‘ธำรงหนี’ 8 พฤศจิกายน 2490 จุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรสายพลเรือน

“ผมนอนรอปฏิวัติอยู่ทั้งวันไม่ยักกะปฏิวัติ”[1] พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ก่อนหน้าการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นายกรัฐมนตรีคิ้วดกดำ เจ้าของฉายา ‘นายกลิ้นทอง’ เอ่ยประโยคข้างต้นพร้อมหัวเราะเสียงใสขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในทำเนียบรัฐบาล เขาคือนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่เป็น ‘นายทหารเรือ’ ราษฎรไทยยุคนั้นคุ้นเคยกับการเรียกชื่อย่อของท่านว่า ‘หลวงธำรงฯ’ ตลอดมา (ผู้เขียนขอเรียกใช้ชื่อนี้ตลอดบทความนี้)

เป็นที่ทราบกันดีว่าการรัฐประหารเมื่อ 76 ปีก่อนหน้านี้ คือจุดสิ้นสุดอำนาจของ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรสายพลเรือน พร้อมกับการทำลายรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ผู้เขียนเคยถ่ายทอดงานเขียนชื่อว่า “หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก”[2] บทความนี้จะเป็นภาคขยายเพิ่มเติมเต็มฉาก ‘หนี’ ของบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มักถูกมองว่าเป็น ‘ร่างทรง’ ของอาจารย์ปรีดี หรือหากจะนิยามด้วยถ้อยคำสมัยใหม่ก็คือ ‘นายกนอมินี’


หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ บนปฏิทิน 100 ป๋วยปี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 วาดโดย เฉลิมพล จั่นระยับ บรรณาธิการ นริศ จรัสจรรยาวงศ์


สังเขปประวัติของหลวงธำรงฯ ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้จากชีวประวัติที่ผู้เขียนเคยเผยแพร่ไว้อย่างละเอียดแล้ว ชื่อว่า “นายกฯลิ้นทอง ผู้ร่วมก่อการ 2475 สู่ นายกฯ ทหารเรือคนเดียวของไทย ‘หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์’”[3] ส่วนบทความนี้ จะกล่าวจำเพาะเหตุการณ์ภายหลังหลวงธำรงฯ ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนที่ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2489 ในขณะนั้น รัฐนาวาถูกกระหน่ำด้วยสารพัดคลื่นลมมรสุม ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงคราม เงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุมจากการเข้าถึงอาวุธตกค้างหลังสงคราม การจัดการกับทหารผ่านศึกซึ่งถูกมองว่าเป็นการทอดทิ้งอย่างไม่ไยดี และที่สำคัญยิ่งคือความคลุมเครือของคดีสวรรคต

ปรีดีให้เหตุผลเรื่องการก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้กับหลวงธำรงฯ ยามนั้นไว้ว่า “การลาออกครั้งนี้เป็นด้วยเส้นประสาทไม่ดี การสนองคุณชาติก็ทำมาด้วยดีแล้ว แต่อย่างนี้ต้อง strain (เครียด) ประสาทอย่างเต็มที่ ใครเขาประสาทแข็งก็เชิญ สำหรับผมเกินทน…ผมยอมทุกอย่างแต่ไปไม่ไหว intrigue (ปัดแข้งปัดขา) มาแต่เช้ายันเย็น…เมื่อเป็นรัฐบุรุษอาวุโสก็ถูกหนังสือพิมพ์ด่าไม่น้อย ไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นการทำลายกันลงท้ายถึงขั้นปั้นเรื่องกันขึ้น”[4]


นายทหารเรือคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี


รัฐบาลหลวงธำรงฯ พยายามสร้างการสื่อสารที่ดีกับประชาชนผ่าน ‘เพรสคอนเฟอร์เรนซ์’ (การแถลงต่อสื่อ – Press Conference) ยกเลิกระบบเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ สร้างความจริงใจโปร่งใสด้วยการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเนื่อง 8 วัน 8 คืน ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม พ.ศ.2490  ทว่าทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้ ยิ่งกว่านั้น เมื่อเริ่มมีข่าวหนาหูว่าจะเกิดการรัฐประหาร ทั้งที่ได้รับรายงานจากการสืบสวนของสันติบาลว่ามีเค้ามูลก็ตาม[5] หลวงธำรงฯ กลับสร้างวาทะท้าทายไว้ว่า “ผมนอนรอปฏิวัติที่บ้านทั้งวันอาทิตย์ ไม่ยักกะปฏิวัติ” อาจจะเนื่องด้วยความมั่นใจในฐานกำลังทหารและตำรวจที่มีพลเอก อดุล อดุลเดชจรัส (หลวงอดุลเดชจรัส) และพลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ (หลวงสังวรยุทธกิจ) เป็นผู้ค้ำจุน?

จุดจบของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ในฐานะตัวแทนคณะผู้ก่อการ 2475 สายอาจารย์ปรีดีดำเนินมาถึงในค่ำคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เมื่อคณะรัฐประหารโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ นำกำลังเตรียมควบคุมตัวปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง แต่ปรีดีสามารถลงเรือหลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด เช่นเดียวกับหลวงธำรงฯ ที่ยังอยู่ในงานรื่นเริง ณ สวนอำพรในราตรีนั้น เมื่อมีคนเขียนข้อความ ‘ปฏิวัติแล้ว’ บนนามบัตรยื่นให้ หลวงธำรงฯ จึงรีบปลีกตัวออกมาได้ทัน


ปรีดี พนมยงค์ และ หลวงธำรงฯ ขณะยังเรืองอำนาจ


หนังสือ “ธำรงหนี”


เมื่อไล่เรียงอายุขัยของ 6 นายกรัฐมนตรีจากสมาชิกคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลวงธำรงฯ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีชีวิตยืนยาวที่สุด แต่กลับบันทึกเรื่องราวสมัยที่มีอำนาจไว้น้อยมาก ก่อนหน้าวันครบรอบงานระลึก 50 ปี ประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2525 เคยมีคนไปขอให้พูดถึงเรื่องอดีตสมัยยังเรืองอำนาจ ท่านตอบว่า “อย่าเลย อย่าให้ผมพูด ให้ไปแล้วมันไม่สบายใจ” กระนั้นเมื่อถึงวันที่เพื่อนสมาชิกผู้ก่อการ 2475 อำลาจากโลกไปก่อนท่าน มักจะพบบันทึกคำไว้อาลัยจากหลวงธำรงฯ ภายในอนุสรณ์งานศพแทบจะทุกเล่ม

นับเป็นเคราะห์ดีสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายหลังหลวงธำรงฯ เพิ่งสิ้นอำนาจไม่นาน สำนักพิมพ์พนม ได้จัดพิมพ์หนังสือฉายภาพการผจญชีวิตของหลวงธำรงฯ ระยะนั้นไว้อย่างละเอียดชื่อว่า ‘ธำรงหนี’ เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์สังกัดเกียรติศักดิ์รายสัปดาห์นามปากกา ‘แหลมสน’ [6] หนังสือเล่มเล็กขนาดฝ่ามือความหนา 208 หน้านี้ช่วยขยายฉายให้เห็นฉากการหลบหนีจวบกระทั่งการกลับมาได้รับอิสรภาพทางการเมืองของหลวงธำรงฯ


ภาพปก “ธำรงหนี” โดย แหลมสน


หนังสือเล่มนี้โปรยคำเกริ่นนำด้วยอมตวาจาว่า “รวมกันเราอยู่-แยกกันเราตาย” อันแฝงถึงความกลมเกลียวในหมู่สมาชิกคณะราษฎรที่สามารถจัดแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาคือ หนึ่ง ยุคของท่านเจ้าคุณพหล (2475-80) เป็นยุคแห่งการรวม (Unity) ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อชาติด้วยอุดมคติอันแก่กล้า สอง ยุคพิบูลสงคราม (2480-87) เงาแห่งความแตกแยก และยุคที่สาม ยุคของปรีดี พนมยงค์ (2487-90) เป็นยุคของการแตกแยกอย่างแท้จริงของคณะผู้ก่อการ

แหลมสนสะท้อนทัศนะของหลวงธำรงฯ ก่อนการรัฐประหารไว้ว่า “การปฏิวัติรึ? หลวงธำรงฯ อาจจะร้อง “เช๊อ” มันไม่จริงเหมือนกินข้าวน่ะซี นอนรอแล้วนอนรอเล่า นั่งรอแล้วนั่งรอเล่า ก็ไม่เห็นปฏิวัติ ใครจะปฏิวัติได้ พี่บัง (หลวงอดุลเดชจรัส-ผู้เขียน) ของเราคุมกำลังทหารทั้งกองทัพบกอยู่มืออยู่แล้ว หน้าไหนจะปฏิวัติ แต่เขาจะคิดถึงว่า อนาคตคือความไม่แน่นอนหรือเปล่าไม่ทราบ คนที่น่ากลัวจะมีใครนอกจากจอมพล (จอมพล ป.พิบูลสงคราม-ผู้เขียน) ก็เป็นทั้งมิตร และหมดเขี้ยวหมดเล็บแล้ว เขามีหลักซึ่งเปรียบเสมือนเสาหินก็คือ ท่านอาจารย์ ปรีดี”[7]


ภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมืองร่วมสมัย หลวงธำรงฯ “นอนคอยปฏิวัติ” โดยมีภาพปรีดีอยู่ด้านหลัง


เมื่อเกิดการรัฐประหารขณะที่หลวงธำรงฯ ยังร่าเริงอยู่ในงานสมาคมนักเรียนเก่าสายปัญญา ณ สวนอัมพร ใกล้เวลา 24.00 น. ทันทีที่ได้รับเศษกระดาษเล็กๆ แผ่นหนึ่ง เขาตกตะลึงพรึงเพริดและรีบแหวกกลุ่มแขกผู้มีเกียรติหลบออกทางด้านหลังเวทีลีลาศ

ในวันถัดมา ขณะที่วิทยุแถลงข่าวการยึดอำนาจ หลวงธำรงฯ ได้ปรากฏตัวอย่างเร้นลับที่กองบัญชาการคณะรัฐประหารเพื่อสนทนากับจอมพล ป. อยู่ราว 15 นาที โดยให้ถ้อยคำกับจอมพลว่า “ตนจะตั้งอยู่ในความสงบไม่ชักชวนให้เกิดการต่อต้านหรือขัดขวางแต่ประการใด”[8] แล้วจึงปลีกออกจากที่นั้น[9] โดยรถยนต์บูอิคสีเทาประจำตัว ติดตามด้วยรถทหารติดอาวุธไปส่งบ้านของเขาที่ถนนราชวิถี

ทั้งนี้บันทึกของแหลมสนในบทที่ 2 ยังดูน่ากังขาว่าเหตุใดหลวงธำรงฯ จึงไม่ถูกควบคุมตัว? ขณะที่อัตชีวประวัติของหลวงสังวรยุทธกิจช่วงนั้นเขียนบันทึกไว้ว่า ภายหลังปรีดีและหลวงธำรงฯ รอดพ้นจากการจับกุมในคืนวันรัฐประหาร ทั้งคู่ได้มาพบกันอีกครั้ง ณ ท้องพระโรงวังเดิมภายในกองบัญชาการทหารเรือ[10]แล้วจึงพากันหลบหนีไปจังหวัดชลบุรี ภายใต้การคุ้มกันของกองกำลังทหารเรือ ใต้การบัญชาของหลวงสังวรยุทธกิจและพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ

หลังจากรัฐประหารไม่กี่อาทิตย์ ปรีดีสามารถหลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งหลักยังประเทศจีนได้สำเร็จ ด้านหลวงธำรงฯ จากบันทึกของแหลมสน ยังคงเคลื่อนไหวเจรจากับคณะรัฐประหารอยู่ตลอด แหลมสนบันทึกไว้ว่าเขาได้มีโอกาสพบและสัมภาษณ์หลวงธำรงฯ ในบ้านพักของนาวาโทประดิษฐ์ พูลเกศ ผู้บังคับการกรมนาวิกโยธินสัตหีบ ณ ตำบลบ้านสวน ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองชลบุรีนัก ที่เดียวกันนี้แหลมสนยังได้พบ พันเอกเผ่า ศรียานนท์, พันโทละม้าย อุทยานนท์ พระองค์เจ้าเฉลิมพล ทิฆัมพร พร้อมคณะตำรวจและทหาร เดินทางมาพูดคุยกับหลวงธำรงฯ ด้วยเช่นกัน

หลวงธำรงฯ ได้กล่าวกับแหลมสนว่า “ลื้อเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้พบอั้ว ไม่เคยพบ น.ส.พ.ฉะบับไหนเลยจริงๆ”[11] ทั้งยังเล่าให้ฟังถึงช่วงหลบหนีว่า “บ๊ะ ก็ต้องหนีน่ะซี ไม่รู้หนเหนือหนใต้ จะเอายังไงกัน มันก็ต้องหลบดูท่าทีเขาก่อนซี…อั้วอยู่ในกรุงเทพฯนั่นเองแหละ อยู่จนถึงวันที่ 20 แต่ไม่ได้อยู่ที่ราชวิถี อยู่บ้านเพื่อน”

เช่นกัน บทบันทึกนี้ดูจะย้อนแย้งกันทั้งของแหลมสนในช่วงต้นหนังสือที่ว่าหลวงธำรงฯ ได้พบจอมพล ป.หลังรัฐประหาร และไม่ตรงกับอัตชีวประวัติของหลวงสังวรฯ ที่ตีพิมพ์ในอนุสรณ์งานศพอีกสองทศวรรษเศษต่อมา ที่น่าสนใจคือหลวงธำรงฯ ยังเผยถึงสถานการณ์ก่อนรัฐประหารในการพูดคุยกันครั้งนี้ไว้ด้วยว่า

“ที่จริงอั้วก็ตัดสินใจอำลาจากตำแหน่งอยู่แล้ว เราประชุมกันใน ค.ร.ม.วงในมีอั้ว – เดือน (เดือน บุนนาค ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสหชีพ-ผู้เขียน) วิจิตร์ (วิจิตร ลุลิตานนท์-ผู้เขียน) และตกลงกันที่จะกราบถวายบังคมลาทั้งชุดในวันที่ 11 ต่อผู้สำเร็จฯ เราจะนำเรื่องขึ้นสู่ที่ประชุม ค.ร.ม. เพื่อขอมติเป็นเอกฉันท์อีกคั่นเดียวเท่านั้น รู้ๆ กันอยู่ดีว่าคนเขาด่ากันอยู่ทั้งเมือง จึงจะเปลี่ยนให้คนอื่นเขาอาสาเข้ามาบ้าง…พลาดกัน 3 วันเท่านั้น อั้วบอกให้หลวงอดุลย์รับทราบแล้วด้วยซ้ำว่า ต้องขอม้วนเสื่อเสียที หลวงอดุลย์ฯ ก็ว่าตามใจอั้ว”[12]

ครั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แหลมสนรายงานว่าหลวงธำรงฯ ได้กลับบ้านราชวิถีของเขาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2491 จุดนี้มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย จากการสืบค้นเอกสารร่วมสมัยของผู้เขียน พบว่าหลวงธำรงฯ ปรากฏกายครั้งแรกบนปกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ‘สยามสมัย’ ของมาลัย ชูพินิจ ด้วยการถ่ายภาพร่วมกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ฉบับวันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2491 โดยมีคำบรรยายหน้าปกว่า

“ประธานวุฒิสภา เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ กับอดีตนายกรัฐมนตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในงานกาชาดเมื่อ 6 เมษายนนี้ นับแต่อดีตนายกรัฐมนตรีได้โกยอ้าวหายไปจากเวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อคืน 8 พฤศจิ.แล้ว ก็เพิ่งมาปรากฏตัวอย่างเปิดเผยในงานนี้เปนครั้งแรก” (ดูภาพประกอบ)


ภาพปก “สยามสมัย” ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2491
คำบรรยายเหตุการณ์บนภาพปก “สยามสมัย”


ทว่าวิบากกรรมของหลวงธำรงฯ ยังคงไม่มอดมลายหายสิ้น ภายหลังกลับบ้านเพียง 5 เดือน ได้เกิดขบถ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 หรือที่รู้จักในชื่อ ‘กบฏเสนาธิการ’ รายนามผู้ต้องหาจำนวน 7 คนที่ประกาศจับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2491 มี พลตรี เนตร เขมะโยธิน, พ.ต.ด.เชาว์ คล้ายสำริด, พันโท พโยม  จุฬานนท์, พันตรี โผน อินทรทัต, พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสำริด, หลวงอรรถกิติกำจร, นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นคนสุดท้าย![13]เป็นเหตุให้หลวงธำรงฯ ต้องหนีไปกบดาน “สูดโอโซนอยู่ที่เชิงเขาบางทราย”[14] จังหวัดชลบุรี อีกครั้ง

ครั้น “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ชะตาชีวิตของหลวงธำรงฯ ยิ่งต้องประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโถมทับเข้าอีกเมื่อความพยายามกลับมาทวงอำนาจคืนของอาจารย์ปรีดีประสบความล้มเหลว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จนถูกขนานนามว่า ‘กบฏวังหลวง’ ครั้งนี้สถานการณ์วิกฤตถึงขั้นไล่ล่าฆ่าแกงเครือข่ายของปรีดีอย่างเหี้ยมโหด ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนมีนาคมศกนั้น คือ จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองเปลว ชลภูมิ และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ตามด้วยตามเก็บ ทวี ตะเวทีกุล ในอีกหนึ่งเดือนถัดมา[15]


เส้นทางหนีครั้งสุดท้าย


ด้วยรูปลักษณ์ “รูปร่างเล็กๆ คิ้วดกๆ เวลายิ้มตาหยี” ใครเห็นทุกคนจะต้องรู้จักเขาทันที[16]  การหนีครั้งนี้ของหลวงธำรงฯ จึงเริ่มด้วยการเลือกมุ่งไปทางลุ่มน้ำท่าจีน “รอดสายตาตระแกรงของเหล่าสายลับที่ดาระดาษกลาดเกลื่อนทุกแห่งหนไปได้”[17] หลวงธำรงฯ วนเวียนหลบซ่อนด้วยเรือเร็วสีขาวระเหเร่ร่อนอยู่ย่านจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี บ้างสลับขึ้นบกที่จังหวัดกาญจนบุรี

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 11-12 เมษายน 2492 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้อ่านประกาศของกรมตำรวจ ให้รางวัลสินบนนำจับผู้ต้องหาขบถ 10 คน นำโดยปรีดี พนมยงค์ (5 หมื่นบาท) แต่ชื่อหลวงธำรงฯ กลับไม่ติดโผอย่างหวุดหวิด[18] จากเดิมที่มี 11 ซึ่งรวมถึงหลวงธำรงฯ อันดับสองด้วยค่าหัว 3 หมื่นบาท แหลมสนเฉลยว่า จอมพล ป. ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กาชื่อหลวงธำรงฯ ในลำดับ 2 ทิ้งเมื่อไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า “พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้มีส่วนร่วมด้วยเลย…จึงถูกขีดออกไปจากลิสต์สินบลนำจับ”[19] ประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงจากบันทึกของ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. (พ.ศ. 2457 – 2539) องค์รักษ์ของปรีดีที่มอบไว้แด่ วรรณไว พัธโนทัย ว่า

“ระหว่างอยู่กวางโจว หลวงธำรงค์ฯ ขึ้นไปพบอาจารย์ แกหนีมาเหมือนกัน แกหนีไปฮ่องกงก่อน แกมาเพื่อจะมาเตาะถามว่าเราจะทำอะไรกันบ้าน เอาไหมเอา ลุงบอกไปถามอาจารย์ดูเองซิ ไอ้ผมนะไม่เอาหรอก แกก็ไปถามอาจารย์ ลุงก็แอบบอกอาจารย์ว่าอย่าเอาหลวงธำรงค์ฯ ร่วมนะ ถ้าจะทำเดี๋ยวเรื่องแตกไปถึงจอมพล ป. เพราะหลวงธำรงค์ฯ กับจอมพล ป. เขาคอหอยลูกกระเดือกกัน อาจารย์ก็ไม่ได้บอกหลวงธำรงฯ กลัวเรื่องจะแตก และหลวงธำรงค์ฯ พูดไปแกก็ไม่มีกำลังอะไร”[20]

คำบอกเล่านี้มีข้อน่าสังเกตว่า หลวงธำรงฯ เคยเดินทางไปประเทศจีนก่อนหน้ากบฏวังหลวงแล้ว เมื่อสามารถนัดหมายปรีดีที่กวางเจาก่อนหน้ากบฏวังหลวง? ซึ่งจากหนังสือ ‘ธำรงหนี’ ของแหลมสน ระบุเพียงว่าภายหลังกบฏเสนาธิการ หลวงธำรงกบดานอยู่ทางภาคตะวันออกย่าน จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี จนถึงเกาะกง[21]

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่าหลวงธำรงฯ ได้ลี้ภัยไป ฮ่องกง-จีน แน่นอน เพียงแต่ว่า กี่ครั้ง? เมื่อไหร่บ้าง? ภายในหนังสืออนุสรณ์งานศพของหลวงสังวรยุทธกิจ หลวงธำรงฯ กล่าวถึงชีวิตช่วงนั้นไว้ว่า

“ในตอนเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นตอนเช้าวันแรกของรัฐประหาร ข้าพเจ้าตั้งใจจะไปพบกับ พล.ร.ต.สังวร ที่กรมสรรพาวุธทหารเรือที่บางนา แต่เมื่อไปถึงหน้าสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษถนนเพลินจิต ก็พอดีเห็นรถเกราะทหารนำโดย พล.ท.หลวงกาจสงคราม (รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร-ผู้เขียน) แล่นสวนมา ทำให้ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปตามตั้งใจได้ จึงได้ย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ

แต่ต่อมาในเวลาไม่นาน ข้าพเจ้าก็ได้ไปพักอาศัยอยู่กับกองพันนาวิกโยธินทหารเรือที่สัตหีบเป็นเวลาหลายเดือน ในระหว่างนั้นได้เดินทางไปพบหรือพักแรมอยู่กับ พล.ร.ต.สังวร …บนเนินที่วัดเขา(บางทราย) จังหวัดชลบุรีบ่อยครั้ง จนกระทั่งข้าพเจ้าได้เดินทางไปพักผ่อนยังประเทศจีนผืนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทยในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี…”[22]


นิราศเมืองจีน


แหลมสนอ้างเพียงว่าหลวงธำรงฯ ปลอมตัวด้วยเครื่องแบบสีกากี หาเรือเล็ดลอดออกทางทะเลใต้ไปเหยียบฝั่งที่สิงคโปร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยใช้เวลาเพียง 4 วันบนแผ่นดินมลายูก่อนหาทางมุ่งสู่ฮ่องกง เมื่อเรือเทียบท่าเขาเบี่ยงไปอาศัยที่ไหเค้า เมืองท่าของเกาะไหหลำเพียง 20 วัน และต่อเครื่องบินเหินฟ้าสู่นครกวางตุ้ง ซึ่งขณะนั้นฝ่ายก๊กหมินตั๋งที่ใกล้พ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์ได้ถอยร่นมาพำนักพักพิง เมืองนี้ยังนับว่าคงหลงเหลือความสำราญให้ได้สัมผัส เหล่าทูตานุทูตชาวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาสู่นครกวางตุ้งเพื่อหลบหนีกองทัพประชาชน (พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง)

หลวงธำรงฯ พบว่าค่าครองชีพในเมืองนี้พุ่งสูงชะลูด อีกทั้งยังมีผู้คนพลุกพล่าน จึงตัดสินใจนั่งเรือเข้าสู่มาเก๊า อาณานิคมของโปรตุเกส ซึ่งขณะนั้นได้รับฉายาว่า ‘มอนติคาโลตะวันออก’ แต่เมื่อพบว่าชีวิตใหม่ที่นี้ “ของแพงอย่างสบั้น เพียงแต่การก้าวออกจากโฮเต็ลก็ต้องเปย์กันแล้ว”[23] จึงต้องหวนเข้าไปยังฮ่องกงเพื่อแวะพักฟื้นยัง Repulse Bay Hotel 4-5 วัน ซึ่งเป็นโฮเต็ลที่หรูสุดในเกาะฮ่องกงตั้งอยู่บนเชิงเขา ก่อนจะข้ามมายังเกาลูนเพื่อจับรถไฟเข้าสู่กวางตุ้งอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้หลวงธำรงฯ พบว่าภายในเมืองเนืองแน่นไปด้วยกองทัพจีนฝ่ายก๊กมินตั๋ง “กะอย่างเคร่าๆ เพียงแต่ทหารก็ร่วม 200,000 เข้าไปแล้ว”[24]

เขาไม่สามารถหาโรงแรมได้จนต้องใช้วิธีเช่าบ้านแทน ซึ่งมิได้สะดวกสบายนัก แออัดในระดับที่ว่า “ดูแล้วว่าพอจะซุกหัวนอนได้ก็พอ มันเป็นการทนอยู่อย่างสุดที่จะทนทานแท้ๆ สำหรับการทนอยู่อย่างคนตกอับเที่ยวหาที่ซุกซ่อนเยี่ยงคนจรนอนหมอนหมิ่น”[25]


หนังสือพิมพ์ “สยามสมัย” รายงานข่าวความเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลเจียงไคเช็คที่กวางตุ้ง

นิวัติเมืองไทย


ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานของสงครามกลางเมืองจีนที่ใกล้ถึงจุดจบ ต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2492 นั้นเอง หนังสือพิมพ์ในเมืองไทย 4-5 ฉบับก็เสนอข่าวใหญ่พาดหัวตัวโตว่า “หลวงธำรงฯ จะเข้ากรุงเทพฯ วันที่ 11 กันยายน” แต่เมื่อถึงวันจริงก็หาได้เป็นไปตามรายงานข่าวไม่ กระทั่งต่อมาอีกไม่กี่วันก็มีการเปิดเผยจากบริษัทเดินอากาศ (บ.ด.อ.) ยืนยันการกลับเมืองไทยของหลวงธำรงฯ ว่า “มาแน่” ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2492 แต่ในท้ายที่สุดก็ยังคงเลื่อนอีก 2 วัน

จนเมื่อเครื่องบินเหินฟ้าจากฮ่องกง แหวกสายฝนที่เทลงอย่างหนัก ก่อนร่อนลงบนสนามบินดอนเมืองโดยสวัสดิภาพเมื่อบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2492 เวลา 13.26 น. “คนที่ 3 ที่ก้าวลงมาในเสื้อฝนสีน้ำตาลอ่อน ปราศจากหมวก ก้าวลงมาด้วยอาการอันสะเทิ้นสะท้าน คนนั้นคือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งยืดอกขึ้นสูด ‘อ๊อคซิเย็น’ ของแผ่นดินไทยจนเต็มปอดทั้งสองข้าง…หลวงธำรงฯ ผอมไปกว่าเดิมแต่ขาวขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน”[26] 

ในทางกลับกัน ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน สภาพสงครามกลางเมืองในจีนรับรู้ถึงผลแพ้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเหมาเจ๋อตงแสดงปาฐกถา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 ปรีดี พนมยงค์ ได้ไปปรากฏกายในที่แห่งนั้นด้วย จึงเท่ากับเป็นการเดินสวนทางกันระหว่างสองมิตรสหายผู้ก่อการ 2475 ที่ร่วมงานกัน จนกระทั่งถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490


วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 ณ ประตูเทียนอันเหมิน นายปรีดีได้รับเชิญเป็นเกียรติเข้าร่วมในพิธีสถาปนาประเทศจีนใหม่


นอกเหนือจากภริยา คุณหญิงระเบียบ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และลูกๆ ที่มาคอยรับ บุคคลสำคัญที่ยืนต้อนรับอยู่ประตูขาออกคือ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส แหลมสนบรรยายไว้ว่า “ภาพอันมีความหมายอย่างลึกซึ้งรุนแรงก็บังเกิดขึ้น ในเมื่อหลวงอดุลย์ฯ ยกแขนซ้ายขึ้นโอบคอหลวงธำรงฯ ดึงหน้ามาจนชิดปากเป็นการรับขวัญ การกลับของเพื่อนรักอย่างเปิดเผย และพร้อมกันนั้น หลวงอดุลย์ ก้มกระซิบเบาๆ ว่า ‘มาไปกับอั๊ว—ปลอดภัย—‘”

ทั้งคู่ก้าวขึ้นรถร่วมกับอีก 2 เพื่อนตายที่เคยร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกันมา คือพลตรี ไชย ประทีปเสน และ ขุนนิรันดรชัย “เดอร์โซโตสีฟ้าคันใหญ่ หมายเลขที่ ก.ท.4775” วิ่งปราดแหวกวงล้อมของบรรดาหนังสือพิมพ์ที่รุมซักกับช่างภาพที่ขมักเขม้นสะแน๊ปช็อตตลอดเวลา รถยนต์วิ่งเลี้ยวอ้อมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตัดออกถนนราชวิถี ข้ามทางรถไฟ หักพวงมาลัยเข้าสู่บ้านพักอดีตนายกรัฐมนตรีลิ้นทอง

หลวงธำรงฯ ให้สัมภาษณ์กับนักหนังสือพิมพ์ที่รอทำข่าวอยู่ที่ห้องรับแขกไว้อย่างมีอารมณ์ขันว่า “เอาซี ใครจะสัมภาษณ์มาซี ผมพูดได้ทั้งภาษากวางตุ้งและแต้จิ๋ว แต่อยู่เมืองจีนดูไม่ค่อยสบายใจเสียเลย สภาพของเมืองจีนตอนนั้นลำบาก เดี๋ยวรบกันที่โน่นที่นี่”

เมื่อถูกถามว่าเคยติดต่อกับเมาเซตุง (เหมาเจ๋อตง) บ้างหรือเปล่า หลวงธำรงส่ายหน้าพลางตอบว่า “ไม่เคยเข้าไปยุ่มย่ามในเขตต์โน้นเลย”[27]


หลวงอดุลเดชจรัส และครอบครัวหลวงธำรงฯ ขณะยืนรอรับที่สนามบินดอนเมือง


เย็นวันเดียวกันนั้น รองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ เดินทางมาเชิญตัวหลวงธำรงฯ ไปกักตัวสอบสวนที่วังปารุสกวัน อาหารค่ำวันนั้นนายตำรวจคนหนึ่งได้เข้ามารายงานว่า

“ได้สั่งอาหารจากภัตตาคารชั้นหนึ่งไปแล้ว ท่านรองอธิบดีจะให้ทางเหลานำมาเปิดโต๊ะเมื่อเวลาเท่าใด”

หลวงธำรงฯ ได้ถามขึ้นว่า

“ต้อนรับด้วยอาหารสั่งจากเหลาเชียวรึ ไม่ต้องถึงอย่างนั้นก็ได้ ผมเบื่ออาหารจำพวกเหลาเหลือเกิน อยู่ในเมืองจีนเล่นแต่อาหารจีนและอาหารฝรั่งตามเหลาทุกวัน ไม่เคยได้พบแกงกับน้ำพริกเลย เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้เขาเอาเจ้าพวกแกงๆ ขนมจีนน้ำพริกน้ำยามาดีกว่า”

การสอบสวนเริ่มต้นขึ้นนับจากวันนั้นด้วยข้อหา 2 คดีคือ ‘ขบถ 1 ตุลาคม 2491’ และ ‘จลาจล 26 กุมภาพันธ์ 2492’ เมื่อการสอบสวนยุติลง ค่ำนั้นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ต่อสายเข้ามาพูดคุยกับมิตรรัก ในหนังสือ ‘ธำรงหนี’ สาธยายไว้ว่า

“การสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีปัจจุบันกับอดีตนายกฯ เป็นไปอย่างสนุกสนานก็เทียมมิตรสหายเมื่อครั้งกระโน้น บรรยากาศของความสัมพันธ์เพื่อนน้ำมิตร์ที่ร่วมกอดคอกันไปรอกำหนดการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ.2475 ..ได้กลับมาอีก จากนั้นจอมพลได้ถามสารทุกข์สุกดิบว่า…เป็นยังไง ไปถึงไหนมา”


จอมพล ป. กับ หลวงธำรงฯ ก่อนเหตุการณ์ขบถ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 บนหน้าหนึ่ง ‘สยามนิกร’


การสอบสวนดำเนินไปเป็นระยะเวลา 6 วันจนสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมศกนั้น บ่ายวันนั้นหลวงอดุลเดชจรัส ในตำแหน่งอภิรัฐมนตรีได้เป็นผู้ประกันหลวงธำรงฯ จาก พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ ให้กลับออกมาอยู่บ้านได้ ในที่สุดผลการสอบสวนมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2492 ‘สั่งไม่ฟ้อง’ ส่งผลให้ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กลับคืนสู่ ‘ผู้บริสุทธิ์’ ภายหลังจากเหยียบแผ่นดินไทยเพียง 27 วัน

หนึ่งปีหลังกลับเข้าประเทศที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงฯ ได้รับตำแหน่งวุฒิสมาชิกสั้นๆ ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 กระทั่งจอมพล ป. พ้นอำนาจไปด้วยรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลวงธำรงฯ ได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานถึง 10 ปีในยุคเผด็จการทหาร สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ระหว่าง พ.ศ.2502-2511


ปัจฉิมกาล


จำเนียรกาลล่วงถึงเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2529 เมื่ออัฐิท่านรัฐบุรุษอาวุโส ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถูกอัญเชิญกลับสู่มาตุภูมิ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์[28] ในวัย 85 ปีได้ไปยืนรอรับที่สนามบินดอนเมืองด้วยความรักและอาลัย “เพื่อนร่วมทุกข์กันมานาน”[29] ต่อจากนั้นอีก 2 ปีเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมโดยปริโยสาน สิริอายุได้ 87 ปี


หนังสืออนุสรณ์งานศพหลวงธำรงฯ


“ผมเป็นคนไทยต้องมาตายเมืองไทย” พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์




[1] แหลมสน (นามแฝง), ธำรงหนี, พ.ศ.2492, (สำนักพิมพ์พนม), น.208.

[2] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/pridi-banomyong-first-asylum/

[3] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, นายกฯลิ้นทอง ผู้ร่วมก่อการ 2475 สู่ นายกฯ ทหารเรือคนเดียวของไทย “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” จุดเชื่อมต่อ https://www.facebook.com/photo/?fbid=700443822114656

[4] บุณฑริกา บูรณะบุตร, บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ.2475-2490) วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2534, น.79.

[5] เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, พ.ศ.2500 (รวมสาส์น),น.512-569.

[6] นามแฝงนี้อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นของ “เสลา เรขะรุจิ (พ.ศ.2460-2520)” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ไทยน้อย”? เนื่องจากแนวทางสารคดีการเมืองเล่มนี้มีความเจาะลึก ในคำนำหนังสือธำรงหนีหนี ระบุไว้ว่า “นักเขียนสารคดีที่ท่านผู้อ่านรู้จักดีในอีกนามหนึ่ง” ซึ่งขณะที่เขียนนี้ยังทำงานในสำนักของเกียรติศักดิ์ ลาวัณย์ โชตามระ เคยว่า “เขามีนามปากกาอยู่หลายนาม” ดู คำไว้อาลัยของเธอ “ทำไมถึงไทยน้อย” ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า พระบิดาแห่งหนังสือพิมพ์ไทย และ สมัยนุ่งผ้าม่วงกางเกงแพรนั่งรถรางหาข่าว พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายเสลา เรขะรุจิ ณ ฌาปนสถานวัดตรีทศเทพ วันที่ 8 สิงหาคม 2520, (โรงพิมพ์สงเคราะห์หญิงปากเกร็ด).

[7] แหลมสน, ธำรงหนี, น.33-34.

[8] อ้างแล้ว, น.42.

[9] อ้างแล้ว, น.38.

[10]พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, (ชวนพิมพ์), น.159.

[11] แหลมสน, ธำรงหนี, น.83.

[12] อ้างแล้ว, น.86.

[13] อ้างแล้ว, น.116-117.

[14] อ้างแล้ว, น.125.

[15] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง : ทวี ตะเวทีกุล จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2021/03/626

[16] แหลมสน, ธำรงหนี, น.123.

[17] อ้างแล้ว, น.132.

[18] อ้างแล้ว, น.137-138.

[19] อ้างแล้ว, น.146-147.

[20] วรรณไว พัธโนทัย, ยอดประดู่ผู้ไม่รู้โรย, การฌาปนกิจศพ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. ณ ฌาปนสถาน เมรุ 1 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2539, (ไม่มีเลขหน้า).

[21] แหลมสน, ธำรงหนี, น.137.

[22] พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, คำไว้อาลัย ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, (ชวนพิมพ์),  น.(21).

[23] แหลมสน, ธำรงหนี, น.162.

[24] อ้างแล้ว, น.165.

[25] อ้างแล้ว. น.167.

[26] อ้างแล้ว, น.182.

[27] อ้างแล้ว, น.190-191.

[28] ส.ศิวรักษ์ และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ : ทหารเรือคนแรกที่เป็นนายกฯ (ตอนที่ 12/13) https://www.youtube.com/watch?v=fHAjRhLo3W8 

[29] คำเรียกขานของหลวงธำรงฯ ที่กล่าวไว้กับหลวงพ่อปัญญานันทะ ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน, พ.ศ.2564, (มติชน), น.88.

บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย นางสาวสุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา ๙ ประโยค)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save