fbpx

เลือกตั้งไทยสะเทือนถึงอาเซียน?: กระแสลมประชาธิปไตยและความท้าทายของรัฐบาลใหม่กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคร่วมอีก 6 พรรคดำเนินไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางเงื่อนไขการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. และกรณีหุ้นสื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่ประชาชนยังคงคาดหวังว่าพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่งจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพื่อเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศหลังจมอยู่กับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารมาเป็นระยะเวลาเกือบทศวรรษ

ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนคนไทยที่จับตาการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านต่างสนใจปรากฏการณ์การพลิกขั้วทางการเมืองของไทยไม่ต่างกัน การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยย่อมมีความสำคัญต่อทิศทางและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันอย่างพม่า ลาว หรือกัมพูชา ซึ่งประชาชนกำลังเผชิญปัญหาทางการเมืองไม่ต่างกัน

101 ชวน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยในรายการ 101 One-on-One EP.298 เลือกตั้งไทยกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในอาเซียน ถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยและโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดต่อไปต้องเผชิญในทางการต่างประเทศผ่านเลนส์ระดับภูมิภาค พร้อมมองแนวโน้มความสัมพันธ์ของรัฐบาลใหม่ต่อชาติในอาเซียน

YouTube video

ถ้าให้คุณวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คิดว่าชัยชนะของก้าวไกลที่ได้คะแนนมากกว่าเพื่อไทย เพราะอะไร

ผมคิดว่าเป็นเพราะสิ่งที่ก้าวไกลกับเพื่อไทยนำเสนอมีความแตกต่างกัน เพื่อไทยเคยเป็นรัฐบาลและมีประสบการณ์ในการบริหารงาน แต่เผอิญว่าถูกยึดอำนาจไป ฉะนั้นสิ่งที่เพื่อไทยพยายามนำเสนอคือการพาสังคมกลับไปสู่สังคมก่อนการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2549 นำเสนอว่าคุณมีโอกาสทำมาหากินอย่างไรในโครงสร้างที่เราคุ้นชิน

แต่สิ่งที่ก้าวไกลนำเสนอคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เดินไปข้างหน้า และพูดถึงความเท่าเทียมอย่างแท้จริงมากกว่าการตัดโน่นแปะนี่อย่างที่เพื่อไทยทำ ก้าวไกลมีแผนปฏิรูปโครงสร้างในหลายๆ เรื่องชัดเจน ไม่ว่าจะเอากองทัพออกจากการเมือง หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์

มวลชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าต้องการสิ่งนี้ ต้องการเสรีภาพในการแสดงออก ต้องการเดินไปข้างหน้า และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่าวนกลับไปในอดีต จึงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในผลการเลือกตั้ง

ความต้องการการเปลี่ยนแปลงส่งนัยอะไรไปถึงประเทศรอบข้างเราบ้างไหม

อาจจะส่งในแง่ของมายาคติ สิ่งที่ผมเห็นคือ ปรากฏการณ์คลั่งไคล้พิธาที่เกิดขึ้นในสุภาพบุรุษและสุภาพตรีวัยเยาว์ เป็นแบบแผนของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่พวกเขาอยากจะเห็นในประเทศของตัวเอง

อย่างกรณีของลาว คนลาวที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแบบแผนวิถีชีวิตคล้ายๆ กัน จึงเข้าใจได้ว่าเขาจะรับรู้ความรู้สึกนั้นร่วมด้วย ประชาชนลาวรับข่าวสารจากสื่อไทยมากกว่าสื่อบ้านตัวเองด้วยซ้ำไป คนลาวติดตามการดีเบตในสภาไทยมากกว่าสภาของตัวเอง เพราะฉะนั้นนักการเมืองไทยจึงเป็นที่รู้จักในประเทศลาวพอสมควร

ในกรณีของพม่า มีคนออกมาแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลในวันประกาศผลเลือกตั้งด้วย เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมากองทัพทหารพม่ายึดอำนาจแล้วพวกเขาต่อสู้กันอย่างรุนแรง ความนิยม ชื่นชม ศรัทธาในประชาธิปไตยระบบการเลือกตั้งของพม่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาจากทหารลงเลือกตั้งก็จะแลนด์สไลด์เสมอ ความรู้สึกแบบนี้ของคนพม่า ผมคิดว่าเขาโหยหาสิ่งที่นานๆ จะเกิดขึ้นทีหนึ่งในสังคมของพวกเขามากกว่า

คนพม่าหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมากกว่าแค่อารมณ์อยากได้นายกรัฐมนตรีหน้าตาดี จากแต่ก่อนที่รัฐบาลทหารไทยเคยให้ท้ายกองทัพพม่าหรือตัดมาดอว์ เขาคิดว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบาย (Policy Shift) และแก้ไขเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ให้แก่พม่าได้ อันนี้เป็นความรู้สึกของคนพม่าเท่าที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยมา พวกเขามีคนที่นิยมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้บริหารประเทศ

ฉะนั้น สิ่งที่คนพม่าอยากจะเห็นคงคล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ ต้องการให้อำนาจเก่าของกองทัพจบลงอย่างสิ้นเชิง

คิดว่าฝั่งชนชั้นนำของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม กำลังคิดอะไรเมื่อมองเห็นผลการเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้

เอาที่ระบอบคล้ายกันกับประเทศไทยก่อนคือกัมพูชา ซึ่งก็ถือว่าเป็นคู่รักคู่แค้นหรือ love-hate relationship กับประเทศไทยมาโดยตลอด ผมคิดว่ากัมพูชาและไทยเป็นกำพืดของกันและกัน แต่ในเชิงการเมือง กัมพูชามีพัฒนาการที่แตกต่างกับไทยเล็กน้อย ช่วงเวลาของเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ที่มีกษัตริย์ นายกรัฐมนตรี มีการเมืองรัฐสภานั้น สมเด็จฮุน เซนอยู่ในอำนาจมานานมาก ตั้งแต่ระบอบเก่าจนถึงระบอบใหม่เลยก็ว่าได้ รวมถึงมีช่วงที่ต้องแบ่งปันอำนาจกันระหว่าง ฮุน เซน และสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ พี่ชายของกษัตริย์กัมพูชาในปัจจุบันด้วยตั้งแต่ปี 1993-1997 จากนั้นฮุน เซนก็ยึดอำนาจ

แม้จะใช้กำลังทหารเหมือนกับประเทศไทย แต่ฮุน เซนไม่ได้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เขาใช้เวลาปีเดียวในการรักษาการ รวมถึงจัดการฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านตัวเอง หลังจากนั้นก็จัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 1998 และพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซน ชนะการเลือกตั้ง ส่วนพรรคฝ่ายค้านไม่ประสบความสำเร็จในการครองอำนาจตั้งแต่นั้นมา เนื่องจากฮุน เซนจะคอยบ่อนทำลายอยู่เสมอ ตั้งแต่พรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) พรรคสงเคราะห์ชาติ มาจนถึงพรรคเพลิงเทียนในปัจจุบัน

วิธีการที่ฮุน เซนใช้กำจัดฝ่ายค้านคล้ายกันกับไทยคือ การยุบพรรค ผู้นำฝ่ายค้านหลายคนต้องลี้ภัยทางการเมือง ผมรู้สึกว่าผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคพื้นทวีปมีบุคลิกเหมือนกันอย่างหนึ่งคือเป็นพวกอำนาจนิยม อย่างฮุน เซนก่อนจะมาจากการเลือกตั้งก็ผ่านการปฏิวัติประเทศมาก่อน แต่อำนาจในตอนนี้กลับมาจากการรัฐประหาร ใช้กลวิธีต่างๆ นานาในการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ

กัมพูชาจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ สิ่งที่ฮุน เซนทำคือ ตัดสิทธิ์พรรคเพลิงเทียนออกจากการแข่งขันด้วยเหตุผลว่าเอกสารไม่ครบ พรรคเพลิงเทียนกล่าวว่าตนเองคือพรรคสมรังสีเดิมที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1998 เพียงแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาให้นำสำเนาหนังสือจดทะเบียนมายืนยัน ปรากฏว่าเขาไม่มีเอกสารต้นฉบับ เพราะพรรคเคยถูกทหารของฮุน เซน เข้าค้นและยึดไป ทางพรรคจึงไปขอกระทรวงมหาดไทยกัมพูชาให้รับรองว่าเคยจดทะเบียนมาแล้ว รัฐมนตรีก็ออกใบรับรองให้ แต่กกต.กัมพูชาปฏิเสธอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าเอกสารนั้นใช้ไม่ได้ พรรคเพลิงเทียนจึงไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเขากำลังยื่นอุทธรณ์อยู่ แต่ผมคิดว่าคำอุทธรณ์อาจจะไม่เป็นผล เนื่องจากร้องกกต.แล้วต้องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาดตามระบอบกัมพูชา แต่อีกทางหนึ่งคือต้องเจรจากับฮุน เซนและให้ฮุน เซนสั่งกกต.ให้รับเรื่อง แต่ฮุน เซนบอกว่าไม่ว่างจะคุยด้วย ต้องรอหลังเลือกตั้ง

ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตอนนี้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่กัมพูชาหรือไม่นั้น ผมคิดว่าฮุน เซน มองการณ์ไกลกว่ากองทัพไทยพอสมควร สังคมของกัมพูชาเป็นสังคมหนุ่มสาว ในยุคเขมรแดงมีคนถูกสังหารไปประมาณ 2 ล้านคนจากประชากรที่มีแค่ 7 ล้านคนในตอนนั้น ฉะนั้นคนที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันคือพวกเดนตายจากสงคราม คนทำงานจริงๆ ตอนนี้คือคนรุ่นใหม่ เราจะเห็นท่าทีของฮุน เซนในการถ่ายโอนอำนาจให้คนรุ่นหลังมาสักระยะหนึ่งแล้ว เขาส่งลูกชาย (ฮุน มาเนท) ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ในสหรัฐฯ เพื่อปูทางให้ลูกก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางการเมือง ลูกคนอื่นๆ เองก็อยู่ในเส้นทางการเมืองหมด และทุกคนมีหัวคิดทันสมัย

สิ่งที่ฮุน เซนทำในตอนนี้เพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจแก่ลูกชายตนเองและคนรุ่นถัดไปเป็นไปได้อย่างราบรื่น ยอมให้คนรุ่นใหม่เข้ามากุมชะตากรรมของประเทศต่อ ดังนั้นเขาคงคาดการณ์ผลการเลือกตั้งในประเทศไทยได้อยู่แล้วว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ ฮุน เซนต่างกับพลเอกประยุทธ์เล็กน้อยตรงที่เขามองว่าตนอยู่ในอำนาจมานาน อย่างไรเสียก็ต้องให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร

แล้วทางฝั่งกองทัพพม่าคิดเห็นอย่างไรกับผลการเลือกตั้งของไทย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยจะสะเทือนถึงสถานภาพของตัดมาดอว์หรือ มิน อ่อง หล่าย หรือไม่

ผมคิดว่ากองทัพพม่าอยู่ในอาการหวาดระแวง อ้างอิงจากสื่อมวลชน มิน อ่อง หล่าย บอกกับใครต่อใครว่า เขาคงไม่กล้ายึดอำนาจหากพลเอกประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในอำนาจต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เขายังจำเป็นต้องอยู่ต่อในอำนาจนั้น แต่พลเอกประยุทธ์ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับเขามานานอาจจะไม่ได้อยู่อีกต่อไปแล้ว คำถามคือ แล้วใครจะช่วยอุ้มชูเขา

ผู้นำเผด็จการอย่างไรก็ต้องการการเลือกตั้ง พวกเขาจะอยู่ในอำนาจโดยไม่มีการเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ ได้ แต่คงหนีไม่พ้นกระแสกดดันจากต่างประเทศ กระแสกดดันจากประชาชน หรือแม้แต่ตัวระบอบเองที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ หลายๆ ประเทศที่มีทหารปกครองพิสูจน์มาแล้วว่าไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนได้เลย ฉะนั้นเผด็จการต้องการการเลือกตั้งเพื่อการยอมรับจากต่างชาติ เพราะต้องการเทคโนโลยีและเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้ในการบริหาร

ถ้าหากประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มีรูปแบบประชาธิปไตยมากขึ้น สถานการณ์นี้จะสร้างความตื่นตระหนกให้แก่กองทัพพม่า เนื่องจากนโยบายต่างประเทศที่มีต่อสถานการณ์ในพม่าของไทยจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยที่สุด การวิจารณ์อย่างรุนแรงจะมาจากประเทศไทย แทนที่จะนิ่งเงียบอย่างเดิม การโหวตในเวทีสหประชาชาติจะสะท้อนสภาวะความเป็นประชาธิปไตยใหม่

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเราจะสะเทือนสถานภาพของพม่าก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่เปลี่ยนนโยบายไปไกลถึงขั้นจะเป็นผู้นำอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตการณ์พม่า เหมือนกับที่เคยเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหากัมพูชา รัฐบาลใหม่ของเราคงต้องกำหนดบทบาทแบบนี้ และเป็นสิ่งที่ มิน อ่อง หล่ายคาดเดาว่ามันจะต้องเกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเตือนประชาชนที่เลือกพรรคฝ่ายค้านให้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลคือ หากก้าวไกล-เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ รัฐบาลใหม่คงถูกกองทัพไทย ‘รับน้อง’ ด้วยการสร้างปัญหาตามแนวชายแดนให้เกิดการเผชิญหน้ากันกับตัดมาดอว์ เพราะสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2001 ตอนที่พรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลครั้งแรก ความสัมพันธ์ของไทยกับพม่าในขณะนั้นตึงเครียดมาก ซึ่งสิ่งนี้บีบบังคับให้รัฐบาลไทยรักไทยเปลี่ยนท่าทีและเอนเอียงไปทางรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้น เรียกว่าตามใจกันมากขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรตระหนักและระมัดระวังให้ดี อย่าไว้ใจกองทัพของเราให้มากนัก

คุณเคยวิจารณ์ความแตกต่างของกัมพูชากับพม่าไว้ว่า กัมพูชาค่อนข้างมีทักษะในการจัดการกับฝ่ายค้านบนสนามเลือกตั้ง ขณะที่พม่าไม่มีค่อยมีทักษะนี้ หากเราลองเอาประเทศไทยเข้าไปใส่ในบริบทของการเปรียบเทียบ ประเทศไทยจะถูกอธิบายอย่างไร จะมีความใกล้เคียงกับพม่าหรือกัมพูชามากกว่ากัน

ผมคิดว่าไทยอาจจะเป็นลูกผสม เพราะกองทัพไทยกับกองทัพพม่ามีความแตกต่างกันตรงที่ตัดมาดอว์สามารถควบคุมการเมืองพม่าได้อย่างเบ็ดเสร็จและสืบเนื่องยาวนาน ในขณะที่ทหารไทยถอยเข้า-ถอยออกจากระบบการเมืองอยู่เสมอ พม่าสามารถแยกตัวจากประชาคมโลกและไม่สนใจนานาชาติได้ ขณะที่ไทยและกัมพูชาทำไม่ได้ เนื่องจากเรายังอยากร่ำรวยอยู่ แต่ตัดมาดอว์ไม่ได้สนใจว่าประชาชนจะมีความเป็นอยู่อย่างไร เขามีกำลังพลและหล่อเลี้ยงกำลังพลด้วยความคิดที่ว่าพวกเขามีหน้าที่รักษาความเป็นปึกแผ่นของชาติเท่านั้น ความคิดของตัดมาดอว์จึงค่อนข้างล้าหลังมาก

ทหารไทยจะดีจะชั่วก็ไม่เคยคิดแช่แข็งประเทศนานขนาดนั้น อาจจะมีบ้างในบางช่วง แต่ความสามารถในการแช่แข็งก็ไม่ถึงขนาดของผู้นำตัดมาดอว์ ฉะนั้น หากจะใส่เรื่องนี้เข้าไปในบริบทของสองประเทศ ผมคิดว่าเรามีความเป็นลูกผสม เราคล้ายคลึงกับกัมพูชาในแง่ที่เคยอยู่และต้องการโลกศิวิไลซ์ แต่พม่าไม่สนใจตรงนั้น 

กระนั้น สิ่งที่พม่าไม่เคยสนใจจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าอาจจะทำได้สักระยะหนึ่ง คำถามคือ คนพม่าที่รู้จักเสรีภาพและความมั่งคั่งในยุคประชาธิปไตยเขาจะยอมหรือไม่ นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนเชื้อสายบะหม่า (Bamar) จับอาวุธต่อสู้กับตัดมาดอว์ ซึ่งแต่ก่อนมีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์คนละเผ่าเท่านั้นที่ทำ ทุกวันนี้เผ่าเดียวกันต่อสู้กันเอง เพราะตัดมาดอว์ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศมาช้านาน ถ้ามองในแง่นี้อาจทำให้สถานการณ์ของตัดมาดอว์เริ่มคล้ายกับกองทัพไทย คือกำลังมองหาทางถอยในขณะที่ตัวเองยังสามารถครอบงำการเมืองได้อยู่ ไม่ต้องถูกเช็กบิลย้อนหลังอย่างเกาหลีใต้หรืออินโดนีเซีย

ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ บทบาทของกองทัพไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่

ผมคิดว่ากองทัพไทยยังไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การปกครองโดยทหารไม่เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะกับประชาชนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องการความเท่าเทียมในหลายส่วน ทั้งทางเศรษฐกิจหรือสิทธิมนุษยชน

ประชาชนเริ่มตระหนักชัดเจนแล้วว่า กองทัพของเรามีขนาดใหญ่เกินไป ไม่สมดุลกับลักษณะทางประชากรและการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญคือ เราไม่สามารถนิยามคำว่าภัยคุกคามให้เหมือนกับยุคสงครามเย็นที่กองทัพสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า แทรกแซงการเมืองเพื่อประโยชน์ของความมั่นคงได้แล้ว กองทัพไม่มีข้ออ้างว่าจะอยู่ในการเมืองต่อไปเพื่ออะไร ถามว่าในอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า เราจะเผชิญกับสงครามใหญ่หรือไม่ ผมคิดว่าผู้นำเหล่าทัพพูดตรงกันหมดว่า “เราไม่เผชิญกับสงครามใหญ่หรอก” เพราะฉะนั้นกองทัพควรแบ่งหน้าที่ไปทำอย่างอื่น

หากเรามีกองทัพขนาดใหญ่ หมายความว่าเราต้องซื้ออาวุธให้ครบมือ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เราจะหาเงินจากที่ไหนมาซื้ออาวุธได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือลดขนาดกองทัพลง ทหารตั้งรัฐวิสาหกิจไม่ได้ ทหารค้าขายไม่เป็น ฉะนั้นจึงต้องให้พลเรือนทำ และให้ทหารไปทำในสิ่งที่ตนเองมีประสิทธิภาพจะทำ นั่นคือการป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายนอกเป็นหน้าที่ของกองทัพอย่างแน่นอนและเราตกลงกันได้ ภาระหน้าที่ทางการเมืองของกองทัพไม่มีอีกต่อไปแล้ว การยึดอำนาจสองครั้งในระยะเวลา 10 ปีทำให้ประเทศถดถอยลงในทุกๆ ด้าน ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย

ระบบของกองทัพในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะไม่เหมาะในความรู้สึกของประชาชน แต่ไม่เหมาะกับทั้งในแง่ของกำลังและขีดความสามารถที่จะทำการพัฒนาประเทศ เอาแค่งานบรรเทาสาธารณะภัย เช่น การดับไฟป่า การควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผมคิดว่าพลเรือนทำได้ดีกว่ามาก

ถ้ามีการปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้น เราอาจจะหักด้ามพระด้วยเข่าไม่ได้ แต่การค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับยังมีความเป็นไปได้อยู่ อย่างน้อยที่สุดไม่ต้องเกณฑ์ทหารได้ไหม เพราะคนที่จะเป็นทหารต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้มากพอ คนที่ต้องการเป็นทหารในประเทศไทยมีมากมาย คุณไปดูตอนที่เขาสอบนายสิบ นายร้อยดู มีคนเยอะแยะที่อยากเป็นทหารรับใช้ชาติและเข้าถึงงานทางด้านความมั่นคงจริงๆ เป็นทหารที่เข้าถึงเทคโนโลยีทางการป้องกันประเทศใหม่ๆ เพราะฉะนั้น เราจะเกณฑ์คนที่ไม่อยากเป็นทหารไปทำไม

สมมติกองทัพไทยยังไม่เปลี่ยนโลกทัศน์ คิดว่าจะกระทบต่อการตั้งรัฐบาลของก้าวไกล-เพื่อไทยหรือไม่

ผมคิดว่าเขากำลังต่อสู้ เขาแพ้เลือกตั้งก็จริง แต่เขายังไม่ได้แพ้อย่างราบคาบ เพราะโครงสร้างอำนาจที่สร้างโดยกองทัพยังอยู่ครบ อย่างตอนนี้ที่เราเริ่มเห็นแล้วว่ามีการสร้างวาทกรรมแปลกๆ ออกมา เช่น จะสร้างฐานทัพอเมริกา น่าตระหนกตกใจเป็นอย่างมากที่ฝ่ายอนุรักษนิยมคิดเพียงว่า ถ้ามีระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจะเท่ากับเปิดทางให้สหรัฐฯ มาครอบงำประเทศ ความคิดนี้เป็นโลกทัศน์ที่แคบและน่าวิตกกังวลอย่างยิ่งในความรู้สึกของผม

ผมมองเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้คือ การพยายามยื้อ ไม่ว่าจะของกองทัพก็ดี ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยก็ดี ชนชั้นนำไทยก็ดี จะสร้างผลเสียพอสมควรให้แก่ประเทศไทย อย่างง่ายเลยถ้าหาก ส.ว.ไม่ยอมโหวตให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผมคิดว่าประชาชนไม่มีทางยอมอีกต่อไป ไม่บ่อยที่ในการเลือกตั้งประชาชนจะบอกว่า อย่าทิ้ง 112 หรือไม่ชอบพรรคนี้ ให้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผมรู้สึกว่าแฟนคลับพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายพยายามจะมีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาล สมัยก่อนใครจะจัดตั้งรัฐบาลต้องไปเจรจากันเอง การเมืองแบบนั้นควรจบไปได้แล้ว

ทุกวันนี้ประชาชนมีความต้องการอย่างมาก ทุกคนมีสื่อในมือเป็นของตัวเอง และสามารถสร้างสิ่งนี้ให้เป็นกระแสได้ ดีลลับจะไม่มีทางเป็นความลับอีกต่อไป พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งด้วยความต้องการและกระแสของประชาชน เขาสามารถตั้งรัฐบาลด้วยเครื่องมือชนิดนี้ได้เช่นกัน

สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา อะไรคือโจทย์ทางการต่างประเทศที่จะต้องเผชิญ ถ้าเทียบกับ 8 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่ต้องแก้ไขหรือสานต่อหรือไม่

ผมคิดว่าเราต้องวางตำแหน่งตัวเองในทางการต่างประเทศใหม่ การประชุมอาเซียนไม่ใช่นึกอยากไปก็ไป ไม่อยากไปก็ไม่ไป ทำเช่นนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องให้ความสำคัญ และต้องให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำในทุกๆ เรื่อง

ตามความคิดเห็นของผม ความเป็นผู้นำเรื่องแรกที่ต้องทำคือเรื่องพม่า เพราะเป็นประเทศใกล้บ้าน และที่ผ่านมาเราแสดงออกโดยไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง อาจจะเปลี่ยนมาทำการทูตแบบเงียบๆ (Quiet Diplomacy) ที่ไม่ใช่การนั่งอมพะนำ แต่สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงออกได้อย่างสบายใจเพื่อนำเสนอทางออกได้อย่างอิสระและไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ผมเสนออย่างนี้ว่า ให้เราเปิดพื้นที่แก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่ไทยควรทำมาโดยตลอด เราควรเสนอตัวเป็นคนแก้ไขปัญหาวิกฤตพม่า เพราะประเทศไทยได้เปรียบทุกประเทศ เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัดมาดอว์ แต่ที่ไม่มีและจำเป็นต้องทำ คือการติดต่อกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF) เพราะเขาเปิดช่องทางมาหลายครั้งแล้วแต่เราไม่นำพา เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเจรจากันอย่างสันติต่อไป

อาเซียนถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งในปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเป็นประเทศอำนาจนิยม ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร แม้จะยังมีความเป็นอำนาจนิยมอยู่บ้าง แต่พวกเขาแสดงออกว่าเป็นประชาธิปไตยได้ดีกว่าประเทศไทย ซึ่งระบอบของเขามีความต่อเนื่องและผู้นำก็มีความเข้าใจโลก อย่างอินโดนีเซียเป็นประเทศที่สถานการณ์คล้ายกันกับไทย คือเคยมีทหารอยู่ในการเมืองแต่ปฏิรูปสำเร็จ ตอนนี้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำแล้วว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ไทยต้องประกาศเป็นอย่างแรกหลังจากการเปลี่ยนรัฐบาลคือ ประกาศว่าเราเป็นประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 

เราอาจจะพูดเพียงว่าเราเคารพเสียงของประชาชนได้ เพราะมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน เท่านั้นก็สามารถตอบสนองต่อเสียงส่วนใหญ่ในอาเซียนได้แล้ว กฏบัตรอาเซียนมีคำว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอยู่ ฉะนั้น ถ้าคุณจะพูดคำนี้ คุณต้องพูดด้วยน้ำเสียงอันดังและมีความมั่นใจว่าเป็นแบบนั้น 

สถานะทางการต่างประเทศของไทยหดหายไปในสมัยรัฐบาลทหาร เราต้องรื้อฟื้นขึ้นใหม่ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำให้ชัดเจน สร้างฐานทางด้านการต่างประเทศว่าเราจะดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไปอย่างไรและเพื่ออะไรเป็นสำคัญ

นอกจากโจทย์อาเซียนที่แล้ว รัฐบาลใหม่ยังต้องคิดโจทย์เรื่องไหนอีกบ้าง

การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันมีหลายขั้วอำนาจ และผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เราคงไม่ต้องการตัวเลือกแค่จีนกับสหรัฐฯ ประเทศไทยมีขนาดอยู่เท่านี้ไม่จำเป็นต้องเลือก และไม่มีใครเคารพเราถ้าเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราสามารถที่จะเจรจาต่อรองกับทุกๆ ประเทศได้ ถามว่าสหรัฐฯ กับจีนรบกันแล้วเขามีสิ่งที่ร่วมมือกันไหม มีเยอะมาก ฉะนั้น ไทยควรมองหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจากตรงนี้มากกว่า

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ ยืนยันเรื่องหลักการ เราไม่จำเป็นต้องส่งทหารไปช่วยยูเครน เพียงแค่ยืนยันหลักการว่าประเทศใดก็ตามไม่ควรรุกรานกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เพราะเป็นหลักการที่สหประชาชาติยึดถือ

อีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น เทคโนโลยีของอเมริกามีดี จีนมีดี แต่โลกนี้ยังมีอินเดียหรือญี่ปุ่น ฉะนั้น เราสามารถสร้างดุลยภาพอย่างนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปหาจีนหรือสหรัฐฯ อย่างเดียว สิ่งนี้จะขึ้นกับทักษะและความสามารถต่างๆ ในการเจรจา ที่ผ่านมาเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมีปัญหามาตั้งแต่การมีรัฐบาลที่ไม่สง่างามเท่าไร ทำให้การต่างประเทศของเราไม่ค่อยมีทางเลือก เนื่องจากถูกจำกัดโดยธรรมชาติของการเป็นรัฐบาลทหาร

หากเราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะสามารถสร้างดุลยภาพทางการต่างประเทศได้เช่นกัน

ตอนนี้มีคนกล่าวหาว่ารัฐบาลก้าวไกลโปรตะวันตก การที่ก้าวไกลขึ้นมาเป็นรัฐบาลจะทำให้ดุลอำนาจหันไปทางตะวันตกหรือไม่

ผมคิดว่าไม่ พวกที่โปรตะวันตกจริงๆ คือชนชั้นนำไทยมากกว่า ความทันสมัยของประเทศไทยเป็นการรับเอาแบบอย่างมาจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ฉะนั้น ไม่มีอะไรน่ารังเกียจสำหรับความเป็นตะวันตกในประเทศไทย 

ถ้าถามว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากให้การเมืองไทยเป็นไปในทิศทางไหน ผมคิดว่าคงอยากให้เป็นแบบอังกฤษ เรามีกษัตริย์ มีพรรคการเมือง มีนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซึ่งทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ต้องยกตัวอย่างไปไกลก็ได้ ให้ลองดูประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็เป็นตะวันออก แต่ญี่ปุ่นมีความเป็นตะวันตกมากกว่าในบางเรื่องที่เห็นสมควร

มันน่ารังเกียจตรงไหนหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะพูดว่า ให้เคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนตัวเอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่บางคนอาจจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ประชาธิปไตยแบบไทยที่เป็นอยู่นี้ มันหมายถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ต้องถามตัวเองเสียก่อน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save