวละครในเหตุการณ์นี้หลากหลาย ทั้งครูฝ่ายปกครอง ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยนักเรียนที่บาดเจ็บนั้นเป็นนักเรียนในความดูแลของคุณ คุณปฏิบัติต่อนักเรียนที่เป็นผู้กระทำความรุนแรงและนักเรียนที่เป็นเหยื่ออย่างไร

ผมเป็นครูที่ปรึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ถูกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทำร้าย สาเหตุคือ นักเรียนที่เป็นเหยื่อ ‘มองหน้า’ อีกฝ่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว นักเรียนที่ถูกทำร้ายถูกเรียกให้ไปตกลงกันนอกโรงเรียน เขาพยายามอธิบายว่าเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมองหน้าเมื่อไหร่ และขณะยกมือไหว้ก็ถูกเตะที่ใบหน้าจนบวม ปวดศีรษะ เพื่อนต้องหิ้วปีกกลับเข้ามาในโรงเรียน

เมื่อขอพบผู้ปกครอง ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มาไม่ได้ เพราะอยู่ต่างจังหวัด ครูฝ่ายปกครองสอบสวนจึงรู้ว่านักเรียนคนนี้มักมาโรงเรียนสาย ไม่ส่งการบ้าน ทั้งที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมาก เมื่อผมถามเพื่อนของนักเรียนคนนั้น เพื่อนของนักเรียนก็ยืนยันอย่างนั้น ผมเหมือนได้ยินเสียงป้ามล (ทิชา ณ นคร – ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก) กระซิบว่า “จงเล่นกับแสงสว่างของเด็ก” เท่าที่ผมจำได้จากหนังสือ ‘เด็กน้อยโตเข้าหาแสง’ ที่ป้ามลเขียน และผมยึดเป็นสรณะในการเข้าใจเด็กที่กระทำความผิด ป้ามลบอกเสมอว่าต้องหาแสงสว่างของเด็กให้พบ เด็กคนนี้มีแสงสว่าง หนึ่ง คือเขารับผิด อย่างน้อยเขาก็เป็นคนซื่อสัตย์ และสอง อย่างน้อยเขาก็มาโรงเรียน มาดีกว่าไม่มา เขาคงยังมีความผูกพันกับโรงเรียนบ้าง

ผมเริ่มด้วยการพูดกับเขาว่า “ครูรู้นะ ว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์” ให้เขาได้เห็นความดีในตัวเอง จากนั้นจึงถามว่า “บอกครูได้ไหม ทำไมมาโรงเรียนสาย” เขาอธิบายว่าเขาชอบเฉพาะวิชาสังคมศึกษาและพลศึกษา แต่ “อย่างน้อยมาโรงเรียนก็ยังได้อะไรบ้าง” และ “โรงเรียนมีเพื่อน” เฮ้ย! ดีนี่ เขายังเห็นความสำคัญของการเรียน และเขายังมีความผูกพันกับเพื่อน เด็กจะหาเพื่อนในเวลากลางวันได้จากที่ไหน ถ้าไม่ใช่ที่โรงเรียน

ผมจึงบอกเขาว่า ครูมีสองทางเลือกเท่านั้น ครูอาจต้องให้เราย้ายโรงเรียน เพราะเหยื่ออาจกลัวจนไม่กล้ามาโรงเรียน คนใดคนหนึ่งจึงต้องย้าย อีกทางหนึ่งคือทั้งสองคนต้องเป็นเพื่อนกันให้ได้ ผมให้โอกาสพวกเขาพูดกัน เมื่อถามว่าอยากบอกอะไรอีกฝ่ายไหม นักเรียนที่เป็นผู้กระทำก็รีบขอโทษ เขารู้ว่าเขาทำเกินไปแต่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ นักเรียนที่เป็นเหยื่อก็ให้อภัย ได้ข้อสรุปว่าจะได้อยู่ในโรงเรียนต่อไป แต่ต้องถูกภาคทัณฑ์ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนัก แต่ต้องยอมรับว่าผมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ผมอาจคิดไม่รอบคอบ

คดีเกือบพลิกเมื่อแม่ของนักเรียนที่ถูกเตะมาถึง แม่ร้องไห้ ถามว่าทำลูกของแม่ทำไม ผมห้ามเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นเหยื่อ และผมต้องให้เด็กที่เป็นผู้กระทำรับรู้ความเสียใจนั้น ในที่สุดพี่สาวของนักเรียนที่เตะก็มาถึง เมื่อผู้ใหญ่ตกลงค่าสินไหมกัน ผมก็ขอพานักเรียนทั้งสองคนออกไปนอกห้อง ผมต้องการนั่งพูดกับนักเรียนบนพื้น เพราะในห้องปกครองผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ เด็กนั่งพื้น ซึ่งผมไม่ชอบใจ ผมสังเกตว่าดวงตาของเด็กที่เป็นผู้กระทำแข็งมาก เขาเหมือนถูกล้อม หนีไปที่ไหนไม่ได้

เมื่อนั่งบนพื้นด้วยกันแล้ว ผมรีบสัมผัสตัวเด็กที่เป็นผู้กระทำ เพราะหวังว่าแววตาของเขาจะเปลี่ยน แววตาของเขาอ่อนลงทันที ผมไม่คิดว่าแววตาอย่างนี้เป็นแววตาของฆาตกร ผมถามเขาเหมือนเดิมว่าอยากบอกอะไรอีกฝ่ายไหม เขาก็ขอโทษ ครั้งนี้ยกมือไหว้ นักเรียนที่ถูกเตะก็รีบกอดน้อง บอกน้องว่าบางครั้งการมองหน้าก็ไม่ได้หมายถึงต้องการทำร้าย เมื่อเด็กกอดกัน ปลอบกันแล้ว ผมพยายามปรับกรอบความคิดของพวกเขาด้วยการบอกว่า เมื่อกลับเข้าไปในห้องแล้ว ครูไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ปกครองทุกคนต้องการให้พวกเราดีขึ้น แต่คำพูดและความรู้สึกของพวกเขาอาจทำร้ายเรา ขอให้นึกถึงความดีของตัวเองและขอให้เชื่อว่าพวกเราจะเปลี่ยนตัวเองได้ ป้ามลเคยบอกว่าป้ามลกอดทุกคน อย่างน้อยเด็กก็จะได้รู้ว่ายังมีใครสักคนอยู่กับเขา ประคับประคองเขา นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการเห็น และเป็นสิ่งที่ผมต้องการทำ

 

ร่มเกล้า ช้างน้อย

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save