fbpx

วันเกิด โรคประหลาด และการวิจารณ์หนังในความเห็นของผม

จริงหรือเปล่าไม่รู้ เกิดขึ้นกับทุกคนหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คนที่เป็นนักดูหนัง พวกเราน่าจะมีห้วงเวลาที่เมื่อนึกย้อนกลับไป เราอาจจะนับมันเป็นโมเมนต์ของการ ‘ถือกำเนิด’ ในโลกภาพยนตร์ หรือจะเรียกว่ามันคือห้วงเวลาของ ‘การค้นพบ’ หรือ ‘ตกหลุมรัก’ ก็น่าจะได้

ช่วงเวลานั้นของผมเกิดขึ้นตอนผมอายุราวๆ 7-8 ขวบเห็นจะได้ ผมได้ติดสอยห้อยตามพี่ๆ ไปดูหนังเรื่อง ‘บัญญัติสิบประการ’ (The Ten Commandments, 1956) ซึ่งกลับมาฉายที่โรงหนังอินทราเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ไม่ว่าอดีตที่ผ่านพ้นจะพร่าเลือนอย่างไร สิ่งที่ยังตกค้างในความทรงจำแน่นหนาก็คือ ความเย็นฉ่ำจากแอร์คอนดิชั่น กลิ่นอับๆ ของน้ำหอมปรับอากาศ ห้องโถงแคบๆ และมืดสลัวซึ่งคั่นกลางระหว่างพื้นที่ข้างนอกโรงหนังกับโลกจินตนาการที่เฝ้าคอยข้างใน ผ้าม่านสีทองซึ่งค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ความโค้งของจอภาพรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเบื้องหน้า ฉากโมเสสแยกทะเลแดงอันน่าพิศวงงงงวย และเหนืออื่นใด ซีเควนซ์ orgy ที่เหล่าคนบาปทั้งดื่มกิน ทั้งสรวลเสเฮฮา ทั้งเสพสมบ่มิสมกันสุดเหวี่ยงและไม่อายฟ้าดิน มันสร้างความปั่นป่วนในห้วงคำนึงของเด็กน้อยคนหนึ่งอย่างรุนแรง (โอย ทำไมคนดีย์น่าเบื่อ และทำไมความผิดบาปถึงได้น่าตื่นเต้นเย้ายวนขนาดนี้)

แฟรงค์ คาปรา (Frank Capra) คนทำหนังอเมริกันยุคคลาสสิก เคยบอกว่า ภาพยนตร์ก็เหมือนกับเชื้อโรค (“Film is a disease.”) ทันทีที่มันแพร่กระจายเข้าไปในกระแสเลือด มันก็ทำหน้าที่เสมือนฮอร์โมนหลักเข้าควบคุมและครอบงำกลไกทุกส่วนในร่างกาย ทั้งความรู้สึกนึกคิดและสภาวะทางจิตของเรา ซึ่งวิธีถอนพิษร้ายของมัน (ในลักษณะไม่ต่างจากการใช้เฮโรอีน) ก็คือการ ‘เสพ’ ให้หนักขึ้น

The Ten Commandments (1956)

และเป็นไปตามนั้นเลย ผมไม่เพียงรับเชื้อโรคนี้เข้าร่างกายเต็มๆ นับจนถึงปัจจุบัน การเสพอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นกิจวัตรที่ตัวเองยึดถือปฏิบัติมาสม่ำเสมอและยาวนาน และโดยที่ตอนแรกๆ ผมก็ไม่เคยนึกคิดว่า บรรดาหนังสารพัดสารพันที่ได้ดูจะก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลอะไรนอกจากการเป็นหลุมหลบภัย เป็นคอมฟอร์มโซน เป็นการท่องไปในโลกกว้าง คือเมืองออซ วันเดอร์แลนด์ แชงกรี-ลา ยูโทเปีย ดิสโทเปีย ตะวันตกแดนเถื่อน แกแล็คซี่อันแสนห่างไกล บ้านผีสิง โลกที่ตลบอบอวลไปด้วยความรักและเสียงเพลง สถานที่ซึ่งเราหัวเราะในนาทีหนึ่ง แต่กลับร้องไห้ในนาทีถัดมา ฯลฯ หรือจะว่าไปแล้ว มันเป็นสภาวะของคนที่ ‘หลงเงา’ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

แต่นั่นแหละ ตรงไหนสักแห่งระหว่างนี้เอง ที่ผมได้จับผลัดจับผลูเขียนบทวิจารณ์หนังตีพิมพ์ลงในนิตยสาร (ซึ่งก็เจ๊งคามือมานับไม่ถ้วน ฮ่าๆ) และงานเขียนชิ้นแล้วชิ้นเล่าก็ทำให้ตัวเองมีโอกาสครุ่นคิดเกี่ยวกับหนังที่ได้ดูอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น ได้อ่านโน่นนี่นั่นเพิ่มเติม ได้ศึกษาค้นคว้าอะไรต่ออะไร ได้อ่านทัศนะของคนอื่นที่พูดถึงหนังเรื่องเดียวกัน ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเราจึงมองไม่เห็นแง่มุมเหล่านั้นมาก่อน ได้ขยับขยายโลกทัศน์ วิสัยทัศน์และชีวทัศน์อย่างกว้างไกล จนถึงได้ต่อยอดไปบรรยายในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือพูดรวมๆ คงต้องบอกว่าจากคนรับเชื้อในตอนเริ่มต้น ก็แปรสภาพกลายเป็นคนแพร่เชื้อ และถ้าอ้างอิงอีกหนึ่งวรรคทองของคนทำหนัง อันได้แก่ ฟร็องซัว ทรุฟโฟต์ (Francois Truffaut -คนทำหนังชาวฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในหัวเรือหลักของภาพยนตร์ยุค French New Wave) ที่บอกว่า “Film lovers are sick people.” สิ่งที่ค้นพบระหว่างนี้คือ ชุมชนของผู้คนที่ล้มป่วยด้วยโรคประหลาดที่เรียกว่าภาพยนตร์ก็มีขนาดใหญ่โตขึ้นจากในอดีตอย่างไม่น่าเชื่อ

ตอนที่อาจารย์ ปกป้อง จันวิทย์ ส่งข้อความมาชักชวนผมให้เขียนแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะที่อยู่ตรงนี้มายาวนานให้ the101.world ผมก็ไม่ได้ตอบรับในทันที เพราะแม้ว่าถ้านับอายุราชการ ปี 2025 ที่จะถึงนี้ ผมก็จะมีอายุครบ 40 ปีของการเขียนวิจารณ์หนัง (ในฐานะงานอาชีพที่มีคนว่าจ้าง) ซึ่งผมเองก็ไม่นึกฝันว่ามันจะยาวนานขนาดนี้ แต่ก็นั่นแหละ คิดไม่ออกจริงๆ ว่าตัวเองมีอะไรไปแลกเปลี่ยนกับคนอ่าน ไม่ต้องเอ่ยถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาซึ่งเป็นเรื่องที่นอกจากจะไม่มีแล้ว ก็ยังไม่อาจเอื้อมด้วย เพราะเมื่อลองนึกทบทวน สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องของสัญชาตญาณล้วนๆ อาศัยว่าจ้องหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วหวังว่าตัวหนังสือจะไหลออกมา และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้นึกถึงเรื่องหลักเกณฑ์หลักการหรือกรอบทฤษฎีมานานแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ องค์ความรู้พื้นฐานเรื่องการวิจารณ์ภาพยนตร์ตอนนี้ไม่ได้จำกัดจำเขี่ยเหมือนเมื่อก่อน ไม่ว่าใครก็สามารถขวนขวายหาหนทางเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ไม่ยากเย็น พูดง่ายๆ คือเสิร์ชกูเกิลไปเรื่อยๆ ก็เจอสิ่งที่อยากรู้เอง ไม่ว่าจะหลักการวิเคราะห์, ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์วิจารณ์, ตัวอย่างของบทวิจารณ์ประเภทต่างๆ, ดีเบตเกี่ยวกับการวิจารณ์ ฯลฯ เพราะฉะนั้น การมานั่งฟังนั่งอ่านคำบอกเล่าจากความทรงจำของใครคนใดคนหนึ่งซึ่งตกๆ หล่นๆ ก็อาจเกิดประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนัก

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่าการวิจารณ์หนังในอีกโสตหนึ่งเป็นเรื่องของคาแร็กเตอร์ หมายความว่ามันเป็นข้อเขียนเชิงความคิดเห็นที่มีตัวตนของคนเขียนเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านน้ำเสียง เทคนิคและกลวิธีในการเขียน คลังคำสำหรับการจับจ่ายใช้สอย ไล่เรื่อยไปจนถึงทัศนคติ ความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองส่วนบุคคล ซึ่งสุดท้ายแล้ว การเขียนวิจารณ์หนังจึงเป็นเรื่องตัวใครตัวมันพอสมควร บอกกล่าวกันได้ แบ่งปันกันได้ แต่จนแล้วจนรอด มันคือหนทางที่แต่ละคนต้องแผ้วถางหรือสำรวจค้นหากันเอาเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่สามารถปฏิเสธได้ของอาจารย์ปกป้องก็เย้ายวนและท้าทายให้อยากลองดูสักตั้ง ทั้งการเปิดพื้นที่ให้บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว เงื่อนไขของการไม่ผูกมัด (ส่วนตัวคิดว่าเขียนไปสองสามชิ้นหรือหมดมุกเมื่อไหร่ก็เลิก) รวมถึงไม่ต้องเขียนอะไรที่เป็นวิชาการซึ่งส่วนตัวก็ไม่ถนัดหรือไม่มีความสามารถอยู่แล้ว ทั้งหลายทั้งปวงจึงกลายเป็นที่มาของข้อเขียนลำลองที่อยู่ในสายตาของผู้อ่านขณะนี้ และหวังว่าตัวเองจะมีแรงเขียนชิ้นต่อไป

และไหนๆ ก็เป็นบทความปฐมฤกษ์ วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาเรื่องพูดก็ด้วยการถามเอง-ตอบเอง และคำถามที่สมเหตุสมผลในกาลเทศะแบบนี้มีด้วยกันสามคำถาม นั่นคือ การวิจารณ์หนังคืออะไรแน่ บทบาทหน้าที่ของนักวิจารณ์หนังคืออะไร และทุกวันนี้ การวิจารณ์หนังยังจำเป็นอยู่หรือไม่

แค่เริ่มต้น ข้อเขียนนี้ก็กลายเป็นหัวข้อบรรยายในห้องเรียนเสียแล้ว แต่พูดอย่างจริงๆ จังๆ นี่เป็นแง่มุมที่สมควรต้องถูกอภิปรายก่อนเพื่อน ทำนองว่าอะไรคือค่าเริ่มต้นของการวิจารณ์ และคำตอบสำหรับคำถามแรกก็เป็นพหูพจน์ ซึ่งก็สมควรจะต้องเป็นเช่นนั้น เพื่อให้นิยามหรือกรอบความหมายของคำว่าวิจารณ์ (หนัง) ถูกถ่างออกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมันไล่เรียงตั้งแต่การแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์ ตีความ การรับรู้และประเมินคุณค่า การตัดสินในหลากหลายแง่มุม การชื่นชม การตำหนิติเตียน การมองหาความหมายทั้งที่คนทำหนังต้องการสื่อและไม่ต้องการสื่อ การอภิปรายถกเถียงที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ว่าหนังดีหรือไม่ดี และไหนๆ ก็ไหนๆ อีกนิยามที่ต้องเอ่ยผนวกให้เข้ากับยุคสมัยของสื่อสังคมออนไลน์และ ‘สิ่งที่เกิดขึ้น’ ทำให้ความหมายของการวิจารณ์ผิดเพี้ยน ก็คือการสะท้อนความคิดเห็นต่อหนังที่ได้ดูตามความคิดความเห็นและกำลังความสามารถที่แท้จริง และโดยไม่ได้เป็นการรับจ้างจากบริษัทหนังมาเขียนเชียร์ (เพราะอย่างหลังเรียกว่าโฆษณา) ซึ่งบางที นี่อาจเป็นประเด็นที่จะกล่าวถึงในโอกาสถัดไป

พอลลีน เคล (ที่มาภาพ)

หากจะสรุปอย่างรวบรัดตัดความจริงๆ การวิจารณ์หนังคือการครุ่นคิดเกี่ยวกับหนังที่เราได้ดู และถ่ายทอดสิ่งที่ครุ่นคิดนั้นออกมาเป็นถ้อยคำ ไม่ว่าจะในรูปของข้อเขียนหรือการอภิปรายถกเถียงกับคนรอบข้าง พอลลีน เคล (Pauline Kael) นักวิจารณ์ชาวอเมริกันที่ทรงอิทธิพลในยุคสมัยของเธอ (ทศวรรษ 1960-1990) เคยบอกทำนองว่า การที่มีคนจ้างให้เธอคิดและถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นข้อเขียน เป็นหนทางหาเลี้ยงชีพที่ช่างวิเศษ และเธอนึกไม่ออกว่าจะมีวิธีทำมาหากินอะไรที่น่ารื่นรมย์ไปกว่านี้     

แต่ก็อีกนั่นแหละ ใช่หรือไม่ว่าคนดูหนังส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายเงินซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปเพื่อครุ่นคิดเกี่ยวกับหนังที่พวกเขาดู และปฏิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังของคนดูหนังส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของความบันเทิงเริงรมย์ ขณะที่สิ่งที่เรียกว่าแก่นสารสาระ แง่มุมชวนขบคิด หรือความหมายแฝงเป็นเสมือนของแถมหรือผลพลอยได้ หรืออีกนัยหนึ่ง การดูหนังสำหรับคนหมู่มากเป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนสนุกทางอารมณ์ และสิ่งที่เป็นเหมือนกับการละไว้ในฐานเข้าใจก็คือ การขบคิดเป็นกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์เท่าไหร่นัก ยกเว้นในบางกรณีที่พลังของหนังอาจจะกระตุ้นเร้าคนดูให้รู้สึกอยากสำรวจหาความหมายที่แอบแฝงซ่อนเร้นด้วยตัวเอง นึกเร็วๆ ก็ได้แก่หนังอย่าง Parasite (2019) หนังที่กำกับโดย บงจุนโฮ (Bong Joon-ho  -คนทำหนังชาวเกาหลีใต้) ที่ภายใต้ความสับสนอลหม่านของสถานการณ์สุดแสนขันขื่น ได้สิ้นสุดลงในลักษณะที่มาพร้อมคำถามพ่วงมากมาย เช่นว่า ปรสิตตามความหมายของชื่อเรื่องคืออะไรแน่ หรือตอนจบแบบปลายเปิดของ Anatomy of a Fall (2023) ก็ทำให้หนังของ จุสติน ตริเยต์ (Justine Triet -คนทำหนังชาวฝรั่งเศส) ไม่ได้มีสถานะเป็นแค่หนังคอร์ตรูมดราม่าแนว whodunit ที่คนดูต้องมาถกเถียงว่าใครเป็นคนฆ่า พร้อมกันนั้นมันก็ชวนคนดูสนทนาประเด็นเรื่องจิตวิทยาสังคม เพศสภาพ ความเป็นผู้หญิง-ผู้ชาย รวมไปถึงเรื่องเชื้อชาติด้วย

อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่สนับสนุนสมมติฐานเรื่องการดูหนังเพื่อความบันเทิง (ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วหรือเปล่า) คือ บรรดาบริษัทหนังและบริษัทจัดจำหน่ายหนังทั้งหลายทั้งปวง แทบไม่เคยมีนโยบายโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังของตัวเองในแง่มุม intellectuality หรือมองว่าความลึกซึ้ง ความซับซ้อนทางความคิด ตลอดจนความหมายที่แอบแฝงซ่อนเร้นของหนังก็เป็นสินค้าหรือเป็นจุดขายของหนังได้ ตรงกันข้าม หนังเรื่องไหนที่ถูกตีตราว่าดูยาก ดูแล้วต้องคิดหนัก คิดมาก ก็เตรียมตัวจบเห่ทางด้านรายได้ทันที

แต่อย่างที่รู้กัน ภาพยนตร์ก็เหมือนศิลปะแขนงอื่นๆ มันไม่ได้เป็นเพียงการละเล่นที่ถูกจัดแสดงขึ้นเพื่อความสำเริงสำราญทางอารมณ์เพียงลำพัง หรือโดยปราศจากเทคนิค แท็คติก กลวิธี การชักจูงชี้นำ ไปจนถึงการสอดแทรกวาระแอบแฝงซ่อนเร้น ซึ่งหมายรวมถึงการแฝงฝังความคิด ความหมาย ค่านิยม อุดมการณ์ การครอบงำ ความเจ้ากี้เจ้าการ หลายครั้งมันคือการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอย่างแนบเนียน หรือบางครั้ง มันก็แอบสวมชุดนักเทศน์สั่งสอนธรรมะ ทั้งที่ในความเป็นจริงมันเป็นเพียงแค่ตัวแทนบริษัทประกัน แต่อีกหลายครั้งเช่นกัน ที่มันทั้งปลอบประโลมและเยียวยาความรู้สึกของพวกเรา หรือกระทั่งทำให้สามารถ ‘ไปต่อ’ ได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอันแสนถมึงทึง และหลายครั้ง มันชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นมนุษย์ และช่วยให้เรามองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในภาพที่ชัดเจนขึ้น

ถ่ายที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (The National Museum of Cinema) เมืองโตรีโน ประเทศอิตาลี

และก็นั่นแหละ กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการดูหนังโดยทันทีทันควัน พูดง่ายๆ คือหากไม่มีการครุ่นคิด ไม่มีการอภิปรายแลกเปลี่ยน ไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ วิพากษ์วิจารณ์ และมีเพียงแค่เสียงการโฆษณาของฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทหนังเพียงทางเดียว บางที ภาพยนตร์คงจะกลายเป็น ‘ประดิษฐกรรมที่ไม่มีอนาคต’ (“The Cinema is an invention with no future.”)’ เข้าจริงๆ ดังที่ครั้งหนึ่ง อังตวน ลูมิแอร์ (Antoine Lumière) พ่อของหลุยส์และออกุส ลูมิแอร์ (Louis Lumière, Auguste Lumière) สองพี่น้องที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เคยปรามาสไว้

โดยปริยาย หวังว่านั่นคงจะช่วยตอบคำถามที่สามว่าตกลงแล้ว การวิจารณ์ยังสำคัญและจำเป็นอยู่หรือไม่

ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่ยังตกค้างอยู่คือคำถามที่สองที่ว่า สถานะและบทบาทหน้าที่ของนักวิจารณ์คืออะไรกันแน่ เป็นเชียร์ลีดเดอร์ เป็นคู่มือผู้บริโภค เป็นผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้พิพากษานอกบัลลังก์ หรืออย่างที่เคยมีคนกล่าวหาว่าเป็นศิลปินที่ล้มเหลวในการสร้างสรรค์งานศิลปะ (failed artist) เอาจริงๆ คำตอบก็แล้วแต่ใครจะเห็นสมควรเลย แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว เวลาที่ต้องกลับไปทบทวนสิ่งที่เรียกว่าบทบาทหน้าที่ของการเป็นนักวิจารณ์ ประโยคของพอลลีน เคล นักวิจารณ์หนังที่เอ่ยถึงข้างต้น -ซึ่งความเด็ดเดี่ยวและไม่ประนีประนอมของเธอไม่เคยเป็นสองรองใคร- ก็จะผุดพรายขึ้นมาเสมอ เพราะขณะที่ดูประหนึ่งว่าเธอกำลังวาดให้เห็นโลกอุดมคติของการทำงานวิจารณ์ ทว่าจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม จนกลายเป็นการหันหลังให้กับความเป็นจริง หรือว่าไปแล้ว กลับตรงกันข้าม และมันเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้

พอลลีน เคล เขียนข้อความต่อไปนี้ในบทความยาวเหยียดที่ชื่อ ‘Circles and Square’ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือรวมข้อเขียนภาพยนตร์ของเธอที่ใช้ชื่อว่า I Lost it at the Movies ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 ไม่น่าเชื่อว่านับเนื่องจนถึงปัจจุบัน ข้อความอายุเกือบหกสิบปีของเธอก็ยังคงใช้การได้ หรือว่าจริงๆ แล้ว ใครที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนในฐานะนักวิจารณ์ บางที อาจจะนำประโยคเหล่านั้น -ไม่ว่าจะส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด- ไปถักทอเป็นโครเชต์ แล้วเอามาใส่กรอบแขวนไว้ข้างฝา เผื่อว่าจะได้เหลือบเห็นทุกครั้งที่เราอาจนึกสงสัยว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และนี่คือสิ่งที่เธอเขียน

“บทบาทของนักวิจารณ์คือการช่วยให้คนดูได้เห็นว่ามีอะไรบ้างอยู่ในหนังเรื่องนั้นๆ อะไรที่ขาดหายไป อะไรที่เป็นส่วนเกิน เขานับเป็นนักวิจารณ์ที่ดีหากเขาช่วยให้คนดูได้มองเห็นและเข้าใจหนังที่ดู มากกว่าที่พวกเขาจะมองเห็นและเข้าใจได้ด้วยตัวเอง เขานับเป็นนักวิจารณ์ที่ยอดเยี่ยมหากเขาใช้ความรู้ ความสามารถ ความอุทิศทุ่มเทและกระตือรือร้น กระตุ้นเร้าคนดูให้อยาก ‘คิดต่อ’ หรือ ‘สำรวจคุณค่าทางศิลปะของผลงาน (ซึ่งแอบซ่อนอยู่)’ เพิ่มเติม

“ขณะเดียวกัน การวินิจฉัยผิดพลาดก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องเป็นนักวิจารณ์ที่ย่ำแย่เสมอไป (ไม่มีใครถูกต้องตลอดเวลา ไม่มีใครมีรสนิยมที่สมบูรณ์แบบ) แต่เขาจะเป็นนักวิจารณ์ที่ใช้ไม่ได้หากเขาไม่อาจกระตุ้นคนดูให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ หรือขยับขยายขอบเขตความสนใจและเข้าใจในงานศิลปะให้กว้างไกลออกไป

“หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ศิลปะของนักวิจารณ์คือการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และความศรัทธาอันแรงกล้าต่องานศิลปะให้กับคนดูทั่วไป”

ครับ ทุกคน Long Live Film Criticism นะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save