fbpx

เรื่องเล่าริมโขง ความทรงจำที่ไร้ ‘กรุงเทพฯ’

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมแวะเยี่ยมเยียนมิตรสหายที่นครพนม เมืองริมโขงที่คุ้นเคยและชื่นชอบเป็นพิเศษ เป็นดินแดนที่ผู้คนเป็นมิตร ชีวิตทางสังคมที่น่าสนใจ เรื่องราวและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันน่าตื่นเต้น มี ‘เรื่องเล่า’ มากมายที่รอให้ค้นพบ ซึ่งผมได้เขียนไปบ้างแล้ว และครั้งนี้ก็เช่นกัน มีเรื่องเล่ามาฝากท่านผู้อ่าน

ที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือครั้งนี้ ดร. สุริยา คำหว่าน นักวิชาการเชื้อสายเวียดผู้รอบรู้ ได้พาผมไปพบ Vatthana Pholsena (วัฒนา พลเสนา – ในภาษาไทย) รองศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นักสังคมวิทยาผู้แตกฉานในภาษาลาว ฝรั่งเศส อังกฤษและไทยกลาง เพื่อนร่วมงานสมัยที่ผมสอนหนังสือที่ภาควิชานั้นเมื่อหลายปีมาแล้ว นักวิชาการทั้งสองกำลังศึกษา/ค้นคว้าเกี่ยวกับ ‘ท่าแขก’ เมืองเล็กๆ ใน สปป.ลาว ตรงข้ามกับเมืองนครพนม

ความทรงจำริมโขง

เรื่องที่จะเขียนถึงนี้เป็นผลพวงของการติดสอยห้อยตามวัฒนาและสุริยาออกไปสัมภาษณ์และพูดคุยกับคนท้องถิ่นสูงวัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตที่พวกเขาได้ประสบ[1] หลังจากที่พยายามตามหาผู้ให้สัมภาษณ์จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากการสื่อสารไม่ชัดเจนและปัญหาเรื่องสถานที่ที่จะทำการสัมภาษณ์ พวกเราก็ได้พบ ‘ลุงเหมียน’ ชายเชื้อสายลาววัย 85 ปี ผู้มีความทรงจำดี และมีความสามารถในการเล่าเรื่องอันดีเลิศ ผู้บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนและชีวิตในดินแดนริมน้ำโขง ที่ซึ่งคนท้องถิ่นมีความทรงจำของตนเอง ไม่ใช่ของรัฐไทย และอาจไม่ปรากฏในเอกสารของราชการ

นอกจากเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีและมิตรภาพแล้ว ผู้อาวุโสท่านนี้ยังชื่นชอบการสนทนากับคนอื่นและมีเรื่องสนุกสนาน น่าตื่นเต้นเล่าให้ฟัง เป็นความสามารถที่สุริยา คำหว่าน ให้คำบรรยายไว้ว่า “ลุงเหนียน หรือลุงเหมียน มีพลังในการเล่าเรื่องมากครับ แกเล่าสลับไปมาข้ามตะเข็บชายแดนและลอดรัฐแบบที่เราต้องฟังอย่างจดจ่อ แกตบท้ายว่า แกเล่าได้ทั้งวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและสำทับเราอีกว่าขึ้นอยู่ที่ว่าพวกคุณจะมีแรงฟังไหม นอกจากนั้นแกยังโชว์ทักษะ ‘nói tiếng Việt’ (‘พูดภาษาเวียด’ ถ้าผมแปลไม่ผิด) ให้เราฟังอย่างได้อารมณ์”

คำถามที่ตามมาคือผมจะทำความเข้าใจความทรงจำเหล่านี้ของคนท้องถิ่นผู้นี้อย่างไร

นอกกรอบรัฐชาติ

ผมเดาว่าวัฒนาและสุริยาอาจสนใจท่าแขกในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ใหญ่กว่า กว้างกว่า เพราะต้องการเห็นและทำความเข้าใจ ‘ภาพรวม’ ของพัฒนาการของประเทศลาวสมัยใหม่ ส่วนผม ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ รู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวต่างๆ ที่ชายท้องถิ่นสูงวัยเล่า พร้อมกับจินตนาการไปตามคำบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คน ทั้งคนท้องถิ่นและผู้มาเยือน ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ระหว่างคนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมที่ต่างต้องเรียนรู้จากกันและกัน พยายามที่จะอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนกันเพื่อการทำมาหากินและความอยู่รอด รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของคนเหล่านี้ ความยากลำบาก การต่อสู้ดิ้นรน การสูญเสีย ความโศกเศร้า ความรัก การแต่งงานอยู่กินกัน

เรื่องราวของเมืองเล็กๆ ของชีวิตคนท้องถิ่น ที่ผมรับรู้นี้เป็นความทรงจำที่ไม่น่าจะอยู่ใน ‘กรอบการเล่าเรื่อง’ ของรัฐไทย ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้นำ ของวีรบุรุษผู้เสียสละ ไม่ใช่ของคนธรรมดาสามัญที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ได้สร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลายที่นักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผมต้องสนใจ

บอร์เดอร์แลนด์

ตัวผมเองมีความสนใจในเรื่องราว ความเป็นมาและชีวิตของผู้คนในบริเวณชายแดนของประเทศ เคยทำวิจัยและอาศัยอยู่ในเมืองชายแดนไทย-พม่านานถึงปีครึ่ง จนรู้จักมักคุ้นเคยกับชาวเมืองหลายครอบครัว บางคนก็อาจพูดได้ว่าเป็นมิตรสหายกัน ด้วยเหตุนี้ การฟังลุงเหมียนเล่าถึงประสบการณ์และความทรงจำในอดีตของแกจึงทำให้สงสัยว่าจะให้คำนิยามดินแดนริมน้ำโขงแห่งนี้ ที่ตั้งของนครพนมและอีกหลายเมือง ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น ‘ชายแดน’ ระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ว่าอะไร และทำไมจึงต้องฟังชาวบ้านอย่างลุงเหมียน เรื่องเล่าและความทรงจำของแกมีความสำคัญอย่างไร

เท่าที่ทราบ ในด้าน ‘ชายแดนศึกษา’ อาจเรียกบริเวณชายแดนของประเทศ หรือ ‘ขอบขัณฑสีมา’ ว่า ‘Borderlands’ ที่มีบางคนแปลว่า ‘พรมแดน’ แต่ผมไม่แน่ใจว่าคำนี้จะครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด เพราะในความเห็นของผม ‘บอร์เดอร์แลนด์’ หมายถึงบริเวณชายแดนของประเทศที่วัฒนธรรมของสองประเทศหรือมากกว่ามาประสบกันหรือทับซ้อนกัน เป็นที่ซึ่งผู้คนต่างภาษาต่างกลุ่มชาติพันธุ์มีปฏิสัมพันธ์กัน เกิดการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ รวมถึงการแต่งงาน/อยู่กินกัน ก่อให้เกิดลักษณะพิเศษบางประการ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของผู้คน ภาษา ขนบ ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ อาหาร ความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาหรือด้านอื่น ที่มีความเฉพาะเป็นของตนเอง แตกต่างจากวัฒนธรรมของสังคมที่ล้อมรอบอยู่ จนอาจกล่าวได้ว่าในบอร์เดอร์แลนด์แต่ละแห่งมี ‘วัฒนธรรมของบอร์เดอร์แลนด์’ ของบริเวณนั้นๆ ที่ไม่เหมือนกับที่อื่น

นอกจากนี้ เรื่องราวที่จะเขียนถึงนี้ยังทำให้ผมนึกถึงคำศัพท์อีกคำหนึ่ง นั่นคือ ‘Frontier’ ที่อาจนิยามว่าเป็นบริเวณที่อำนาจของรัฐที่ขนาบข้างอยู่มีอำนาจการเมืองที่เบาบาง ไม่อาจควบคุมได้อย่างเต็มที่ ในแง่หนึ่ง ฟรอนเทียร์จึงเป็นดินแดนที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ทั้งในด้านสังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และอาจรวมถึงการเมืองด้วย

สำหรับผม เมืองริมโขงอย่างนครพนมอยู่ในบอร์เดอร์แลนด์ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง ต่างจากที่อื่น และในอดีตก็มีลักษณะของการเป็นฟรอนเทียร์ที่อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐไทยที่ศูนย์กลางของอำนาจอยู่ในเมืองหลวงที่ห่างไกล การครอบงำทางการเมืองจึงเบาบาง ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการกำหนดชีวิตของผู้คน และไม่อาจควบคุมให้เป็นไปตามที่อำนาจรัฐส่วนกลางต้องการ ความทรงจำของคนท้องถิ่นจึงแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับศูนย์กลาง แต่กลับเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและกว้างไกลกว่าประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยต้องการให้จำ

สำหรับคนท้องถิ่นอย่างลุงเหมียน ความทรงจำของแกเกี่ยวข้องกับการต่อสู้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเข้ามาของทหารฝรั่งเศส วีรบุรุษลาว คนเวียดอพยพ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนลาวกับคนเวียด ชีวิตประจำวัน ความตาย ฯลฯ เป็นความทรงจำที่ไม่มีภาพของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของรัฐไทย ที่เป็นเสมือนภาพเบลอๆ ของสถานที่อันห่างไกลจากการรับรู้และความสนใจของแก

ลาว ดินแดนแห่งการแย่งชิง

เพราะมีความรู้งูๆ ปลาๆ เรื่องประเทศลาว ผมจึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดเพื่อนนักวิชาการทั้งสองของผมสนใจเมืองท่าแขก แต่พอได้อ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ 2-3 ชิ้น รวมถึงงานของสุริยา คำหว่าน ก็ช่วยให้ผมหูตาสว่างขึ้น เห็นภาพที่ซับซ้อนของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในอินโดจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้น รับรู้ถึงความพยายามของมหาอำนาจตะวันตกในการครอบครองดินแดนแห่งนี้ ในการสู้รบกับญี่ปุ่น ต่อรองกับผู้นำท้องถิ่นที่กำลังขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอย่างสูง ฯลฯ เป็นภาพของประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นและน่าแปลกใจ       

ในปี 1940 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลในอินโดจีน ฝรั่งเศสต้องเจรจายอมให้ญี่ปุ่นตั้งกำลังทหารในตังเกี๋ย บริเวณตอนเหนือของเวียดนาม ส่งผลให้ชาวเวียดนามผู้รักชาติทำการต่อต้านญี่ปุ่นและฝรั่งเศส และถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจสยบการต่อต้านได้ กลับทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่มีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน และการเกิดขึ้นของ ‘เหวียดมินห์’ หรือกองทัพประชาชนเวียดนาม ที่เป็นกองกำลังในการต่สู้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็เริ่มให้การสนับสนุนโฮจิมินห์อย่างลับๆ ในการต่อต้านญี่ปุ่น

ลาว ประเทศเล็กๆ ที่ดูไร้ความสำคัญ กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหารที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และฝรั่งเศสพยายามกลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีน อาณานิคมเดิมของตน แต่ถูกต่อต้านจากขบวนการกู้ชาติคนท้องถิ่นที่ต้องการเป็นอิสระจากการปกครองของฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

หลังจากนั้น ลาวก็กลายเป็นสนามรบแห่ง ‘สงครามลับ’ ของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งมุ่งหมายในการปราบปรามและกำจัดพรรคคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยในระหว่างปี 1964 ถึงปี 1973 เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดลงในประเทศลาวและภาคเหนือของเวียดนามมากกว่าสองล้านตัน และจำนวนมากยังไม่ระเบิดจนถึงทุกวันนี้ ประมาณการกันว่าระเบิดที่ทิ้งเหล่านี้มีปริมาณมากกว่าระเบิดที่ทิ้งในประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นรวมกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก และเมื่อคิดเปรียบเทียบต่อจำนวนประชากรในลาว ก็ทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดหนักและมากที่สุดในโลก!

การสู้รบที่ท่าแขก

การรบที่เมืองท่าแขกในเดือนมีนาคม ปี 1946 ที่ว่ากันว่าเป็นการรบที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เป็นหนึ่งในคำสัมภาษณ์ที่วัฒนาและสุริยาถามลุงเหมียน ซึ่งเล่าว่าเจ้าสุภานุวงศ์โดนยิงที่แขนจน ‘เกือบขาด’ และส่วนอื่นของร่างกาย แต่ไม่ตาย เพราะมีทหารนอนทับเอาตัวเองบังเจ้าสุภานุวงศ์ไว้ ตนจึงถูกยิงเสียชีวิต มีรอยกระสุนบนหลัง (สุริยาบอกผมว่าทหารผู้นั้นเป็นคนเวียด และเรื่องที่เจ้าสุภานุวงศ์ถูกยิงก็มักถูกบอกเล่ากันเสมอ)

เท่าที่ทราบ การรบครั้งนี้และวีรกรรมของเจ้าสุภานุวงศ์ปรากฏในเอกสารภาษาลาวและเวียด ในลักษณะยกย่องเชิดชูความเสียสละของวีรชนลาวและเวียดในการต่อสู้กับกองทัพฝรั่งเศส และงานเขียนของ สัญญา ชีวประเสริฐ[2] ที่ระบุว่า

ขณะที่กองกำลังของฝรั่งเศสรุกเข้ามาจากทางภาคใต้ เจ้าสุพานุวงนำกำลังมาป้องกันที่เมืองท่าแขก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นเส้นทางติดต่อกับกองทัพเวียดนาม และตัดสินใจต่อสู้อย่างเต็มที่ ผิดกับการต่อต้านฝรั่งเศสในที่อื่นๆ ซึ่งไม่มีการต่อต้านที่รุนแรงนัก เมื่อฝรั่งเศสเข้าโจมตีท่าแขกในวันที่ 21 มีนาคม 1946 จึงกลายเป็นจุดที่มีการรบรุนแรงที่สุดในการกลับเข้ามายึดครองลาวของฝรั่งเศส เจ้าสุพานุวงถูกยิงบาดเจ็บสาหัส ระหว่างลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังนครพนม ท้าวอุ่น ชะนะนิกรเล่าว่าขณะนั้นเจ้าสุพานุวงศ์คิดว่าตัวเองจะตาย ได้กล่าวฝากฝั่งท้าวอุ่นสืบทอดการต่อสู้เพื่อเอกราชต่อไป ท้าวอุ่น … เองนั้นมีความประทับใจในความรักชาติของเจ้าสุพานุวงมาก และไม่สงสัยในคำกล่าวหาที่ฝ่ายขวาบางกลุ่มวิจารณ์ว่าเจ้าสุพานุวงในเวลาต่อมาเห็นประโยชน์เวียดนามเป็นใหญ่ การรบที่ท่าแขกกลายเป็นวีรกรรมสำคัญของเจ้าสุพานุวงที่มักจะถูกกล่าวถึงในเวลาต่อมา

อันที่จริง หลังการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นและฝรั่งเศสเริ่มกลับเข้าสู่อินโดจีน สุริยา คำหว่าน ได้ชี้ให้เห็นว่ามีรายงานระบุว่าเกิดการปะทะกันระหว่างขบวนการกู้ชาติ กองกำลังผสมเวียดนาม-ลาว กับทหารฝรั่งเศสในหลายพื้นที่ของประเทศลาวมาตั้งแต่ปลายปี 1945 และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1946 กองกำลังฝรั่งเศสได้เริ่มปฏิบัติการทางทหาร โดยการจัดส่งกำลังพล รถถัง และเครื่องบินจากกรุงไซง่อนเข้าไปเสริมกำลังในลาวใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบุกโจมตีขึ้นไปยึดครองพื้นที่เหนือของเส้นขนานที่ 16 โดยเริ่มต้นที่เมืองสะหวันเขต ในขณะที่กองกำลังผสมลาว-เวียดนามก็ได้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านยุทธวิธีและกำลังพลเพื่อป้องกันเมืองสะหวันเขต

อย่างไรก็ตาม หลังจากการสู้รบได้ดำเนินไปในระยะเวลาสามวัน ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1946 กองกำลังผสมฯ ก็ตัดสินใจอพยพชาวเวียดนามและลาว รวมทั้งถอนกำลังออกจากเมืองสะหวันเขต เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการสูญเสีย ในคืนเดียวกันนั้น ชาวเวียดนามและชาวลาวจำนวนมากได้อพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อลี้ภัยสงครามไปยังเมืองมุกดาหาร หลังจากนั้นอีกสามวัน ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1946 กองกำลังผสมเวียดนาม-ลาวก็ถอนตัวออกจากเมืองสะหวันเขตเพื่อนำกำลังที่เหลืออยู่ไปสมทบกับกองกำาลังผสมลาว-เวียดนามที่เมืองท่าแขก แต่หลังจากนั้น เมืองสะหวันเขตก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส

ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสได้เริ่มเปิดฉากโจมตีเมืองท่าแขก เอกสารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามระบุว่า สหายแกนนำที่รับผิดชอบการบัญชาการที่เมืองท่าแขกนั้นประมาทเลินเล่อและเชื่อมั่นในศักยภาพของกองกำลังผสมลาว-เวียดนามมากจนเกินไป จึงมิได้ดำเนินการอพยพชาวเวียดนามในเมืองท่าแขกให้ข้ามไปลี้ภัยยังเมืองนครพนมก่อนที่กองทหารฝรั่งเศสจะจู่โจมเข้ามา นอกจากนั้น ชาวเวียดนามบางคนที่ได้อพยพข้ามไปยังเมืองนครพนมแล้วก็ยังหวนกลับคืนมาเมืองท่าแขก เนื่องจากชะล่าใจและเป็นห่วงบ้านช่อง รวมถึงทรัพย์สินของตนเอง สำหรับกำลังทหารลาว-เวียดนามก็ยังคงประจำการในที่ตั้ง แทนที่จะเตรียมความพร้อมในพื้นที่เพื่อรับมือกับการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองกำลังฝรั่งเศส

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 เมื่อฝรั่งเศสเปิดฉากโจมตีเมืองท่าแขกด้วยกองทหารราบ รถถัง และเครื่องบิน โดยที่กองกาลังผสมลาว-เวียดนามไม่สามารถต้านทานกองกำลังที่มีความพร้อมและศักยภาพที่เหนือกว่า จึงส่งผลให้เมืองท่าแขกต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศสภายในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 ทั้งนี้ ชาวบ้านนับพันคนที่หนีตายจากสงครามกลางเมืองลงไปยังแม่น้ำโขง เพื่อข้ามไปยังฝั่งไทยยังถูกโจมตีด้วยระเบิดและกระสุนปืนจนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กองกำลังผสมลาว-เวียดนามได้รับความเสียหายจากการโจมตีอย่างหนัก

นอกจากนั้น เจ้าสุภานุวงศ์ ผู้บัญชาการรบฝ่ายลาวที่เมืองท่าแขก ได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไปขึ้นฝั่งที่เมืองนครพนม ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ จากนั้น ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เมืองเวียงจันทน์ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส ชาวเวียดนามอีกจำนวนมากจากเมืองเวียงจันทน์ได้อพยพมายังเมืองหนองคาย[3]

เจ้าชายแดง

คำว่า ‘The Red Prince’ ก็เป็นสมญานามของเจ้าสุภานุวงศ์ที่สื่อต่างชาติตั้งให้ เพราะพระองค์มีความคิดเห็นทางการเมืองโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้าย และให้ความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม พระองค์ประสูติที่นครหลวงพระบาง เป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ล้านช้างหลวงพระบาง ได้รับการศึกษาในหลวงพระบางและฮานอย เวียดนาม และสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาในระดับปริญญาตรีจากฝรั่งเศส เคยใช้ชีวิตและทำงานด้านวิศวกรรมโยธาในเวียดนาม ได้พบรักกับสาวเวียดที่ต่อมากลายเป็นภรรยาของพระองค์ เล่ากันว่าเจ้าสุภานุวงศ์สามารถพูดได้ถึงแปดภาษา รวมทั้งภาษากรีกและลาติน

หลังจากที่ได้รับการทาบทามจากโฮจิมินห์ให้เป็นหนึ่งในแกนนำในการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสบนผืนแผ่นดินลาว พระองค์เดินทางกลับสู่ประเทศลาวในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 ถึงแม้ว่าจะถูกจับจ้องจากชนชั้นนำลาวด้วยความหวาดระแวง เนื่องจากพระองค์อาศัยอยู่ภายนอกประเทศเป็นระยะเวลายาวนานถึง 16 ปี อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเวียดมินต์ ซึ่งเป็นกองกำลังของชาวต่างชาติที่ยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ด้วย กระนั้น ในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1945 พระองค์ก็สามารถเจรจากับ ท้าวอุ่น ชนะนิกร นักการเมืองลาวที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายเสรีไทย เพื่อจัดตั้งกองกำลังปลดปล่อยและป้องกันลาว (Army for the Liberation and Defence of Laos) ได้สำเร็จ อีกทั้งสามารถประณีประนอมและสร้างความร่วมมือกับเจ้าเพชรราช เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเอกราชของชาวลาว (Laotian Independence Committee) ได้สำเร็จในช่วงเวลาเดียวกัน จากนั้น ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1945 แกนนำกลุ่มชาตินิยมลาวภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายเวียดมินต์ก็ได้ทำการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของฝ่ายลาวอิสระ ทำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศลาว[4]

หลังจากที่ลาวประกาศอิสรภาพและเปลี่ยนการปกครองจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐใน พ.ศ. 2518 พระองค์ได้รับเลือกให้เป็นประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี คนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

แกวกอง

การโจมตีท่าแขกของกองกำลังฝรั่งเศสทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ลุงเหมียนเล่าว่ามีศพมากมายลอยอยู่ในแม่น้ำโขง น้ำกลายเป็นสีแดงเพราะเลือด ศพเหล่านี้ลอยมาทางเมืองนครพนม เกยตื้นทับถมกันบนตลิ่งจนบริเวณนั้นถูกเรียกว่า ‘แกวกอง’ อันหมายถึงศพคนเวียดที่ลอยน้ำมากองกัน มีทั้งศพผู้หญิงและชาย ผู้ใหญ่ เด็กและคนสูงอายุ แกยังบอกอีกว่าคนเหล่านี้พยายามว่ายข้ามแม่น้ำหนีการโจมตีมาฝั่งไทย แต่ก็ไม่รอดชีวิต

คำบอกเล่าของลุงเหมียนได้รับการยืนยันจากบันทึกหลายฉบับ ที่กล่าวถึงความทรงจำของคนเวียดอพยพถึงเหตุการณ์ที่ทำให้พวกตนต้องลี้ภัยสงครามมาอยู่ในประเทศไทย เช่น ปากคำของเวืองดิ่งจิ๋ง (Vương Đình Chính) ผู้เกิดในเวียดนามแต่อพยพมาอาศัยอยู่ในลาวในปี 1934 ที่เล่าว่าในคืนวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1946 แม่ พี่สาวและน้องชายของตนได้หลบหนีข้ามฝั่งโขงไปยังเมืองนครพนมด้วยเรือหางยาว เช้าวันต่อมา ในขณะที่ตนและคุณพ่อกาลังขายผักอยู่ที่ตลาด ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาจากทั่วสารทิศ หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดลงที่กลางตลาดเมืองท่าแขก บ้านช่องหลายหลังถูกระเบิดพังเสียหายยับเยิน ผู้คนส่วนใหญ่วิ่งหนีความตายไปยังริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อหาหนทางข้ามไปยังเมืองนครพนม เรือของคนไทยและเวียดจำนวนมากจากฝั่งไทยเข้าเทียบท่าฝั่งลาวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กาลังหาหนทางหนีไปยังเมืองนครพนม ผู้คนต่างอยู่ในสภาวะสับสันอลหม่าน บ้างก็กระโดดขึ้นเรือเพื่อเอาชีวิตรอด บางคนเมื่อเห็นว่าจวนตัวก็กระโดดลงไปในแม่น้ำ แต่ถูกกราดยิงมาจากบนฝั่งโขงจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังจากหลบซ่อนตัวอยู่จนถึงกลางคืน ตนและพ่อได้อาศัยต้นกล้วยที่มัดรวมกันไว้ เกาะเกี่ยว/พยุงตัวลอยข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองนครพนม อีก 2–3 วันต่อมา มีซากศพคนเวียดลอยมาเกยตื้นที่หาดทรายท้ายเมืองนครพนมเป็นจำนวนมาก คนไทยและเวียดจึงช่วยกันนำเอาซากศพของผู้โชคร้ายเหล่านี้ไปฝังไว้ในป่าที่อยู่ใกล้เคียงกับริมน้ำโขง

พยานอีกผู้หนึ่งเป็นหญิงเวียดชื่อ เตริ่นเล (Trần Lê) เกิดในจังหวัดกวางตรี เวียดนาม แล้วอพยพตามแม่ของตนไปทำงานในเหมืองแร่บ่อแหนงตั้งแต่วัยเยาว์ เปิดเผยว่าคนเวียดที่อาศัยอยู่ในเหมืองแร่ต่างรู้สึกหวาดกลัวถึงการกลับคืนสู่อำนาจของฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ บางครอบครัวจึงว่าจ้างเกวียนเทียมวัวเพื่อขนย้ายสิ่งของหลบหนีไปอาศัยในพื้นที่อื่น บางครอบครัวได้ทิ้งบ้านเรือนและหอบหิ้วเอาสิ่งของเท่าที่จำเป็นเพื่อเดินเท้าจากเหมืองแร่เข้าไปยังเมืองท่าแขก ครอบครัวของตนเดินเท้าออกมาจากเหมืองแร่เช่นกัน ระหว่างทาง ตนพบเห็นซากศพของชาวเวียดจำนวนหนึ่งที่ถูกสังหารและปล้นทรัพย์ แต่ครอบครัวของตนโชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากทหารฝ่ายลาวรักชาติ ที่อนุญาติให้ขึ้นรถทหารและนำไปส่งยังเมืองท่าแขก

ในระหว่างที่พักอาศัยอยู่ที่ท่าแขก แม่ของตนได้ทำอาหารไปจำหน่ายที่ตลาดท่าแขก เวลา 9 โมงของเช้าวันที่ 21 มีนาคม เครื่องบินของฝรั่งเศสได้มาทิ้งระเบิดที่ตลาดเมืองท่าแขก ขณะที่ผู้คนวิ่งหนีตายกันด้วยความอลหม่านนั้น พวกทหารฝรั่งเศสยังได้กราดยิงเรือที่ข้ามมารับชาวลาวและเวียดอีกด้วย เรือหลายลำโดนยิงจมลงในแม่น้ำโขง ผู้คนล้มตายลงดุจใบไม้ร่วง ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ชาวบ้านหลายคนถูกทหารฝรั่งเศสจับมัดมือแล้วบังคับให้ยืนเรียงแถวแล้วใช้อาวุธปืนกราดยิงจนร่างที่ไร้วิญญานร่วงหล่นลงสู่ท้องแม่น้ำโขง แต่ครอบครัวของตนสามารถหลบหนีและเอาชีวิตรอดมาขึ้นฝั่งที่เมืองนครพนม

หญิงเวียดอีกผู้หนึ่งมีนามว่า หวูถิหวิง (Vũ Thị Vĩnh) ได้กล่าวว่าในวันที่ฝรั่งเศสโจมตีเมืองท่าแขก ตนกำลังนั่งขายผักที่ตลาด เมื่อระเบิดถูกทิ้งลงมาที่ตลาด ตนวิ่งเข้าไปหลบที่ร้านขายเนื้อที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง หลังจากนั้น ตนวิ่งกลับไปที่บ้านเพื่ออุ้มลูกชายคนโต แล้ววิ่งหนีไปยังริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ทหารเวียดนามได้จัดสรรให้เด็ก คนชรา และคนที่มีลูกข้ามไปก่อน “พวกเรายังคงได้ยินเสียงปืน และเสียงระเบิดไล่ตามหลังมาเป็นระยะ เรือบางลำถูกกระสุนปืน ถูกระเบิดลุกไหม้กลางแม่น้ำโขง ผู้คนล้มตายจำนวนมาก เมื่อข้ามมาถึงฝั่งนครพนม พวกพี่น้องชาวเวียดนามและชาวไทยก็ได้ให้การช่วยเหลือทางด้านที่พักอาศัยเป็นอย่างดี”

พยานอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสหายในขบวนการกู้ชาติ เล่าว่าเมื่อมองจากฝั่งไทยจะเห็นว่าเมืองท่าแขกนั้นตกอยู่ภายใต้ม่านหมอกของควันปืนและเจือเคล้าด้วยเสียงเครื่องบินที่กำลังแหวกอากาศอยู่เหนือท้องฟ้าเมืองท่าแขก ประชาชนในเมืองท่าแขกจำนวนมากวิ่งหนีออกมายังริมฝั่งโขง พี่น้องประชาชนที่หนีตายจากเมืองท่าแขกเริ่มทะยอยขึ้นฝั่งที่เมืองนครพนม พวกเขาล้วนแต่หนีเอาตัวรอดมาด้วยความฉุกละหุก ดังนั้น แต่ละคนจึงล้วนแต่เดินขึ้นฝั่งมาด้วยมือเปล่าตีนเปลือย ภายในชั่วระยะเวลาสั้นๆ เมืองนครพนมเริ่มแออัดมากยิ่งขึ้น ผู้อพยพที่ทยอยเข้ามาใหม่เริ่มขาดแคลนที่พักอาศัย ในช่วงเวลาบ่าย ผู้อพยพยังคงทะยอยขึ้นฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ สมาชิกในขบวนการเหวียดเกี่ยวกู้ชาติต่างก็ตกอยู่ในสภาวะสับสนอลหม่าน เนื่องจากมิได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นอย่างกระทันหันเช่นนี้[5]

แม้ว่าจะมีพยานยืนยันถึงความโหดร้ายของกองกำลังฝรั่งเศสที่สังหารผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ฝรั่งเศสกลับปฏิเสธ โดยยืนยันว่าในการโจมตีท่าแขก “ทหารฝรั่งเศสสามารถนับจำนวนผู้เสียชีวิตในตัวเมืองท่าแขกได้เพียงประมาณ 250 ศพ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในแม่น้ำโขงก็มีอีกประมาณ 100 คนเท่านั้น”[6]

ทว่า ไม่ว่าอดีตมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสจะปฏิเสธปฏิบัติการทางทหารอันรุนแรงและเลือดเย็นของตนอย่างไร ก็ไม่อาจลบเลือน/กลบฝังความทรงจำของคนท้องถิ่นจำนวนมหาศาลที่รอดชีวิตจากภัยสงครามมาได้ และเป็นคำบอกเล่าที่นักวิชาการ เช่น วัฒนาและสุริยา ต้องการค้นคว้า ศึกษาและบันทึกไว้ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้รับรู้

ชีวิตผู้ลี้ภัยสงคราม

แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่คนเวียดหนีภัยสงครามในนครพนมก็ยังต้องประสบปัญหาอีกนานัปการ ต้องปากกัดตีนถีบ ทำงานหนัก เป็นวิถีชีวิตที่ยากลำบาก บางคน โดยเฉพาะพวกผู้หญิง ก็ถูกทำร้าย ทว่า ชีวิตมิได้เลวร้ายแบบขาวกับดำ มีแต่ความเศร้าโศกทุกข์ยากตลอดเวลา เพราะมีความเอื้อเฟื้อและความช่วยเหลือจุนเจือจากคนท้องถิ่นและคนเวียดที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ลี้ภัยเหล่านี้กับคนท้องถิ่นจึงมีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน มีการแลกเปลี่ยนที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

ลุงเหมียนเล่าว่าในหมู่บ้านของแก มีคนเวียดอพยพจากท่าแขกจำนวนมากอาศัยอยู่ตามใต้ถุนบ้านของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่พูดภาษาลาว/อีสาน – ปรกติบ้านเรือนจะยกพื้นสูง จึงมีพื้นที่พออยู่อาศัยได้ – โดยคนเวียดจะเอาไม้ไผ่มาทำเป็นฝาผนัง ก่อทับพื้นผนังด้วยดินให้มีความมั่นคง และทำแคร่ไม้ไผ่เป็นที่นั่งและนอน

คนเวียดเป็นคนขยัน ตื่นแต่เช้าเพื่อทำงาน หนักเอาเบาสู้ ทำงานรับจ้างทุกประเภท ทั้งในสวน ในนา และงานประเภทอื่น เช่น ตีเหล็ก ฯลฯ ถ้าไม่มีใครจ้างทำงานก็จะตัดใบตอง นำไปขายที่ตลาด (สุริยา คำหว่านอธิบายว่าชาวบ้านใช้ใบตองห่อทำขนม หมูยอ และอาหารชนิดอื่น) บางคนก็ ‘สีแป้ง’ (โม่แป้ง) เพื่อทำขนมจีนขาย ลุงเหมียนยังพาดพิงถึงเพื่อนคนเวียดอพยพจากท่าแขกที่ไปทำมาหากินในจังหวัดอื่น ผ่านไปหลายปีประสบความสำเร็จ มีเงินมีทอง แล้วกลับมาอยู่ที่นครพนม และเล่าถึงผู้ชายเวียดบางคนที่ชอบทำร้ายลูกเมีย

ทว่า ชีวิตของคนเวียดเหล่านี้ก็มิได้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ และคนท้องถิ่นก็มิได้เป็นคนโอบอ้อมอารีทุกคน ลุงเหมียนเล่าถึง ‘คนบ่ดี’ (ตามคำพูดของแก) พาดพิงถึงผู้ชายท้องถิ่นบางคนที่ไป ‘กุม’ หรือ ‘ฉุด’ ผู้หญิงเวียดไปข่มเหง/ขืนใจ แต่ภายหลังก็ถูกจับกุมไปลงโทษ

สำหรับผม เรื่องเล่าของลุงเหมียนเกี่ยวกับชีวิตของคนเวียดลี้ภัยสงครามในสมัยนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และที่สำคัญกว่านั้นคือมีความน่าเชื่อถือมากทีเดียว เพราะสาระและเรื่องราวต่างๆ ไม่ต่างจากงานเขียนของสุริยา คำหว่าน ที่มีเนื้อหาค่อนข้างละเอียด ซึ่งในด้านหนึ่ง ช่วยให้เราเห็นภาพความยากลำบากในการดำรงชีวิตและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนเหล่านี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้เข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพชาวเวียดกับคนท้องถิ่นและคนเวียดที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ที่สะท้อนถึงความเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือที่มีต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์

สุริยาบรรยายไว้ว่าคนเวียดอพยพเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากชาวเมืองนครพนมและคนเวียดอพยพที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว โดยมีคำบอกเล่าของสมาชิกองค์กรชาตินิยมของชาวเวียดนามผู้หนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนมในช่วงเวลาดังกล่าว เปิดเผยว่า “พวกเราคาดไม่ถึงว่าพี่น้องชาวนครพนมจะมีจิตใจที่สูงส่งเยี่ยงนี้ แต่ละครอบครัวได้ช่วยแบ่งปันข้าวสาร เงินทอง และเชื้อเชิญให้ผู้อพยพไปพักอาศัยที่บ้านของตน บางคนยังได้แบ่งปันข้าวสาร เงินทอง และของใช้ในบ้านเพื่อมอบให้แก่กองทุนช่วยเหลือเกี่ยวบ่าวอพยพจากเมืองท่าแขก” อย่างไรก็ตาม การที่หัวเมืองชายแดนขนาดเล็กเช่นเมืองนครพนมต้องแบกรับผู้อพยพจำนวนมากในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ย่อมส่งผลให้ผู้อพยพที่ส่วนใหญ่ที่หนีความตายมาด้วยมือเปล่า ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนเวียดที่หนีภัยสงครามจากท่าแขกผู้หนึ่งกล่าวว่า “ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาได้รับการช่วยเหลือจากชาวไทยและชาวเวียดนามรุ่นก่อน ส่วนมาก [พวกเรา] จะอยู่ในบ้าน ใต้ถุนบ้าน หรือในวัดเป็นระยะเวลา 3–4 เดือน หรือเป็นปีๆ” สำหรับอาหารการกินและเครื่องใช้อื่นๆ นั้น “ในช่วงที่ยังอยู่ในความโศกเศร้าและไม่สามารถทำมาหากินได้ก็ได้รับการแบ่งปันจากชาวไทยที่ได้นำอาหาร เสื้อผ้า เสื่อ ผ้าห่ม ถ้วย และหม้อมาให้ใช้ อาหารที่ได้รับมาจะเป็นข้าวเหนียว ปลาทูปิ้ง และน้ำสะอาด”

ในขณะที่คนเวียดที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่คนเวียดอพยพหน้าใหม่ในหลายด้าน เช่น การทำมาหากิน ดังปรากฏในปากคำของผู้มาใหม่ว่า “พวกผมยืมไร่นา เมล็ดพืช มีด จอบ เสียม และเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ปลูกผัก ข้าว มันเทศ ข้าวโพด ฯลฯ เพื่อสร้างชีวิตไปสู่ [ความ] ปกติ” แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้มาใหม่เหล่านี้ “ต้องอดกลั้นกับความเจ็บปวดและความเสียหาย คอยฟังข่าวคราวของประเทศชาติ [ที่] เพิ่งได้รับเอกราชและเสถียรภาพ ตอนกลางวันไปทำสวน ทำนา ตกกลางคืนก็มาคุยกัน เล่าข่าวสารในเวียดนามว่าเป็นอย่างไร ข่าวประธานโฮจิมินห์ไปประชุมที่ฝรั่งเศส ข่าวการสู้รบในเวียดนาม”

หญิงเวียดที่ชื่อ เตริ่นเล ได้เล่าว่า “ครอบครัวของฉันได้รับความช่วยเหลือจากคนไทย และคนเวียดนามรุ่นเก่าให้ไปอาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านของชาวไทยคนหนึ่งที่บ้านหนองบึก เขาเป็นคนที่นับถือศาสนาคริสต์ ครอบครัวเขาดีมาก หลังจากนั้น สัตวแพทย์คนหนึ่งก็ได้ให้พวกเราไปอาศัยอยู่ที่บ้านของเขาที่หนองญาติ” ส่วนเรื่องอาหารการกิน “พวกเราปลูกผัก ปลูกมันเทศในสวนหลังบ้าน กินข้าวกับใบมันเทศอ่อนลวก ผักต้ม และปลาทูเค็ม ต้องเอากะลามะพร้าวมาทำเป็นถ้วยกินข้าวอยู่ระยะหนึ่ง”

เธอยังพาดพิงถึง “ท่านปรีดี พนมยงค์ให้พวกเราถางป่าที่ภูกระแตเพื่อแบ่งพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชผักเพื่อประทังชีวิต มีการปลูกข้าวในสวนด้วย แต่พวกวัวควายเข้ามากินจนหมด”

นอกจากนี้ เธอยังมีโอกาสออกไปทำงานในพื้นที่อื่น โดยกล่าวว่า “ที่กาฬสินธุ์เขารับคนงานไปก่อสร้างถนน พวกเราแม่ลูกก็ไปสมัครทำงานด้วย งานส่วนใหญ่คือขุดดิน ขนดิน และทำถนน” เมื่องานที่กาฬสินธุ์แล้วเสร็จก็กลับมาอยู่ที่เมืองนครพนม หลังจากนั้นครอบครัวก็เริ่มเปลี่ยนอาชีพไปเป็นการค้าขาย “พวกเราไปซื้อของในเมืองไปขายตามหมู่บ้าน โดยเอาสิ่งของไปแลกกับข้าว ทำได้ประมาณ 3–4 ปี ก็เลิกทำ จากนั้นก็เปลี่ยนไปรับซื้อข้าวเปลือก นำมาสีด้วยมือ และนำไปขายที่ตลาดวันละประมาณสามหมื่น (30 กิโลกรัม) ต้องเดินเท้าจากบ้านดอนโมงไปที่ตลาด ทำแบบนี้ทุกวันจนเลี้ยงลูกเติบโต”

สุริยาให้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่าคนเวียดอพยพ/ลี้ภัยเหล่านี้มีลักษณะที่คล้ายกันบางประการ กล่าวคือมักเริ่มทำมาหากินด้วยการเผาถ่านขาย รับจ้าง หรือรับจ้างทำถนน หลังจากนั้นก็อาจเปลี่ยนไปทำเส้นหมี่และใบเมี่ยงขาย เมื่อมีรายได้มากขึ้นจะสร้างบ้านหลังเล็กๆ หลังคามุงด้วยหญ้า พื้นเป็นดิน ฝาผนังทำด้วยไม้ไผ่ ดินผสมแกลบและฟางข้าว นอกจากนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจอพยพไปเสี่ยงโชคในอำเภออื่นๆ ในนครพนม หรือจังหวัดใกล้เคียง[7]

บอร์เดอร์แลนด์กับความทรงจำเฉพาะตน

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของคนเวียดอพยพ/หนีภัยสงครามจากเมืองท่าแขก ที่เล่าผ่านความทรงคำของลุงเหมียนและคนเวียดอีกหลายคนที่ปรากฏในงานเขียนของสุริยา คำหว่าน สะท้อนถึงลักษณะเฉพาะหลายประการของผู้คนริมลำน้ำโขง ซึ่งเป็นบริเวณชายแดนของประเทศไทยและ สปป.ลาว ที่ๆ ตามการนิยามของคำว่า ‘บอร์แดนแลนด์’ หมายถึงดินแดนที่ต่างวัฒนธรรมมาประสบกันหรือทับซ้อนกัน และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาสร้างความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ เกิดพัฒนาการที่ในเวลาต่อมากลายเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาษา อาหาร ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ ความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา การแต่งงาน ฯลฯ

นอกจากนี้ เรื่องเล่าที่ปรากฏในที่นี้ยังสะท้อนให้เห็นถึง ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ที่มีความเฉพาะ เป็นประสบการณ์ของผู้คนที่เกิดจากสงคราม การฆ่าฟัน ความโหดร้ายและการใช้ความรุนแรงของผู้มีอำนาจ ความสูญเสีย ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาณ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นประสบการณ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพ/ลี้ภัยกับคนท้องถิ่น ที่เผยให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกัน การให้ความช่วยเหลือ ความเห็นอกเห็นใจ และความมีน้ำใจต่อผู้อื่น ประสบการณ์เหล่านี้ก่อตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ประสบการณ์เฉพาะ’ ของชีวิตในบริเวณบอร์แดนแลนด์ริมโขงแห่งนี้ ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีความเฉพาะ พิเศษ ไม่เหมือนใคร และทำให้นักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผมรู้สึกตื่นเต้น สนใจ อยากรู้ ต้องการทำความเข้าใจ

อาจมีผู้โต้แย้งว่าในปัจจุบัน บริเวณริมโขงแห่งนี้ถูก ‘บูรณาการ’ ให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย และของอำนาจรัฐส่วนกลางไปแล้ว แต่ผมก็อยากยืนยันว่าดินแดนแห่งนี้ยังมี ‘ความทรงจำของตนเอง’ จากประสบการณ์เฉพาะของบอร์เดอร์แลนด์ริมโขง เป็นความทรงจำที่ก่อตัวและมีพัฒนาการมาจากประสบการณ์ชีวิตของผู้คนริมโขงที่มีต่อความตาย ความปวดร้าว ความทุกข์ยากลำบาก การดิ้นรน ความเห็นอกเห็นใจ มิตรภาพ และความรักต่อเพื่อนมนุษย์

และเป็นความทรงจำของชาวบ้าน คนธรรมดาสามัญ ที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่สนใจ


[1] ผมขอขอบคุณ ดร. สุริยา คำหว่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เวียดนาม หัวหน้าสาขาวิชาภาษาเวียดนาม สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นพิเศษ ที่หอบหิ้วผมออกทำงานวิจัยภาคสนาม รู้จักและพูดคยกับคนท้องถิ่น นอกจากช่วยให้ผมได้เปิดหูเปิดตา มีความรู้หลายเรื่องแล้ว ยังทำให้รู้จักชีวิตของผู้คนในชุมชนนอกเมืองนครพนม และได้ชมทิวทัศน์ทางธรรมชาติอันงดงามด้วย

[2] สัญญา ชีวประเสริฐ, “บทบาททางการเมืองของเจ้าสุพานุวง (ค.ศ. 1945-1975)”, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2541

[3] สุริยา คำหว่าน, “การสร้างชาตินิยมเชิงพันธะสัญญา: กรณีศึกษาชุมชนเหวียดเกี่ยวในนครพนม”, วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร มิถุนายน 2562, น. 88-89

[4] อ้างแล้ว, น. 85

[5] อ้างแล้ว, น. 89-91

[6] อ้างแล้ว, น. 94

[7] อ้างแล้ว, น. 95-97

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save