fbpx

ปราโมทย์ พึ่งสุนทร : ผู้ให้กำเนิด ‘เทเวศประกันภัย’

บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้นอยู่ 98.68% (49,341,264 หุ้น) นั้น ถือกำเนิดขึ้นในสมัยที่นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยนายปราโมทย์ผู้นี้เป็นคนที่นายปรีดี พนมยงค์ ขณะเป็นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ‘ส่ง’ มาให้ทำงานในสำนักงานทรัพย์สินฯ เอง

แต่ไม่เพียงเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายปราโมทย์ยังเป็นทั้งนักอภิวัฒน์ เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก และเป็น ‘มิตรซื่อสัตย์’ ของนายปรีดี พนมยงค์ ตราบจนวาระสุดท้ายอีกด้วย


ปราโมทย์ พึ่งสุนทร
(7 กรกฎาคม 2448 – 30 กรกฎาคม 2524)


เส้นทางสู่นักอภิวัฒน์


ปราโมทย์ พึ่งสุนทร เดิมชื่อบุญล้อม เป็นบุตรของนายคร้ามกับนางสั้น (สกุลเดิม ศรีจันทร์) เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2448 ที่บ้านท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

เมื่อวัยเยาว์เรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านแหลมสุวรรณาราม จากนั้นเข้ามาเรียนมัธยมที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ครั้นสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม


บิดา-มารดา-ครอบครัวปราโมทย์ ภรรยา-บุตรสาว และน้องๆ


ณ โรงเรียนกฎหมายนี่เองที่เขาได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ดังที่หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนเขียนเอาไว้ว่า “ปราโมทย์ฯ เป็นนักเรียนกฎหมายคนหนึ่งในบรรดานักเรียนกฎหมายอีกหลายคน ที่ได้สมัครเป็นสมาชิกคณะราษฎร อุทิศตนเพื่อเปลี่ยนการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ปราโมทย์อยู่ในสายพลเรือนที่ขึ้นกับนายสงวน ตุลารักษ์ และนายซิม วีระไวทยะ ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถึงกับเรียกทั้งสองคนนี้ว่าเป็นโมคคัลลาน์-สารีบุตรของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเลยทีเดียว

สำหรับภารกิจของปราโมทย์ในวันก่อการ คือ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของคณะฯ ที่กำหนดให้สมาชิกพลเรือนในคณะร่วมกับสมาชิกที่เป็นนายทหารจำนวนหนึ่งไปคุมบ้านบุคคลสำคัญแห่งระบบเก่า เพื่อมิให้บุคคลสำคัญนั้นๆ ออกมาจากบ้านซึ่งอาจจะใช้กำลังต่อต้านคณะราษฎร เมื่อคณะราษฎรได้ยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการของคณะฯ เสร็จแล้วปราโมทย์ฯ กับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตอนเช้าเสร็จแล้ว ก็ได้ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อช่วยงานธุรการของคณะฯ และปฏิบัติการอื่นๆ ตามคำสั่งของกองบัญชาการในระหว่างเหตุการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับหน้าที่ทางการเมืองหลังจากนั้น ปราโมทย์ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประเภทที่ 2) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2480 และเป็นสมาชิกพฤฒสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489

อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งได้กล่าวถึงการทำงานของปราโมทย์ไว้อย่างสั้นๆ ว่า “ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรและพฤฒสมาชิกด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อมวลราษฎรเหมือนดั่งผู้แทนที่ดีของราษฎรทั้งหลาย


จาก ‘บุญล้อม’ สู่ ‘ปราโมทย์


ในสมัยรัฐนิยมของรัฐบาลที่มีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้จัดทำบัญชีชื่อบุคคลที่แยกเพศชาย-หญิง พร้อมทั้งแนะนำให้ข้าราชการผู้ชายที่ชื่อเดิมของตนไปตกอยู่ในบัญชีชื่อผู้หญิงนั้น เปลี่ยนชื่อให้เข้ามาอยู่ในบัญชีชื่อผู้ชาย โดยที่ชื่อของ ‘บุญล้อม’ อยู่ในบัญชีชื่อผู้หญิง เขาจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพล แปลก เป็นผู้เปลี่ยนชื่อให้

ทั้งนี้ เพราะนับแต่บุรุษผู้นั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ‘บุญล้อม’ ก็ได้ช่วยงานท่านผู้นั้นเสมือนเป็นเลขานุการส่วนตัว

ครั้นท่านผู้นั้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ก็เล็งเห็นว่า “ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และเคยปฏิบัติหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของข้าพเจ้ามาแล้ว ปราโมทย์ฯ จึงทราบวิธีปฏิบัติราชการและวิธีดำเนินการเมืองทางรัฐสภาพอสมควร ประกอบด้วยปราโมทย์ฯ แสดงให้ประจักษ์ว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ข้าพเจ้าจึงได้แต่งตั้งปราโมทย์ฯ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการแบ่งเบาภาระของข้าพเจ้าได้หลายประการ

โดยที่รัฐมนตรีผู้นี้ได้เลือกชื่อให้ ‘บุญล้อม’ ใหม่ว่า ‘ปราโมทย์’ ซึ่งแปลว่า ‘ความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ‘ เพราะ “มีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า ‘ปรีดี’ ที่เป็นชื่อของข้าพเจ้า” นั่นเอง


ปราโมทย์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2520 หน้าภาพถ่ายของนายปรีดี-ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์


เสรีไทย


ภายหลังญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ไม่นานนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นั้นมีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้ปราโมทย์พ้นจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีดังกล่าวไปด้วย อย่างไรก็ดี พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีคนต่อมา ก็ยังคงให้ปราโมทย์ดำรงตำแหน่งเลขานุการต่อไป

พร้อมกันนั้น ปราโมทย์ก็ได้เข้าทำงานเป็นสมาชิกขององค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักในภายหลังว่า ขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้นั้นเป็นหัวหน้า

ครั้นถึงเดือนสิงหาคม 2487 จอมพล แปลก ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิถีทางของระบบรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ จึงเข้าดำรงตำแหน่งแทน พร้อมทั้งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ตกลงกับนายควงเป็นการลับว่า “สมควรแต่งตั้งปราโมทย์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อช่วยเหลือข้าพเจ้าในงานเสรีไทย เพราะองค์การเสรีไทยจำเป็นต้องอาศัยสถานที่ และยานพาหนะ กับพัสดุหลายอย่างของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นการลับ กระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งที่ 50548/2487 แต่งตั้งปราโมทย์ฯ ดำรงตำแหน่งดังกล่าวและให้ฟังคำสั่งลับของข้าพเจ้าเกี่ยวกับงานเสรีไทย

สำหรับนายทหารอเมริกัน หน่วยโอ.เอส.เอส. ที่เข้ามาช่วยเหลืองานเสรีไทยนั้น ในชั้นแรกพำนักที่บ้านมะลิวัลย์ (บ้านของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ครั้นภายหลังมีมากขึ้นจึงย้ายไปที่วังสวนกุหลาบ (ซึ่งจอมพล ป. เคยใช้เป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรี) ปราโมทย์นอกจากดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้ว ยังทำหน้าที่ตัดผมให้ทหารฝรั่งระหว่างที่เขาไปหรือกลับจากที่ประชุมอีกด้วย

การที่มีฝรั่งมาพำนักเช่นนี้ อาหารการกินนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องมีคนไทยไปจ่ายตลาดซื้อหาอาหารสดมาปรุงให้เขารับประทานเป็นประจำ วันหนึ่งคนขายผลไม้ที่ตลาดบางลำพูเกิดถามคนที่ซื้อของให้นายทหารเหล่านี้ ซึ่งเวลาไปซื้อก็มักบอกว่าซื้อให้ ‘นายฝรั่ง’ ว่า นายฝรั่งรับประทานกล้วยมากเช่นนั้นเชียวหรือ พอข่าวทราบถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เกรงว่าจะปิดความลับไม่ได้ เพราะคนฝรั่งส่วนใหญ่เป็นเชลยกักกันอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ปราโมทย์จึงได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ให้หาคนที่ไว้ใจได้มาดำเนินการด้านนี้แทน ในที่สุดก็ได้นายแขก แสงชื่น หรือ ‘นายใบ้’ (เกิดปี 2461) ซึ่งทำงานในร้านขายยาของปราโมทย์มาทำงานนี้

กนต์ธีร์ ศุภมงคล เสรีไทยผู้หนึ่งเขียนถึงนายใบ้ไว้ว่า “เป็นเด็กหนุ่มที่ทำงานเข้มแข็ง คุณบุญล้อมรู้จักมานานแล้ว เชื่อว่าจะเก็บความลับได้เด็ดขาด เพราะเป็นใบ้มาแต่กำเนิด ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อนุมัติให้รับได้ นายใบ้คนนี้ทำงานแข็งจริงๆ เฝ้ารับใช้นายทหารอเมริกาทุกคน จัดหาอาหารให้ ซักรีดเสื้อผ้า รับใช้ทุกอย่างทุกประการเท่าที่แกเข้าใจความประสงค์ของเขา คุณทวี ตะเวทิกุล และข้าพเจ้าอยู่ประจำค่ายอเมริกา ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่นายใบ้ตามที่จำเป็น เจ้าหน้าที่ของโอ.เอส.เอส. ที่ผ่านไปมา และพำนักอยู่ที่วังสวนกุหลาบ ทุกคนชมชอบนายใบ้มาก


นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก


ภายหลังการประกาศสันติภาพไทยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ปราโมทย์ได้อำนวยการก่อสร้างสนามมวยที่ค้างไว้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนแล้วเสร็จ และดำรงตำแหน่งนายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก โดยมีการแข่งขันปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ศกนั้น


ผู้ให้กำเนิดเทเวศประกันภัย


10 สิงหาคม 2489 ในสมัยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปราโมทย์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ต่อมาเมื่อนายวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายพิเศษแก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดตั้งบริษัทประกันภัยขึ้น โดยเจตนารมณ์ที่แจ้งเป็นวัตถุประสงค์ไว้ในการประชุม ‘คณะกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ครั้งที่ 9/2489 วันที่ 16 กันยายน 2489 ความว่า “เพื่อรัฐบาลจะได้ประกันภัยองค์การของรัฐบาลไว้กับบริษัทนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งขององค์การรัฐบาล ก็จะเป็นการช่วยรายจ่ายของรัฐบาลได้อย่างมากส่วนหนึ่ง” เพราะก่อนหน้านั้น รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังต้องรับภาระจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยองค์การต่างๆ ของรัฐบาลให้แก่บริษัทประกันภัยปีหนึ่งๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไข โดยให้หน่วยงานของรัฐบาลจัดตั้งบริษัทประกันภัยขึ้นมาเสียเอง

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า นายปรีดีบันทึกรายละเอียดที่แตกต่างไปจากประวัติของบริษัทฉบับทางการ ความตอนหนึ่งว่า “ปราโมทย์ฯ ได้ดำริให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดตั้งบริษัทประกันภัยขึ้น โดยมีความประสงค์จะให้ผู้เช่าอาคารของสำนักงาน ประกันอาคารที่เช่าไว้กับบริษัทที่ทรัพย์สินจะตั้งขึ้นแทนวิธีการเดิมซึ่งผู้เช่าจะต้องนำอาคารที่เช่าไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทอื่น อันจะนำประโยชน์เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ทรัพย์สินฯ และสำนักงานทรัพย์สินฯ จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยให้แก่บริษัทอื่น กับอีกประการหนึ่ง องค์การของรัฐบาลก็จะประกันภัยแก่บริษัทของสำนักงานทรัพย์สินที่จะตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจะช่วยให้สำนักงานทรัพย์สินได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และองค์การของรัฐบาลก็ไม่ต้องประกันภัยบริษัทของเอกชน

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2489 นายวิจิตร ลุลิตานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการจัดตั้งบริษัทประกันภัยตามนโยบายพิเศษที่ได้ให้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้แล้ว และรับรองชื่อบริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด ตามที่ปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้เสนอ

และในการประชุมกรรมการบริษัทครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2490 ปราโมทย์ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดการบริษัทคนแรก หลังจากนั้นจึงเปิดดำเนินการในวันที่ 17 มกราคม 2490 นับได้ว่าเขาเป็นผู้ช่วยวางรากฐานให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ประโยชน์จากกิจการประกันภัยนี้


ปราโมทย์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2524 ก่อนถึงแก่กรรมเพียง 4 เดือน


‘มิตรซื่อสัตย์’ ของปรีดี พนมยงค์ 


ผมระลึกถึงคุณเสมอที่เป็นมิตรซื่อสัตย์ของผมตลอดมา ทั้งทางร่วมกันรับใช้ชาติ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และร่วมงานเสรีไทยรับใช้ชาติ ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน และปฏิบัติการให้สัมพันธมิตรรับรองว่า ประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม…ขอขอบคุณเป็นอันมากที่คุณได้ช่วยเหลืองานส่วนตัวของผมหลายประการ

นี่เป็นถ้อยคำบางส่วนที่ถอดจากเทปบันทึกเสียงของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอัดจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2524 และมอบให้กับโสภณ บุตรชายคนโตของปราโมทย์ นำกลับมาเปิดให้เขาฟัง “ด้วยความปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง” ก่อนที่ปราโมทย์จะถึงแก่กรรมลงในวันที่ 30 กรกฎาคม 2524 รวมอายุได้ 77 ปี กับ 24 วัน

ทั้งนี้ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ซึ่งใกล้ชิดกับปรีดีในช่วงเวลานั้น ได้เล่าเอาไว้ด้วยว่า ปราโมทย์เป็นผู้ส่งหนังสือพิมพ์รายวันจากเมืองไทยไปให้ปรีดีตลอด ครั้งหนึ่งจริย์วัฒน์อยู่กับปรีดีที่บ้านอองโตนี พนักงานไปรษณีย์นัดหยุดงานเป็นเดือนๆ ปรีดีเปรยกับจริย์วัฒน์ว่า “ลุงเสียหายหลานแสน ข่าวสารไม่ต่อเนื่อง ทำอะไรไม่ได้ ถึงห่วงประเทศชาติก็ทำอะไรไม่ได้

ปราโมทย์ในความทรงจำของจริย์วัฒน์ คือบุคคลที่ปรีดียกย่องว่าเป็น ‘มิตรซื่อสัตย์’ เพราะกล้าคบปรีดี แม้ในยามที่คนอื่นห่างเหิน และยังส่งหนังสือพิมพ์จากไทยให้ปรีดีอ่านตราบจนปราโมทย์ตายจากไป

จึงไม่แปลกเลยที่ปรีดี ในวัยกว่า 81 ปี จะลงมือทำหนังสืออนุสรณ์งานศพให้กับ ‘มิตรซื่อสัตย์’ ผู้นี้ ตั้งแต่วางแผนหาเรื่องที่จะมาลงพิมพ์ เขียนจดหมายประสานไปยังทายาทของปราโมทย์ จดหมายสั่งให้ลูกสาวจ่ายเงินค่าพิมพ์หนังสือ สั่งให้หลานชายตรวจปรู๊ฟให้แทนตนเอง และสั่งแม้กระทั่งการทำปก การใช้แบบอักษร และการเลือกกระดาษทำหนังสือ รวมถึงการประสานงานกับโรงพิมพ์


บางส่วนของจดหมายสั่งการ ‘วิธีการพิมพ์หนังสือนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร’

หนังสืองานศพของปราโมทย์ที่ปรีดีเป็นผู้จัดทำ และจัดพิมพ์


ปรีดีกล่าวถึงหลักการจัดทำหนังสืองานศพไว้ว่า “หนังสืออนุสรณ์ที่ลุงเป็นผู้จัดทำนั้น ลุงต้องการให้ผู้ที่รับแจกหนังสือได้รักษาหนังสือนั้นเป็นที่ระลึกผู้ล่วงลับไปอย่างถาวร เพราะเป็นเรื่องความรู้ทั่วไป ซึ่งเป็นความจริงไม่ตาย” ผิดกับหนังสืออนุสรณ์ทั่วๆ ไปที่ “เจ้าภาพบางคนทำขึ้นอย่างรวบรัดพอให้เป็นหนังสือชำร่วยในงานศพโดยมีเรื่องที่คนอ่านไม่สนใจบ้าง หรือสนใจแต่เพียงเล็กน้อยบ้าง ดังนั้นผู้ที่ได้รับแจกหนังสือในงานศพจึงมิได้เก็บหนังสืองานศพนั้นไว้เป็นที่ระลึกอย่างถาวรแก่ผู้ที่ล่วงลับไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในหนังสืออนุสรณ์ของปราโมทย์ที่ปรีดีทำขึ้น นอกจากประวัติย่อของผู้วายชนม์แล้ว ปรีดีได้ “เรียบเรียงขึ้นใหม่บ้าง ปรับปรุงเรื่องที่เคยเขียนและได้ให้สัมภาษณ์ไว้แล้วบ้าง ให้ประณีตยิ่งขึ้นโดยอาศัยหลักฐานเอกสารแท้จริงที่ต้องค้นคว้าให้แน่นอน จึงต้องใช้เวลา แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นการปั้นอักษรทีละตัวๆ

ซึ่งบทความและบทสัมภาษณ์ที่ปรากฏในหนังสือนี้ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทยทั้งสิ้น โดยปรีดีกล่าวถึงประวัติและงานของปราโมทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ไว้ท้ายบทความด้วย

ปรีดีทำไปทั้งหมดนี้เพื่อให้ “เกียรติคุณของปราโมทย์ฯ ปรากฏชั่วกาลนาน

แม้เรื่องราวของปราโมทย์ฯ จะไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แต่อนุสรณ์งานศพของปราโมทย์ (พ.ศ. 2525) ที่ปรีดีในวัยชราได้ทำไว้ ก่อนที่ปรีดีจะถึงแก่อสัญกรรมในปีถัดมา (พ.ศ. 2526) นั้น ก็ยังคงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้อนุชนรู้จักชายที่มีชื่อว่า ‘ปราโมทย์ พึ่งสุนทร’ ได้ดีที่สุดเท่าที่จะมีทางเป็นไปได้แล้ว


บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save