fbpx
‘เศรษฐกิจโรคระบาด’ : โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่หลังโควิด-19

‘เศรษฐกิจโรคระบาด’ : โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่หลังโควิด-19

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

เศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร?

นี่คือหนึ่งในคำถามใหญ่ที่สุดที่ชุมชนนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้ความสนใจ แม้จะมีบทความและข้อเสนอให้ถกเถียงมากมาย แต่ความวุ่นวายและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบรายวัน ยังผลให้การนำเสนอโมเดลใหม่อย่างเป็นระบบทำได้ยาก หากดูความโกลาหลที่เกิดขึ้นทั่วโลก บางทีต้องยอมรับด้วยซ้ำว่า การนำเสนออะไรทำนองนั้นต้องนับเป็น ‘ความกล้าหาญทางวิชาการ’ อย่างหนึ่ง

ในสถานการณ์เช่นนี้ การที่ Joshua Gans ศาสตราจารย์ด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Creative Destruction Lab ประเทศแคนาดา นำเสนอหนังสือขนาดสั้นเล่มใหม่เรื่อง Economics in the Age of COVID-19 จึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง จุดเด่นของงานชิ้นนี้คือการผสมความคิดทางเศรษฐศาสตร์และระบาดวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อทำความเข้าใจทางเลือกเชิงนโยบายในภาวะวิกฤต ดังที่สำนักพิมพ์ MIT Press ในฐานะผู้จัดพิมพ์เขียนโปรยแนะนำหนังสือไว้ว่า “งานชิ้นนี้คือการถอยออกจากความโกลาหลระยะสั้น เพื่อมองให้เป็นระบบอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เพื่อตอบสนองต่อโควิด-19”

Gans และสำนักพิมพ์ MIT Press เลือกที่จะนำเสนอเนื้อหาและบทวิเคราะห์ในหนังสือต่อสาธารณะให้รวดเร็วที่สุด ด้วยหวังว่า ข้อเสนอของเขาจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่คณะผู้จัดทำเองก็ตระหนักดีว่าสถานการณ์ยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก ในการนี้พวกเขาจึงตั้งใจให้ต้นฉบับที่เผยแพร่อยู่เป็นเพียงฉบับร่างเท่านั้น โดยเปิดรับความเห็นและคอมเมนต์เป็นเวลา 1 เดือน (จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563) เพื่อนำไปปรับปรุงฉบับสมบูรณ์ต่อไป

แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่หนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอคำตอบพื้นฐานหลายประการในการบริหารเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตโรคระบาด ที่สำคัญไปกว่าคำตอบคือหนังสือได้เผยให้เห็นว่าโจทย์ใหญ่ที่เราต้องเตรียมรับมือทั้งในระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโควิด-19 มีอะไรบ้าง

 

สุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ: ทางเลือกที่สมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์

 

Gans เริ่มต้นด้วยข้อถกเถียงพื้นฐานที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ คือ ‘ทางเลือก’ ในการดำเนินนโยบาย เขาตั้งคำถามว่าในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดรุนแรง เรายังมีทางเลือกเหมือนในสภาวะปกติหรือไม่ ในกรณีนี้คือการเลือกระหว่าง ‘สุขภาพ’ และ ‘เศรษฐกิจ’

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ 101 นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้ดีว่า การเลือกใดๆ จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเสมอ กล่าวคือ ถ้าเราเลือกที่จะมีสุขภาพที่ดีด้วยการทุ่มเททรัพยากรไปให้สาธารณสุขมากขึ้น เราต้องยอมที่จะเสียโอกาสในการนำทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งในยามปกติแต่ละประเทศก็จะเลือก ‘สมดุล’ ระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจตามข้อจำกัดและทิศทางเชิงนโยบายของตน ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะทิ้งเศรษฐกิจทั้งหมดเพื่อการสาธารณสุขอย่างเดียว หรือทิ้งสาธารณสุขทั้งหมดเพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว

ปัญหาคือภาวะโรคระบาดอย่างโควิด-19 ได้สร้างสภาวะยกเว้นของทางเลือกขึ้นมา เพราะการเลือกที่จะรักษาสุขภาพ ด้วยมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการปิดเมือง ได้สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสมหาศาลทางเศรษฐกิจขึ้นมา ในทางกลับกัน การเลือกที่จะให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปก็จะทำให้สุขภาพและการสาธารณสุขอยู่ในภาวะอันตรายจนถึงขั้นพังทั้งระบบ พูดอีกแบบคือการคิดแบบส่วนเพิ่ม (thinking at the margin) ที่นักเศรษฐศาสตร์คุ้นชินไม่สามารถใช้การได้ดีในภาวะแบบนี้

ในสภาวะแบบนี้ Gans เสนอว่า เราจำเป็นต้องเลือกสุขภาพและสาธารณสุขก่อน ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะสุขภาพสำคัญและชีวิตผู้คนมีคุณค่าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เพราะการเลือกแบบนี้สมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ด้วย การปล่อยให้ผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเป็นการทำลายเศรษฐกิจในตัวเอง และต่อให้โรคระบาดหายไป เศรษฐกิจก็ยากที่จะฟื้นกลับคืนมาได้ ประสบการณ์ของไข้หวัดสเปนที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2 ล้านคนในช่วงปี 1917-1918 ชี้ว่า การปล่อยให้โรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโรคระบาดอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตลาดแรงงานและทุนมนุษย์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

นอกจากนี้  Gans มองว่า การเลือกสุขภาพเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลกว่าในทางปฏิบัติด้วย เพราะการเลือกสุขภาพก่อนยังเปิดโอกาสให้เราหันกลับมาเลือกเศรษฐกิจอีกครั้งได้เมื่อถึงคราวจำเป็น แต่ถ้าเลือกเศรษฐกิจก่อนแล้ว เราจะสูญเสียสุขภาพและสาธารณสุขไปทั้งระบบ โดยไม่มีโอกาสกลับมาเลือกใหม่

ในแง่นี้ การต้องเลือกระหว่าง ‘สุขภาพ’ กับ ‘เศรษฐกิจ’ ไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากเท่าไหร่

 

เศรษฐกิจโรคระบาด: โมเดลการบริหารเศรษฐกิจหลังโควิด-19

 

เมื่อตั้งต้นได้ว่า ‘สุขภาพต้องมาก่อน’ Gans ได้นำเสนอโมเดล ‘เศรษฐกิจโรคระบาด’ (pandemic economy) ซึ่งเขาแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะควบคุมโรค (containment) ระยะเริ่มใหม่ (reset) ระยะฟื้นฟู (recovery) และระยะยกระดับ (enhance) ซึ่งแต่ละระยะมีคำถามเชิงนโยบายและคำตอบที่น่าสนใจแตกต่างกัน

 

โมเดลเศรษฐกิจโรคระบาดของ Joshua Gans

โมเดลเศรษฐกิจโรคระบาดของ Joshua Gans

ที่มา: https://economics-in-the-age-of-covid-19.pubpub.org/pub/2yyquj1y?readingCollection=c48fa91b

 

ระยะควบคุมโรค: รัฐควรบริหารเศรษฐกิจในภาวะโรคระบาดอย่างไร?

Gans แบ่งระยะการควบคุมโรคเป็น 3 ระยะย่อย ได้แก่ การระบุภาวะระบาด (identify the outbreak) การซื้อเวลาเพื่อสำรองทรัพยากร (buy time to preserve the resource) และการประคับประคองความเสียหายทางเศรษฐกิจ (insulate from economic outfall)

หัวใจสำคัญของการระบุภาวะระบาด คือ การบริหารความคาดหวังของผู้คน Gans ชี้ว่าในภาวะโรคระบาด คนจะมีพฤติกรรมอย่างไรขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงส่วนบุคคลและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกเขา ซึ่งแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เขาวิจารณ์ว่านักระบาดวิทยามักมองข้ามไปว่า คนสามารถตัดสินใจได้อย่างหลากหลาย ไม่มีใครที่พร้อมอยู่บ้านตลอดทั้งวันหรือใครที่อยากจะออกจากบ้านตลอดเวลา กระทั่งคนเดียวกันในแต่ละช่วงเวลาก็อาจตัดสินใจแตกต่างกันได้ ดังนั้น มาตรการของรัฐที่ออกมาจะต้องออกแบบโดยคำนึงธรรมชาติการตัดสินใจของผู้คน

ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมากคือ ควรปิดเมืองเมื่อไหร่? Gans เห็นว่าในหลายประเทศและหลายเมือง (ที่อำนาจในการปิดเมืองอยู่ที่รัฐบาลท้องถิ่น) ดำเนินนโยบายช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยให้เหตุผลว่า “ขอรอดูสถานการณ์ก่อน” หากมองด้วยสายตาแบบนักเศรษฐศาสตร์ การรอข้อมูลเพิ่มเติมเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลและเพิ่มมูลค่าในการตัดสินใจได้ อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤต Gans เสนอให้ผู้กำหนดนโยบายต้องประเมินด้วยว่ากำลัง ‘คาดหวัง’ ข้อมูลใหม่แบบไหน ถ้าหากคาดหวังว่าข้อมูลใหม่จะมายืนยันว่าการปิดเมืองเป็นทางเลือกที่ถูก ก็ควรที่จะตัดสินใจปิดเมืองเลย แต่หากคาดหวังว่าข้อมูลใหม่จะเป็นข้อมูลที่เปลี่ยนความเชื่อว่า ‘การปิดเมืองไม่จำเป็น’ ข้อมูลใหม่นี้ก็คุ้มค่าที่จะรอคอย

Gans ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลในการรอดูสถานการณ์ส่วนใหญ่มักเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรือแม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น การตัดสินใจดำเนินนโยบายที่เฉียบขาด ถูกจังหวะ และทันท่วงที จึงขึ้นอยู่กับลักษณะของรัฐบาล ความโปร่งใส และขีดความสามารถของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย

ในส่วนของการจัดสรรทรัพยากรใหม่ แม้ Gans จะเห็นว่าตลาดเป็นเครื่องมือที่กระจายทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ แต่ในภาวะวิกฤต เขากลับเสนอให้รัฐปรับมาใช้การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง (centrally planned economies) เป็นการชั่วคราวใน 3 ด้าน ได้แก่ การโยกทรัพยากรไปสู่ภาคสาธารณสุข การควบคุมราคา และการควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้คน Gans ให้เหตุผลว่า แม้ตลาดจะเป็นกลไกการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ แต่ ‘ประสิทธิภาพ’ ของตลาดเป็นประสิทธิภาพที่อยู่บนฐานของต้นทุนและกำไร อีกทั้งยังต้องให้เวลาผู้เล่นในตลาดเรียนรู้และปรับตัว ในภาวะวิกฤตอย่างสงครามและโรคระบาดที่ต้องการการจัดสรรทรัพยากรใหม่อย่างฉับพลันและรุนแรง การจัดสรรทรัพยากรโดยตลาดมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรม

แน่นอนว่ารัฐสามารถตัดสินใจผิดพลาดได้ แถมโอกาสที่จะ ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ ก็ยังสูงอีกด้วย แต่การปล่อยให้ตลาดทำงานในภาวะวิกฤตมีโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากกว่า เช่น หากปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสินว่า ใครควรที่จะได้รับบริการสาธารณสุขในสภาวะที่อุปสงค์สูงกว่าอุปทานอย่างเทียบไม่ได้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคไม่เร่งด่วนแต่มีเงินรักษาย่อมเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ในขณะที่ผู้ป่วยรุนแรงแต่ยากจนจะต้องเผชิญภาวะที่ยากลำบากที่สุด หรือในกรณีของการสร้างโรงพยาบาลสนามชั่วคราวเพื่อขยายศักยภาพของระบบสาธารณสุขเป็นการชั่วคราวย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในระบบตลาด

ในการประคับประคองความเสียหายทางเศรษฐกิจ Gans เสนอแนวคิดเรื่อง ‘การหยุด’ (the pause) กล่าวอย่างง่ายคือ การพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ทุกธุรกิจอยู่รอดให้ได้ในช่วงวิกฤต และพร้อมกลับมาดำเนินการได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คล้ายกับการกดปุ่มหยุดเวลาฟังเพลง เขาเห็นด้วยกับรัฐบาลในหลายประเทศที่ดำเนินแนวนโยบายเช่นนี้ เช่น การช่วยจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ประกอบการของรัฐบาลอังกฤษ การขอความร่วมมือให้เหล่าบรรดาเจ้าหนี้และเจ้าที่ดินไม่คิดค่าเช่าและดอกเบี้ยของรัฐบาลฝรั่งเศส รวมถึงการอัดฉีดเงินกู้ฉุกเฉินขนาดใหญ่

คำถามใหญ่ในประเด็นเรื่องการประคับประคองเศรษฐกิจในภาวะโรคระบาดคือ รัฐต้องเข้าไปช่วยแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเพียงพอ ต่อเรื่องนี้ Gans ยอมรับว่า เขายังมีความรู้ไม่เพียงพอ เพราะนี่เป็นวิกฤตที่โลกไม่เคยพบเจอมาก่อน แต่เขาเชื่อว่า ‘ยาแรง’ (strong proposal) แบบแนวคิดเรื่อง ‘การหยุด’ เท่านั้นที่จะช่วยประคับประคองความเสียหายจากวิกฤตได้ดีที่สุด

หากพิจารณาตามการวิเคราะห์นี้ กล่าวได้ว่า สถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจแทบทุกประเทศในโลกยังคงอยู่ในระยะควบคุมโรคเท่านั้น

 

ระยะการเริ่มต้นใหม่ (reset): เราจะกลับไปใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร

เมื่อสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการกลับมาใช้ชีวิตปกติท่ามกลางความเสี่ยงของการระบาด

หากพูดให้ถึงที่สุด ปัญหาสำคัญของการรับมือกับโรคระบาดคือ เรายังมีความรู้เกี่ยวกับโรคไม่เพียงพอ แต่ท่ามกลางความไม่รู้ทั้งปวง Gans เห็นว่าความรู้ระดับผิวเผินอย่าง ใครบ้างที่ติดโรค? เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมได้ เขาเสนอว่า ในภาวะหลังโรคระบาด เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการตรวจและคัดกรองโรคคนหมู่มากเพื่อหาว่าใครบ้างที่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ส่วนใครที่ติดโรคก็เพียงแต่กักตัวและรักษาในที่ที่ปลอดภัย

หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่า ระบบตรวจและคัดกรองโรคในแต่ละประเทศยังทำได้อย่างจำกัด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Gans เสนอว่า การเริ่มต้นใหม่จะต้องมีการลงทุนในระบบตรวจและคัดกรองโรคเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การลงทุนด้านนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจพอเดินหน้าต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการหาความรู้เกี่ยวกับไวรัสไปในตัว และยังเป็นการตรวจสอบไปในตัวด้วยว่า ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (heard Immunity) เกิดขึ้นและปกป้องผู้คนจากโรคระบาดได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความยากและความท้าทายสำหรับการตรวจและคัดกรองโรคคือ การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจให้มีราคาถูกและมีจำนวนมากพอสำหรับการตรวจคนจำนวนมาก และการทำให้คนยอมรับว่าการตรวจและการคัดกรองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

 

ระยะการฟื้นฟู (recovery): ใครควรจะกลับไปใช้ชีวิตปกติก่อน ใครควรได้วัคซีนก่อน ควรเปิดประเทศหรือไม่ และจะสร้างนวัตกรรมใหม่หลังโควิด-19 อย่างไร

แม้การออกไปใช้ชีวิตตามปกติจะเป็นไปได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถกลับใช้ปกติได้ทันที เพราะนอกจากระบบตรวจและคัดกรองที่ไม่เพียงพอแล้ว ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ โควิด-19 สร้างแรงเสียดทานต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน

ใครควรออกมาเป็นกลุ่มคนแรก? เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หากเป็นนักเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมอาจเสนอให้กลุ่มคนที่ทำงานมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกลับมาทำงานก่อน แต่ถ้าเป็นนักระบาดวิทยาก็จะเสนอให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำกลับมาทำงานก่อน Gans ไม่สู้จะเห็นด้วยกับวิธีคิดทั้งสองแบบ เพราะกลุ่มคนที่ทำงานมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมักจะเป็นคนที่สามารถทำงานจากที่บ้านในระดับหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มคนที่ความเสี่ยงต่ำตามความหมายของนักระบาดวิทยานั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะในเมืองสมัยใหม่ แม้ความเสี่ยงของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่ความเสี่ยงของทุกคนสูงเหมือนกัน

ข้อเสนอของ Gans คือ กลุ่มคนที่ควรได้กลับไปทำงานเป็นกลุ่มแรกคือ งานที่ทำจากบ้านไม่ได้ โดยมีเงื่อนไขคือจะต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม หากสถานประกอบการใดไม่สามารถปรับที่ทำงานได้ ก็ยังไม่ควรให้มีการกลับไปทำงาน ในเชิงรูปธรรม กลุ่มคนที่มีโอกาสกลับไปทำงานเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน ต้องระวังไม่ให้เกิดพื้นที่ที่กลายเป็น ‘ฮับ’ ที่ผู้คนไปรวมกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ Gans เสนอว่าควรนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่าใครควรกลับไปทำงานคือ ‘ครัวเรือน’ เพราะในภาวะปิดเมือง ครัวเรือนได้กลายเป็นหน่วยที่คนติดต่อสัมพันธ์กันมากที่สุด ดังนั้น หากเป็นไปได้ ครัวเรือนหนึ่งๆ ควรมีคนที่กลับไปทำงานอย่างจำกัด

อีกหนึ่งปัญหาที่แต่ละประเทศต้องเจอในระยะฟื้นฟูคือ เมื่อมีการค้นพบวัคซีนแล้ว ใครควรจะได้วัคซีนก่อน เพราะในช่วงแรกคงเป็นไปไม่ได้ที่วัคซีนจะมีพอสำหรับทุกคน Gans เสนอว่า ควรจัดลำดับความสำคัญของวัคซีนโดยพิจารณา 2 มิติ คือ ความสำคัญของอาชีพและหน้าที่ (เช่น บุคลากรทางการแพทย์ควรได้รับวัคซีนก่อน) และความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายเมื่อได้รับไวรัส (เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงวัย และเด็ก ควรจะได้รับวัคซีนก่อน)

สำหรับคำถามเรื่องการเปิดประเทศ Gans เห็นว่า การเปิดประเทศแบบจำกัดสามารถทำได้และควรที่จะทำ เพราะเดิมทีสนามบินเป็นสถานที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว การตรวจและคัดกรองจะสามารถทำได้ง่าย โดยไม่มีต้นทุนที่สูงมากจนเกินไป

อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของระยะฟื้นฟูคือ การสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อรับมือกับโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือการตรวจที่แม่นยำและราคาถูก วัคซีนประสิทธิภาพสูงที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นแน่ๆ สำหรับการรับมือโควิด-19 แต่ Gans เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายควรต้องออกแบบระบบที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้รับมือโรคระบาดในอนาคตด้วย เช่น การใช้มาตรการสัญญาว่าจะซื้อล่วงหน้า (advance market commitment: AMC) หากมีการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือโรคระบาดได้

 

ระยะการยกระดับ: การแก้ปัญหาโรคระบาดในระยะยาว ควรทำอย่างไร

ทุกครั้งที่พ้นจากวิกฤตใหญ่ มนุษย์จะหาทางออกแบบระบบเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต Gans เชื่อว่าความร่วมมือระดับโลกเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเอาชนะโรคระบาดในรอบหน้า หากโควิด-19 จะมีด้านบวกอยู่บ้าง สิ่งนั้นคือโอกาสใหม่สำหรับการออกแบบสถาบันที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและโรคระบาดในหมู่ประชาคมโลกอีกครั้ง

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในบริบทของประเทศตะวันตก (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา) ซึ่งประสบกับปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพและเครื่องมือในการแก้ปัญหาสูงโดยเปรียบเทียบด้วยเช่นกัน ทั้งขนาดของเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน ระดับเทคโนโลยี ฯลฯ หลายคำตอบที่ Gans นำเสนอจึงอาจไม่ได้สอดคล้องกับประเทศไทยเสียทีเดียว

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามใหญ่ที่แต่ละประเทศต้องเจออาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save