fbpx

ปฏิทินปีสั่งลา จอมพล ป.พิบูลสงคราม เฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

พ.ศ.2567 นับเป็นปีครบรอบมรณกาล 60 ปีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2440-2507) ผู้นั่งแท่นนายกรัฐมนตรีนานที่สุดของประเทศไทย คือ 15 ปีเศษตลอดสองช่วงประวัติศาสตร์สำคัญ คือ หนึ่ง ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 – 1 สิงหาคม พ.ศ.2487 และสอง ภายหลังสงคราม วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 – 16 กันยายน พ.ศ.2500

การครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ 2 วาระดูช่างมีความย้อนแย้งกันเป็นที่สุด เมื่อวาระแรกกว่า 5 ปี คือการร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ส่วนวาระหลังอีก 10 ปีคือการร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภาวการณ์สงครามเย็นหลังสงครามโลก กระทั่งในท้ายที่สุด ‘ท่านผู้นำ’ ก็ถูกลูกน้องคนสนิทล้มล้างด้วยรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 (ดูบทความเกี่ยวกับการรัฐประหารจอมพล ป. ของผู้เขียนได้ที่นี่)


โกศอัฐิจอมพล ป. ในพิธีบรรจุ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2507


ในปีสุดท้ายของการเป็นนายกฯ นั้น จอมพล ป. ได้ทิ้งท้ายด้วยเมกะโปรเจกต์สำคัญ 3 โครงการใหญ่ที่ยังหลงเหลือมรดกไว้จนถึงทุกวันนี้ คือ 1.เปิดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า ‘ถนนมิตรภาพ’ สู่แดนอีสาน 2.จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษในช่วงวันวิสาขะบูชาปีนั้น กับริเริ่มดำเนินโครงการพุทธมณฑลที่จังหวัดนครปฐม และ 3.สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของประเทศไทยที่เขายันฮี จังหวัดตาก ที่รู้จักกันทุกวันนี้ในชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’


จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ทำพิธีรับมอบถนนมิตรภาพ ในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500 (เครดิตภาพ ศิลปวัฒนธรรม)
ปกสมุดภาพ งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ระหว่างวันวิสาขบูชา วันที่ 12-18 พฤษภาคม พ.ศ.2500
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอให้ใช้ชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2500


ปี 25 พุทธศตวรรษยังนับเป็นปี ‘แซยิด อายุครบ 60 ปี’ ของท่านผู้นำตราไก่ท่านนี้ จากของสะสมเกี่ยวเนื่องกับจอมพล ป. พิบูลสงครามของผู้เขียน พบว่าปีนั้นรัฐบาลได้จัดพิมพ์ปฏิทินอยู่หนึ่งชุด สะท้อนภาพนโยบายหลักๆ ที่เป็นหัวใจของการบริหารตลอดเวลาไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งวาระแรกหรือวาระหลัง ผ่านภาพวาดและคำขวัญจำนวน 12 เดือน โดยมีรูปวาดหลักขนาดใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ รังสรรค์โดยบรมครูศิลปินแห่งยุค ‘เหม เวชกร’ (พ.ศ.2446-2512)


ภาพวาดหลักปฏิทิน พ.ศ.2500 โดย ‘เหม เวชกร’


ปฏิทินเก่าไม่ได้ถูกฉีกใช้นับเป็นของที่หาได้ยากสำหรับนักสะสมสิ่งพิมพ์ เมื่อผู้เขียนลองปัดฝุ่นหยิบขึ้นมาพินิจพิเคราะห์ พบว่าเมื่อปี 25 พุทธศตวรรษนั้น นับจากเดือนมีนาคม-ธันวาคม ทั้ง 10 เดือนมีความพ้องต้องกันกับปฏิทิน พ.ศ.2567 อย่างไม่ผิดเพี้ยน ต่างจาก 2 เดือนแรกคือ มกราคมและกุมภาพันธ์ เนื่องจาก พ.ศ.2567 เป็นปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี ‘วันที่ 29’ (ซึ่งเป็นปกติในรอบทุก 4 ปี)

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2567 (ปีมะโรง) นี้ จึงถือเป็นโอกาสชุบชีวิตปฏิทินชิ้นอำลาผู้นำประเทศคนสุดท้ายที่เป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นำภาพและคำบรรยายทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนปฏิทิน 25 พุทธศตวรรษภายใต้รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งเป็น ส.ค.ส. เผยแพร่ผ่านบทความชิ้นนี้ พร้อมรำลึกถึงนายกรัฐมนตรีผู้ริเริ่มเปลี่ยนการนับวันปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม ตามแบบสากลโลกเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2484 (หลังขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรกเพียง 3 ปีเศษ)


รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็น ‘วันปีใหม่’ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2484 (ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันชึ้นปีใหม่ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 มกราคม 2484 เล่ม 58 หน้า 31-33.)


“…นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ ๆ ทางปลายบุรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี การนิยมใช้วันที่ 1 มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใดประเทศใด แต่เป็นการคำนวณโดยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี เมื่อประเทศไทยได้นิยมถือสุริยคติตามอย่างนานาประเทศแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีเหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย เพราะวันที่ 1 มกราคม ก็ใกล้เคียงกับวันแรม 1 ค่ำ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี การใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการสอดคล้องต้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และได้ระดับกับนานาอารยประเทศทั้งมวล…”  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี


มกราคม “ปีนี้ เราจะตั้งหน้าประกอบแต่คุณงามความดี”

กุมภาพันธ์ “เกิดมาเป็นคนไทย ต้องเรียนรู้หนังสือไทย”

มีนาคม “ความรักใคร่ปรองดองในครอบครัว คือแสงสว่างแห่งชีวิต”

เมษายน “จงใช้เวลาว่างของท่านให้เป็นประโยชน์”

พฤษภาคม “พุทธศาสนิกชนพึงระลึกว่า พระสงฆ์คือผู้สืบพระศาสนา”

มิถุนายน “ชาติไทยจะเจริญรุ่งเรืองได้ ก็เพราะความสามัคคี”

กรกฎาคม “ถ้าเลี้ยงสัตว์ ทำสวนครัว อย่ากลัวจน”

สิงหาคม “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์” บางตอนจากกลอนของสุนทรภู่ ภาพวาดประกอบเดือนนี้ของ ‘เหม เวชกร’

กันยายน “โปรดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่เด็ก และคนชรา” (เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีคำว่า “สตรี”) จอมพล ป.พิบูลสงคราม “ถูกรัฐประหาร” เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 16 กันยายน เดือนนี้

ตุลาคม “พึงสนับสนุนการศึกษา เพราะเด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”

พฤศจิกายน “หมดหน้านาอย่าดูดาย ปลูกพืชไร่ไว้ขายแทน”

ธันวาคม “ทำบุญสุนทร์ทาน การกุศล เป็นเสบียงเลี้ยงตนไปเบื้องหน้า”

คำบรรยายปฏิทินนี้ – “รัฐบาล พณ ฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ร่วมกับ ประชาชนชาวไทย จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษและสร้างพุทธมณฑลเป็นพุทธบูชา”
จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับองค์จำลอง “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ออกแบบโดย ศิลป์ พีระศรี

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save