fbpx

ดิจิทัลวอลเล็ต+ซอฟต์พาวเวอร์: สองเรือธง(ส่อ)ล่มปากอ่าว?

สองเดือนกว่าผ่านไป รัฐบาลเศรษฐาประโคมข่าวผลงานยกใหญ่ ทั้งจัดรายการพิเศษสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีผ่านทีวีช่อง 11 และช่องทางออนไลน์

แต่ดูเหมือนไม่เรียกเสียงฮือฮาหรือเสียงชื่นชม คนไม่พูดขยายความกันต่อเท่าไหร่นัก

กองเชียร์จำนวนหนึ่งพาลโทษว่าเป็นเพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่เก่งด้านการสื่อสารเหมือนยุครัฐบาล+พรรคไทยรักไทยที่นำโดยทักษิณ ชินวัตร ทำให้การทำงานอย่างหนัก ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เสาร์-อาทิตย์แทบไม่หยุดของคณะรัฐมนตรีและทีมงานเบื้องหลังไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชน โดยไม่ได้ดูหรือแกล้งมองข้ามไปว่าปัญหาใหญ่จริงๆ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าสองเดือนกว่าของรัฐบาลนี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากรัฐบาลประยุทธ์สักเท่าไหร่ 

เพราะนโยบาย มาตรการ เนื้องานที่อ้างว่ามีเยอะแยะ ส่วนใหญ่เป็นงานระดับ ‘พื้นๆ’ ที่ทุกรัฐบาลต้องทำอยู่แล้วเป็นท่าบังคับ

จนผู้คนยั่วล้อกันว่าเป็นรัฐบาลมาสองเดือน เหมือนอยู่มาแล้วเก้าปี เพราะทั้งวิธีคิดและนโยบายหลายอย่างราวกับเข้ามาสานต่อเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 3

ไล่กันดูอีกที ที่คุยว่าทำผลงานไปแล้วเยอะแยะมีอะไรบ้าง

ลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันถึงสิ้นปี ก็แค่ยืดหนี้ กฟผ. และลดภาษีชั่วคราว แต่ในระยะยาวรัฐบาลยังไม่เคยบอกไอเดียว่าจะแก้ในเชิงโครงสร้างอย่างไร เพื่อให้ราคาอยู่ในจุดที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน

ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งสัญญาณแล้วว่าปีหน้าราคาค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาท/หน่วย จากเดิม 3.99 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาโปรโมชันถึงแค่สิ้นปีนี้ตามนโยบายรัฐบาล

ลดค่ารถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย แต่เฉพาะสายสีแดง+สีม่วง ซึ่งคนใช้น้อยกว่าสายสีเขียว+สีน้ำเงิน (สองสายนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะลดได้หรือไม่และเมื่อไหร่) โดยรัฐบาลควักเงินอุดหนุน

พักชำระหนี้เกษตรกรและมีมาตรการช่วยเหลือชาวนา ไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือเหนือไปกว่ารัฐบาลไทยรักไทย+พลังประชาชน

ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคนับหมื่นรายการ (ตามข่าวกระทรวงพาณิชย์) รัฐบาลไหนๆ ก็ทำได้

ส่วนที่คุยเขื่องเรื่องเดินสายต่างประเทศพบผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อนำไทยกลับสู่เวทีโลก นอกจากเศรษฐาเหนือกว่าอดีตนายกฯ ประยุทธ์ตรงที่สื่อสารภาษาอังกฤษเองได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามแล้วนั้น ถามว่าประสบผลสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ไปถึงนิวยอร์ก ได้ประชุมออนไลน์กับอีลอน มัสก์ และพบซีอีโอกองทุน BlackRock จากสหรัฐฯ แบบตัวเป็นๆ เขาตอบตกลงลงทุนอะไรในไทยบ้างและมูลค่าเท่าไหร่ วันนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ซาอุดีอาระเบีย ตกลงเพิ่มโควต้าแรงงานไทยหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ เริ่มปีไหนถึงปีไหน สนใจซื้อสินค้าอะไรเพิ่มอีกบ้าง

การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกฮามาสจับเป็นตัวประกัน มีความหวังถึงไหนแล้ว

ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย อาชญากรสงครามตามหมายจับไอซีซี ที่นายกฯ เศรษฐาภาคภูมิใจเชิญมาเยือนไทย ตกลงจะมาเมื่อไหร่ ประเมินรอบด้านแล้วใช่ไหมว่าผลดีผลเสียต่อไทยคืออะไร หากเขามาจริงๆ แน่ใจหรือว่านี่คือสุดยอดกลยุทธ์บริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปกับรัสเซีย

ที่ไล่มาล้วนเป็นเรื่อง ‘ไม่ว้าว’ แต่เพื่อความเป็นธรรม โดยส่วนตัวผมยังมองว่ารัฐบาลเพื่อไทยมีนโยบายที่เรียกเสียง ‘ว้าว’ จากผมและคนส่วนใหญ่ได้อยู่บ้าง ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยยกเป็นนโยบาย ‘เรือธง’ คือแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท และนโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์

ว่าด้วยเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังปล่อยให้เกิดความสับสนกับคอนเซ็ปต์และรายละเอียด+เงื่อนไขมาสองเดือน

เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องทั้งในรัฐบาลและในพรรคพูดไม่ตรงกัน หนักไปกว่านั้น บางครั้งคนคนเดียวกันพูดต่างเวลา ข้อมูลก็ไม่เหมือนเดิมอีก

วันศุกร์ที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาเลยยุติความสับสน แถลงข้อสรุปว่า  

1.แจกทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ยกเว้นคนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท หรือมีบัญชีเงินฝาก 500,000 บาทขึ้นไป จากเดิมแจกอายุ 16 ปีถ้วนหน้า

2.ใช้แอปฯ เป๋าตังค์ และมีบล็อกเชนแบ็คอัพ จากเดิมใช้บล็อกเชนเท่านั้น

3.ที่มาของเงิน จะออก พ.ร.บ.เงินกู้หกแสนล้านบาท จากเดิมหาเสียงไว้ว่า ‘ไม่กู้’ (ห้าแสนล้านใช้ในดิจิทัลวอลเล็ต และอีกหนึ่งแสนล้านใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน)

4.ใช้ในรัศมีอำเภอตามทะเบียนบ้าน จากเดิมรัศมีสี่กิโลเมตร

5.เริ่มแจกเดือน พ.ค. 67 ระยะเวลาใช้ภายในหกเดือน จากเดิมแถลงต่อสภาฯ เริ่ม ก.พ. 67

สาระจากการแถลงที่ออกมา ตอกย้ำแผลข้อครหา ‘โฆษณาไม่ตรงปก’ ตามที่หาเสียงไว้อีกแล้ว

ไม่ตรงปกในจุดสำคัญที่เป็นหลักการใหญ่เพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และสร้างนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน คือ ถ้วนหน้า ไม่กู้ ใช้บล็อกเชน และเริ่มทันที ก.พ. 67  เพราะประชาชนเดือดร้อน ปล่อยให้รออีกหลายเดือนไม่ได้

ยังไม่นับข้อกังวลว่า พ.รบ.เงินกู้ จะขัดกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์ ‘ความจำเป็นเร่งด่วน’ หรือไม่ และจะผ่านสภาฯ หรือจะถูกร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญปัดตกอีกหรือไม่

หลายคนจึงมองว่าหรือนี่คือแท็กติกทางการเมืองที่รัฐบาลต้องการหาทางลง เพราะรู้อยู่แล้วว่านโยบายนี้ถึงทางตัน เลยจะยืมมือสภาฯ หรือศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้าง หากไม่ผ่านการพิจารณา

รัฐบาลออกตัวได้ว่าตั้งใจทำเต็มที่แล้ว แต่ไม่ผ่านขั้นตอนกฎหมาย จึงไม่ใช่ความผิดรัฐบาล  

ส่วนนโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ เรือธงลำที่สอง

ในทางการเมืองเรือธงลำนี้ นอกจากสร้างความรู้สึก ‘ว้าว’ ได้แล้ว ยังมีนัยสำคัญที่รัฐบาลเพื่อไทยหวังใช้เป็นที่บ่มเพาะบารมี+วิสัยทัศน์ของ ‘อิ๊ง แพทองธาร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนล่าสุด เพื่อเตรียมขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อจากเศรษฐา

ดูได้จากการมอบตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ การเป็นตัวหลักให้สัมภาษณ์ ขยายการรับรู้นโยบายนี้ต่อสาธารณะ

โดยพรรคส่ง ‘หมอเลี้ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่สร้างชื่อจากการเป็นคีย์แมนสำคัญผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจนสำเร็จ เป็นบุญเก่าที่ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ใช้หากินไม่รู้จบ มาประกบเป็นพี่เลี้ยงอิ๊ง ในฐานะเลขาฯ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์

แต่ไม่รู้เพราะ ‘กึ๋น’ ของอิ๊งยังบ่มเพาะไม่ได้ที่ หรือเพราะพรรคเพื่อไทยขาดความเข้าใจ ศึกษามาไม่ละเอียดรอบคอบ ทำให้แค่เริ่มต้นอธิบายความหมาย คอนเซ็ปต์ และทิศทางนโยบายออกมา ผู้รู้จริงและคนทั่วไปก็เกิดข้อกังขาว่าซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเพื่อไทยคืออะไรกันแน่

เพราะที่พูดๆ และยกตัวอย่างมา ต่างจากคำนิยามและตำราของนักวิชาการต่างชาติผู้คิดค้น

ถ้าเพียงแค่ก้าวแรกยังสับสน สังคมจะคาดหวังว่าจะนำไปสู่การสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง และเติมเงินให้ทุกครอบครัว ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของนโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ ได้อย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ สองเดือนกว่าที่ผ่านมา นโยบายที่ทำได้ ทำไปแล้ว ก็ไม่ว้าว

ส่วนที่มีแววจะว้าวและเป็นเรือธง เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต+หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ ก็ทำท่าจะแป้กและล่มปากอ่าว

บวกเข้ากับความน่าเชื่อถือที่ติดลบ จากการตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว สถานการณ์ของขบวนนาวาเพื่อไทยจึงมีแววว่าจะไม่ใช่แค่เรือธงที่ล่มปากอ่าว

แต่ทั้งขบวนนาวานั่นแหละที่จะล่มไปทั้งหมด

และหากเปรียบเป็นกีฬาฟุตบอล เพื่อไทยเหมือนกองหน้าค่าตัวแพง ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายเงินค่าฉีกสัญญามหาศาล+ค่าเหนื่อยรายสัปดาห์วงเงินมโหฬาร เพื่อให้ย้ายจากทีมเสรีนิยมประชาธิปไตยมาสังกัดทีมอนุรักษนิยมใหม่

แต่ถึงเวลาลงสนาม เล่นไปแล้ว 30 นัด กองหน้าตัวนี้ยังยิงไม่ได้สักประตู แอสซิสต์แค่สองประตู แถมโดนใบเหลืองไปอีกหนึ่งครั้ง

สรุป เล่นไม่สมค่าฉีกสัญญา+ค่าเหนื่อยรายสัปดาห์

มองในแง่เจ้าของสโมสรฟุตบอลและเจ้าของขบวนนาวา ทางออกของปัญหาอาจต้องเปลี่ยนผู้จัดการทีมฟุตบอล เพื่อรีดเค้นศักยภาพกองหน้าค่าตัวแพงให้ได้ และเปลี่ยนกัปตันขบวนนาวา เพื่อแก้ไขกรณีล่มปากอ่าว

ผู้จัดการทีมฟุตบอล+กัปตันขบวนนาวา จากเดิมชื่อ ‘เศรษฐา’ ที่มาเพียงคั่นเวลา คงต้องเปลี่ยนเป็นชื่อ ‘แพทองธาร’  

โดยมีตำนานชื่อ ‘ทักษิณ’ กำกับอยู่เบื้องหลังอย่างใกล้ชิด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save