fbpx

‘ไร้สัญชาติ จึงไร้ความมั่นคง’ ชีวิตเปราะบางของเด็ก-ครอบครัวข้ามชาติในแม่สอด กลางวิกฤตโควิดและรัฐประหารพม่า

“ต้องดูแลน้องและหลาน”
การจำยอมละทิ้งความฝันเพื่อครอบครัว เมื่อความพลิกผันมาเยือ

“ตอนนั้นหนูสอบจบ ม.4 ไม่ผ่าน เลยต้องเรียนเพิ่มหนึ่งปี แต่ก็มาเจอโควิดกับรัฐประหาร (2021) ก่อน โรงเรียนในพม่าเลยปิด ทำให้หนูยังไม่ได้สอบใหม่อีกรอบหนึ่ง เลยต้องหยุดเรียนไปตั้งแต่ตอนนั้น”

ซู (นามสมมติ) สาววัย 20 ปี จากเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เล่าให้เราฟังถึงสถานะการศึกษาของเธอที่เป็นอันต้องหยุดชะงักจากผลพวงของสองวิกฤตที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในประเทศต้นทาง และเป็นเหตุให้เธอต้องข้ามพรมแดนมาอาศัยเช่าห้องแถวเล็กๆ ในพื้นที่ตัวเมืองของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่ปี 2020 ที่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ แต่กระนั้น ภายใต้ระยะเวลา 3 ปีบนแผ่นดินไทย เธอก็ยังไม่มีโอกาสได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

“จริงๆ ในไทย เราสามารถใช้วิธีสอบ GED[1] เอาได้ แต่ก็ไม่ได้อยากเรียนแล้ว เพราะต้องดูแลหลานที่นี่” ซูเล่า

“ตอนนี้โรงเรียนที่ฝั่งพม่าก็เปิดแล้ว อยากจะกลับก็กลับได้ แต่ก็ไม่อยากกลับ เพราะยังอยู่ในช่วงรัฐประหาร บวกกับต้องดูแลหลานที่นี่ด้วย” ซูเล่าต่อ

ไม่ว่าจะพูดถึงทางออกใดก็แล้วแต่ ประโยคที่ว่า “ต้องดูแลหลาน” ออกมาจากปากของซูบ่อยครั้งตลอดการพูดคุย ตอกย้ำว่าสิ่งนี้เป็นเหตุหลักที่รั้งเธอไม่ให้เดินหน้าเส้นทางการศึกษาของตัวเอง

หลานที่ซูว่านี้คือเด็กหนุ่มและเด็กสาวสองคนฝาแฝดในวัย 12 ขวบที่วิ่งเล่นไปมาในบ้านระหว่างที่ซูนั่งพูดคุยกับเรา เด็กทั้งสองคนนี้คือลูกของน้าสาวแท้ๆ ของซู ที่ต้องเจอปัญหาการเรียนหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 ในฝั่งพม่า ที่ทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวลงและไม่ได้มีการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามาทดแทนด้วยปัญหาการขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ น้าของซูจึงตัดสินใจส่งลูกของตัวเองข้ามมาเข้าโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ฝั่งแม่สอด แต่เนื่องจากน้าของซูมีกิจการร้านอาหารที่ต้องดูแลในเมืองเมียวดี จึงต้องขอให้หลานสาวอย่างซู ที่ยังเรียนต่อไม่ได้และไม่มีงานทำ ข้ามมาช่วยดูแลหลานที่ฝั่งไทย

ภาระหน้าที่ของซูไม่ใช่แค่หลานฝาแฝดคู่นี้เท่านั้น แต่ซูยังต้องดูแลเด็กอีกสองคนไปพร้อมกัน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือน้องแท้ๆ ของเธอเองอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นน้องชายอายุ 12 ขวบ และอีกคนเป็นน้องสาวคนเล็กอายุ 8 ขวบ โดยแม่ของซูตัดสินในส่งลูกของเธอทั้ง 2 คนข้ามมาไทยพร้อมกับซู เพื่อให้ซูช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูของตน ขณะที่ตนมีภาระหน้าที่ต้องช่วยกิจการร้านอาหารของน้องสาวที่ฝั่งเมียวดี ซึ่งก็คือร้านของน้าคนที่ฝากลูกให้ซูดูแล รวมทั้งเพื่อให้ลูกคนเล็กทั้งสองมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ฝั่งไทย หลังจากที่การศึกษาฝั่งพม่าต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด-19

แต่การพาน้องชายและน้องสาวเข้าโรงเรียนไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างหลาน เพราะหลานของซูมีพ่อเป็นคนสัญชาติไทย ทำให้สามารถสมัครเข้าโรงเรียนเอกชนในแม่สอดได้ไม่ยากนัก ขณะที่น้องๆ ของซูไม่ใช่อย่างนั้น พวกเขาไม่ได้มีเอกสารรับรองสถานะใดๆ ในไทย บวกกับการเข้ามาไทยในเวลาที่เหมาะเจาะ เพราะเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดภาคการศึกษาไปแล้ว ทำให้ซูต้องรอสมัครเรียนให้น้องในภาคการศึกษาถัดไป โดยระหว่างที่น้องๆ ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซูต้องรับบทคุณครูจำเป็นสอนหนังสือน้องๆ อยู่บ้านด้วยตัวเอง โดยได้สอนแค่วิชาภาษาอังกฤษ เพื่อให้พออ่านออกเขียนได้

สำหรับเด็กที่อายุเพิ่งย่างเข้า 20 ยังเรียนต่อระดับสูงไม่ได้ และยังไม่สามารถหางานทำเป็นหลักแหล่งได้อย่างซู การต้องเลี้ยงดูเด็กถึง 4 คน ดูเป็นงานที่ใหญ่หลวง แม้ว่าน้าและแม่ของเธอจะทยอยส่งเงินมาให้ซูใช้เลี้ยงดูน้องและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ซูก็ต้องดิ้นรนหารายได้เองด้วยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็พอช่วยจุนเจือเธอและน้องๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้น

“ตอนนี้อยู่ที่นี่ดีกว่าอยู่พม่า เราขายของแถวๆ นี้ได้ แถวนี้มีโรงเรียน แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาขายของออนไลน์ ถ้าเป็นช่วงโควิด ก็ขายไม่ค่อยดี ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นนิดหน่อย แต่โดยรวมก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่” ซูเล่า

นอกจากน้อง 2 คน และหลาน 2 คนนี้แล้ว อันที่จริงซูยังมีน้องแท้ๆ อีกสองคน คนหนึ่งเป็นน้องชายอายุ 16 ปี และอีกคนเป็นน้องสาวอายุ 14 ปี ด้วยความที่ทั้งสองคนนี้โตพอดูแลตัวเองและพอช่วยเหลืองานของครอบครัวได้ จึงอยู่กับแม่ที่ฝั่งเมียวดี และในระยะหลัง น้องชายอายุ 16 ปี ได้เริ่มไปอยู่กับพ่อ ซึ่งได้แยกทางกับแม่ ไปอยู่กับพี่ชายของตนที่อีกเมืองหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยง โดยน้องชายของซูคนนี้ได้ไปช่วยลุงของเขาทำงานที่นั่น เช่นเดียวกับซู น้องชายคนนี้ยังไม่ทันได้เรียนจบ โดยได้เรียนอยู่แค่ระดับชั้น ม.3 ก็ต้องมาเจอสถานการณ์โควิดและรัฐประหาร จนต้องหลุดจากระบบการศึกษา แต่เขาก็ยังมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อ โดยคิดข้ามมาเรียนในศูนย์การเรียนรู้ที่ฝั่งแม่สอด ทำให้ซูตั้งใจที่จะทำงานเก็บเงินเพื่อส่งให้น้องชายมีโอกาสได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกคนหนึ่ง ขณะที่ซูเลิกคิดถึงอนาคตการศึกษาของตัวเธอเอง และละทิ้งความฝันแต่เดิมที่อยากทำอาชีพเป็นล่ามไปแล้ว ด้วยหน้าที่ที่เธอต้องมีต่อครอบครัว ราวกับว่าชีวิตของเธอในวันนี้ไม่ได้มีเพื่อตัวเองอีกต่อไป

“จริงๆ ก็เคยคิดอยากเรียนต่อ แต่คิดอีกที เราก็ต้องส่งน้องเรียนด้วย เลยคิดว่าเราไปทำงานดีกว่า เพราะเราก็เป็นพี่คนโตด้วย” ซูพูด

อย่างที่ซูเล่าไปแล้ว งานขายของออนไลน์ทุกวันนี้ไม่ได้ไปด้วยดีมากนัก ซูจึงอยากหางานทำที่เป็นหลักแหล่ง แต่อุปสรรคสำคัญติดอยู่ที่สถานะการอยู่อาศัยของเธอในประเทศไทย แม้ซูจะมีบัตรประจำตัวสำหรับคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย (บัตรสีขาว) ที่ทำให้สามารถพำนักในไทยชั่วคราวได้เป็นเวลา 10 ปี แต่ปรากฏว่างานในฝั่งไทยมักไม่ได้รับคนถือบัตรประเภทนี้เข้าทำงานนัก ส่งผลให้ซูไม่อาจหางานที่มีรายได้แน่นอนเพื่อเกื้อหนุนการศึกษาของน้องได้เต็มที่ตามที่ตั้งใจ

โควิด รัฐประหาร และความเจ็บป่วย
จุดผันแปรของทุกชีวิตในครอบครัว

“หนูมีบัตร 10 ปีก็จริง แต่สิทธิที่ได้รับก็ไม่ได้มากขนาดนั้น ทำใบขับขี่ก็ไม่ได้ ทำให้หนูขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงานเองไม่ได้ และก็เปิดบัญชีธนาคารยังไม่ได้ด้วย เขาบอกว่าต้องรอให้อายุถึง 20 ก่อน”

มิน (นามสมมติ) สาววัย 20 รุ่นราวคราวเดียวกับซู เล่าถึงอุปสรรคการใช้ชีวิตในอำเภอแม่สอดจากการไม่ได้มีสัญชาติไทย แม้ว่าครอบครัวของเธอจะใช้ชีวิตที่นี่มานานถึงกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม โดยพ่อและแม่ของมินประกอบอาชีพลูกจ้างร้านขายผ้าในตัวเมืองแม่สอด และอาศัยอยู่ร่วมชายคากับครอบครัวลูกจ้างข้ามชาติร้านเดียวกันครอบครัวอื่นๆ กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา พ่อและแม่ของมินก็ยังคงติดต่อใกล้ชิดและไปมาหาสู่กับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ในเมืองพะอาน รัฐกะเหรี่ยง อยู่เป็นระยะ

มินเองถือว่าเป็นคนที่เกิดและเติบโตในแม่สอด แต่มีระยะหนึ่งที่พ่อและแม่ส่งเธอกลับไปเรียนในระบบการศึกษาของพม่า ที่เมืองพะอาน หลังจากที่พม่าเริ่มเปิดประเทศและเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะมองเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในประเทศบ้านเกิด โดยเธอสามารถสอบจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิดตามด้วยการรัฐประหาร เธอก็ยังไม่อาจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ทำให้ในปัจจุบันเธอต้องข้ามกลับมาใช้ชีวิตในแม่สอดกับพ่อและแม่ของเธอ และช่วยหารายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยเข้าทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งในแม่สอด และรับงานแปลภาษาเป็นรายได้เสริม ด้วยความหวังเล็กๆ ว่าวันหนึ่งอาจมีโอกาสได้เรียนต่อที่นี่

ชีวิตของมินในปัจจุบันอาจถือได้ว่าค่อนข้างมั่นคงกว่าซูในระดับหนึ่ง เพราะสามารถมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ประกอบกับพ่อและแม่อยู่ในไทยมานาน ทำให้การใช้ชีวิตอาจสะดวกกว่าซูในบางด้าน เพียงแต่ด้วยสถานะที่ยังไม่ถือว่าเป็นสัญชาติไทย ทำให้ชีวิตยังคงเจอความติดขัดอยู่บ้างอย่างที่มินเล่าไป

แต่ชีวิตของครอบครัวมินก็ไม่ได้ราบเรียบขนาดนั้น โดยเฉพาะเมื่อมาเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือการล้มป่วยของยายของมินเมื่อปีที่แล้ว ปัญหานี้คงไม่ซับซ้อนมากนักหากยายของเธออยู่ด้วยกันที่แม่สอด แต่ความจริงคุณยายอยู่อีกฝั่งพรมแดนที่เมืองพะอาน

“แม่ป่วยปีที่แล้ว อาการหนัก เป็นอัมพฤกษ์ข้างเดียว เดินไม่ได้ ตอนนี้ก็ต้องช่วยกันดูแล เดี๋ยวสิ้นเดือนนี้เราก็ต้องกลับไปช่วยดูแลเขา ตอนนี้ยังฝากแม่ไว้กับพี่ชาย แต่แม่ก็อยากให้เราไปดูแลมากกว่า เพราะพี่ชายไม่มีเวลาดูแล เขามีครอบครัว และต้องทำไร่ทำนา” มะขิ่น (นามสมมติ) แม่ของมิน เล่าให้เราฟัง

การล้มป่วยกะทันหันของยายทำให้มะขิ่นผู้เป็นลูกต้องเดินทางข้ามพรมแดนเทียวไปเทียวมานับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งส่งผลกระทบไม่น้อยต่อรายได้ครอบครัว เพราะตามปกติ รายได้หลักที่จุนเจือครอบครัวทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่ามาจากเงินเดือนประจำของทั้งมะขิ่นและสามีที่ทำงานอยู่ด้วยกัน การที่มะขิ่นต้องพักงานเป็นระยะเพื่อกลับไปดูแลแม่ จึงทำให้รายได้หายไปทางหนึ่ง

“ตอนเรากลับไปดูแลก็ไม่มีรายได้เลย ตอนนี้ยังเหลือพ่อ (สามีของมะขิ่น) และลูกสาว ที่ทำงานเก็บเงินและส่งเงินให้ครอบครัวที่ฝั่งนั้นอยู่ มันก็ลำบากขึ้น เราก็ต้องประหยัดเอา” มะขิ่นเล่า

นอกจากรายได้ที่ขาดหายไปช่องทางหนึ่ง การเกิดขึ้นของการระบาดโควิด-19 ตามด้วยรัฐประหารพม่า ยังซ้ำเติมภาวะค่าครองชีพที่ฝั่งพม่า ทำให้การดำรงปากท้องและความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัวที่ฝั่งนั้นลำบากขึ้น

“อยู่ที่นี่ (แม่สอด) ไม่ค่อยมีอะไรกังวลเท่าไหร่ กังวลคนที่นู่น (พม่า) มากกว่า ต่อให้มีเงินก็อยู่ยาก ทุกอย่างแพงหมด อย่างขนมจีนถ้วยหนึ่งเมื่อก่อนราคา 200 จ๊าด (ประมาณ 3 บาท) ตอนนี้ 500-1,000 จ๊าด (ประมาณ 8-16 บาท) ไปแล้ว หรือมาม่าเมื่อก่อนก็ 250 จ๊าด (ประมาณ 4 บาท) ตอนนี้ก็ 500-600 จ๊าด (ประมาณ 8-10 บาท) แล้ว” มะขิ่นเล่า

ไม่เพียงแต่ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวเท่านั้น รัฐประหารที่พม่ายังส่งผลให้ธุรกิจของพี่ชายของสามีมะขิ่น (ลุงของมิน) ที่เมืองมะละแหม่ง ในรัฐมอญ ต้องชะงัก ทำให้รายได้จากฝั่งไทยจำเป็นต้องถูกส่งไปช่วย ขณะที่ลูกชายคนโตของมะขิ่น (พี่ชายของมิน) ที่อาศัยกับครอบครัวฝั่งพ่อที่มะละแหม่ง ก็ต้องหยุดเรียนกลางคันจากภาวะโควิด-19 และรัฐประหาร โดยยังไม่มีงานหลักรองรับ ทำให้ครอบครัวฝั่งไทยต้องคอยส่งเงินจุนเจือให้เช่นกัน

“จนตอนนี้พี่ชายก็ยังไม่ได้เรียน ที่จริงจะไปเรียนต่อก็เรียนได้ แต่เขาไม่อยากเรียนภายใต้การรัฐประหาร มันยังไม่สงบสุข จริงๆ เขาก็อยากข้ามมาเรียนที่ไทย แต่ก็ไม่ได้อีก เพราะไม่มีเอกสาร” มินเล่า

‘พรมแดนขวางกั้น สัญชาติขวางทาง’
ต้นตอความเปราะบางเรื้อรังของครอบครัวข้ามชาติแม่สอด

เรื่องราวซูและมินเป็นเพียงตัวอย่างของครอบครัวข้ามชาติตามแนวชายแดนไทย-พม่าจำนวนมาก ที่มีโควิด-19 และรัฐประหารพม่าเข้ามาเป็นจุดหักเหของชีวิต เมื่อไม่เห็นแสงสว่างบนแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง การดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการข้ามพรมแดนมาเพื่อหาโอกาสจึงเป็นคำตอบสำหรับพวกเขา และด้วยพื้นที่ที่อยู่ติดเส้นพรมแดนและมีโอกาสทางเศรษฐกิจหลั่งไหลเข้ามาต่อเนื่อง แม่สอดจึงเป็นพื้นที่ใหญ่ที่รองรับการเข้ามาของพวกเขาไปโดยปริยาย

หากจะว่าไป การอพยพเคลื่อนย้ายของคนฝั่งพม่าเข้ามาในแม่สอดก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ด้วยว่าความไม่แน่นอนทางการเมือง การสู้รบ และความยากจนในบ้านเกิด คือปัญหาเรื้อรังที่ผลักพวกเขาให้เข้ามาแสวงโชคให้ตัวเองและครอบครัว ภาพของคนในครอบครัวเดียวกันที่อยู่กระจัดกระจายปนเปทั้งในฝั่งแม่สอดและฝั่งพม่า และยังคงติดต่อช่วยเหลือระหว่างกัน จึงเป็นภาพที่เกิดขึ้นมานานจนชินตา เพียงแต่สถานการณ์โควิดและรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นทำให้ภาพแบบนี้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเข้ามาแม่สอดในช่วงเวลาใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ครอบครัวข้ามชาติเหล่านี้ล้วนต้องเผชิญคือความลำบากในการเข้าถึงโอกาสการศึกษาและโอกาสการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องดิ้นรนสั่งสมรายได้เพื่อส่งเงินข้ามแดนไปดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่อยู่คนละฟากฝั่งพรมแดน การดูแลเกื้อหนุนกันเองในครอบครัวที่มักมีสมาชิกกระจัดกระจายกันอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น

ภาพของครอบครัวที่สมาชิกจำต้องแยกกันอยู่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ อาจไม่ใช่ภาพที่แปลกตานักสำหรับสังคมไทยโดยทั่วไป เราอาจพอคุ้นเคยกับเรื่องราวของหลายครอบครัวที่คนเป็นพ่อหรือแม่ต้องเดินทางไปแสวงหาโอกาสรายได้ที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ และทิ้งลูกไว้ให้สามีหรือภรรยาตนดูแล หรือไม่ก็อาจไม่อยู่ทั้งพ่อและแม่ โดยฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่ช่วยเลี้ยงดู หรือไม่อย่างนั้นก็อาจแยกกันอยู่ในรูปแบบอื่นๆ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ รูปแบบครอบครัวในสังคมไทยวันนี้จึงมีความหลากหลาย ทั้งครอบครัวพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแหว่งกลางหรือข้ามรุ่น ซึ่งคือครอบครัวที่ขาดคนรุ่นพ่อหรือแม่ รวมถึงครอบครัวที่โครงสร้างซับซ้อนจนยากเกินกว่าจะนิยาม การมีครอบครัวในรูปแบบนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากแต่โดยมากแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเหล่านี้มักตกอยู่ในสภาวะเปราะบาง เสี่ยงต่อความไม่แน่นอนในชีวิตมากกว่า เมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า

แต่สภาวะเปราะบางยิ่งเลวร้ายลงกว่านั้น หากว่าครอบครัวนั้นไม่ใช่ครอบครัวที่มีสัญชาติไทย

“ปัญหาความเปราะบางที่พบในครอบครัวแรงงานข้ามชาติในบางกรณียังอาจมีความใกล้เคียงกับปัญหาของครอบครัวไทยที่เป็นครอบครัวแหว่งกลาง แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือความแหว่งกลางของครอบครัวแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นที่ประเทศพม่าซึ่งเป็นต้นทางของการย้ายถิ่น พูดอีกอย่างหนึ่งคือพ่อแม่ที่เป็นวัยทำงานย้ายถิ่นมาอยู่ฝั่งไทย โดยต้องดูแลสมาชิกครอบครัวที่เหลือที่อยู่ฝั่งพม่า ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า หากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไปกระทบต่อแรงงานที่อยู่ฝั่งไทย ก็จะส่งผลต่อการดูแลสมาชิกที่เหลือที่ประเทศต้นทางของเขาเอง” บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงสิ่งที่ได้พบจากการทำงานวิจัยหัวข้อ ‘พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19 : การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบาง และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว’

เส้นพรมแดนที่ขวางกั้นสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวยิ่งทำให้สภาวะครอบครัวทวีความซับซ้อน ต่างจากครอบครัวไทยจำนวนมากที่แม้จำเป็นต้องแยกกันอยู่ แต่ก็อาจเป็นเพียงการอยู่คนละจังหวัดเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดการยังอยู่บนแผ่นดินเดียวกันก็ทำให้การช่วยเหลือดูแลกันไม่ได้ยากเท่ากรณีครอบครัวข้ามชาติ

ในบางกรณี การดูแลช่วยเหลือระหว่างกันภายในครอบครัวข้ามชาติก็ไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบของการที่สมาชิกในฝั่งไทยส่งเงินให้สมาชิกที่ประเทศต้นทางเท่านั้น แต่ยังมีการส่งเงินจากประเทศต้นทางมายังสมาชิกในประเทศไทย ดังเช่นในกรณีของซู ที่ยังไม่อาจพึ่งพาตัวเองได้มากนักแถมยังต้องดูแลเด็ก 4 คนพร้อมๆ กันด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็แล้วแต่ การดูแลกันในครอบครัวข้ามชาติหลายครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยชีวิตที่ต่างแขวนบนความไม่มั่นคงจากสถานการณ์หลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของครอบครัวข้ามชาติจัดการความเสี่ยงยากกว่าครอบครัวไทย คือการไม่มีสถานะของความเป็นคนไทย

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

“ในงานวิจัย เราพบว่ามีถึง 60-70% เป็นครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานะที่ถูกต้อง หรือเรียกได้ว่าอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีสถานะรับรอง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิบางอย่างได้ ซึ่งอันที่จริงมันไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดเรื้อรังมานานแล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เสียอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรองรับการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ” บุศรินทร์กล่าว

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ใหญ่ที่เข้ามากระทบต่อพวกเขาก็คือโควิด-19 และรัฐประหารที่พม่า เช่น ตอนเกิดโควิด-19 ที่แรงงานข้ามชาติบางคนอาจถูกเลิกจ้าง หรือบางคนก็อาจเจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุต่างๆ นี่จึงเป็นความเปราะบางทับซ้อนที่เกิดขึ้น แต่ผลกระทบที่ครอบครัวกลุ่มนี้ได้รับอาจจะมากกว่ากรณีครอบครัวไทย เพราะการเข้าถึงสิทธิและการถึงความช่วยเหลือจากรัฐไทยเป็นไปอย่างลำบากกว่า” บุศรินทร์กล่าวต่อ

แม้วันนี้วิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่สำหรับพม่า อีกวิกฤตหนึ่งที่ยังคงอยู่คือวิกฤตการเมืองอันเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร ที่ทำให้ชีวิตครอบครัวข้ามชาติตามแนวชายแดนยังคงไม่แน่นอน และกำลังเป็นความท้าทายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สำหรับฝั่งไทย

“ส่วนตัวมองว่ารัฐประหารส่งผลกระทบในแง่การเพิ่มจำนวนคนที่เดินทางเข้ามาในไทย จากที่เราได้ข้อมูลมาคือยังคงมีคนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การนำแรงงานเข้าสู่ระบบจะเป็นข้อท้าทายมากขึ้นสำหรับรัฐไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นที่รองรับแรกๆ เช่น แม่สอด และแม่สาย (จังหวัดเชียงราย) นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่ากังวลคือประชากรที่เข้ามาเหล่านั้นเป็นประชากรที่อายุน้อยในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของเด็กๆ เหล่านี้เป็นการเข้ามาเพื่อเอาตัวรอด หาโอกาสในการศึกษาหรือทำมาหากินที่ฝั่งไทย แต่สำหรับบางคน พอหางานทำไม่ได้หรืออาจเข้าโรงเรียนไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้าน การมีเด็กๆ เหล่านี้เข้ามามากขึ้นก็ถือเป็นความท้าทายอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูแล” บุศรินทร์กล่าว

ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ ในวันที่เด็กล้นเกินแบกรับ

ผลพวงที่เด่นชัดจากการรัฐประหารคือความชะงักงันของระบบการศึกษาในพม่า เมื่อแสงสว่างแห่งโอกาสการศึกษาในประเทศริบหรี่ลง การทิ้งลูกหลานไว้ในฝั่งพม่าจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับคนข้ามชาติหลายคน พวกเขาจึงเลือกพาเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ฝั่งไทย เหมือนอย่างกรณีของครอบครัวซูที่เรื่องการศึกษากลายเป็นเหตุผลหลักของการพาเด็กๆ ข้ามแดนมา หรือครอบครัวของมินที่ก็หวังอยากส่งลูกชายที่ฝั่งพม่าเข้ามาเรียนต่อระดับสูงในไทย รวมถึงมินเองก็ยังมีความฝันอยากเรียนต่อระดับสูงที่นี่ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรประชากรวัยเยาว์ถึงได้ทะลักเข้ามาจำนวนมากหลังการรัฐประหาร

ความตั้งใจในการส่งบุตรหลานเข้าสถานศึกษาในไทยไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโอกาสอนาคตของเด็กๆ เท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งยังช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูของผู้ปกครองในภาวะที่ชีวิตในไทยก็ยังไม่ค่อยมั่นคงนัก เช่นในกรณีของซู หากเธอสามารถพาน้องๆ สมัครเข้าเรียนได้ ก็ทำให้เธอไม่ต้องมีภาระสอนหนังสือน้องเองที่บ้าน และอาจมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาโดยไม่มีเอกสารรับรองสถานะของเด็กๆ จำนวนมาก ทำให้การเข้าโรงเรียนในระบบทั่วไปมีอุปสรรคไม่น้อย แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) ที่กำหนดให้ต้องรับเด็กเข้าศึกษาโดยไม่แบ่งแยกสัญชาติ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้เด็กที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเข้าเรียนได้ยาก ท้ายที่สุด ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Center) ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดในการรับนักเรียนข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารมากนัก จึงกลายเป็นที่พึ่งหลักที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กๆ มาฝากฝัง โดยในแม่สอดมีสถานศึกษาลักษณะนี้อยู่ประมาณ 65 แห่ง

แต่ด้วยจำนวนเด็กที่ไหลทะลักเข้ามาอย่างมหาศาล หลังการรัฐประหาร ศูนย์การเรียนรู้แต่ละที่ที่พยายามจะรับเด็กๆ ให้ได้มากที่สุด จึงต้องเจอปัญหานักเรียนแออัด กลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการดูแลเด็กๆ ขณะที่ทรัพยากรของศูนย์การเรียนรู้ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับ

เราเดินทางไปสำรวจสถานการณ์ที่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด เมื่อเราไปถึง ภาพแรกที่เป็นประจักษ์หลักฐานของจำนวนเด็กที่ล้นเกินความจุของโรงเรียน คือเต็นท์ขนาดใหญ่กลางสนามหญ้าที่ถูกใช้เป็นห้องเรียนจำเป็น แม้ศูนย์การเรียนรู้จะมีพื้นที่กว้างขวางและมีห้องเรียนตามอาคารมากมายแล้วก็ตาม

“ก่อนโควิด เรามีนักเรียนอยู่ประมาณ 600 คน แล้วพอเกิดการระบาดขึ้น จำนวนนักเรียนก็ลดเหลือ 200 แต่หลังจากนั้น จำนวนนักเรียนของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีจำนวนมากถึง 900 กว่าคน มากกว่าก่อนโควิดเสียอีก” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เล่าข้อมูลให้เราฟัง

“พอนักเรียนเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มมีพื้นที่ไม่เพียงพอ จำนวนนักเรียนต่อห้องตอนนี้มีเยอะมากจนยากที่จะดูแล ปกติเรามีนักเรียนอยู่ที่ 25-30 คนต่อห้อง แต่ตอนนี้เรามีมากถึง 40-50 คน” ผู้อำนวยการเล่าต่อ

ไม่เพียงแต่ทรัพยากรทางกายภาพเท่านั้น แต่ทรัพยากรคนที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะครูที่ยังมีเพียง 11 คน ไม่ต่างจากก่อนโควิด

“พอเด็กเยอะขึ้น ครูก็ต้องทำงานกันหนักขึ้น ใช้พลังเยอะกว่าเดิม ยิ่งในช่วงที่มีโควิดอยู่ ครูก็ต้องมาดูแลหลายเรื่องเพิ่มเติม เช่นต้องคอยมาตรวจเช็กว่านักเรียนฉีดวัคซีนหรือยัง” ครูปอง (นามสมมติ) เล่าถึงความลำบากที่ครูในศูนย์การเรียนรู้เผชิญในช่วงเวลานี้

บรรดาครูในศูนย์เรียนรู้เองต้องเผชิญความท้าทายในการสอนและดูแลนักเรียนหลายด้านมาตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์แรกๆ ครูปองเล่าว่าครูต้องตระเวนไปสอนเด็กๆ ตามบ้าน โดยนัดเจอกันเป็นกลุ่มๆ และครูคนหนึ่งก็ต้องสอนหลายวิชา โดยไม่ใช่แค่สอนจากหนังสือเรียน แต่ต้องสอนให้เด็กๆ ทำกิจกรรมฝึกทักษะชีวิตอย่างการปลูกต้นไม้และการทำอาหารไปด้วย และหลังจากนั้นไม่นานเมื่อการล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้นจากการระบาดที่รุนแรงขึ้น ครูก็ต้องปรับตัวมาสอนออนไลน์ โดยที่หลายคนไม่คุ้นเคยมาก่อน และยังพบว่ายากในการดูแลเด็ก อีกทั้งบางครอบครัวยังไม่อาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารได้เต็มที่ จนเด็กจำนวนหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษา ก่อนที่ศูนย์การเรียนรู้จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดสอนตามปกติในเดือนมิถุนายน 2022 ซึ่งครูปองก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างนักเรียนอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงสองปีที่ศูนย์การเรียนรู้ปิดประตูรั้ว

“พอเปิดมาหลังโควิด เด็กบางคนก็หายไป บางคนก็กลับมาเรียน เพราะเด็กบางคนก็เดินทางตามผู้ปกครองกลับพม่าช่วงปิดเทอม (มีนาคม 2020) แล้วพอโควิดระบาดก็กลับมาไม่ได้ จนตอนนี้บางคนก็ยังกลับมาไม่ได้ แต่บางคนก็ยังอยู่กับผู้ปกครองที่นี่ และก็ยังกลับมาเรียน” ครูปองเล่า

แต่ที่เพิ่มความท้าทายให้กับครูยิ่งกว่านั้นคือการทะลักเข้ามาของเด็กใหม่ที่หนีการรัฐประหารข้ามมา ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ในแง่จำนวนเด็กที่ต้องดูแลมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหาในแง่ที่ว่าเด็กมีความหลากหลายขึ้น จนทำให้การเรียนการสอนและการดูแลมีความซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมมาก

“ก่อนหน้านี้ นักเรียนของเราส่วนมากมีที่มาจากพื้นที่ใกล้ๆ กัน ส่วนมากเป็นพื้นที่ตามแนวชายแดนที่มีการสู้รบ แล้วผู้ปกครองส่งมาเรียนที่นี่ แต่หลังจากรัฐประหาร นักเรียนของเรามีความหลากหลายขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะรวยหรือจะจน หลายคนต้องลี้ภัยมาที่นี่เหมือนกัน เด็กๆ ก็เลยมาจากหลายพื้นที่ของพม่า ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีหลักสูตรและคุณภาพการศึกษาต่างกัน อย่างบางพื้นที่ก็ใช้หลักสูตรของชาติพันธุ์เขา ไม่ได้ใช้หลักสูตรกลางของรัฐ บางพื้นที่ก็ไม่มีแม้แต่หนังสือเรียน พอนักเรียนหลากหลายขึ้น เราเลยเจอปัญหาว่านักเรียนไม่ได้มีความเข้าใจระหว่างกัน และมีพื้นฐานความรู้มาไม่เท่ากัน แต่ว่าต้องมาเรียนอยู่ด้วยกัน ทำให้ครูสอนลำบาก” ผู้อำนวยการกล่าว

เช่นเดียวกับครูปองที่เล่าให้ฟังว่า “ถ้าเป็นเด็กที่เราสอนมานาน เด็กก็จะมีความใกล้ชิดกับเรา แต่หลังโควิด พอมีเด็กใหม่มาจากหลายทาง เราก็ต้องปรับตัวเข้าหาเด็กเยอะ อย่างเด็กบางคนที่เพิ่งหนีเข้ามาก็ไม่อยากเรียนบางวิชาเช่นภาษาไทย แต่เหมือนเขาไม่มีทางเลือก เลยต้องจำใจเรียน แล้วพอมาเรียนกับเด็กๆ เดิมก็จะมีปัญหา เขาก็เรียนให้มันผ่านไปวันๆ แต่บางคนก็ตั้งใจเรียน อยากได้ภาษาไทย เพราะเขาเห็นว่าประเทศเขาไม่มั่นคงแล้ว ก็ตั้งใจทำมาหากินที่นี่ บางคนขอให้เราสอนพิเศษให้เลยก็มี แล้วถ้าเป็นเด็กเก่า บางคนหายไปช่วงโควิด ก็ลืมเนื้อหา พอกลับมาเรียนต้องเริ่มพื้นฐานใหม่ให้เขาอีก ครูก็ลำบากเลย ตอนสอนหลอดลมแทบจะพัง”

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้อำนวยการเป็นกังวลมากว่านักเรียนโดยรวมจะได้ไม่ได้รับทักษะความรู้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเส้นทางชีวิตและการทำงานของเด็กๆ ในอนาคต อีกทั้งอาจเป็นปัญหาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และด้วยสถานการณ์การเมืองในพม่าที่ยังไร้เสถียรภาพ ศูนย์การเรียนรู้ก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะรองรับเด็กๆ ที่อาจหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

สถานะอยู่อาศัยในไทย ไม่ควรเป็นตัวขวางกั้นคนข้ามชาติจากรัฐและสังคม

หนทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหานักเรียนแออัดในศูนย์การเรียนรู้ได้คือการมีเงินทุนเพื่อจัดหาทรัพยากรรองรับจำนวนเด็กเพิ่มเติม แต่เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ของศูนย์การเรียนรู้มีที่มาจากเงินบริจาคจากองค์กรต่างๆ ทำให้ไม่สามารถมีรายได้ที่แน่นอนและเพียงพอ

การได้ชื่อว่าเป็นเพียงศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้มีสถานะเทียบเท่าโรงเรียนทั่วไป ยังส่งผลอย่างมากต่อเส้นทางอนาคตของนักเรียน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ที่เราไปเยือนชี้ว่า “หลายคนอาจจะเข้าใจว่านักเรียนที่จบจากศูนย์การเรียนรู้จะสามารถไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ง่ายๆ แต่ความจริงคือที่นี่ก็ยังเป็นแค่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปไม่ได้ยอมรับหลักสูตรของเรา ทำให้เด็กๆ ต้องไปสอบเทียบ อย่าง กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) หรือ GED อีกทีหนึ่งเพื่อจะไปเข้ามหาวิทยาลัยได้”

สิ่งที่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติไม่เหมือนกับโรงเรียนในระบบทั่วไป คือเด็กที่เรียนจบจะไม่ได้รับวุฒิการศึกษา ทำให้หาโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงลำบาก ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติโดยทั่วไปจึงมีเป้าหมายเพียงการปูพื้นฐานความรู้ให้เด็กๆ ข้ามชาติอย่างมากพอจนมีโอกาสเข้าสู่การศึกษาระดับสูงในอนาคตได้

“สำหรับนักเรียนทุกคน เราก็ตั้งใจวางแผนให้พวกเขาสามารถสอบเทียบเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือต่อต่างประเทศได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้อยู่ดี หลายคนต้องยอมแพ้ เลือกออกจากการศึกษาตั้งแต่ ม.4-ม.5 เพราะปัญหาของพวกเขาคือไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารรับรองสถานะ ทำให้ไปสมัครเข้าเรียนต่อลำบาก เลยจินตนาการได้ยากว่าอนาคตของพวกเขาจะไปทางไหน” ผู้อำนวยการกล่าวต่อ

อุปสรรคชีวิตของเด็กๆ ไม่ได้หยุดอยู่แค่บนเส้นทางการศึกษา แต่ยังต้องเจอปัญหาเมื่อต้องก้าวเท้าเข้าสู่โลกของการทำงานหาเลี้ยงชีพ

“ถ้าพวกเขายังมีอายุไม่ถึง 18 ปี อย่างน้อยที่สุดก็ยังได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือได้ แต่เมื่อพวกเขาเติบโตเกินกว่านั้น แล้วไม่มีเอกสารรับรองสถานะ ก็จะอยู่ที่นี่ลำบาก เพราะการหางานจะไม่ใช่เรื่องง่าย” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้กล่าว

ความเปราะบางในชีวิตของคนข้ามชาติถือได้ว่าเกิดขึ้นในทุกช่วงชีวิตตั้งแต่เด็ก จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำงาน มีครอบครัว แก่ชรา และในยามที่ชีวิตต้องเจอความพลิกผันใหญ่ เมื่อย้อนหาสารตั้งต้นของความเปราะบาง ทุกอย่างมักย้อนกลับไปในจุดที่ว่า เพราะพวกเขาไม่ได้มีสัญชาติไทย คำว่า ‘สัญชาติ’ จึงเป็นเสมือนกำแพงที่ทำให้ชีวิตพวกเขาถูกปิดกั้นการมองเห็นจากสังคมและรัฐ ไม่ได้รับการเหลียวแล จนชีวิตต้องตกในความเปราะบางเรื้อรัง

บุศรินทร์ให้ความเห็นว่า กุญแจสำคัญหนึ่งที่จะช่วยปลดล็อกปัญหาที่คนข้ามชาติเหล่านี้เผชิญได้คือการใช้กลไกในเชิงกฎหมายเพื่อช่วยปัญหาเรื่องสถานะของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญยังต้องลบล้างมายาคติที่ว่าพวกเขาคือ ‘คนอื่น’

“การให้ความช่วยเหลือต่อคนไม่ควรยึดโยงอยู่กับสถานะมากนัก แรงงานข้ามชาติและครอบครัว รวมถึงเด็กๆ ก็ควรจะเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องอย่าลืมว่าเขาถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา ส่วนในเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ข้ามชาติ ถึงแม้จะมีนโยบายที่ดูแลเรื่องนี้ แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมากที่ทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาได้เท่าที่ควร ในหลายพื้นที่ เรายังพบว่า เด็กอายุ 6-7 ขวบยังไม่ได้เข้าเรียนเลย ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน เพราะเขาก็ถือเป็นคนที่จะต้องใช้ชีวิตในสังคมไทยต่อไป” บุศรินทร์กล่าว

References
1 ย่อมาจาก General Educational Development หมายถึงการสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามระบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้สามารถไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ โดยทำความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.the101.world/completed-ged-to-escape-school/

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save