fbpx

ความน่าจะอ่าน 2023: การเมือง-วรรณกรรม-คนทำหนังสือ ในยุคสมัยอันเปราะบางและแตกฉานซ่านเซ็น

ความน่าจะอ่าน 2023

หนังสือทำให้เราสุข

หนังสือทำให้เราเศร้า

หนังสือทำให้เรามีความหวัง

ผ่านพ้นไปแล้วกับการเปิดเผยรายชื่อหนังสือ ‘น่าจะอ่าน’ กว่าร้อยเล่ม ที่ได้รับการคัดเลือกจากคนในวงการหนังสือและนักอ่านตัวยง 101 ร่วมกับ Jim Thompson Art Center และร้านหนังสือ Fathom Bookspace เชิญมิตรนักอ่าน-เขียนทุกท่าน มาส่งท้ายเทศกาลความน่าจะอ่านไปด้วยกัน กับ วงเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2023 Final Round – อ่าน 7 ที ดี 7 หน’ เพื่อร่วมถกถามและพูดคุยถึงสิ่งที่น่าสนใจจากหนังสือ Top Highlights อย่าง ‘เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง’ ของ เมาริตซิโอ เปเลจจี สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ได้รับการแนะนำมากที่สุดอันดับหนึ่งของปีนี้ และภาพรวมของแวดวงนักอ่าน คนทำหนังสือ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสังคมไทย ไปกับบรรณาธิการและนักวิชาการ

– รังสิมา ตันสกุล เจ้าของสำนักพิมพ์ Library House

– ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน

– บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พร้อมด้วยคลิปวิดีโอสุดพิเศษถึงผู้อ่านทุกคนจาก เมาริตซิโอ เปเลจจี ศาสตราจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้สอนวิชาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและการสร้างภาพแทนในประวัติศาสตร์ (historical representation) และผู้เขียนหนังสือ Lords of Things: The Fashioning of the Siamese Monarchy’s Modern Image ฉบับภาษาอังกฤษ

หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจาก ‘งานเสวนาความน่าจะอ่าน 2023 – อ่าน 7 ที ดี 7 หน’ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ณ The Jim Thompson Art Center

หนังสือที่ดี จะอ่านกี่ที ก็ดีทุกหน

จากลิสต์หนังสือทั้งหมดกว่าร้อยเล่มในโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่าน 2023 จนได้รายชื่อหนังสือที่ได้รับการแนะนำเข้ามามากที่สุดว่าเป็นหนังสือดี ที่อ่านกี่ทีก็ดีทุกหน โดยบรรดาเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ รวมถึงนักวาดภาพประกอบ ประกอบด้วย 

1. เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง เขียนโดย เมาริตซิโอ เปเลจจี จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

2. On Earth We’re Briefly Gorgeous เราต่างงดงามแล้วจางหาย เขียนโดย โอเชียน วอง (Ocean Voung) จากสำนักพิมพ์แซลมอน

3. 1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น เขียนโดย อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) จากสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

4. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (ฉบับปรับปรุง) เขียนโดย คริส เบเคอร์ (Chris Baker) และผาสุก พงษ์ไพจิตร จากสำนักพิมพ์มติชน

5. แม่ง โคตรโฟนี่เลย : การเมือง วรรณกรรม ในยุคที่สุนัขไม่ใช่หมาเสมอไป แต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม เขียนโดย ไอดา อรุณวงศ์ จากสำนักพิมพ์ Bookscape

เมาริตซิโอ เปเลจจี ผู้เขียนหนังสือ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง (Lords of Things) เริ่มต้นการพูดคุยด้วยข้อความถึงผู้อ่านชาวไทยทุกท่าน โดยเปเลจจีกล่าวด้วยความยินดีว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ได้ตำแหน่ง Top Highlights ของโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่านประจำปี 2023 โดยคนที่อยากขอขอบคุณเป็นอันดับแรกคือ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้เสนอการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย และคอยดูแลกระบวนการจัดทำหนังสือเป็นอย่างดี เปเลจจียังเสริมว่า เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ฉบับภาษาไทยมีความพิเศษยิ่งกว่าต้นฉบับอเมริกัน เนื่องจากภายในเล่มภาษาไทยมีหลายรูปภาพที่ไม่สามารถใส่ในต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ รวมถึงสำนวนการแปลที่ไหลลื่น ไปจนถึงภาพประกอบและปกหนังสือที่สวยงาม 

เปเลจจีระบุว่าแท้จริงแล้ว เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง แรกเริ่มเดิมทีเป็นโปรเจ็กต์วิทยานิพนธ์ของเขา โดยในช่วงที่เปเลจจีทำงานศึกษาประเด็นนี้ เป็นห้วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากกำลังตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ของชาติและวิธีการก่อร่างสร้างความเป็นชาติในประเทศต่างๆ มีหนังสือจำนวนไม่น้อยในช่วงเวลานั้นที่เขียนถึงการก่อร่างสร้างชาติของนานาประเทศในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 จึงเป็นจุดที่ทำให้เปเลจจีเริ่มต้นสนใจศึกษาว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ให้แลดูทันสมัยในช่วงที่เกิดการปฏิรูปโครงสร้างภายในประเทศอย่างไรบ้าง

สำหรับคนไทย ดูเหมือนปัจจุบันหัวข้อการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการสร้างความเป็นชาติจะเป็นที่สนใจมากขึ้นอย่างยิ่ง แม้ผู้อ่านหลายคนจะมีโอกาสได้อ่าน เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ฉบับภาษาอังกฤษมาก่อนหน้านี้แล้ว ทว่าเมื่อมีการแปลเป็นฉบับภาษาไทย ยิ่งทำให้ผู้อ่านหลายคนเข้าถึงและเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายมากขึ้น เปเลจจีตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง อาจไม่สามารถตีพิมพ์ออกมาเป็นฉบับภาษาไทยได้ในบริบทของสังคมไทยช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วงที่เรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นเรื่องที่ห้ามพูดถึง ทว่าตอนนี้เขาได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย อย่างน้อยก็ผ่านการตีพิมพ์หนังสือ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และอาจนำมาสู่ข้อถกเถียงและข้ออภิปรายใหม่ๆ เกี่ยวกับสถาบันที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามมากขึ้นในปัจจุบัน

สุดท้าย เปเลจจีเน้นย้ำว่า เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ไทยแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งในการช่วยอธิบายให้ผู้คนเข้าใจว่า ในระหว่างที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นแบบตะวันตกยิ่งขึ้น สถาบันกษัตริย์ไทยมีวิธีการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่นไร พร้อมทิ้งท้ายว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างมากที่คนไทยสนใจประเด็นนี้กันมากขึ้น ทั้งจะนำรางวัลนี้เป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์งานศึกษาอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยและสถาบันกษัตริย์ไทยที่ดีขึ้นต่อไป

เมาริตซิโอ เปเลจจี ผู้เขียนหนังสือ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง (Lords of Things)

ในขณะที่ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าในบรรดาหนังสือ Top Highlights ที่ประกอบด้วยหนังสือเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง โดยส่วนตัวในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์แล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ถือเป็นหนังสือในดวงใจที่เขาชื่นชอบและใช้ในการเรียนการสอน ทั้งยังแนะนำให้นิสิตนักศึกษาและผู้ที่สนใจศึกษาการเมืองอ่านอยู่เสมอ

อีกหนึ่งเล่มในโผ Top Highlights ที่บัณฑิตประทับใจเป็นพิเศษคือ 1000 ปี แห่งความรื่นรมย์และขมขื่น เนื่องด้วยเขาติดตามผลงานและสนใจแนวทางการต่อสู้ของผู้เขียนอย่างอ้าย เว่ยเว่ย ที่ไม่เพียงเป็นศิลปินที่ต่อต้านรัฐบาลจีน แต่ยังมีประสบการณ์ชีวิตอีกหลายแง่มุมที่อ้าย เว่ยเว่ยเคยประสบพบเจอ และได้ถ่ายทอดร้อยเรียงออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้  

เช่นเดียวกันกับ รังสิมา ตันสกุล เจ้าของสำนักพิมพ์ Library House ที่เลือก แม่ง โคตรโฟนี่เลยฯ กับ 1000 ปี แห่งความรื่นรมย์และขมขื่น เป็นหนังสือที่ตนเองประทับใจและเคารพนับถือตัวผู้เขียนทั้งสองคน อ่าย เว่ยเว่ย และ ไอดา อรุณวงศ์ เป็นอย่างมาก

“เรารู้สึกว่าสิ่งที่ อ้าย เว่ยเว่ย และคุณไอดา อรุณวงศ์ ทำมาตลอดนั้นมากมายมหาศาลกว่าหนังสือสองเล่มนี้ ยิ่งถ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ไม่ว่าจะมิติไหนก็ตาม รวมทั้งในส่วนของงานบรรณาธิการนิตยสารอ่าน เพียงหนังสือเล่มนี้ยังน้อยไปมากๆ ในความเป็นตัวตนของคุณไอดาและทุกอย่างที่เธอเคยทำมา และแน่นอนว่าเป็นหนังสือที่สมควรอ่านอย่างยิ่ง” รังสิมากล่าว

นอกเหนือจากหนังสือจากสำนักพิมพ์ของตนเองที่ติดหนึ่งในรายชื่อหนังสือ Top Highlights ของปีนี้ ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน กล่าวว่า แม่ง โคตรโฟนี่เลยฯ เป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มของปีที่อ่านแล้วรู้สึกสนุกมากจนวางไม่ลง แม้เนื้อหาจะมีความจริงจังและเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมและการเมืองไทยโดยตรง ทว่าวิธีการเขียนและเรียบเรียงทำให้อ่านได้อย่างไหลลื่น อ่านแล้วเหมือนได้ยินน้ำเสียงของผู้เขียนลอยออกมา คือคำนิยามที่ปฏิกาลมีต่อหนังสือเล่มนี้

เมื่อหนังสือคือเงาสะท้อนแห่งยุคสมัย

จากรายชื่อ Top Highlights ไปจนถึงหนังสือ The Finalist ของความน่าจะอ่าน 2023 ที่ได้เปิดเผยออกมา ในแง่หนึ่ง รายชื่อ Top Highlights หนังสือน่าจะอ่านเป็นหนึ่งในข้อมูลที่อาจบ่งบอกแนวโน้มพฤติกรรมนักอ่านในแต่ละปีได้ ดังจะเห็นได้จากรายชื่อ Top Highlights ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหนังสือที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับเรื่องการเมืองการปกครองนับเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมและติดโผหนังสือน่าจะอ่านมาโดยตลอด

จากปรากฏการณ์ความตื่นตัวของคนไทยในเรื่องการเมืองในช่วงที่ผ่ายมา บัณฑิตชวนเรามองลึกลงไปถึงมวลบรรยากาศของสังคมไทยอันสะท้อนถึงความรู้สึกร่วมของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ซึ่งบรรยากาศของสังคมอันอบอวลไปด้วยความรู้สึกในหลากหลายมิติเช่นนี้เองที่จะเป็นตัวฉายภาพความรู้สึกนึกคิดไปจนถึงความสนใจของผู้คน เพราะแม้แต่แนวโน้มพฤติกรรมการอ่านของคนในแต่ละยุคสมัย ล้วนเต็มไปด้วยตัวตนที่หล่อหลอมขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ ซึ่งบัณฑิตได้ให้คำนิยามมวลบรรยากาศในยุคสมัยนี้ว่า ‘ยุคสมัยอันเปราะบางและแตกกระจาย’

“ตอนนี้เราอาจจะเรียกยุคสมัยนี้ด้วยชื่อลำลองว่า ‘ยุคโควิด’ หรือ ‘ยุค post-pandemic’ ซึ่งแต่ละยุคสมัยก็จะมีลักษณะของตัวตน การรับรู้ และความรู้สึกของแต่ละคนที่ยึดโยงกับโครงสร้างนี้แตกต่างกันออกไป เราจึงจะเห็นความแตกกระจายของแต่ละยุคสมัย ซึ่งก็คือความรู้สึกบอบบาง เปราะบาง ความรู้สึกเมื่อมีบางสิ่งมากระทบจิตใจแล้วทำให้รู้สึกสั่นสะเทือน แต่เราไม่รู้จะตอบโต้หรือปฏิสัมพันธ์กลับอย่างไร หรือบางทีก็ตอบโต้ไม่ได้เพราะมันเป็นโครงสร้างที่ใหญ่กว่าเรามาก”

“และความเปราะบางไม่ได้ดำรงอยู่เพียงในตัวเรา แม้แต่โครงสร้างรัฐก็เปราะบาง ทุกวันนี้ถึงมีปฏิกิริยาที่รุนแรงขนาดนี้ และการกลับไปอ่านงานเกี่ยวกับประสบการณ์ทางการเมือง ด้านหนึ่งทำให้เราสะเทือนใจ ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นอารมณ์ร่วมของยุคสมัยที่ไม่มากก็น้อยเราต่างเคยประสบพอเจอมาเหมือนกัน และผมคิดว่าไม่มียุคสมัยไหนที่เราจะรู้สึกว่าความคุกคามต่อชีวิตใกล้ตัวเราขนาดนี้ ไปเดินห้างใครจะรู้ว่าจะมีคนถือปืนมาไล่ยิงเรา แถมบางทีแค่โพสต์บางอย่างอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของเราได้ นี่คือยุคสมัยที่เรากำลังดำรงอยู่” 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“หรืออย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาเมื่อ 47 ปีก่อน อย่างมากก็แค่ต้องไปลี้ภัยในป่า แต่ทุกวันนี้คนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ นี่คือยุคสมัยที่กระจัดกระจาย แตกกระจายและเปราะบางอย่างถึงที่สุดในสังคมไทย และความแตกกระจายนั้นก็ลุกลามมาถึงงานเขียน ไม่ใช่แค่งานวรรณกรรมเท่านั้น แต่งานวิชาการก็เช่นเดียวกัน ถ้าเขียนวิจารณ์ผิดคนก็อาจถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ หรือโดนคนในวงวิชาการไล่ล่า โดยหารู้ไม่ว่าตัวเองก็อาจเป็นเป้าของการไล่ล่าในเวลาต่อมา ยุคสมัยที่เราเผชิญอยู่งานเขียนจึงกระจัดกระจายจากทุกทิศทุกทาง” บัณฑิตกล่าว

มากไปกว่านั้น แม้แต่วัฒนธรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยก็สามารถสะท้อนความกระจัดกระจายของยุคสมัยที่ลึกลงในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงวรรณกรรม เห็นได้ชัดเจนจากวัฒนธรรมการอ่านในแอปพลิเคชันจอยลดา (Joylada) ในขณะที่ในอดีตนักเขียนต้องมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง หรือต้องเคยได้รับรางวัลการันตีคุณภาพของผลงานจึงจะมีตัวตนในวงการวรรณกรรม แต่ในยุคสมัยนี้ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนที่มีตัวตนในโลกออนไลน์ บางสื่อได้มากกว่าที่โลกออฟไลน์รับรู้ด้วยซ้ำไป

ยิ่งด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองที่แม้จะดูมีทีท่าสงบลงมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจมีใครรู้ได้ว่าภายใต้ผืนน้ำอันเงียบเชียบนั้น อาจมีคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ ไปจนถึงความเปราะบาง ความตื่นตัว และโครงสร้างทางความรู้สึกที่กำลังพลุ่งพล่านอันไม่อาจรู้ได้ว่าจะระเบิดขึ้นเมื่อไร บัณฑิตมองว่านี่คือตัวบ่งชี้แห่งยุคสมัย พร้อมชี้ให้เห็นว่าหนังสือเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ไม่มากก็น้อยต่างเป็นภาพแทนความเจ็บปวดของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกประสบการณ์จริงของผู้เขียน เช่น แม่ง โคตรโฟนี่เลยฯ กับ 1000 ปี แห่งความรื่นรมย์และขมขื่น อันเป็นเรื่องราวที่ฉายภาพของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ต้องทุกข์ทนอยู่ในสังคมแห่งเดียวกัน

“หนังสือการเมืองจะไม่มีวันหายไป จะยังคงมาเรื่อยๆ และประชาชนก็ยังอยากหาคำตอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองและอยากตักตวงอยู่เสมอ หนังสือบางเล่มอาจไม่ได้ให้ตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่มันสะท้อนภาพและรูปแบบของความเจ็บปวดที่เรามีร่วมกัน หมายความว่าคนที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรมสามารถเข้าไปสำรวจจิตมนุษย์ที่พูดหรือเรียบเรียงออกมาเป็นถ้อยคำไม่ได้ ด้วยเป้าหมายเพื่อสะท้อนความสับสนในใจคน ความยิ่งใหญ่ของงานเหล่านี้จึงอยู่ที่การสร้างความรับรู้ร่วมของยุคสมัย”

ต่อประเด็นนี้ ปฏิกาลเสริมว่า หนึ่งในหนังสือติดอันดับ Top Highlights อย่าง on earth we’re briefly gorgeous มีความน่าสนใจตรงที่แม้ผู้เขียนจะบอกว่าเล่มนี้เป็นเรื่องแต่ง แต่ไม่มากก็น้อยหนังสือเล่มนี้ถือเป็นบันทึกความทรงจำของผู้เขียนที่มีต่อครอบครัวที่อพยพมาจากเวียดนาม ไปจนถึงตะกอนความรู้สึกจากรุ่นบรรพบุรุษที่ได้ผลกระทบมาจากสงคราม และส่งผลมาถึงคนในอีกเจนเนอเรชันหนึ่งเป็นทอดๆ ทั้งยังมีเนื้อหาเชื่อมโยงประเด็นเรื่องการย้ายประเทศ ลักษณะของ ‘Asian parent’ การตั้งคำถามกับตัวตนของตัวเอง ไปจนถึงตั้งคำถามกับรากเหง้า ซึ่งล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัยอันสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในยุคปัจจุบันนี้

“หนังสือเล่มนี้มาได้ถูกที่ถูกเวลาแบบที่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ ถึงจุดหนึ่งเราพบว่าเนื้อหาในเล่มสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มคนอ่านในบ้านเราได้แบบพอดิบพอดี และเอาเข้าจริง โอเชียน วอง อายุราวๆ 30 ปี อยู่ในวัยที่ไม่ต่างจากตัวเราหรือคนอ่านมากนัก และเป็นช่วงอายุที่สิ่งที่พบเจออาจไม่ต่างกันเท่าไร บางประเด็นคนอ่านไทยอ่านแล้วเข้าใจบริบทได้ง่าย ทั้งการถูกคาดหวังจากครอบครัว ไปจนถึงการพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ เหล่านี้ต่างเป็นปัญหาสากลที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ” 

“จะเห็นได้ว่าหนังสือบางเล่มยืนระยะมาได้นานมาก อย่าง เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ผมเห็นมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนถึงตอนนี้ก็มีการตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยๆ แปลว่าวัยรุ่นทุกยุคสมัยก็เจ็บปวดเหมือนกันหมด ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวมันเอง”

ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน

เมื่อกล่าวถึงแนวโน้มพฤติกรรมของคนอ่านวรรณกรรม รังสิมาผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมแปลมาหลายปี เห็นด้วยว่า พฤติกรรมของนักอ่านคนไทยมักเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน สังเกตได้อย่างชัดเจนจากยอดขายหนังสือ อย่างช่วงที่มีเรื่องการเมืองและมีการปะทุขึ้นของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อน ก็เป็นปีเดียวกันที่หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากสำนักฟ้าเดียวกันได้รับความสนใจจนมียอดขายถล่มทลาย

และในปีเดียวกันนั้นเอง วรรณกรรมแปลจากสำนักพิมพ์ Library House ในหมวดที่มีธีมหรือเส้นเรื่องพูดถึงการเมืองการปกครอง ไปจนถึงการกดขี่ข่มเหงของอำนาจรัฐและอำนาจเผด็จการก็ได้รับความสนใจมากตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน รังสิมาตั้งข้อสังเกตว่า หากช่วงเวลาไหนที่สังคมไม่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือหนักหน่วงมากนัก งานแปลแนวอีโรติกจากสำนักพิมพ์จะได้รับความสนใจมากขึ้น สะท้อนว่าช่วงเวลานั้นผู้คนสามารถดื่มด่ำไปกับวรรณกรรมประเภทอื่นนอกเหนือจากหนังสือการเมืองได้อย่างเต็มที่

“ในฐานะที่อยู่ในวงการหนังสือมา 20 กว่าปีแล้ว เรามองว่าวรรณกรรมไม่ได้เป็นหัวหอกที่จะบอกได้ว่าสังคมเราเป็นอย่างไรต่อไป เพราะหัวหอกแบบนี้จะเป็นหน้าที่ของหนังสือประวัติศาสตร์ ในขณะที่วรรณกรรมมีสองหน้าที่ อย่างแรกคือช่วยสนับสนุนเมื่อผู้อ่านรู้สึกว่าอยากผ่อนคลาย แต่ก็ยังอยากอยู่ในโลกของเนื้อหานั้นๆ เวลานั้นเองที่วรรณกรรมจะมาช่วยจรรโลงใจโดยที่ไม่ได้ทิ้งไปจากตัวตน ความนึกคิดหรือจุดยืนทางความคิดของผู้อ่าน”

“อีกหนึ่งหน้าที่ของวรรณกรรม คือการเป็นตัวสะท้อนเมื่อสังคมบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะหมุนไปทางทิศไหน วรรณกรรมจะสะท้อนว่าตอนนี้คนคิดอะไรอยู่ ต้องการสื่อสารเรื่องอะไรกัน และวรรณกรรมจะดำเนินเคียงขนานไปกับหนังสือ non-fiction อย่างชัดเจน แต่หลายครั้งก็น่าเศร้าที่เราซื้อวรรณกรรมต่างประเทศที่เขียนขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนมาแปล แต่พอเราอ่าน เนื้อหากลับเหมือนสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเรา และสามารถสื่อสารกับผู้อ่านคนไทยได้อย่างร่วมสมัย” รังสิมาให้ความเห็น

รังสิมา ตันสกุล เจ้าของสำนักพิมพ์ Library House

‘หนังสือเล่ม’ ต้องรอด

จากข้อสังเกตที่ว่าคนในยุคนี้นับวันยิ่งอ่านหนังสือแบบเล่มน้อยลง เพราะหันไปอ่านอีบุ๊ก (ebook) หรือเน้นอ่านวรรณกรรมในแอปพลิเคชันอ่านนิยายออนไลน์กันมากขึ้น ไปจนถึงประโยคสุดจะคุ้นหูที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือวันละไม่เกินแปดบรรทัด” ข้อสันนิษฐานนี้เป็นความจริงหรือไม่ และส่งแรงสันสะเทือนถึงวงการสื่อสิ่งพิมพ์มากน้อยแค่ไหน คงเป็นคำถามที่คนในวงการหนังสือสามารถให้คำตอบได้ดีที่สุด

เริ่มต้นจากรังสิมา บรรณาธิการที่หลายครั้งรับทำหน้าประชาสัมพันธ์หนังสือและสำรวจตลาดด้วยตัวเอง บอกกับเราว่าเธอรู้สึกว่าคนยังอ่านหนังสือเท่าเดิม และอาจมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ยิ่งดำเนินกิจการสำนักพิมพ์ Library House มาจนเข้าปีที่ 8 ยิ่งทำให้เธอได้พบปะกับนักอ่านที่อายุน้อยลงไปเรื่อยๆ

“เรายังรู้สึกตื่นเต้นเสมอเวลาเจอนักอ่านใหม่ๆ ที่อายุน้อยลงทุกวัน นักอ่านอายุน้อยที่สุดที่เราเจอคือเด็กชั้นมัธยมต้น แถมยังเลือกอ่านวรรณกรรมคลาสสิกที่เล่มหนามาก อย่างร้าน Book Re:public ที่เชียงใหม่ เขาบอกเราว่าพอหนังสือของมาร์กาเร็ต แอตวูด เล่มใหม่ของเราออกวางขาย มีน้องคนหนึ่งซิ่งมอเตอร์ไซค์ลงมาจากดอยเพื่อมารับหนังสือที่พรีออเดอร์ไว้ ต้องยอมรับว่าคนอ่านมีหลากหลายมากกว่าที่เราคิดจริงๆ” 

มากไปกว่านั้น รังสิมาเสริมว่าแม้จะมีคนเคยบอกว่าวรรณกรรมแปลไทยหลายเล่มอ่านยาก ทำให้มีคนอ่านหนังสือประเภทนี้น้อยลง แต่เธอกลับพบว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจวรรณกรรมอยู่เสมอ ดังนั้น การที่หนังสือเล่มหนึ่งจะอ่านยากหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องของปัจเจกที่ไม่อาจตัดสินจากเพียงความคิดของคนใดคนหนึ่งได้

“คำว่า ‘อ่านยาก’ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด เราจึงไม่สามารถไปแปะป้ายได้ว่าหนังสือเล่มไหนอ่านยาก และไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปยัดเยียดให้กับผู้อ่านได้ เพราะหนังสือจะอ่านยากหรือง่ายต้องให้คนอ่านเป็นคนพูดเอง” 

เช่นเดียวกันกับปฏิกาล ที่ระบุว่าจากกลุ่มเป้าหมายของแซลมอนที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปจนถึงวัย first jobber แต่จากการทำงานมาหลายปี เขาพบว่ากลุ่มคนอ่านของสำนักพิมพ์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของจำนวนและช่วงวัยของผู้อ่าน แม้กลุ่มคนอ่านหลักของสำนักพิมพ์แซลมอนส่วนใหญ่จะเป็นนักอ่านกลุ่มวัยรุ่น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งสำนักพิมพ์เองก็ต้องขยายฐานกลุ่มคนอ่านด้วยทำหนังสือที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนอ่านได้กว้างขวางมากขึ้น

ประเด็นน่าสนใจที่ปฏิกาลชี้ให้เห็นคือ วัฒนธรรมการอ่านที่เคลื่อนจากโลกออฟไลน์ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ การอ่านหนังสือแบบเล่มจึงอาจเป็นเพียงสื่อช่องทางหนึ่งให้ผู้อ่านได้เลือกสรร ในขณะเดียวกัน หนังสือแบบเล่มยังคงเป็นช่องทางการอ่านที่มีคนสนับสนุนอยู่เสมอ เพียงแต่วัฒนธรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยทำให้เกิดกลุ่มคนอ่านรูปแบบใหม่มากขึ้น แต่ถึงอย่างไร พวกเขาต่างก็เป็นนักอ่านที่ให้ความสำคัญกับการอ่านไม่ต่างกัน จะมีความแตกต่างก็เพียงเครื่องมือที่ผู้อ่านเลือกใช้ในการเข้าถึงเนื้อหาเท่านั้น

“คนยังอ่านหนังสือกันอยู่เสมอ ดูได้ง่ายๆ จากงานหนังสือที่ยังคงมีคนมามหาศาล และผมคิดว่าบางทีเราไม่ต้องยึดติดกับคำว่า ‘หนังสือ’ มากก็ได้ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว การอ่านก็ไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย แม้แต่จอยลดาก็ถือเป็นการเสียเงินให้กับการอ่านไม่ต่างจากหนังสือเลย สมมติเราอยากอ่านหนังสือเล่มหนึ่งตอนห้าทุ่ม แต่ร้านหนังสือปิดหมดแล้ว แต่การอ่านตามแพลตฟอร์มออนไลน์สามารถจ่ายเงินได้ง่ายๆ ภายในไม่กี่นาที ผมจึงมั่นใจว่าการอ่านยังอยู่ มันไม่ตายหรอก เพียงแค่มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

“ส่วนรูปเล่มก็ยังมีคนซื้อและรอสนับสนุนอยู่ตลอด จริงๆ แล้วคนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง เอาเข้าจริงคนอ่านหนังสือกันหลากหลายมาก และการที่เขาไม่ได้อ่านของเราก็ไม่ได้แปลว่าหนังสือจะตาย แค่ทุกวันนี้มีหนังสือหลายรูปแบบให้ได้เลือกอ่าน หนังสือก็มีฟังก์ชันที่หลากหลาย แต่ละสำนักพิมพ์ก็มีความถนัดแตกต่างกัน และต่างเป็นทางเลือกให้นักอ่านทุกคนหยิบมาอ่านได้” 

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก บัณฑิตเน้นย้ำต่อจากปฏิกาลว่า แท้จริงแล้ววัฒนธรรมการอ่านไม่เคยจางหายไป ซ้ำยังเข้มข้นมากกว่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเครื่องมือไปตามยุคสมัยเท่านั้น

“ยิ่งในยุคสมัยที่คนยุคใหม่มีไลฟ์สไตล์แบบออนไลน์มากขึ้นในทุกมิติ สะท้อนว่าวัฒนธรรมการอ่านเปลี่ยนไปจริงๆ เช้าตื่นขึ้นมาทุกคนจับโทรศัพท์มือถือมาตามข่าว เพราะฉะนั้น ผมมองว่ามนุษย์เราอ่านเยอะมากขึ้นด้วยซ้ำ อย่างน้อยเราใช้เวลากับการอ่านอย่างน้อย 1 ใน 3 ของเวลาหนึ่งวัน และถึงเวลาหรือยังที่เราจะส่งเสริม e-reader ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ”

“ทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์แล้ว ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ TikTok สิ่งเหล่านี้คือข่าวที่พุ่งมาหาเราทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว บางทีเปิดทวิตเตอร์มาก็มีเทรนด์มหาศาลขึ้นมา และมันสัมพันธ์กับโลกวรรณกรรมและโลกวิชาการด้วย หมายความว่าวัฒนธรรมการอ่านยังเข้มแข็งอยู่” 

นอกจากนี้ บันฑิตให้ความเห็นที่น่าสนใจอย่างมากว่า ช่วงชีวิตในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวคือช่วงเวลาที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถอ่านหนังสือได้จำนวนมากและหลากหลายที่สุด เนื่องด้วยเป็นช่วงอายุที่อาจไม่มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบมากนัก ในขณะที่ภาระที่ต้องแบกรับมากมายในวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนเราห่างไกลจากการอ่านหนังสือมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น บันฑิตจึงเน้นย้ำว่านโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังสือต้องไปไกลและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านกว่านี้ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยซึมซับวัฒนธรรมการหนังสือกันตั้งแต่วัยเยาว์ และเป็นการวางรากฐานชีวิตที่สำคัญอย่างมาก

“ผมเชื่อว่าช่วงวัยในการอ่านที่ดีที่สุดคือช่วงที่เป็นวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะวัยเรียน เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เราจะได้อ่านหนังสืออย่างกว้างขวางที่สุด เมื่อทันทีที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความซับซ้อนและภารกิจมากมายทำให้บางครั้งบางทีเราถูกผลักออกจากการอ่านหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่ง จากที่เคยอ่านวรรณกรรมก็อาจจะไปอ่านหนังสือแนวการตลาด การลงทุน เศรษฐกิจ หรือการวางแผนชีวิตในวัยผู้ใหญ่มากขึ้นแทน” บัณฑิตกล่าว

หนังสือแพงไป? คนทำหนังสือค่าแรงน้อยเกิน?

อีกหนึ่งปัญหาสุดคลาสสิกที่คนในวงการหนังสือ ทั้งนักเขียน นักอ่าน ไปจนถึงสำนักพิมพ์ต่างพบเจอซ้ำๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือข้อสังเกตที่ว่า หนังสือในไทยมีราคาแพงเกินไปหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ ปฏิกาล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผู้มีหน้าที่ดูแลสายพานการผลิตหนังสือแต่ละเล่มตั้งแต่ต้นจนจบ อธิบายว่า แน่นอนว่าทุกสำนักพิมพ์ย่อมอยากให้หนังสือมีราคาถูกลงและเข้าถึงผู้อ่านทุกกลุ่มได้มากกว่านี้ ทว่าก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตัวสำนักพิมพ์เองก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าลิขสิทธิ์และค่าแปล (ในกรณีวรรณกรรมแปล) ค่าบรรณาธิการ ค่ากระดาษ ค่าออกแบบรูปเล่ม ค่าพิสูจน์อักษร ค่าพิมพ์หนังสือ ค่าสายส่ง ฯลฯ 

“ต้นทุนเหล่านี้สำนักพิมพ์ออกเองทั้งหมด ไม่มีใครมาช่วยสนับสนุน มันคือสิ่งที่เอกชนลงทุนด้วยตัวเอง พอเป็นแบบนี้ ต่อให้เราอยากลดราคาหนังสือลงมากแค่ไหนก็ทำได้ไม่มาก คือหนังสือยังไม่ทันเสร็จแต่สำนักพิมพ์เสียเงินก้อนนี้ไปก่อนแล้ว” ปฏิกาลอธิบาย

มากไปกว่านั้น เรื่องสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดในโลกในช่วงที่ผ่านมาต่างส่งแรงสั่นสะเทือนมหาศาลมายังวงการหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามและวิกฤตโควิด-19 หรือแม้แต่ล่าสุดที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการผลิตหนังสือเล่มนี้เพิ่มสูงขึ้นยิ่งกว่าในสภาวะปกติ อีกทั้งความไม่แน่นอนของสังคมยังทำให้หนังสือไม่ใช่ปัจจัยที่คนจะมาซื้อเป็นอันดับแรกๆ เพราะมีสิ่งจำเป็นในชีวิตที่ผู้คนต้องให้ความสำคัญมากกว่า หลายครั้งวิกฤตแห่งยุคสมัยจึงนำมาสู่วิกฤตแห่งวงการสำนักพิมพ์เช่นกัน

เมื่อพูดถึงปัญหาหนังสือราคาแพง รังสิมาเล่าเสริมว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เกิดโปรเจกต์ ‘ชุดวรรณกรรมราคาประหยัด’ ที่จะได้เห็นสิ่งพิมพ์ยุคนี้มีราคาต่อเล่มไม่เกิน 200 บาท ใประกอบด้วย 8 วรรณกรรมจาก 5 สำนักพิมพ์ ได้แก่ บอดโดย ฌูเซ่ ซารามากู (Library House), จดหมายถึงพ่อ โดย ฟรันซ์ คาฟคา (Library House), ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ โดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (สมมติ), ยูโทเปีย โดย เซอร์ โธมัส มอร์ (สมมติ), เสื้อโค้ต โดย นิโคไล โกโกล (สมมติ), เรื่องลึกลับในห้องสมุดโดย ฮารูกิ มูราคามิ (กำมะหยี่),เทียนสีแดงของนางเงือก โดย โองาวะ มิเม (JLIT) และ ชำเรา โดย พิราอร กรวีร์ (เม่นวรรณกรรม)

โดยจุดประสงค์แรกของโปรเจ็กต์นี้เพื่อสนับสนุนวงการวรรณกรรมแปล และเนื่องด้วยวิกฤตการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจอันฝืดเคือง จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์หนังสือราคาประหยัดนี้ขึ้นมา และเพื่อต้องการพิสูจน์วาทกรรมที่ทุกคนบอกว่าหนังสือราคาแพงไป จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าหากทำให้ถูกลงได้โดยที่เนื้อหายังมีคุณภาพเหมือนเดิม คนจะสนใจมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นจริง โดยหนังสือที่ตีพิมพ์ในโปรเจ็กต์นี้ขายหมดภายในหนึ่งสัปดาห์ และมีการตีพิมพ์ซ้ำ 

“จากการทำชุดวรรณกรรมราคาประหยัด เราพบว่าคนอยากอ่านหนังสือที่ราคาถูกกว่าจริงๆ แต่ผู้อ่านจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ยินดีอ่านหนังสือราคาถูกลงด้วยกระดาษปรู๊ฟ คือไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพกระดาษ กับอีกกลุ่มที่ซื้อมาสะสมเพราะอยากรู้ว่าหนังสือที่ออกมาจะเป็นอย่างไร โปรเจ็กต์นี้จึงตอบได้ว่า ถ้าเรามีต้นทุนและมีโอกาส การทำวรรณกรรมราคาประหยัดมันได้ผลจริงๆ”

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องหันมาดูแล ‘วงการหนังสือ’

แม้ประเทศไทยจะเพิ่งได้เปิดฉากการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ไป ทว่ากลับยังคงไร้วี่แววของนโยบายเกี่ยวกับวงการหนังสือ บัณฑิตระบุว่า รัฐบาลปัจจุบันจำเป็นต้องออกนโยบายที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตหนังสือ ไปจนถึงการออกแบบนโยบายส่งเสริมรากฐานวัฒนธรรมการอ่านในประเทศจะเฟื่องฟูและเข้มแข็งมากขึ้น หรือแม้กระทั่งนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงเข้ากับวงการหนังสือ เช่น ปัญหาเพดานค่าแรงขั้นต่ำที่น้อยเกินไป ส่งผลให้กลุ่มคนรายได้ต่ำไม่อาจเข้าถึงวรรณกรรมได้ หรือแม้แต่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของสำนักพิมพ์เพื่อให้ต้นทุนหนังสือลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้หนังสือวรรณกรรมไทยเข้าถึงได้มากขึ้น ไปจนถึงการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการแปลวรรณกรรมไทยในภาษาต่างประเทศ ที่จะช่วยขับศัพยภาพของนักเขียนไทยในระดับสากล และเป็นการใช้ soft power ด้วยวรรณกรรมของไทยที่มีเนื้อหาเข้มข้นและมีคุณภาพไม่น้อยไปกว่านานาชาติเช่นกัน

“มีคนรู้จักผมไปทำงานห้องสมุดที่สหรัฐอเมริกาได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 12-15 เหรียญ หนังสือในร้านก็ราคาประมาณ 12-20 เหรียญ เท่ากับว่าถ้าเราจะใช้สหรัฐฯ เป็นมาตรฐาน อย่างน้อยทำงานหนึ่งชั่วโมงต้องได้หนังสือโดยเฉลี่ยหนึ่งเล่ม แต่บ้านเราเพดานค่าแรงยังอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบรรดานักแปลหรือนักเขียนมืออาชีพทั้งหลายที่ไม่สามารถเลี้ยงชีวิตด้วยการแปลหนังสือวิชาการเพียงอย่างเดียว”

“ในขณะที่ต่างประเทศในหลายๆ ประเทศ สิ่งที่เขาได้สำเร็จอย่างเกาหลีใต้ที่มี ‘Paju Book City’ เมืองหนังสือที่ทำให้ทุกสุดสัปดาห์คนจะต้องเดินทางไปที่เมืองนี้ และสามารถซื้อหนังสือได้โดยไม่ต้องเสียภาษมูลค่าเพิ่ม มีที่กินที่เที่ยวให้ เพียงแค่นี้ก็ดึงดูดให้คนอยากไปจับจ่ายใช้สอยแล้ว ลองคิดภาพที่เด็กได้ไปเวียนว่ายอยู่ในกองหนังสือจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีขนาดไหน แต่เพราะคนมีอำนาจมักจะสนใจแค่ผลตอบแทนในระยะสั้น และไม่ให้คุณค่ากับหนังสือหรือวรรณกรรมที่ซึมลึกเข้าไปได้มากกว่านั้น”

“ผมคิดว่าประเทศนี้จะไม่มีวันเจริญ ถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐานว่าเวลาจะทำให้คนคนหนึ่งจะรู้สึกซาบซึ้งในวรรณกรรมและประเด็นละเอียดอ่อน และเราต้องใช้เวลาตกตะกอนไม่น้อย กว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะอยู่ในใจและมีอิทธิพลต่อเรา” บัณฑิตให้ความเห็น

ในฐานะที่อยู่ในวงการหนังสือมากว่าสิบปี ปฏิกาลเสริมว่านโยบายจากภาครัฐถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานเขียนไทยไปได้ไกลกว่านี้ ปฏิกาลกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับวงการหนังสือมากกว่านี้ จะเป็นการผลักดันให้วงการหนังสือทั่วประเทศส่งออกงานวรรณกรรมไทยดีๆ ได้มากมาย พร้อมระบุว่าก่อนหน้านี้มีนักเขียนไทยอย่างอุทิศ เหมะมูล ที่ได้รับการตอบรับให้แปลและตีพิมพ์หนังสือเรื่อง จุติ กับ Penguin Random House SEA ในชื่อ The Fabulist จากกรณีนี้ เห็นได้ชัดว่าในไทยนักเขียนมีศักยภาพมากพอจะผลักดันงานเขียนไปสู่ระดับนานาชาติได้ เพียงแต่มีอุปสรรคตรงที่ภาครัฐไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือส่งเสริม

“สำนักพิมพ์แซลมอนก็เพิ่งได้ทุนการแปลหนังสือจากรัฐบาลไอร์แลนด์มา ซึ่งเขาดูตื่นเต้นมากที่มีสำนักพิมพ์จากประเทศไทยสนใจแปลงานจากประเทศเขา และเขายินดีมากๆ ที่จะสนับสนุน และเอาเข้าจริงนักเขียนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านักเขียนต่างชาติเลย แค่ว่าเราใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนต่างชาติจะเข้าถึงได้”

“ถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุน งานไทยไม่ว่าจะปัจจุบันหรือรุ่นเก่ามีโอกาสที่จะเผยแพร่ออกไปในต่างประเทศได้ ถ้าภาครัฐจริงจังกับมัน ไม่ใช่ให้วงการหนังสือดิ้นรนกันเอง”

นอกจากนี้ รังสิมายังชี้ให้เราเห็นถึงสภาพการฟื้นตัวหลังยุคโควิด-19 ของอุตสาหกรรมหนังสือกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่วงการหนังสือ โดยเฉพาะแวดวงวรรณกรรมแปลกลับต้องประคับประครองด้วยตัวเองต่อไปเช่นเดิม ทั้งยังไม่มีนโยบายเยียวยาจากภาครัฐแบบอุตสาหกรรมอื่นๆ 

“เราไม่สามารถรู้ได้ว่านโยบายของวงการหนังสือคืออะไร ทุกวันนี้ตัวเราก็ยังรอคอยนโยบายหนังสือจากภาครัฐอยู่ รอว่าเมื่อไรแรงกระเพื่อมจากภาครัฐจะส่งมาถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในวงการหนังสืออย่างพวกเรา”

“ด้วยสภาพสังคมที่โดนเขย่าและแตกกระจายไปหมด ยิ่งถ้าวันนี้สำนักพิมพ์ซื้อลิขสิทธิ์ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่าอีกหกเดือนถึงหนึ่งปีข้างหน้า คุณจะไม่สามารถที่จะซื้อหนังสือจำนวนหน้าเท่าเดิมในราคาเท่าเดิมได้แล้ว และคนทำหนังสือก็พยายามจะทำให้หนังสือราคาถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว Library House ก็เช่นกัน จะเห็นว่าสองเล่มล่าสุดที่เราแปลมาจากภาษาเยอรมัน เราเคาะราคาที่ 270 บาท ที่ได้ราคานี้เพราะเราได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ถ้าใช้ราคาต้นทุนในไทยจะไม่ทางจบที่ 270 บาทแน่นอน ราคาจะสูงกว่านี้เยอะ”

ทั้งนี้ รังสิมาเสนอว่า รัฐบาลควรออกแบบนโยบายเพื่อให้เห็นตัวตนของคนทำงานทั้งเบื้องหน้า ได้แก่ นักเขียน นักแปล และเบื้องหลัง คือสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในสายพานของการผลิตหนังสือ พร้อมระบุถึงนโยบายที่นานาชาติทำกันมาหลายสิบปีแล้ว คือการออกเงินทุนสนับสนุนวงการหนังสือ เช่น รัฐบาลอาจสร้างโปรเจ็กต์ขึ้นมาสนับสนุนงานเขียนของนักเขียนในประเทศ เพื่อให้นักเขียนมีแรงใจและแรงกายในการผลิตผลงานที่มีคุณภาพต่อไป  

“สำนักพิมพ์มีหน้าที่พิมพ์หนังสือ เราก็อยากโฟกัสกับการเป็นผู้จัดพิมพ์อย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าบรรณาธิการก็ต้องไปนั่งเขียนคอนเทนต์โปรโมทหนังสือหลังพิมพ์ออกมาอีก หรือแม้กระทั่งคนขายหนังสือก็ต้องมาช่วยสำนักพิมพ์สำรวจเทรนด์ของนักอ่าน และทุกวันนี้นักเขียนหลายคนต้องทำงานอื่นเสริมเพื่อนำเงินมาใช้ทำตามความฝันในการเป็นนักเขียนของตนเองได้”

“เราต้องพูดตามตรงว่าเราอยู่ในโลกทุนนิยม เราหลีกเลี่ยงความจริงนี้ไม่ได้ ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงินจริงๆ อย่างรัฐบาลต่างประเทศรู้จักใช้เงิน สามารถลงเม็ดเงินเพื่อผลักดันงานเขียนในประเทศเขาได้ เราก็อยากให้เมืองไทยตั้งต้นมีสิ่งนี้เสียที”

ท้ายที่สุด รังสิมาเน้นย้ำว่า การออกนโยบายสนับสนุนวงการหนังสือ ไปจนถึงการสร้างรากฐานวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนในประเทศ อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สร้างมูลค่ามหาศาลให้ประเทศ หรือเห็นผลได้ด้วยตาเนื้อเฉกเช่นนโยบายเศรษฐกิจด้านอื่นๆ แต่เพราะการอ่านหนังสือที่การบ่มเพาะความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดอ่อนให้แก่มนุษย์ ทั้งยังสามารถเป็น soft power อันทรงพลังของประเทศได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น รังสิมาจึงเชื่อมั่นว่า ไม่มากก็น้อย การลงทุนให้การอ่านจะนำมาสู่การพัฒนาสังคมในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

“แม้จะมีประโยคที่ว่า ‘วรรณกรรมสะท้อนสังคมไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมหรือแก้ปัญหาใดๆ ได้’ ยิ่งทำให้เรานึกถึงประโยคหนึ่งในหนังสือ รถหนังสือเร่ของคนพเนจร ที่เปรียบเปรยว่า ปืนหรือดินปืนอาจทำงานแค่เสี้ยววินาที แต่หนังสือเล่มหนึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 20 ปีกว่าเราจะเห็นผลการทำงานของมัน ซึ่งแน่นอนว่าโลกของมนุษยชาติดำรงไปได้เกินกว่า 20 ปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เชื่อเถอะ ว่าวันใดวันหนึ่งวรรณกรรมจะช่วยสังคมในทางใดทางหนึ่งได้อย่างแน่นอน” รังสิมาทิ้งท้าย

ความน่าจะอ่าน 2023

ความน่าจะอ่าน 2023

ความน่าจะอ่าน 2023

ความน่าจะอ่าน 2023

ความน่าจะอ่าน 2023

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save