fbpx

คำปาฐกถาเรื่อง ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ หรือ ‘เขียนประวัติศาสตร์ชาติด้วยประวัติศาสตร์ประชาชน’

*หมายเหตุ เนื้อหาของปาฐกถาบทนี้ แต่เดิมพริษฐ์ตั้งใจจะกล่าวในโครงการประชุมวิชาการในวาระครบรอบ 55 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่งานถูกยกเลิกไปเมื่อมีประเด็นการถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการเป็นองค์ปาฐกของพริษฐ์ ชิวารักษ์ เพราะเคยมีคดีมาตรา 112

ฟังคำปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่นี่ ปาฐกถาต้องห้าม ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 101 One-on-One Ep.299

สวัสดีเพื่อนพี่น้องผู้รักประวัติศาสตร์ทุกท่าน

เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งที่ผมไม่ได้มีโอกาสได้กล่าวคำปาฐกถานี้กับท่านโดยตรง เนื่องจากงานประชุมทางวิชาการที่ผมจะได้เจอกับทุกท่านได้ถูกยกเลิกไป ต้องขอขอบคุณทางทีมงาน 101 ที่ให้โอกาสผมได้กล่าวปาฐกถานี้ในช่องทางของทางรายการ เดิมผมตั้งใจจะหยิบยกเนื้อหาหลายเรื่องมาพูดคุยกับทุกท่านให้เหมาะสมกับเวลาที่ทางผู้จัดงานได้ให้ไว้เป็นเวลาถึงสองชั่วโมง แต่เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาของรายการ จะขอใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงในการกล่าวสาระสำคัญของคำปาฐกถาที่ได้เตรียมไว้ โดยผมต้องขอออกตัวอย่างนอบน้อมว่าผมมิได้เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพในสถาบันอุดมศึกษาแห่งใด ทั้งมิได้จบการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์มาโดยตรง หากแต่เป็นผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับทุกท่าน จึงมิได้มุ่งหมายจะมากล่าวถึงเนื้อหาประวัติศาสตร์อันสูงส่งซับซ้อนแต่ประการใด เพราะจะเป็นสอนหนังสือสังฆราช สอนประวัติศาสตร์ให้นักประวัติศาสตร์ เพียงแต่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในบางประเด็นเพียงเท่านั้น

ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ฟังอยู่เป็นผู้หลงรักวิชาประวัติศาสตร์ แต่ละท่านคงจะมีเหตุผลที่ได้มาตกหลุมรักวิชานี้แตกต่างกันไป โดยส่วนตัวของผม ผมหลงรักวิชานี้ ส่วนหนึ่งด้วยนิสัยรักการอ่านของผม และอีกส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยของคุณครูท่านหนึ่งที่ผมได้พบในชีวิตช่วงประถมของผม ในคาบแรกของการเรียน อาจารย์ท่านนี้มอบหมายการบ้านให้นักเรียนไปสอบถามความเป็นมาของครอบครัวตัวเอง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายของตัวเองเป็นใคร มาจากไหน ประกอบอาชีพอะไร ใช้ชีวิตมาอย่างไร ในคาบต่อมาก็ให้การบ้านนักเรียนไปค้นคว้าประวัติที่มาของตรอก ซอก ซอย ถนน หมู่บ้าน เขต แขวง ตำบล อำเภอ ละแวกบ้านของเรา ถัดจากนั้น จึงเป็นเรื่องเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ระดับชาติที่เราสนใจ ก่อนจะสรุปร่วมกันในห้องว่า ประวัติศาสตร์มีอยู่ในทุกแห่งหน รวมถึงในตัวเราทุกคนด้วย เพราะทุกสิ่งย่อมมีที่มาที่ไปของมัน โดยประวัติศาสตร์ของทุกสิ่งในทุกระดับย่อมมีความสัมพันธ์กัน เช่นเดียวกับที่ชีวิตของเราในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกรอบตัวเรา และมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเราเช่นกัน

การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ผมได้พบเจอมาดังกล่าวเป็นการเรียนการสอนที่เริ่มต้นจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดคือตัวผู้เรียนและครอบครัว ก่อนที่จะขยายไปถึงชุมชนและสังคมรอบข้าง ไปจนถึงประเทศชาติและโลกกว้างใบนี้ และทำให้เราได้มีหรือค้นพบตัวตนผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่เราอาจใช้มองตัวเองลึกเข้าไปข้างใจหรือมองโลกขยายออกไปข้างนอกก็ได้ ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผม และผมก็ตกหลุมรักประวัติศาสตร์แต่นั้นมา ในทางตรงกันข้าม การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นจากการท่องจำเรื่องใหญ่ๆ ของคนใหญ่ๆ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ยืดยาวพร้อมทั้งวีรกรรมโลดโผนและข้อมูลชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอย่างละเอียดยิบ โดยไม่อาจจะตั้งคำถาม ไม่อาจจะพลิกมุมมอง และที่สำคัญ ไม่อาจจะมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตัวเองในโลกปัจจุบันได้นั้น เป็นการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนตะเกียกตะกายท่ามกลางทะเลข้อมูลที่ซ้ำซากจำเจและไม่มีความสลักสำคัญสำหรับผู้เรียน ไม่ทำให้ผู้เรียนได้เห็นตัวเองในประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นว่ายิ่งเรียนยิ่งหลงทิศ และทำให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวและเสื่อมคุณค่า อย่างดีก็เป็นนิยายชวนฝันแนวจักรๆ วงศ์ๆ ไว้ฟังเพลินๆ อย่างร้ายก็กลายเป็นยาขมที่ทำให้หลายคนขยาดไม่อยากจะเฉียดกรายวิชานี้อีก

ประเด็นปัญหาที่ผมได้ยกมาดังกล่าวนี้ ดูเผินๆ จะเป็นปัญหาของการจัดการศึกษาในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพียงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วก็สะท้อนปัญหาบทบาทของประวัติศาสตร์ในสังคมไทยด้วยเช่นกัน ประการแรก ประวัติศาสตร์ในตำราเรียนมักเป็นกระจกสะท้อนความคิดกระแสหลักของแวดวงประวัติศาสตร์ในสังคมนั้นๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้จะการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยจะเฟื่องฟูก้าวหน้าขึ้นจนเกิดเป็นสกุลความคิดต่างๆ มากมายที่ได้ก้าวข้ามประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แต่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศนี้จำนวนไม่น้อยก็ยังคงมีความคิดในทำนองเดียวกับที่ปรากฏในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์

ประการที่สอง การเลือกประวัติศาสตร์ฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาประกอบการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่อำนาจกำหนดหลักสูตรประวัติศาสตร์ถูกผูกขาดไว้ที่ศูนย์กลางรัฐเช่นประเทศไทย ย่อมเป็นการประทับรับรอง ‘ความเป็นทางการ’ ให้กับประวัติศาสตร์ชุดนั้นๆ โดยอำนาจของรัฐ ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการจึงมีสถานะเป็น ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ฉบับอื่นๆ

ประการที่สาม เมื่อประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งได้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติแล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็นจินตนาการแห่งชาติตามไปด้วย เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในสารตั้งต้นที่สำคัญและออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้แรงยิ่งสำหรับการสังเคราะห์ความเป็นชาติ อันเป็นสิ่งที่เราท่านต่างสัมผัสได้ แต่ยากที่จะนิยามได้แน่นอนว่าคืออะไร ไม่เพียงเท่านั้น พลังของประวัติศาสตร์ในสังคมไทยนั้น ท่านสามารถสัมผัสได้จากถ้อยคำปราศรัยทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา (รวมถึงของตัวผมเองด้วย) ที่มักอ้างถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหวของตนอยู่เสมอ เช่นตัวผมเองก็มักจะกล่าวว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มราษฎรเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎรปี 2475 หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผมก็มักจะกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เป็นผลจากความไม่รู้ประวัติศาสตร์หรือไม่รู้จักบุญคุณของบูรพกษัตริย์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์อยู่ในท่วงทำนองของทุกฝ่ายที่ปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองดำเนินไปในทางใดทางหนึ่งอยู่เสมอ

ที่ผมได้กล่าวว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติคือจินตนาการแห่งชาตินั้น จะต้องขยายความเพิ่มเติมในสองส่วน คือส่วนที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์คือจินตนาการ’ และ ‘จินตนาการแห่งชาติ’ ในส่วนที่ว่าประวัติศาสตร์คือจินตนาการนั้น ต้องเรียนต่อทุกท่านว่าตามนัยที่ครูบาอาจารย์ประวัติศาสตร์หลายท่านในโลกได้เสนอทัศนะไว้แล้ว ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความทรงจำ หากมิใช่ตัวอดีตโดยแท้ เนื่องจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีมากมาย แต่จะมีเฉพาะบางเรื่องที่ผู้คนเห็นว่าสำคัญพอที่จะจดจำและนำมาบันทึกหรือเล่าต่อกันจนเป็นประวัติศาสตร์ ส่วนเรื่องที่ถูกมองว่าไม่มีความสลักสำคัญมากนักก็จะไม่ถูกจดจำและไม่กลายเป็นประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังเป็นเรื่องของความเข้าใจที่คนในปัจจุบันมีต่ออดีต ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่นเดียวกับที่ความเข้าใจของผู้คนต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยเช่นกัน การเลือกที่จะจำหรือไม่จำ เล่าหรือไม่เล่า บันทึกหรือไม่บันทึกเรื่องราวหนึ่งๆ รวมถึงจะเรื่องราวนั้นๆ อย่างไรก็ย่อมเป็นอำนาจของผู้คนโดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ที่จะบริหารความทรงจำร่วมของสังคม ประวัติศาสตร์จึงเป็นจินตนาการที่คนในยุคสมัยหนึ่งๆ จะมีต่อเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นก่อนหน้ายุคสมัยของตน ซึ่งแน่นอนว่าจินตนาการดังกล่าวย่อมต้องแฝงวาระและมุมมองแห่งยุคสมัยของผู้เขียนและผู้อ่านอยู่ไม่มากก็น้อย เพียงแต่ด้วยจริยธรรมทางวิชาการของโลกสมัยใหม่ ก็เป็นจินตนาการที่คนเขียนมีหน้าที่ใช้จินตนาการได้เท่าที่มีหลักฐานสนับสนุนรองรับ และคนอ่านมีจินตนาการได้เท่าที่วิจารณญาณของตนจะกำกับเท่านั้น และก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกันที่เมื่อยุคสมัยแปรเปลี่ยน จินตนาการของยุคใหม่จะหักล้างจินตนาการของยุคเก่าไปด้วย

ในอีกส่วนหนึ่งที่ว่าประวัติศาสตร์คือ ‘จินตนาการแห่งชาติ’ นั้น ต้องขอยกความคิดของครูบาอาจารย์ทางประวัติศาสตร์มากล่าวไว้ด้วยเช่นกันว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติ’ นั้นหาได้มีอยู่ในโลกธรรมชาติที่ปราศจากมนุษย์ไม่ หากเป็นจินตนาการที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อให้สามารถมองเห็นและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่กว้างขวางเกินกว่าระยะสายตาในชีวิตประจำวันของตนได้ ตามที่อาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สันได้เสนอไว้ว่า “ชาติคือชุมชนจินตกรรมประเภทหนึ่ง” ที่กล่าวมานี้หมายถึงว่าชุมชนโดยแท้ (True Community) เช่น ครอบครัว เครือญาติ หรือหมู่บ้านนั้น เป็นชุมชนที่ทุกคนได้พบหน้าค่าตากันและรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ความรู้สึกร่วมของชุมชนจึงเกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ในระดับบุคคลระหว่างสมาชิกชุมชน แต่สำหรับชาติซึ่งเป็นชุมชนอันกว้างขวางเกินกว่าที่ทุกคนในชาติจะรู้จักหน้าค่าตากันได้ครบทุกคนนั้น ความรู้สึกร่วมของคนในชาติมิได้เกิดจากสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หากแต่เกิดจากลักษณะบางอย่างที่ถูก ‘คิด’ หรือ ‘สมมติ’ ขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของผู้คนในชาติ ชาติจึงเป็นชุมชนจินตกรรม (Imagined Community) หรือชุมชนที่ถูกคิดหรือสมมติขึ้นมาว่าเป็นคนในชุมชนนั้นเป็น ‘พวกเดียวกัน’ นั่นเอง แน่นอนว่าชุมชนจินตกรรมนี้มีอยู่หลายประเภทนอกเหนือไปจากชาติ เช่น ชุมชนศาสนา ชุมชนอัตลักษณ์ทางเพศ ชุมชนแฟนเพลง กระทั่งชุมชนศิษย์เก่าสถาบันการศึกษา ซึ่งล้วนจะต้องอ้างถึงสายสัมพันธ์อันสมมติมาเป็นอัตลักษณ์ร่วมทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของชุมชนจินตกรรมที่เรียกว่าชาตินี้ ได้อ้างถึงสายสัมพันธ์ประหนึ่งเครือญาติระหว่างคนในชาติซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์เป็นวัตถุดิบสำคัญอันขาดไม่ได้ที่ใช้สำหรับจินตนาการความเป็นชาติขึ้นในใจของผู้คน ระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์สร้างความเข้มขลังให้กับคำว่าชาติ เรื่องราวและตำนานในประวัติศาสตร์กลายเป็นเนื้อหาและสีสันของคำว่าชาติ และบุคคลในประวัติศาสตร์ก็ถูกสถาปนาให้เป็นบรรพบุรุษร่วม ของเครือญาติขนาดใหญ่ที่เรียกว่าชาติ แม้ว่าในแท้จริงแล้ว บุคคลเหล่านั้นอาจไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดแม้น้อยนิดกับคนคนหนึ่งที่มีพื้นเพมาจากซัวเถาแต่กำลังเคลิบเคลิ้มหลงใหลกับมนตราของความเป็นชาติไทยที่ซาบซ่านอยู่ในหัวใจของคนคนนั้น อาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีประวัติศาสตร์แห่งชาติ ก็อาจไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นชาติได้โดยสิ้นเชิง

ประวัติศาสตร์เป็นต้นกำเนิดของจินตนาการว่าด้วยชาติ กระนั้นเอง ชาติก็เป็นต้นกำเนิดของจินตนาการว่าด้วยประวัติศาสตร์ได้ด้วยเช่นกัน เพราะดังที่ได้กล่าวมาก่อนแล้วว่าประวัติศาสตร์เองเป็นเพียงจินตนาการของคนในยุคหนึ่งๆ ต่ออดีต ซึ่งจินตนาการดังกล่าว แม้จะคิดขึ้นมาอย่างเป็นมืออาชีพเพียงใด ก็มักอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสความคิดแห่งยุคสมัยของผู้คิดดำริจินตนาการนั้นๆ ด้วย หากท่านได้อ่านหนังสือหลายๆ เล่มจากหลายๆ ยุคสมัยที่พยายามเรียบเรียง ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ เป็นแบบฉบับต่างๆ กันนั้น ท่านอาจสังเกตได้ว่าแนวคำอธิบายประวัติศาสตร์ รวมถึงเหตุการณ์และบุคคลที่ถูกหยิบยกมาประกอบเนื้อหาของหนังสือประวัติศาสตร์เหล่านี้ ต่างสัมพันธ์กับแนวความคิดของผู้เขียนที่จะเห็นว่า ‘ชาติ’ ตามทัศนะของท่านเหล่านั้นมีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร ดำรงอยู่เพื่ออะไร ด้วยบทบาทของคนกลุ่มใดเป็นหลัก เช่น ประวัติศาสตร์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีแนวคิดที่จะสร้างชาติโดยยึดสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลาง ก็ย่อมต้องกล่าวถึงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และเจ้าขุนมูลนายที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เพื่อขับเน้นบุญญาบารมีของสถาบันและชนชั้นดังกล่าวให้ปรากฏอยู่เหนือความเป็นชาติ ประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเห็นว่าชาติดำรงอยู่ด้วยสามัญชนที่มีความเป็นผู้นำสูง ก็ย่อมต้องกล่าวถึงบทบาทของวีรบุรุษวีรสตรีที่มีพื้นเพเป็นสามัญชน เพื่อแสดงให้เห็นบทบาทและความเป็นไปได้ที่สามัญชนทั่วไปซึ่งมีจิตใจเด็ดเดี่ยวหาญกล้าจะลุกขึ้นมาปกป้องและเป็นผู้นำของชาติได้ หรือประวัติศาสตร์ฉบับของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมที่เห็นว่าชาติเป็นของประชาชนทั่วไปที่ทำงานหล่อเลี้ยงสังคม โดยไม่จำต้องเป็นบุคคลที่โดดเด่นขึ้นโดยเฉพาะ ก็จะต้องกล่าวถึงความเป็นไปในประวัติศาสตร์อันเกิดจากแรงการผลิตของผู้คนชนชั้นกรรมชีพที่สร้างผลิตผลให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้า เป็นต้น ท่านเหล่านี้ที่ได้ยกตัวอย่างมายังมีมิติทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งทุกท่านอาจได้ทราบอยู่แล้ว หรือสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากข้อเขียนทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ของนักประวัติศาสตร์ท่านต่างๆ เช่น ของอาจารย์ Patrick Jory หรือของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นต้น

อาจกล่าวกันต่อไปได้ว่า ประวัติศาสตร์หลากหลายฉบับที่ปรากฏในสังคมไทยทุกวันนี้ล้วนแต่ถูก ‘สมมติ’ ตามแต่ว่า ชาติของเราจะถูก ‘สมมติ’ ขึ้นมาอย่างไร โดยทั่วไปก็มักจะสมมติกันมาว่า ‘สังคมสมมติ’ ที่เรียกว่าชาติของเราเป็นหนึ่งเดียว ประกอบด้วยคนจำพวกเดียว พูดภาษาเดียว มีความคิดความเชื่อแบบเดียว อยู่ภายใต้คนคนเดียว ประวัติศาสตร์แห่งชาติก็จะประกอบด้วยเรื่องราวของคนที่พูดภาษาเดียว นับถือศาสนาเดียว มีความคิดทางการเมืองแบบเดียว และเป็นเรื่องราวของคนในชนชั้นหรือสถาบันเดียว หากพูดอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นเรื่องของคนพูดภาษาไทยสยาม (ไทยภาคกลาง) นับถือศาสนาพุทธเถรวาท เคารพนบนอบต่อผู้มีอำนาจ และอุดมด้วยเรื่องของกษัตริย์ ขุนนาง และเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ไม่ใช่ไพร่ฟ้าประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนมาก ส่วนเรื่องราวของผู้ที่มีลักษณะตรงข้ามหรือแตกต่างจากที่กล่าวมา เช่น เป็นคนพูดภาษาไทยล้านนา หรือลาว หรือมลายูปาตานี หรือเป็นคนเชื้อสายจีน อินเดีย ฯลฯ เข้ารีตศาสนาคริสต์หรือนับถือศาสนาอิสลาม หรือเป็นกบฏชาวนาที่ต่อต้านการปกครองของผู้มีอำนาจ หรือเป็นไพร่ฟ้าข้าทาส กระฎุมพี หรืออาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในชนชั้นปกครอง ก็จะไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงมากนัก แม้จะมีผู้ศึกษาบ้างก็เป็นประวัติศาสตร์กระแสรองเท่านั้น ดังนั้นเอง ผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์มาเบื้องต้นจึงทราบทุกคนว่าสมเด็จพระนเรศวรได้กระทำยุทธหัตถี (ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียง) แต่น้อยคนที่จะนึกถึงว่าในการยุทธหัตถีนั้นมีทหารจตุรงคบาทติดตามไปด้วย และก็แทบจะไม่มีใครนึกออกได้ว่าทหารที่ออกรบในศึกครั้งนั้นถูกเกณฑ์มาจากไหน และถืออาวุธอะไรออกไปรบ ในทางตรงกันข้าม หากเราลองเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติโดย ‘สมมติ’ ว่าชาติของเราประกอบด้วยผู้คนหลากหลายมารวมกัน สุขบ้างทุกข์บ้าง ก้าวหน้าบ้างถอยหลังบ้าง คิดเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง และประกอบด้วยคนทุกชั้นชน เรื่องราวของครูบาศรีวิชัย กบฏบุญกว้าง ผู้มีบุญแดนอีสาน การเรียกร้องของหะยีสุหลง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม หรือกระทั่งชีวิตของแม่ค้า คนงานแบกหาม ชาวนาชาวไร่ แรงงานอพยพ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษของใครหลายคน ก็อาจมีที่มีทางในประวัติศาสตร์แห่งชาติได้อย่างเหมาะสม และนั่นอาจช่วยให้วิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนประถม-มัธยมน่าเบื่อน้อยลงและจับใจผู้เรียนได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่จะก่อรูปความเป็นชาติขึ้นมาในสังคม แต่ยังหล่อหลอมตัวตนจนถึงบุคลิกลักษณะของผู้คนในชาติขึ้นมาด้วย ดังที่ได้อภิปรายเรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์กับการแสวงหาตัวตนของผู้เรียนตั้งแต่ต้นแล้ว ประวัติศาสตร์ที่มีเฉพาะเรื่องราวของคนบางกลุ่มที่มีคุณลักษณะตรงตามที่ประวัติศาสตร์พรรณา และลบเรื่องราวของคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้มีคุณลักษณะเช่นนั้น ย่อมทำให้ตัวตนกลุ่มคนที่ประวัติศาสตร์โอบรับไว้ใหญ่โตเกินสมควร ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวตนของกลุ่มคนที่ถูกประวัติศาสตร์กีดกันไปหดลีบจนสูญเสียตัวตน สูญเสียความเชื่อมั่น ไม่อาจจะยืนหยัดอยู่ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นพลเมืองจนทำให้คนบางกลุ่มต้องไปอ้างอิงเอาอัตลักษณ์ของชนชั้นสถาบันอื่นมาสวมเป็นของตัว แน่นอนว่าสภาวะน่าอึดอัดอันเกิดจากการไม่ได้เป็นตัวเองได้อย่างเท่าเทียมเช่นนี้ย่อมนำพามาสู่วิกฤตอัตลักษณ์และความขัดแย้งทางความคิดอย่างไม่จบไม่สิ้น หากเราจะลองสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับใหม่ที่โอบรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ทุกชาติพันธุ์ภาษา ทุกศาสนา ทุกความเชื่อทางการเมือง ตลอดจนทุกชนชั้นวรรณะ รวมถึงได้ยอมรับเรื่องราวแห่งความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทุกทิศทาง ที่ได้ดำเนินเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ ผมก็เชื่อว่าประวัติศาสตร์ดังนี้ย่อมสร้างเสริมตัวตนให้ผู้คนทั้งสังคมสามารถเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในฐานะปัจเจกชนและในฐานะพลเมืองที่มีขันติธรรม สามารถยอมรับความคิดที่แตกต่าง และร่วมกันกำหนดทิศทางความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้มากกว่าจะชิงชังทำลายล้างกัน ดังเช่นที่ดูจะเป็นทิศทางของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยทุกวันนี้ และที่สำคัญ จะทำให้คนรักวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น การเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชนที่มีความหลากหลายให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติจึงมีความสำคัญทั้งในด้านที่เป็นการก่อรูปความเป็นชาติใหม่ให้เป็นของประชาชน และเป็นการคืนตัวตนและจิตวิญญาณประชาชนให้กับประชาชน และดังที่ทุกท่านทราบว่าในปัจจุบันนี้ สังคมไทยของเรากำลังถกเถียงกันเรื่องนิยามของความเป็นชาติว่าแท้จริงแล้ว ชาติมีความหมายว่าอย่างไร มาจากไหน เป็นของผู้ใด มีผู้ใดเป็นแกนหลัก หากพิจารณาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็จะพบว่าสังคมไทยได้ถกเถียงเรื่องนี้กันมากว่าศตวรรษแล้ว ซึ่งคำตอบของข้อถกเถียงในแต่ละยุคสมัยก็จะสัมพันธ์กับสภาพของการเมืองและสังคมในยุคนั้นๆ และหากพิจารณาในมุมกว้างออกไปก็จะพบว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยมั่นคงสถาพรล้วนแล้วแต่ได้คำตอบของข้อถกเถียงเรื่องชาตินี้อย่างสะเด็ดน้ำแล้วทั้งสิ้นว่าชาติเป็นของประชาชน สังคมไทยก็คงจะต้องสรุปคำตอบของข้อถกเถียงนี้ให้สะเด็ดน้ำด้วยเหมือนกัน เราจึงจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคงสถาพร และประชาชนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ และก็จะเป็นบรรดาผู้ศึกษาและเรียบเรียงประวัติศาสตร์เช่นเราท่านในที่นี้ด้วยที่จะต้องร่วมตอบคำถามนี้

ขอสรุปเพียงสั้นๆ ว่าประวัติศาสตร์หล่อหลอมผู้คน และผู้คนก็หล่อหลอมสังคมรวมถึงประเทศชาติและโลกกว้างใบนี้ เพราะแม้ไม่ใช่ทุกคนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง แต่ประวัติศาสตร์ย่อมสร้างตัวตนและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยู่เรื่อยมา ผมเชื่อว่าคนศึกษาอดีตเช่นเราทั้งหลายต่างมีความฝันใฝ่ถึงอนาคตในแบบของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมขอชี้ชวนให้ทุกท่านเห็นว่าเราสามารถร่วมสรรสร้างอนาคตที่เราฝันใฝ่ได้ด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ซึ่งเรียบเรียงขึ้นตามหลักฐานด้วยหลักวิชาที่เราร่ำเรียนมา เพราะในโลกปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเป็นนักประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ไม่อาจถูกปิดกั้นด้วยกำแพงห้องเรียน ทุกถ้อยคำที่ทุกท่านพูดหรือเขียนในผลงานทางประวัติศาสตร์ของท่านอาจบันดาลฝันให้กับคนที่กำลังแห้งแล้งฝัน แสดงทางให้กับผู้คนที่กำลังอับจนหนทาง หรือสะกิดผู้คนที่ยังมองไม่เห็นฝันของเราได้โดยที่แม้เราก็อาจไม่รู้ตัว ดังนั้น ผมขอให้เราผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกท่านตระหนักถึงภาระและพลังที่เรามีต่อสังคม ท่านปรารถนาจะเห็นสังคมแบบใด โปรดรื้อฟื้นเรียบเรียงประวัติศาสตร์แบบนั้น หากท่านฝันเหมือนกับผมที่ฝันถึงสังคมใหม่อันมีประชาชนเป็นเจ้าของ โปรดเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชนให้กับสังคม เพื่อปลุกผู้คนให้ลุกขึ้นมาสร้างสังคมเช่นนั้นให้เป็นจริงต่อไป

ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้เกียรติสละเวลารับฟัง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้พบกันในโอกาสถัดไป


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save