fbpx

Pulse fiction การทดลองของเรื่องเล่าลี้ๆ ลับๆ

เรื่องเล่าผีๆ ก็ดี เรื่องเล่าลี้ลับเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมากจากผู้คน นับตั้งแต่รายการวิทยุ โทรทัศน์ จนกระทั่งวรรณกรรม สื่อทุกประเภทล้วนแต่มีเรื่องผีอยู่เสมอและมีอยู่ตลอดมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง คำถามก็คือทำไมคนถึงชอบฟังเรื่องผี เรื่องเล่าลี้ลับและลับลี้ ทั้งที่หลายๆ คนก็เป็นคนที่กลัวผีกันเสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาก็ยินดีฟังหรือเสพเรื่องชวนขนหัวลุกเหล่านี้อยู่เสมอ ทำไมคนเราจึงเอาตัวไปเผชิญหน้ากับความลี้ลับในรูปแบบต่างๆ เป็นเพราะมันท้าทายความกลัวของเราหรือเป็นเพราะมันคือการทดสอบว่าเราจะยืนจ้องตากับสิ่งที่เรากลัวได้มากน้อยขนาดไหน หรือเป็นเพราะเรื่องผีๆ เรื่องชวนขนหัวลุกมันเป็นเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้น กระตุ้นความรู้สึก เร้าอารมณ์ของเราเสมอ

ทั้งหมดนี้อาจเป็นได้ทั้งว่ามันไม่มีคำตอบที่ชัดเจนและอาจอธิบายด้วยเหตุผลทางวิชาการ หรือสามารถทำวิจัยเพื่อหาคำตอบได้ยาวเหยียดหลายร้อยหลายพันหน้าก็ได้…

อย่างไรก็ตามเรื่องผีๆ เรื่องชวนขนหัวลุก เรื่องสยองขวัญก็มีมีรูปแบบการเล่าและเนื้อหาหลากหลาย บางทีอาจเป็นเรื่องที่ลี้ลับน่ากลัวแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผีเลยก็ได้ หรืออาจเป็นเรื่องน่ากลัวที่เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่ามาจากไหน อย่างไร ในแง่หนึ่งเป็นไปได้ไหมว่า เมื่อมนุษย์คิดทุกอย่างอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีรากฐานความคิดแบบโลกสมัยใหม่ที่ต้องการเหตุและผล ทุกอย่างอธิบายได้ด้วยเหตุและผล ทุกอย่างมีที่มาและที่ไป แต่การชอบเสพเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล วิทยาศาสตร์ก็อธิบายไม่ได้ มันคือการท้าทายโลกที่เราดำรงอยู่ ท้าทายความคิดของเรา ช่วยให้เราเชื่อและมั่นใจว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกสมัยใหม่ที่เราอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุและผล

รวมเรื่องสั้น ‘Pulse fiction’ เป็นรวมเรื่องสั้นขนาดย่อมที่มีเรื่องสั้นอยู่เพียงสามเรื่องจากสำนักพิมพ์แซลมอน ผลงานของ ยชญ์ บรรพงศ์ เป็นนักจัดรายการพอดแคสต์เรื่องลี้ลับที่ชื่อว่า ‘Untitled Case’ ซึ่งเป็นช่องหนึ่งในแซลมอน พอดแคสต์ (Salmon podcast) เนื้อหาที่ผู้จัดรายการ (มีสองคน คือ ยชญ์ ผู้เขียนเรื่องสั้นเล่มนี้และ ธัญวัฒน์ อิพภูดม) นำเสนอคือคดีประหลาด ฆาตกรรม มิติพิศวง เรื่องราวลี้ลับที่หาสาเหตุไม่ได้ ก่อนหน้านี้ ยชญ์เคยมีผลงานเขียนร่วมกับธัญวัฒน์ผู้จัดรายการพอดแคสต์ด้วยกันในหนังสือชื่อว่า ‘Untitled case: Human Horror: ชมรมขนหัวลุก” และ “Untitled case: Human Horror: Piece/ Maker คน / สับ / สิ่งของ’ เป็นหนังสือที่ต่อยอดมาจากรายการพอดแคสต์ที่พวกเขาจัดร่วมกันนั่นเอง

อาจเป็นเพราะความสนใจในความลี้ลับ ลึกลับ และหาสาเหตุไม่ได้ ข้อมูลของเรื่องเล่าที่ยชญ์นำไปใช้จัดรายการพอดแคสต์จึงถูกนำมาสกัดและนำเสนอออกมาเป็นเรื่องแต่งที่น่าสนใจสามเรื่อง โดยเรื่องสั้นทั้งสามเรื่องได้แก่ ‘โซฟาหนังมนุษย์’, ‘วัดสายตาประกอบแว่น’ และ ‘ผ่าตัดใหญ่’ ทั้งสามเรื่องนี้ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องสยองขวัญเสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องที่ดูลึกลับ ประหลาด หาที่มาที่ไปไม่ได้ว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้น แต่ก็ดูเป็นเรื่องที่ออกจะเพี้ยนๆ สักหน่อย เช่น ครีเอทีฟที่ต้องมาวางแผนการขายโซฟาที่ทำจากหนังมนุษย์ การวัดสายตาตัดแว่นแล้วทำให้เกิดภาพที่ติดตา เป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนทุกค่ำคืนจนไม่อาจข่มตาหลับไปได้ หรือการที่ประสาทสัมผัสของเราสามารถเชื่อมต่อกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวได้ เช่น “ขอบันทึกอะไรไว้หน่อยว่าระหว่างทาง การนั่งรถแม่เป็นอะไรที่ทรมานมาก เสียงล้อยางบดกับถนนยางมะตอยแทรกด้วยเสียงกรวดละเอียดทำให้ลำไส้ฉันปั่นป่วน ฉันรู้สึกเหมือนถูกบดจนแหลกเหลวและแบนราบไปกับถนน แถมตัวยังเป็นรูๆ เพราะถูกกรวดบดบี้กับผิวหนัง” (หน้า 52)

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ การเล่าเรื่องความลี้ลับ ลึกลับนั้น มีศูนย์กลางที่น่าสนใจอยู่สามอย่าง ได้แก่ วัตถุ (โซฟาหนังมนุษย์), ร่างกาย (วัดสายตาประกอบแว่น) และ ประสาทสัมผัส (ผ่าตัดใหญ่) ผมคิดว่านี่คือโจทย์ที่สำคัญของนักเขียนในการเขียนเรื่องสั้นทั้งสามนี้ขึ้นมา ผมพยายามเข้าใจว่าโจทย์ชุดนี้คือความพยายามในการเล่าเรื่องลึกลับ ลี้ลับ ประหลาดและอธิบายไม่ได้ที่เกิดขึ้นผ่าน ‘ชีวิตประจำวัน’ ทำอย่างไรที่จะนำสิ่งที่เราคุ้นชินและอาจละเลยมันไปมาเล่าให้เป็นเรื่องราวที่ชวนขบคิด ใคร่ครวญตลอดจนเร้าอารมณ์ของผู้อ่านให้ได้มากที่สุด วัตถุ ร่างกายและประสาทสัมผัสนั้นคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราเห็นอยู่ในทุกวันจนกระทั่งเราลืมไปว่ามันดำรงอยู่ เพราะคงไม่มีใครไปนั่งเอาใจใส่กับมันอย่างจริงจังตลอดวัน เว้นแต่ว่าคุณคือช่างทำโซฟา ร้านตัดแว่นสายตา และผู้ป่วยที่ต้องสังเกตอาการของตัวเองทุกวันทั้งวัน

การเล่าเรื่องของเรื่องสั้นทั้งสามนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด แต่สื่อสารได้อย่างดี ชัดเจน ตรงประเด็น ผมคิดว่าในเรื่องสั้น ‘โซฟาหนังมนุษย์’ ยชญ์ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครได้ชัดเจนทั้งๆ ที่โดยมากแล้วธรรมชาติของตัวละครในเรื่องสั้นจะไม่ได้แสดงพัฒนาการของตัวละครมากเท่ากับพัฒนาการของเหตุการณ์เนื่องจากความที่เป็นเรื่องสั้นนั่นเอง แต่ตัวละคร ‘มานพ’ ที่เป็นครีเอทีฟในเรื่องมีพัฒนาการในตัวเองที่พร้อมๆ ไปกับพัฒนาการของเรื่องได้อย่างกลมกลืนกัน ผมคิดว่ายชญ์มีวิธีการที่ดีในการเปลี่ยนผ่านตัวละครให้มีมิติที่ลึกขึ้นเมื่อเรื่องดำเนินไป

ตั้งแต่ต้นเรื่องเราจะเห็นได้ว่ามานพนั้นไม่อยากจะรับงานโปรโมตและวางแผนการตลาดให้กับโซฟาที่ผลิตจากผิวหนังของมนุษย์เลย ไม่ว่าจะหมิ่นเหม่ด้วยเหตุผลทางศีลธรรมอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมานพตัดสินใจรับงานนนี้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาจะได้ส่วนแบ่ง 50% ของยอดขายทั้งหมดซึ่ง ‘คุณเอ็ด’ เจ้าของโรงงานนี้ตั้งเป้าไว้ที่พันล้าน เงินห้าร้อยล้านนั้นเย้ายวนใจอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันมานพต้องการพิสูจน์ตนเองด้วยเช่นเดียวกัน 

“ที่ผ่านมาความเก่งของเรามักถูกลบด้วยคำสบประมาท โดนดูถูกเหยียดหยาม โดนการเมืองในออฟฟิศเล่นงานแสนสาหัส โดยเฉพาะไอ้พวกเน่าเฟะในวงการที่ได้รางวัลคานส์มางัดระดับของตัวเองให้สูงขึ้น แล้วพูดจาถ่มถุยคนที่ด้อยกว่าได้ ไอ้พวกคนรอบข้างก็คอยถือหางประจบประแจง ที่เราออกมาจากบริษัทก็เพราะเกลียดไอ้พวกนั้น ไม่ใช่เพราะเราไร้ความสามารถหรอก” (หน้า 11)

เขารับงานนี้โดยมีข้อแม้ว่าเขาจะทำเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นเพราะ “ผมไม่อยากเกี่ยวข้องกับธุรกิจแบบนี้นานๆ” (หน้า 16) มานพทุ่มเททำงานทั้งด้วยความรู้สึกแปลกแปร่งกับงานที่ทำพร้อมๆ กับความเป็นมืออาชีพในการทำงานของเขาผลก็คือยอดขายของโซฟาทะลุเป้า เมื่อครบหนึ่งปีเขาก็ออกจากบริษัทตามสัญญาที่ให้ไว้และได้รับเงินส่วนแบ่งถึงแปดร้อยล้านบาท แต่แล้วเขากลับส่งอีเมล์ไปบอกคุณเอ็ดว่า “…ผมแนะนำว่าให้คุณเอ็ดเลิกทำสิ่งที่ทำอยู่เสียเถอะ มีผู้คนมากมายที่เดือดร้อนจากสิ่งที่คุณและบริษัทของคุณทำ…ถ้าคุณยังดึงดันที่จะทำธุรกิจดำมืดนี้ต่อไปผมสาบานว่าจะนำหลักฐานทั้งหมดไปเปิดโปงพวกคุณด้วยตัวเอง” (หน้า 24) มานพคิดว่าสิ่งที่เขาได้ทำลงไป (คือการส่งอีเมล์ขอให้เอ็ดเลิกธุรกิจแบบนี้) “อาจแค่ต้องการกระทำบางอย่างในฝั่งธรรมะเล็กน้อยเพื่อให้ตาชั่งในหัวผมกลับมาสมดุล ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นฮีโร่หรืออะไรและตอนนี้หัวสมองของผมก็กลับมาปลอดโปร่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบปี” (หน้า 25) หลังจากนั้นเขาก็นั่งคิด “อย่างสนุก” ว่าจะเอาเงินแปดร้อยล้านนี้ไปทำอะไรดี เงินแปดร้อยล้านที่เขาได้มาจากการทำธุรกิจที่เขาคิดว่าดำมืดและมีผู้คนเดือดร้อนมากมาย

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า มานพ เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนผ่านปุนิสัยใจคอได้อย่างซับซ้อนและแยบยล ในจุดนี้ผมคิดว่า ยชญ์มีความสามารถที่น่าสนใจในการพัฒนาตัวละครในเรื่องสั้นไม่ว่าจะเป็นจังหวะในการเล่า ในการค่อยๆ พัฒนาตัวละครขึ้นจากปมในใจและโลกภายนอกที่ช่วยเร้าให้มานพมีความซับซ้อนมากขึ้น

เรื่องสั้น ‘วัดสายตาประกอบแว่น’ เล่าเรื่องของเด็กหญิงวัย 15 คนหนึ่งที่ต้องไปตัดแว่นที่ร้าน ‘ติดตา’ ซึ่งเป็นร้านที่ดัดแปลงใหม่ ทันสมัยมีกรอบแว่นให้เลือกมากมาย แต่หลังจากเธอต้องไปวัดสายตาผ่านเครื่องวัด ภาพที่อยู่ในเครื่องวัดคือ “เป็นภาพวิวค่ะ มีถนน แล้วก็บอลลูนสีส้มๆ แดงๆ ตรงกลาง” (หน้า 34) จากนั้นภาพบอลลูนที่มองผ่านเครื่องวัดสายตาก็กลายเป็นภาพที่ติดตาอยู่ในฝันทุกคืนและเป็นฝันที่น่าสยดสยองจนเธอไม่อาจข่มตาหลับไปได้

ผมคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังไม่อาจพัฒนาความขนหัวลุกหรือความลึกลับลี้ลับได้มากนัก เพราะจุดที่ควรจะชวนให้เกิดความสงสัยนั้นยังไม่ถูกเน้นหรือมีรายละเอียดที่มากเพียงพอและผมคิดว่ายชญ์ยังหาจุดที่จะทำให้เรื่องนี้ดูลึกลับหรือชวนให้ขนหัวลุกไม่ได้ดีเท่าไรนัก แน่ล่ะว่าการที่มีภาพจากร้านตัดแว่นติดตาจนไปอยู่ในฝันและเป็นฝันร้าย น่าสยดสยอง แต่ผมคิดว่ายชญ์อาจจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวละครมากกว่าเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครนั้นเกิดความกลัวหรือหาที่มาที่ไปไม่ได้ จริงอยู่ว่าในตอนสุดท้ายยชญ์พยายามจะเล่าเรื่องในทำนองว่าระหว่างภาพอันน่าสยดสยองในฝันกับโลกความเป็นจริงกลายเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผมคิดว่ามันยังขาดรายละเอียดที่เรื่องสยองขวัญควรจะมี เช่น ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ หรือการที่ตัวตนและการดำรงอยู่ของตัวละครต้องหายไปจากโลกความเป็นจริงเพื่อไปหลอมรวมกับ ‘ภาพ’ ที่ติดตาอยู่นั้น

เรื่องสั้น ‘ผ่าตัดใหญ่’ เล่าผ่านบันทึกของตัวละคร ‘ฉัน’ ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกในสมองออกเพราะมันโอกาสที่จะกลายเป็นเนื้อร้าย หลังจากผ่าตัดเสร็จ ‘ฉัน’ พบว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย นั่นคือเขาสามารถ ‘สัมผัส’ และ ‘รู้สึก’ ได้ถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาเห็น ประสาทสัมผัสของ ‘ฉัน’ สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ เช่น เขาเห็นว่า ‘คุณป้าเตียงข้างๆ’ ต้องเสียบสายน้ำเกลือ เขารู้สึกเจ็บเหมือนกับที่ป้าเจ็บหรือรู้สึกเหมือนกับที่ป้าถูกเข็มปัก ‘ฉัน’ รู้สึกกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเขาโดยไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ดังนั้นมันจึงสร้างความเจ็บปวดให้ ‘ฉัน’ อยู่ตลอดเวลา

‘ผ่าตัดใหญ่’ เป็นเรื่องสั้นที่น่าสนใจสำหรับผมในลักษณะที่ว่า มันชวนให้ผมขบคิดถึงยุคสมัยปัจจุบันนี้ที่ผมเห็นว่าเป็นยุคสมัยแห่งความอ่อนไหว ทุกสิ่งใดๆ ล้วน ‘เหนี่ยวนำ’ ให้คนเกิดความรู้สึกทุกข์ทรมานอยู่เสมอ คำบางคำในประโยค อากัปกิริยาบางแบบ บุคลิกส่วนตัวของคนบางคน ล้วนเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดความรู้สึก ‘เหนี่ยวนำ’ ไปสู่ความเจ็บปวด ความทุกข์ในหลากหลายรูปแบบ เพราะปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งความหลากหลาย ความเจ็บปวดก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกัน

อันที่จริงแล้วคำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยก็คือ ถ้าคนเราสามารถสัมผัสและรู้สึกได้ถึงสรรพสิ่งต่างๆ เราจะยังทำร้ายกันอยู่หรือไม่ เพราะทุกๆ การเคลื่อนไหว ทุกๆ การกระทำของเราล้วนสร้างความเจ็บปวดให้คนอื่นอยู่เสมอ ถ้าเราสัมผัสถึงคนอื่นๆ ได้ เราจะเมตตาต่อกันไหม เราจะรักกันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ไหม เราจะเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันไหม เราจะเข้าใจกันมากขึ้นหรือเปล่า

ผมคิดว่าคำถามนี้ลี้ลับยิ่งกว่าเรื่องสั้นสยองขวัญใดๆ บนโลกนี้เสียอีกนะครับ และผมไม่รู้ว่าจะขยายประโยคใจความสำคัญของย่อหน้านี้อย่างไรอีกด้วย…

ประเด็นที่ผมสนใจในเรื่องสั้นทั้งสามเรื่องนี้ก็คือ ‘Pulse Fiction’ เป็นเรื่องแต่งที่มีโจทย์ในการเขียนค่อนข้างชัดเจน คือจะเล่าเรื่องลึกลับลี้ลับอย่างไรจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด ทำอย่างไรที่จะสร้างความหมายและเรื่องเล่าแปลกแปร่งและประหลาดจากสิ่งที่ของที่ธรรมดาที่สุด จากเรื่องราวที่ธรรมดาและใกล้ตัวคนทั่วไปมากที่สุด ในแง่ของการการเขียนเพื่อดำเนินไปตามโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ ผมคิดว่าผู้เขียนทำได้อย่างน่าสนใจ ชวนให้ผู้อ่านนึกถึงสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว สิ่งของในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกต่างๆ และชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอาจมีเรื่องเล่าที่พิลึกพิลั่นกระตุ้นความสนใจได้

พลังของเรื่องเล่าจึงเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ความธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันของผู้คนกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจขึ้นมาได้ ความน่าสนใจเหล่านั้นล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากความช่างสังเกตและสงสัยต่อวัตถุและชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าโจทย์ในลักษณะนี้อาจนำไปสร้างสรรค์ในชั้นเรียนโดยให้นักเรียน นักศึกษา สรรหาเรื่องเล่าให้กับสรรพสิ่งรอบตัวทำให้เรื่องเหล่านั้นน่าสนใจ มีคุณค่ามากขึ้นจากความธรรมดาสามัญ

หน้าปกของเรื่องสั้นชุดนี้เขียนไว้ว่าเป็น ‘เรื่องสั้นแนวทดลอง (เขียน)’ ในคำนำของสำนักพิมพ์ก็ได้ให้ความกระจ่างไว้ว่าเป็นงานทดลองเขียนของนักเขียนหน้าใหม่ แต่เมื่อเราพิจารณาว่าคำว่า ‘วรรณกรรมแนวทดลอง’ หรือ ‘เรื่องสั้นแนวทดลอง’ หรืออะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วยคำว่าทดลอง มักจะเป็นการนำเสนอวิธีการที่แปลกใหม่ การเล่าด้วยสำเนียงและวิธีที่ท้าทายการรับรู้ของผู้อ่าน สำหรับ ‘Pulse Fiction’ นี้ผมคิดว่าลักษณะการทดลองของตัวงานนอกจากจะเป็นการทดลองเขียนเรื่องแต่งแล้ว ผมคิดว่าผมเห็นความพยายามในการจำกัดกรอบในการเขียนให้ชัดเจนด้วยการมีโจทย์ดังที่ผมอธิบายไว้ด้านบน โจทย์ของ ยชญ์นั้นแม้จะไม่ได้ใหม่กระแทกตา กระแทกใจแวดวงวรรณกรรมอันเคร่งขรึม แต่มันเป็นโจทย์เบื้องต้นที่สุดและง่ายที่สุดโดยการทดลองกลับไปหาสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวและขบคิดกับมันอย่างเพียงพอว่าจะทำให้สิ่งเหล่านั้นน่าสนใจอย่างไร

เรื่องทั้งหมดยังถูกเล่าอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา สื่อสารกับผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม ภาษาไม่ได้สวิงสวายหรือทดลองคำอะไรประหลาดๆ ที่อ่านดูแล้วมันเฟี้ยวมากๆ แต่สื่อสารไม่ได้เลย สำหรับนักเขียนหน้าใหม่แล้ว ผมคิดว่างานชิ้นนี้คือจุดเริ่มต้นในการเขียนเรื่องแต่งที่น่าสนใจ

ผมคิดว่าเรื่องง่ายๆ พื้นฐานเช่นนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งเสียเหลือเกินในบรรดากลุ่มนักเขียนทั้งรุ่นใหม่ รุ่นใหญ่ รุ่นไหนๆ ก็ตาม ทุกคนคิดว่าตัวเองมีของกันทั้งสิ้นและอยากจะโชว์ของกันทั้งนั้น วรรณกรรมไทยมาดเคร่งขรึมจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนที่อธิบายได้ยากและไม่รู้จะอธิบายไปทำไมเพราะเขียนกันเอง อ่านกันเอง ชมกันเอง ด่ากันเอง…ชื่นใจ

ผมจึงได้แต่หวังว่าในอนาคตจะได้เห็นผลงานที่เป็นเรื่องแต่งของ ยชญ์ บรรพพงศ์อีกครั้งหนึ่ง และผมเชื่อว่ามันจะเป็นงานที่ลี้ลับมากพอจนผมต้องเดินกระแทกส้นเท้าขึ้นบ้านและนอนเปิดไฟไปทั้งคืน

ป.ล. ทั้งมวลทั้งมวลที่ผมเพียรเขียนไปเสียยืดยาวเช่นนี้ ยชญ์อาจจะเดินมาตบบ่าผมเบาๆ ว่า “คุณอาทิตย์ครับ ผมไม่มีแผนการเขียนห่าเหวอะไรทั้งสิ้นครับ” นี่อาจเป็นความลี้ลับอีกอย่างที่น่าเอาไปเล่าในรายการพอดแคสต์ของเขาก็ได้ครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save