fbpx

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (2): การผูกขาด การแข่งขัน และโจทย์ใหญ่ของการกำกับดูแล

อ่านตอนที่ 1: เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (1): สู่โลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

หากจะเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นกลไกยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยได้นั้น จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่สามารถเกิดขึ้นและพัฒนาได้ และการจะทำเช่นนี้ได้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันทางการค้ามีความเสรีและเป็นธรรม แต่ด้วยคุณลักษณะหลายประการของธุรกิจในโลกแพลตฟอร์มที่แตกต่างออกไป จึงเกิดความท้าทายที่สำคัญในการออกแบบกลไกการกำกับดูการแข่งขันทางการค้าในโลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้สำรวจความท้าทายเหล่านี้ผ่านการพูดคุยในประเด็นคำถามเช่น รัฐบาลจะรักษาสมดุลระหว่างการเปิดโอกาสให้ธุรกิจแพลตฟอร์มได้เติบโตในประเทศไทย กับการรักษาการแข่งขันให้เป็นธรรมได้อย่างไร? รัฐควรเข้ามามีบทบาทกำกับพฤติกรรมการแข่งขันของแพลตฟอร์มมากน้อยเพียงใด และควรมีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนอย่างไร? พฤติกรรมใดของธุรกิจแพลตฟอร์มควรถือว่ามาจากลักษณะพื้นฐานที่แตกต่าง และพฤติกรรมใดควรถือเป็นการผูกขาด?

ความแตกต่างของอำนาจผูกขาดในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ก่อนจะอภิปรายถึงแนวทางในการสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนั้น ต้องมาอธิบายเสียก่อนว่าธุรกิจแพลตฟอร์มต่างจากธุรกิจดั้งเดิมอย่างไร

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างธุรกิจสองประเภทนี้คือ ธุรกิจดั้งเดิมมุ่งสะสมอำนาจเหนือตลาดจากการสร้างเครือข่าย (network effect) ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มมักมุ่งเป้าหมายไปที่การสะสมเครือข่ายผู้ใช้งานและการสะสมข้อมูล มากกว่าการสร้างกำไร ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันของธุรกิจแพลตฟอร์มจึงมักจะมีความแตกต่างไปจากธุรกิจดั้งเดิม

ตัวอย่างความแตกต่างทางพฤติกรรมที่ชัดเจนประการแรกคือ ‘พฤติกรรมด้านราคา’ โดยทางฝั่งธุรกิจแพลตฟอร์ม การขยายเครือข่ายของธุรกิจประเภทนี้มักนำมาซึ่งกลยุทธ์ทางราคาอย่างหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงเริ่มแรกของธุรกิจ นั่นคือการยอมใช้ราคาต่ำหรือราคาเป็นศูนย์ และยอมลงทุนปล่อยให้ราคาติดลบเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อพยายามจะสร้างเครือข่ายให้ได้ก่อน แต่หากเป็นธุรกิจดั้งเดิมนั้น การตั้งราคาไว้ต่ำกว่าต้นทุนอาจถูกมองได้ว่าเป็นการใช้กลยุทธตัดราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งในตลาด (predatory pricing)

ในแง่นี้ การวิเคราะห์พฤติกรรมด้านราคาเพียงด้านจึงเดียวไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าธุรกิจแพลตฟอร์มนั้นพยายามสร้างอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

กรณีศึกษาการแข่งขันในตลาดขนส่งอาหารออนไลน์ในจีน

การเติบโตอย่างรวดเร็วของความเป็นเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลในจีน ส่งผลให้คนจีนมีการใช้บริการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์มากขึ้น โดยสถิติจาก (Daxue Consulting, 2020) พบว่ามีผู้ใช้บริการสั่งอาหารทางออนไลน์ในจีนมากถึง 650 ล้านคน ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และเมื่อดูระหว่างปี 2017-2020 ก็พบว่าผู้ใช้บริการโตเฉลี่ยถึงปีละ 37.5% ขณะเดียวกันก็พบว่าตลาดบริการส่งอาหารในจีนมีมูลค่ากว่า 51.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 เท่าของมูลค่าในประเทศสหรัฐอเมริกา) และมีการเจริญเติบโตในช่วงปี 2017-2020 เฉลี่ยปีละ 41.97%  

ถึงแม้ว่าตลาดธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ในจีนจะมีธุรกิจที่ให้บริการถึง 4 ราย แต่มีเพียงแบรนด์ ele.me และ Meituan สองแบรนด์นี้เท่านั้นที่มีบทบาทในการแข่งขัน โดยครอบครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 90%

บริษัท Meituan ก่อตั้งในปี 2010 และขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทมากในตลาดธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ในช่วงปี 2013 และ 2015 โดยมีความพยายามที่จะควบรวมธุรกิจกับบริษัทแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba แต่การเจรจาไม่ลงรอย ส่งผลให้บริษัท Alibaba หันมาเข้าซื้อบริหารแบรนด์ที่เป็นคู่แข่งอย่าง Ele.me แทน ในขณะที่ Meituan เองก็ได้ร่วมพันธมิตรกับบริษัท Tencent บริษัทแพลตฟอร์มใหญ่อีกบริษัทหนึ่งผ่านการประกาศระดมทุนในภายหลัง (CdExpat_Team, 2019) กล่าวได้ว่าทั้ง Meituan และ Ele.me ดำเนินธุรกิจให้บริการส่งอาหารออนไลน์ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Alibaba คอยสนับสนุนทางการเงิน โดยปี 2020 Meituan ครอบครองส่วนแบ่งตลาดถึง 67.3% ขณะที่ Ele.me ครอบครองส่วนแบ่งตลาดที่ 26.9% (Statista, 2020)  

การเติบโตที่รวดเร็วของตลาดการขนส่งอาหารออนไลน์เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของทั้งสองธุรกิจในตลาดที่ต่างอุดหนุนต้นทุนและดำเนินนโยบายลดราคาผ่านการให้คูปอง จนกระทั่งราคาอาหารดิลิเวอรีมีราคาถูกกว่าการไปทานที่ร้านอาหาร โดยในรายงานทางการเงินของ Meituan ปี 2018 พบว่ามีการขาดทุนในการดำเนินการจากธุรกิจขนส่งอาหารออนไลน์ถึง 510 ล้านดอลลาร์ (Liao, 2019)

ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจขนส่งอาหารออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการทางออนไลน์ระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent กล่าวคือการแข่งขันด้วยการอุดหนุนราคาของแพลตฟอร์ม Ele.me และ Meituan มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการขนส่งอาหาร อันจะนำมาซึ่งการขยายฐานลูกค้าในบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันของ Alibaba และ Tencent ตัวอย่างเช่น บริการทางการโอนเงิน (Alipay) และบริการค้าปลีกออนไลน์ อีกทั้งยังนำมาซึ่งการเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค การใช้จ่าย พฤติกรรมการกิน และพฤติกรรมการจ่ายเงิน ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ในการนำมาพัฒนาธุรกิจบริการทางออนไลน์ด้านอื่นๆ ของ Alibaba และ Tencent (CdExpat_Team, 2019)  

อย่างไรก็ดี การขาดทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจการขนส่งอาหารนำมาสู่แรงกดดันทางการเงินต่อบริษัท โดยเฉพาะ Ele.me ที่บริษัทแม่อย่าง Alibaba มีรายได้โตช้าลง (Liao, 2019) ส่งผลให้ต้องมีการลดขนาดการขาดทุน โดยทั้งสองแพลตฟอร์มต่างสรรหามาตรการเพื่อลดต้นทุนการดำเนินการ เช่น ลดจำนวนคูปอง เก็บค่าคอมมิชชันจากร้านค้าในแพลตฟอร์มมากขึ้นโดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งให้ผู้ขับหนึ่งคนสามารถส่งออเดอร์ได้มากกว่าหนึ่งรายในเส้นทางเดียวกัน หรือกระทั่งการแสวงหาตลาดอื่นๆ เช่น ขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายในธุรกิจจัดเลี้ยง (แทนรัฐ, 2563)  

นอกจากนี้ Ele.me และ Meituan ยังต้องปรับโมเดลธุรกิจลดการขาดทุนลงหรือกระทั่งเริ่มมีกำไร นำมาสู่แรงบีบคั้นต่อตัวละครอื่นๆในเครือข่ายการผลิตอย่างร้านอาหารที่ได้รับรายได้ต่อหน่วยลดลง หรือกระทั่งคนขับที่มีแรงกดดันในการทำงานมากขึ้น อนาคตของการเติบโตในธุรกิจขนส่งอาหารออนไลน์ในจีนจึงเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นในสภาวะปัจจุบัน (Daxue Consulting, 2020)  

นอกจากนี้ พฤติกรรมอีกประการของแพลตฟอร์มคือการพยายามได้มาซึ่งฐานข้อมูล ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ โดยการได้มาซึ่งฐานข้อมูลสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอื่นๆ ได้สองประการ

  • ประการแรก ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลผู้ใช้บริการ จะทำให้แพลตฟอร์มสามารถเข้าใจผู้ใช้บริการ และสามารถนำเสนอกลยุทธ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้ นำไปสู่การให้บริการที่เป็นที่ต้องการมากกว่า โดยหากมีความได้เปรียบในการขยายฐานผู้ใช้ต่อเนื่อง ก็จะสามารถนำไปสู่การเพิ่มค่าบริการได้ในภายหลัง
  • ประการที่สอง การมีฐานข้อมูลผู้ใช้งานขนาดใหญ่ของแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มใหม่เข้ามาแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์มใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่ามีเครือข่ายของบริการที่ไม่ครอบคลุมเท่ากับแพลตฟอร์มที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เทียบเท่า

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลจะมีบทบาทสร้างอำนาจอันยิ่งใหญ่ให้กับแพลตฟอร์มได้ แต่การได้มาซึ่งข้อมูลนั้นก็อาจยังไม่เพียงพอที่สร้างความได้เปรียบจนกลายเป็นอำนาจเหนือตลาดได้ โดยในหลายกรณี ธุรกิจแพลตฟอร์มเองด็อาจมีการให้มูลค่ากับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

และด้วยพฤติกรรมหลักที่ธุรกิจแพลตฟอร์มจะใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนนั้นมีความแตกต่างไปจากธุรกิจดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาสินค้าในช่วงแรกเพื่อขยายเครือข่ายผู้ใช้ หรือการควบรวมกับบริษัทอื่นเพื่อให้ได้ครอบครองฐานข้อมูลบางประการไว้เพียงผู้เดียว การวิเคราะห์พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอำนาจเหนือตลาดในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเอาพฤติกรรมเหล่านี้มาพิจารณาด้วย 

อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังว่า การพิจารณาพฤติกรรมเหล่านี้ยังไม่ได้มีเกณฑ์ที่ชัดเจน และยังมีความซับซ้อนมากในทางที่ว่า เส้นแบ่งระหว่างพฤติกรรมที่เป็นธรรมดากับการสร้างอำนาจผูกขาดของแพลตฟอร์มอยู่ที่ตรงไหน และที่สำคัญ เนื่องจากตลาดของแพลตฟอร์มแต่ละแบบอาจมีลักษณะต่างกันไปมาก การพิจารณาพฤติกรรมของผู้เล่นในธุรกิจแพลตฟอร์มควรจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป มากกว่าจะสไปร้างมาตรฐานแบบเดียวเพื่อใช้กับทุกกรณี 

ทั้งนี้ การพิจารณาพฤติกรรมที่โยงกับอำนาจการผูกขาดในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ยังต้องเพิ่มแง่มุมสำคัญมาประกอบการวิเคราะห์ โดยเฉพาะแง่มุมของพฤติกรรมที่เป็นความพยายามการกีดกันคู่แข่ง ตัวอย่างเช่นการบังคับให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มไม่สามารถย้ายบริการที่ตนเองใช้ได้ เนื่องจากพฤติกรรมเช่นนี้มีนัยสำคัญมากต่อความได้เปรียบและเสียเปรียบในการแข่งขันในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม

ความท้าทายในการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในโลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ในการพิจารณาหาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม นอกจากเราจะต้องเข้าใจความแตกต่างพื้นฐานในลักษณะของธุรกิจแพลตฟอร์มดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เรายังต้องมุ่งพิจารณาอีกสามประเด็นที่เป็นความท้าทายสำคัญ

  • ประเด็นแรก การกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเป็นพิเศษต่อบทบาทของข้อมูล เพราะนอกจากข้อมูลจะมีมูลค่าสูงสำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มแล้ว ยังมีนัยสำคัญต่อสภาพการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มด้วยกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนากรอบการวิเคราะห์บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของข้อมูล เช่นตัวอย่างหนึ่งที่จัดว่าสำคัญมากที่จะต้องมีกลไกการวิเคราะห์ ก็คือการควบรวมกิจการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล โดยการกำกับดูแลการแข่งขันจะต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่า พฤติกรรมลักษณะนี้จะนำมาซึ่งอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นควรจะต้องมีการจัดการอย่างไร
  • ประเด็นที่สอง การมีกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายการป้องกันการผูกขาด กับเป้าหมายอื่นๆ ที่สำคัญกับเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะเป้าหมายการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ และการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การพัฒนากฎเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มจะต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้กลายไปเป็นการกำกับดูแลที่มากเกินไป (overregulate) จนกลายเป็นอุปสรรคลดทอนแรงจูงใจในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในภาพรวม
  • ประเด็นที่สาม การกำกับดูแลการแข่งขันยังต้องคำนึงถึงแง่มุมการสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มกับธุรกิจแบบดั้งเดิม เนื่องจากธุรกิจทั้งสองประเภทมีลักษณะพื้นฐานแตกต่างกัน กฎเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจแต่ละประเภทจึงต้องได้รับการพัฒนาในรูปแบบแตกต่างกันไป

การจะออกแบบแนวทางการกำกับดูแลให้มีความเป็นธรรมได้ ต้องไม่กำกับโดยมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากรูปแบบของธุรกิจแพลตฟอร์มและธุรกิจดั้งเดิมย่อมแตกต่างกัน แต่ต้องไปสู่การกำกับในแนวทางอื่น อย่างเช่นการวิเคราะห์ที่ผลจากการกระทำ (performance) มากกว่า นอกจากนี้ การกำกับดูแลการแข่งขันระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มและธุรกิจแบบดั้งเดิม ยังอาจมีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจแบบดั้งเดิม

กรณีศึกษาการควบรวมเพื่อการเข้าถึงข้อมูล Microsoft/LinkedIn

ในช่วงปี 2016 บริษัท Microsoft ลงทุนเงินจำนวน 26.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้าซื้อกิจการบริษัท LinkedIn (Tweedie, 2016) ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) โดยเน้นในมิติการสร้างเครือข่ายสมาคมมืออาชีพ ซึ่งมีรายได้มาจากการขายโฆษณาคอร์สออนไลน์ สมาชิกพรีเมียม และบริการจับคู่พนักงานให้กับบริษัท  

คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป (EU) ได้เข้ามาพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง Microsoft กับ LinkedIn เนื่องจากเกิดความกังวลว่าการควบรวมนี้จะสร้างผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจที่บริษัททั้งสองเกี่ยวข้องในสองประเด็นสำคัญ (Torngren, 2017, หน้า 43-44)  

ประการแรก มีการตั้งข้อสงสัยว่า การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จะทำให้บริษัท Microsoft สามารถเข้าถึงข้อมูลความสัมพันธ์ในรูปแบบทางการ (professional) ของผู้ใช้แพลตฟอร์มทางสังคมของ LinkedIn จำนวนกว่า 450 ล้านคน จากนั้นบริษัท Microsoft จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft ให้บริการ เช่น ผลิตภัณฑ์บริการออนไลน์ด้านการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relation Management – CRM) โดยหาก Microsoft เข้าครอบครองข้อมูลจำนวนมากของผู้ใช้บริการ LinkedIn ได้นั้น อาจจะส่งผลให้บริษัท Microsoft มีความได้เปรียบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการออนไลน์ด้าน CRM ที่เจาะจงกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น และทำให้บริษัท Microsoft มีอำนาจในการแข่งขันเหนือบริษัทอื่นในตลาดผลิตภัณฑ์ออนไลน์ด้าน CRM (Ocello & Sjodin, 2017, หน้า 2-3)  

ประการที่สอง เนื่องจากบริษัท Microsoft เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่นิยมใช้มากในคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน จึงมีความกังวลว่าหาก Microsoft มีการติดตั้งแอปพลิเคชัน LinkedIn พ่วงไปในระบบปฏิบัติการ Windows อาจจะส่งผลให้ LinkedIn มีอำนาจสูงมากในการครอบครองตลาดบริการสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นทางการ (Professional Social Networks) เพราะหากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ใดมีผู้ใช้บริการมาก จะเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้แพลตฟอร์มนั้นมากขึ้น และหาก LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มที่มีการติดตั้งในเครื่องมือสื่อสารตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะทำให้ LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานของคนจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้ LinkedIn สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการมากขึ้น และจะไปลดจำนวนผู้ใช้บริการของแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ (Ocello & Sjodin, 2017, หน้า 3-5)  

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาของคณะกรรมการ EU ในประเด็นแรกเรื่องตลาด CRM นั้น คณะกรรมการมองว่า ถึงแม้ข้อมูลเครือข่ายความสัมพันธ์แบบเป็นทางการของผู้ใช้งานกว่า 450 ล้านคน จะเป็นข้อมูลที่นำไปประยุกต์พัฒนาผลิตภัณฑ์ CRM ได้ แต่ก็ยังมีข้อมูลประเภทอื่นๆ ที่ผู้ให้บริการนำมาช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อีกมากเช่นกัน นอกจากนี้เครื่องมืออย่าง machine learning อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ให้บริการเข้าถึงข้อมูลบริโภคได้ยิ่งไปกว่าการพัฒนา CRM เสียด้วยซ้ำไป (Torngren, 2017, หน้า 44-45)  

ส่วนในประเด็นที่สองนั้น Microsoft ได้สร้างข้อตกลงกับทางคณะกรรมการ 3 ข้อเพื่อคุ้มครองการแข่งขันในบริการสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นทางการ (European Commission, 2016) ได้แก่

1) ไม่มีการบังคับให้ผู้ใช้บริการติดตั้ง LinkedIn ใน Windows และยังสามารถลบออกได้
2) อนุญาตให้แพลตฟอร์มคู่แข่งของ LinkedIn สามารถสร้าง interface เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มในโปรแกรม Microsoft Office ได้
3) อนุญาตให้แพลตฟอร์มคู่แข่ง LinkedIn สามารถเข้าถึงข้อมูลใน Microsoft Graph ได้ 

แนวนโยบายสำหรับส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ในการออกแบบนโยบายสำหรับส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม การกำกับดูแลควรมุ่งไปที่การพัฒนาการวิเคราะห์อำนาจผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค และการเปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มรายเล็กมีพื้นที่แข่งขัน

การวิเคราะห์อำนาจผูกขาด

ความท้าทายที่สำคัญของด้านนี้คือการพัฒนาศักยภาพการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงที่นำมาสู่อำนาจเหนือตลาดในธุรกิจแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างการตั้งราคา การครอบครองข้อมูล และอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์ม โดยกรอบการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงจะต้องพัฒนาให้เท่าทันบทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจแพลตฟอร์ม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มมักจะอ้างถึงการใช้อัลกอริทึมเพื่อช่วยกำหนดราคาการบริการ ทำให้การพิสูจน์ว่าธุรกิจแพลตฟอร์มนั้นมีเจตนาในการกำหนดราคาเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง จำเป็นต้องมีเครื่องมือการวิเคราะห์เพื่อสร้างความชัดเจนได้ ในทางเดียวกัน กรณีการควบรวมกิจการของธุรกิจแพลตฟอร์มเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลนั้นก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือการวิเคราะห์ว่าจะส่งผลให้เกิดอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

นอกจากการวิเคราะห์ในประเด็นข้างต้น พฤติกรรมของแพลตฟอร์มที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาว่าโยงกับการสร้างอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ก็คือพฤติกรรมในรูปแบบการล็อกอิน ซึ่งในภาษากฎหมายเรียกว่า exclusionary practice ทั้งจากฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ชี้ชัดได้ง่ายว่าโยงกับการกีดกันผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายอื่น

ตัวอย่างสำคัญของพฤติกรรมการล็อกอินก็คือการสร้าง exclusive deal ระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ขาย หรือการบีบให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มไม่สามารถปรับไปหาตัวเลือกใหม่ๆ ได้โดยง่าย พฤติกรรมในลักษณะล็อกอินนี้ มีความชัดเจนว่าส่งผลลบต่อการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมนี้จะไปจำกัดความสามารถและแรงจูงใจในการแข่งขันของคู่แข่งรายอื่นๆ

การคุ้มครองผู้บริโภค

พร้อมกันกับการพัฒนาการวิเคราะห์อำนาจผูกขาด สิ่งที่ควรดำเนินไปพร้อมกันเพื่อสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมก็คือการพัฒนามาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะอีกด้านหนึ่ง พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดของแพลตฟอร์มก็มักจะเป็นการกำจัดตัวเลือกกับผู้ใช้งาน (users) แพลตฟอร์มนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานที่เป็นผู้บริโภค ผู้ขาย หรือแรงงาน อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้อาจเผชิญความยากลำบาก หากผู้ใช้เองไม่ได้รู้สึกถึงความจำกัดของตัวเลือกที่ตัวเองมีอยู่ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่คอยสนับสนุนและให้ข้อมูลกับผู้ใช้ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกของธุรกิจแพลตฟอร์ม ยังควรขยายขอบเขตให้รวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น การแจ้งให้ผู้ใช้ได้ทราบเสมอว่าข้อมูลที่เข้าไปสู่แพลตฟอร์มนั้นจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับ และการมีกฎเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้เกิดการเคลื่อนย้ายข้อมูลของผู้ใช้ได้ เพื่อเปิดทางเลือกในการใช้บริการให้กับผู้ใช้

การเปิดโอกาสให้กับแพลตฟอร์มรายเล็กหรือรายใหม่

การเปิดโอกาสให้กับแพลตฟอร์มรายเล็กหรือรายใหม่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้จำเป็นต้องหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการมีมาตรการกำกับดูแลพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน และการเปิดช่องทางให้ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเผชิญกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยเองซึ่งยังอยู่ในจุดที่ต้องการให้มีธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขนี้ โดยอาจปรับเอาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันจากต่างประเทศมาใช้งาน นอกจากนี้ การเปิดช่องทางให้แพลตฟอร์มรายเล็กหรือรายใหม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยึดโยงกับการมีกลไกที่จะสามารถกำกับพฤติกรรมแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มักจะมีลักษณะข้ามชาติได้ เพื่อรักษาระดับการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างแพลตฟอร์มในประเทศไทยกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น การไม่ปล่อยให้แพลตฟอร์มต่างประเทศไม่ต้องเผชิญภาระภาษีที่แพลตฟอร์มในประเทศต้องเผชิญ

นอกจากแต่ละด้านที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การสร้างกลไกการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังต้องพิจารณาแง่มุมอื่นๆ เช่น การตีความและการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า และการสร้างช่องทางการสื่อสารพูดคุยระหว่างภาคส่วนต่างๆ

และนอกจากการพัฒนากฎเกณฑ์และเครื่องมือการวิเคราะห์แล้ว ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการตีความและบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ในปัจจุบัน กรอบคิดของกฎหมายแข่งขันทางการค้าในประเทศไทยก็มีประเด็นหลักอยู่ที่การป้องกันการกำหนดราคาอย่างไม่เป็นธรรมและการทำให้ผู้บริโภคต้องขาดทางเลือกอยู่แล้ว กรอบคิดนี้จึงสามารถพัฒนาไปใช้งานกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอมาในประเทศไทยคือการตีความและบังคับใช้กฎหมายมากกว่า เราจึงต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาในส่วนนี้เช่นกัน 

สิ่งที่สำคัญเช่นกันในการสร้างกลไกการกำกับดูแลการแข่งขัน ก็คือการสร้างช่องทางการสื่อสารพูดคุยระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ และผู้บริโภค เพื่อให้การกำกับดูแลเข้าใจถึงความท้าทายใหม่ๆ ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และสร้างโมเดลการสนับสนุนและการกำกับดูแลที่ตอบโจทย์สำหรับทุกฝ่าย

ส่วนในภาพใหญ่ ยังต้องคำนึงถึงสภาพของตลาดโดยรวมของไทยที่เป็นมาก่อนหน้า อย่างการมีกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็น รวมถึงการสร้างต้นทุนอื่นๆ ต่อธุรกิจเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มหรือไม่ ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข และที่สำคัญ การลดอำนาจผูกขาดในหลายภาคธุรกิจดั้งเดิมที่บรรดาธุรกิจเจ้าใหญ่หน้าเดิมยังสามารถครองอำนาจเหนือตลาดได้ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขเช่นกัน


บรรณานุกรม 

ASIA IOT Business Platform. Government Initiatives To Drive Digitalisation in ASEAN.  เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://iotbusiness-platform.com/government-initiatives-to-drive-digitalisation-in-asean/.

Ballotpedia. (2020, november 20). California Proposition 22, App-Based Drivers as Contractors and Labor Policies Initiative. Retrieved from Ballotpedia: https://ballotpedia.org/California_Proposition_22,_App-Based_Drivers_as_Contractors_and_Labor_Policies_Initiative_(2020)

Basselier, R., Langenus, G., & Walravens, L. (2018). The rise of the sharing economy. Economic Review, (iii), 57-78.

Bika, N. (2020). Do you classify employees correctly? California AB5 law is strict. Retrieved from Workable: https://resources.workable.com/stories-and-insights/ab5-employee-vs-contractor-in-california

CdExpat_Team. (2019, July 19). China’s Food Delivery Revolution: Meituan V E Le Me. Retrieved from Chengdu-Ecpat: https://chengdu-expat.com/meituan-lead-delivery-revolution-in-china/

Cheng, M. (2020, November 4). Uber’s age of special treatment isn’t over. Retrieved from QUARTZ: https://qz.com/1926229/the-meaning-of-ubers-win-on-prop-22-in-california/

Daxue Consulting. (2020, June 1). The O2O food delivery markets in China 2019. Retrieved from Daxue China Reports: https://daxueconsulting.com/o2o-food-delivery-market-in-china/#:~:text=The food delivery market is,of China’s food delivery market.

European Commission. (2016). Mergers: Commission approves acquisition of LinkedIn by Microsoft, subject to conditions.

European Commission. (2018a). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE laying down rules relating to the corporate taxation of a significant diital presence. Brussel.

European Commission. (2018b). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE on the common system of a digital service tax on revenues resulting from the provision of certain digital service. Brussels.

European Commission. (2018c). European Union. Retrieved from Fair Taxation of Digital Economy: https://ec.europa.eu/taxation_customs/business/company-tax/fair-taxation-digital-economy_en?fbclid=IwAR3H91mOWR9HlccN-XedioNX3dlmfm5P19XTsSuz0S69uz9RPOQD7e9kFvs

Evans, P. C., & Gawer, A. (2016, January). The Rise of the Platform Enterprise. Retrieved from https://www.thecge.net/app/uploads/2016/01/PDF-WEB-Plat form-Survey_01_12.pdf

Exim knowledge center. ถอดบทเรียนสตาร์ทอัพระดับโลก…สู่ธุรกิจไทย. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://kmc.exim.go.th/detail/20190927190855/20200205205723. 

Greenhouse Team. (2019, 29 May). How Do Unicorn Startups Grow So Fast in Indonesia?. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://greenhouse.co/blog/how-do-unicorn-startups-grow-so-fast-in-indonesia/.

Google. (2020). Thailand e-conomy SEA 2020 At full velocity: Resilient and racing ahead https://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/Thailand-e-Conomy_SEA_2020_Country_Insights.pdf

Hagiu, A. (2014, January 01). Strategic Decisions for Multisided Platforms. Retrieved from https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=46062

ILO. (2014). World Social Protection Report: Building economic recovery, inclusive development and social justice. Retrieved from International Labour Organization: https://www.ilo.org/public/libdoc//ilo/2014/485584.pdf

ILO. (2017). Strngthening social protection for the future of work. Germany: International Labour Organization.

Ilsøe, A., & Jesnes, K. (2020). Collective agreements for platform and workers – two cases from the Nordic countries. In Kristin Also. Jon Erik Dølvik and Kristin Jesnes, PLATFORM WORK IN THE NORDIC MODELS: ISSUES, CASES AND RESPONSES (pp. 44-55). Oslo: Nordic Council of Ministers.

ISSA. (2017). International Social Security Association (ISSA). Retrieved from ‘Denmark’. Social Security Country Profiles: https://www.issa.int/en/country-details?countryId=DK&regionId=EUR&filtered=false

Jalan, T. (2020, September 22). Code on Social Security, 2020, lays down gig and platform worker benefits. Retrieved from MEDIANAMA: https://www.medianama.com/2020/09/223-code-on-social-security-gig-platform-workers/

Jesnes, K., Ilsøe, A., & J. Hotvedt, M. (2019). Collective agreements for platform workers? Examples from the Nordic countries. Fafo : Nordic future of work Brief 3.

Kässi, O., & Lehdonvirta, V. (2018). Online labour index: Measuring the online gig economy for policy and research. Technological forecasting and social change, 137, 241-248.

Lee, E. (2020, April 29). There are no food delivery winners. Retrieved from TechNode: https://technode.com/2020/04/29/there-are-no-food-delivery-winners/

Liao, R. (2019, March 6). Food delivered to the doorstep is not so cheap in china anymore. Retrieved from TechCrunch: https://techcrunch.com/2019/03/06/no-more-cheap-food-delivery-in-china/

Ministry of International Trade and Industry (MITI). Industry4WRD. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.miti.gov.my/index.php/pages/view/4832.

MyGov. The National Fiberisation and Connectivity Plan (NFCP) 2019-2023. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.malaysia.gov.my/portal/content/30736.

Ocello, E., & Sjodin, C. (2017). Microsoft/LinkeIn: Big data and conglomerate effects in tech markets. Compettion merger brief, 1-6.

Phatphicha Lerksirinukul. (2019, 2 October). เจาะอาณาจักร Gojek จากมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 20 คน สู่ Decacorn ธุรกิจแสนล้านบาท!. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.salika.co/2019/10/02/gojek-superapp-insight/. 

Schmidt, F. A. (2017). Digital Labour Markets in the Platform Economy: Mapping the Political Challenges of Crowd Work and Gig Work. Retrieved from https://www. voced.edu.au/content/ngv:76462

Statista. (2020, June). Market share of leading online-to-offline food delivery service providers in China as of 1st quarter 2020. Retrieved from Statista: https://www.statista.com/statistics/1179150/china-market-share-of-leading-food-delivery-platforms/

The Guardian. (2020, november 11). Prop 22: why Uber’s victory in California could harm gig workers nationwide. Retrieved from The Guardian: https://www.theguardian.com/us-news/2020/nov/11/california-proposition-22-uber-lyft-doordash-labor-laws?fbclid=IwAR3Xb7o84NteaO-nez22A-b_wAbhSjTGrbyOyW2hFb8occuzRb5fCJRgNiY

Torngren, O. (2017). Mergers in big data-driven markets: Is the dimension of privacy and protection of personal data something to consider in the merger review? Stockholm University.

Tweedie, S. (2016, Jun 13). MICROSOFT BUYS LINKEDIN FOR $26.2 BILLION. Retrieved from Business Inside: https://www.businessinsider.com/microsoft-buys-linkedin-2016-6

Weber, E. (2018). Setting out for Digital Social Security. International Labour Organization.

Wittawin.A. (2019, 26 May). Infographic: สถิติผู้ใช้ และผลประกอบการของ Airbnb ในปี 2019. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.thumbsup.in.th/infographic-airbnb-2019.

แซม ช็อง กรุงเทพธุรกิจ. (2020, 1 February). ‘มาเลเซีย’ รุกดึงเงินลงทุน ด้วย ‘เทคโนโลยี-ศก.ดิจิทัล’. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864531.

แทนรัฐ คุณเงิน. (9 ตุลาคม 2563). การบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย: ทำความเข้าใจรูปแบบอุตสาหกรรม ผลกระทบและอนาคต. เข้าถึงได้จาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: https://law.kku.ac.th/wp/?p=12920

รณดล นุ่มนนท์. (2561). แนวทางการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 ประจำปีการศึกษา พุทธศักราช 2560 – 2561.

วนบุษป์ ยุพเกษตร. (2019, 1 January). เลิกลุ้น ไม่รอเคว้ง กับการเดินทางที่กำหนดได้ด้วย ViaBus.เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Viabus.  

วราภรณ์ เทียนเงิน. (2018, 25 May). ‘ViaBus’ แอพดูรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จากhttps://www.posttoday.com/economy/news/552250. 

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. สิงคโปร์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก http://www.thaibiz.net/th/market/Republic-of-Singapore.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2561) “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน” งานนำเสนอในงาน TDRI Annual Public Conference 2018: ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2563). ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561 – 2562 คาดการณ์ 3 ปี. เข้าถึงได้ https://www.depa.or.th/th/article-view/press-conference-depa-imc

สุจิตรา วาสนาดำรงดี (2563) “ปัญหาขยะพลาสติกจากธุรกิจสั่งอาหารเดลีเวอรี่” การนำเสนอในการประชุมระดมสมองโครงชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มครั้งที่ 5 “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างประโยชน์สาธารณะ” วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรม Pullman รางน้ำ

สุภาพรรณ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2020, 15 July). สิงคโปร์พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนชำระเงิน. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.businesstoday.co/world/world-business/15/07/2020/45022/. 

อริญชัย วีรดุษฎีนนท์. (2020, 1 January). รู้แน่ว่ารถเมล์มา Viabus แอปดูตำแหน่งรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://themomentum.co/viabus-interview/. 


MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save