fbpx

การเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจในกัมพูชาและพม่า

นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านติดกันด้านตะวันออกคือกัมพูชาและด้านตะวันตกคือพม่าก็กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ด้วยวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ บรรดาผู้ที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันต้องการที่จะใช้มติมหาชนเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมเพื่อสืบทอดระบอบอำนาจนิยมของตัวเองต่อไป

กัมพูชากำหนดให้วันที่ 23 กรกฎาคม เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ครบ 5 ปีหมดวาระลงพอดี ส่วนพม่านั้นคาดการณ์เอาไว้ว่าอาจมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีนี้ แต่ดูจากท่าทีของมิน อ่อง หล่าย นายพลแห่งตัดมาดอว์ผู้กุมชะตากรรมของประเทศมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 และสถานการณ์ความตึงเครียดอันเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองแล้ว อาจทำให้คาดเดาได้ยากว่าจะมีการเลือกตั้งได้จริงๆ หรือไม่

คล้ายๆ กับกรณีนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ทั้งนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีมิน อ่อง หล่าย ของพม่า ใช้เทคนิคในการขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจแบบเดียวกันคือ เริ่มต้นจากการใช้กำลังทางทหารทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาเป็นของตัวเอง จากนั้นก็ใช้ทั้งอำนาจดิบและตัวบทกฎหมายในการข่มขู่ คุกคามและกำจัดฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อทำให้พรรคที่กองทัพหนุนหลังหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งพรรคการเมืองที่เป็นหน้าฉากให้กับกองทัพสามารถชนะการเลือกตั้งได้โดยง่าย

ในที่นี้จะพิจารณากรณีของกัมพูชาและพม่า เพื่อชี้ให้เห็นว่าฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชาประสบความสำเร็จมากกว่าตัดมาดอว์ในการใช้การเลือกตั้งสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมทั้งโดยฮุน เซนในกัมพูชาและมิน อ่อง หล่าย ในพม่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาด้วยกันทั้งคู่ และถ้าหากพวกเขาสามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างราบรื่นมั่นคง บรรดาผู้เผด็จการทั้งหลายในโลกนี้อย่าว่าแต่สองประเทศนี้เลยคงไม่จำเป็นต้องจัดเลือกตั้งให้ยุ่งยาก

แต่เหตุที่ทำให้จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งเพราะประการแรก อยากได้การยอมรับจากสากล ซึ่งจะให้ความน่าเชื่อถือกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชนสง่างามกว่า ประชาคมโลกอยากจะคบค้าสมาคมกับรัฐบาลที่ได้อาณัติจากประชาชนมากกว่ารัฐบาลเผด็จการที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน

ประการต่อมา การเลือกตั้งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้มากกว่า เพราะมันช่วยระบายแรงกดดันที่มาจากฝ่ายค้านได้ ผู้นำอำนาจนิยมที่ชาญฉลาดจะปล่อยให้มีฝ่ายค้านไว้ในจำนวนที่จัดการและรับมือได้ ไม่เช่นนั้นแล้วแรงกดดันจากฝ่ายค้านจะสะสมตัวกลายเป็นความตึงเครียดและอาจนำไปสู่ความวุ่นวายและความรุนแรงในที่สุด ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีต่อระบอบโดยรวม

ประการสุดท้าย การเลือกตั้งเป็นดัชนีชี้วัดความนิยมและความภักดี การเลือกตั้งที่สั่งได้จะทำให้ผู้เผด็จการอ้างได้ว่าพวกเขาได้รับความนิยมจากประชาชนและพวกเขาสามารถคัดเลือกบรรดาผู้สมัครที่ภักดีเท่านั้นให้ลงชิงชัยในสนามที่ไม่มีคู่แข่งหรือมีน้อยและไม่เข้มแข็ง ถ้าทำให้การเลือกตั้งเป็นแบบนั้นได้ย่อมหมายความว่าเผด็จการอำนาจนิยมสามารถควบคุมการเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบและอยู่ในอำนาจได้อย่างมั่นคงยาวนาน

การเลือกตั้งของฮุน เซน

ฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชาประสบความสำเร็จในการใช้การเลือกตั้งสร้างความชอบธรรมให้อยู่ในอำนาจมาตลอดนับแต่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งสหประชาชาติเป็นสปอนเซอร์หลังสงครามกลางเมืองในปี 1993 แม้ว่าในครั้งแรกนั้นพรรคประชาชนกัมพูชาจะพ่ายแพ้ได้ที่นั่ง 51 จาก 120 ในขณะที่พรรคฟุนซินเปกของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ผู้ชนะก็ได้ที่นั่งไม่เกินกันมากนักคือ 58 ที่นั่ง และพรรคพระพุทธศาสนาของอดีตนายกรัฐมนตรีซอนซานได้ 10 ที่นั่ง และพรรคโมลินากาของ กง ซิเลีย 1 ที่นั่ง แต่ด้วยความที่สังคมกัมพูชาแตกแยกมานาน คนร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการไทย) เลยไม่ต้องการให้รัฐบาลใหม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งนัก จึงบัญญัติว่าการจัดตั้งรัฐบาลต้องได้เสียงสนับสนุน 2/3 คืออย่างน้อย 80 ที่นั่ง นั่นหมายความว่าเจ้ารณฤทธิ์ปล่อยให้ฮุน เซนเป็นฝ่ายค้านไม่ได้แน่นอน

ด้วยความที่พรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งก็คือพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาอันเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ในระบอบเดิมมีโครงสร้างที่ครอบงำกลไกรัฐทั้งหมดและที่สำคัญควบคุมกองทัพอยู่ ทำให้ฮุน เซนมีอำนาจต่อรองตามความเป็นจริงมากกว่ารณฤทธิ์และพรรคฟุนซินเปก เขาจึงได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สองแทนที่จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี แม้ว่ามีการแบ่งปันอำนาจในกระทรวงสำคัญเช่น กลาโหมและมหาดไทย ด้วยหลักการเดียวกันคือมีรัฐมนตรีแฝดที่ต้องตัดสินร่วมกันในทุกเรื่องแต่อำนาจในการบริหารที่แท้จริงกลับอยู่กับกลุ่มคนของพรรคประชาชนมากกว่า

ผลจากการนั้นทำให้การแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ไม่ได้จบลงง่ายๆ หลังการเลือกตั้งในปี 1993 ยังคงมีความวุ่นวายระส่ำระสายอยู่ทั่วไป เพราะกลุ่มเขมรแดงไม่ยอมวางอาวุธเข้าร่วมการเลือกตั้ง อีกทั้งพรรคฟุนซินเปกที่เป็นแกนนำของรัฐบาลไม่มีกำลังทหารและความสามารถมากพอจะควบคุมสถานการณ์ได้ ยังไม่นับว่ากองทัพไทยยังไม่เลิกบ่อนทำลายเสถียรภาพของกัมพูชาเพื่อความมั่นคงของไทยเองด้วยการให้การสนับสนุนเขมรแดงอย่างลับๆ อยู่ต่อไป คนไทยจำนวนหนึ่งสนับสนุนเจ้านโรดม จักรพงศ์ให้พยายามยึดอำนาจฮุน เซนในปี 1994 และปีต่อมามีข่าวว่าจะมีการลอบสังหารฮุน เซน เขาจึงกักบริเวณเจ้านโรดม สิริวุธ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเพราะเชื่อว่าสมรู้ร่วมคิดในแผนลอบสังหารดังกล่าว

ถัดมาในปี 1997 สม รังสี อดีตรัฐมนตรีคลังพาคนประท้วง เกิดความรุนแรงจนมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ถัดมาไม่กี่เดือนเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารที่ภักดีกับรณฤทธิ์กับพวกที่ภักดีกับฮุน เซน ในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารขับไล่รณฤทธิ์ไปต่างประเทศ ทหารของฝ่ายฟุนซินเปกหนีมาตั้งมั่นอยู่ชายแดนด้านที่ติดกับจังหวัดสุรินทร์ปะทะกันอยู่พักหนึ่ง สูญเสียไม่ใช่น้อย พร้อมกันนั้นฮุน เซนก็กวาดล้างพวกฟุนซินเปกที่อยู่ในรัฐบาลกันขนานใหญ่

การรัฐประหารของฮุน เซนนั้นอาจจะต่างจากที่คุ้นเคยกันในประเทศไทยอยู่สักหน่อยตรงที่ไม่มีความจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ก็เกิดผลกระทบทางด้านต่างประเทศเพราะทำให้กลุ่มอาเซียนต้องตัดสินใจเลื่อนการรับกัมพูชาเป็นสมาชิกออกไปจนกว่าปัญหาทางการเมืองจะเรียบร้อยนั่นคือจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 1998 ซึ่งก็เป็นเวลาที่สภาชุดแรกครบวาระพอดี แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหลังนี้จะไม่มีสหประชาชาติคอยดูแล แต่ก็มีผู้สังเกตการณ์ทั้งจากต่างประเทศและภายในของกัมพูชาเองคอยจับตาอยู่เป็นจำนวนมาก และยังใช้กติกาเดิมคือเป็นระบบสัดส่วนคำนวณที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากคะแนนรวมที่ได้ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้งได้ 2 ล้านคะแนนหรือ 41.2 เปอร์เซ็นต์ ได้ที่นั่งในสภา 64 จาก 120 พรรคฟุนซินเปกได้ 1.5 ล้านคะแนนคิดเป็น 31.7 เปอร์เซ็นต์ ได้ 43 ที่นั่ง และมีพรรคตั้งใหม่ชื่อสม รังสี คะแนน 699,000 คิดเป็น 14.2 เปอร์เซ็นต์ ได้ 15 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

แรกที่เดียวพรรคฟุนซินเปกและสมรังสีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจึงร้องเรียนว่ามีการโกงกันอย่างขนานใหญ่ แต่หลังจากเจรจาต่อรอง (อาจจะมีข่มขู่กันด้วยตามแบบฉบับการเมืองกัมพูชา) กันอยู่หลายเดือน ในที่สุดพรรคฟุนซินเปกยอมถอนข้อกล่าวหาและร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาชน แต่คราวนี้ให้ฮุน เซนเป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มอยู่คนเดียว ส่วนเจ้ารณฤทธิ์ยอมไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคสมรังสีเป็นฝ่ายค้าน

ฮุน เซนและพรรคประชาชนเริ่มมีทักษะในระบบการเมืองแบบพหุพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งครั้งหลังๆในปี 2003, 2008, 2013 และ 2018 ในขณะที่พรรคฟุนซินเปกกลับถูกบ่อนเซาะให้อ่อนแอลงไปพร้อมๆ กัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการนำที่ไม่เข้มแข็งของเจ้ารณฤทธิ์เอง ประกอบกับความแตกแยกในพรรค จนในที่สุดเจ้ารณฤทธิ์แยกตัวออกมาตั้งพรรคของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ได้ที่นั่งเพียงสองที่เท่ากับพรรคเดิมคือฟุนซินเปกในการเลือกตั้งปี 2008 และล้มเหลวโดยสิ้นเชิงนับแต่การเลือกตั้งในปี 2013 เป็นต้นมา

ส่วนฝ่ายค้านนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยมาจนกลายเป็นภัยคุกคามอันน่าเกรงขามของฮุน เซนอยู่ในปัจจุบัน ตัวสม รังสี เองนั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับฮุน เซนมานานตั้งแต่ร่วมรัฐบาลเจ้ารณฤทธิ์ในฐานะรัฐมนตรีคลังโน่นเลยทีเดียว เขาถูกขับออกจากสภาเมื่อปี 1995 ก่อนที่จะตั้งพรรคชนชาติแขมร์ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนใช้ชื่อของตัวเองในการเลือกตั้งปี 1998 และประสบความสำเร็จมากขึ้นในการเลือกตั้งปี 2003 ด้วยที่นั่ง 24 ที่นั่ง ได้เพิ่มเป็น 26 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2008 แต่โดยที่ตัวเขาเองต้องหลบออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศตั้งแต่ปี 2005 หลังจากโดนคุกคามอย่างหนักเพราะเขากล่าวหาทั้งพรรคประชาชนและพรรคฟุนซินเปกด้วยเรื่องคอร์รัปชัน และกล่าวหาฮุน เซนว่าสมรู้ร่วมคิดหรือรู้เห็นเป็นใจกับการฆาตกรรมเจือ วิเชีย ประธานสหภาพแรงงานที่เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน

สม รังสีรวมพรรคกับพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งเป็นพรรคใหม่ชื่อพรรคสงเคราะห์ชาติ (The Cambodian National Rescue Party) ในปี 2012 เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปีถัดมา แต่โดยที่ตัวเองไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากกลับมาลงทะเบียนเลือกตั้งไม่ทันกำหนดเวลา เขาได้รับพระราชอภัยโทษจากกษัตริย์สีหมุนีไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม 2013 แต่พรรคสงเคราะห์ชาติก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้งคราวนั้นด้วยคะแนนเสียง 2.9 ล้านคะแนนหรือคิดเป็น 44.5 เปอร์เซ็นต์ ได้ที่นั่ง 55 จาก 123 ที่นั่ง โดยที่พรรคประชาชนได้ 68 ที่นั่งแต่ก็เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเพราะตอนนั้นได้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งจากเดิมที่กำหนด 2 ใน 3

แต่การเมืองกัมพูชาไม่ได้อยู่ในสภา ฮุน เซนใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือคุกคามฝ่ายค้านอย่างหนัก เข็ม สุขา (อ่านตามภาษาขะแมร์ว่า กึม สุขา) หัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติและอดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 ถูกจับฐานกบฏ (สมคบกับต่างชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลฮุน เซน) ในเดือนกันยายน 2017 ด้วยพยานหลักฐานเพียงน้อยนิดที่เชื่อว่าฮุน เซนเป็นคนเสกปั้นขึ้นมาเอง ศาลกัมพูชาตัดสินกักบริเวณเขาให้อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 27 ปีเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง และพรรคสงเคราะห์ชาติถูกยุบในเดือนพฤศจิกายน 2017 และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค 118 คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[1] ผลจากการนั้นทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาครองที่นั่งทั้งหมด 125 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งปี 2018 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่น่าละอายในประวัติศาสตร์ระยะสั้นของประเทศนี้

อย่างไรก็ตามพรรคประชาชนของฮุน เซนยังคงมีคู่แข่งสำคัญอยู่ในการเลือกตั้งวันที่ 23 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เมื่อพลพรรคฝ่ายค้านหยิบเอาพรรคชนชาติแขมร์ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1995 และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสม รังสี แล้วมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งในสื่อพรรคแสงเทียน (อ่านตามภาษาขะแมร์ต้องว่า พรรคเพลิงเทียน)โดยใช้โลโกเก่าที่เป็นรูปเทียนไขสีขาวเปลวไฟสีส้มเพื่อให้คนจำได้ โดยปัจจุบันมีเทียบ วันนอล อดีตวุฒิสมาชิกเป็นประธานพรรค สามารถทำผลงานได้ค่อนข้างน่าประทับใจในการเลือกตั้งท้องถิ่น (คอมมูน) เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ได้คะแนนรวมจากการเลือกตั้งทั้งหมด 22 เปอร์เซ็นต์ คำนวณออกมาเป็นที่นั่งในสภาคอมมูนได้ 2,198 จากทั้งหมด 11,622 ที่นั่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด แต่ได้ตำแหน่งประธานคอมมูนเพียง 4 จาก 1,652 ตำแหน่ง[2] ถ้าสามารถรักษามาตรฐานการทำงานในระดับนี้ได้คาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้อาจจะได้ที่นั่ง 27 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งน่าจะเทียบเคียงกับที่เคยทำได้ภายใต้ชื่อพรรคสม รังสีในปี 2008

แต่ฮุน เซนคงจะไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยด้วยการปล่อยให้พรรคแสงเทียนเติบโตในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง ด้วยว่าบรรดาแกนนำเริ่มเจอปัญหาทางกฎหมายกันบ้างแล้ว เริ่มจากทัช เศทฐา ถูกจำคุกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาในข้อหาเช็กเด้ง กง กอร์ม ที่ปรึกษาพรรคถูกบีบให้ลาออกในเดือนต่อมาหลังจากที่ถูกพรรคประชาชนฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ แถมจะโดนยึดบ้านและที่ดินที่เขาเคยอยู่มาตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่กับพรรคประชาชนในช่วงทศวรรษ 1980-1990 การลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาพรรคก็เป็นผลมาจากการประนีประนอมเมื่อเขายอมออกมาขอโทษฮุน เซน พรรคประชาชนจึงยอมถอนฟ้อง แต่เรื่องคงจะไม่จบแค่นั้น ฮุน เซนออกมาข่มขู่เป็นระยะๆ ว่าพรรคแสงเทียนอาจจะถูกยุบหากไม่แสดงจุดยืนให้ชัดว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านตลอดกาลที่โดนศาลพิพากษาลับหลังจำคุกตลอดชีวิตไปเมื่อเดือนตุลาคม 2022 และนอกจากนี้มีรายงานข่าวออกมาสม่ำเสมอว่า บรรดาผู้สนับสนุนพรรคแสงเทียนโดนข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกาย

การเลือกตั้งของมิน อ่อง หล่าย

ตัดมาดอว์หรือกองทัพพม่าไม่มีทักษะและความสามารถในการใช้การเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจทางการเมืองของตัวเองได้เลย พรรคที่กองทัพให้การหนุนหลังหรือถ้าจะว่าไปแล้วน่าจะเรียกว่าปีกการเมืองของกองทัพไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆ ถ้าหากต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง

พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party) ซึ่งก่อตั้งในเดือนกันยายน 1988 นั้นแท้จริงแล้วก็คือพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Program Party) ของนายพลเน วินที่โดนประชาชนลุกฮือต่อต้านอย่างรุนแรงในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พรรคนี้ประสบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1990 ได้ที่นั่งเพียง 10 จาก 492 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลายได้ที่นั่งทั้งสิ้น 392 ที่นั่ง ทั้งๆที่ผู้นำคนสำคัญของพรรคอย่างออง ซาน ซู จี และติน อู ถูกกักบริเวณในบ้านก่อนหน้าการเลือกตั้งเป็นเวลานาน[3] ในเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนั้น สภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายซึ่งเป็นสภาทหารที่ยึดอำนาจอยู่ในเวลานั้นจึงปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งดื้อๆ อย่างนั้นแหละ แล้วก็ทนทู่ซี้ปกครองประเทศท่ามกลางการต่อต้านของประชาชนทั้งชาวพม่าและบรรดากลุ่มชาติพันธุ์และการคว่ำบาตรจากนานาชาติ เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อยู่เป็นเวลาถึง 20 ปีจึงได้จัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

แต่ระหว่างนั้นก็ทำสารพัดอย่างเพื่อที่จะลอกคราบระบอบทหารให้ออกมาเป็นระบอบเลือกตั้งให้ได้ เริ่มจากการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 1993 ซึ่งพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเพราะเห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีเจตนาจะสร้างความชอบธรรมให้กับตัดมาดอว์ในการควบคุมการเมืองต่อไป แต่ในที่สุดก็คลอดรัฐธรรมนูญออกมาได้ในปี 2008 ซึ่งให้อำนาจพิเศษแก่กองทัพและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในการเข้าควบคุมการเมืองได้ทุกเมื่อ และให้กองทัพคงอำนาจในการควบคุมการบริหารด้วยการให้โควต้าควบคุมกระทรวงสำคัญทางด้านความมั่นคง เช่น กลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดนและควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติด้วยการให้มีการแต่งตั้งให้ทหารเข้าไปอยู่ในสภา 25 เปอร์เซ็นต์

สภาทหารของตัดมาดอว์เตรียมการในการสร้างพรรคการเมืองเอาไว้อย่างดี พรรคสหสามัคคีเพื่อการพัฒนาซึ่งตั้งขึ้นโดยเต็ง เส่งเพื่อรองรับการเลือกตั้งในปี 2010 ความจริงแล้วคือร่างทรงของตัดมาดอว์ที่สร้างมาจากสมาคมในชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นหน่วยงานมวลชนของกองทัพที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ปี 1993 สมาคมแห่งนี้มีเครือข่ายที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐอยู่ทั่วประเทศ เชื่อกันว่าสมาคมนี้สามารถรวบรวมสมาชิกที่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ ทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไปได้มากถึง 24 ล้านคน โดยที่เชื่อว่าจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์เข้ามาเหมือนกับการเกณฑ์ทหาร[4] แต่สมาชิกที่มากมายขนาดนั้นไม่ได้ช่วยให้พรรคการเมืองของทหารมีฐานสนับสนุนทางการเมืองที่แข็งแกร่งแต่อย่างใดเลย พรรคสหสามัคคีได้รับคะแนนเสียง 11 ล้านเสียงในการเลือกตั้งปี 2010 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 259 จาก 325 ที่นั่งในส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง (อีก 111 ที่นั่งเป็นของกองทัพ) ที่นั่งที่เหลือส่วนใหญ่เป็นของพรรคการเมืองที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งได้พรรคละไม่กี่ที่นั่ง (มากที่สุดคือพรรคชนชาติฉานเพื่อประชาธิปไตยได้ 18 ที่นั่ง) ต่อให้รวมกันทั้งหมดก็ไม่มีสภาพเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งแต่อย่างใด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคสหสามัคคีของตัดมาดอว์ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมากในคราวนั้นเนื่องมาจากพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของออง ซาน ซู จีบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่ากฎกติกาว่ากันตั้งแต่รัฐธรรมนูญเป็นต้นไปไม่มีความเป็นธรรมเอาเสียเลย เช่น กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขรัฐบาลนั้นจะต้องไม่มีคู่สมรสหรือบุตรธิดาเป็นต่างชาติ พูดง่ายๆ คือเขียนกีดกันออง ซาน ซู จีเอาไว้เป็นการเฉพาะ

ความล้มเหลวที่แท้จริงของพรรคทหารมาปรากฏให้เห็นในปี 2015 เมื่อพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยได้คะแนนเสียง 12.8 ล้านคิดเป็น 57.2 เปอร์เซ็นต์และได้ที่นั่ง 255 ที่ในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พรรคสหสามัคคีได้เพียง 6.3 ล้านคะแนนหรือ 28 เปอร์เซ็นต์ได้ที่นั่งเพียง 30 ที่ ดังนั้นพรรคสันนิบาติแห่งชาติฯ จึงได้จัดตั้งรัฐบาลอยู่บริหารจนครบเทอม อีกทั้งยังคว้าชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2020 จนทำให้มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ข้อสรุปว่าถ้าปล่อยให้ครองอำนาจอีก 5 ปี ตัดมาดอว์คงจะต้องถอนตัวจากการเมืองแน่นอน การรัฐประหารจึงเป็นคำตอบเดียวที่ทหารคิดออกในการรักษาอำนาจทางการเมืองของกองทัพเอาไว้ต่อไป

ถ้าหากใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องนำทาง ผู้นำตัดมาดอว์คงจะได้ข้อสรุปมานานแล้วว่า การเลือกตั้งไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดในการรักษาอำนาจหรือสร้างความชอบธรรมในการรักษาอำนาจ แต่การสร้างความกลัว ความแตกแยก และการแยกตัวออกจากสังคมโลกดูเหมือนจะเป็นแบบแผนหลักในการเอาตัวรอดของตัดมาดอว์ ถ้านับเวลาตั้งแต่ระบอบสังคมนิยมแบบพม่าของเน วินในปี 1962-1988 และระบอบเสนานุภาพของตัน ฉ่วยระหว่างปี 1988-2010 รวมเวลาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษที่ตัดมาดอว์ควบคุมระบบการเมืองของประเทศเอาไว้ด้วยกำลังทหารล้วนๆ รัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ และการเลือกตั้ง เป็นเพียงจินตนาการที่เอาไว้ใช้หลอกล่อหรือต่อรองกับแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต่อให้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมีความสามารถและเข้มแข็งในการรักษาอำนาจเพียงใดก็ยากที่จะปฏิเสธการเลือกตั้ง เพราะดูเหมือนมันยังคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการสร้างความชอบธรรมและลดแรงกดดันต่างๆ ได้ แต่ปัญหาของตัดมาดอว์และมิน อ่อง หล่าย คือทำอย่างไรจะทอดระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งออกไปให้ได้นานที่สุดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพรรคที่เป็นหน้าฉากให้กองทัพจะคว้าชัยชนะได้ในที่สุด

สิ่งที่ตัดมาดอว์และมิน อ่อง หล่ายกำลังปฏิบัติการอยู่ในเวลานี้คือใช้กำลังทหารบดขยี้ฝ่ายต่อต้าน สร้างภาพให้พวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติ จับกุมคุมขังบรรดาผู้นำของฝ่ายค้าน เฉพาะอย่างยิ่งออง ซาน ซู จีซึ่งอายุ 78 ปีแล้ว ถึงตอนนี้ต้องโทษถูกจองจำรวมกันทุกคดี 33 ปี แปลว่าชีวิตที่เหลืออยู่อาจจะไม่พอรับโทษด้วยซ้ำไป และสิ่งที่ทำเหมือนกับเผด็จการเพื่อนบ้านคือยุบพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งสิ้น 40 พรรค ซึ่งก็รวมทั้งพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญเช่นพรรคสันนิบาติแห่งชนชาติฉานเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเคยชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งปี 2020 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าคู่แข่งสำคัญของตัดมาดอว์และพรรคการเมืองที่เป็นฉากหน้าให้กับทหารอยู่ภายใต้การควบคุมจนทำให้ไม่อาจมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ การเปลี่ยนโฉมหน้าของรัฐบาลทหารไปสู่การเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีความเป็นไปได้

มีการคาดการณ์กันทั่วไปว่ามิน อ่อง หล่าย น่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2023 แต่หลังจากที่มีการประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เพื่อขยายภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนคือจนถึงเดือนกันยายน นั่นหมายความว่าโอกาสจะจัดการเลือกตั้งภายใต้ภาวะฉุกเฉินดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ของการสู้รบระหว่างตัดมาดอว์กับกองกำลังของฝ่ายต่างๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้เป็นสิ่งที่เลือนรางไปทุกทีถ้าแรงกดดันจากต่างประเทศไม่มากพอ จึงมีความเป็นไปได้ที่มิน อ่อง หล่าย น่าจะเลือกเส้นทางที่นายทหารรุ่นก่อนๆ อย่างเน วินและตัน ฉ่วยเคยทำเป็นแบบอย่างไว้คือแช่แข็งการเลือกตั้งเอาไว้อย่างน้อย 20 ปี

โดยสรุปแล้วปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรดาผู้เผด็จการอำนาจนิยมทั้งหลายประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการใช้การเลือกตั้งสร้างความชอบธรรม รักษาหรือสืบทอดอำนาจ อยู่ที่ความสามารถในการจัดการกับฝ่ายค้านเป็นสำคัญ ในขณะที่ฮุน เซนสามารถกำราบฝ่ายค้านได้ในระดับหนึ่ง ตัดมาดอว์กลับไม่สามารถจำกัด (ไม่ต้องคิดว่าจะกำจัด) ฝ่ายค้านได้ แม้ว่าจะใช้วิธีการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมคุมขัง ล่าสังหาร ไปจนถึงการห้ามกิจกรรมทางการเมืองและยุบพรรคก็ตาม

คำอธิบายเบื้องต้นในกรณีนี้ในเชิงเปรียบเทียบคือฮุน เซนแห่งกัมพูชานั้น คุ้นเคยกับระบบเลือกตั้งของการเมืองแบบพหุนิยมมากกว่า เพราะยอมจัดให้มีการเลือกตั้งบ่อยครั้งกว่านับจากช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันในทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา กัมพูชาผ่านการเลือกตั้งทั่วไปแล้วถึง 6 ครั้ง การเลือกตั้งท้องถิ่น 5 ครั้ง และการเลือกตั้งวุฒิสภาอีก 3 ครั้ง แต่พม่าเพิ่งจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเพียง 4 ครั้ง แต่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและยึดอำนาจเอาไปดื้อๆ เสีย 2 ครั้ง ฮุน เซนจึงมีทักษะในการใช้คะแนนนิยมและกลไกระบบรัฐสภามากกว่า เขารู้จักใช้การต่อรอง ผสมผสานกับการบ่อนเซาะและกัดกร่อนฝ่ายค้าน แน่นอนฮุน เซนใช้ความรุนแรงด้วย แต่ก็อยู่ในระดับที่แตกต่างจากทหารพม่าอย่างมาก


[1]Prak Chan Thul and Amy Sawitta Lefevre. “Cambodia’s main opposition party dissolved by Supreme Court” Reuters. November 16, 2017 (https://www.reuters.com/article/us-cambodia-politics-idUSKBN1DG1BO)

[2]“Cambodia ruling party wins 80 % of local council seats” Nikkei Asia June 26, 2022 (https://asia.nikkei.com/Politics/Cambodia-ruling-party-wins-80-of-local-council-seats)

[3]Wei Yan Aung “Myanmar’s 1990 Election: Born of a Democratic Uprising, Ignored by the Military” Irrawaddy October 7, 2020 (https://www.irrawaddy.com/elections-in-history/myanmars-1990-election-born-democratic-uprising-ignored-military.html)

[4]“Burma junta support group USDA disbands” BBC July 15, 2010 (https://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-10651760)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save