fbpx
เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (1): สู่โลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (1): สู่โลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

สู่โลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

การเกิดขึ้นของธุรกิจบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเช่น Uber และ Airbnb ในระดับสากล รวมไปถึง Grab ในประเทศไทย ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจในเศรษฐกิจแบบเดิม เพราะธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ทำงานในลักษณะที่แตกต่างจากเดิมสิ้นเชิง

ธุรกิจแพลตฟอร์มไม่ต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง อย่าง Uber หรือ Grab ก็ให้บริการรถโดยสารโดยไม่ได้เป็นเจ้าของรถ ในขณะที่ Airbnb ก็ให้บริการห้องพักโดยไม่ได้เป็นเจ้าของห้องพัก สิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ทำคือการทำหน้าที่ ‘จับคู่’ ไม่ใช่การทำหน้าที่ ‘ผลิตและขายสินค้า’ โดยสิ่งที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบของบริษัทเหล่านี้ก็คือ ‘ผู้ใช้’ บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และเป้าหมายของธุรกิจแพลตฟอร์มก็คือขยาย ‘เครือข่ายการจับคู่’ ยิ่งมีผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาใช้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มใดมากเท่าไหร่ ธุรกิจนั้นๆ ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้ซื้อและผู้ขายรายใหม่ที่จะเข้ามาใช้บริการ

การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกำลังเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปจากเดิมทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย จากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในระดับโลกมักจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเช่น ปิโตรเลียม ในปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกล้วนแต่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเป็นเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์ม สำหรับในประเทศไทย ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้นในวงการสื่อ ธุรกิจสื่อที่เคยมีขนาดใหญ่ในประเทศไทยต่างก็เผชิญการเปลี่ยนแปลงเมื่อบริการที่มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเช่น Netflix ได้ขยายเข้ามาแทนที่ จนปัจจุบันธุรกิจสื่อเหล่านี้มีมูลค่าในตลาดลดลงเหลือน้อยกว่าหนึ่งในห้าของเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนำมาซึ่งคำถามมากมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งกับโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สภาพการแข่งขันของธุรกิจ สภาพการทำงาน รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การคาดการณ์โดยทีดีอาร์ไอ (สมเกียรติ, 2561) ระบุว่า หากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถปรับตัวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ อัตราการเติบโตมีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 2.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ในกรณีที่ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับตัวเพื่อออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ มารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม การผูกขาดทางธุรกิจยังอาจเพิ่มขึ้น พร้อมกับสภาพที่แรงงานจำนวนมากขาดสภาพการทำงานที่มั่นคงและขาดสวัสดิการรองรับเพียงพอ รวมทั้งเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปริมาณขยะมหาศาลที่มาพร้อมกับการใช้บริการแพลตฟอร์ม แต่หากประเทศไทยเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้เป็นอย่างดี ย่อมมีโอกาสใช้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ผลักปัญหาต่างๆ ข้างต้นได้ ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาบริการสาธารณะ

เพราะฉะนั้น โจทย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ก็คือการเตรียมพร้อมสร้างนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มคืออะไร?

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย นายจ้างและแรงงาน เข้ามาพบกัน หน้าที่เช่นนี้ในอดีตเกิดขึ้นผ่านตลาดที่มีลักษณะชัดเจนทางกายภาพ แต่ในโลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแทนที่ โดยแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นผู้จ้างงานหรือผู้ขาย แต่เป็นเพียงตัวกลางในการทำหน้าที่จับคู่ (matching) พัฒนาการอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มถูกขับเคลื่อนให้กระจายไปอย่างรวดเร็วผ่านการขยายตัวของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกหนแห่ง

การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นแต่เดิมทั้งในตลาดสินค้าและตลาดแรงงาน ธุรกิจแพลตฟอร์มขนาดใหญ่เช่น Uber, Airbnb และ GRAB เข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์ในตลาดเหล่านี้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยคุณลักษณะพื้นฐานของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มประกอบไปด้วยสภาพหลักสี่ประการ ดังนี้

การจับคู่ (Matching) บทบาทพื้นฐานของแพลตฟอร์มคือการทำหน้าที่จับคู่ให้กับการทำธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การลดต้นทุนในการซื้อขาย โดยเฉพาะต้นทุนในการค้นหา ศักยภาพเช่นนี้ของแพลตฟอร์มเกิดขึ้นบนฐานของโลกอินเทอร์เน็ตที่ช่วยสร้างความรวดเร็วและเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเชื่อมโยงถึงกัน  (Evans and Gawer, 2016)

ระบบนิเวศ (Ecosystem) บทบาทอีกประการของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือการเป็นพื้นที่เปิดให้มีการสร้างนวัตกรรมได้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มสำหรับการรับชมภาพยนตร์ ผู้ขายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้มีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองก่อนนำเข้ามาขายบนพื้นที่ของแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้พัฒนา

ความไม่สมดุลทางอำนาจ (Power Asymmetry) แม้แพลตฟอร์มจะทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางจับคู่ หรือเป็นระบบนิเวศสำหรับการพัฒนา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มจะไม่มีอำนาจ กลับกัน เจ้าของแพลตฟอร์มนั้นมีอำนาจเหนือผู้ที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มผ่านหลายช่องทาง เช่น การเข้าถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม และการออกแบบระบบการใช้งานสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย (Schmidt, 2017)

ผลเครือข่ายแบบข้ามฝ่าย (Cross-Side Network Effects) ลักษณะที่สำคัญอีกประการของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือการได้รับผลจากการสร้างเครือข่ายในทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้ขายเข้าใช้งานแพลตฟอร์มมาก ก็จะจูงใจให้ผู้ซื้ออยากเข้ามาใช้งานมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อมีผู้ซื้อเข้ามาสู่แพลตฟอร์มมาก ก็จะจูงใจผู้ขายให้เข้าสู่แพลตฟอร์ม การมีผลจากเครือข่ายเป็นแรงจูงใจให้เป้าหมายหลักของแพลตฟอร์มมักจะเป็นการมุ่งสะสมเครือข่ายผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างความได้เปรียบ (Hagiu, 2014)

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีความครอบคลุมพื้นที่แพลตฟอร์มหลายรูปแบบ แพลตฟอร์มในรูปแบบที่เป็นที่รู้จักมากก็คือ ‘แพลตฟอร์มธุรกรรม’ (transaction platform) ซึ่งเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าและการบริการ ตัวอย่างเช่นบริษัทอย่าง Grab และ Airbnb หรือแม้กระทั่งตัวกลางในการจ้างงานอย่าง Seekster สำหรับแพลตฟอร์มแบบอื่นๆ ประกอบไปด้วย ‘แพลตฟอร์มนวัตกรรม’ (innovation platform) ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้บนระบบนั้นๆ ได้ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์มาใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows และ ‘แพลตฟอร์มผสมผสาน’ (integrated platform) ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้มีการพัฒนานวัตกรรมในระบบแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้พัฒนานวัตกรรมนั้นๆ ได้ขายนวัตกรรมตนเองเป็นสินค้าด้วย เช่น App Store ของ iOS และ Android

เมื่อเปรียบเทียบแพลตฟอร์มประเภทต่างๆ ข้างต้นแล้ว แพลตฟอร์มธุรกรรม (transaction platform) เป็นแพลตฟอร์มที่มีมูลค่าและจำนวนมากที่สุดอยู่ในปัจจุบัน โดยในปี 2554 แพลตฟอร์มธุรกรรมมีจำนวนมากถึง 160 แพลตฟอร์มทั่วโลก มีมูลค่ากิจการในตลาดถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประเภทของแพลตฟอร์มที่พบมากที่สุดในทวีปเอเชีย ด้วยเหตุนี้ความสนใจหลักของเอกสารชิ้นนี้จึงจะอยู่กับแพลตฟอร์มประเภทนี้

การขยายตัวของแพลตฟอร์มแบบธุรกรรมนำไปสู่การหลั่งไหลเข้ามาของคนทำงานที่เข้ามาขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้ามาขับรถหรือมอเตอร์ไซค์ผ่านแพลตฟอร์มบริการขนส่งสาธารณะ แรงงานรับจ้างบริการเช่นการทำความสะอาด หรือการผลิตงานอย่างการเขียนบทความ การออกแบบกราฟิก การให้คำปรึกษา ผ่านแพลตฟอร์มหลายชนิด

แรงงานเหล่านี้แบ่งประเภทออกได้เป็นสองรูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ ‘แรงงานที่ทำงานคลาวด์’ (Cloud Work) ซึ่งหมายถึงการทำงานผ่านแพลตฟอร์มแบบที่ไม่ยึดโยงกับสถานที่ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ งานแบบนี้มักจะยึดโยงอยู่แค่กับตัวบุคคลและมักจะถูกเรียกว่าตลาดฟรีแลนซ์ ส่วนใหญ่เป็นงานที่จะต้องทักษะสูง เช่น งานเขียนบทความ และงานที่ปรึกษาทางกฎหมาย

แรงงานอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการจ้างงานบนแพลตฟอร์มก็คือ ‘แรงงานที่ทำงานที่เจาะจงสถานที่หรืองานแบบกิ๊ก’ (Gig Work) งานประเภทนี้ยังยึดโยงกับสถานที่ทางกายภาพ เช่น การจ้างให้บุคคลใดเดินทางไปอีกสถานที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ในการขนส่งสินค้าหรือคน การบริการที่พัก การบริการทำความสะอาด งานแบบนี้มีแรงงานหลั่งไหลเข้าไปทำเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะและรายได้น้อย ทำให้การขยายตัวของแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับงาน Gig Work มีนัยสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน การกล่าวถึงนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของแรงงานในรายงานฉบับนี้จึงมุ่งให้ความสนใจไปที่แรงงานกลุ่มนี้เป็นสำคัญ

การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มสะท้อนจากการที่ธุรกิจแพลตฟอร์มได้ขยับขยายมูลค่าและบทบาทของตนเองไปอย่างมาก บริษัทเช่น Uber มีมูลค่าตลาดสูงถึงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่บริษัทอย่าง Airbnb มีมูลค่าสูงถึงกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าโรงแรมในเครือ Marriott hotel chain ที่มีมูลค่าที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Basselier, Langenus, and Walravens, 2018)

ในด้านการใช้งาน จำนวนครั้งโดยสารที่ใช้บริการผ่าน Uber เฉพาะในนครนิวยอร์กในปี 2019 ที่มีจำนวนเกือบถึง 5 แสนครั้งต่อวัน ในขณะที่จำนวนครั้งโดยสารที่ใช้บริการแท็กซี่กลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ (Business of Apps, 2019) ในขณะที่ Airbnb มีจำนวนผู้ใช้บริการของที่พักต่อวันทั่วโลกมากกว่า 140,000 คน จำนวนผู้ใช้บริการสะสมของ Airbnb มีถึงมากกว่า 150 ล้านคน และเจ้าของห้องที่ให้บริการปล่อยเช่าผ่านแพลตฟอร์มของ Airbnb มาจากกว่า 191 ประเทศทั่วโลก (Basselier, Langenus, and Walravens, 2018) ด้านตลาดแรงงานของธุรกิจเหล่านี้ก็ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วในระดับสากลเช่นกัน โดย Online Labor Index ซึ่งเป็นสถิติที่บ่งบอกถึงขนาดของตลาดแรงงานบนแพลตฟอร์ม แสดงให้เห็นว่าการใช้บริการแพลตฟอร์มเพื่อจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ต่อปีทั่วโลก (Kässi, and Lehdonvirta, 2018)

สำหรับในประเทศไทย มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2020 อยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตจากปี 2019 อยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ (Thailand e-conomy SEA, 2020) รายงานของ Google คาดการณ์ว่าในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะขยายตัวจนมีมูลค่ามากกว่าปัจจุบันเกือบสามเท่าที่ 15.9 แสนล้านบาท สำหรับมูลค่าการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยนั้นในปี 2019 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท โดยเพิ่มจากปี 2018 ที่มูลค่าอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท

รูปที่ 1: มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
ข้อมูลจาก : Google (2020), Thailand e-conomy SEA 2020[1]

หากมองเฉพาะการขยายตัวในด้านเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะในด้านการบริการ ประเทศไทยได้กลายเป็นพื้นที่ที่ธุรกิจแพลตฟอร์มในด้านการบริการเติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเช่น Grab และ Lineman กลายมาเป็นธุรกิจที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยธุรกิจอย่าง Grab ตัดสินใจมุ่งขยายธุรกิจตนเองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่ประชาชนยังมีสัดส่วนคนที่มีรถยนต์อยู่น้อย (รถยนต์ 70 คันต่อ 1000 คน) ในขณะที่ขนาดของประชากรในภูมิภาคยังมีขนาดใหญ่ (มากกว่า 600 ล้านคน) ขณะที่ Lineman ได้ปรับบริการตนเองขยายมาจากการเป็นแอปพลิเคชันการสื่อสารมาสู่การเป็นแพลตฟอร์มบริการขนส่งทั้งอาหาร สินค้า และคน ทั้งยังมุ่งสร้างพันธมิตรกับหลายธุรกิจ เช่น บริษัทโลจิสติกส์อย่าง Lalamove รวมไปถึงบริษัทที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารอย่าง Wongnai และ Airbnb ซึ่งก็เป็นอีกธุรกิจแพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยในปี 2017 จำนวนที่พักในประเทศไทยที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มเช่น Airbnb มีจำนวนกว่า 61,000 แห่ง (Witthawin, 2019)

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มเหล่านี้สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าตลาดบริการดิจิทัล ซึ่งจากรายงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ประเมินมูลค่าในปี 2019 ไว้อยู่ที่ 169,536 ล้านบาท โดยเติบโตจากปี 2018 ถึง 10.45 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รายงานเดียวกันได้ประเมินการขยายตัวของตลาดแรงงานดิจิทัลไว้ว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2019 มีกำลังแรงงานอยู่ที่ 71,054 คน เติบโตขึ้นหลายเท่าตัวจากปี 2018 ซึ่งมีกำลังแรงงานที่ 12,799 คน

รูปที่ 2: มูลค่าตลาดบริการดิจิทัลและจำนวนบุคลากรในตลาดบริการดิจิทัลของประเทศไทย
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (2563), ผลสำรวจข้อมูลและการประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 2561–2562 คาดการณ์ 3 ปี[2]

และหากมองเฉพาะไปที่เศรษฐกิจดิจิทัลภาคการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญ รายงานของ Google ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลภาคการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทยไว้อย่างก้าวกระโดดมาก โดยได้คาดการณ์ว่าในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลภาคการขนส่งและบริการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 210,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบันที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาทถึง 7 เท่า

รูปที่ 3: มูลค่าประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลภาคการขนส่งและบริการสั่งอาหารออนไลน์ของประเทศไทย
ข้อมูลจาก : Google (2020), Thailand e-conomy SEA 2020[3]

การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มสร้างความท้าทายหลายประการให้กับโอกาสเติบโตในอนาคตของเศรษฐกิจไทย คำถามสำคัญที่ชุมชนนโยบายเศรษฐกิจต้องหาคำตอบร่วมกันคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยอย่างไร? จะมีหนทางใดบ้างที่ประเทศไทยจะสามารถใช้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของตนเองได้? ประเทศไทยควรจะสนับสนุนการสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มของตัวเองให้เป็นยูนิคอร์น (Unicorn) ไหม? และบทบาทของภาครัฐที่เหมาะสมในการสนับสนุนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มควรเป็นอย่างไร?

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย

ผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อเศรษฐกิจไทย

ในการวางแนวทางเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทการขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนั้น คำถามพื้นฐานที่จะช่วยในการวิเคราะห์ก็คือเราจะวัดผลกระทบของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในทางใดบ้าง การตอบคำถามนี้นั้นสามารถทำได้ทั้งในลักษณะแคบและกว้าง

การตอบคำถามนี้ในลักษณะแคบ มุ่งไปที่การสังเกตจากผลที่ชี้วัดได้ชัดเจนทางเศรษฐกิจ ซึ่งในการชี้วัดลักษณะนี้ เราสามารถสำรวจผลของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้จากการสำรวจการเพิ่มขึ้นและลดลงของกำไรและค่าจ้างที่ธุรกิจและแรงงานไทยมีโอกาสจะได้รับ และรายได้ภาษีที่รัฐบาลไทยมีโอกาสได้รับจากธุรกิจแพลตฟอร์ม หากใช้การชี้วัดผลในลักษณะนี้เป็นฐานการวิเคราะห์ ผลในด้านต่างๆมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นดังนี้

  • รวมไปถึงรายได้ที่เกิดจากการจ้างงานเหล่านี้ ในด้านนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีแนวโน้มจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสในการได้รายได้ให้กับแรงงานในประเทศ
  • การวิเคราะห์มีความซับซ้อนจากการที่ธุรกิจแพลตฟอร์มจำนวนมากมีลักษณะความเป็นนานาชาติ ทำให้ทราบได้ชัดเจนยากถึงสัดส่วนกำไรที่คนไทยได้รับ อย่างไรก็ตาม ความเป็นนานาชาติของธุรกิจแพลตฟอร์มมีแนวโน้มจะส่งผลให้สัดส่วนกำไรที่เกิดกับธุรกิจที่คนไทยเป็นเจ้าของลดลงในภาพรวม นอกจากนี้ ด้วยสภาพการแข่งขันปัจจุบันในโลกธุรกิจแพลตฟอร์ม ทำให้แพลตฟอร์มต่างยอมแบกรับภาวะขาดทุนเพื่อขยายเครือข่ายผู้ใช้ โอกาสการเกิดกำไรจึงยังน้อยอยู่
  • ความซับซ้อนเกิดจากความเป็นนานาชาติของธุรกิจแพลตฟอร์มเช่นกัน แม้รัฐบาลจะมีโอกาสได้รายได้ภาษีที่เก็บจากการซื้อขายสินค้าและบริการที่เกิดในประเทศ แต่กับภาษีที่เกิดกับบริการข้ามประเทศ และภาษีนิติบุคคล การเก็บภาษีจะต้องเผชิญความยากลำบาก และมีแนวโน้มจะไม่สามารถจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากการสังเกตผลที่เกิดจากธุรกิจแพลตฟอร์มโดยตรงแล้ว ยังควรต้องคำนึงถึงผลที่เกิดกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ผลจากการที่ธุรกิจเดิมปรับตัวกับบริบทการแข่งขันใหม่ไม่ได้และต้องล้มลง ผลในลักษณะนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่กับธุรกิจในภาคการผลิตเช่น สื่อ และการขนส่ง ซึ่งสามารถส่งผลลบต่อไปถึงมูลค่าการผลิตโดยรวมของประเทศได้

ภายใต้กรอบการวิเคราะห์แบบนี้ แนวทางการสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจไทย ควรต้องดูไปที่หนทางในการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นบวกจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อการจ้างงาน การสร้างกำไรผ่านการธุรกิจไทยที่ได้โอกาสเกิดและเติบโตจากการขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพในการได้รายได้ภาษีจากธุรกิจแพลตฟอร์ม โดยผลเหล่านี้ควรต้องเกิดขึ้นมากกว่าผลลบจากการที่ธุรกิจเดิมไม่สามารถปรับตัวได้

หากตอบคำถามผ่านการวิเคราะห์ในลักษณะกว้าง ผลต่อเศรษฐกิจไทยยังเกิดขึ้นในทางที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มสวัสดิการและความสะดวกสบายต่อผู้บริโภค หรือผลต่อคุณภาพการทำงานของแรงงานที่เข้าไปทำงานในแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม ผลในลักษณะกว้างนี้อาจหาวิธีชี้วัดที่ชัดเจนได้ยากกว่าแบบแคบข้างต้น

ความท้าทายในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยภายใต้เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ในการวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยภายใต้เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ควรจะต้องเข้าใจถึงสภาพพื้นฐานในการดำเนินการของธุรกิจแพลตฟอร์มที่แตกต่างไปเสียก่อน โดยเฉพาะในแง่มุมสามประการต่อไปนี้

  • การเกิดขึ้นของธุรกิจและพัฒนาของธุรกิจทางเทคโนโลยีมักมาจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่จะนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าแก้ไข จากนั้นคือการดึงเอาผู้บริโภคให้เข้ามาใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มให้ได้ในระยะยาว จนแพลตฟอร์มนั้นๆ กลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่คนต้องพึ่งพิง ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มคือการลงทุนเพื่อดึงเอาผู้บริโภคเข้ามาสู่การใช้งานแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงและยังต้องใช้เวลานาน
  • ผู้ดำเนินธุรกิจมีทางเลือกในหาทางเลือกการระดมทุนหรือจดทะเบียนธุรกิจในประเทศอื่นที่ตนเองจะได้รับความสะดวกหรือได้สิทธิประโยชน์มากกว่าเสมอ นอกจากนี้ การลงทุนกับธุรกิจแพลตฟอร์มยังมักจะเกิดขึ้นโดยมีผู้ลงทุนมาจากหลากหลายประเทศ
  • แต่การลงทุนแพลตฟอร์มก็สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายระดับ อย่างการเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มในระดับสากลในฐานะอื่นเช่น การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ก็สามารถเป็นช่องทางให้ธุรกิจไทยขยายตัวได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องมีคือจะต้องเข้าใจความแตกต่างพื้นฐานเหล่านี้ รวมไปถึงนัยต่อแนวทางการดำเนินนโยบาย ภาครัฐต้องเข้าใจว่าการมีบทบาทไม่ว่าทางใดกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนั้น ต้องการมุมมองและลักษณะการวางเป้าหมายในการสนับสนุนที่แตกต่างออกไปในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจดั้งเดิม ทั้งนี้ความเป็นนานาชาติของธุรกิจแพลตฟอร์มยังทำให้รัฐต้องปรับวิธีคิดเรื่องการกำกับและการควบคุม

และโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในหลายระดับจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ยังควรนำไปสู่การวางขอบเขตความหมายของธุรกิจแพลตฟอร์มให้กว้างขึ้น โดยไม่ใช่เพียงการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่ควรรวมไปถึงธุรกิจที่เติบโตมาพร้อมกับการอาศัยระบบนิเวศหรือการใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มด้วย

แนวทางนโยบายการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยภายใต้เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

เมื่อคำนึงถึงข้อควรพิจารณาข้างต้นแล้ว แนวทางการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยภายใต้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มควรมุ่งไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจบนฐานเทคโนโลยี ประเด็นที่ควรต้องสนับสนุนประกอบไปด้วย

  • การเริ่มต้นธุรกิจในลักษณะแพลตฟอร์มต้องเผชิญความเสี่ยงสูงและต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ การจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีแหล่งเงินทุนที่รองรับความเสี่ยงได้ ปัจจุบันแหล่งที่มาของเงินทุนในลักษณะนี้ยังหาได้ยากในประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในแง่มุมที่ต้องมุ่งพัฒนา และต้องคำนึงว่าธุรกิจแพลตฟอร์มที่จะเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้จำเป็นต้องอาศัยการระดมทุนจากต่างชาติ ตลาดทุนในประเทศจึงจะต้องสามารถดึงดูดเงินลงทุนเหล่านี้ได้ หรือในอีกทางหนึ่งก็ต้องเปิดโอกาสให้ธุรกิจแพลตฟอร์มไทยอาศัยตลาดทุนต่างประเทศในการระดมทุนได้
  • การเปิดโอกาสธุรกิจขนาดเล็กเกิดขึ้นและแข่งขันได้ และดึงเอาผู้เล่นเดิมให้เข้าสู่การแข่งขันบนสภาพแวดล้อมใหม่ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยเลิกพึ่งพิงแนวทางการแสวงหาสิทธิพิเศษและการคุ้มครองจากภาครัฐ
  • การเพิ่มทุนมนุษย์ มีการฝึกทักษะรองรับ และมีการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี
  • การอาศัยตัวชี้วัดความสำเร็จที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่เน้นการเติบโตในระยะสั้น และต้องยอมรับว่าการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาและยังล้มเหลวได้บ่อยครั้ง
  • international mindset ยังมีความสำคัญ โดยผู้ดำเนินนโยบายรวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจควรมีความเข้าใจและมองเห็นโอกาสในระดับสากล ต้องคำนึงว่าธุรกิจแพลตฟอร์มที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นเป็นธุรกิจที่ดำเนินการในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้

  

ประเทศมาตรการรัฐ  นโยบายส่งเสริมการลงทุน  
เอสโตเนีย– กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการระบุตัวตนด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการลงนามลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีผลเทียบเท่ากับการลงนามด้วยวิธีปกติ

– การมีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจนคือ Ministry of Economic Affairs and Communications รับผิดชอบด้านกลยุทธ์และนโยบายหลักของเอสโตเนียด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้อง
 
สิงคโปร์– โครงการ Smart Nation Initiative กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิทัศน์และเป้าหมายด้านดิจิทัลในอนาคตของประเทศ เช่น การมีธุรกรรม 90%

– 95% ที่เสร็จสมบูรณ์แบบดิจิทัลจากต้นทางถึงปลายทาง (ASIA IOT Business Platform) 

– ธนาคารสิงคโปร์เป็นผู้ทำแพลตฟอร์มโครงการอูบิน (Project Ubin) เพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของสิงคโปร์ (SGD) เพื่อสร้างระบบการจัดการชำระเงินและความปลอดภัยในการใช้
– โครงการริเริ่มด้านวิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ASIA IOT Business Platform) 

– Tax Exemption for Start-Ups สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ และมีผู้ถือหุ้นไม่เกิน 20 ราย สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยเงินได้จำนวน 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์แรกจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีเป็นเวลา 3 ปี (ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)

– Licensed Warehouse Scheme (LWS) หากธุรกิจนั้นมีคลังสินค้า เพื่อเก็บสินค้าที่ต้องเสียภาษี GST สามารถขอจดทะเบียนคลังสินค้าที่ Singapore Customs เป็น Licensed Warehouse ได้ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษี GST สำหรับสินค้าที่ยังเก็บในคลังสินค้านี้ จนกว่าจะมีการจำหน่ายออกไป
มาเลเซีย– ตั้งหน่วยงาน Malaysian Digital Economy Corporation (MDEC) พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยียุคใหม่ เช่น ฟินเทค (FinTech) และบล็อกเชน

– โครงการ Digital Talent Development Strategy Framework พัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

– Industry4WRD (2018) เช่น กองทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลให้แก่กลุ่มธุรกิจประเภท AI, หุ่นยนต์ และ Automation โดยให้เงินอุดหนุนอัตราดอกเบี้ย 2% (Ministry of International Trade and Industry)  

– National Fiberisation and Connectivity Plan (2019-2023) ในการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตและลดราคาอินเทอร์เน็ต ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทั่วทั้งสังคม (MyGov)
Transformation Fund จัดสรรไว้เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ด้วยการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) โดยรัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และทรัพย์สินทางปัญญา ให้เงินทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับระบบอัตโนมัติแก่ภาคธุรกิจบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ในการปรับใช้ระบบดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี    
ตารางที่ 1: ตัวอย่างนโยบายสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในต่างประเทศ
 ที่มาของข้อมูล: รวบรวมจากรณดล (2561), สุภาพรรณ (2020), แซม ช็อง (2020)

ประเทศไทยควรสนับสนุนการสร้างยูนิคอร์นของตัวเองหรือไม่?

การจะเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจแพลตฟอร์มจากประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จจนเป็นยูนิคอร์นได้ สามารถทำได้ดีที่สุดผ่านการมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม  

ในปัจจุบัน ยูนิคอร์นที่คนไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนั้นก็พอมีอยู่บ้าง แต่ยูนิคอร์นเหล่านั้นไม่เลือกที่จะทำการตลาดว่าเป็นบริษัทไทย เพราะต้องการให้การระดมทุนทำได้ง่ายขึ้น หรือเพื่อความสะดวกอื่นๆ ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยูนิคอร์นที่คนไทยเริ่มต้นสร้างมาจำนวนหนึ่ง ก็ถูกขายออกไปให้เจ้าของต่างชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นควรนำไปสู่การตั้งคำถามและเรียนรู้เป็นบทเรียนว่า เพราะอะไรธุรกิจเหล่านี้ถึงถูกขายออกไปอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเติบโตต่อไปในฐานะธุรกิจไทย และนำบทเรียนมาปรับปรุงแนวทางของภาครัฐในการสนับสนุนให้ยูนิคอร์นไทยเกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งให้ก้าวไปสู่ระดับสากล จะสามารถทำได้ผ่านการช่วยอุดหนุนการลงทุนที่จะต้องเผชิญความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิจารณาเช่นกัน ว่าการสนับสนุนของรัฐบาลต่อบางแพลตฟอร์มจะสร้างผลเสียต่อการแข่งขันโดยรวมของธุรกิจแพลตฟอร์มในประเทศหรือไม่ จะกลายเป็นการลดพื้นที่การเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ ในประเทศหรือไม่

ควรคำนึงเช่นกันว่า การสร้างการเติบโตจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ที่การสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่ยังประกอบไปด้วยทางเลือกในการเข้าร่วมได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลแล้ว โดยมองไปที่แนวทางการเข้าร่วมที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด

อย่างไรก็ดี การเข้ามามีบทบาทสร้างแพลตฟอร์มด้วยตนเองของภาครัฐ เป็นแนวทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จยาก ภาครัฐควรคงบทบาทตนเองอยู่ในด้านการสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนมากกว่า

กรณีศึกษายูนิคอร์นในอาเซียน  

ยูนิคอร์น หมายถึง ธุรกิจสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมียูนิคอร์น 10 บริษัทอยู่ใน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ

สิงคโปร์มี Lazada (แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์) Sea (บริการเกมออนไลน์ E-commerce และแพลตฟอร์มให้บริการทางการเงิน) และ Razer (ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับการเล่นเกม)
อินโดนีเซียมี Traveloka (แอปพลิเคชันให้บริการค้นหา รวมถึงการจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก) Tokopedia (E-commerce) Bukalapak (E-commerce) และ Go-Jek (แอปพลิเคชันให้บริการด้านโลจิสติกส์)
มาเลเซียมี Grab (แอปพลิเคชันให้บริการโลจิสติกส์)
เวียดนามมี VNG Corporation (เกมออนไลน์และโซเชียลมีเดีย)
ฟิลิปปินส์มี Revolution Precrafted (ออกแบบและสร้างบ้านสำเร็จรูป) (Exim knowledge center)

สำหรับอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีธุรกิจสตาร์ตอัปจำนวนมากกว่า 337 ราย (Phatphicha, 2019) มียูนิคอร์นเริ่มต้น 4 ตัว ได้แก่ Gojek, Traveloka, Tokopedia, และ Bukalapak

ทางด้าน Gojek ได้ขยายธุรกิจไปยังเวียดนามในชื่อ Goo – Viet ส่วนในไทยใช้ชื่อ Get อีกทั้งยังขยายธุรกิจไปยังสิงคโปร์ในปี 2019 ทำให้ปัจจุบัน Gojek เป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่าสูงสุดของอินโดนีเซียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเติบโตจนมีมากกว่า 20 บริการในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งได้ 5 หมวด ได้แก่ หมวดคมนาคมและการขนส่ง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดการชำระเงิน หมวดชีวิตประจำวัน และหมวดข่าวและความบันเทิง ในปัจจุบันยังมีผู้ขับขี่ Gojek ในอินโดนีเซียที่ลงทะเบียนในระบบมากกว่า 2 ล้านคน

ในการทำงานและบริหารจัดหาร Gojek อาศัยทีมงานและเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยมีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และบริการรวม 48 เทคโนโลยี อาทิ Google Analytics, Vimeo, Google Tag Manager ส่วนทางด้านการระดมทุน Gojek มีผู้ลงทุนซึ่งเป็น CVC (Corporate Venture Capital) มากถึง 28 ราย เช่น Visa, Mitsubishi Motors, Google, Tencent, JD.com, Amazon และ MUFG (เพิ่งอ้าง)

สตาร์ตอัปอินโดนีเซียสามารถตอบโจทย์ตลาดในประเทศที่มีประชากรหลากหลายด้วยการสร้างแบรนด์ที่เป็นท้องถิ่น คุ้นเคย เข้าถึงง่าย ทั้งการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมของ Traveloka ในขณะที่ Bukalapak และ Tokopedia ก็เป็นพื้นที่กลางให้คนซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน ส่วน Gojek ก็สามารถใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะที่เป็น SMEs ซึ่งยูนิคอร์นของอินโดนีเซียช่วยส่งเสริมให้ SMEs ท้องถิ่นเติบโต เป็นส่วนสำคัญและสร้างกำไรให้กับธุรกิจ SMEs

ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของสตาร์ตอัปอินโดนีเซีย นอกจากจะมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ และความคิดสร้างสรรค์ของธุรกิจนั้นๆ แล้ว อีกสิ่งสำคัญก็คือกลุ่มผู้บริโภคในประเทศซึ่งเป็นคนชั้นกลางมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือมากกว่า 100 ล้านคน

สตาร์ตอัปอินโดนีเซียเน้นตีตลาดในท้องถิ่น การตลาดแบบลูกค้าต่อลูกค้า สนับสนุน SMEs ท้องถิ่น ซึ่งตอบโจทย์การตลาดในประเทศอินโดนีเซียที่ผู้บริโภคนิยมสินค้าที่คุ้นเคย จึงทำให้ประสบความสำเร็จ (Greenhouse Team, 2019)  

นอกจากบทบาทที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมแล้ว ภาครัฐยังสามารถมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแพลตฟอร์มได้ในอีกสามด้าน ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลข้อมูล ด้านการกำกับการแข่งขันทางการค้า และด้านการเก็บภาษี

  • ที่จริงแล้ว ภาครัฐเองเป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมากที่มีมูลค่าสูง ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งหากเปิดช่องทางให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับธุรกิจแพลตฟอร์มได้ ก็สามารถเป็นช่องทางการสร้างโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังแง่มุมของการเปิดข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ซึ่งในแง่นี้ รัฐสามารถปรับบทบาทตนเองให้เป็นผู้สนับสนุนธุรกิจแพลตฟอร์มผ่านการสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐและธุรกิจเอกชน และการเดินหน้าสร้างฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้นอกจากรัฐเองในภาพใหญ่ก็ควรปรับทิศทางไปสู่การเป็นรัฐที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ และให้โอกาสประชาชนได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการด้านข้อมูล
  • รัฐต้องดำเนินหน้าที่นี้เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ สามารถเติบโตได้ โดยต้องมุ่งวางกฏเกณฑ์การกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ต่างไป ทั้งยังสร้างความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มกับธุรกิจดั้งเดิม
  • การหาหนทางเก็บรายได้ภาษีจากธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีความเป็นนานาชาติจะมีบทบาทสำคัญทั้งกับการหารายได้ให้กับรัฐและการสร้างความเป็นธรรมให้กับธุรกิจไทยที่ต้องเสียภาษี โดยการให้ธุรกิจแพลตฟอร์มต่างชาติต้องเสียภาษีนั้นเป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถลดความได้เปรียบของธุรกิจแพลตฟอร์มข้ามชาติเหนือธุรกิจท้องถิ่นได้ เนื่องจากช่วยผลักดันให้ธุรกิจทั้งสองต่างต้องเผชิญภาระภาษีที่แตกต่างกันน้อยลง ในด้านนี้ภาครัฐสามารถเรียนรู้ได้จากความพยายามในประเทศอื่นเช่น ในภูมิภาคยุโรป

การจะให้การเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการร่วมพัฒนากฎเกณฑ์ร่วมกันทั้งในระดับระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค โดยความร่วมมือจะช่วยสร้างช่องทางให้แก้ปัญหาความท้าทายจากลักษณะความเป็นนานาชาติของธุรกิจแพลตฟอร์มได้ นอกจากความร่วมมือในด้านภาษีแล้ว ความร่วมมือในการพัฒนากฎเกณฑ์สำหรับด้านอื่นเช่น การกำกับดูแลข้อมูล และการคุ้มครองแรงาน ก็ควรจะเกิดขึ้นเช่นกัน

ในปัจจุบัน กลไกมาตรฐานในการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติของประเทศไทยคือการมีอนุสัญญาภาษีซ้อน (Bi-lateral double taxation agreement) ที่ไทยจะต้องดำเนินการไว้กับอีกประเทศหนึ่งที่เป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ดี ไทยยังต้องดำเนินการเพื่อสร้างข้อตกลงนี้กับประเทศอื่นๆ อีกมาก

ส่วนในกรณีที่ไม่ได้มีอนุสัญญาภาษีซ้อน กรมสรรพากรได้ออกแบบภาษีตัวใหม่ที่เรียกว่า Digital service tax ซึ่งจะสร้างความรับผิดชอบในการจ่ายภาษีให้กับธุรกิจแพลตฟอร์มข้ามชาติ แทนที่จะให้ความรับผิดชอบนี้อยู่กับผู้บริโภคเช่นในปัจจุบัน

กรณีศึกษาความพยายามของ EU ในการเก็บภาษีเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

เนื่องจากโครงสร้างโมเดลทางธุรกิจของธุรกิจในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีรูปแบบการแสวงหากำไรที่แตกต่างออกไปจากรูปแบบทางธุรกิจแบบเดิม กฎกติกาในการจัดเก็บภาษีที่เคยถูกออกแบบมาให้สอดคล้องต่อการการแสวงหารายได้ของธุรกิจแบบเดิมจึงกลายเป็นช่องโหว่สำหรับธุรกิจแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ธุรกิจแพลตฟอร์มไม่ถูกจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมกับธุรกิจที่ให้บริการเดียวกันแต่อยู่ภายใต้รูปแบบธุรกิจแบบเดิม  

ทางคณะกรรมการอียูได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีกับธุรกิจแพลตฟอร์มโดยจัดเก็บบนฐานของ ‘การสร้างมูลค่า’ (value creation) ทั้งนี้ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถสร้างมูลค่าผ่านการประสานกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม เช่น การเก็บข้อมูลผู้ใช้ การประมวลผลของอัลกอริทึม และการทำพื้นที่โฆษณา

ดังนั้น แนวทางการจัดเก็บภาษีจึงใช้วิธีการแสวงหาร่องรอยการทำกิจกรรมในแพลตฟอร์ม (digital footprint) โดยมีการจัดทำแนวทางการจัดเก็บภาษีเป็นสองแบบได้แก่ 1) แนวทางระยะสั้นผ่านการจัดเก็บภาษีแบบชั่วคราว (Interim Tax) โดยการเพิ่มเงื่อนไขการเก็บภาษีผ่านกิจกรรมที่สร้างมูลค่าซึ่งไม่ถูกเก็บจากระบบภาษีปกติ และ 2) แนวทางระยาวผ่านการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลให้มีการเก็บภาษีครอบคลุมกิจกรรมในระบบแพลตฟอร์มที่สร้างมูลค่า (European Commission, 2018c)  

แนวทางการจัดเก็บภาษีชั่วคราว (Interim Tax): หลักการของแนวทางนี้คือการเก็บภาษีบนฐานของรายได้ธุรกิจที่เกิดจากกิจกรรมทางแพลตฟอร์มซึ่งไม่ถูกจัดเก็บภาษีตามกติกาแบบเดิม โดยภาษีชั่วคราวจะจัดเก็บบนฐานรายได้ของแพลตฟอร์มที่เกิดจากการใช้งานของผู้ใช้ ได้แก่ รายได้ที่เกิดจากการให้บริการพื้นที่สำหรับโฆษณา รายได้ที่เกิดจากการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของผู้ซื้อและผู้ขาย หรือรายได้ที่เกิดจากการนำข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้ใช้บริการไปสร้างเป็นสินค้า ในการจัดเก็บภาษีนั้นจะจัดเก็บยึดตามพื้นที่ที่ผู้ใช้ใช้บริการแพลตฟอร์ม โดยเงื่อนไขของธุรกิจที่ถูกจัดเก็บนั้นจะต้องมีรายได้จากทั่วโลกเกินกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้จากกิจกรรมบนแพลตฟอร์มในเขตแดนของสหภาพยุโรปเกินกว่า 50 ล้านยูโร (European Commission, 2018b, หน้า 25) เพื่อให้ไม่เป็นการสร้างภาระทางภาษีให้กับธุรกิจสตาร์ตอัป ทั้งนี้ตามข้อเสนอมีการตั้งอัตราการเก็บภาษีคิดเป็น 3% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางแพลตฟอร์มของผู้ใช้ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี แนวทางการจัดเก็บภาษีชั่วคราวนั้นจะดำเนินการจัดเก็บจนกว่าจะมีการดำเนินการใช้ระบบภาษีนิติบุคคลที่มีการแก้ไขปรับปรุงให้รองรับการจัดเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์ม  

แนวทางการปฏิรูปภาษีนิติบุคคล : แนวทางการแก้ไขระเบียบทางภาษีให้ครอบคลุมการเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มจะยึดอยู่บนฐานของการสร้าง ‘กำไร’ ในเขตพื้นที่ของรัฐ โดยไม่จำเป็นที่ธุรกิจนั้นจะมีตัวตนทางวัตถุ (physical presence) หากธุรกิจนั้นมีเงื่อนไขตรงตามเกณฑ์ข้อกำหนดที่ชี้ให้เห็นว่ามีบริการทางดิจิทัลในเขตแดนข้อใดข้อหนึ่งก็ต้องเสียภาษีนิติบุคคลให้กับภาครัฐ โดยเกณฑ์ข้อกำหนดประกอบด้วย (European Commission, 2018a, หน้า 14-17) 
(1) ทำรายได้จากบริการทางดิจิทัลเกินกว่า 7 ล้านยูโรในเขตแดนรัฐ
(2) มีผู้ใช้บริการเกินกว่า 100,000 ตามกรอบระยะเวลารอบปีภาษี
(3) มีการทำธุรกรรมการให้บริการทางดิจิทัลกับบริษัทหรือผู้ใช้บริการเพื่อการพาณิชย์เกินกว่า 3,000 ธุรกรรม ในกรอบระยะเวลารอบปีภาษี นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดการจัดสรรรายได้จากการเก็บภาษีโดยสหประชาชาติยุโรปยึดตามการเก็บภาษีจากแหล่งกำเนิดมูลค่า โดยจัดสรรสัดส่วนรายได้ตามสัดส่วนพื้นที่ที่ผู้ใช้ใช้บริการแพลตฟอร์มนั้นๆ  


บรรณานุกรม 

ASIA IOT Business Platform. Government Initiatives To Drive Digitalisation in ASEAN.  เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://iotbusiness-platform.com/government-initiatives-to-drive-digitalisation-in-asean/.

Ballotpedia. (2020, november 20). California Proposition 22, App-Based Drivers as Contractors and Labor Policies Initiative. Retrieved from Ballotpedia: https://ballotpedia.org/California_Proposition_22,_App-Based_Drivers_as_Contractors_and_Labor_Policies_Initiative_(2020)

Basselier, R., Langenus, G., & Walravens, L. (2018). The rise of the sharing economy. Economic Review, (iii), 57-78.

Bika, N. (2020). Do you classify employees correctly? California AB5 law is strict. Retrieved from Workable: https://resources.workable.com/stories-and-insights/ab5-employee-vs-contractor-in-california

CdExpat_Team. (2019, July 19). China’s Food Delivery Revolution: Meituan V E Le Me. Retrieved from Chengdu-Ecpat: https://chengdu-expat.com/meituan-lead-delivery-revolution-in-china/

Cheng, M. (2020, November 4). Uber’s age of special treatment isn’t over. Retrieved from QUARTZ: https://qz.com/1926229/the-meaning-of-ubers-win-on-prop-22-in-california/

Daxue Consulting. (2020, June 1). The O2O food delivery markets in China 2019. Retrieved from Daxue China Reports: https://daxueconsulting.com/o2o-food-delivery-market-in-china/#:~:text=The food delivery market is,of China’s food delivery market.

European Commission. (2016). Mergers: Commission approves acquisition of LinkedIn by Microsoft, subject to conditions.

European Commission. (2018a). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE laying down rules relating to the corporate taxation of a significant diital presence. Brussel.

European Commission. (2018b). Proposal for a COUNCIL DIRECTIVE on the common system of a digital service tax on revenues resulting from the provision of certain digital service. Brussels.

European Commission. (2018c). European Union. Retrieved from Fair Taxation of Digital Economy: https://ec.europa.eu/taxation_customs/business/company-tax/fair-taxation-digital-economy_en?fbclid=IwAR3H91mOWR9HlccN-XedioNX3dlmfm5P19XTsSuz0S69uz9RPOQD7e9kFvs

Evans, P. C., & Gawer, A. (2016, January). The Rise of the Platform Enterprise. Retrieved from https://www.thecge.net/app/uploads/2016/01/PDF-WEB-Plat form-Survey_01_12.pdf

Exim knowledge center. ถอดบทเรียนสตาร์ทอัพระดับโลก…สู่ธุรกิจไทย. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://kmc.exim.go.th/detail/20190927190855/20200205205723. 

Greenhouse Team. (2019, 29 May). How Do Unicorn Startups Grow So Fast in Indonesia?. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://greenhouse.co/blog/how-do-unicorn-startups-grow-so-fast-in-indonesia/.

Google. (2020). Thailand e-conomy SEA 2020 At full velocity: Resilient and racing ahead https://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/Thailand-e-Conomy_SEA_2020_Country_Insights.pdf

Hagiu, A. (2014, January 01). Strategic Decisions for Multisided Platforms. Retrieved from https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=46062

ILO. (2014). World Social Protection Report: Building economic recovery, inclusive development and social justice. Retrieved from International Labour Organization: https://www.ilo.org/public/libdoc//ilo/2014/485584.pdf

ILO. (2017). Strngthening social protection for the future of work. Germany: International Labour Organization.

Ilsøe, A., & Jesnes, K. (2020). Collective agreements for platform and workers – two cases from the Nordic countries. In Kristin Also. Jon Erik Dølvik and Kristin Jesnes, PLATFORM WORK IN THE NORDIC MODELS: ISSUES, CASES AND RESPONSES (pp. 44-55). Oslo: Nordic Council of Ministers.

ISSA. (2017). International Social Security Association (ISSA). Retrieved from ‘Denmark’. Social Security Country Profiles: https://www.issa.int/en/country-details?countryId=DK&regionId=EUR&filtered=false

Jalan, T. (2020, September 22). Code on Social Security, 2020, lays down gig and platform worker benefits. Retrieved from MEDIANAMA: https://www.medianama.com/2020/09/223-code-on-social-security-gig-platform-workers/

Jesnes, K., Ilsøe, A., & J. Hotvedt, M. (2019). Collective agreements for platform workers? Examples from the Nordic countries. Fafo : Nordic future of work Brief 3.

Kässi, O., & Lehdonvirta, V. (2018). Online labour index: Measuring the online gig economy for policy and research. Technological forecasting and social change, 137, 241-248.

Lee, E. (2020, April 29). There are no food delivery winners. Retrieved from TechNode: https://technode.com/2020/04/29/there-are-no-food-delivery-winners/

Liao, R. (2019, March 6). Food delivered to the doorstep is not so cheap in china anymore. Retrieved from TechCrunch: https://techcrunch.com/2019/03/06/no-more-cheap-food-delivery-in-china/

Ministry of International Trade and Industry (MITI). Industry4WRD. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.miti.gov.my/index.php/pages/view/4832.

MyGov. The National Fiberisation and Connectivity Plan (NFCP) 2019-2023. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.malaysia.gov.my/portal/content/30736.

Ocello, E., & Sjodin, C. (2017). Microsoft/LinkeIn: Big data and conglomerate effects in tech markets. Compettion merger brief, 1-6.

Phatphicha Lerksirinukul. (2019, 2 October). เจาะอาณาจักร Gojek จากมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 20 คน สู่ Decacorn ธุรกิจแสนล้านบาท!. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.salika.co/2019/10/02/gojek-superapp-insight/. 

Schmidt, F. A. (2017). Digital Labour Markets in the Platform Economy: Mapping the Political Challenges of Crowd Work and Gig Work. Retrieved from https://www. voced.edu.au/content/ngv:76462

Statista. (2020, June). Market share of leading online-to-offline food delivery service providers in China as of 1st quarter 2020. Retrieved from Statista: https://www.statista.com/statistics/1179150/china-market-share-of-leading-food-delivery-platforms/

The Guardian. (2020, november 11). Prop 22: why Uber’s victory in California could harm gig workers nationwide. Retrieved from The Guardian: https://www.theguardian.com/us-news/2020/nov/11/california-proposition-22-uber-lyft-doordash-labor-laws?fbclid=IwAR3Xb7o84NteaO-nez22A-b_wAbhSjTGrbyOyW2hFb8occuzRb5fCJRgNiY

Torngren, O. (2017). Mergers in big data-driven markets: Is the dimension of privacy and protection of personal data something to consider in the merger review? Stockholm University.

Tweedie, S. (2016, Jun 13). MICROSOFT BUYS LINKEDIN FOR $26.2 BILLION. Retrieved from Business Inside: https://www.businessinsider.com/microsoft-buys-linkedin-2016-6

Weber, E. (2018). Setting out for Digital Social Security. International Labour Organization.

Wittawin.A. (2019, 26 May). Infographic: สถิติผู้ใช้ และผลประกอบการของ Airbnb ในปี 2019. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.thumbsup.in.th/infographic-airbnb-2019.

แซม ช็อง กรุงเทพธุรกิจ. (2020, 1 February). ‘มาเลเซีย’ รุกดึงเงินลงทุน ด้วย ‘เทคโนโลยี-ศก.ดิจิทัล’. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864531.

แทนรัฐ คุณเงิน. (9 ตุลาคม 2563). การบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย: ทำความเข้าใจรูปแบบอุตสาหกรรม ผลกระทบและอนาคต. เข้าถึงได้จาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: https://law.kku.ac.th/wp/?p=12920

รณดล นุ่มนนท์. (2561). แนวทางการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 ประจำปีการศึกษา พุทธศักราช 2560 – 2561.

วนบุษป์ ยุพเกษตร. (2019, 1 January). เลิกลุ้น ไม่รอเคว้ง กับการเดินทางที่กำหนดได้ด้วย ViaBus.เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Viabus.  

วราภรณ์ เทียนเงิน. (2018, 25 May). ‘ViaBus’ แอพดูรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จากhttps://www.posttoday.com/economy/news/552250. 

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. สิงคโปร์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก http://www.thaibiz.net/th/market/Republic-of-Singapore.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2561) “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน” งานนำเสนอในงาน TDRI Annual Public Conference 2018: ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2563). ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561 – 2562 คาดการณ์ 3 ปี. เข้าถึงได้ https://www.depa.or.th/th/article-view/press-conference-depa-imc

สุจิตรา วาสนาดำรงดี (2563) “ปัญหาขยะพลาสติกจากธุรกิจสั่งอาหารเดลีเวอรี่” การนำเสนอในการประชุมระดมสมองโครงชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มครั้งที่ 5 “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างประโยชน์สาธารณะ” วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรม Pullman รางน้ำ

สุภาพรรณ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2020, 15 July). สิงคโปร์พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนชำระเงิน. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก  https://www.businesstoday.co/world/world-business/15/07/2020/45022/. 

อริญชัย วีรดุษฎีนนท์. (2020, 1 January). รู้แน่ว่ารถเมล์มา Viabus แอปดูตำแหน่งรถเมล์แบบเรียลไทม์. เข้าถึงล่าสุดมกราคม 13, 2021 จาก https://themomentum.co/viabus-interview/. 

References
1 020). Thailand e-conomy SEA 2020 At full velocity: Resilient and racing ahead. เข้าถึงได้จากhttps://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/Thailand-e-Conomy_SEA_2020_Country_Insights.pdf. หน้า 9
2 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2563). ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561 – 2562 คาดการณ์ 3 ปี. เข้าถึงได้ https://www.depa.or.th/th/article-view/press-conference-depa-imc. หน้า 5
3 Google. (2020). Thailand e-conomy SEA 2020 At full velocity: Resilient and racing ahead. เข้าถึงได้จากhttps://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/Thailand-e-Conomy_SEA_2020_Country_Insights.pdf. หน้า 10

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save