fbpx
'แบงก์ชาติ-ตลาดการเงิน-เศรษฐกิจไทย-วิชาเศรษฐศาสตร์' ท่ามกลางวิกฤตที่โลกไม่เคยเจอมาก่อน - พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

‘แบงก์ชาติ-ตลาดการเงิน-เศรษฐกิจไทย-วิชาเศรษฐศาสตร์’ ท่ามกลางวิกฤตที่โลกไม่เคยเจอมาก่อน – พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

วรรษกร สาระกุล เรียบเรียง

 

 

แล้ว พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ก็บังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

หลักใหญ่ใจความของกฎหมายฉบับนี้คือมาตรการช่วยเหลือตลาดการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เรียกว่า “มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราวสำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทคุณภาพดีน่าเชื่อถือที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ กำหนด

ย้อนกลับไปตอนต้นเดือนเมษายนเมื่อ ธปท. ประกาศแนวคิดนี้ออกมา ก็เกิดวิวาทะในแวดวงการเงินและเศรษฐศาสตร์อย่างคึกคัก  ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตประธานคณะกรรมการ ธปท. ร่วมกับอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. จำนวนหนึ่ง ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกคัดค้าน ขอให้ยุติมาตรการ โดยให้เหตุผลว่าขัดกับหลักของธนาคารกลาง อีกไม่กี่วันต่อมา อดีตผู้ว่าการ ธปท. อีกสามท่าน คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ธาริษา วัฒนเกส และ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ออกมาประสานเสียงสนับสนุน บอกว่าสอดคล้องกับภารกิจรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของแบงก์ชาติ

101 ชวน ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด มหาชน และคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำ 101 มาเปิดชั้นเรียนเศรษฐศาสตร์การเงิน (และเศรษฐศาสตร์การเมือง) ของธนาคารกลาง พร้อมสนทนาเรื่องบทบาทใหม่ของธนาคารกลางกับการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19

มาตรการช่วยเหลือตลาดการเงินขัดกับหลักธนาคารกลางหรือไม่? เป็นนโยบายอุ้มคนรวยจริงหรือ? ทำไมธนาคารกลางต้องลงมือทำเอง? ต้นทุนของมาตรการนี้คืออะไร? ควรออกแบบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกอบมาตรการอย่างไรเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะให้ดีที่สุด? และถ้าสถานการณ์ไม่จบ ปัญหาเปลี่ยนจากสภาพคล่อง (liquidity) เป็นธุรกิจล้มละลาย (solvency) จะต้องทำอย่างไรต่อ?

หาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

ขอเริ่มจากเรื่องพื้นฐานก่อนว่า ภาคการเงินมีความสำคัญอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ

ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งธุรกิจและครัวเรือนล้วนต้องใช้ทุนทั้งนั้น ธุรกิจต้องการทุนมาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนก็ต้องการทุนมาซื้อหาปัจจัยต่างๆ เช่น บ้านพักอาศัย หากรายได้ไม่พอรายจ่ายก็ต้องไปกู้มา ภาคการเงินทำหน้าที่รวบรวมเงินจากคนที่มีเงินเหลือ แล้วจัดสรรเงินนี้ให้แก่คนที่ต้องการใช้เงิน โดยต้องจ่ายคืนในอนาคตพร้อมดอกเบี้ย หากไม่มีทรัพยากรทุนแล้ว ภาคธุรกิจก็ไม่สามารถทำธุรกิจได้ คนที่มีรายได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอก็ไม่สามารถซื้อบ้านได้ พูดให้กระชับคือ ภาคการเงินมีหน้าที่รวบรวม จัดสรร และติดตามการใช้ทรัพยากรทุน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญทางเศรษฐกิจ

 

แล้วที่ทางของ ‘ตราสารหนี้ภาคเอกชน’ อยู่ตรงไหนในภาคการเงิน มันคืออะไรและสำคัญอย่างไร

ในอดีต ภาคการเงินที่เราคุ้นชินคือธนาคาร เพราะธนาคารเป็นตัวกลางให้คนนำเงินไปฝาก และนำเงินฝากนั้นมาปล่อยกู้ต่อ เมื่อระบบนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ก็เกิดความคิดว่าทำไมไม่ตัดตัวกลางออกไป (disintermediary) ให้คนที่ต้องการทุนและคนที่ต้องการออมมาเจอกันโดยตรง ทำให้ทั้งผู้กู้และผู้ออมได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้กู้ก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ส่วนผู้ให้กู้ก็ได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ตัวกลางแล้ว จึงเกิดตลาด ตราสารหนี้ ขึ้น โดยตราสารหนี้ภาครัฐก็คือพันธบัตรรัฐบาล ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนก็เช่น หุ้นกู้

ตลาดตราสารหนี้ของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลปีที่แล้ว มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของจีดีพี  จำนวนทุนที่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจัดสรรให้กับบริษัทขนาดใหญ่มีขนาดใกล้เคียงหรือใหญ่กว่าสินเชื่อที่ภาคธนาคารจัดสรรให้บริษัทขนาดใหญ่เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของตลาดตราสารหนี้คือ บริษัทที่ออกตราสารหนี้ได้จะมีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุน ถึงวันนี้บริษัทใหญ่ๆ เกือบทุกบริษัทของไทยเข้ามาใช้บริการตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนกันหมด เรียกว่าเป็นเทรนด์เลยก็ว่าได้ ภาคธนาคารเสียลูกค้ารายใหญ่ให้กับตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนอยู่พอสมควร

 

วิกฤต COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวม ตลาดการเงิน และตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนอย่างไร

แทบทุกประเทศทั่วโลกใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลาม แต่ผลด้านลบของการปิดเมืองคือเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้เกิด ‘shock’ และ ‘disruption’ ในหลายมิติ ธุรกิจหลายแห่งขาดกระแสเงินสดไหลเข้า มีแต่กระแสเงินสดไหลออก เช่น ธุรกิจโรงแรม สายการบิน หลายธุรกิจอาจต้องปลดคนงานออก ผมเคยคำนวณว่าในเมืองไทย คนจะตกงานมหาศาลมากกว่า 5  ล้านคน ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อหลายธุรกิจมีแต่รายจ่าย สิ่งที่ตามมาคือการขาดสภาพคล่องและอาจถึงขนาดขาดกระแสเงินสด จนไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ หากกู้จากธนาคาร ก็อาจขอผ่อนผัน หรือทนอยู่ได้สักระยะหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการกู้ในตลาดตราสารหนี้ เมื่อมีคำว่า ตลาด แสดงว่าต้องมีการซื้อขายอยู่เสมอ มีการตีราคาอยู่ตลอดเวลา คำถามคือ ถ้าคนที่กู้ผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนขาดสภาพคล่อง แล้วไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้จะทำอย่างไร

สมมติว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สร้างคอนโดและรอขายอยู่ หากขายคอนโดได้ก็จะมีเงินมาจ่ายคืนตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด แต่ถ้าขายไม่ได้ ก็ต้องขอกู้ต่อเพื่อยืดอายุตราสารหนี้ออกไป (rollover) ในภาวะปกติสามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะคนเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะขายคอนโดได้และไม่ว่าอย่างไรบริษัทก็มีเงินมาจ่ายคืนได้แน่นอน แต่เมื่อวิกฤต COVID-19 ไม่จบ คนไม่กล้าใช้จ่าย นักลงทุนก็ไม่มั่นใจว่าบริษัทจะขายคอนโดได้ และไม่แน่ใจว่าจะจ่ายคืนหนี้ได้ ดังนั้นจึงไม่กล้าให้บริษัท rollover แม้ว่าบริษัทนี้จะมีคุณภาพดี มีความน่าเชื่อถือมาโดยตลอดก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือ บริษัทก็จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นทันที อาจถูกฟ้องล้มละลาย ปัญหาอาจลามไปทั้งตลาดการเงิน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้าง นี่คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

 

การเข้าไปช่วยเหลือตลาดการเงินถือว่าเป็นมาตรการอุ้มคนรวยหรือไม่

ถ้าดูเผินๆ อาจเหมือนกับการอุ้มคนรวย เพราะบริษัทที่ออกตราสารหนี้ในตลาดส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทใหญ่ รวยมหาศาล แต่อยากให้ลองทำความเข้าใจด้วยว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาครั้งนี้มีหลายฝ่ายมาก ทั้งผู้บริโภค ลูกจ้าง รวมไปถึง supplier หรือ contractor อย่าลืมว่า หากบริษัทไม่สามารถจ่ายหนี้ได้และล้มละลาย จะทำให้ supplier หรือ contractor ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้เช่นกัน อาจทำให้เกิดการล้มละลายเป็นทอดๆ เกิดการเลิกจ้างตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

ในแง่นี้ เราไม่ควรจะปล่อยให้ปัญหาที่เกิดจากสภาพคล่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน จนสร้างความเสียหายให้บริษัทจำนวนมากโดยไม่จำเป็น

นอกจากนั้น ถ้าเราดูสัดส่วนของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ซึ่งไล่ไปให้สุดก็คือนักลงทุนรายย่อยนั่นเอง อย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำ (กบข.) ก็ลงทุนแทนข้าราชการในระบบ หรือกองทุนประกันสังคม (สปส.) ก็คือเงินลงทุนให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม เช่นเดียวกับบริษัทประกัน กองทุนรวม หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ก็เป็นการลงทุนให้ประชาชนทั่วไป ถ้าตลาดมีปัญหาก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบคนทั่วไปด้วย เช่น ผู้ใช้แรงงาน สมาชิกสหกรณ์

 

เราเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของมาตรการช่วยเหลือตลาดเงินของ ธปท. อย่างไร มาตรการนี้พยายามจะเข้าไปช่วยอุดช่องว่างตรงไหนที่แบงก์ชาติกังวล

ในภาวะวิกฤต ประชาชนจะขาดความมั่นใจและเกิดความกังวล เมื่อคนไม่รู้ว่า COVID-19 จะกระทบต่อการลงทุนอย่างไร สิ่งแรกๆ ที่นักลงทุนจะทำคือลดความเสี่ยง ไม่ถือสินทรัพย์ที่เสี่ยง ดังนั้นจึงไม่กล้า rollover ตราสารหนี้ที่ถืออยู่ ถึงแม้จะเป็นตราสารของบริษัทที่ดีมากก็ตาม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

ในตลาดตราสารหนี้ของไทย แต่ละเดือนจะมีตราสารหนี้ที่หมดอายุต้องการ rollover ประมาณ 6 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ทำให้แบงก์ชาติเป็นกังวลถ้าตลาดนี้ต้องปิดไป ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น ต่างก็พยายามจัดหาสภาพคล่องทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่า แม้ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤตที่สุดก็ยังมีผู้จัดหาสภาพคล่องแหล่งสุดท้าย หรือที่เรียกว่า lender of last resort อยู่

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

แล้วบริษัทไปกู้ธนาคารพาณิชย์เอาได้ไหม โดยธนาคารกลางไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว หรือแบงก์ก็รับมือไม่ไหว

ในภาวะปกติ บริษัทอาจทำเช่นนั้นได้ และมาตรการแบบนี้ก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ ถ้าบริษัทหาเงินไม่ได้ก็ไปหาแหล่งอื่น ธนาคารพาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือก แต่นี่เรากำลังพูดถึงภาวะที่วิกฤตที่สุด ลองนึกภาพว่ามีกองทุนตราสารหนี้บางกองทุนต้องปิดตัวลง นี่คือภาวะที่ทุกคนกลัวที่สุด แม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์เองก็กลัว เพราะฉะนั้นปัญหาที่เรากังวลก็เกิดขึ้น บริษัทคุณภาพดีมาก ในภาวะปกติน่าจะขอกู้ได้ แต่ในภาวะแบบนี้ไม่มีใครให้กู้เลยสักบาท รวมถึงธนาคารพาณิชย์ก็ไม่กล้า

ประเด็นคือ มาตรการของแบงก์ชาติไม่ได้ถูกนำมาใช้ในภาวะปกติ แต่ใช้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินและภาวะวิกฤตที่สุด ซึ่งยากที่จะหาสภาพคล่องได้

 

การเข้าไปช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ของเอกชนถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธนาคารกลางอย่างที่มีผู้วิจารณ์หรือไม่ ธนาคารกลางควรเข้าไปแทรกแซงไหม ช่วยได้แค่ไหน-อย่างไร เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน

ในสมัยก่อน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 และวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ปี 2008 ศูนย์กลางของภาคการเงินคือธนาคาร วิกฤตเกิดจากความเปราะบางของธนาคาร เมื่อธนาคารกลางต้องการแก้ปัญหาก็เพียงเข้าไปอุ้มธนาคารพาณิชย์ ภาคการเงินก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ เกิดจากภาคธุรกิจ ส่วนธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในสภาพดี มีทุนสำรองเพียงพอ ยังไม่แสดงปัญหาในตอนนี้ ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาปัจจุบันก็ต้องเข้าไปแก้ส่วนที่แสดงปัญหา นั่นคือตลาดการเงิน

ถ้าเราเชื่อว่าธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ก็แปลว่าตอนนี้เราต้องเข้าไปช่วยตลาดการเงินก่อน หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ สมมติว่าธนาคารเป็นศูนย์กลางของป่าที่คอยจัดสรรทรัพยากรไปให้ส่วนต่างๆ ภาคการเงินเหมือนเป็นรั้วที่อยู่รอบๆ  วิกฤตในอดีตเกิดจากการที่ศูนย์กลางของป่า คือ ธนาคารมีปัญหา แล้วลามเป็นไฟป่า แต่ปัจจุบันศูนย์กลางยังแข็งแกร่ง ธนาคารกลางจึงควรใช้นโยบายเพื่อดับไฟที่เกิดขึ้นรอบๆ ชายป่าในภาคการเงิน เพื่อกันไม่ให้ปัญหารอบนอกลุกลามเข้าสู่ศูนย์กลาง

 

เรียกได้ว่าแบงก์ชาติต้องปรับบทบาทใหม่ ทั้งในด้านรูปแบบและเครื่องมือที่ใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน เช่น เป็น lender of last resort สำหรับธนาคารพาณิชย์และตลาดการเงิน พูดแบบนี้ได้ไหม

ใช่ครับ เมื่อปัจจุบันตลาดการเงินมีความสำคัญมากขึ้น เครื่องมือที่แบงก์ชาติใช้เพื่อที่จะตอบโจทย์เดียวกัน นั่นคือการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินก็ต้องเปลี่ยนไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาหลักการของธนาคารกลาง ที่จะดูแลเสถียรภาพในทุกด้าน ทั้งภาคการเงิน เศรษฐกิจ และระดับราคา

แต่ขอย้ำอีกทีว่า มาตรการแบบนี้ควรทำเฉพาะในภาวะฉุกเฉินที่ภาคธนาคารไม่มีทรัพยากรเพียงพอแล้ว หรือในภาวะวิกฤตที่ไม่มีใครช่วยได้แล้ว โดยแบงก์ชาติเป็นแหล่งที่พึ่งสุดท้ายจริงๆ

นอกจากนั้น มาตรการนี้ไม่ได้หมายความว่า วงเงิน 4 แสนล้านบาทต้องถูกนำออกมาใช้ทั้งหมด หากการออกมาตรการนี้ทำให้นักลงทุนในตลาดมีความเชื่อมั่นจนตลาดสามารถดำเนินต่อไปได้เอง เงิน 4 แสนล้านนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องนำออกมาใช้จริง

 

จากจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาตรการแบงก์ชาติของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มีอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยหลายท่านที่ลงนามด้วย เช่น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ดร.ศิริ การเจริญดี คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลหรือความกังวลอะไร และเหตุผลหรือความกังวลนั้นมีอะไรที่น่าเอามาคิดต่อ

ประเด็นที่มีความกังวลมีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ ความกังวลว่าจะเกิดความเสียหาย ต้องยอมรับว่าการเข้าไปช่วยเหลือแบบนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความเสียหาย ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลหรือเงินของประชาชนก็ต้องมารับผลของนโยบายนี้

เรื่องที่สอง ในอดีตแบงก์ชาติเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤตก็จริง แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงว่าใครควรหรือไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ ส่วนครั้งนี้ธนาคารกลางเข้าไปมีบทบาทในหน้าที่จัดสรรด้วย จึงอาจเกิดข้อครหาว่ามีแรงจูงใจแฝงที่จะให้ความช่วยเหลือใครเป็นพิเศษหรือไม่ อาจทำให้ความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระของธนาคารกลางลดลง ซึ่งก็มีผู้เสนอเหมือนกันว่า แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่จัดสรรก็ได้ ให้คนอื่นทำหน้าที่นี้แทน โดยธนาคารกลางยังคงเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องให้อยู่

เรื่องที่สาม มาตรการเช่นนี้เท่ากับการพิมพ์เงินหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าประเด็นนี้น่าจะแก้ไขได้ โดยการตั้งเพดานไว้ว่าจะทำเท่าไร แค่ไหน ปัญหาก็น่าจะลดลง

 

การเข้าไปช่วยเหลือของแบงก์ชาติควรจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ประกอบด้วย อยากทราบว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเหล่านี้ออกมาดีพอหรือยัง และควรปรับปรุงหรือมีประเด็นอะไรที่ต้องระวังเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางและรักษาผลประโยชน์สาธารณะอย่างดีที่สุด

วันที่เราคุยกัน (16 เมษายน) กฎหมายยังไม่ออก แต่ผมคิดว่ามีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณา

ประเด็นแรก มาตรการนี้ควรจะเป็น last resort จริงๆ ไม่จำเป็นต้องช่วยทุกคน ควรเข้าไปช่วยเหลือบริษัทที่มีคุณภาพดีแต่ไม่สามารถระดมทุนได้จากภาวะตลาดปิด ส่วนบริษัทที่รู้อยู่แล้วว่าเจ๊งชัวร์ ไม่ควรเข้าไปช่วย

ประเด็นที่สอง ควรกำหนดเงื่อนไขว่าราคาของเงินกู้ก้อนนี้ต้องไม่ใช่ราคาตลาด ใครที่มีความสามารถในการระดมทุนจากแหล่งอื่นในตลาดได้ไม่สมควรมาใช้เงินส่วนนี้ ส่วนคนที่จำเป็นต้องยอมจ่ายแพงกว่าราคาตลาด ไม่ใช่คิดง่ายๆ ว่าจะมาขอช่องนี้

ประเด็นที่สาม ต้องมีการติดตามการใช้เงิน อาจต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ประกันว่าหากได้เงินไปแล้วจะไม่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ต้องจ่ายคืนเงินกู้ก่อนนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น หรือหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ถือหุ้นต้องช่วยรับผิดชอบด้วยการลดทุนของบริษัทก่อนกองทุนจะเสียหาย นอกจากนั้น หากจุดประสงค์หนึ่งของมาตรการนี้คือต้องการให้บริษัทยังสามารถจ้างพนักงานได้อยู่ ก็ต้องใส่เงื่อนไขเข้าไปด้วยว่าห้ามเลิกจ้างพนักงาน

 

ระบุไปเลยได้ไหมว่า ห้ามจ่ายเงินปันผล ห้ามลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามจ่ายคืนเงินกู้กรรมการก่อนจ่ายคืนเงินช่วยเหลือจากรัฐ แรงไปไหมแบบนี้

ก็เป็นเงื่อนไขที่มีความสมเหตุสมผลอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า นี่เป็น last resort จริงๆ และบริษัทก็ต้องการเงินก้อนนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องจริงๆ

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

 

ทุกมาตรการของรัฐย่อมมีคนที่มีแรงจูงใจเข้าหาผลประโยชน์จากระบบโดยเจตนา ในจดหมายเปิดผนึกของ ดร.วีรพงษ์และคณะ ก็ตั้งคำถามว่ามาตรการนี้จะเป็นการเปิดช่องให้ใช้ธนาคารกลางเพื่อประโยชน์ของเอกชนเฉพาะรายอย่างไม่โปร่งใสในอนาคตได้ เราจะมีวิธีการอุดรอยรั่วส่วนนี้อย่างไร

ประเด็นแรก คือ การลดการใช้ดุลพินิจ (discretion) ให้มากที่สุด พอมีคนวิจารณ์แบบนี้ โดยทั่วไปเราก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการจากหลายๆ ฝ่าย เช่น แบงก์ชาติ กลต. ฯลฯ ต้องระวังไม่ให้ตรงนั้นกลับกลายเป็นการเพิ่มการใช้ดุลพินิจหนักกว่าเดิม

หัวใจสำคัญอยู่ตรงที่ไม่ควรให้คณะกรรมการใช้ดุลพินิจเลือกผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือตามอำเภอใจ สิ่งที่ควรทำคือต้องตกลงเงื่อนไขตั้งแต่แรกว่าคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือมีคุณสมบัติขั้นต่ำอย่างไร เช่น กำหนด credit rating ขั้นต่ำของบริษัทที่จะขอเข้ารับการช่วยเหลือ กำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแพงขึ้น จากนั้น บริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ครหาว่ามีแรงจูงใจแอบแฝงหรือเลือกปฏิบัติโดยไม่ยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

สิ่งที่ต้องถกเถียงกันก่อนคือ เงื่อนไขในการช่วยเหลือมีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ โดยแบงก์ชาติทำหน้าที่เป็น lender of last resort จริงๆ คิดราคาแพงกว่าตลาด แต่ทุกคนที่มีคุณสมบัติเข้าข่าย ถ้ามีปัญหาแล้วเข้ามาก็จะได้รับความช่วยเหลือเต็มที่ คนจะได้หมดกังวล

ประเด็นที่สอง คือ การติดตามตรวจสอบและกำหนดเงื่อนไข เราต้องมีกระบวนการตรวจสอบว่ารับเงินแล้วเอาไปใช้อย่างไร มีการจ่ายคืนเจ้าหนี้บางส่วนหรือผู้ถือหุ้นก่อนที่จะจ่ายคืนกองทุนหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการกำหนดผู้ร่วมรับความเสียหาย หรือ co-investment เช่น แบงก์ชาติจะช่วยเหลือแค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่ง บริษัทจะต้องเจรจากับตลาดหรือหาผู้ร่วมลงทุนเอง อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงอยู่ว่า หากบริษัทไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนได้ก็ต้องล้มละลาย แล้วเช่นนี้จะถือว่าธนาคารกลางทำหน้าที่ lender of last resort ไม่เต็มที่หรือไม่

 

ในจดหมายเปิดผนึกของ ดร.วีรพงษ์และคณะ ตั้งคำถามว่า ทำไมธนาคารกลางต้องลงมือทำเอง ทำไมไม่ทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐ คือให้ กรุงไทย ออมสิน ธอส. ธกส. เข้าไปปล่อยกู้ โดยแบงก์ชาติเป็นผู้จัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้ธนาคารเหล่านั้น

ประเด็นแรก การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเป็นช่องทางที่มีอยู่แล้ว บริษัทที่มีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ หรือไม่อยากเข้ามาใช้มาตรการนี้ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้อยู่แล้ว

ประเด็นที่สอง เมื่อเกิดวิกฤตอย่างหนัก ก็มีความเสี่ยงว่าแม้แต่ธนาคารรัฐเองก็อาจมีปัญหา ธนาคารก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะช่วยดีหรือไม่ เพราะต้องห่วงสภาพปัญหาของตัวเองก่อน การเข้าไปรับภาระตรงนี้ก็อาจก่อปัญหาเพิ่มอีกได้ การดำเนินนโยบายผ่านธนาคารกลางจึงเป็นมาตรการป้องกันสุดท้ายและสร้างความมั่นใจให้กับตลาดได้ จากตัวอย่างของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา พบว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม spread ราคาของตราสารหนี้ภาคเอกชนพุ่งสูงขึ้นไปค่อนข้างกว้าง แต่เมื่อธนาคารกลางประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือ spread ก็ค่อยๆ ปรับลดลง โดยที่ยังไม่ใช้เงินเลย จะเห็นว่าเมื่อสามารถลดความตื่นตระหนกในตลาดได้ ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงินไปได้มากด้วย

และประเด็นสุดท้าย ทางฝั่งที่สนับสนุนแบงก็ชาติก็ออกมาโต้เหมือนกันว่า หากให้ธนาคารกลางปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารรัฐไปปล่อยกู้อีกที แบงก์ชาติก็จะไม่ได้ทำบทบาท lender of last resort จริงๆ และไม่ยิ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนกว่าหรือ เพราะได้ดอกเบี้ยต่ำ เทียบกับมาตรการของแบงก์ชาติที่ออกแบบมาให้เป็น last resort จริงๆ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด

 

ในแง่ความพร้อมของธนาคารกลาง คนทำงานในแบงก์ชาติมีความพร้อมจะทำหน้าที่ใหม่นี้หรือไม่

แน่นอนครับ นี่เป็นโจทย์ที่ธนาคารกลางทุกแห่งต้องเจอ ธนาคารกลางทั่วโลกล้วนต้องปรับบทบาทของตัวเองเพื่อตอบโจท์การรักษาเสถียรภาพทางการเงินในบริบทที่โลกและตลาดการเงินเปลี่ยนไป ธนาคารกลางทุกแห่งต้องเจอกับความท้าทายและเครื่องมือใหม่ๆ ทั้งหมด

การช่วยกันตั้งคำถามต่อธนาคารกลางมีประโยชน์มาก เพราะมันช่วยให้สังคมฉุกคิดว่าอะไรคือหน้าที่ของธนาคารกลางและหลักการที่ธนาคารกลางต้องรักษาเอาไว้คืออะไร ถ้าเราสามารถตอบโจทย์สองเรื่องนี้ได้พร้อมกัน หมายความว่าธนาคารกลางได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำในภาวะวิกฤตในทางที่สามารถรักษาหลักการของธนาคารกลางไว้ได้ด้วย

 

หากมองดูรอบโลก ความเหมือนและความต่างของนโยบายและเครื่องมือที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศใช้จัดการวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ คืออะไร

ทิศทางเป็นเหมือนกันทั่วโลก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ใช้คำว่า whatever it takes พูดง่ายๆ คือ มีอะไรทำได้ – ทำหมด ธนาคารกลางแต่ละแห่งมีการนำเครื่องมือใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้เข้ามาช่วยเติมเต็มเพื่อให้ระบบยังคงดำเนินไปได้อย่างปกติที่สุด ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางเข้าไปซื้อพันธบัตรเองเลย แล้วยังมีการตั้งกองทุนและพร้อมรับความเสียหายให้ 10% หรือ 20% แรก โดยจำกัดความเสียหายตามมาตรการที่ตั้งไว้ มีการกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่าใครเข้าเกณฑ์การช่วยเหลือบ้าง เช่น ต้องอยู่ในกลุ่ม investment grade ต่อมาก็มีการขยายเพิ่มเติมว่าถ้าถูกลดระดับลงมาเพราะภาวะ COVID-19 จริงๆ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย กลุ่มนี้เรียกว่ากลุ่ม ‘นางฟ้าตกสวรรค์’ (falling angel) จะเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐแทบไม่ได้ห่วงเลยว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นเท่าไหร่ แต่ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะต้องการรักษาให้ระบบยังคงอยู่ เพราะเมื่อคิดมูลค่าของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนแล้วมันใหญ่มาก พอๆ กับเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้บริษัทใหญ่ๆ ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะให้บริษัทเหล่านี้ไปขอความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์

 

กองทุน BSF วงเงิน 4 แสนล้านของไทยถือว่ามีขนาดใหญ่พอที่จะรับมือกับปัญหาหรือไม่

เราควรทำให้ใหญ่ไว้ก่อนแล้วหวังว่าจะไม่มีใครมาใช้เลย เพื่อให้ตลาดมีความมั่นใจ ถ้าใหญ่จนตลาดสามารถดำเนินไปได้ ก็ถือว่าใหญ่พอ แต่ถ้ามีคนมาใช้กองทุนนี้เยอะมาก แสดงว่าเริ่มมีสัญญาณของปัญหา

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

จากที่อธิบายมา ดูเหมือนว่ามาตรการนี้ออกแบบมาสำหรับสู้ศึกระยะสั้นคือ มุ่งเน้นแก้ปัญหาสภาพคล่อง ในกรณีที่คนไม่มีความเชื่อมั่น แต่ถ้าสถานการณ์โควิดมันหนักกว่าที่คิด ลากยาวเป็นปี ปัญหาสภาพคล่องก็อาจจะกลายเป็นปัญหาบริษัทล้มละลายได้ (solvency) เราควรเตรียมรับมืออย่างไรต่อ

ประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก ในปัจจุบันเราทำงานภายใต้สมมติฐานว่า COVID-19 จะจบภายใน 2-3 เดือน แล้วทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติ แต่หากปัญหานี้ยืดเยื้อออกไปนานกว่านั้น หรือไม่สามารถกลับไปเป็นแบบเดิมได้ สิ่งที่เกิดตามมาแน่นอน คือ ธุรกิจบางแห่งต้องเลิกกิจการ การผิดนัดชำระหนี้จะเกิดไปทั่ว ดังนั้นนอกจากมาตรการที่กล่าวมาแล้ว ต้องเตรียมเครื่องมืออื่นๆ อีก เช่น เพิ่มส่วนของ soft loan หรือหากทั้งมาตรการช่วย rollover ทั้ง soft loan ยังไม่ได้ผลก็อาจต้องหาตราสารที่มีลักษณะเป็นทุนมากขึ้น เช่น preferred share หรือ convertible bond ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งอาจดึงดูดนักลงทุนด้วยโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ทำให้สามารถจัดหาสภาพคล่องเพิ่มเติมได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 รัฐบาลสหรัฐตั้ง Bailout Fund เพราะรู้ว่าบางธุรกิจอาจไปไม่รอด เช่น ยานยนต์ ต้องใส่เงินเข้าไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ต้องทำใจว่าหากวิกฤต COVID-19 อยู่นาน เงินแค่ไหนก็ไม่พอ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจแต่เป็นวิกฤตการแพทย์ เราจึงต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ คือโรคระบาด ให้สถานการณ์การระบาดอยู่ในภาวะที่จำกัดวง เพื่อให้ธุรกิจกลับมาหมุนเหมือนเดิมได้

 

เท่าที่ติดตามสถานการณ์มา exit strategy อยู่ตรงไหน เราจะสร้างสมดุลระหว่างมาตรการควบคุมโรคและมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจกลับมามีชีวิตต่ออย่างไร 

ในระยะแรก การปิดเมืองเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันการปิดเมืองก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล เห็นได้จากการที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่ The Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930 เราจำเป็นต้องมีโรดแมปว่าจะเริ่มเปิดเมืองอย่างไร

ขณะนี้แต่ละประเทศพยายามเข้าไปเยียวยาประชาชน แต่จะเยียวยาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางชดเชยผลของการปิดเมืองได้พอ เพราะขนาดของการใช้จ่ายภาครัฐ ต่อให้ขนาดใหญ่แค่ไหนก็ได้เพียง 20-30% ของจีดีพี ปัญหาที่เรากำลังเผชิญมีความเสียหายใหญ่กว่าภาครัฐทั้งภาค เราจึงต้องค่อยๆ เปิดเมืองให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้โดยไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องเตือนประชาชนไว้ด้วยว่า ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นอีก ก็อาจจะต้องกลับไปปิดเมืองเหมือนเดิม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ต้องระมัดระวังเรื่องการป้องกันและควบคุมโรค

 

วิกฤตรอบนี้เป็นวิกฤตที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เป็นวิกฤตจำเป็นอันเนื่องมาจากวิกฤตสุขภาพ แล้วก็เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งโลก ตอนนี้เสียงส่วนใหญ่หันไปเทียบเคียงกับ The Great Depression แล้ว ครั้งนั้นโลกผ่านวิกฤตใหญ่มาได้อย่างไร

บทเรียนที่สำคัญอาจไม่ใช่ว่าเราผ่านมันมาได้อย่างไร แต่คือทำไมถึงยังไม่พ้นเสียที เมื่อครั้ง The Great Depression เบน เบอร์นันเก อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าที่สหรัฐอเมริกาออกมาจากวิกฤตครั้งนั้นได้ช้า เพราะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเร็วเกินไป ดังนั้นการจะฉุดให้เศรษฐกิจกลับมาเดินอีกครั้งต้องทำทุกอย่างที่สามารถจะทำได้จริงๆ ทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการเงินและการคลัง

 

แล้วไม่ใช่ทำประเทศเดียว ต้องทำด้วยกันทั้งโลก ถึงจะดึงเศรษฐกิจโลกกลับขึ้นมาได้

ที่น่าสนใจคือ disruption ครั้งนี้ ทั้งโลกเจอเหตุการณ์พร้อมๆ กัน ในลักษณะและขนาดที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น การใช้นโยบายแบบประสานกัน (coordinated policy) จึงสำคัญมาก เพราะถ้าต่างคนต่างทำอาจมีผลข้างเคียงต่อประเทศอื่นได้ หากถอดบทเรียนจาก The Great Depression กว่าจะฟื้นตัวก็กินเวลาราว 1 ทศวรรษ เกือบจะไม่ฟื้นเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีการใช้จ่ายด้านการทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจพังลงไปแล้วต้องใช้เวลานานมากกว่าจะฟื้นกลับมา ในครั้งนี้เองเราก็ต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ เปรียบเหมือนบ้านกำลังไฟไหม้ เราต้องรีบดับไฟ อย่าเพิ่งกลัวพรมเปียก เพราะถ้าพรมเปียก เราเอามาตากทีหลังได้ ในครั้งนี้ เราต้องเผชิญปัญหาที่อยู่ข้างหน้าไปก่อน แล้วค่อยมาจัดการผล ที่จะตามมาทีหลัง เพราะไม่เช่นนั้น ต้นทุนอาจจะแพงกว่าการพยายามรักษาพรมเอาไว้

 

ช่วง The Great Depression เราก็รอดมาด้วยนโยบายแนวเคนเซียน (Keynesian Policy) ที่เน้นเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รอบนี้เป็นเคนเซียนที่แตกต่างจากเดิมไหม นักเศรษฐศาสตร์เริ่มคิดอะไรกันอยู่บ้าง

ครั้งนี้ทุกคนเห็นพ้องว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังอย่างหนักแน่นอน ตอนนี้ทุกประเทศใช้การเยียวยา ให้เงินประชาชนไปก่อนเพื่อไม่ให้อดตาย และสามารถพยุงธุรกิจไว้ได้ เพราะเราต่างรู้ว่าถ้าไล่คนออกและกิจการพังไปแล้วมันยากที่จะกู้คืนมา แล้วหลังผ่านวิกฤต COVID-19 ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังอย่างมหาศาล

สิ่งที่ต่างออกไปของวิกฤตครั้งนี้ คือ ตอนนี้เกือบทุกประเทศขนาดใหญ่ในโลกมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 100% ต่อจีดีพี โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิน 100% ไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้รวมการกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตด้วยซ้ำ และยิ่งถ้าโรคระบาดยืดเยื้อจะมีโจทย์ใหญ่ต่อมาคือเราจะเอาเงินจากไหน ดูเหมือนทางออกเดียวที่เห็นในตอนนี้คือให้ธนาคารกลางเป็นผู้ซื้อ ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า ผลของการพิมพ์เงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบที่กำลังทำอยู่คืออะไร ในอนาคตจะเกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรงหรือไม่ หรือจะนำไปสู่การล่มสลายของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือการล่มสลายของค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ เลยหรือไม่

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ที่อินโดนีเซียมีการประกาศว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง ตอนนี้ค่าเงินตกนำไปก่อนเลย ทั้งๆ ที่สิ่งที่อินโดนีเซียทำไม่ได้ต่างอะไรกับสิ่งที่สหรัฐฯ ทำเลย แต่ว่าปัจจัยพื้นฐาน ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ และความเชื่อถือ มันต่างกันมาก ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ ประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอและมีข้อจำกัดเรื่องการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ จะมีแรงน้อยกว่า เพราะถูกลงโทษเร็วกว่า ส่วนประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ สามารถที่จะดำเนินนโยบายได้ยืดหยุ่นกว่าเพราะมีสถานะเป็นสกุลเงินสำรอง (reserved currency) ที่ได้รับความเชื่อถือ

 

ในมุมของประเทศไทย เราพร้อมรับมือกับความเสียหายหรือต้นทุนของมาตรการเหล่านี้แค่ไหน

ประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้ช่องว่างทางการคลังค่อนข้างมาก ประเด็นแรก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ของไทยอยู่ในระดับไม่สูงมาก ประมาณ 40% แต่อย่าลืมว่าปีนี้จีดีพีจะร่วง เพราะฉะนั้นยังไม่ทันทำอะไร สัดส่วนนี้ก็จะสูงขึ้น เมื่อรวมกับ พ.ร.ก. กู้เงินอีกหนึ่งล้านล้านบาท ทำให้อาจขึ้นไปถึง 50% ในเร็วๆ นี้ แต่ต่อให้ถึงขั้นนั้นก็ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ประเด็นที่สอง ไทยไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือไม่ได้พึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศสักเท่าไร และหลายปีที่ผ่านมา เราแทบจะไม่ได้สะสมเงินกู้จากต่างประเทศเลย เพราะฉะนั้นถ้าค่าเงินบาทอ่อนไปบ้าง เราก็แทบจะไม่เดือดร้อน ไม่เหมือนสมัยวิกฤตปี 2540 ที่ยิ่งค่าเงินอ่อน บริษัทยิ่งเจ๊ง เพราะกู้เงินจากต่างประเทศมาเยอะ

ประเด็นที่สาม ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 50% ของจีดีพี ซึ่งน่าจะเป็นอันดับสองรองจากจีนในเรื่องของสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ด้วยกันแล้ว ถือว่าค่อนข้างดีมาก เราจึงน่าจะเผชิญปัญหานี้ไปได้ค่อนข้างสบาย คือเมื่อเทียบกับคนอื่น เราน่าจะเดือดร้อนน้อยกว่า

 

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ คุณรู้สึกตื่นตาตื่นใจอะไรกับวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ มีโจทย์วิจัยอะไรที่ชวนให้หาคำตอบ

โลกในตอนนี้เป็นโลกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน  COVID-19 ก็เป็น shock แบบที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ในเรื่องนโยบายการเงินก็ไม่เคยมาไกลขนาดนี้ วันนี้เราเห็นธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกค่อยๆ ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนมาสมัยเด็กๆ ทีละหน้า ทีละหน้า แต่ก็เข้าใจได้ว่าถ้าไม่ทำจะเกิดความล่มสลายของเศรษฐกิจ ซึ่งต้นทุนมันแพงกว่าการฉีกตำราทิ้ง เมื่อก่อนคนบอกว่า QE ทำไม่ได้ เพราะจะเกิดเงินเฟ้อขึ้นมหาศาล หลายคนบอกว่าดอกเบี้ยห้ามต่ำกว่าศูนย์ ใครจะกู้ด้วยดอกเบี้ยติดลบ วันนี้เราได้เห็นว่าสิ่งที่เราเรียนมาสมัยก่อนถูกโยนทิ้งถังขยะไปหมด เหมือนเรากำลังเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ๆ ที่ไม่รู้แล้วว่ามันคืออะไร เป็นโลกที่สิ่งที่เราเคยร่ำเรียนมาถูกท้าทายเต็มไปหมด จนไม่สามารถทำนายผลที่เกิดขึ้นได้แล้ว  ความน่าสนใจยิ่งกว่าคือสิ่งที่กำลังรอเราอยู่ข้างหน้าคืออะไร

หากเรามองดูในแง่ของการกระจายรายได้ หลายคนบอกว่าโรคระบาดเป็น The Great Leveler’ เป็นสิ่งที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นความเท่าเทียมกัน แต่จะเห็นว่าการเอาตัวรอดในภาวะแปลกประหลาดเช่นนี้กลับไม่เหมือนกันในกลุ่มคนรวยกับคนจน คนรวยเอาตัวรอดได้แบบหนึ่ง คนจนมีทางเลือกน้อยกว่า และเราเห็นชัดว่าวิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวยอย่างมหาศาล ซึ่งน่าสนใจว่า สุดท้ายแล้วผลกระทบของโรคระบาดกับการกระจายรายได้และความมั่งเป็นอย่างไร

 

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save