fbpx

ดรสะรณ โกวิทวณิชชา : การกลับมาของ World Film Festival of Bangkok ในวันที่โลกภาพยนตร์ไทยซบเซา เรายังมีความหวังได้ไหม?

หลายคนมักคุ้นตากับประเพณีการเดินพรมแดงหรือคุ้นหูกับชื่อเทศกาลภาพยนตร์ อย่างเทศกาลภาพยนตร์คานส์ (Cannes Film Festival) ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส หรือเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน (Busan International Film Festival) ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ชื่อของเทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้กลายเป็นเหมือนจุดหมายของภาพยนตร์ระดับโลกที่ผลงานจากทั่วสารทิศต่างเดินทางเพื่อมาร่วมฉายในเทศกาล นับว่ามนตร์ขลังที่อยู่คู่กับโลกของภาพยนตร์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยของเราก็ใช่จะไม่มีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเลยเสียทีเดียว เพราะหากย้อนเวลากลับไป ประเทศไทยเคยมีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติใหญ่อยู่สองชื่อที่เป็นที่รู้จักคือ ‘Bangkok International Film Festival’ และ ‘World Film Festival of Bangkok’ แต่เนื่องจากเทศกาล Bangkok International Film Festival มีปัญหาประเด็นใหญ่คือการทุจริต จนทำให้เทศกาลล้มหายตายจากไป จึงเหลือเพียง World Film Festival of Bangkok เดินทางต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ World Film Festival of Bangkok ถูกก่อตั้งโดย เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการตลอดการจัดเทศกาลภาพยนตร์นี้มาโดยตลอด เทศกาลนี้จัดต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2546 แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้เทศกาลหยุดจัดเป็นระยะเวลา 5 ปี ครั้งสุดท้ายที่จัดคือปลายปี 2560

ปลายปี 2565 วงการภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อมีประกาศว่า World Film Festival of Bangkok กำลังจะกลับมาจัดอีกครั้ง…

การกลับมาครั้งนี้ของ World Film Festival of Bangkok นับเป็นครั้งที่ 15 โดยมีกำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 2-11 ธันวาคม 2565 มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งธีมงาน ‘return to cinema’ ที่สื่อให้เห็นถึงการเชื้อเชิญผู้คนให้กลับมาชมภาพยนตร์ในโรงกันอีกครั้ง หลังจากเจอคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบกับวงการภาพยนตร์ไทยอย่างสถานการณ์โควิดที่ทำให้ผู้คนหันไปสนใจความบันเทิงชนิดอื่นบนโลกออนไลน์

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกประการคือการเปลี่ยนผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์ เนื่องจากเกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์เสียชีวิต ทำให้ ดรสะรณ โกวิทวณิชชา โปรแกรมเมอร์เทศกาลภาพยนตร์ และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมมานาน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์คนใหม่

101 พูดคุยร่วมหาคำตอบกับดรสะรณ โกวิทวณิชชา ถึงการก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการเทศกาล กับการกลับมาของเทศกาล World Film Festival of Bangkok และในวันที่โลกนี้มีบริการสตรีมมิง เทศกาลภาพยนตร์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่


ช่วงเวลาที่ผ่านมา วงการภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างไรบ้าง

วงการภาพยนตร์ไทยคงอยู่ในช่วงที่ไม่ได้ขาขึ้นสักเท่าไหร่ จนหลายครั้งเราก็คาดไม่ถึง ทั้งรายได้ของภาพยนตร์บางเรื่องที่คิดว่าจะได้เงินก็ไม่ได้ ภาวะแบบนี้เป็นมาสักระยะหนึ่งแล้ว หรือถ้าให้พูดจริงๆ คือภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินมากๆ มีจำนวนน้อยมาก ใน 2565 น่าจะมีเพียง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ เรื่องเดียวที่ทำเงินได้เกินหลักร้อยล้านบาท นอกนั้นจะเป็นภาพยนตร์ที่รายได้ไม่เยอะมาก

เรามักเห็นความเห็นของหลายคนที่มองว่าภาพยนตร์ไทยไม่ดี แต่เท่าที่เรามองคิดว่าภาพยนตร์ไทยที่ดีก็มี เพียงแต่จำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับเวทีระดับโลกที่ผลิตภาพยนตร์แล้วได้รับความสนใจมากกว่า หากมองในทวีปเอเชีย ประเทศไทยก็เป็นเหมือนส่วนเล็กๆ หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ภาพยนตร์ไทยก็ยังไม่สามารถสร้างความสนใจได้ระดับนั้น

ที่ผ่านมามีภาพยนตร์ไทยที่เดินทางไปเวทีระดับสากลบ้าง เพียงแต่ต่อๆ ไปจะมีหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการสร้างภาพยนตร์ในช่วงหลังค่อนข้างลำบาก ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องไปหาเงินมาสร้างเอง การสนับสนุนก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แหล่งเงินทุนน้อยลง และผู้คนในวงการภาพยนตร์ก็ผันตัวไปสร้างซีรีส์มากขึ้น ทำให้ภาพยนตร์ไทยน้อยลง และภาพยนตร์ไทยที่เดินทางไปเวทีสากลก็น้อยลงไปด้วย รวมถึงเมื่อสร้างภาพยนตร์เสร็จแล้วตลาดในประเทศก็ไม่เปิดรับมากเท่าที่ควร ทำให้พบความลำบากในแง่นี้


บทบาทหลักของเทศกาลภาพยนตร์คืออะไร

บทบาทของเทศกาลภาพยนตร์คือการนำเสนอ แต่ละเทศกาลฯ มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ในต่างประเทศก็มองว่าเทศกาลภาพยนตร์เป็นเหมือนการเอาภาพยนตร์มาจัดวางเพื่อให้ผู้ชมเห็นว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจ


ในทุกวันนี้ที่ผู้ชมหลายคนหันไปดูสตรีมมิง เทศกาลภาพยนตร์ยังจำเป็นอยู่ไหม

ยังจำเป็นนะ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ในต่างประเทศ เทศกาลภาพยนตร์ก็ยังอยู่ได้ และเมื่อผ่านวิกฤตโควิด-19 ไป ไม่ว่าจะมีสตรีมมิงหรือไม่ เทศกาลภาพยนตร์ได้พิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม สตรีมมิงเป็นเพียงปลายทางหนึ่งของภาพยนตร์ หากพูดว่าการมีสตรีมมิงจะทำให้คนรับชมภาพยนตร์หลากหลายมากขึ้น อันนี้ก็ตอบยาก เพราะอย่างสตรีมมิงในประเทศไทยก็ไม่ได้มีภาพยนตร์ทุกเรื่อง ภาพยนตร์ในนั้นก็มีการตลาดของมัน

ถ้าสมัยก่อนเรามีตลาดอย่าง ตลาดวิดีโอ ตลาดวีซีดี ตลาดดีวีดี สตรีมมิงก็อยู่ในฐานะเชิงนั้น หากถามว่าฟังก์ชันของสตรีมมิงกระทบกับเทศกาลภาพยนตร์ไหม คิดว่าทำหน้าที่คนละบทบาทกัน

ถ้าคุณดูภาพยนตร์ คุณก็ต้องดูในโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับโรงภาพยนตร์ แต่เริ่มแรกภาพยนตร์ถูกออกแบบเป็นรูปแบบนั้น คือความบันเทิงที่ให้ผู้คนไปรับชมร่วมกันในโรงภาพยนตร์ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์ หากไปชมในช่องทางอื่นก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์

ถ้ามองในมุมผู้สร้างภาพยนตร์ มองว่าไม่สามารถนำเสนอผ่านสตรีมมิงได้อย่างเต็มที่ จริงๆ กระบวนการออกแบบการทำหนัง หลายเรื่องเขาอาจไม่ได้ออกแบบให้ดูที่บ้าน ทำให้จำเป็นต้องไปดูที่โรงภาพยนตร์อยู่ เพื่อจะได้สิ่งที่เขาทำออกมาอย่างสมบูรณ์ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้


จากฐานะผู้ชมสู่ผู้จัด มอง World Film Festival of Bangkok อย่างไร

การกลับมาของ World Film Festival of Bangkok ครั้งนี้จะคงส่วนเดิม คือเป็นเทศกาลที่คัดเลือกภาพยนตร์นานาชาติมานำเสนอในประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่การฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยกว้างขึ้นกว่าในอดีต เห็นได้จากโรงภาพยนตร์สมัยก่อนก็จำกัดกว่าทุกวันนี้ แต่ยังไม่ครอบคลุม ประเด็นนี้เราอยากจะสานจุดมุ่งหมายเดิมของเทศกาลฯ

นอกจากนี้เทศกาลฯ ยังอยากผลักดัน เดินหน้า และจะเดินหน้าต่อในครั้งต่อๆ ไป คือทำอย่างไรให้เทศกาลฯ นี้เป็นประโยชน์ต่อวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย ไม่อยากให้เป็นเพียงกิจกรรมฉายภาพยนตร์แล้วจบไป แต่อยากให้มีกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถต่อยอดและช่วยเหลือวงการก็จะเป็นสิ่งที่ดี ทั้งหมดนี้กำลังวางแผนกัน


เราจะได้เห็นอะไรในเทศกาลภาพยนตร์นี้

ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการกลับมาของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ (international film festival) ของประเทศไทย ในเทศกาลนี้มีภาพยนตร์จากทั่วโลกมาฉาย อาจจะไม่ถึงขั้นทุกทวีป แต่เรามีหนังยาวทั้งหมด 62 เรื่อง และมีการเชิญแขกจากที่ต่างๆ นอกจากนี้ทางเทศกาลมีการจัดสัมมนา ซึ่งเราก็คิดว่าเราหายไปหลายปี ทำให้เราต้องเริ่มสร้างขึ้นมาใหม่


การจากไปของ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง (วิคเตอร์) อดีตผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok ส่งผลกับเทศกาลไหม

ส่งผลนะ เพราะที่ผ่านมาพี่วิคเตอร์เริ่มต้นทำงานนี้มาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไป คนที่เคยทำงานในสมัยพี่วิคเตอร์อยู่ก็ยังคงทำอยู่ตรงนั้น พี่วิคเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของงานในฐานะผู้อำนวยการเทศกาลฯ และคัดเลือกภาพยนตร์ แต่การทำเทศกาลภาพยนตร์ยังมีองค์กรและบุคคลอื่นๆ ที่ผลักดันให้เทศกาลภาพยนตร์เกิดขึ้น ด้วยจังหวะหลายๆ อย่าง เราเลยตัดสินใจเข้ามาทำ ไม่ได้เตรียมใจมาตั้งแต่แรก เพราะไม่มีใครคิดว่าพี่วิคเตอร์จะเสีย


จากสถานการณ์โควิด-19 โรงภาพยนตร์ปิด หลายเทศกาลหันไปจัดในรูปแบบออนไลน์ จนมองว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหม่ของเทศกาลภาพยนตร์ ทำไม World Film Festival of Bangkok ถึงเลือกจัดในโรงภาพยนตร์

เทศกาลภาพยนตร์อยู่ในออนไลน์ไม่ได้อยู่แล้ว ช่วงก่อนหน้านี้มีบางเทศกาลที่เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องหันไปจัดเทศกาลภาพยนตร์รูปแบบออนไลน์ แต่เวลาก็ได้พิสูจน์แล้ว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ไม่ทำออนไลน์แล้ว เพราะหากทำเทศกาลฯ ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าหากทำแล้วเทศกาลภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ หลายเทศกาลก็คงทำต่อ แต่เมื่อไม่สำเร็จและมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งลิขสิทธิ์และการดูดภาพยนตร์ออกไป ต่อให้มีระบบอย่างไรก็ป้องกันได้ยาก ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีบทบาทอื่นๆ ของเทศกาลภาพยนตร์ เช่นการส่งเสริมเมืองซึ่งเป็นสถานที่จัด เพราะหากเทศกาลจัดในรูปแบบออนไลน์ ผู้ชมดูอยู่ที่บ้านกันหมด เมืองจะเป็นเช่นไร เมืองก็คงไม่เป็นเมืองหรือเปล่า ธุรกิจและการคมนาคมในเมืองอาจพังหมด มันควรเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเทศกาลภาพยนตร์จึงไม่สามารถจัดรูปแบบออนไลน์ได้ เรายอมรับว่าสะดวกกว่า แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แปลว่าในอนาคตมนุษย์จะต้องอยู่กับตัวเองในห้อง ไม่ออกไปไหนเลยหรือเปล่า เราตั้งคำถามนี้ซึ่งในต่างประเทศได้คำตอบแล้วว่า ไม่ได้ผลและต้องกลับมาสู่สภาพเดิม


แล้วเทศกาลฯ เชื่อมโยงตัวเองกับเมืองกรุงเทพอย่างไร

เทศกาลภาพยนตร์ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าที่ไหนจะมีเมืองเป็นผู้สนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์ อย่างเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival หรือ BIFF) เมืองปูซานก็มีส่วนในการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์เทศกาลฯนี้ จากเมื่อก่อนที่ไม่มีคนรู้จักและเดินทางไป เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานทำให้เมืองมีชื่อเสียงขึ้นมา และกลายเป็นจุดศูนย์กลางของภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชีย เทศกาลภาพยนตร์กับเมืองจึงต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเทศกาลภาพยนตร์จะไม่มีความสัมพันธ์กับเมืองที่จัดเลย

ในครั้งนี้ทางกรุงเทพมหานครก็เข้ามาช่วยเหลือ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการมีความร่วมมือเช่นนี้ และจะสานต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์กับกรุงเทพมหานครในฐานะสถานที่จัดเทศกาลภาพยนตร์ เหมือนว่าหากเทศกาลภาพยนตร์ช่วยให้เมืองนี้คึกคัก หรือสร้างภาพลักษณ์ของเมืองในมิติอื่นๆ ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักในด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว หากมีมิติในเชิงภาพยนตร์เพิ่มเติมก็จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ


ความสำเร็จของเทศกาลภาพยนตร์คืออะไร

หากจัดแล้วเกิดประโยชน์ในแง่การแลกเปลี่ยน และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในการพัฒนาวงการภาพยนตร์ เรามองว่านี่คือความสำเร็จที่คาดหวัง

ประเทศไทยจะได้อะไรกับการมีเทศกาลภาพยนตร์เป็นของตัวเอง

เทศกาลภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่บางทีเมื่อหายไปนานก็ทำให้คนไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์ อย่างน้อยการนำภาพยนตร์มาฉายก็สามารถก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และผู้ชมรับชมอะไรที่แตกต่าง แทนที่เราไปโรงภาพยนตร์แล้วจะเจอภาพยนตร์ไม่กี่เรื่อง เพราะในความจริงภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ก็ถูกคัดเลือกและจัดวางมาเหมือนกันว่าคุณต้องดูเรื่องนี้สิ เราเลยพยายามทำให้คนเห็นว่ามันมีภาพยนตร์ที่หลากหลายกว่านั้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ อย่างน้อยก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนและถกเถียง อันนี้คือประโยชน์ขั้นต่ำที่เทศกาลภาพยนตร์จะให้


สำหรับกรุงเทพมหานคร นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ แต่เคยมี Bangkok International Film Festival ที่กลายเป็นคดีทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ นับเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของกรุงเทพมหานคร จนไม่สามารถมีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ใช้ชื่อเมืองและตามด้วย International Film Festival อย่าง Busan International Film Festival ได้อีก ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรไปไหม

ก่อนอื่นปัญหาของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับเมือง เพราะงานนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากเมือง แต่เป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรรัฐ

ส่วนคำถามว่าเราเสียโอกาสไปไหม ก็คงตอบว่า ใช่ หากมองย้อนประวัติศาสตร์ของเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้น เรามีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติครั้งแรกเมื่องปี 1998 คือ Bangkok Film Festival เดิมทีเป็นงานของเอกชน แต่เมื่อเทศกาลถูกขยายและพัฒนาเป็น Bangkok International Film Festival ก็มีองค์กรรัฐเข้ามาเป็นแม่งาน ในช่วงนั้นเทศกาลฯ นี้เป็นงานขนาดใหญ่ แต่พอเกิดประเด็นเรื่องการทุจริต แน่นอนว่าชื่อเสียงก็เสื่อมเสียซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เมือง แต่เป็นระดับชาติ เพราะเทศกาลฯ นั้นเป็นเทศกาลฯ ที่เป็นภาพแทนของประเทศไทย พอเป็นข่าวไปทั่วโลกก็เป็นสิ่งที่เราเสียโอกาส เพราะเราคิดว่าเทศกาลฯ หากเริ่มมาได้ดีก็จะช่วยเหลือคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้ แต่เมื่องานมันมีปัญหาจึงต้องหยุดไป ทุกอย่างเลยเหมือนหยุด

เรามักจะยกตัวอย่าง เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ที่เริ่มจัดในปีใกล้ๆ กับประเทศไทย แต่ทุกวันนี้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานได้ขยายเป็นเทศกาลขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางไป แต่ประเทศไทยไม่มีแล้ว หากมองว่าเป็นบาดแผลก็คงใช่ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ทุกคนรู้ว่าเป็นบาดแผล แต่ไม่มีใครคิดจะแก้ไขและพยายามกลบฝังลืมมันไป ทั้งที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นแก้ไขไม่ได้ ไม่มีใครจะแก้ไขความผิดพลาดนี้และทำออกมาในทางที่ควรจะเป็น กลายเป็นว่าพอเราเดินทางผิดแล้วเหมือนล้มไปเลย เป็นเรื่องน่าเสียดาย


World Film Festival of Bangkok คาดหวังจะลบบาดแผลนี้ไหม

เทศกาลภาพยนตร์ World Film Festival of Bangkok เป็นเทศกาลที่มีอยู่พร้อมกับ Bangkok International Film Festival ดังนั้นจุดยืนของเทศกาลจึงไม่ได้วางไว้ถึงขั้นเทศกาลระดับนั้น เราเลยตอบไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่เราก็จะทำให้ส่วนของเราให้ดีภายใต้เงื่อนไขการสนับสนุนและกำลัง เราไม่ได้มีงบประมาณที่จะสามารถจัดงานระดับ Bangkok International Film Festival ซึ่งสมัยนั้นเป็นเทศกาลที่ใช้งบประมาณมหาศาล ในอนาคตเทศกาลจะขยายได้ไหม เราเองก็ยังตอบไม่ได้


เทศกาลแต่ละแห่งจะมองเทศกาลภาพยนตร์เป็นเครื่องมือของอะไรบางอย่าง ปูซานก็มองว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางของภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชีย แล้ว World Film Festival of Bangkok มองเทศกาลในฐานะอะไร

งานของเราไม่ได้ใหญ่ถึงขั้นนั้น World Film Festival of Bangkok เป็นงานที่ถูกจัดโดยเอกชน เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากรัฐ ทั้งหมดนี้ต้องดูต่อไป อย่างน้อยเราทำได้ในระดับที่เราทำ

หากเราทำไปถึงขั้นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานที่มีงบประมาณมหาศาล เราต้องใช้งบให้ถูกทาง เพราะถ้ามองย้อนถึงเทศกาล Bangkok International Film Festival ต้องบอกว่าในสมัยนั้นเป็นงานที่ครั้งหนึ่งเคยมีทุนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่หากจะวิพากษ์ตรงๆ คือเป็นการใช้เงินไม่ถูกทาง เราเห็นภาพดาราฮอลลีวูด ซึ่งถามว่ามาแล้วได้ผลอะไร ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้น ในมุมผู้จัดอาจมองเทศกาลฯ ตอนนั้นว่าเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว แต่ในความจริงแล้วหัวใจของเทศกาลภาพยนตร์อยู่ที่ภาพยนตร์ นั่นต่างหากทำให้เทศกาลภาพยนตร์อยู่ได้ การท่องเที่ยวเป็นเพียงผลพลอยได้อย่างหนึ่ง ตัวอย่างในหลายๆ ประเทศที่มองเทศกาลภาพยนตร์เป็นเครื่องมือเช่นนั้น ท้ายที่สุดก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อถึงเวลาหนึ่งมันก็จะหายไป

การสนับสนุนเมืองอาจจะเป็นผลประโยชน์ที่เราวางจุดมุ่งหมายไว้ได้ เพราะเทศกาลถูกจัดขึ้นในเมืองซึ่งเป็นผลที่เรากำหนดได้ และเป็นประโยชน์ต่อเมืองจริง เพราะอย่างน้อยต้องมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองแน่ๆ แต่อย่างการท่องเที่ยว มันเป็นผลที่ตามมา คือเมื่องานมันประสบความสำเร็จ ผู้คนคงอยากเดินทางมาดูงาน

รัฐบาลไทยมักจะพูดถึงสื่อบันเทิงในฐานะ soft power มองอย่างไรกับ soft power ตอนนี้ของรัฐบาลไทย

คิดว่าต้องทำให้ถูกทาง การสร้าง soft power นั้นขึ้นกับว่าคนที่สร้างต้องการอะไร หมายความว่าหากแค่พูด แต่ไม่เข้าใจว่าคืออะไร มันก็ไม่ได้ผล เพราะการสร้างต้องมีทิศทางที่ถูกต้องว่าเป้าหมายคืออะไรและมีกลวิธีอย่างไร

หลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จเขาก็ไม่ไปยัดเยียดให้คนดู อย่างประเทศที่คนมักพูดถึงคือประเทศเกาหลีใต้ ทำไมประเทศเกาหลีใต้จึงประสบความสำเร็จ เพราะว่าเขายัดหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เขาเพียงทำให้ผลงานออกมาดีแล้วคนชอบเท่านั้นเอง เราต้องมองว่าเป้าหมายคือทำอย่างไรให้ผลงานออกมาดี และเมื่อผลงานดีเราจะทำอย่างไรให้คนมองเห็น จุดนี้คือจุดที่ประสบความสำเร็จ ต่อให้เราใส่วัฒนธรรมอะไรเข้าไปแต่ทำออกมาไม่ดี ไม่น่าสนใจก็ไม่มีคนดูหรอก


ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในการผลิต หากไทยนำรูปแบบดังกล่าว เราสามารถไว้ใจรัฐบาลไทยในการเข้ามาสนับสนุนได้เพียงไหน

ช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเกาหลีใต้นั้นเริ่มปลายยุค 90s ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศพ้นจากรัฐบาลยุคเผด็จการเข้าสู่ประชาธิปไตย โมเดลการพัฒนาของเขาก็เอามาจากประเทศอื่นอีกทีหนึ่ง เราต้องยอมรับว่าการจะพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้นั้นมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเข้าไปสนับสนุนด้านเงินทุน ส่วนคนที่ดำเนินการสร้างต้องเป็นเอกชนเพราะเป็นคนรู้ว่าต้องทำอย่างไร ภาครัฐไม่ได้เข้าไปควบคุมอะไรมากนัก

ในประเทศเกาหลีใต้เองก็เคยมีกรณีที่เทศกาลฯ คัดเลือกภาพยนตร์ที่ภาครัฐไม่ชอบเพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีสมัยนั้น และมีคำสั่งให้ถอดภาพยนตร์ออก แต่สุดท้ายประชาชนเกาหลีใต้ก็ต่อสู้จนประธานาธิบดีติดคุก นี่คือคำตอบของเรา อาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จะทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมผลงานของประเทศเกาหลีใต้ถึงประสบความสำเร็จ เราได้เห็นพลังของประชาชนที่ร่วมกำหนดสิ่งเหล่านี้ ส่วนประเทศไทยเราคงต้องดูต่อไป เห็นว่าตอนนี้มีคนพูดถึงเรื่องการพัฒนาวงการภาพยนตร์เยอะ ซึ่งต้องยอมรับว่าภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน


สิ่งแรกที่ควรพัฒนาที่รัฐบาลควรจะเร่งทำเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์คืออะไร

แก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ภาครัฐมองภาพยนตร์ในลักษณะเพื่อสนับสนุนไม่ใช่เพื่อควบคุม เพราะในปัจจุบัน กฎหมายนี้ยังมองภาพยนตร์ในมิติเชิงควบคุมอยู่หลายด้าน เมื่อกรอบความคิดเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าวงการภาพยนตร์ไม่ได้เติบโตขึ้น

ภาพยนตร์จะต้องไม่มีการควบคุม ที่ผ่านมาเป็นเวลาหลายปีคือเครื่องพิสูจน์ว่าการควบคุมไม่ได้สร้างอะไรที่ดีขึ้นเลย ไม่ต้องไปดูอะไรไกลตัว ดูสภาพวงการภาพยนตร์ไทยตอนนี้เลยก็ได้ คนกระโดดหนีไปก็เยอะ เลิกทำไปก็เยอะ

หลังจากเลิกควบคุม ขั้นต่อไปคือการสร้างคน เราจะช่วยคนที่มีไอเดียให้ทำงานที่ดีออกมาอย่างไร หรือถ้าเรามีภาพยนตร์ที่ดีอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้คนเห็นในระดับโลก ไม่เช่นนั้นคำว่าการสร้าง soft power จะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเราสร้างภาพยนตร์แล้วใส่ผัดไทย ใส่โจงกระเบนลงไป แต่ภาพยนตร์ออกมาไม่มีใครดูแล้วชอบ ขณะพวกเราดูกันเองก็ยังอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่มีใครกล้าพูดว่าไม่ดี แล้วจะเอาสิ่งนี้ไปให้คนอื่นดู บอกว่าเป็น soft power ได้อย่างไร เราไม่ได้กล่าวหาแต่มันเคยเกิดขึ้นจริง ว่าทำมาแล้วใส่นู่นใส่นี่เข้าไป คำถามคือลืมไปหรือเปล่าว่าต้องทำให้ดีก่อน

ดังนั้น การทำงานของภาครัฐต้องกลับไปจุดที่สนับสนุนอย่างไรเพื่อให้เกิดผลงานที่ดีและจะช่วยคนในวงการภาพยนตร์อย่างไร มันอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่อะไรไทยๆ ลงไป เราคิดว่าอย่างภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็คงไม่ได้สั่งให้ใส่ เพียงแต่ว่าเขาพัฒนาให้มันดีขึ้น


เรามักจะได้ยินคำว่า ‘อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย’ ซึ่งก็ยังมีคนถกเถียงกันว่าประเทศไทยเป็น ‘อุตสาหกรรมภาพยนตร์’ ไหม

ถ้าจะพูดตรงๆ คือ ไม่ใช่ แต่เราก็ใช้คำนี้กันมาบ่อย แต่ที่เป็นไม่ถึงขั้นเป็นอุตสาหกรรม คือขนาดของวงการไม่ได้ใหญ่และไม่ครบวงจร ณ ตอนนี้เป็นลักษณะใครใคร่ทำก็ทำ ไม่ได้มีระบบ หลายๆ ประเทศที่เขามีอุตสาหกรรมภาพยนตร์คือต้องเป็นระบบ แต่เมืองไทยมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ  ถ้าถามว่าสมัยก่อนเคยมีไหม ก็เคยมีในอดีตอย่างช่วง 30 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้มันมีความเป็นกึ่งๆ มีมากกว่า


แล้วเรายังหวังกับวงการภาพยนตร์ไทยได้แค่ไหน

ก็ต้องหวัง อย่างน้อยเราต้องมีความหวังไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราต้องมีความหวังว่าวันหนึ่งคงจะดีขึ้นและได้รับความเข้าใจจากภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น เรายังคงมีความหวังว่ามันจะดีขึ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save