fbpx

ช้างเผือก: สัญลักษณ์อาณานิคมประจำจังหวัดเชียงใหม่

สัตว์อะไรเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ?

ผมเชื่อว่าคำตอบของคนไทยส่วนมาก รวมถึงท่านผู้อ่านด้วยนั้นน่าจะเป็น ‘ช้าง’ หรืออาจระบุให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่าเป็น ‘ช้างเผือก’ เนื่องจากตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่เป็นรูปช้างเผือกยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเดิมเป็นตราประจำกองลูกเสือในมณฑลพายัพก่อนที่จะใช้เป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดตั้งแต่ปี 2483 เป็นต้นมา นอกจากนี้ช้างเผือกยังปรากฏอยู่ในตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่จนเป็นที่จดจำจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นรูปช้างเผือกชูคบเพลิง จนศิษยานุศิษย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนมากต่างถือว่าตนเป็น ‘ลูกช้าง’ และ ‘ช้างเผือก’ ก็ดูจะกลายเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาวเชียงใหม่ไปโดยปริยาย

ดวงตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่รูปช้างเผือกในซุ้มเรือนแก้ว
ขอบคุณภาพจาก www.chiangmai.go.th

อย่างไรก็ตามจะต้องกล่าวไว้ว่า ‘ช้างเผือก’ ซึ่งปรากฏตามตราสัญลักษณ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ได้มีที่มาจากประวัติศาสตร์ คติความเชื่อ ความทรงจำ หรือตำนานอันเป็นมุมมองภายในของชาวล้านนา (โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่) แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากภาพจำและความเข้าใจของชนชั้นนำชาวสยามในกรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งในช่วงสองศตวรรษกึ่งที่ผ่านมานี้ มีอำนาจเหนือล้านนาตามระบอบประเทศราชซึ่งเป็นระบอบอาณานิคมแบบโบราณ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลซึ่งเป็นระบอบอาณานิคมที่สยามรับมาจากตะวันตก และคลี่คลายตัวมาเป็นระบบราชการรัฐรวมศูนย์ในปัจจุบัน

ภาพจำของชนชั้นนำสยามที่ว่าล้านนาเป็นดินแดนแห่งช้างนั้น น่าจะเริ่มต้นจากการที่ชนชั้นนำดังกล่าวมองล้านนาแบบเหมารวมว่าเป็น ‘ลาว’ จำพวกที่ ‘นุ่งซิ่น กินข้าวเหนียว’ เหมือนๆ กันกับ ‘ล้านช้าง’ ซึ่งตกเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยามในเวลาไล่เลี่ยกัน ถึงแม้ว่าล้านนาจะถือตัวเองเป็นคนไท/ไทย (ซึ่งแตกต่างจาก ‘ไธย’ ที่หมายถึงชาวสยาม) มาโดยตลอดก่อนที่จะเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’ ในภายหลัง แต่เมื่อตกเป็นรองในสถานะเมืองประเทศราช ย่อมไม่อาจจะไปเปลี่ยนความคิดเจ้าอธิราชผู้อยู่ในสถานะเหนือได้มากนัก ล้านนาจึงจำต้องยอมรับความเป็น ‘หัวเมืองลาว’ ในสายตาของชนชั้นนำสยามนับแต่นั้น และภาพของล้านนาก็น่าจะเริ่มเกี่ยวพันกับช้างจากการถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นคู่กันกับล้านช้างนับแต่นั้นมา

ภาพของช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างเผือก ปรากฏในความคิดความเข้าใจของชนชั้นนำสยามเกี่ยวกับล้านนาและเมืองเชียงใหม่อย่างเด่นชัดขึ้นไปอีกในปี 2359 เมื่อ ‘พระยาธรรมลังกา’ หรือที่ฝ่ายสยามเรียกว่า ‘พระยาเชียงใหม่’ (น้อยธรรม) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่สอง ถัดจากพระเจ้ากาวิละผู้เป็นพี่ใหญ่ของเจ็ดพี่น้องแห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ได้นำช้างเผือกพลายเอกช้างหนึ่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กษัตริย์สยามจึงได้เลื่อนยศพระยาเชียงใหม่ (น้อยธรรม) ขึ้นเป็น ‘พระเจ้าเชียงใหม่’ (น้อยธรรม) ซึ่งฝ่ายนครเชียงใหม่ได้ขยายอิสริยยศเพิ่มเติมเป็นการภายในอีกว่า ‘เสตหัตถีสุวัณณประทุมราชาเจ้าช้างเผือก’ หรือเรียกเป็นสมัญญานามอย่างสั้นว่า ‘พระเป็นเจ้าช้างเผือก’ และถัดจากนั้นอีกไม่นานนัก เจ้าผู้ครองนครน่านก็ได้ส่งช้างพลายเผือกเอกมาถวายด้วยช้างหนึ่งเช่นกัน เชียงใหม่และเมืองประเทศราชล้านนาจึงเริ่มเป็น ‘เมืองช้างเผือก’ ในสายตาชนชั้นนำสยามนับแต่นั้นเป็นต้นมา

บทสรุปรวบยอดของความคิดเรื่องการใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์แทนหัวเมืองลาว (ซึ่งรวมล้านนาด้วย) ในฐานะเมืองประเทศราชภายใต้อำนาจของกษัตริย์สยามปรากฏอยู่ใน ‘ตราอาร์ม’ หรือตราแผ่นดินสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ซึ่งยังคงใช้เป็นตราหน้าหมวกของตำรวจและตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจนถึงปัจจุบัน ตราดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกษัตริย์สยามประสงค์จะมีตราลัญจกรแบบตะวันตกไว้ใช้เป็นตราแผ่นดินในระบบราชการแบบสมัยใหม่ จึงได้มอบหมายให้ข้าราชการในกระทรวงวังออกแบบตราโดยการผูกสัญลักษณ์ต่างๆ ตามหลักมุทราศาสตร์ (heraldry) แบบตะวันตก ได้ผลลัพธ์เป็นตราที่มีรูปร่างหน้าตาดังภาพนี้

ตราอาร์มหรือตราแผ่นดินสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขอบคุณภาพจาก Wikipedia / Emblem of Thailand
เค้าโครงการออกแบบตราลัญจกรตามหลักมุทราศาสตร์ (heraldry) ลวดลายที่ปรากฏบนโล่มักเป็นสัญลักษณ์แสดงอาณาเขตที่ผู้ถือตรานี้ปกครอง
ขอบคุณภาพจาก Wikipedia / Heraldic achievement

จะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็นโล่ของตราอาร์มข้างต้นนี้ ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนอย่างไม่สมมาตรและแสดงภาพของวัตถุสามสิ่ง ได้แก่ ช้างเอราวัณ ช้างเผือก และกริช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนดินแดนทั้งสามที่กษัตริย์สยามมีอำนาจเหนือได้แก่พระราชอาณาจักรสยาม หัวเมืองลาวประเทศราช และหัวเมืองมลายูประเทศราชตามลำดับ โดยออกแบบขึ้นตามที่กษัตริย์สยามมักแนะนำสถานะของตนต่อโลกตะวันตกว่าเป็น ‘กษัตริย์สยามทรงอำนาจเหนือลาวและมลายู’ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่แสดงช้างเอราวัณอันเป็นสัญลักษณ์แทนดินแดนสยามทั้งสาม ได้แก่ สยามเหนือ (ภาคเหนือตอนล่าง) สยามกลาง (ภาคกลาง) และสยามใต้ (ภาคใต้ตอนบน) นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่เหนือตราช้างเผือกลาวและตรากริชมลายู แสดงถึงลำดับชั้นอันไม่เท่าเทียมระหว่างสยามซึ่งถือเป็น ‘ประเทศแม่’ หรือส่วนหลักของรัฐ กับลาว (ทั้งล้านนาและล้านช้าง) และมลายูซึ่งถือเป็น ‘หัวเมืองชั้นนอก’ หรือเป็นอาณานิคมชายขอบ ในที่นี้ ช้างเผือกในตราอาร์มซึ่งเป็นตราแผ่นดินสยามยุคอาณานิคมจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจปกครองแบบอาณานิคมของสยามเหนือดินแดนล้านนาอย่างชัดเจน

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งอาจผูกโยงช้างเข้ากับภาพจำเกี่ยวกับล้านนาหรือภาคเหนือตามความเข้าใจของชาวสยามคือบทบาทของ ‘ช้างลากไม้’ ในการดำเนินอุตสาหกรรมป่าไม้ในดินแดนล้านนา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงอาณานิคมช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลานั้น ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของล้านนาถือเป็นทรัพยากรอันมีค่า และเป็นสิ่งล่อตาล่อใจสำหรับทั้งเจ้าอาณานิคมตะวันตกอันได้แก่จักรวรรดิอังกฤษและเจ้าอาณานิคมพื้นถิ่นอันได้แก่สยาม จนเป็นหนึ่งในเหตุที่สยามเริ่มรุกคืบเข้ามาสถาปนาอำนาจปกครองแบบอาณานิคมสมัยใหม่เหนือดินแดนล้านนาเพื่อเอื้ออำนวยให้อุตสาหกรรมดังกล่าว (ซึ่งประกอบกิจการโดยกลุ่มทุนต่างชาติ) สามารถดำเนินการไปได้โดยสะดวก อุตสาหกรรมป่าไม้จึงถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในล้านนา ทั้งยังดึงเอาเศรษฐกิจล้านนาให้เชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทุนนิยมโลกแบบอาณานิคมมาจนถึงการประกาศ ‘ปิดป่า’ หรือยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในปี 2532

ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมดังกล่าวมีส่วนสร้างความทรงจำเกี่ยวกับล้านนาในฐานะ ‘ภาคเหนือ’ หรือ ‘ภาคเหนือตอนบน’ ของประเทศไทยให้เป็นดินแดนแห่งป่าไม้ (ซึ่งยังสามารถตัดเลื่อยไม้ได้อยู่) ภาพของท่อนซุงกลายเป็นภาพที่ชินตาของภาคเหนือ และเมื่อมีภาพของท่อนซุงแล้ว ก็ย่อมต้องมีภาพของช้างที่ฝึกหัดไว้สำหรับลากท่อนซุงปรากฏอยู่คู่กัน ถึงทุกวันนี้ที่ทางและบทบาทของช้างที่ผ่านการฝึกหัดมาแล้วจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมป่าไม้มาเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนอาจกลายเป็นอีกหนึ่งที่มาของภาพจำว่าด้วยช้างกับภาคเหนือ ล้านนา และเชียงใหม่ ก็ถือได้ว่าการฝึกช้างดังกล่าวเป็นมรดกหนึ่งจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบอบอาณานิคมด้วยเช่นกัน

อันที่จริง นัยยะของความสัมพันธ์แบบอาณานิคมที่แสดงความไม่เท่าเทียมระหว่างล้านนาเชียงใหม่และสยามนั้น ก็ปรากฏในคำอธิบายความหมายอย่างเป็นทางการของตราช้างเผือกในเรือนแก้วที่ปรากฏในเว็บไซต์ของส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ว่า ‘ช้างเผือกหมายถึงช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ นำทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอก ในรัชกาลพระองค์‘ อาจถือได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธ ปกปิด หรือบิดเบือน และแม้แต่ภาครัฐก็ยอมรับนัยความหมายดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ทางการของตน

นอกจากที่ปรากฏในประวัติศาสตร์การตกเป็นอาณานิคมสยามตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ก็ไม่ได้ปรากฏที่ไหนว่า ‘ช้าง’ หรือ ‘ช้างเผือก’ จะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ตำนาน เรื่องเล่า ความเชื่อ หรือความทรงจำใดๆ ของนครเชียงใหม่อีก เว้นเพียงแต่รูปปั้นช้างเผือกสองตัวที่บริเวณประตูช้างเผือก อันเป็นที่มาของชื่อประตูดังกล่าว เรื่องราวของรูปปั้นช้างเผือกทั้งสองนี้ปรากฏเพียงว่าสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพญาแสนเมืองมาเพื่อเป็นอนุสรณ์วีรกรรมของนายทหารสองคนชื่อ ‘อ้ายออบ’ และ ‘อ้ายยี่ระ’ ซึ่งได้ช่วยชีวิตพญาแสนเมืองมาในคราวที่พลัดหลงจากไพร่พลหลังพ่ายแพ้แตกทัพที่เมืองสุโขทัยเท่านั้นเอง คงจะไม่ถึงขนาดที่หยิบยกมาเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองเชียงใหม่ได้

หากจะต้องเลือกสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งมาเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ สัตว์ชนิดนั้นน่าจะเป็น ‘ฟานเผือก’ หรือเก้งเผือกมากกว่า เนื่องจากมีเรื่องราวปรากฏในประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงใหม่ว่าในระหว่างที่พญามังรายกำลังเสาะแสวงหาทำเลสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมานั้น ได้ออกล่าสัตว์พร้อมกับกลุ่มพรานป่าที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ แล้วพบบริเวณแห่งหนึ่งเป็นทุ่งราบโล่งกว้าง มีหงหนามและเนินหญ้าคาขึ้นอยู่ ในบริเวณนั้นได้พบกับเก้งเผือกแม่ลูกคู่หนึ่งออกจากพงหญ้าคามาหากิน มีความเก่งกล้าสามารถ นอกจากจะไม่กลัวฝูงหมาล่าเนื้อของพญามังรายที่รุมล้อมกันพยายามเข้าไปขบกัดแล้วแล้ว ยังเข้าต่อสู้จนฝูงหมาแตกพ่ายไปได้ พญามังรายเห็นบริเวณดังกล่าวเป็นชัยภูมิที่ดี อีกทั้งยังพบกับเก้งเผือกแม่ลูกซึ่งถือเป็นสัตว์วิเศษ สามารถเอาชนะฝูงหมาล่าเนื้อได้ จึงเลือกเอาบริเวณดังกล่าวเป็นทำเลที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่

ต่อมาจึงเป็นที่เชื่อถือกันว่าเก้งเผือกแม่ลูกคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชัยมงคลเจ็ดประการ’ หรือ ‘สิริมงคลเจ็ดประการ’ แห่งเมืองเชียงใหม่ โดยถือว่าการอยู่อาศัยของเก้งเผือกแม่ลูก ถือเป็นปฐมชัยมงคลหรือสิริมงคลประการแรก และชัยชนะเหนือฝูงหมาล่าเนื้อของเก้งเผือกแม่ลูกดังกล่าวก็ถือเป็น ‘ชัยมงคลถ้วนสอง’ หรือสิริมงคลประการที่สองของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย เท่ากับว่าเก้งเผือกเป็นชัยมงคลประจำเมืองเชียงใหม่ถึงสองประการจากทั้งหมดในเจ็ดประการเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เรื่องราวเดียวกันนี้ยังปรากฏต่อไปอีกว่าในบริเวณนั้น พญามังรายยังได้พบกับ ‘พญาหนูเผือก’ พร้อมทั้งบริวารหนูอีกสี่ตัว ถือเป็น ‘ชัยมงคลถ้วนสาม’ หรือสิริมงคลประการที่สามถัดจากเก้งเผือกซึ่งเป็นชัยมงคลสองข้อแรก ดังนั้นสัตว์อันเป็นชัยมงคลและอาจใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองเชียงใหม่ได้จึงมีสองชนิด ได้แก่ เก้งเผือกและหนูเผือก ไม่ใช่ช้างเผือกซึ่งปรากฏขึ้นภายหลังแต่อย่างใด

ผู้หนึ่งที่เล็งเห็นว่าเก้งเผือกเป็นสัตว์ที่สมควรจะเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ได้แก่นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง นักธุรกิจและนักล้านนานิยมผู้มีบทบาทในการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาและศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดีล้านนาอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญคือเป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์เรียกร้องให้ก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยภาคเหนือ’ ทั้งยังได้ให้มารดาคือนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ขายที่ดินผืนใหญ่ให้รัฐบาลในราคาเหมือนให้เปล่า (หลังจากที่รัฐบาลไม่ยอมรับการบริจาคที่ดินผืนดังกล่าวก่อนหน้านี้)

ในระหว่างกระบวนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้เอง นายไกรศรีได้เสนอให้ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นรูปเก้งเผือกสองแม่ลูก ยืนกลางเนินหญ้าคา และมีพื้นหลังเป็นดอยสุเทพ เพื่อให้สอดคล้องกับตำนานการสร้างเมืองเชียงใหม่ที่ได้กล่าวมาแล้ว พร้อมทั้งเสนอให้ใช้สีประจำมหาวิทยาลัยเป็นสีแสดซึ่งเป็นสีประจำวันพฤหัสบดีอันเป็นวันสถาปนาเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของนายไกรศรีทั้งเรื่องตราสัญลักษณ์และเรื่องสีประจำมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการขยายผลต่อแต่อย่างใด โดยสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบันนั้น นอกจากจะเป็นรูปช้างเผือกชูคบเพลิงแล้ว ยังมีรูปดอกสักซึ่งเป็นต้นไม้เศรษฐกิจสำคัญในล้านนายุคอาณานิคม และสีม่วงดอกรักอันเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยนั้นก็ดัดแปลงมาจากเป็นสีม่วงแดงซึ่งเดิมเป็นสีประจำมณฑลพายัพ อันเป็นการหน่วยการปกครองตามระบอบอาณานิคม นับได้ว่าสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แฝงนัยของระบอบอาณานิคมสยามไว้มากทีเดียว

ภาพร่างตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่นายไกรศรี นิมมานเหมินท์เสนอ
ภาพจาก จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอขอบคุณความเอื้อเฟื้อจากอาจารย์ณัฐพงศ์ ปัญจบุรี

ต่อมาจนถึงปี 2560 ที่เก้งเผือกถูกปลุกชีพคืนขึ้นมาสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองเชียงใหม่ในรูปแบบของ ‘น้องฟาน’ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสัตว์นำโชค (mascot) สำหรับการรณรงค์ผลักดันให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก และได้นำไปออกงานต่างๆ เพื่อสร้างสีสันในจังหวัดเชียงใหม่ การรื้อฟื้นเรื่องราวของเก้งเผือกซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามประวัติศาสตร์พื้นถิ่นมานำเสนอแทนช้างเผือกซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามประวัติศาสตร์รวมศูนย์อาจถือได้ว่าเป็นหมุดหมายของการฟื้นฟูอัตลักษณ์ล้านนา แต่น่าเสียดายที่ถึงขณะนี้ น้องฟานดูจะยังไม่ติดตลาดมากเท่าที่ควร และคงจะยังต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ กว่าที่ภาพของ ‘เก้งเผือก’ จะแทนที่ ‘ช้างเผือก’ ได้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ท้องถิ่นนั้นถูกผูกขาดและกำหนดโดยรัฐส่วนกลาง เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่ถูกผูกขาดไว้ที่ศูนย์กลางอำนาจภายใต้ระบบรัฐรวมศูนย์ซึ่งดำรงอยู่ในปัจจุบัน

โจทย์เรื่องสัตว์สัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ดังกล่าวนี้ ดูเหมือนเป็นโจทย์เล็กๆ ที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็อาจจะจริงในแง่ที่ว่าไม่ว่าจะใช้สัตว์อะไรเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดดีขึ้นหรือแย่ลงโดยตรง อย่างไรก็ตาม การเลือกสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นเรื่องของอัตลักษณ์หรือตัวตนของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ อันเป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ หากอัตลักษณ์ของผู้คนถูกคัดเลือกและสรรสร้างโดยคนจากส่วนกลาง ตัวตนของผู้คนย่อมถูกผูกไว้กับอำนาจส่วนกลาง และมีแนวโน้มที่จะยอมรับหรือสนับสนุนการรวมศูนย์อำนาจ ในทางตรงกันข้าม หากอัตลักษณ์ของผู้คนเกิดขึ้นจากสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตัวตนของผู้คนย่อมผูกอยู่กับพื้นที่ของตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะยอมรับหรือสนับสนุนการกระจายอำนาจด้วยเช่นกัน โจทย์เรื่องสัตว์สัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ (และจังหวัดอื่นๆ) จึงไม่ได้เป็นเพียงประเด็นทางเทคนิกสำหรับนักวิชาการ แต่เป็นโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการกระจายอำนาจเชิงโครงสร้างทั่วประเทศไทย

คำตอบของโจทย์เรื่องสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่นั้น จะสมควรใช้เป็นช้างเผือกดังเดิม หรือจะสมควรเปลี่ยนเป็นเก้งเผือก หรือจะเห็นสมควรใช้สัญลักษณ์อื่นใดนั้น เป็นสิทธิของชาวเชียงใหม่ที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง คนลำปางเช่นผู้เขียนคงจะได้แต่เปิดประเด็นไว้ในที่นี้ เผื่อว่าคนเชียงใหม่จะสนใจทบทวนถกเถียงว่าแท้จริงแล้วต้องการอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นแบบใด ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการกระจายอำนาจ ซึ่งจะต้องทำทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมถึงในด้านประวัติศาสตร์และตัวตนของผู้คนด้วยเช่นกัน


บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ตราประจำจังหวัด. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542.

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ชาติไทยของสยามเหนือชาวปัตตานีมลายูในศตวรรษที่ 19”. วารสารศิลปะศาสตร์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม -ธันวาคม 2561): 179-192

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา, “43. ได้พระยาเสวตรไอยราช้างเผือกเมืองเชียงใหม่” ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.at/hnwL3 (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566)

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๙.

“เปิดตัว ‘น้องฟาน’ มาสคอตแคมเปญ ดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก” ใน มติชนออนไลน์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/local/news_526179 (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566)

สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่, “ตราประจำจังหวัด” ใน วิสัยทัศน์จังหวัด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.chiangmai.go.th/web2561/vision/ (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566)

สมโชติ อ๋องสกุล, จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประวัติศาสตร์ยุคเรียกร้องมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ และประวัติบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2565)

หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา), “เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย” ใน ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://library.cmu.ac.th/pinmala/trait.php (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566)

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2547

Emblem of Thailand. (2023, April 25). In Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Emblem_of_Thailand (Retrieved 30 May 2023)

Heraldry. (2023, May 22). In Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Heraldry (Retrieved 30 May 2023)

Talor Easum, อัตลักษณ์ท้องถิ่น การเมืองระดับชาติและมรดกโลกในภาคเหนือของประเทศไทย. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://kyotoreview.org/issue-27/local-identity-national-politics-world-heritage-in-northern-thailand-th/ (สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save