fbpx

นงเยาว์ ชัยเสรี สตรีผู้พลิกโฉมธรรมศาสตร์

อาจารย์ผู้หญิงตัวเล็กๆ ทำการงานใหญ่ได้สำเร็จ” เป็นนิยามถึงศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี จาก ‘ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมือง’ ที่ประธานองคมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ อัญเชิญมาให้เธอฟังอยู่บ่อยๆ

ถ้าถามว่า อะไรคือ ‘งานใหญ่’ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นายปัจจุบันเห็นว่า ได้แก่ การขยายธรรมศาสตร์ไปศูนย์รังสิต การขยายการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และการสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

งานใหญ่ที่ยากจะเสร็จได้นี่เอง ที่นงเยาว์ทำได้สำเร็จ และทำให้ชื่อของเธอจะคงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสังคมไทยไปอีกนานเท่านาน


ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี
(9 ตุลาคม 2477 – 2 มกราคม 2567)


กำเนิดและการศึกษา


นงเยาว์เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2477 ในตระกูลอโณทัยวงศ์ หรือ 3 เดือน ภายหลังการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เธอเป็นบุตรของนายหวัง ซึ่งเป็นช่างทองฝีมือดี ย่านสะพานดำ วรจักร กรุงเทพฯ กับนางน้อย

บิดามักสอนเธอว่า “พ่อแม่ไม่มีสมบัติอะไรจะให้ ให้ได้อย่างเดียวคือการศึกษา เพราะฉะนั้น การจะเอาตัวให้รอดหรือไม่รอดนั้นอยู่ที่ตัวเอง คือ ต้องหมั่นศึกษา” ไม่เพียงเท่านั้น บิดายังสอนเธออีกว่า ให้คบหาคนทุกระดับ ทั้งที่เท่ากัน สูงกว่า หรือต่ำกว่า เพราะทุกคนย่อมมีความดีตามสภาพของตน

หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแม้นศรีพิทยาแล้ว นงเยาว์เข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนราชินี และสอบได้ที่ 1 ของห้อง จึงได้เป็น ‘นักเรียนโต๊ะทอง’ หลังจากนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในแผนกอักษรศาสตร์

ที่โรงเรียนเตรียมอุดมนี่เอง ที่เธอรู้จักกับ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ (ม.ธ.ก.) เพราะเมื่อเกิดกบฏแมนฮัตตัน ในปี 2494 แล้ว ม.ธ.ก. ถูกทหารยึดครองพื้นที่ ต้องย้ายมาจัดการเรียนการสอนกันที่เตรียมอุดม ทำให้นงเยาว์รู้จักและสนใจธรรมศาสตร์ในแง่ที่ว่า “ท้าทายและน่าจะมีอิสระ


วันรับเพื่อนใหม่ พ.ศ.2495


นักศึกษาธรรมศาสตร์


แม้เมื่อนงเยาว์เป็นนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ธรรมศาสตร์’ แล้ว แต่บรรยากาศในนั้นยังทำให้เธอรู้สึกว่า “เราเป็น ม.ธ.ก.” เป็นต้นว่าเมื่อเรียนจบคาบเช้า นักศึกษารุ่นก่อนๆ ก็จะเข้ามาในห้องเรียนเพื่อ ‘ปลุกใจ’ ชวนร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัย พูดคุยประเด็นปัญหาสังคม

นงเยาว์กล่าวว่า ตื่นเต้นและซาบซึ้งกับเนื้อหาของเพลงมาก เช่น “สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง

นอกจากนี้ คำสอนของอาจารย์บางนายยังกินใจเธอ ยกตัวอย่างเช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้าราชการจากกระทรวงการคลัง ซึ่งมาสอนวิชากการคลัง สอนลูกศิษย์ว่า “พวกคุณรู้ไหมว่า นี่เราเอาเงินราษฎรมาเรียน ออกไปต้องรับใช้เขา ต้องทำงานให้เขา อย่าโกงกิน

ส่วนอธิการบดีในเวลานั้น คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสมัยที่นักศึกษารวมถึงเธอเดินขบวนประท้วงรัฐบาล นงเยาว์ตั้งข้อสังเกตว่า จอมพลมีหลักจิตวิทยาในการบริหาร รู้จักใช้ไม้นวมกับนักศึกษา ทำให้เธอได้ข้อคิดในเวลาต่อมาว่า “นักศึกษาเป็นวัยรุ่น ถ้าเขาอยากพูดอะไร วิจารณ์อะไร ก็ปล่อยให้พูดไป เหมือนสมัยที่ดิฉันเป็นนักศึกษา ซึ่งก็ได้รับสิทธิให้พูด ให้แสดงความเห็นได้เช่นเดียวกัน เพราะมันเป็นช่วงวัยที่ความคิดจะไปในทางนี้ ถ้าเราไปจำกัดสิทธิไม่ให้เขาพูด ไม่ให้เขาใช้เหตุผล ไปขู่ว่าพูดแล้วถูกไล่ออก ธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะสู้ อาจจะใช้วาจาที่ก้าวร้าว ไร้เหตุผล หรือบานปลายจนกระทั่งต้องสู้ด้วยกำลัง ที่สำคัญคือ การที่เราฟังเขาพูดโดยไม่มีอคติ บางทีก็เอามาใช้แก้ไขปัญหาได้


รับปริญญาตรี พ.ศ.2499


ชีวิตครอบครัว


เมื่อสำเร็จการศึกษาจากธรรมศาสตร์แล้ว นงเยาว์เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพียง 1 เทอม จากนั้นย้ายมาทำงานที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วได้รับทุนธนาคารโลกไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Illinois สหรัฐอเมริกา จากความช่วยเหลือของคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร เมื่อปี 2502

ที่ต่างแดนนี่เอง เธอได้พบกับ อรุณ ชัยเสรี ดังที่เขาเล่าเอาไว้ว่า “จะเป็นเพราะพรหมลิขิตหรือกรรมบันดาล ที่ทำให้สองคนเกิดมาเวลาไล่เลี่ยกันในกรุงเทพมหานครนี่เอง ทั้งที่อยู่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร รอดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาด้วยกัน แต่ไม่เคยพบกัน 25 ปี ต่อมาต้องเดินทางไปกว่าหมื่นกิโลเมตร ไปยังจุดเล็กๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เดียวกัน…เหมือนมีใครลิขิตไว้ เมื่อพบกันครั้งแรก ก็เหมือนได้เคยรู้จักกันมาก่อนนานแล้ว

ความรักที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2503 นำมาสู่การหมั้นหมาย และสมรสกันในปีถัดมา

ความรักของทั้งคู่ไม่เพียงยืนยาวในชีวิตนี้ นงเยาว์ยังตั้งใจไปยังชีวิตใหม่ด้วย เธอยืนยันทุกครั้งว่า “ขอให้พบอาจารย์อรุณในชาติหน้าอีก” และมักอธิษฐานเช่นนี้เมื่อไปไหว้พระ จนมีคราวหนึ่ง ประนอม โฆวินวิพัฒน์ หยอกว่า “แล้วอาจารย์คิดว่า อาจารย์อรุณจะอยากพบอาจารย์อีกหรือคะ”

“ก็ต้องอยากสิ” เป็นคำตอบของเธอ


พิธีมงคลสมรสเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2504


อาจารย์ธรรมศาสตร์

  
นงเยาว์พบป๋วยอีกครั้งที่สภาพัฒน์ฯ เพราะป๋วยเป็นกรรมการที่นั่น จึงชวนนงเยาว์ให้ย้ายมาทำงานที่ธรรมศาสตร์ “ผมก็ไปเหมือนกัน…อีกหน่อยจะได้ไปอยู่รังสิตแล้ว” เพราะในปี 2507 ที่นงเยาว์มาสอนที่คณะพาณิชย์ฯ ป๋วยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

หลังจากนั้นนงเยาว์ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รับประกาศนียบัตรด้านการบริหารการเงินในปี 2509 แล้วกลับมาทำงานเป็นหัวหน้าภาควิชาการเงินและการธนาคาร และรองคณบดี (2516-2518) ตามลำดับ

จนเมื่อป๋วยดำรงตำแหน่งอธิการบดี เขาขอให้นงเยาว์มาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เพื่อให้มาเป็น ‘แม่บ้าน’ ของมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลที่เลือกเธอว่า “ผมเห็นคุณถือป้ายเดินประท้วงมาตั้งแต่เรียนสมัยเป็นนักศึกษา

การบริหารธรรมศาสตร์ในบรรยากาศที่นักศึกษาตื่นตัวทางการเมืองมากเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐคิดว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสั่งห้าม และลงโทษนักศึกษาได้ แต่ไม่ดำเนินการเช่นนั้น ซึ่งนงเยาว์สะท้อนว่า “เขาไม่เข้าใจความเป็นธรรมศาสตร์เลย


    

อธิการบดี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (กลาง) กับรองอธิการบดี (จากซ้าย) บรรลือ คงจันทร์, เสน่ห์ จามริก, นงเยาว์ ชัยเสรี


6 ตุลาคม 2519


เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อธิการบดีอย่างป๋วยลาออก และต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้พ้นจากการคุกคามชีวิต นงเยาว์จึงดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี เป็นเวลา 12 วัน ซึ่งเป็นห้วงเวลาวิกฤตที่สุดของธรรมศาสตร์ เพราะไม่มีแม้แต่สถานที่จะให้ทำงาน จากพื้นที่ตรงท่าพระจันทร์ 50 ไร่ เหลือเพียงห้องเล็กๆ ในทบวงมหาวิทยาลัย กับโต๊ะ 3 ตัว

เราจะต้องฟื้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราให้กลับมาอีกครั้งหนึ่งให้ได้” คือ ปณิธานของเธอในเวลานั้น นงเยาว์ยังได้กล่าวกับ ประนอม โฆวินวิพัฒน์ อาจารย์คณะพาณิชย์ฯ ด้วยว่า “เราจะไม่มีวันยอมให้ธรรมศาสตร์ของเราอยู่ในสภาพอย่างนี้ เราต้องมาร่วมมือกัน เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยของเรา

ไม่เพียงเท่านั้น นงเยาว์ยังไปเยี่ยมและประกันตัวนักศึกษาและบุคลากรของธรรมศาสตร์ที่ถูกจับกุมตัว ณ โรงเรียนพลตำรวจ จังหวัดนครปฐม คณิต พีชวณิชย์ เล่าว่า “การยื่นขอประกันตัวขณะนั้นมีความยุ่งยากพอสมควร ไม่อาจทำได้สำเร็จในวันเดียว อาจารย์นงเยาว์ไม่ยอมกลับบ้าน จึงต้องค้างคืนที่บ้านอาจารย์เกรียงไกรกับพวกเรา เพื่อที่จะได้ไปทำเรื่องประกันต่อในวันรุ่งขึ้น และภาพที่พวกเราเห็นก็คือ อาจารย์ไม่ยอมนอนหลับทั้งคืนจนรุ่งเช้า และไปทำเรื่องต่อจนเสร็จ ภาพเหล่านี้มีพวกเราเท่านั้นที่ได้เห็นและจดจำมาจนทุกวันนี้ ยิ่งกว่านั้นเรื่องที่เราได้รับรู้ในวันต่อมาอีกก็คือ หลังจากแยกกันกับพวกเราแล้ว อาจารย์ก็ต้องไปติดต่อขอประกันตัวคนของธรรมศาสตร์ที่ถูกจับกุมไปขังไว้ในที่อื่นๆ อีก เรื่องต่างๆ เหล่านี้ผมไม่เคยได้ยินอาจารย์นงเยาว์ร้องขอความเห็นใจหรือเขียนสดุดีตนเองไว้ในที่ใดเลย

หลังผ่านพ้นวิกฤต 6 ตุลาฯ ไปแล้ว นงเยาว์ลาไปศึกษาต่อด้านการวิจัยที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และได้ไปทำงานโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงกลับมารับตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อปี 2522 ในสมัยที่ ประภาศน์ อวยชัย เป็นอธิการบดี



อธิการบดีหญิงคนแรก ผู้สร้างศูนย์รังสิต


เมื่อประภาศน์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว นงเยาว์ได้รับการสรรหาให้เป็นอธิการบดีหญิงคนแรกในวงการอุดมศึกษาไทย เธอตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งที่ทำให้ได้ตำแหน่ง คือ ผลงานในการรักษาสภาพมหาวิทยาลัยในช่วง 6 ตุลา ทำให้ประชาคมมองว่า ดิฉันน่าจะทำงานได้

นงเยาว์ยังเล่าไว้ด้วยว่า ก่อน 6 ตุลาฯ ป๋วยเคยพูดกับเธอว่า “อาจารย์ต้องเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์นะ จะได้ทำรังสิตให้สำเร็จ

และนงเยาว์ก็ทำเสร็จในสมัยที่เธอเป็นอธิการบดี (2525-2531) ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดทำการเรียนการสอนได้เมื่อ พ.ศ.2529 ด้วยเหตุผลที่ว่า “มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลง เพราะโลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องเติบโตขึ้น ต้องสามารถถ่ายทอดอุดมการณ์ของธรรมศาสตร์ มอบให้กับลูกแม่โดมในสาขาวิชาอื่นๆ ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นมันเป็นธรรมดา ที่คนเราจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่การเป็นผู้บริหารนั้น เราต้องรู้จักหลักการบริหารการเปลี่ยนแปลง ต้องปลุกความรับรู้ให้คนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน ให้เขารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยน ถ้าเขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน ยังไงเราก็เปลี่ยนใหม่ได้


ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2529


สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นายปัจจุบัน กล่าวถึงการขยายการเรียนการสอนไปยังศูนย์รังสิตไว้ว่า “การขยายตัวเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบในปัจจุบันที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถูกผลักดันเตรียมแผนการและดำเนินการอย่างจริงจัง จนกลายเป็นแคมปัสที่มีการเรียน การสอน มีอาคารเรียน มีหอพัก และมีสาธารณูปโภคต่างๆ จนกระทั่งสามารถเปิดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 1 ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคณะได้ ในปี พ.ศ. 2529”

นงเยาว์เล่าไว้ด้วยว่า เมื่อประกาศแผนจะไปรังสิตแล้ว มีคนชวนให้ซื้อที่ดินแถวนั้น ซึ่งราคาถูกมาก นงเยาว์จึงบอกคนที่มาชวนว่า แม้ตารางนิ้วเดียวก็จะไม่ซื้อ เพราะถ้าตนซื้อเมื่อใด งานรังสิตจะไม่มีวันเสร็จ คนจะว่าเอาได้ว่า ที่เป็นตัวตั้งตัวตี เพราะจะได้ประโยชน์ในการผลักดันโครงการ ซึ่งตนไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เลย นงเยาว์กล่าวถึงความข้อนี้ว่า “ที่ดิฉันคิดอย่างนี้ ก็เพราะยึดอาจารย์ป๋วยเป็นต้นแบบ

ผลงานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของนงเยาว์ คือการก่อตั้งคณะทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้นในศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการขยายการจัดการศึกษานอกเหนือไปจากด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าธรรมศาสตร์มีแต่การเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์อย่างเดียว ไม่ยอมปรับตัว ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ธรรมศาสตร์ก็จะค่อยๆ เล็กลง และกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสองในที่สุด

โดยคณะด้านวิทยาสตร์ที่เกิดขึ้นมานั้น ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์



โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ


นงเยาว์เป็นผู้ริเริ่มวางแผน ผลักดัน และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อให้มีโรงพยาบาลดูแลนักศึกษาและบุคลากรที่ศูนย์รังสิต เตรียมการเปิดโรงเรียนแพทย์ และเป็นที่บริการประชาชนโดยรอบพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยในครั้งแรกดำเนินการจัดตั้งแบบที่มิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว นี่จึงเป็นฝีมือในการระดมทุนรับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม โดยมีมูลนิธิ ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ และธนาคารทหารไทย เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ และที่สำคัญคือ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ทั่วประเทศ

นงเยาว์กล่าวถึงแผนการระดมทุนว่า “ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนั้น มีศักยภาพในการช่วยเหลือมหาวิทยาลัยได้มากที่สุด” ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำเป็นต้อง “พยายามวางตัวเป็นกลาง เพราะมีศิษย์เก่าอยู่ ในทุกขั้วทางการเมือง ดังนั้นไม่ว่าเขาจะอยู่พรรคไหนไม่สำคัญ ขอให้ช่วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น

 สัญญา ธรรมศักดิ์ ชื่นชมนงเยาว์ว่า “ไม่นึกว่าอาจารย์ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จะมีความคิดความอ่านกว้างขวางและขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติการกุศลด้วยความตั้งใจจริงเช่นนี้ เป็นผลให้มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้รับความนิยมเชื่อถือจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั่วราชอาณาจักร


นงเยาว์ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2534-2540


ธรรมศาสตร์กับนงเยาว์


นงเยาว์เกิดปีเดียวกับธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2477 บัดนี้ ชีวิตของนงเยาว์ได้ปิดฉากลงแล้ว แต่ชีวิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงเดินหน้าต่อไป จากการที่คนรุ่นหลัง สืบสาน รักษา และต่อยอดงานของนงเยาว์ ซึ่งได้พลิกโฉมธรรมศาสตร์อย่างสำคัญ ทั้งการขยายวิทยาเขตในการจัดการเรียนการสอน การเปิดคณะและหลักสูตรใหม่ๆ ทั้งในด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และการดำเนินการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นริศ ชัยสูตร กล่าวถึงชีวิตของนงเยาว์ไว้ได้อย่างคมคายว่า “เป็นผู้หญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธรรมศาสตร์อย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และไม่ว่าเราจะรักท่านหรือไม่รักท่าน เราทุกคนต้องยอมรับว่า ท่านคือผู้นำทางการศึกษาหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุด มีคนกล่าวถึงมากที่สุด และเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดของธรรมศาสตร์และของประเทศไทย




บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save