fbpx

คตินิยมศิลปะญี่ปุ่นในสแกนดิเนเวีย

ถ้าหลับตาแล้วลองนึกถึงความเป็นสแกนดิเนเวีย คงจะมีจินตนาการจำนวนมากที่เห็นว่า แสนจะเข้ากับสุนทรียะของความเป็นญี่ปุ่นอย่างน่าพิศวง ไม่ว่าจะความเรียบเกลี้ยง มินิมอล การเข้าไปข้างใน ความว่าง อาการสโลวไลฟ์ น้อยแต่งาม สัมพันธ์กับธรรมชาติ และคำคุณศัพท์อื่นๆ ที่เติมกันไปได้อีกมาก

ดูเหมือนว่าคู่มือการอยู่ในโลกปัจจุบันในฐานะชนชั้นเฉพาะหนึ่งๆ คงจะต้องมีคุณสมบัติที่สุนทรียะความเป็นญี่ปุ่นและสแกนดิเนเวียได้มอบให้แก่โลกสมัยต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อจะได้ไม่ว้าวุ่นทางจิตใจเกินไป

แต่ก็ไม่เป็นไรนัก เพราะบรรษัทเภสัชภัณฑ์ข้ามชาติมาช่วยอีกแรงหนึ่งอยู่แล้ว เบาใจลงได้ ขอเพียงมีปัญญาจะจ่าย มีรัฐที่มีระบบเศรษฐกิจเสรีเพียงพอ เพื่อช่วยออกกฎหมายให้เหมาะสมต่อกระบวนการทุนนิยมเภสัชภัณฑ์ พร้อมๆ ไปกับสนับสนุนบรรษัทประกันข้ามชาติอย่างแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ไร้รอยต่อ

Interior with potted plant on card table (1910-11) (ที่มาภาพ)

ที่มา

ทว่า อาการที่เข้ากันแสนจะเหมาะเจาะนี้ย่อมจะต้องมีที่มาครับ และที่มานี้เองก็ถูกกำหนดด้วยความสัมพันธ์ทางวัตถุ ทางการเคลื่อนย้ายข้ามรัฐชาติ สงคราม และรวมถึงการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิ ไม่ว่าจะจักรวรรดิยุโรปหรือจักรวรรดิเอเชียก็ตาม พูดอย่างรวบรัดสักหน่อยก็คือ สิ่งเหล่านี้ย่อมจะต้องถูกสร้างขึ้น

The Misses Salomon (1888) โดย อันเดรส ซอร์น (Anders Zorn) ศิลปินสวีเดนคนสำคัญ (ที่มาภาพ)

คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น (japonisme) เป็นอิทธิพลของศิลปะและสุนทรียะจากญี่ปุ่นที่ไปมีอิทธิพลอยู่ในยุโรปเหนือช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นกระแสที่เกิดขึ้นหลังจากญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศในช่วงกลางศตวรรษ นำไปสู่การรู้จักและหลั่งไหลพรั่งพรูของสุนทรียะจากญี่ปุ่นบางประการที่เข้าไปในยุโรปเหนือ คตินิยมที่ว่านี้ดำรงอยู่ต่อเนื่องไป ทั้งเปลี่ยนรูปแบบไปเนืองๆ ตามข้อถกเถียงของนักวิจารณ์ศิลปะและนักวิชาการ

เมื่อว่าตามท่านผู้รู้ ในภาพรวม คติเช่นนี้ไปเริ่มกันที่ฝรั่งเศส ผ่านผลงานของศิลปินระดับโลกหลายต่อหลายคน แต่ในที่นี้ผมขอถือวิสาสะข้ามมาที่สแกนดิเนเวีย ภูมิภาคของชายขอบยุโรป เพื่อไล่เรียงให้เห็นถึงบางเส้นทางของการเดินทางความคิด รสนิยม และสุนทรียะครับ

เข้าสแกนดิเนเวีย

ความรู้จักญี่ปุ่นในสแกนดิเนเวียแรกๆ มาจากข้อเขียนของนักธรรมชาติวิทยชาวสวีเดน คาร์ล ปีเตอร์ ทุนเบิร์ก (Carl Peter Thunberg, 1743-1828) ที่เดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และเขียนบันทึกการเดินทางของตน จากนั้นหนังสือหลายเล่มของเขาก็แพร่ไปในภูมิภาค พร้อมๆ กับการกระจายไปของหนังสือว่าด้วยญี่ปุ่นของนักเดินทาง พ่อค้า นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยชาวยุโรปต่างๆ ที่ชาวสแกนดิเนเวียได้ผ่านหูผ่านตา นอกจากนี้ งานนิทรรศการนานาชาติที่จัดกันในเมืองใหญ่ของยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่รสนิยมเหล่านี้เผยแพร่ด้วย

เดนมาร์ก

ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้เอง นิตยสาร Kunstbladet ของเดนมาร์กมีส่วนสำคัญ และในปี 1888 มีการจัดนิทรรศการศิลปะญี่ปุ่นในโคเปนเฮเกน พร้อมทั้งพิพิธภัณฑ์ออกแบบเดนมาร์กก็ซื้องานศิลปะญี่ปุ่นมาเก็บมากขึ้น

จิตรกรและศิลปินนักออกแบบชาวเดนมาร์ก พิเอโตร โครห์น (Pietro Krohn, 1840-1905) มีส่วนสำคัญ เขารู้จักกับคนในวงการสะสมและในตลาดศิลปะมากมาย และเขาออกแบบชุดถ้วยโถโอชามที่ได้รับอิทธิพลจากคตินิยมญี่ปุ่นนำไปแสดงในงานนิทรรศการนานาชาติในปารีส และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสถาปนาเดนมาร์กให้เป็นแหล่งออกแบบเครื่องกระเบื้องที่เป็นที่รู้จัก

แจกันของ ธอร์วัลด์ บินเดสโบลล์ (Thorvald Bindesbøll) (ที่มาภาพ)

นอกจากนี้ อาร์โนลด์ ครูก (Arnold Krog, 1856-1931) ผู้อำนวยการศิลปะของ Royal Copenhagen เป็นบุคคลที่ทำให้แนวทางของบริษัทถ้วยชามระดับโลกแห่งนี้เน้นไปในทางที่ดำรงอยู่มาถึงในปัจจุบัน 

ถ้าไปดูผลงานของศิลปินเดนมาร์กระดับโลกอย่าง วิลเฮล์ม ฮัมเมอร์เชย (Vilhelm Hammershøi) ก็มีการวิเคราะห์ว่าหลายงานของเขาได้รับอิทธิพลจากคตินิยมญี่ปุ่นเช่นกัน เช่น Interior with potted plant on card table (1910-11)

สวีเดน

ข้ามไปทางฝั่งสวีเดน เจ้าชาย ยูจีน (Prince Eugen, 1865-1947) เป็นนักสะสมศิลปะ และด้วยการเป็นชนชั้นนำ เขาก็ทำให้รสนิยมเรื่องศิลปะญี่ปุ่นแพร่ไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นในสวีเดน

พร้อมๆ ไปกับบริษัทเครื่องกระเบื้องเรอสตรันด์ (Rörstrand) ก็ทุ่มความสนใจไปในทางคตินิยมญี่ปุ่น และงานกระเบื้องของบริษัทนี้ก็ก้าวเข้าสู่จุดสุงสุดในงานแสดงนิทรรศการนานาชาติที่สตอคโฮล์มในปี 1897

นอร์เวย์

Gerhard Munthe, Small Trouts and Marsh Marigolds (1891) (ที่มาภาพ)

เส้นทางคตินี้ปรากฏในนอร์เวย์เช่นกัน และเด่นชัดจากการรวมตัวของศิลปินชาวนอร์เวย์หกคนรวมกลุ่มกันและไปทำงานศิลปะช่วงหน้าร้อนหนึ่ง เป็นที่รู้จักในชื่อ Fleskum Summer ของปี 1886 งานของพวกเขาถือเป็นจุดตั้งต้นหนึ่งของคตินิยมญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ศิลปะของนอร์เวย์ 

ในปี 1897 เกิดความคึกคักในวงการศิลปะนอร์เวย์เมื่อมีการจัดนิทรรศการศิลปะญี่ปุ่น พร้อมๆ ไปกับการจัดปาฐกถาสาธารณะในเรื่องนี้

Sommernatt โดย อีลิฟ เพเตอร์สเซน (Eilif Peterssen) สมาชิกกลุ่ม Fleskum Summer (ที่มาภาพ)

การเดินทางหลายทาง

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงเสี้ยวเดียวเพื่อนำมาเล่าไล่เรียงให้ผ่านผู้อ่าน ให้เห็นถึงการเดินทางของรสนิยมและความคิด รวมทั้งสุนทรียะ ที่ปรากฏขึ้นในชั่วขณะหนึ่งๆ ของประวัติศาสตร์ เป็นกระแสการเดินทางของความคิดซึ่งไม่ได้เป็นทางเดียว หรือเส้นเดียวมุ่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

พร้อมๆ กันไปกับการต้องย้ำให้เห็นว่า การเดินทางเหล่านี้ไม่ได้ปราศจากแรงตึงเครียด ขัดแย้ง และไม่ใช่การเดินทางที่เท่าเทียมแต่อย่างใด

และเกิดขึ้นตลอดมาตั้งแต่เรากำลังเป็นสมัยใหม่


อ้างอิง

Gabriel P. Weisberg, Anna-Maria von Bonsdorff and Hanne Selkokari (eds), Japanomania in the Nordic Countries, 1875-1918 (2016).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save