fbpx

ประวัติศาสตร์สร้างตัวตน ประชาชนจึงต้องสร้างประวัติศาสตร์: คุยกับพริษฐ์ ชิวารักษ์

“ประวัติศาสตร์ย่อมสร้างตัวตน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอยู่เรื่อยมา … ผมขอให้เรา ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกท่าน ได้ตระหนักถึงภาระและพลังที่ตัวเรามีต่อสังคม ท่านปรารถนาจะเห็นสังคมแบบใด โปรดรื้อฟื้นและเรียบเรียงประวัติศาสตร์ในแบบนั้น”

ข้อความข้างต้นเป็นบทส่งท้ายที่ ‘เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ตั้งใจสื่อสารกับว่าที่นักประวัติศาสตร์ ซึ่งควรจะได้กล่าวในปาฐกถา ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ ณ โครงการประชุมวิชาการในวาระครบรอบ 55 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่งานดังกล่าวกลับถูกยกเลิกไปหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมขององค์ปาฐกอย่างพริษฐ์ ที่เคยมีคดีความตามมาตรา 112 และเขาอาจไม่ใช่ ‘นักประวัติศาสตร์’ ในแบบที่บางคนตีกรอบ

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการตั้งคำถามถึงเสรีภาพทางวิชาการ ไปจนถึงเสรีภาพในการตีความ ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ ที่มักผูกขาดไว้กับประวัติศาสตร์กระแสหลักซึ่งมีเพียงกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ไม่เปิดกว้างให้หลากหลาย และอาจไม่ได้สะท้อนถึงเรื่องราวของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

101 จึงชวน เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เจ้าของคอลัมน์ ‘ของบ่เล่ารู้ลืม’ ใน The101.world มากล่าวปาฐกถาต้องห้ามและร่วมสนทนาถึงบทบาทของนักประวัติศาสตร์ และความสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์ชาติด้วยประวัติศาสตร์ประชาชน ในรายการ 101 One-on-One Ep.299 ปาฐกถาต้องห้าม ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์


หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One Ep.299 ปาฐกถาต้องห้าม ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และท่านผู้อ่านสามารถอ่านคำปาฐกถาเรื่อง ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ หรือ ‘เขียนประวัติศาสตร์ชาติด้วยประวัติศาสตร์ประชาชน’ ได้ที่นี่

หลายคนตั้งคำถามว่าคุณไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ทำไมจึงมีสิทธิพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ทำไมเราต้องเชื่อประวัติศาสตร์จากปากของคุณ

ประวัติศาสตร์คือความทรงจำร่วมของคนในสังคม ใครก็ตามที่สนใจศึกษาว่าอดีตกาลของสังคมนี้เป็นอย่างไร แล้วอยากจะเอามาเล่าต่อ ก็เป็นนักประวัติศาสตร์ทั้งนั้น อย่างกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย นักประวัติศาสตร์หลายท่านที่เราอ่านผลงานก็ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย และในทางปฏิบัติ หลายครั้งที่อาจารย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยอยากจะเขียนประวัติศาสตร์ ก็ต้องไปสัมภาษณ์คนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าคุณคิดยังไง คุณรู้เรื่องอะไรบ้างในเรื่องของชุมชนของคุณ เพื่อจะเอามาเรียบเรียงเป็นประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

ผมคิดว่าความน่าเชื่อถือของประวัติศาสตร์อยู่ที่เนื้อหาว่าสิ่งที่เสนอมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า มีหลักฐานมาสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ประวัติศาสตร์เป็นจินตนาการ…ซึ่งก็จะเป็นประเด็นอีกว่าเป็นจินตนาการที่ตรงใจหรือเปล่า ผมไม่คิดว่าคนไทยซีเรียสกับความน่าเชื่อถือของประวัติศาสตร์ขนาดนั้นนะ คนจำนวนมากยังเชื่ออยู่เลยพระเจ้าตากหนีไปบวชอยู่นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าแกะรอยกลับไป เรื่องนี้มาจากหนังสือธรรมะของพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เขาบอกว่านั่งสมาธิแล้วเห็นว่าพระเจ้าตากไปอยู่นครศรีธรรมราช แต่มีคนจำนวนมากไม่ได้เช็กว่าเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร มันจริงหรือไม่ และบอกว่านี่คือประวัติศาสตร์

ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่ตัวคนพูด แต่อยู่ที่ว่าคนฟังได้ตรวจสอบไหมว่าเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร มีหลักฐานอะไรมารองรับ


คุณบอกว่าเรามีชุดประวัติศาสตร์ในหัวที่ไม่เหมือนกัน เพราะอุดมการณ์เราไม่ตรงกัน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าประวัติศาสตร์ชุดไหนจริงกว่ากัน เราควรมองเรื่องความจริงของประวัติศาสตร์อย่างไร

เวลาไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไหนจะชอบมีคนถามว่า “มึงเกิดทันเหรอ” คือผมก็เกิดไม่ทันหรอก แต่ที่คุณเชื่อเรื่องพระนเรศวรทำยุทธหัตถีหรือพระเจ้าตากฝ่าวงล้อมนี่คุณเกิดทันเหรอ ไม่มีใครเกิดทันสักคน หรือต่อให้เกิดทันก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะเห็นภาพรวมของทุกอย่าง

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ไม่มีความจริงแท้ ความจริงแท้มีหรือเปล่าในโลกนี้ยังไม่แน่ใจเลย เรื่องในปัจจุบันหลายเรื่องเราก็ไม่สามารถเห็นความจริงได้ทั้งหมด เพราะต่างคนต่างมุมมอง ซึ่งทุกมุมมองอาจจะจริงหมดก็ได้ แต่อาจเป็นความจริงที่ขัดแย้งกัน ดังนั้นประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของความจริง แต่เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรน่าเชื่อถือหรือไม่ มันก็มีขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์ เช่น เราเจอเรื่องเล่าในเอกสารแต่ละฉบับที่ขัดแย้งกัน เราก็ต้องวินิจฉัยว่าเอกสารชิ้นไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน เช่น อันนี้เขียนก่อน อันนี้มีผลประโยชน์แอบแฝง อันนี้เป็นคำบอกเล่าของคนนอก อันนี้ฟังมาหลายทอดแล้วอาจจะเพี้ยน เป็นต้น ถ้าเราอ่านมากพอแล้วใส่ใจไปดูว่าที่มาของแต่ละเรื่องว่ามาจากไหน มันก็จะทำให้เรามีมาตรวัดในใจได้มากขึ้นว่าเรื่องที่เราได้ยินมาน่าเชื่อถือหรือเปล่า


ถ้าเราไม่มีเวลาไปค้นคว้าหาที่มาของประวัติศาสตร์ต่างๆ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเข้าใจประวัติศาสตร์

เพราะอย่างนี้จึงต้องมีอาชีพนักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเวลาไปค้น จึงต้องมีคนไปค้นให้ หรือถ้าเราไม่มีโอกาสไปจับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวเองก็สามารถอ่านให้มากจากคนไปค้นไว้แล้วได้ แต่ให้อ่านจากหลายคน เพราะแต่ละคนจะมีการตีความต่างกัน อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล นิยามประวัติศาสตร์ไว้ว่ามันคือกิจกรรมในความคิด คือมันต้องคิดขึ้นมาและเอาความคิดที่ต่างกันมาถกเถียงกัน ซึ่งการถกเถียงคือแก่นของประวัติศาสตร์ ทำให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่มีชีวิต


คำว่า ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าคือสิ่งที่เรียนมาในแบบเรียน แต่ก็มีคำว่า ‘ประวัติศาสตร์ของประชาชน’ สองอย่างนี้ขัดแย้งกันแค่ไหน อะไรน่าเชื่อถือกว่า

ประวัติศาสตร์แห่งชาติหรือประวัติศาสตร์ฉบับทางการ คือประวัติศาสตร์ที่ภาครัฐรับรองว่าเห็นชอบ แต่คุณจะชอบเหมือนภาครัฐหรือเปล่าก็ต้องลองใช้วิจารณญาณ สถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการมีอำนาจไม่ได้แปลว่าคุณจะถูกต้อง การมีอำนาจไม่ได้แปลว่าคุณจะน่าเชื่อถือ เพียงแต่มันทำให้ประวัติศาสตร์ชุดนั้นเป็นทางการ แต่จะเชื่อหรือไม่แล้วแต่

เมื่อถามว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติกับประวัติศาสตร์ประชาชนขัดแย้งกันหรือไม่ ที่จริงคำว่า ‘ชาติ’ เป็นคำกลางๆ แต่มีความหมายกำกวมและเลือนราง มีช่องว่างให้คนสามารถแทรกความหมายเข้าไปในคำว่าชาติได้หมด คนที่เห็นว่าราชาเป็นเรื่องสำคัญในสังคม ก็จะแทรกคำว่าราชาเข้าไป เป็น ‘ราชาชาติ’ คนที่เห็นว่าประชาเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในสังคม ก็จะแทรกคำว่าประชาเป็น ‘ประชาชาติ’ คำว่าชาติจึงมีความหมายอื่นๆ ที่พ่วงเข้ามาตามแต่สภาพการเมือง

ถ้าพูดแบบมองโลกในแง่ร้าย ประวัติศาสตร์เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับปัจจุบัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในปัจจุบันมีขนบธรรมเนียมเรื่อยมา ฝ่ายที่เห็นด้วยว่าชาติต้องมีราชาเป็นแก่นกลาง ก็จะต้องเขียนประวัติศาสตร์ให้เต็มไปด้วยราชา ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าประชาควรเป็นแก่นของชาติก็ต้องช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชนให้มาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ

ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทำลายรื้อถอนประวัติศาสตร์ชาตินะ ทุกประเทศต้องเรียนประวัติศาสตร์ชาติของตัวเอง แต่เขาต้องรู้ประวัติศาสตร์ที่อื่นด้วย ต้องเรียนเรื่องโลกด้วย ประชาชนจะได้มีทรรศนะเปิดกว้าง และชาติก็ควรจะเป็นชาติที่ประกอบไปด้วยความหลากหลาย ควรจะมีประชาชนเข้าไปอยู่ในชาติด้วย

เราท่องได้หมดว่าใครสร้างกรุงศรีอยุธยา ใครตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เรากลับตอบไม่ได้ว่าใครทอดไก่ขายในกรุงเทพฯ เป็นคนแรก ในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับเรื่องทำนองนี้มากเลย มีป้ายไปปักไว้ เช่น โรงงานนี้เป็นโรงงานแรกที่ผลิตไอติมขาย ในขณะที่เราไม่ได้ไปศึกษาว่า ใครขายผัดกะเพราเป็นคนแรก การมีประวัติศาสตร์ใกล้ตัวจะทำให้คนได้ฉุกคิดเวลาใช้ชีวิตประจำวัน สมมติเราตั้งต้นจากการเรียนประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ผมถามจริงๆ ว่าชีวิตคนเราจะได้มีโอกาสเห็นคนสร้างกรุงกี่ครั้ง ไม่มีหรอกใช่ไหม แต่คนเรากินผัดกะเพราทุกวัน ถ้าเราได้เรียนประวัติศาสตร์กะเพราบ้างก็จะไปกระตุ้นต่อมประวัติศาสตร์ในตัว เวลาไปกินนู่นทำนี่ ก็จะตระหนักว่าทุกอย่างรอบตัวมีประวัติศาสตร์ ผมมองว่าประวัติศาสตร์มีมิติได้มากกว่านั้น


สังคมไทยตอนนี้มีหนังสือประวัติศาสตร์ให้อ่านมากมาย มีรายการที่พูดถึงประวัติศาสตร์โดยตรงหลายรายการ หรือแม้แต่วันนี้เราก็มาคุยเรื่องประวัติศาสตร์ คุณมองว่าเสรีภาพในการพูดเรื่องประวัติศาสตร์ของคนไทยดีขึ้นบ้างไหม หลากหลายขึ้นไหม

ดีขึ้นเยอะครับ ดีกว่าตอนผมเป็นเด็กเยอะ แต่ผมได้ยินมาว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เด็กได้เรียนในยุคนี้แย่มาก เน้นเรื่องความเชื่อมากๆ จึงยิ่งทำให้มันดูไม่น่าเชื่อถือ กฎในการเขียนประวัติศาสตร์คือยิ่งเข้าข้างใครมากไป คนอ่านจะยิ่งเห็น และเกิดความสงสัยในตำราเรียนที่ดูไม่น่าเชื่อถือ จึงไปหาอ่านในอินเทอร์เน็ตแล้วเจอประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของตัวตน พอไปเจอตัวตนอีกแบบหนึ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้ จึงเกิดปรากฏการณ์ตาสว่าง

ดังนั้น คนที่มีโอกาสในการทำงานวิชาการและทำงานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงทุกคนที่ก็มีความเป็นนักประวัติศาสตร์อยู่ไม่มากก็น้อย จึงควรใช้โอกาสที่เราศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาสร้างตัวตนใหม่ ปลุกฟื้นความเป็นมาที่ถูกปิดบังไว้ให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคมนี้

คุณเขียนคอลัมน์ ‘ของบ่เล่ารู้ลืม’ ถึงประวัติศาสตร์ล้านนา ทำไมจึงต้องเป็นประวัติศาสตร์ล้านนา แล้วคนล้านนากับคนภาคเหนือของประเทศไทยเหมือนกันไหม

คนเมือง คนเหนือ คนล้านนา คนญวณ แล้วแต่ว่าจะเรียกว่าอะไร แต่เหตุที่ผมเลือกใช้คำว่าล้านนาเพราะมันชัดเจนกว่า ข้อแรกคือถ้าเรียกว่า ‘เหนือ’ มันต้องมีกลางถูกไหม แล้วทำไมเราไม่เรียกภาคเหนือว่าคือภาคกลางแล้วที่เหลือคือภาคใต้ล่ะ การกำหนดว่าใครอยู่ตรงกลางมันก็เป็นการใช้อำนาจอยู่ในที ข้อที่สอง คือคำว่าล้านนาไม่จำกัดอยู่แค่ในเขตแดนประเทศไทย มีส่วนที่เคยเป็นล้านนาที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันด้วย ล่าสุดที่ได้คุยกับคนที่ไม่ได้ศึกษาทางประวัติศาสตร์โดยตรง แต่ศึกษาทางคติชน เขามองว่าไม่ว่าจะเป็นเชียงตุงที่อยู่ในพม่า เชียงรุ่งที่อยู่ในจีน และเชียงใหม่ เขามองว่าเป็นล้านนาหมดเพราะใช้ตัวอักษรตัวเดียวกัน แต่พอเป็นประวัติศาสตร์ไทย เราจะจั่วหัวไว้ก่อนแล้วว่าประวัติศาสตร์ล้านนาคืออดีตของภาคเหนือ แสดงว่าอะไรที่อยู่นอกภาคเหนือของไทยก็จะไม่ถูกพิจารณานัก

เราก็เลยเลือกใช้คำว่าล้านนา เพราะมันกว้างและครอบคลุม และที่สำคัญคือล้านนาไม่ต้องอธิบายว่าเป็นของใคร คำว่าเหนือต้องมีคำต่อท้ายว่าเหนือของใคร เหนือของฝรั่งเศส เหนือของญี่ปุ่น หรือเหนือของไทย แต่ล้านนาก็คือล้านนา


ถ้าคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอาจไม่ชอบหรือเปล่า เขาอาจบอกว่าคุณต้องเป็นคนภาคเหนือของไทย จะไปเป็นล้านนาได้ยังไง

ผมว่าไม่มีนะ ล้านนาเป็นนิยามที่ทุกคนยอมรับ สมัยก่อนอาจจะมี ‘ลานนา’ ซึ่งไม่เหมือนกัน

ความหมายของ ‘ล้านนา’ คือมีนาเป็นล้าน ตรงตัวเลย นาที่ว่าไม่ได้หมายถึงนาข้าวอย่างเดียว แต่คือศักดินา หมายความว่ามีศักดินาเป็นล้าน ในปรากฏการณ์ของสังคมจะมีคำหนึ่งที่เรียกว่า ‘ยศเฟ้อ’ เช่น ในภาคกลางสมัยก่อน คนเป็นขุนก็ถือว่าเป็นกษัตริย์แล้ว สักพักหนึ่งเป็นขุนไม่พอ ต้องเป็นพระต้องเป็นหลวงถึงจะเป็นกษัตริย์ สักพักหนึ่งต้องเป็นพระยาจึงจะเป็นกษัตริย์ ต่อมาทั้งขุน หลวง พระยาเป็นแค่ขุนนาง ไม่ได้เป็นกษัตริย์ ยศมีโอกาสขยายไปเรื่อยๆ สมัยก่อนมีนาร้อยก็เป็นกษัตริย์ได้แล้ว พออาณาจักรเริ่มขยาย ต้องเป็นพัน หมื่น แสน จนมาลงตัวที่ล้าน ที่เขาใช้ล้าน เพราะคนเหนือเวลาเจออะไรใหญ่ๆ มหาศาลเกินกว่าจะพรรณนา เขาก็ปัดให้เป็นล้านหมด ดังนั้นล้านนาคือมีนามากมายมหาศาล ไม่มีใครสู้ได้ คำว่าล้านนาจึงแปลว่าอาณาจักรได้ด้วย

ส่วนคำว่า ‘ลานนา’ ผมสันนิษฐานเป็นการส่วนตัวว่ามาจากรสนิยมของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คำว่าลานนาปรากฏในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่คนกรุงเทพฯ ไปเรียกคนล้านนาว่าลานนา แต่ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ เขาก็ทราบว่ามันคือล้านนา เพราะพอล้านนามาเป็นประเทศราชของกรุงเทพฯ แล้วเขาก็แต่งตั้งยศเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้เป็น ‘สุนทรทศลักษณเกษตร’ ซึ่งทศแปลว่าสิบ ลักษแปลว่าแสน เกษตรแปลว่านา สิบแสนนาก็คือล้านนา เพียงแต่คนสมัยก่อนเวลาบันทึกเขาไม่ได้เคร่งครัดเรื่องวรรณยุกต์ หรือบางทีก็ไม่ใส่เลย ให้คนอ่านจินตนาการเอาเองว่าคือวรรณยุกต์อะไร

โดยสรุปแล้ว คำว่าลานนาจะมีเซนส์ของความเป็นปากเป็นลิ้นของคนกรุงเทพฯ เขาก็เลยรณรงค์มาให้เติมไม้โทด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่ตรงกับสิ่งที่พบในพื้นถิ่น


เวลาเราพูดถึงนักประวัติศาสตร์ ภาพจินตนาการคือต้องหมกตัวอยู่ในห้องสมุด เปิดหนังสือเก่าคร่ำครึที่มีฝุ่นลอยคลุ้ง แต่จริงๆ แล้ววิธีการศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นไหมและต้องทำอย่างอื่นประกอบกันด้วยหรือเปล่า

ประวัติศาสตร์ศึกษาได้หลายแบบ ผมชื่นชมคนที่ทำงานกับเอกสารเก่าๆ นะ เพราะมันยาก การเข้าหอจดหมายเหตุไปอ่านสิ่งต่างๆ มีข้อดีคือเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยคุณจะแม่นมาก แต่ประวัติศาสตร์เกิดได้จากหลายอย่าง ทั้งความรู้สึก เรื่องเล่า หรือเรื่องที่เขาเคยถกกันมาแล้ว พอไปเจอข้อมูลใหม่ ก็เอาข้อมูลต่อจากนั้นมาตีความใหม่กับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือจากที่มีคนตีความไว้แล้วก็ทำได้

เพื่อนๆ ที่เรียนประวัติศาสตร์เขาคือคนที่อยู่กับอดีต ศึกษาอดีตมาจะเห็นอนาคต จะเห็นว่าถนนที่เดินกันมาจะเลี้ยวออกมาทางไหน แล้วจะเดาต่อได้ว่าเดี๋ยวจะเลี้ยวไปไหนต่อ แต่มีรุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า นักประวัติศาสตร์หลายคนไม่อยากมายุ่งกับเหตุการณ์ทางการเมือง เพราะเขารู้สึกว่าเขามีหน้าที่บันทึก ถ้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ เข้าไปเป็นคนในประวัติศาสตร์เสียเองเดี๋ยวคนจะหาว่าไม่เป็นกลางในการบันทึกประวัติศาสตร์ ดังนั้นก็เป็นปัญหาเหมือนกับวิชาชีพอื่น คือต้องเป็นกลาง แต่ความเป็นกลางมีจริงไหม เราจะสามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นอาจารย์ธงชัยจะไม่สามารถพูดเรื่อง 6 ตุลาได้เลย เพราะเขาก็เป็นคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดสำหรับวงวิชาการไทย ข้อที่หนึ่งคือทุกคนมีความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ไปในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว เปล่าประโยชน์ที่จะไปซ่อนเร้นว่าฉันเป็นกลางในเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์จำนวนมากรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้พิพากษาของกาลเวลา พอมีเรื่องราวในอดีตกาลแล้วมักมีความเห็นว่ามันดีชั่วอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของนักประวัติศาสตร์ในสมัยศักดินาที่ชอบบอกว่ากษัตริย์องค์นี้ดี องค์นี้ไม่ดี หรือถ้าเป็นประเทศจีนก็จะเป็นอาลักษณ์ที่มานั่งวิจารณ์รัชกาลที่แล้วว่าทำอะไรบกพร่องบ้าง แต่ตอนนี้เราไม่ได้เป็นอาลักษณ์ในหอหลวงอีกแล้ว แต่เราเป็นพลเมือง การที่คุณเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ประวัติศาสตร์ที่ออกมาไม่น่าเชื่อถือ ในบางครั้งมันอาจทำให้น่าเชื่อถือขึ้นด้วยซ้ำ เพราะทำให้สิ่งที่คุณเขียนเป็นหลักฐานชั้นต้น เพราะตัวคุณอยู่ตรงนั้น

ถึงจะเป็นคนที่ไม่ได้ออกตัวทางการเมือง เขาอาจจะมีอคติแต่ไม่พูดออกมาก็ได้ เขาก็พูดผ่านงานประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง ทุกคนมีอคติหมด ดังนั้นก็อย่าไปพิรี้พิไรเลย เพราะไม่ว่าเราจะออกตัวทางการเมืองในช่วงชีวิตเราหรือไม่ คนรุ่นหลังเข้ามาดู เขาก็ต้องกลั่นกรองของเขาเองอีกอยู่ดี ทุกคนก็มีวิจารณญาณกันหมด


พูดได้ไหมว่านักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันสามารถสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองได้เหมือนกัน

แน่นอน ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความจริงแท้ ไม่ได้ดำรงอยู่ตั้งแต่โลกสร้าง ต้องมีมนุษย์เขียนจึงจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตแต่ไม่สลักสำคัญ เช่น เมื่อกี้ผมกินอะไรหรือวันนี้ผมตื่นนอนกี่โมง ทุกอย่างเป็นอดีตกาลทั้งนั้น แต่ไม่มีใครคิดว่าต้องจำ ขนาดผมเองยังไม่จำเลย มันก็จะไม่เป็นประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์จะบันทึกเฉพาะเรื่องสำคัญ แต่การมองว่าอะไรสำคัญหรือไม่นั้นเป็นวิจารณญาณ

ความทรงจำของประวัติศาสตร์มันกระจัดกระจายหลายเรื่อง หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์คือไปหยิบจับความทรงจำมาร้อยเรียงจนเป็นเรื่องๆ หนึ่ง เพราะว่าคนเราจดจำได้กระท่อนกระแท่นอยู่แล้ว เราไม่ใช่กล้องวงจรปิดที่กรอเทปดูได้หมด เหมือนผืนผ้าขาดที่เราต้องเก็บมาเย็บให้เป็นผืนผ้าที่ใหญ่พอที่คนอื่นเข้ามาดูแล้วจะรู้เรื่องว่ามันเป็นผ้าแบบไหน ซึ่งเราจะหยิบชิ้นไหนมาบ้าง เย็บไปในทางไหน ใช้อะไรเย็บ ใช้ด้ายสีอะไรนั้นถือเป็นเอกสิทธิ์ของนักประวัติศาสตร์  เอกสิทธิ์ของคนเขียนว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร

จากในปาฐกถา ผมจึงต้องการให้นักศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ซึ่งจะมาเข้าร่วมการประชุมวิชาการได้ตระหนักไว้ว่าศาสตร์ของเรามีพลัง มันสามารถที่จะขับเคลื่อนสังคมได้ เพราะว่าประวัติศาสตร์เป็นแรงบันดาลใจให้คนหลายคนได้เสมอ


จะแนะนำให้คนไปศึกษาเหตุการณ์ไหนหรือช่วงใดในประวัติศาสตร์ เพื่อย้อนมามองการเมืองไทยปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ช่วงปลาย ร.6 ถึงช่วงต้น ร.7 ผมนึกถึงคำโบราณว่าประวัติศาสตร์ซ้ำร้อย ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าประวัติศาสตร์มีจังหวะของมัน เช่น ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาเท่านี้ เพราะเหตุปัจจัยนี้ แล้วมันก็จะเป็นขยักแบบนี้ เป็นวัฏจัก นึกถึงช่วงก่อน พ.ศ. 2475 คนนึกว่าเป็นครั้งแรกที่มีการท้าทายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จริงๆ แล้วมีช่วงกบฏ ร.ศ.130 (พ.ศ. 2455) ที่มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ แต่ไม่สำเร็จและโดนจับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือหมอเหล็ง ศรีจันทร์ แกนนำกบฏ ร.ศ. 130 พูดไว้ขณะโดนสอบปากคำว่า “พวกเราควรจะซื่อตรงต่อชาติไทยของเรา ไม่ควรจะคิดกตัญญูต่อคนคนเดียว… คือพระเจ้าอยู่หัว”

20 ปีหลังจากกบฏ ร.ศ. 130 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 หลายคนบอกว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม แต่ถ้าไปศึกษาสำรวจความคิดของผู้คนในสังคม ทุกคนรวมถึง ร.7 เองก็ทราบอยู่แล้วว่าสักวันหนึ่งจะมีเหตุทำนองนี้เกิดขึ้น ทุกคนรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในสังคมไทยก็เคยเกิดขึ้นตอนนั้น ดังนั้น ถ้าอยากเข้าใจว่าอุณหภูมิสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ไปดูอุณหภูมิสังคมตอนนั้นได้


การมองประวัติศาสตร์ในมุมที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร

ประวัติศาสตร์สร้างตัวตนของคน เวลาเราใช้ชีวิตในปัจจุบัน เราจะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นทายาทของอะไรสักอย่างหนึ่งและมันจะส่งผลต่อชีวิตเราไม่มากก็น้อย การมีประวัติศาสตร์หลายฉบับจึงเป็นการเปิดตัวเลือกว่าคุณคิดว่าตัวเองเป็นใครในสังคม สังคมนี้ควรจะเป็นอย่างไร ถ้าพูดอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดคือ คุณคิดว่าทำไมคนจึงเป็นสลิ่มล่ะ หนึ่งในเหตุผลก็เป็นเพราะประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมใช่ไหม เพราะว่าเขาถูกเสี้ยมสอนมาใช่ไหมว่าแผ่นดินนี้เกิดมาได้เพราะใคร เขาก็ไม่ผิด แต่เรามีสิทธิที่จะอธิบายอีกแบบได้ เรื่องที่ผิดคือการปิดกั้นไม่ให้คนอื่นได้อธิบายอีกแบบหนึ่ง

ดังนั้น จินตนาการในประวัติศาสตร์คนละแบบจะนำมาสู่ปัจจุบันคนละแบบ ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเจ้าขุนมูลนายก็จะเป็นการกล่อมเกลาสำนึกไปในตัว การมีเจ้าขุนมูลนายในสังคมปัจจุบันเยอะก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องของคนธรรมดาที่มีบทบาทในการสร้างสังคม คนธรรมดาที่ถวิลหาความเปลี่ยนแปลง คนในสังคมปัจจุบันก็จะรู้สึกว่าเราสามารถเป็นคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการสร้างประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากกระแสหลักจะทำให้เกิดพลังที่จะขับเคลื่อนสังคมปัจจุบันได้


อยากเห็นโลกของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในไทยเติบโตไปในทิศทางไหน

อยากให้วงการประวัติศาสตร์มีความหลากหลายมากกว่านี้ เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้วงการประวัติศาสตร์ในไทยยังไม่ค่อยดี แต่ก็ไม่ได้แย่มาก มีความหลากหลายในความสนใจประมาณหนึ่ง แต่ควรจะมีได้มากกว่านี้ ทั้งหัวข้อที่จะศึกษา พื้นที่ที่จะศึกษา แง่มุมที่จะศึกษา ควรมีเสรีภาพในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยโดยไม่ติดข้อจำกัดหรือติดกรอบความคิด

ยกตัวอย่างอุปสรรคในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผมเจอ หนึ่งคือมันถูกกำกับด้วยกรอบประวัติศาสตร์สยามไม่มากก็น้อย เช่น เวลาเราแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ล้านนาแล้วต้องไปยึดกับการตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม สองคือกรอบกฎหมาย มีหลายเรื่องที่ในปัจจุบันพูดถึงไม่ได้ พวกคดีความที่ผมโดนดำเนินคดีอยู่ครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ สุดท้ายก็คือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้แก่เอกสารทั้งหลาย ควรมีการดูแลและส่งเสริมให้สาธารณชนเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้


มีนักประวัติศาสตร์ในดวงใจไหม

แนวคิดหลักของบทปาฐกถาเรื่องนี้ ผมยกให้จิตร ภูมิศักดิ์ เพราะจิตรเคยเขียนเรื่อง ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ โดยมีแนวคิดหลักว่า ศิลปินทั้งหลาย อย่าไปมัวแต่คิดว่าศิลปะมันวิลิศมาหราแล้วก็นั่งฟินอยู่คนเดียว ให้นึกถึงด้วยว่าศิลปะนั้นจะรับใช้สังคมยังไง

ดังนั้นผมก็จะพูดเหมือนกันว่า นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายอย่านั่งฟินกับเอกสาร นั่งฟินกันอยู่ในห้อง รู้อะไรแล้วมาแบ่งปันกันด้วย มาเผื่อแผ่ให้สังคมได้รู้ และตระหนักตลอดเวลาว่าทุกตัวอักษรที่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่คุณไปค้นคว้าตามหลักการที่ร่ำเรียนมามันขับเคลื่อนสังคมไปด้วยเหมือนกัน มันคือประวัติศาสตร์เพื่อสังคม ประวัติศาสตร์เพื่อชีวิต ผมไม่ได้เห็นด้วยกับจิตร ภูมิศักดิ์ทุกเรื่อง แต่สปิริตแบบนี้สามารถอยู่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save