fbpx

“รักในลวง” ว่าด้วยชนชั้นกลางกับความพยายามจะเปลี่ยนผ่านตัวเอง

แต่ไหนแต่ไรมา ‘ชนชั้นกลาง’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้งในฐานะชนชั้นที่มีบทบาทสำคัญในสังคม บทบาทของชนชั้นกลางนั้นถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นเดียวกับการอภิปรายเรื่องชนชั้นกลางการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลางก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากกลุ่มปัญญาชน ในการวิพากษ์ชนชั้นกลางของกลุ่มปัญญาชนนั้นเราจะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการอธิบายและวิจารณ์ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ที่ชนชั้นกลางนั้นเป็นแก่นแกนในการผลักดันและทำให้ระบบทุนนิยมดำเนินไปอย่างราบรื่น การนำเสนอเรื่องชนชั้นกลางนั้นจึงเป็นสิ่งที่กว้างขวางและหลากหลายมากโดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชน

ในหมู่นักคิดนักเขียน ภาพของชนชั้นกลางถูกนำเสนออย่างน้อยที่สุดคือในช่วงทศวรรษ 2470 กลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่เติบโตมาจากการศึกษาสมัยใหม่นั้นได้สร้างผลงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมโดยเฉพาะประเด็นเรื่องชาติกำเนิด วัฒนธรรมของชนชั้นสูง คุณธรรมและศีลธรรมของชนชั้นสูง ดังเราจะเห็นได้จากผลงานของ ศรีบูรพา, หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์, ดอกไม้สด เราอาจเข้าใจได้ว่าสำนึกในบทบาททางสังคมของชนชั้นกลางช่วงแรกนั้นเกิดขึ้นด้วยความต้องการพื้นที่ในการต่อรองทางสังคมของตนเอง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและโอกาสทางสังคมที่ถูกลิดรอนไปจากระบบการปกครองที่ล้าหลัง หลังจากนั้นชนชั้นกลางถูกนำเสนอในวรรณกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ในฐานะชนชั้นที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น วรรณกรรมในยุคแสวงหา

ต่อมาในวรรณกรรมไทยเริ่มมีน้ำเสียงของการวิพากษ์ เสียดสี สถานะ รสนิยม ค่านิยม และโลกทัศน์ของชนชั้นกลางอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 2520-2530 เป็นต้นมา (ในช่วงยุค ‘แสวงหา’ ของวรรณกรรมไทยเองก็มีท่าทีลักษณะดังกล่าวอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน แต่เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนคือในช่วงเวลาดังกล่าวนี้) ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 คือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ส่งผลให้การสะท้อนภาพของชนชั้นกลางในวรรณกรรมไทยนั้นแตกต่างไปจากเดิมมาก นั่นคือ เราจะเห็นความสับสนอลม่าน จับต้นชนปลายไม่ได้ของชนชั้นกลาง จนกระทั่งในช่วงความขัดแย้งตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 จนถึงปัจจุบัน ชนชั้นกลางในวรรณกรรมไทยกลายเป็นเป้าหมายในหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างแสบสัน นั่นอาจเป็นเพราะวิกฤตทางสังคมการเมืองในสังคมไทยร่วมสมัยนั้น ชนชั้นกลางคือผู้เล่นที่สำคัญในเหตุการณ์นี้

‘รักในลวง’ ของ จิรัฏฐ์ ประเสิรฐทรัพย์ เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของเขาที่นำเสนอภาพของ ‘ชนชั้นกลาง’ ที่พยายาม ‘เปลี่ยนผ่าน’ ตัวเอง ไปสู่…อะไรสักอย่างหนึ่งที่ไม่ได้แน่ชัดนัก แต่เราจะได้เห็นความไม่พึงพอใจตนเองของชนชั้นกลาง ความต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกแต่ตัวชนชั้นกลางเองยังคงอาลัยอาวรณ์ต่อตัวตนบางอย่างที่ตกค้างอยู่ภายใน รวมไปถึงถึงการสะท้อนภาพอันล้นเกินของชนชั้นกลางไทยที่คาดหวังต่อการเสพศิลปะและวรรณกรรม ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ‘รักในลวง’ นั้นไม่ได้เป็นเพียงการเสียดสี วิพากษ์ชนชั้นกลางเท่านั้น แต่ในแง่หนึ่งผมคิดว่าตัวเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีความพยายามอยาก ‘เข้าใจ’ ชนชั้นกลางไทยอีกด้วย แม้ว่าจะเป็นสายตาแบบเสียดเย้ยก็ตามที

‘ลอก’ เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของเล่มที่พูดถึงการ ‘ลอกคราบ’ ตัวเองของตัวละครสองตัว ตัวแรกเป็นตัวละครหญิงที่พยายามจะลอกคราบตัวเองด้วยการขูดผิวหนังเพราะต้องการสลัดตัวตนของตัวเองที่เชื่อมโยงกับคนรักเก่าทิ้งไป แต่เธอกลับพบคนรักในอีกร่างหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาจากถังขยะ เป็นร่างที่ไม่มีความทรงจำ “เขาไม่รู้จักฉัน และไม่รู้จักว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้กระทั่งภาษาที่ใช้พูด ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ราวกับร่างโคลนนิ่งที่มีสมองกลวงเปล่า” (หน้า 14) แม้กระนั้นเธอและร่างเสมือนคนรักเก่านี้ก็ “ร่วมรักอย่างโหยหาร้อนเร่าไม่ต่างจากเดรัจฉานในฤดูติดสัด” (หน้า 14) จากนั้นในวันหนึ่งเมื่อเธอกลับมายังที่พักร่างเสมือนคนรักเก่านี้ก็หนีหายไปแล้ว ตัวละครอีกตัวหนึ่งคือคนรักเก่าของหญิงในตอนแรก เขาพบกับ ‘ร่าง’ อีกร่างหนึ่งของตัวเองอยู่ในห้อง ‘ร่าง’ นั้นพุ่งเข้ามาทำร้ายเขาจากนั้นทั้งสองต่อสู้กันอย่างดุเดือด สุดท้ายเป็นตัวเขาเองที่ถูกอีกร่างหนึ่งของตัวเองกำลังกัดกินตัวเขาเอง

เราจะเห็นได้ว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้พยายามนำการเปลี่ยนผ่านและการละทิ้งตัวตนของชนชั้นกลาง ตัวละครหญิงพยายามอย่างยิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยการลอกคราบแต่เธอกลับไปไม่พ้นอดีตของตัวเองซึ่งเป็นอดีตที่ไร้ความทรงจำเป็นอดีตที่มีเพียงเรือนร่างเท่านั้นและยังเป็นอดีตที่ถูก ‘ทิ้ง’ ไปแล้วด้วย เพราะมันผุดขึ้นมาจากถังขยะ เมื่ออดีตมีเพียงเรือนร่างแต่ไม่มีความทรงจำแล้วจึงเป็นอดีตจึงไร้ความหมาย การสมสู่กับเรือนร่างของอดีตอันเปล่าเปลือยจึงเป็นการสำเร็จความใคร่ที่ไร้ความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน ตัวละครชายถูกไล่ล่าจากตัวตนในอดีต ถูกอดีตที่ละทิ้งไปแล้วกัดกิน การจ้องมองตัวเองของตัวละครชายในเรื่องในแง่หนึ่งอาจหมายถึงการยอมจำนนและพ่ายแพ้ต่ออดีตที่ตัวเองเคยเป็น

ผมคิดว่าสภาวะที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้น ‘ลอก’ นี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะมันได้สะท้อนให้เราเห็นถึงการเล่นวิ่งไล่จับกับเงาตัวเองของชนชั้นกลาง เราจะได้เห็นความกังวลของชนชั้นกลางในเรื่องเวลา ทั้งอดีต (ที่มักโหยไห้) ปัจจุบันและอนาคต (ที่ไม่แน่นอน) ในเรื่องสั้น ‘ลอก’ เราจะได้เห็นว่าตัวละครทั้งสองตัวนี้ต่างไม่มีใครบรรลุผลสำเร็จทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคตเลย คนหนึ่งไม่สามารถละทิ้งอดีตได้อีกคนหนึ่งก็ถูกอดีตไล่ล่า ปัจจุบันเป็นความทุกข์ทรมานและอนาคตก็ไปไม่ถึงเสียแล้ว

เรื่องสั้นถัดมา ‘ชายผู้ตกลงไปในไดโนเสาร์’ ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ ตัวเรื่องเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ตกลงไปในรูปปั้นไดโนเสาร์กลางถนนและติดอยู่ในนั้นจนตาย หลังจากนั้นเรื่องก็เล่าถึงภูมิหลังของตัวละครที่พบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ความขัดแย้งกับ ‘ลุงพล’ ในเรื่องการเมืองและการเสียชีวิตของลุงพล และลูกชายของลุงพลซึ่งเป็นคู่รักของตัวละคร ‘ผม’ ขัดแย้งกันเนื่องจาก ‘ผม’ เอากระดาษหนังสือพิมพ์ที่มีรูปบุคคลสำคัญไปรองให้หมาฉี่โดยที่ ‘ผม’ เองก็ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้คิดอะไรมากนัก

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การตกลงไปตายในท้องของหุ่นไดโนเสาร์กลางถนนนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้เลยไม่ว่าจะในแง่มุมไหนก็ตาม แต่หากเราพิจารณาว่า ไดโนเสาร์คือสัญลักษณ์ของความล้าหลัง สัตว์โลกที่สูญพันธุ์และควรจะสูญพันธุ์ไปเป็นล้านๆ ปีแล้วกลับมาปรากฏตัวอย่างตระหง่านอยู่กลางท้องถนน เพียงเพราะ “มีการขุดพบโครงกระดูกไทแรนโนซอรัสในเมืองนี้ ก่อกระแสการสำรวจด้านบรรพชีวินในประเทศ หน่วยงานท้องถิ่นทุ่มงบจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมสถาปนาให้สายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมือง” (หน้า 24) การทำให้ไดโนเสาร์กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองนั้นเป็นอารมณ์ขันที่น่าสนใจ เพราะการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์อาจสร้างความน่าสนใจในแง่ชีววิทยา แต่การนำมาเป็นสัญลักษณ์และจุดขายของเมืองนั้นออกจะชวนให้คิดในแง่มุมที่ว่าเมืองแห่งนี้นั้นมีความล้าหลัง ตกยุคตกสมัยเป็นสัญลักษณ์ของเมือง

อารมณ์ขันดังกล่าวถูกขับเน้นให้ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้งหลังจากประโยคที่ว่า “หากเราตาสว่าง เราจะไม่มีทางกลับไปมองทุกสิ่งในประเทศนี้ด้วยสายตาแบบเดิมได้อีกต่อไป” (หน้า 24) แม้มันจะดูเป็นประโยคที่ค่อนข้างประดักประเดิดเมื่อใส่ลงมาอย่างไม่ค่อยจะมีเหตุผลสักเท่าไรในช่วงเวลาของเการเล่าเรื่อง แต่เมื่อติดตามอ่านไปจนจบประโยคนี้จะถูกขยายออกเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องได้อย่างพอดิบพอดี ที่ผมกล่าวว่าประโยคนี้เป็นอารมณ์ขันก็เพราะดูเหมือนว่าตัวละครซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องด้วยจะ ‘ตาสว่าง’ จนมองทุกสิ่งในประเทศนี้ด้วยสายตาแบบเดิมไม่ได้อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องตายตกอยู่ในท้องหุ่นไดโนเสาร์ที่ถูกโหมประโคมเป็นของใหม่ในเมืองแห่งนั้น

กล่าวคือ จะก้าวหน้าจะแรดิคัลเพียงใด สุดท้ายก็ตายอย่างโง่ๆ อยู่ในท้องของหุ่นไดโนเสาร์นั่นเอง นับว่าเป็นอารมณ์ขันที่ร้ายกาจอย่างยิ่ง

เรื่องสั้นอีกเรื่องที่น่าสนใจใน ‘รักในลวง’ สำหรับผมก็คือ ‘พนักงานส่งอาหารใช้ชีวิตอย่างไรในสถานการณ์โรคระบาด’ ที่เล่าถึงอาชีพ ‘ไรเดอร์’ ส่งอาหาร ที่ต้องไปส่งอาหารบ้านของคุณยายคนหนึ่งที่ห่างไกลออกไปมากและไม่ค่อยมีไรเดอร์คนไหนอยากรับออร์เดอร์ไปส่ง ตัวเรื่องนั้นมีความสลับซับซ้อนในการเล่าในรูปแบบของเรื่องสั้นแนวฆาตกรรม/สยองขวัญ แต่สิ่งที่เด่นชัดกว่ารูปแบบของตัวงานคือความพยายามอันล้นเกินในการ ‘ยัดเยียด’ รสนิยมชนชั้นกลางใส่ปากและตัวละครอย่างชัดเจน

ความชื่นชอบเป็นการส่วนตัวของผมต่อเรื่องสั้นเรื่องนี้คือมันเต็มไปด้วยคำอธิบายในเชิงอรรถที่พยายามจะบอกว่า ศิลปิน สไตล์ รูปแบบทางศิลปกรรมต่างๆ ดนตรี คีตกร นักดนตรี ฯลฯ คืออะไรมีที่มาอย่างไรบ้าง มันถูกนำมาใส่ไว้ราวกับเป็นบทความในวารสารวิชาการ นัยหนึ่ง หน้าที่ของเชิงอรรถอาจหมายถึงความพยายามในการอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น เราอาจเห็นได้บ้างในงานวรรณกรรมหรือเรื่องแต่งบางเรื่องแต่ไม่ได้ ‘พร่ำเพรื่อ’ เช่นนี้ ผมคิดว่า ความ’พร่ำเพรื่อ’ ที่ปรากฏในเรื่องสั้น ‘พนักงานส่งอาหารใช้ชีวิตอย่างไรในสถานการณ์โรคระบาด’ เป็นความจงใจอย่างยิ่ง เช่น

“ฉันมักใช้เวลาว่างฟังเพลงจากแผ่นเสียง เพาะต้นไม้ ฝึกภาษาอังกฤษจากหนังสือที่มีอยู่นับพันเล่มในบ้าน” (หน้า 140)

“บ่ายวันนั้นหลังกินข้าวเสร็จ ฉันเอาจานไปล้างเหมือนทุกครั้ง เพลง I will follow ของเพ็กกี มาร์ช ถูกเล่นผ่านลำโพงจนใกล้จบ” (หน้า 138)

“บ้านคุณยายสวยมากค่ะ หนูชอบแทบทุกอย่างในบ้านนี้เลย แกร์ฮาร์ด ริกเตอร์ เป็นศิลปินที่หนูติดตาม ส่วนเพลงที่เปิดก็เพราะมากด้วย หนูก็ชอบคามาซี วอชิงตัน เหมือนกัน” (หน้า 134)

ทั้งหมดนี้เป็นบทสนทนาและความคิดของตัวละครไรเดอร์รับส่งอาหาร ถ้าเราเคร่งครัดกับความถูกต้องทางการเมืองเสียหน่อย ก็อาจจะมีคำถามว่า ทำไมหรือ ไรเดอร์จะมีรสนิยมแบบนี้ไม่ได้บ้างหรือ ไรเดอร์ควรจะฟังอะไร เสพงานศิลปะไม่ได้เลยหรือ ฯลฯ ต่อคำถามเช่นนี้ผมอาจจะยืนก้มหน้าพร้อมกับยกมือไหว้ขอโทษนับไม่ถ้วนครั้ง แต่สิ่งที่ผมอยากจะอธิบายก็คือ (ถ้าอยากจะฟัง) ผมคิดว่านี่คือความจงใจที่จะแสดงความล้นเกินทางรสนิยมของชนชั้นกลางในงานวรรณกรรม

ผมพยายามคิดว่าความจงใจเช่นนี้จะนำไปสู่อะไร ผมได้คำตอบลำลองในใจว่า มันแสดงให้เห็นสภาวะล้นเกินอย่างยิ่งของชนชั้นกลาง ในตัวเรื่องสั้นเอง ตัวละครหญิงที่เป็นไรเดอร์กล่าวว่า “ฉันอยากลองมีชีวิตแบบชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงๆ จินตนาการตามว่าหากพวกเขาต้องทำงานอยู่บ้าน จะมีไลฟ์สไตล์เป็นเช่นไร” (หน้า 140) การ ‘หล่นชื่อ’ (name drop) ในงานเขียนนั้นอาจมีหน้าที่ในการทำให้ผู้อ่านเข้าใจรสนิยมและโลกทัศน์ของตัวละครได้มากขึ้น (ผมอาจไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับวิธีการแบบนี้) แต่การขนสรรพรสนิยม สรรพโลกทัศน์ที่ดูมีการศึกษาสูงๆ ยัดใส่ปาก ความคิดและเหตุการณ์ต่างๆ ในตัวเรื่องนั้นผมคิดว่าเป็นความพยายามทำให้เห็นว่า สภาวะอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในชนชั้นกลางไทยคือความ ‘ล้นเกิน’ แม้กระทั่งเรื่องรสนิยม ชนชั้นกลางไทยอาจพึงใจที่ได้เห็นว่าตัวละครนั้นแม้จะเป็นไรเดอร์ แต่ก็มีรสนิยมสูง มีความรู้ในเรื่องศิลปะ ดนตรีอย่างยอดเยี่ยมกระเทียมดอง ในแง่หนึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่ารสนิยมเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไทยเองก็เป็นไม่ได้และไปไม่ถึง ตัวละครในวรรณกรรมจึงอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาเพราะมันช่วยทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริงได้

นี่อาจเป็นอารมณ์ขันที่ร้ายกาจอีกครั้งของ จิรัฏฐ์ ประเสิรฐทรัพย์ก็เป็นได้…

เรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ นั้นต่างก็มีลีลาและน้ำเสียงของการเสียดสีความเป็นชนชั้นกลางอยู่ไม่น้อย เราอาจเคยได้ยินได้ฟังและได้เห็นมาบ้างว่า จิรัฏฐ์ ประเสิฐทรัพย์นั้นเป็นทั้งนักเขียนและศิลปินที่ทำงานในแนวเสียดสีสังคมได้อย่างน่าสนใจคนหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเห็นว่างานของจิรัฏฐ์จะเป็นการเสียดสี ถากถางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ชนชั้นกลาง’ มันจะดู ‘คลิเช่’ หรือเป็นงานเสียดสีที่หาเหยื่อหาแพะง่ายเกินไป แต่ผมคิดว่าจิรัฏฐ์มีอารมณ์ขันที่ร้ายกาจถึงขั้นไม่น่าคบหาเท่าไรนัก

สำหรับในการอ่านเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ‘รักในลวง’ ผมคิดว่าอาจจะมีอีกหลายจุดที่สามารถเอามาอธิบายความไม่น่าคบหาของจิรัฏฐ์ได้มากขึ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save