fbpx
'ใหญ่ เร็ว ตรงจุด' : มาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในทัศนะของ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

‘ใหญ่ เร็ว ตรงจุด’ : มาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในทัศนะของ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

 

 

 

หลังจากการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ตามมาติดๆ คือปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างถ้วนหน้า เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการทางการคลังเพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือแรงงานและลูกจ้าง เช่น การแจกเงินอุดหนุน 5,000 บาทต่อเดือน โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน ฯลฯ หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การเลื่อนชำระภาษี โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ ฯลฯ

แต่มาตรการเหล่านี้ตอบโจทย์หรือไม่กับปัญหาที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า มากพอและเร็วพอหรือไม่กับอาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจที่หลายคนกล่าวว่า อาจหนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

จากความเป็นความตายด้านสุขภาพ สู่ความเป็นความตายด้านเศรษฐกิจ 101 สนทนากับ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด, ประธานคณะกรรมการภาษีและกฎระเบียบ สภาหอการค้าไทย และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยมาตรการเศรษฐกิจภาครัฐและการปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ที่กำลังจะมาถึง (หรือมาแล้ว!) ในรายการ 101 One-On-One Ep.112 : “สู้ COVID-19 ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจและกฎหมาย” (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563)

 

มาตรการการคลังและกฎหมายที่รัฐพึงกระทำ

 

ผมคิดว่ามาตรการการคลังที่ออกมายังไม่เพียงพอ และยังไม่ถูกจุด เช่น มาตรการให้เงินชดเชย 5,000 บาท มาตรการขยายเวลาจ่ายเงินประกันสังคม และลดการจ่ายเงินสมทบโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว ผมรู้สึกว่ายังไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรมาก กระทั่งมาตรการยืดเวลาเสียภาษีก็เป็นมาตรการเล็กๆ ที่ทุกประเทศทำกัน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

รัฐบาลบอกว่าจะกู้เงินมาซัพพอร์ตการแก้ปัญหาโควิด-19 ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการใช้งบกลางและปรับโอนงบประมาณที่มีอยู่ก่อน เช่น การกันงบประมาณจำนวนหนึ่ง อาจจะสัก 10% มาเป็นมาตรการช่วยเหลือเรื่องโควิด นอกเหนือไปจากงบกลางที่เหลือไม่เยอะ แล้วค่อยวางแผนเรื่องการกู้เงิน ซึ่งจะกระทบสถานะทางการคลังของไทย

อีกเรื่องหนึ่งคือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการห้ามออกนอกสถานที่และการปิดสถานที่ ซึ่งก็ต้องทำไป แต่ความจริงแล้วมีกฎหมายหลายฉบับที่รัฐบาลพึงกระทำในการประกาศมาตรการฉุกเฉิน เพื่อทำให้การช่วยเหลือไปถึงทุกภาคส่วน เช่น วันนี้กฎหมายบอกว่าจะจ่ายเงินทดแทนจากประกันสังคมให้ผู้ว่างงาน 60 วัน สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งพอไปดูเงื่อนไข กฎหมายตีความว่าจะจ่ายให้ในกรณีที่รัฐสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ ซึ่งรัฐไม่สั่งเลย หรือในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยเท่านั้น แต่ผมคิดว่าลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมควรจะได้เงินจากนายจ้างประมาณ 50-70% ก่อน ในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งแปลว่าอาจจะต้องแก้กฎหมาย

หรือตัวอย่างกฎหมายที่รัฐบาลไม่ได้ใช้เลยคือ การห้ามส่งออก ตาม พ.ร.บ. ราคาสินค้าและบริการ เช่น รัฐบาลบอกว่าห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย แต่กิจการผลิตหน้ากากอนามัยจำนวนหนึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) รัฐบาลก็ควรต้องมีมาตรการรับมือ เช่น เมื่อกำหนดว่าห้ามส่งออก รัฐก็เข้าซื้อสินค้าจากกิจการเหล่านี้ ไม่ใช่ไปยึดเขามา

 

ช่วยผู้ประกอบการ: อุดหนุนเงินค่าจ้าง และซัพพอร์ตเงินกู้

 

ธุรกิจของไทยได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ในระยะยาวผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือด้านการท่องเที่ยว แต่ถามว่ารัฐบาลมีข้อมูลหรือเปล่าว่าหน่วยงานหรือกิจการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจริงๆ แล้วมีกี่ราย บริษัทไหนที่ได้รับผลกระทบ ถูกปิดกิจการ บริษัทไหนที่ไม่เจอวิกฤต ยังได้กำไร พนักงานยังมีงานทำ จริงๆ ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการต่างๆ รัฐบาลน่าจะมีอยู่แล้วผ่านระบบการเสียภาษี แต่รัฐต้องดูข้อมูลย้อนหลังว่ารายได้หายไปกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือได้ตรงจุด

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กควรได้รับการช่วยเหลือเรื่องเงินเดือนพนักงาน หากเขาไม่เลิกจ้างพนักงาน รัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุน ตอนนี้บริษัทหรือโรงแรมบางที่ให้พนักงานส่วนหนึ่งอยู่บ้านเฉยๆ โดยมีการจ่ายเงินเดือนให้ ส่วนพนักงานที่ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี ก็เลิกจ้าง เพราะฉะนั้นมาตรการที่จะให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 เป็นเวลา 3 เดือนถือว่าน้อยมาก รัฐบาลควรจะเข้ามาซัพพอร์ตเงินเดือน เพื่อให้เขายังมีงานทำอยู่มากกว่า เช่น จ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้พนักงาน หรือไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน ในระยะเวลา 3-6 เดือน ภายใต้เงื่อนไขว่าเจ้าของกิจการต้องไม่เลิกจ้างพนักงาน

ส่วนปัญหาที่ไม่สามารถลดค่าตอบแทนแรงงานได้ตามกฎหมายแรงงาน รัฐก็อาจจะต้องออก พ.ร.ก. ว่าในช่วงเวลานี้ให้นายจ้างลดค่าจ้างได้ โดยที่ลูกจ้างยินยอมเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 3-6 เดือน

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ รัฐบาลบอกจะให้เงินกู้และยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจที่เดือดร้อน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว แต่การยกเว้นภาษีมันไม่ได้ช่วยอะไร เพราะยังไงเขาก็ขาดทุนกันอยู่แล้ว รัฐบาลควรใช้มาตรการคืนภาษีให้เขาโดยเร็ว หรือไม่ตรวจภาษีในช่วงนี้มากกว่า คือให้เงินไปก่อน เพื่อที่เขาจะได้เอาเงินไปจ่ายให้ลูกจ้าง

ส่วนเรื่องเงินกู้ อาจจะมีมาตรการไม่คิดดอกเบี้ยเลยในวงเงินจำกัดที่ตั้งไว้ คือให้เป็นเงินกู้ฟรีเฉพาะช่วง 1 ปีนี้ หากมีหนี้ของสถาบันการเงิน ก็ให้หยุดชำระหนี้ (moratorium) ไปก่อน สมมติรัฐบาลให้เงินกู้ไปโดยไม่คิดดอกเบี้ย วันนึงหากกิจการเหล่านั้นมีกำไรแล้วก็ค่อยมาทยอยคืน ผมอยากให้รัฐคิดนอกกรอบมากขึ้น

 

ช่วยกลุ่มเปราะบาง: ระดมฐานข้อมูล และทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ

 

ในประชาชนกลุ่มเปราะบาง นอกจากการสนับสนุนด้านสินเชื่อแล้ว สิ่งสำคัญคือความช่วยเหลือต้องไปถึงคนเหล่านั้นอย่างตรงจุด ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามคนเปราะบางอย่างไรบ้าง เช่น ในกรณีของคนรากหญ้า เราอาจต้องให้เงินช่วยเหลือโดยตรง แต่ในกรณีของชาวไร่ชาวนา นอกจากวิกฤตโควิด ก็ต้องคิดไปไกลถึงวิกฤตภัยแล้งด้วย รู้ว่าในช่วงโควิดจะช่วยแบบไหน พอภัยแล้งมาถึงจะช่วยแบบไหน

ในเมืองนอกเขามีข้อมูลที่เพียงพอ เขารู้เลยว่าประชาชนมีรายได้เท่าไหร่ รัฐจะช่วยใคร จะแจกเงินยังไง ทำให้เขาช่วยได้ตรงจุด แต่ประเทศไทยผมไม่มั่นใจว่าระบบพวกนี้เสถียรและครบถ้วน คนที่อยู่นอกระบบจริงๆ มีเยอะมาก ดูจากที่มีคนลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ตั้ง 20 ล้านคน รัฐบาลต้องมั่นใจว่ามีข้อมูลถูกต้องและเพียงพอ มั่นใจว่าเงินจะไปถึง และเงินนั้นประชาชนต้องเอาไปซื้อของ โดยเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ

สิ่งสำคัญคือ รัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เงินที่แจกไปไหลกลับมาเข้าสู่ระบบ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้ ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้ประชาชนเอาเงินที่รัฐให้ไปใช้จ่ายในร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี

ผมเข้าใจว่าในต่างประเทศเขามีระบบตรวจสอบหมดว่าเงินไปที่ไหน แต่กรณีของประเทศเราที่ผมกลัวคือ เอาเงินไปแล้วเงินหายไปเลย ดังนั้นรัฐบาลต้องวางมาตรการทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับการฟื้นฟูอย่างเร็วที่สุด

ถ้ารัฐบาลมองระยะยาว ต้องใช้มหาวิกฤตคราวนี้เป็นโอกาส ระดมฐานข้อมูลต่างๆ นอกระบบเข้ามา เช่น ประชาชนอาจเอาเงินไปซื้อของจากตลาดนัดที่รูดการ์ดไม่ได้ และไม่อยู่ในระบบ แต่ถ้าพลิกวิกฤตเป็นโอกาสรัฐบาลก็สามารถช่วยเหลือเขาโดยมีเงื่อนไขว่าต้องขึ้นทะเบียน รับจ่ายเงินผ่านระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะได้มีข้อมูลว่าเขาขายของเท่าไหร่ เหมือนการขึ้นทะเบียนคนจน แต่คราวนี้มีทั้งคนจน คนชั้นกลาง ผู้ประกอบการ โดยให้คำมั่นว่าจะไม่เอาข้อมูลมาเล่นงานเรื่องภาษีย้อนหลังอะไรทั้งสิ้น

วิกฤตคราวนี้เราจะได้เริ่มต้นสร้างบ้านแปงเมืองกันใหม่ในเชิงระบบ และทำให้การให้ช่วยเหลือไม่ใช่การสักแต่แจก

ช่วยโลกธุรกิจและตลาดทุน : ปรับโครงสร้าง และสร้างวัฒนธรรมการเสียภาษีใหม่

 

รัฐบาลออกมาบอกว่า ถ้าเอกชนคนไหน บริษัทไหน บริจาควัสดุทางการแพทย์เพื่อใช้ในวิกฤตโควิด จะได้รับการยกเว้นภาษีแบบไม่จำกัดวงเงิน จากเมื่อก่อนที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ บริษัทใหญ่ๆ ที่อยากช่วยจึงบริจาคเท่าที่จำกัด เพราะถ้าบริจาคเกินต้องเสียภาษีมากขึ้น แต่วันนี้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนใหญ่ๆ มาช่วยเหลือเต็มที่ เท่าไหร่เท่ากัน

ผมมองว่าประเด็นนี้เราจะขยายต่อไปได้ไหม เช่น การให้บริษัทใหญ่ช่วยบริษัท SME เอาเงินให้ SME ที่เป็น supply chain กู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย มาตรการนี้อาจจะกระทบการคลัง เพราะแทนที่เขาจะมาเสียภาษี ก็ไปช่วยลูกค้าของเขาโดยตรง แต่มันจะช่วยให้ SME ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมาได้ เพราะระบบการเงินยิงตรงไปหาผู้ประกอบการเลย แต่แน่นอนว่าต้องมีมาตรการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการหนีภาษีโดยไปจ่ายให้บริษัทที่ไหนก็ไม่รู้

อีกอย่างที่ผมอยากจะเสนอคือ รัฐบาลไปดูสิครับว่าบริษัทหรือพนักงานที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือ เขาเคยเสียภาษีให้กับรัฐเท่าไหร่ คือคนไม่เสียภาษีก็ยังให้ความช่วยเหลือนะครับ แต่สำหรับคนที่เสียภาษี รัฐบาลควรจะทำให้เขารู้สึกว่าวันที่เขาเดือดร้อนรัฐบาลกลับมาช่วยเหลือเขา เช่น ให้เครดิตภาษี ให้เงินช่วยเหลือ เป็นการตอบแทนภาษีที่เขาเคยจ่าย ถ้ารัฐบาลทำได้ มันจะสร้างวัฒนธรรรมใหม่ และสามารถปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความโปร่งใส คนจะคิดว่าต่อไปนี้ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล เพราะยามวิกฤตรัฐบาลจะกลับมาช่วย

นอกจากนี้ในภาคตลาดเงินและตลาดทุนก็ต้องได้รับการช่วยเหลือ จะบอกว่าเป็นเรื่องของคนรวย ไม่ต้องช่วย ก็ไม่ได้ เพราะตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญของประเทศ แต่ความช่วยเหลือในตลาดทุนต้องไม่ใช่การนำเงินเข้าไปอุ้ม แต่เป็นการปรับโครงสร้างตลาดทุนให้ระบบเดินไปข้างหน้าได้อย่างคล่องตัวและเป็นธรรม

เราอาจจะต้องดูภาพรวมเลยว่า เราจะใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีไปทีเดียวเลยไหม ดูว่าจะเก็บภาษีอะไรเพิ่มขึ้นจากคนรวย คนชั้นกลางจะได้รับลดหย่อนภาษีแบบไหน เมื่อตลาดเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ควรจะพิจารณาเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นหรือเปล่า หรืออาจพิจารณาการเก็บภาษีกำไรส่วนต่างราคาหุ้น (capital gain tax) บางส่วนในอัตราที่เหมาะสม

เตรียมพร้อม : มองความเจ็บและความตายอย่างมีความหมาย

 

ช่วงที่มีโรคระบาดใหม่ๆ คนจะบอกว่า ไม่ถึงกับตายหรอก แต่ผมคิดว่าคนเรา เมื่อเกิด แก่ ก็ต้องเจ็บอยู่แล้ว และโรคภัยไข้เจ็บก็สามารถนำเราไปถึงความตาย หลวงพ่อท่านไหนก็เทศน์ตรงกันว่าความเจ็บปวดเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น นี่แหละชีวิตจริงของมนุษย์ เราจึงต้องเตรียมรับมันด้วยใจที่พร้อม และระมัดระวัง

ถ้าดูสถานการณ์ต่างประเทศ อิตาลี สเปน หรือสหรัฐอเมริกา เห็นไหมครับว่าคนตายไปหลายหมื่นคน และผมคิดว่ายอดผู้เสียชีวิตต้องแตะแสนคนแน่นอน แม้เมืองไทยจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่เยอะเท่า แต่ก็ทำให้เราตระหนักว่าชีวิตคนไม่เที่ยงแท้

ผมอ่านเรื่องราวของคนแก่ชาวเบลเยียมคนหนึ่งแล้วประทับใจมาก คนแก่คนนี้บอกว่า ให้เอาเครื่องช่วยหายใจไปใช้กับเด็กเถอะ ฉันอายุ 90 แล้ว ได้มีชีวิตที่สวยงามมาแล้ว ขอฉันไปเถอะ หรือการได้เห็นเด็กอายุไม่กี่เดือนเสียชีวิตในต่างประเทศ มันสะท้อนว่า เมื่อเวลามาถึง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความตายได้ แม้แต่คนหนุ่มคนสาว เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมการให้พร้อม รู้ว่าเราจะไปอย่างไรให้งดงามและมีความสุข

ผมเชื่อว่าการระบาดจะเป็นบทเรียนให้คนหนุ่มคนสาว เขาคงไม่เคยคิดหรอกว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้รู้จักชีวิตมากขึ้น และรู้ว่าการเตรียมตัวให้พร้อมดียังไง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save