fbpx
รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น: คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’

รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น: คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ผมได้ทราบจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรว่า ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร คือบุคคลซึ่งอาจารย์ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ รักเหมือนลูกคนสุดท้อง  เขาเป็นคนมีอารมณ์ขัน และเป็นคนหนึ่งที่กล้าแหย่ให้อาจารย์ปรีดีหัวเราะอย่างมีความสุขได้

ในช่วงที่เป็นนักศึกษาในอังกฤษ เขามีโอกาสใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดีในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางไปขอความรู้จากท่านหลายครั้ง ได้สนทนา ได้เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากท่านมามิใช่น้อย และได้เดินทางไปร่วมงานฌาปนกิจศพท่านที่สุสาน Père Lachaise ชานกรุงปารีสด้วย

ต่อมาเมื่อถึงคราวฉลองศตวรรษชาตกาลของอาจารย์ปรีดี เขาได้รับเชิญจากครอบครัว ‘ปรีดี-พูนศุข’ ให้เขียนบทประพันธ์ขึ้นชิ้นหนึ่งสำหรับนำมาใส่ทำนองเป็นเพลงที่ระลึกถึงท่าน จนเกิดเป็นเพลง ‘คนดีมีค่า’ และในคราวที่ท่านผู้หญิงพูนศุขอายุครบ 90 เขาก็ได้โอกาสเช่นนั้นอีกครั้ง จนเกิดเพลง ‘แม่จ๋า’ ขึ้น

ถึงชายผู้นี้จะมีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น และผูกพันกับอาจารย์ปรีดีอย่างมาก แต่ไม่บ่อยนักที่เขาจะเปิดเผยเรื่องราวระหว่างเขากับชายผู้ที่เขาเคารพรัก

เท่าที่ค้นดู พบเพียงครั้งเดียวที่เขาให้สัมภาษณ์ชาวธรรมศาสตร์ในนิวยอร์กเพื่อตีพิมพ์ที่นั่น ประมาณ พ.ศ. 2540 ก่อนที่บทสัมภาษณ์ชิ้นเดิมจะถูกตีพิมพ์อีกครั้งในชื่อ ‘คุยกันเรื่องท่านปรีดีฯ’ ในหนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2541[1]

ในวาระ 35 ปี แห่งการจากไปของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (2 พฤษภาคม 2526–2561) ผมจึงได้นำบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นมาเป็นฐานในการเขียนงานชิ้นนี้ กับได้สัมภาษณ์คุณจริย์วัฒน์เพิ่มเติม ในเดือนมีนาคม 2561 เพื่อเติมเต็มภาพชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ผู้ซึ่งอุทิศชีวิตให้ประเทศแห่งนี้

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

คุณจริย์วัฒน์มาสนิทสนมใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดีได้อย่างไร

เรื่องมันยาวนะ ทีแรก ตอนผมเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ยังไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับท่านอาจารย์ปรีดีมากนัก นอกจากทราบว่าเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย  ต่อมาเมื่อไปเรียนที่อังกฤษแล้วก็ยังไม่ได้รู้อะไรหนักหนา  แต่เริ่มเรียนทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ทำให้พอทราบอะไรต่างๆ มากขึ้น และทึ่งว่าท่านมีความสามารถมาก เช่น เมื่ออายุเพียง 32 ปี เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และเมื่ออายุ 34-35 ท่านก็เป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ท่านก็เป็นผู้นำเสรีไทยที่ทำให้ไทยพ้นสถานะผู้แพ้สงครามมาได้

ความสนใจจริงๆ จังๆ เริ่มตอนที่ผมเป็นสนทนากรรมการ (debate secretary) ของสามัคคีสมาคมที่อังกฤษ และได้เป็นตัวแทนร่วมกับท่านสภานายกไปร่วมงานประจำปีสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนี  ท่านปรีดีได้รับเชิญมาแสดงปาฐกถา สิ่งที่ประทับใจผมมาก คือท่านเริ่มปาฐกถาโดยกล่าวว่า สิ่งที่ท่านจะพูดต่อไปยังไม่ต้องเชื่อ แต่ให้นำกลับไปย่อยไปไตร่ตรองว่ามีตรรกะ ความน่าจะเป็นจริง หรือหลักฐานสนับสนุนหรือไม่ ถ้ามีแล้วค่อยคิดเชื่อ แต่ถ้าเจอหลักฐานหรือข้อมูลอะไรที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้ง ก็ไม่ต้องเชื่อ และขอความกรุณาแจ้งหลักฐานเหล่านี้ให้ท่านทราบบ้าง ท่านจะได้เข้าใจได้ถูกต้อง  ตอนที่ฟังก็ทึ่งเลย เพราะไม่เคยได้ยินอะไรที่ท้าทายอย่างนี้มาก่อน

เมื่อผมกลับมาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ก็พิจารณาดูว่า โอ้โห คนขนาดนี้ เคยร่วมคิดและเปลี่ยนแปลงการปกครองเอย นำชาติพ้นภัยช่วงมหาสงครามเอย เป็นรัฐมนตรีเอย นายกรัฐมนตรีเอย คือเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ในความเห็นของผม แต่แม้ท่านยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ท่านยังไม่บอกให้เราเชื่อท่าน แต่บอกให้กลับไปคิดดู แสดงว่าข้อคิดของท่านน่าจะมีเหตุมีผลจริงๆ น่าจะเป็นสัจจะ ไม่อย่างนั้นใครจะกล้า ผิดกับผู้ที่คิดว่าเป็นคนใหญ่คนโตที่ผมรู้จักที่บอกว่า เพราะผมเป็นนั่นเป็นนี่ คุณจึงต้องเชื่อผม

จุดนี้ทำให้ผมประทับใจท่าน หันกลับไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับท่าน ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับท่านมากขึ้น และเมื่อมีโอกาสก็ไปกราบท่านที่ฝรั่งเศส ได้พบกับท่านผู้หญิงพูนศุขและพี่ๆ ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านหลังจากนั้น และมีโอกาสไปมาหาสู่เป็นระยะ คือไปฝรั่งเศสทีไร ก็ต้องมุ่งไปหาท่าน สอบถาม เรียนรู้จากท่าน หลังๆ บางทีท่านก็กรุณาให้ผมพักที่บ้านอองโตนี จึงได้มีโอกาสศึกษาอะไรจากท่านเยอะแยะทีเดียว ท่านและท่านผู้หญิงมีเมตตาต่อผม (และนักศึกษาอื่นๆ) มากครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข–ปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และจริย์วัฒน์ สันตะบุตร
ท่านผู้หญิงพูนศุข–ปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และจริย์วัฒน์ สันตะบุตร

เวลานั้นชื่ออาจารย์ปรีดีเป็น ‘ปีศาจทางการเมือง’ การไปใกล้ชิดแบบนั้น ที่บ้านว่าอะไรไหม

ไม่ว่าเลยครับ ผมกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยครั้งแรกหลังจากไปเรียนที่อังกฤษอยู่เกือบ 4 ปี คุณพ่อผม (ศิริ สันตะบุตร) ซึ่งไม่เคยคุยกับผมเรื่องอาจารย์ปรีดีเลย ก็ซักถามต่างๆ นานาเกี่ยวกับเรื่องของท่าน โดยเริ่มว่าท่านอาจารย์ปาฐกถาว่าอย่างไรบ้าง ได้มีโอกาสซักถามอะไรไหม สุขภาพท่านเป็นอย่างไรบ้าง ฯลฯ และยังเชิญเพื่อนฝูงมาคุยกับผม (ที่จำได้มีคุณลุงมาโนช วุธาทิตย์ อดีตเสรีไทย เคยทำงาน BBC และกลับมาทำงานอยู่ Bangkok World) ให้ผมเล่าเรื่องอาจารย์ปรีดีให้ฟัง  ผมก็เพิ่งทราบตอนนั้นเองว่าคุณพ่อเคยเป็นลูกศิษย์ท่านที่โรงเรียนกฎหมาย ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และก็ดูทั้งคุณพ่อและเพื่อนสนิทจะศรัทธาในตัวอาจารย์ปรีดีรวมทั้งแนวคิดของท่านมาก

ก่อนผมไปเรียนอังกฤษ (พ.ศ. 2512) เราไม่เคยคุยกันเรื่องอาจารย์ปรีดีเลย สมัยนั้นชื่อเสียงของท่านมัวหมองมาก ไม่ค่อยมีใครอยากเอ่ยถึง ถ้ามีการพูดถึงปรีดี เขาก็วาดภาพให้คนทั่วไปนึกถึงคอมมิวนิสต์  ถ้าพูดตลกๆ หน่อยไม่กล้าเอ่ยชื่อก็เลี่ยงเรียกเป็นมุกว่า “Goodyear” คุณพ่อก็ไม่ทราบว่าผมคิดอย่างไร  พอผมได้รู้จักอาจารย์ปรีดีแล้ว คุณพ่อจึงเล่าให้ฟังทีหลังว่า ตอนที่เรียนโรงเรียนกฎหมาย ยังได้ไปเรียนเพิ่มเติมที่บ้านท่านปรีดีด้วย ท่านไม่คิดเงินเลย เพราะสอนโดยอยากให้ลูกศิษย์ได้วิชา ลูกศิษย์ศรัทธาท่านมาก  ตอนคุณพ่อผมจบเนติบัณฑิตแล้วอายุไม่ถึง 20 ปี สมัครเป็นผู้พิพากษายังไม่ได้ ท่านปรีดีกำลังตั้งเทศบาลขึ้นปกครองท้องถิ่น ก็ได้กรุณาแนะนำคุณพ่อผมและเพื่อนๆ ไปสอบด้วย เลยมาอยู่กระทรวงมหาดไทยในที่สุด

 

แล้วใกล้ชิดกันมากขึ้นได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นที่ใกล้ชิดกันคือ เมื่อฟังปาฐกถาของท่านที่เยอรมนีแล้วประทับใจ ท่านสภานายก (อมรศักดิ์ นพรัมภา) และผมซึ่งเป็นสนทนากรรมการในสามัคคีสมาคม จึงปรึกษากันกับเพื่อนๆ ในนามสมาคมว่าควรเชิญท่านมาปาฐกถาที่อังกฤษบ้าง ซึ่งท่านก็เมตตาสนองตอบอย่างดี

ตอนจัดงานเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2516 ในงานชุมนุมประจำปี ณ เมืองดองแคสเตอร์ (Doncaster) ผมในฐานะสนทนากรรมการก็เป็นคนไปรับท่านเป็นคนดูแลท่าน จึงได้อยู่ใกล้ชิด  พอใกล้ชิดได้วันสองวันท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนเริ่มว่า อย่าเรียกท่านผู้หญิงเลย ให้เรียก ‘คุณป้า’ เมื่อเป็นดังนี้ก็ต้องเรียกอาจารย์ปรีดีว่า ‘คุณลุง’ เพราะตอนแรกก็เรียกท่านผู้หญิง เรียกท่านอาจารย์ ตามปกติทั่วไป  และคุณป้าก็กรุณาเอ่ยชวนว่า ถ้าไปที่ฝรั่งเศส ก็ให้ไปหาท่านบ้าง

ปิดเทอมปีต่อมา ผมก็ขอ ก.พ. ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ปารีส ตอนแรกก็ไปพักโรงแรมถูกๆ กลางเมือง ท่านก็กรุณาชวนให้ไปพบและทานอาหารที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส กับคนไทยคนอื่นๆ ที่ขอไปพบท่านบ้าง  ผ่านไปสักสัปดาห์หนึ่ง ท่านและคุณป้าก็เมตตาบอกผมว่าอย่าไปเสียค่าโรงแรมเลย ให้มาพักด้วยกันที่บ้านแล้วเดินทางไปเรียนในเมืองทุกวัน  โดยที่บ้านของท่านเป็นหลังเล็กๆ และมีคนในครอบครัวอยู่มาก ผมจึงได้อาศัยอยู่ที่ห้องเล็กๆ ริมรั้วที่เรียกกันว่า ‘กระท่อมรจนา’ (คงจะดัดแปลงมาจากห้องเก็บเครื่องมือทำสวนของเจ้าของบ้านคนก่อน) ซึ่งเป็นที่พำนักของของพี่แอ๊ะ ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ หลานท่านผู้หญิงพูนศุข[2]

อะไรทำให้อาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขเอ็นดูคุณจริย์วัฒน์

ตอบยากนะ ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะผมเคารพท่านโดยใฝ่ศึกษาในเรื่องเดียวกับสิ่งที่ท่านคิดท่านทำ ที่สำคัญผมชื่นชมวิถีชีวิตที่ธรรมดา ๆ ของท่านและครอบครัวมาก ถูกจริต ไม่ต้องเสแสร้งเวลาอยู่ด้วย ผมจึงเป็นตัวของตัวเอง กล้าถาม กล้าคุย และสนใจในเรื่องเก่าๆ ทำให้สามารถฟังท่านคุยและคุยกับท่านได้ คือท่านเล่าเรื่องแล้ว เราต่อเรื่องได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ยังสนใจสอบถามแล้วไปหาอ่านเพิ่มเติมมาคุยกับท่านอีก

พอผมเป็นตัวของตัวเอง จึงสนุก ตลก และกล้าแหย่คนรอบตัวรวมถึงท่านได้ (คนอื่นเขาไม่ทำ) ซึ่งท่านก็หัวเราะชอบใจในบางครั้ง แต่ท่านเคยเตือนผมว่า อย่าทำจนคนเขาเห็นเป็นคนไร้สาระ แล้ววันหนึ่งจะทำเรื่องใหญ่ไม่สำเร็จ

ที่ท่านเอ็นดูผม คงเห็นว่าผมรักและใฝ่หาสัจจะ เมื่อไม่รู้ก็สอบถาม ถามแล้วก็ไปหาอ่าน หาข้อมูลเกี่ยวกับท่านและเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านทำ เจอข้อมูลน่าสนใจ แล้วกลับมาบอกท่านด้วย บางครั้งท่านขอให้ช่วยค้นข้อมูลในการเขียนบทความหรือฟ้องคดี โดยเฉพาะที่ไปอ่านเอกสารทำวิทยานิพนธ์ใน public record office ที่อังกฤษ ซึ่งเขาจะเปิดเผยเมื่อผ่านพ้น 30 ปี เวลานั้นจึงเป็นช่วงที่เรื่องราวในทศวรรษ 2480 เพิ่งเปิดเผยพอดี ผมเองก็ได้เลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการต่างประเทศของไทยในช่วงที่ท่านยังมีอำนาจ (พ.ศ. 2475-2489) ได้อ่านอะไรที่เกี่ยวข้องกับท่านในด้านต่างประเทศอีกมากมาย ผมถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องไปเสนอท่านก็มี และนำบางเรื่องที่อ่านพบไปเรียนถามท่าน ซึ่งท่านก็เมตตามาตลอด

ภาพบ้านอองโตนีจากมุมสูง (หลังที่อยู่ข้างตึกสูง) ถ่ายโดย Laurent Malespine (ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยเมื่อไม่นานมานี้) จากหน้าปกหนังสือ ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (2536) ของ จินดา ศิริมานนท์
ภาพบ้านอองโตนีจากมุมสูง (หลังที่อยู่ข้างตึกสูง) ถ่ายโดย Laurent Malespine (ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยเมื่อไม่นานมานี้) จากหน้าปกหนังสือ ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (2536) ของ จินดา ศิริมานนท์

พอจะมีตัวอย่างความใกล้ชิดผูกพันกันไหม

เวลาไปหาท่าน ผมต้องออกแต่เช้า นั่งรถไฟในอังกฤษไปโดเวอร์ (Dover) ขึ้นเรือข้ามไปคาเลส์ (Calais) ประเทศฝรั่งเศส แล้วต่อรถไฟไปปารีสและต่อไปบ้านอองโตนี กว่าจะถึงก็ค่ำๆ ราวทุ่มสองทุ่ม คุณลุงก็จะรอเจอผม คุยเรื่องความเคลื่อนไหวใครไปใครมา และสามัคคีสมาคมในอังกฤษ เรื่องโน้นเรื่องนี้ ประมาณหนึ่งชั่วโมงก็มักจะบอกว่า หลานคงจะเหนื่อยแล้ว พักผ่อนเถอะ และบอกให้พี่ๆ ช่วยดูแลหาที่หลับที่นอนให้ผม เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะเริ่มพูดคุยเรื่องงานที่ท่านทำอยู่

ครั้งหนึ่ง ก็มาแบบนี้ รุ่งขึ้นผมขึ้นไปหาท่านตามปกติ คุณลุงอยู่กับคุณป้าริมหน้าต่าง ก็เลยนั่งคุยกัน 3 คน  คุณป้าสูบบุหรี่อยู่ พอจะจุดอีกมวนหนึ่ง คุณลุงยิ้ม บอกว่า “เธอคงต้องเลิกสูบบุหรี่ เพราะแต๊กเขาไม่ชอบบุหรี่นะ เขาทนควันบุหรี่ไม่ค่อยได้” แล้วหันมายิ้มอย่างมีความสุข “ไม่งั้นเดี๋ยวอีกหน่อยเขาจะไม่อยากมาหาเรา” ผมปลื้มมากทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องนี้  ที่จริง คุณลุงก็เคยสูบบุหรี่ แต่ท่านเลิกบุหรี่ไปก่อน ท่านเล่าว่าตอนไปเป็นลูกศิษย์วัด พวกลูกศิษย์วัดชวนกันสูบ ก็เลยชิน สูบมาตลอด ทีหลังมาเลิกด้วยเหตุผลทางสุขภาพ

พอผมเรียนจบกลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ กลางปี 2525 ท่านผู้หญิงพูนศุขก็แนะนำผมให้พวกลูกศิษย์อาจารย์ปรีดีในกระทรวงฟัง (เหมือนฝากฝังให้ช่วยดูแล) ว่า เป็นลูกชายคนสุดท้อง อยากรู้เรื่องอะไรของคุณลุงให้มาสอบถามผมได้ ตอนนั้นผมก็งงๆ ว่าทำไมมีผู้ใหญ่มาทักทายเราบ่อยๆ รับราชการอยู่ไม่ทันครบปีก็ได้ข่าวการเสียชีวิตของท่าน ผมเศร้ามาก และรีบบินไปปารีสเพื่อร่วมงานศพให้ได้ ผมก็นั่งโศกเศร้าอยู่ในเครื่องบิน

น้อย (วิชินี สุนทร-วิจารณ์) ซึ่งเป็นทั้งหลานและเลขาฯ ผู้พิมพ์งานของท่าน บอกกับผมตอนที่เดินทางไปถึงว่า “เธอทำบาปมากนะแต๊ก คุณลุงรอจดหมายเธอ แต่เธอไม่ส่งข่าวมาบ้างเลย” ผมก็เสียดายและรู้สึกผิดมาก เพราะตั้งใจว่ารับราชการครบปีแล้วค่อยเขียนไปเล่า เนื่องจากงานที่ทำตอนรับราชการใหม่ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นพอจะเล่าให้ท่านฟังได้ มีแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เฉพาะหน้าไปวันๆ จับสาระยังไม่ค่อยปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวพอ พอรู้ว่าท่านรอ ผมก็เสียใจมาก ท่านคงอยากทราบความก้าวหน้าในการงานของผม ผมเองเลยตั้งใจทำงานรับใช้ประเทศชาติตามที่ท่านคาดหวัง จะไม่ท้อถอย เพราะคิดถึงคนอย่างคุณลุงยังได้รับผลร้ายในชีวิตทั้งๆ ที่ทำอะไรให้ประเทศชาติมากมาย เราต้องเดินตามสืบสานสร้างสิ่งที่ท่านพยายามสอนเราตลอดไป

อาจารย์ปรีดี (และท่านผู้หญิงพูนศุข) กับเค้กวันเกิดครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2525 ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)
อาจารย์ปรีดี (และท่านผู้หญิงพูนศุข) กับเค้กวันเกิดครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2525 ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)

กิจวัตรของอาจารย์ปรีดีที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนที่ผมไปหาท่าน ท่านมักจะตื่นแต่เช้า ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จากนั้นจึงรับประทานอาหารเช้า สักพักหนึ่ง ผมก็เข้าไปคุยด้วยเรื่องข่าว เพราะท่านจะฟังและอ่านของฝรั่งเศส ส่วนผมฟัง BBC และอ่านหนังสือพิมพ์อังกฤษ คล้ายๆ กับไปถกกัน แต่จริงๆ ท่านพยายามสอนผม

ท่านสอนในแง่ที่ให้วิธีคิด คือให้เห็นว่าฝรั่งเศสมองอย่างไร วิทยุว่าอย่างไร หนังสือพิมพ์ว่าอย่างไร ในเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับวันนั้นๆ และท่านก็ให้ผมเล่าว่าทางอังกฤษมองอย่างไร แล้วท่านจะถามผมว่า ถ้าเป็นผมจะทำอย่างไร พอตอบแล้วจึงบอกว่า ในเรื่องอย่างนี้ ท่านมีวิธีคิดอย่างไร ผมก็ได้มาบ้างว่า อะไรคือข่าว อะไรคือข้อเท็จจริง และความจริงนั้นก็มีวิธีมองที่แตกต่างกันไป จริงทั้งหมด จริงบางส่วน มีบริบทของมัน นี่คือวิธีสอนของท่าน แต่ตอนนั้นผมยังเป็นนักศึกษา ก็เสียดายค่าหนังสือพิมพ์อยู่มาก เพราะต้องซื้อทุกวัน ต้องเอามาอ่านเพื่อคุยกับท่าน ส่วนท่านบอกรับหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสหลายฉบับ มีทั้งหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา กลางๆ ท่านสอนผมให้อ่านอย่างวิเคราะห์ แม้แต่แนวทางของผู้เขียนก็ต้องจับทางให้ได้ว่าใครคิดอย่างไร

วิเคราะห์ข่าวเสร็จแล้ว ท่านก็จะเริ่มทำงานประจำวันของท่าน ที่เรียกว่างาน เพราะผมเห็นว่าเป็นงานจริงๆ คือเป็นงานเขียน งานค้นคว้า ร่างปาฐกถา คำขวัญ และคำฟ้องต่างๆ เพราะส่วนใหญ่จะมีใครต่อใครมาขอคำขวัญ ขอบทความจากท่าน ท่านก็จะเขียนให้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อย่างเช่นเรื่องความเป็นชาติ ชาตินิยมคืออะไร หรือว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์มีปัญหาอย่างไร ท่านมีความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศชาติ ไม่ว่าในด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ความคิดของท่านยังแจ่มชัดและมั่นคงในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร[3]

พอท่านเขียนต้นฉบับเสร็จ ก็จะให้น้อย (วิชินี) พิมพ์ดีดให้โดยใส่กระดาษก๊อปปี้ครั้งละ 4-5 ชุดด้วยกัน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ แล้วท่านจะเอาชุดหนึ่งเป็นตัวตั้ง เอาอีกชุดมาตัดต่อ เติมเข้าไปปรับปรุงข้อเขียนนั้น ๆ โดยเก็บต้นฉบับไว้ แล้วก็ให้พิมพ์ใหม่ เอามาตัดต่ออีก 3-4 รอบเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นคำขวัญหนึ่งชิ้นท่านใช้เวลาเป็นสัปดาห์ คือให้เลขาฯ พิมพ์แล้วเอากลับมาแก้ มาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม อ้างหลักฐานตามที่ท่านได้เคยเขียนเอาไว้ แล้วก็พิมพ์ใหม่  บางทีท่านก็จะให้ผมกับคุณป้า (ซึ่งมีความจำเรื่องบุคคลดีเลิศ) ช่วยอ่าน ช่วยเสนอความเห็น ท่านจะออกตัวว่า “บางทีลุงเผอเรอไป” เมื่อผมเสนออะไรหรือสอบถามเป็นเรื่องเป็นราว ท่านก็จะชมเชยว่าดี ทำให้ผมยิ่งตั้งใจอ่านและหาเรื่องมาถามมากขึ้นจนกระจ่าง

จนกระทั่งถึงช่วงอาหารกลางวัน บางทีท่านก็จะทำงานอีกนิดหนึ่งแล้วไปนอนพักจนประมาณ 3-4 โมง ท่านก็จะมาดื่มน้ำชา แล้วออกไปเดินเล่นบ้าง เดินไปตลาดบ้าง หรือนั่งรถไปไกลๆ บางครั้งเอาน้ำชาไปดื่มด้วย บางวันช่วงสายๆ หรือบ่ายต้นๆ ก็จะมีไปรษณีย์และหนังสือพิมพ์จากประเทศไทย มาเป็นกิจกรรมของท่านที่ต้องตอบจดหมาย หรือต้องทำต่อ

ผมโชคดีที่มีโอกาสพาท่านเดินไปสวนสาธารณะ ไปที่โน่นที่นี่หลายครั้งด้วยกัน และไปกันสองคนก็บ่อยๆ ผมได้ฟังท่านเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างเช่นถ้าเดินผ่านบ้านคนเวียดนามใกล้ๆ บ้าน ท่านจะเล่าประวัติคนนั้นคนนี้ เรื่องความสัมพันธ์ไทยกับเวียดนาม เรื่องประวัติของภูมิภาค อะไรต่ออะไร ซึ่งผมได้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะเรื่องช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบางส่วนผมได้นำมาใช้ในวิทยานิพนธ์ของผมด้วย

กลับมาเย็นๆ ประมาณ 6 โมง ท่านก็อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหารเย็น คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ฟังวิทยุบ้าง ดูโทรทัศน์บ้าง เช่น ดูโทรทัศน์ช่องที่ฉายหนังจักรๆ วงศ์ๆ ของฝรั่งยุโรป ซึ่งพวกเราล้อกันว่า ลิเกฝรั่ง ท่านดูแล้วก็มักจะอธิบายประวัติศาสตร์ประกอบด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ เป็นวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายจริงๆ น่าภูมิใจนะ คนที่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดนี้ แต่ใช้ชีวิตสมถะเหลือเกิน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือธรรมชาติเลย

อยากให้ยกตัวอย่างชีวิตที่เรียบง่ายเพิ่มเติมอีก

มีคราวหนึ่งท่านชวนผมไปร้านหนังสือ ตอนนั้นท่านกำลังสนใจเรื่องแรงทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสมัยนั้นเรื่องกำลังอาวุธทั้งหลายหาอ่านได้จาก Jane’s Defence ซึ่งมีทั้งแบบรายปี (Yearbook) และรายสัปดาห์ (Weekly) แต่แบบที่รวมเล่มเป็นรายปีจะแพงมาก ท่านใช้วิธีซื้อของปีเก่าๆ ที่เขาลดราคามาอ่าน ส่วนของใหม่ๆ ใช้วิธียืนเปิดอ่านที่ร้านเพิ่มเติมเอา เลือกซื้อเฉพาะที่ต้องใช้อ้างอิงตอนนั้น

ผมมานึกดู อดีตผู้นำประเทศที่ซื่อสัตย์อย่างท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ได้ร่ำรวย แม้เงินจะซื้อหนังสือก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ท่านก็มุ่งมั่นในการหาความรู้อยู่เสมอ ท่านสนใจเทคโนโลยี จนเอามาเขียนเป็นหนังสือเตือนรัฐบาลไทยเรื่อง ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) ซึ่งคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นผู้จัดพิมพ์ในปี 2517

หนังสือ ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์)
หนังสือ ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์)

ถ้าคุณอ่านดูหนังสือเล่มนี้ จะพบว่ามีการกล่าวถึงประสิทธิภาพของอาวุธสมัยใหม่ต่างๆ มีการยกตัวอย่างประเทศไทยด้วยว่าจำเป็นต้องหาทางป้องกันประเทศให้ดีเพราะ “จรวดพื้นดินสู่พื้นดินระยะกลางที่ตั้งฐานจากนอกเขตแดนไทยก็สามารถยิงมาสู่กรุงเทพฯได้ เราจึงต้องปรึกษาหารือพลเมืองเพื่อช่วยกันหาทางป้องกันมิให้ประเทศไทยพัวพันในการสงครามระหว่างชาติ”[4]  ท่านเป็นผู้รักสันติภาพและเสรีภาพยิ่งนัก และไม่อยากให้ไทยเข้าร่วมสงครามในทุกกรณี

คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร ‘มิตรผู้ซื่อสัตย์’ ของอาจารย์ปรีดี ถ่ายพร้อมกับภรรยาและบุตรสาวคนเล็ก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2520 โปรดสังเกตว่ามีรูป ‘ปรีดี-พูนศุข’ ตั้งอยู่ด้านหลัง ภาพจาก อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร: นักอภิวัฒน์ เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก (28 พฤศจิกายน 2525)
คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร ‘มิตรผู้ซื่อสัตย์’ ของอาจารย์ปรีดี ถ่ายพร้อมกับภรรยาและบุตรสาวคนเล็ก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2520 โปรดสังเกตว่ามีรูป ‘ปรีดี-พูนศุข’ ตั้งอยู่ด้านหลัง ภาพจาก อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร: นักอภิวัฒน์ เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก (28 พฤศจิกายน 2525)

คืออาจารย์ปรีดียังสนใจและห่วงใยความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่เสมอ

คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นผู้ส่งหนังสือพิมพ์รายวันจากเมืองไทยไปให้ท่านตลอด ครั้งหนึ่งผมอยู่กับท่านที่อองโตนี พนักงานไปรษณีย์นัดหยุดงานเป็นเดือนๆ ท่านเปรยกับผมว่า “ลุงเสียหายหลานแสน ข่าวสารไม่ต่อเนื่อง ทำอะไรไม่ได้ ถึงห่วงประเทศชาติก็ทำอะไรไม่ได้”

ท่านยกย่องคุณปราโมทย์มาก เรียกคุณปราโมทย์ว่า ‘มิตรผู้ซื่อสัตย์’[5]  คือกล้าคบท่าน แม้ในยามที่คนอื่นห่างเหิน และยังส่งหนังสือพิมพ์จากไทยให้ท่านอ่านตลอดจนสิ้นชีวิต

ด้วยความที่ท่านตามข่าวสารเรื่องเมืองไทยตลอด ทำให้รู้ข่าวต่างๆ อยู่เสมอ คราวหนึ่งคุณแม่ผม (คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร) ซึ่งเป็นประธานสภาสตรีแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญไปประเทศจีนในช่วงที่เขาเพิ่งเปิดประเทศ กลับมาคุณแม่เป็นคนแรกๆ ที่ชมจีนผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ว่าเขาก็มีส่วนดีอยู่มาก ไม่ได้แย่ไปเสียทุกอย่าง ท่านอ่านพบและยกขึ้นพูดกับผมว่า “บอกคุณแม่หนูด้วย ลุงชื่นชมที่เป็นผู้ใหญ่ที่กล้าพูดความจริง ไม่หลงตามกระแส”

อย่างเรื่องบุคคล ท่านพิจารณาการกระทำดีเลวของบุคคลมากกว่าว่าคนคนนั้นเป็นใคร มีครั้งหนึ่งท่านคุยกับผมเรื่องเอกราชและอธิปไตยของชาติ ท่านยกพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่าเขาเป็นเสนาธิการที่ช่างคิดและรักชาติจริงๆ โดยเล่าว่าฝ่ายจีนเคยมาบอกพลเอกเกรียงศักดิ์ว่าถ้าไทยรบกับเวียดนาม ไม่ต้องกลัว จีนจะช่วยไทย พลเอกเกรียงศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณฝ่ายจีน และว่าถ้าจีนมีอิทธิพลและความสามารถอย่างนี้ กรุณาช่วยไม่ให้ไทยต้องรบกับเวียดนามจะดีกว่า

และเมื่อมีประเทศยักษ์ใหญ่เสนอจะส่งหมอมาช่วย พลเอกเกรียงศักดิ์ปฏิเสธ บอกว่าถ้ามาได้ ประเทศอื่นก็จะเสนอมาช่วยบ้าง จะให้ดี ส่งแต่ยาและเวชภัณฑ์มาจะเหมาะกว่า ใครจะส่งเราก็รับได้ เพราะหมอจะมีอิทธิพลต่อคนรอบข้างได้มาก ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์เป็นสิ่งของเท่านั้น

ได้ทราบว่าเมื่อตอนคุณปาลจะตาย ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องบ้านเมือง อยากให้เล่าเรื่องนี้ด้วย

เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมาก แต่ค่อนข้างเศร้า คือประมาณกลางปี พ.ศ. 2524 พี่ปาล บุตรชายคนโตของท่านซึ่งอยู่เมืองไทย ไม่สบายมาก เป็นมะเร็งลำไส้ หมอบอกว่าอาจจะเสียชีวิตในไม่ช้า ท่านผู้หญิงพูนศุขก็บินกลับไปอยู่ที่เมืองไทย ลูกๆ ของท่านบางคนก็ไปด้วย เวลานั้นผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์ คุณป้าเล่าเรื่องให้ฟังเมื่อผมโทรศัพท์มาหา แล้วขอให้ไปอยู่เป็นเพื่อนคุณลุง ผมจึงรีบเดินทางไปที่บ้านอองโตนี อยู่เป็นเพื่อนท่านพักหนึ่งจนคุณสุภา ศิริมานนท์มาหาท่าน ผมจึงกลับอังกฤษ

ระหว่างนั้น เราแทบไม่อยากได้ยินเสียงกริ่งโทรศัพท์ เพราะเกรงข่าวร้าย แต่ถึงกระนั้น เวลาท่านผู้หญิงพูนศุขโทรศัพท์มาหา ท่านมักจะจบว่า “เธอต้องดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะ ถ้าเธอเป็นอะไรไปอีกคน ทุกคนก็แย่ ฉันก็แย่” ท่านคงอยากอยู่ใกล้ลูกเมียตอนนั้น ท่านคิดถึงครอบครัวท่านมาก แต่ก็ได้แต่ปลอบกันไป

บ่ายวันหนึ่งขณะเดินไปในสวนใกล้ๆ บ้าน ระหว่างท่านเดินอยู่กับผม มีเด็กเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่ แล้ววิ่งมาใกล้ๆ ท่าน ท่านก็ก้มลงไป ค่อยๆ เอามือลูบศีรษะเด็กคนนั้นอย่างเอ็นดู พอเด็กวิ่งออกไป ท่านแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า แล้วหันมาพูดกับผมว่า “ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมาเลย” ได้ฟังแล้วผมต้องกลืนน้ำลาย น้ำตาจะตก นึกถึงคนที่ต้องอยู่ห่างไกลลูก ในช่วงที่ลูกกำลังไม่สบายหนัก ไม่ทราบว่าจะรอดหรือไม่ สิ่งที่ท่านนึกถึงยังเป็นเรื่องที่ลูกไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่าจะได้ยินเรื่องแบบนี้จากคนอื่นในชีวิตอีก นี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศชาติของเรา แต่น่าเสียดายที่ประเทศนี้ไม่ได้อยากผูกพันกับท่านเหมือนที่ท่านผูกพันกับประเทศนี้ คิดเรื่องนี้ทีไรน้ำตาผมจะเอ่อออกมาทุกที เห็นใบหน้าที่นิ่งแบบเศร้าๆ ของท่านขึ้นมาเลย

ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี และปาล พนมยงค์ ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2514 ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)
ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี และปาล พนมยงค์ ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2514 ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)

ท่านเคยบ่นอะไรเรื่องความผิดหวังหรือโกรธแค้นอะไรที่เมืองไทยให้ฟังไหม

ท่านเป็นคนมองโลกในแง่ดี จะไม่พูดว่าร้ายใคร เวลาพูดถึงจอมพล ป. ท่านก็จะพูดแบบกันเองและเอ็นดูว่า “ไอ้จอมพลถูกลูกน้องตุ๋นจนเปื่อยเลย” ใครตุ๋นท่านจอมพลอย่างไรไปค้นคว้ากันเองต่อนะครับ  หรืออย่างคุณประยูร ภมรมนตรีที่เขียนหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าซึ่งมีข้อความที่คลาดเคลื่อนไป ท่านก็จะพูดด้วยความเห็นใจว่า “อย่าไปว่าเขาเลย เขาต้องหาเงิน” คือพูดถึงด้วยความเมตตาว่าอย่าไปโกรธเขา คิดว่าเขาต้องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวที่ใหญ่โต

ในบางกรณีที่มีความสำคัญ ท่านก็ต้องฟ้องเมื่อมีการบิดเบือน เพื่อให้ความจริงปรากฏว่าประวัติศาสตร์ที่จริงนั้นเป็นอย่างไร เช่นกรณีศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ท่านเห็นว่านักวิชาการต้องสืบเสาะหาความจริง ไม่ใช่เขียนประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน เพราะจะมีผู้อ้างอิงและหนังสือของศาสตราจารย์รองได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงจำเป็นต้องฟ้องร้องให้ยกเลิกรางวัลด้วย พวกนี้ผมมีส่วนได้ช่วยอยู่บ้างเวลาท่านใช้ให้ไปค้นเอกสารเก่าๆ มายืนยันข้อเท็จจริง เพราะผมไปค้นอยู่บ่อยๆ เพื่อทำวิทยานิพนธ์อยู่แล้ว แถมสนุกที่ได้อ่านวิธีที่ท่านอ้างอิงและเขียนคำฟ้อง

ผมรู้สึกว่า ท่านดีเกินไปสำหรับสังคมที่ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยสมบูรณ์ ขาดความกตัญญูรู้คุณความดีเช่นสยาม ท่านเชื่อในความดีของมนุษย์อื่นมากไป ผมก็พยายามเลียนตามท่าน คือมองส่วนดีของผู้อื่นมากกว่าส่วนเลว ซึ่งตอนนี้ผมรู้แล้วว่าคือธรรมะแท้ๆ ตอนเด็กผมไม่เข้าใจหรอกเวลาที่ท่านกล่าวถึงส่วนดีของคนที่มุ่งร้ายท่านทุกที ผมอึดอัดเวลาฟัง เดี๋ยวเข้าใจมากขึ้น และชื่นชมความเป็นคนพุทธที่มั่นคงของท่าน

ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องอะไร

ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่อังกฤษ เรื่อง ‘Thai Foreign Policy 1932-1946′ เป็นเรื่องศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของไทยในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2475-2489) ยุติตอนไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีหลายๆ เรื่องที่ผมได้รับความกรุณาจากท่าน อย่างในแง่เอกสารที่ท่านกรุณาแนะนำตอนเริ่มค้น  บางทีผมไปอ่านเอกสารแล้วเรื่องไม่สามารถปะติดปะต่อกันได้ หรือหาเอกสารไม่ได้ ก็ต้องไปกราบเรียนถามท่านที่ฝรั่งเศส จดเป็นข้อๆ ไปแล้วถามท่าน ท่านก็กรุณาเล่าให้ฟัง เสริมหรือขยายจากที่ผมค้นได้ ผมจึงเอามาปะติดปะต่อกันได้ จนสามารถเขียนวิทยานิพนธ์จบได้ เรียกว่าเป็นหนี้บุญคุณท่านมาก

หนังสือ Thai Foreign Policy 1932-1946 ของ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
หนังสือ Thai Foreign Policy 1932-1946 ของ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร

มีอีกเรื่องที่ผมประทับใจวิธีคิดของท่านมาก คือเมื่อตอนผมจะเริ่มลงมือเขียนวิทยานิพนธ์หลังจากค้นคว้ามาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ผมไปเรียนถามท่านว่า คนเราทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้ได้ปริญญาเอก เพียงเพื่อประกาศให้โลกรู้หรือว่าเรารู้ มันจะมีประโยชน์อะไร เป็นการทำเพื่อให้ได้ชื่อว่าจบปริญญาเอกเท่านั้น อ่านมาแล้วก็คือความรู้อยู่กับตัวแล้ว เลยถามท่านว่า ทำไมท่านถึงคิดว่าต้องเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อให้ได้ปริญญาเอก ท่านตอบช้าๆ ตามแบบของท่านว่า “หลานเป็นคนที่มีสัมมาทิฏฐิ มีสติปัญญา มีเวลา มีทุนเรียนแล้ว ต้องทำให้สำเร็จเพื่อนำไปรับใช้คนที่ไม่มีโอกาสอย่างหลาน และเป็นที่พึ่งทางปัญญาให้เขา” คือเมื่อมีโอกาสที่ได้เรียน ก็จำเป็นต้องทำให้ได้ เพื่อว่าจะได้ใช้สิ่งที่เราได้เรียนเป็นที่พึ่งทางปัญญาแก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้มาศึกษาอย่างเรา ฟังแล้วผมจึงรู้สึกว่า ผมต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเราเอง แต่ต้องทำเพื่อคนอื่นด้วย เมื่อช่วยใครได้แล้วก็ต้องช่วย ไม่ใช่ทำไปเพื่อนำไปข่มคนอื่นเขา แต่อาจต้องช่วยคนที่ถูกข่ม  นี่เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมาก รู้สึกว่ามันทำให้เกิดแสงสว่าง ทำให้ผมเกิดความมุ่งมั่นความเพียรพยายามจริงๆ

ตอนผมเขียนเสร็จแล้ว หนึ่งในคณะอาจารย์ที่ตรวจไม่ยอมให้ผ่านเพราะไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ให้กลับมาแก้ใหม่โดยให้เวลาอีก 6 เดือน ท่านซึ่งเป็นคนมองโลกในแง่ดี ให้ข้อคิดผมว่า “ดีนะ ครูเอาใจใส่ อ่านละเอียด ถ้าผ่านได้ ก็น่าภูมิใจ” ผมก็มีแรงทำต่อ ค้นข้อมูลเพิ่มเติมตอบโต้คำวิพากษ์ของอาจารย์จนได้ และได้อุทิศวิทยานิพนธ์ให้แก่เจ้าของทุน คือประชาชนคนไทยที่เสียภาษี รวมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะเสียภาษีด้วย

ได้คุยกันเรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก‘ บ้างไหม

ไม่ได้คุยโดยตรง แต่ก็มีบ้างเป็นครั้งคราว ถ้าจะให้ปะติดปะต่อเองก็สรุปได้ว่า อาจารย์ปรีดีเป็นคนสนใจเรื่องวิทยาการ เรื่องอะไรใหม่ๆ เป็นคนมีจินตนาการและเชิดชูสันติภาพ  ท่านเขียน พระเจ้าช้างเผือก เพื่อบอกว่า ผู้ชนะไม่จำเป็นต้องชนะศึก เพราะสงครามมีแต่ความเสียหาย ต้องใช้วิทยาการทำเป็นภาพยนตร์ให้คนเขารู้เพื่อบอกถึงความไม่จำเป็นของสงคราม ความสงบสันติยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะของสงคราม เพราะหนังเป็นเครื่องมือ (สื่อ) ที่ดีมาก และการทำเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ต่างชาติรับรู้วิธีคิดของไทย

อีกประเด็น ท่านคิดว่าสงครามจะมาถึงไทยแน่ จะหาทางหนีทีไล่อย่างไร ท่านเห็นว่าแพร่เป็นชัยภูมิที่เหมาะในการที่รัฐบาลพลัดถิ่นจะยกออกไปยังประเทศข้างเคียง อย่างลาว พม่า และจีน และมีคนที่ท่านไว้ใจคือ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็น ส.ส.แพร่ การสร้างหนังเป็นวิธีที่สามารถออกไปสำรวจต่างจังหวัดโดยไม่มีใครเขารู้ ในฐานะผู้กำกับที่ต้องออกไปที่จะถ่ายทำหนังด้วย ท่านได้เลือกคน ได้แนวร่วม ได้เห็นภูมิประเทศจริงของการหาทางหนีทีไล่ มีเวลาวางแผนคร่าวๆ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเสรีไทยที่จะส่งคนในรัฐบาลออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจีน มีการส่งคนของเจ้าวงศ์สำรวจเส้นทางเดินป่าไปจีนก่อน เมื่อล้มเหลวจึงหาเส้นทางอื่นให้คุณจำกัด พลางกูร เดินทาง[6]

มีแง่มุมที่คิดไม่ถึงของอาจารย์ปรีดีบ้างไหม

คุณลุงสนใจลอตเตอรี่ฝรั่งเศส (LOTTO) ตอนแรกผมนึกไม่ถึงว่าคนอย่างท่านจะสนใจ แต่พอได้เห็นท่านมีกระดาษจดสถิติที่ออกในแต่ละงวดไว้เยอะมาก เพื่อใช้ดูความน่าจะเป็นไปในการออกครั้งต่อๆ ไป จึงเข้าใจว่าท่านศึกษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ คือเล่นลับสมอง เหมือนอย่างเล่นโซโดกุในสมัยนี้อะไรแบบนั้น เพราะท่านชอบคิด ทดลอง ค้นคว้า ติดตาม ผมเห็นหลานๆ ท่านซื้อตามที่ท่านคิดเหมือนกัน  เห็นมีคนบอกว่าถูกย่อยๆ หลายครั้ง และถูกรางวัลใหญ่พอสมควรอยู่คราวหนึ่งด้วย

อาจารย์ปรีดีหน้าบ้านอองโตนี ภาพถ่ายโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
อาจารย์ปรีดีหน้าบ้านอองโตนี ภาพถ่ายโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร

ถ้าจะให้นิยามความเป็นปรีดี

เมื่อตอนท่านถึงแก่อสัญกรรม มีพวกนักเรียนไทยในฝรั่งเศสมาขอให้ผมเขียนคำสั้นๆ สำหรับเขียนลงในพวงหรีด ผมบอกว่าสำหรับท่านคือ ‘สัจจะ อมตะ’ เพราะท่านรักในสัจจะ ท่านจึงแสวงหาความรู้อยู่เสมอ พร้อมที่จะฟังข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก แม้ผู้ที่โต้แย้งจะเป็นเด็กกว่าก็ตาม ท่านจะโต้แย้งกลับด้วยเหตุผล ไม่ใช่ตามอำเภอใจ และท่านเป็นผู้รักสัจจะเยี่ยงชีวิต คงเหมาะกับคำว่าอมตะ

คราวหนึ่ง ผมแย้งท่านเรื่องการใช้คำภาษาอังกฤษว่าไม่ตรงความหมายนัก ท่านก็รับฟัง รุ่งขึ้นท่านบอกว่า “ลุงยังขอยืนยันตามเดิมนะ” ท่านหยิบพจนานุกรมเล่มโตที่ท่านมีอยู่หลายเล่มมาบอกว่า พจนานุกรมอังกฤษให้คำอธิบายสั้นๆ ส่วนพจนานุกรมอเมริกันจะอธิบายความมากกว่า ละเอียดกว่า เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ยังขอยืนยันตามเดิม ท่านศึกษาลึกซึ้ง ผมก็เพิ่งรู้ว่าพจนานุกรมอังกฤษกับอเมริกาต่างกันอย่างไรในตอนนั้น

ท่านเป็นผู้มีหลักการและวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ เมื่อมีผู้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นฉบับนี้ดีที่สุด หรือให้สิทธินั้นนี้มากที่สุด ทำให้เลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด ท่านบอกผมว่าน่าจะให้นักศึกษาค้นคว้าว่าแต่ละฉบับมีเนื้อหาในประเด็นนั้นๆ อย่างไร นำมาเปรียบเทียบกันจะเหมาะกว่าที่จะพูดกว้างๆ ไม่มี “จิตใจมาตรการ”[7] รัฐธรรมนูญบางฉบับเขาไม่กล่าวแต่ไม่ห้าม บางฉบับเขียนยาวก็ระบุมาก อาจมีช่องถูกโจมตีมากด้วย บางฉบับเขียนสั้นแต่กว้างขวาง เป็นต้น และท่านสรุปว่าก็ให้เลือกเอาที่ดีที่เหมาะสมมาร่างใช้ให้เหมาะกับประเทศในแต่ละช่วงเวลา ท่านไม่เคยบอกว่ารัฐธรรมนูญที่ท่านเกี่ยวข้องดีที่สุด

อนึ่ง ถ้าดูในบทความขนาดยาวเรื่อง จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ก็จะเห็นว่าท่านไม่ได้ต้องการแค่การเลือกตั้งหรือรูปแบบประชาธิปไตย แต่ต้องการเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย (democratic elements) ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากกว่า

นอกจากนี้ ตอนที่มีการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ปี 2526 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเอ่ยถึงท่านอีกครั้งในฐานะบุคคลสาธารณะ เหมือน The Return of Pridi ท่านซาบซึ้ง เพราะคนพวกนี้รักสัจจะ  และปีนั้นสหกรณ์นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำปฏิทินเป็นรูปท่าน ท่านก็ซาบซึ้งมาก ติดไว้ที่บ้านอองโตนีเลย เพราะคนเริ่มเห็นสัจจะและคุณค่าของท่านอีกครั้ง  หลังจากนั้นอีกไม่นานท่านก็ถึงแก่อสัญกรรม ยังดีที่ทันเวลา ดีกว่ามาระลึกหลังจากนั้น

ปฏิทินของสหกรณ์นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2526[8] ภาพที่ผู้เขียนถ่ายจาก หอเกียรติยศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปฏิทินของสหกรณ์นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2526[8] ภาพที่ผู้เขียนถ่ายจาก หอเกียรติยศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณี พ.ศ. 2526 ภาพจาก Facebook: Vanchai Tantivitayapitak
ภาพการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณี พ.ศ. 2526 ภาพจาก Facebook: Vanchai Tantivitayapitak

อยากทราบเบื้องหลังของเพลง ‘คนดีมีค่า ที่คุณจริย์วัฒน์แต่งขึ้นให้อาจารย์ปรีดี

ตอน 100 ปีชาตกาลของอาจารย์ปรีดี พี่ดุษ[9] มาขอให้เขียนกลอนเพื่อเอาไปแต่งเพลงเป็นอนุสรณ์ถึงคุณลุง ผมปลื้มใจมากที่ได้รับเกียรติให้ทำงานนี้ แต่ตอนเขียนนับว่ายากมาก คิดอยู่เป็นเดือนว่าจะเขียนอย่างไร ต้องมีเล่นคำ มีการสรุปแก่นชีวิตของท่าน ผมไม่อยากให้มีชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ในเพลง เพราะอยากให้เพลงนี้เป็นอนุสรณ์ที่อมตะถึงท่านในฐานที่เป็นคนดี แต่ดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีค่าด้วย มีค่าในที่นี้ มากกว่าแค่ตัวเอง มากกว่าแค่ครอบครัว แต่ต้องมีค่าต่อสังคม คิดถึงหน้าที่ต่อสังคมด้วย ถึงจะเป็นสิ่งที่รู้สึกว่ามีค่าคุ้มกับที่เกิดมา

แต่เพลงต้องยืนอยู่บนฐานของการถ่ายทอดความเป็นจริง คุณลุงเป็นคนดีในสิ่งที่ท่านเป็น สิ่งที่ท่านทำ ท่านคิดดี ก้าวหน้า ทำดีอยู่แล้ว ไม่ใช่มาดีเพราะมีคนอื่นมายกย่อง ด้วยหลักคิดนี้ ผมจึงไม่ชอบและออกจะไม่เข้าใจคนที่เขียนหนังสือเชียร์ท่านจนเกินเลยไป อย่างคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่ในช่วงทศวรรษ 1970 เขียนหนังสือต่างๆ ถึงท่านเยอะมาก แก้ต่างให้ท่านทุกประเด็น แต่ก็ยกยอท่านมากจนผมเห็นว่าเกินควรจนผมไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริง  คุณสุพจน์เพิ่งพบท่านครั้งแรกที่ฝรั่งเศส เมื่อท่านอายุครบ 80 ปี (พ.ศ. 2523) เอง ผมเคยใช้นามแฝงเขียนวิจารณ์คุณสุพจน์ลงใน สามัคคีสาร ในทำนองเตือนว่าในการแสวงหาความจริง ต้องระวังเพราะความจริงที่เกินเลยไป ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ศัตรูจะใช้ช่องนี้เล่นงาน ทำลายความน่าเชื่อถือในส่วนอื่นๆ ได้ พอคุณลุงได้อ่านบทความชิ้นนี้แล้วก็ไม่ค่อยพอใจ (ท่านไม่รู้ว่าผมเขียน) เพราะมองในแง่ดีว่า คุณสุพจน์เป็นคนรักสัจจะ จึงค้นคว้าเขียนเรื่องงานต่างๆ ของท่าน และในช่วงนั้นคนที่กล้าออกมาปกป้องท่านตรงๆ ไม่ค่อยมี แถมค้นคว้าจริงจัง ไม่ได้แต่งเรื่องแบบเล่าสู่กันฟังมาเขียน  ผมเห็นใจท่านมาก รู้สึกว่าเราไม่ได้เอาบริบทของผู้อื่นมามองและวิจารณ์เลย

คุณจริย์วัฒน์ถ่ายรูป คุณสุพจน์ ด่านตระกูล กับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในงานวันเกิดอายุครบ 80 ปีของท่านที่บ้านอองโตนี 11 พฤษภาคม 2523 ภาพจาก สุพจน์ ด่านตระกูล. รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543)
คุณจริย์วัฒน์ถ่ายรูป คุณสุพจน์ ด่านตระกูล กับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในงานวันเกิดอายุครบ 80 ปีของท่านที่บ้านอองโตนี 11 พฤษภาคม 2523 ภาพจาก สุพจน์ ด่านตระกูล. รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543)

ที่จริง ตอนอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อายุครบ 70 ปี (พ.ศ. 2529) พี่ดุษก็เคยมาให้ผมเขียนกลอนไปใช้แต่งเพลง คือ ‘ถามถึง…คนดีที่อยู่ไกล’ แต่คราวอาจารย์ปรีดี ผมไม่อยากออกชื่อ อยากสื่อความกล้าความเสียสละเพื่อชาติ ความเป็นหลักด้านประชาธิปไตย ความเป็นสามัญชนธรรมดาอย่างเราๆ ความสมถะ ซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความเก่ง ปราดเปรื่อง ฉลาดหลักแหลม รักสัจจะ สุภาพบุรุษ มีเมตตา เป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า รักชาติโดยไม่หลงชาติ มีหลักคิดที่ยุติธรรมและเป็นจริงได้ ฯลฯ คิดอยู่นานจนสรุปได้วรรคหลักที่สื่อความเป็นท่านมากหน่อยในทุกกาล คือ ‘รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น’ ผมเห็นว่านี่คือแก่นแท้ของ ‘คุณลุง’

ตลอดชีวิตของท่าน ท่านมองเห็นทุกข์ทั้งในระดับปัจเจก และในระดับสังคม ดังท่านมองเห็นความทุกข์ยากของชาวนา ของประชาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเชื่อและหวังว่าประเทศชาติจะดี เสมอภาคมากขึ้น พร้อมกับตั้งหลัก 6 ประการขึ้นมาเพื่อสู้กับปัญหาที่พบเห็นในสังคม

ในส่วนตัวของท่านเอง ความที่ท่านมีธรรมะ ทำให้ท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย เข้าใจเรื่องโลกธรรม 8 เมื่อประสบความผกผันในชีวิตทางการเมือง จึงสามารถรักษาจิตใจของตนเองมาได้ตลอด เรื่องนี้สอดคล้องกับชีวิตของคุณป้า คุณป้าสอนผมว่าคุณพ่อของท่าน[10] สอนเรื่องการวางตัวให้สมถะมาก สอนให้ขึ้นรถไฟชั้น 3 ชีวิตจะได้ไม่มีตกต่ำ ถ้าได้ดีกว่านี้ก็ถือเป็นกำไรชีวิต ถ้ากลับมาที่เก่าก็คือกลับมาที่เดิมซึ่งคุ้นเคย ไม่ได้ตกต่ำอะไร

ท่านภูมิใจและไม่เคยเสียใจเรื่องที่ท่านร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะท่านรู้ทุกข์ ท่านรู้ธรรม แน่นอนว่าคณะราษฎรไม่ได้ประสบความสำเร็จมากพอสำหรับการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ให้เข้มแข็ง แต่ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดขึ้นก็ยั่งยืน ถึงจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังความรู้สึกว่าเป็นของสำคัญ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้  เรื่องธรรมะแท้ๆ นั้น ท่านเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ท่านศึกษาแต่เด็ก และเคยปรึกษาท่านพุทธทาสหาทางตั้งสวนโมกข์ที่อยุธยา แต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ทำให้ท่านออกนอกประเทศ เรื่องเลยจบไป เดี๋ยวนี้พอผมเห็น “สวนโมกข์ 2” ที่อยู่ติดกับสวนจตุจักร ผมยังนึกถึงท่านทุกที

เรื่องรักถิ่น ก็เห็นชัดว่าถ้าท่านไม่รักบ้านเมือง ท่านคงไม่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะสามารถเป็นขุนนางที่รุ่งเรืองในระบอบเก่าได้สบาย ๆ รวมถึงไม่ต้องเสี่ยงชีวิตทำงานเสรีไทย แต่ท่านก็ทำ และท่านก็ได้ศึกษาเรื่องราวของประเทศมาตลอดจนสิ้นอายุขัย แม้ถูกขับออก ต้องระเหเร่ร่อนอยู่นอกประเทศ ถูกว่าร้ายป้ายสี ท่านก็ยังรักถิ่นเสมอ ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ท่านยังคอยเตือนรัฐบาลถึงภัยต่างๆ (เช่น นิวเคลียร์ การไม่วางตัวเป็นกลาง ฯลฯ) นอกจากนี้ ท่านได้พยายามให้ความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ตลอดมา ซึ่งมีอานิสงส์ถึงผมด้วยมากมาย

 

อาจารย์ป๋วยกับคุณดุษฎี พนมยงค์ ที่บ้านพักของอาจารย์ป๋วยชานกรุงลอนดอน ภาพจาก คุณดุษฎี พนมยงค์
อาจารย์ป๋วยกับคุณดุษฎี พนมยงค์ ที่บ้านพักของอาจารย์ป๋วยชานกรุงลอนดอน ภาพจาก คุณดุษฎี พนมยงค์

แล้วเพลง ‘แม่จ๋า ที่แต่งให้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีที่มาอย่างไร

พี่ดุษกรุณาให้เกียรติและโอกาสอีกครั้งตอนคุณป้าอายุครบ 90 (พ.ศ. 2545) ซึ่งผมดีใจมาก เพราะท่านเหมือนแม่คนที่ 2 ของผม ผมก็คิดเหมือนเดิมว่าไม่อยากแต่งให้มีชื่อคุณป้า แต่อยากเขียนให้เป็นสากล เขียนเป็นตัวอย่างของแม่ที่สามารถ กล้าหาญ และเป็นที่พึ่งของครอบครัวไม่ว่ายามใด จึงมาคิดดูว่าท่านมีอิทธิพลอะไรต่อชีวิตคนอื่น มีคุณธรรมอะไร

ก็ขึ้นว่า “มีสมองและสองแขนเป็นแกนหลัก” คือท่านเป็นคนธรรมดา มีสมองและสองแขน มีความกล้า ความดี และความเมตตาเท่านั้นเอง  ท่านให้ความรักความเมตตาต่อใครๆ เสมอมา ซึ่งผมเห็นเป็นคุณสมบัติหลักของท่านและของแม่ส่วนใหญ่ด้วย  แต่จุดสำคัญของท่านอยู่ที่เป็น “สตรีที่ไม่ท้อต่อผองภัย” เพราะท่านเป็นอย่างนี้จริงๆ ตอนรัฐประหาร 2490 ท่านก็เผชิญหน้ากับทหาร กับรถถังที่มายิงที่ทำเนียบท่าช้าง ตอนเขาหาว่าท่านเป็นกบฏ ท่านก็เดินขึ้นศาลอย่างองอาจ ถูกขังก็เอาลูกไปเลี้ยงในคุกด้วย ท่านเข้มแข็งมาก  อันนี้น้อยคนที่จะสามารถดำรงตนอยู่ในภาวะวิกฤติได้ดีอย่างท่าน แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ท่านเป็นตัวอย่างที่เราควรกตัญญูและเดินตาม

คุณจริย์วัฒน์ถ่ายภาพคลาสสิกของอาจารย์ป๋วยและอาจารย์ปรีดีที่อังกฤษในปี 2520 ภาพถ่ายโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
คุณจริย์วัฒน์ถ่ายภาพคลาสสิกของอาจารย์ป๋วยและอาจารย์ปรีดีที่อังกฤษในปี 2520 ภาพถ่ายโดย จริย์วัฒน์ สันตะบุตร

ภาพอมตะที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรียกว่า ‘ภาพม้านั่งสองมหาบุรุษ’ ได้ทราบมาว่า คุณจริย์วัฒน์เป็นผู้ถ่ายภาพนี้

คิดว่าภาพนี้ผมเป็นผู้ถ่ายที่ Beit Hall ที่ Imperial College ในกรุงลอนดอน ปี 2520 ตอนนั้นสามัคคีสมาคมเชิญทั้งสองท่านมาปาฐกถาที่อังกฤษ รายละเอียดผมจำไม่ได้มาก แต่มีบทความของพี่ดุษเขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว หาอ่านจากที่นั่นได้[11]        

สำหรับผม ทั้งสองท่านเป็น ‘คนดีมีค่า’ เป็นมนุษย์ เป็นสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ  คนหนึ่งคืออาจารย์ปรีดีเป็นคนเปลี่ยนแปลง เป็นคนวางรากฐานไว้  อีกคนหนึ่งคืออาจารย์ป๋วยมาก่อสร้างสานต่อให้ดีขึ้น  อย่างงานที่อาจารย์ปรีดีทำครอบคลุมทุกมิติในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การต่างประเทศ การคลัง ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คิดเรื่องการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร  อาจารย์ป๋วยก็มาสานต่อ เสียสละมาร่วมงานเสรีไทย เรียกร้องขื่อแปของบ้านเมือง ทำงานวางรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างสามารถ เริ่มนำนักศึกษาทำงานพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง แก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม อุทิศตัวเพื่อการศึกษา ผมเชื่อว่าถ้ามีโอกาส (ไม่ถูกกลั่นแกล้ง) ท่านคงทำอะไรรับใช้ประเทศชาติได้มากกว่านี้อีกเยอะ สมกับการเป็น ‘คนดีมีค่า’ ทั้งสองท่าน

มีข้อคิดอะไรที่ได้จากอาจารย์ปรีดีที่อยากฝากท่านคนอื่นๆ ไหม

ผมได้เห็นตัวอย่างการดำรงชีวิตเป็นคนพุทธที่เรียบง่าย สมถะ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่อาฆาตมาดร้าย ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ คิดแต่จะทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อสนองคุณประเทศชาติและราษฎรไทย และทำเพื่อมวลชนส่วนใหญ่เป็นหลัก สิ่งเหล่านี้ท่านดำรงตนเป็นตัวอย่างตลอดชีวิต

และเมื่อศึกษาประวัติของท่าน จะพบว่าท่านทำบุญคุณให้กับประเทศชาติของเรามากมายมหาศาล แต่สิ่งที่ท่านได้รับ กลับไม่สมควรกันเลย คิดๆ แล้วก็น่าสงสารท่าน แต่ท่านกลับไม่สงสารตัวเองเลย ผมเชื่อว่าท่านสงสารประเทศไทย เพราะท่านสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย แต่ท่านไม่มีโอกาสจะทำ ตอนที่กล่าวถึงพี่ปาล ท่านก็คงสะท้อนใจว่าท่านก็มีโอกาสน้อย ยังรับใช้ชาติไม่เพียงพอกับที่เกิดมา คนดีๆ อย่างท่าน พอมาเจอการเมืองแย่ๆ ท่านก็คงเอาชนะไม่ได้ ถึงกระนั้นท่านก็ไม่ได้ท้อถอย และยังห่วงใยประเทศชาติตลอดเวลา แม้เมื่อลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศแล้วก็ตาม  สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่พวกเราทุกคนควรจะสังวรเอาไว้ ควรจะเอาเป็นตัวอย่าง

ถ้าเราศึกษาข้อคิดจากชีวิตของท่านแล้ว อุปสรรคใดๆ ที่เกิดกับเราในระหว่างการทำงานก็ดี การมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นคนไทยก็ดี มันเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เกิดกับท่าน สิ่งที่เราได้ทำให้กับประเทศชาติ มันก็คงน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่ท่านได้ทำไปแล้ว ท่านยังยืนหยัดอยู่กับหลักการ และรักชาติ ถ้าเราได้ศึกษากันจริงๆ จะเห็นว่าคนดีและเก่งขนาดท่าน ยังเจออย่างนี้ได้ นับประสาอะไรกับเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเจอมันเล็กนิดเดียว มีอุปสรรค เราต้องสู้ได้แน่ๆ จะได้เกิดกำลังใจ

มีอีกเรื่องหนึ่ง ผมเห็นว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ และท่านปรีดีเองก็คงภูมิใจ แต่ท่านไม่ได้พูดออกมานัก คือความภูมิใจของท่านที่มีภรรยาที่ดี มีครอบครัวที่ดี  ท่านผู้หญิงพูนศุขอยู่เคียงข้างท่านอาจารย์ปรีดีเสมอ ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ จะรุ่งเรือง หรือจะถูกรังแกอย่างไร ต้องหลบลี้หนีภัย ติดคุก ท่านผู้หญิงเจอมาแล้วทั้งนั้น และท่านยังคงแข็งแกร่งและยืนหยัดเคียงข้างเป็นกำลังใจให้ท่านปรีดีอยู่ตลอด  แม้ท่านปรีดีจะจากไปแล้ว ท่านผู้หญิงก็ยังพยายามสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านปรีดีเรื่อยมา เช่นการเป็นประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ การจัดงานรำลึกวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม ฯลฯ  ผมเห็นว่าท่านผู้หญิงพูนศุขและครอบครัวยิ่งใหญ่ในแง่ที่นอกจากไม่ทำตัวเป็นภาระฉุดท่านแล้ว ยังสามารถสานต่องานและทำให้ท่านปรีดีดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์และสมถะ พร้อมทั้งมีความสุขได้

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่เราจะเรียนรู้จากท่านอาจารย์ปรีดีคือ เราต้องรู้จักพอ และพยายามมุ่งไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่าเราอยู่เรื่อยๆ คือเราต้องทำเพื่อเป็นที่พึ่งของคนอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาส เพื่อให้โอกาสเขา ให้เขาได้รับสิทธิบ้าง  เราควรจะพัฒนาตัวเรามาสืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของท่านด้วยการ “รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น” โดยใช้ “สมองและสองแขนเป็นแกนหลัก”

(แถวหลัง) ศุขปรีดา ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี ปาล  (แถวหน้า) ดุษฎี สุดา วาณี ภาพนี้คุณจริย์วัฒน์กำกับและถ่ายภาพในงานวันเกิดอายุครบ 80 ปีของอาจารย์ปรีดีที่บ้านอองโตนี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2523 | ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)(แถวหลัง) ศุขปรีดา ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี ปาล  (แถวหน้า) ดุษฎี สุดา วาณี ภาพนี้คุณจริย์วัฒน์กำกับและถ่ายภาพในงานวันเกิดอายุครบ 80 ปีของอาจารย์ปรีดีที่บ้านอองโตนี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2523 | ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)
(แถวหลัง) ศุขปรีดา ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี ปาล  (แถวหน้า) ดุษฎี สุดา วาณี ภาพนี้คุณจริย์วัฒน์กำกับและถ่ายภาพในงานวันเกิดอายุครบ 80 ปีของอาจารย์ปรีดีที่บ้านอองโตนี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2523 | ภาพจาก 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ 2 มกราคม 2539 (ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี จัดพิมพ์ 2539)

เชิงอรรถ

[1]  ดู จริย์วัฒน์ สันตะบุตร, “คุยกันเรื่องท่านปรีดีฯ,” ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2541 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541) หน้า 45-53. แต่น่าเสียดายที่คณะผู้จัดทำหนังสือดังกล่าว ไม่ได้ให้แหล่งที่มาในการตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ จึงไม่อาจทราบได้. (เชิงอรรถในบทความนี้เป็นของผู้เขียน)

[2] คุณยงจิตต์ เป็นลูกชายของศาสตราจารย์เย็น สุนทร-วิจารณ์ กับคุณเพียงแข ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของท่านผู้หญิงพูนศุข นอกจากนี้ยังเป็นสามีของคุณวิชินีที่จะกล่าวถึงต่อไปด้วย คุณยงจิตต์ทำสารพัดอย่างให้ท่าน ตั้งแต่ขับรถ ดูแลบ้าน ทำสวน ซ่อมแซมทั้งรถและบ้าน ฯลฯ ส่วนด้านการทำงาน เขาเป็นผู้จัดการคนหนึ่งของร้าน Benlux ซึ่งจำหน่ายเครื่องสำอางนานาชนิดของนานาประเทศ อันมีชื่อเสียงอย่างยิ่งแห่งกรุงปารีส

[3] คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

[4] ปรีดี พนมยงค์, ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) (กรุงเทพฯ: ปราโมทย์ พึ่งสุนทร, 2517), น. 23.

[5] ในหนังสืองานศพคุณปราโมทย์ อาจารย์ปรีดีก็ใช้คำว่า “เพื่อนรักที่ซื่อสัตย์” ดู ปรีดี พนมยงค์, อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร: นักอภิวัฒน์ เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก (28 พฤศจิกายน 2525), ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[6] ดู นายฉันทนา [มาลัย ชูพินิจ], X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: กระท่อม ป.ล., 2544) ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2549), น. 26.

[7] จิตใจวิทยาศาสตร์ คือคุณลักษณะของบุคคลที่จะเข้าใจปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้ มี 6 ประการ ได้แก่ (1) จิตใจสังเกต (2) จิตใจมาตรการ (3) จิตใจค้นคว้าหาหลักฐาน และใช้ความคิดทางตรรกวิทยา (4) จิตใจพิเคราะห์หรือวิจารณ์ (5) จิตใจปราศจากอคติ และ (6) จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ

อ่านเพิ่มเติมที่ ปรีดี พนมยงค์, ปรัชญาคืออะไร?, พิมพ์ครั้งที่ 2 (24 มิถุนายน 2513), น. 39-41.

[8] คุณจินดา ศิริมานนท์ เล่าว่า “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้จัดส่ง (ปฏิทินนี้) ไปให้ท่านอาจารย์เป็นแผ่นแรกที่สุด ณ กรุงปารีส คือพอมีการแจกจ่ายเผยแพร่ ดร.ชาญวิทย์ ก็จัดส่งไปให้ท่านทางเมล์อากาศทันที” [ดู จินดา ศิริมานนท์, ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส 10 ปีแห่งการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ , 2536), น. 65.]

[9] คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล บุตรีคนที่ 5 ของอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข ฯลฯ

[10] พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก.

[11] ดู ดุษฎี พนมยงค์, “ท่านมองเห็นอะไร? ข้างหลังภาพปรีดี-ป๋วย,” ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 1-23.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save