fbpx

คนผู้ออกหากินในเวลากลางคืน

ปีนี้ครบรอบ 245 ปี การเสียชีวิตของผู้ชายสวีเดนผิวขาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวสวีเดนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คาร์ล ลินเนียส (Carl Linnaeus, 1707 1778)

ชื่อเสียงของลินเนียสอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักนอกวงการธรรมชาติวิทยานัก แต่แน่นอนว่าเราอาจคุ้นเคยกับผลงานทางการของลินเนียสจากเข้าใจโลกธรรมชาติที่เป็นระบบและยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางผลงานหลากหลาย สิ่งที่ลินเนียสรังสรรค์นั้นมีทั้ง

1. สร้างระบบการจำแนกสกุลและชนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตามธรรมชาติ

2. สร้างระบบมาตรฐานในวิธีวิทยาและตั้งชื่อของพืชและสิ่งมีชีวิต

3. จำแนกพืชและสัตว์จำนวนนับพันตามระบบที่เรียกตามชื่อเขา

4. สร้างระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม (bionominal nonmenclature) โดยตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตตามประเภทและสายพันธุ์

5. จัดให้มนุษย์เป็นสายพันธุ์ของสัตว์ชนิดหนึ่ง

6. ผ่านศานุศิษย์จำนวนมากของเขา ลินเนียสได้วางพื้นฐานประวัติศาสตร์ธรรมชาติของโลก

7. พยายามทำความเข้าใจว่าโลกธรรมชาติทำงานอย่างไร

แต่วันนี้ ผมมีแง่มุมที่จะมาเล่าให้ฟัง หวังว่าจะทำให้เห็นงานของลินเนียสที่กว้างขวางออกไปบ้าง

เส้นทางของลินเนียส

คาร์ล ลินเนียส (ที่มาภาพ)

เป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่า ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคของลินเนียสนั้น เขาเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติว่าด้วยมนุษย์ของบริเวณอื่นของโลกที่ไม่ใช่สแกนดิเนเวียและยุโรปอย่างไร จึงมีความจำเป็นต้องจัดเขากลับไปสู่บริบทกันสักหน่อยครับ

ในช่วงทศวรรษที่ 1730 หลังจากที่คาร์ล ลินเนียสในวัยหนุ่มเริ่มการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ลุนด์และอุปซาลา เขาเดินทางไปฮอลแลนด์เพื่อไปศึกษาต่อเพิ่มเติม ที่ฮอลแลนด์นี้เอง เขาตีพิมพ์งาน Systema Naturae ครั้งแรก (ซึ่งเขาจะปรับปรุงและขยายในการพิมพ์ใหม่หลายๆ ครั้ง) และเป็นสถานที่ๆ เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับมนุษย์ที่ไม่ใช่ชาวยุโรป

ฮอลแลนด์ในช่วงเวลาที่ลินเนียสไปร่ำเรียน เป็นฮอลแลนด์ที่เป็นศูนย์กลางหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกยุโรป ผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกของดัชต์ (VOC) และพร้อมๆ กันนั้นก็เป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้เรื่องพฤกษศาสตร์ เพราะบุคคลหนึ่งที่สำคัญคือจอร์จ คลิฟฟอร์ด (George Clifford, 1685-1760) ชาวอังกฤษ-ดัชต์ ผู้เป็นหนึ่งในผู้จัดการของบริษัทฯ และหลงใหลพืชจากเขตร้อนมากถึงขนาดมีโรงเรือนขนาดใหญ่ในเขตที่ดินของเขา และจ้างให้ลินเนียสมาเป็นผู้ดูแลจัดการให้ และลินเนียสเองก็ตีพิมพ์ผลงานจากพืชที่อยู่ในโรงเรือนของคลิฟฟอร์ดนี้หลายงาน เช่น Musa Cliffortiana และ Hortus Cliffortianus (1738)

หลังจากนั้นลินเนียสเดินทางไปอังกฤษหกเดือน และเดินทางกลับสวีเดนเพื่อเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยอุปซาลาในปี 1741 แม้ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะได้รับข้อเสนอจากนายทุนดัชต์ว่าจ้างให้เขาเดินทางไปทวีปอเมริกาใต้ แต่ก็ไม่ไป

จากนั้นเขาก็ไม่เดินทางออกนอกประเทศสวีเดนอีกเลย

 หนังสือ Systema Naturae (ที่มาภาพ)

การจัดประเภทมนุษย์

คำถามก็ยังค้างอยู่ว่า เขาได้รับข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องสิ่งมีชีวิตนอกยุโรปจากที่ใด คำตอบก็คือ พ่อค้า นักเดินทาง หนังสือพรรณนาการเดินทาง ซึ่งชาวสวีเดนที่เดินทางออกนอกประเทศซึ่งเป็นเครือข่ายของลินเนียสได้นำกลับมาสวีเดนด้วย

และนี่เป็นที่มาที่ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดประเภทของมนุษย์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคาร์ล ลินเนียสมีความชัดเจน (ชัดเจนกว่าประวัติศาสตร์ธรรมชาติของเอเชียใต้ เป็นต้น) ก็เนื่องจากเครือข่ายเหล่านี้เดินทางผ่านโลกมาเลย์จำนวนมาก

งานที่สำคัญที่ลินเนียสนำมาใช้คือ De medicina Indorum ซึ่งรวบรวมโดย ยาคอบ เดอ บอนดท์ (Jacob de Bondt, 1592-1631) แพทย์ประจำที่ทำงานให้กับบริษัท VOC ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกที่อธิบายรูปร่างสันฐานของอุรังอุตัง (‘Orang-Outang’) เป็นต้น

การจัดประเภทมนุษย์เองก็เป็นสิ่งที่กระทำกันอยู่ในยุคนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่เราจะเห็นได้จากงาน The Spirit of the Laws (1748) ของ มองเตสกิเออ (Montesquieu) เป็นต้น

คาร์ล ลินเนียสใช้ข้อมูลของคนจากหมู่เกาะมาเลย์จากวารสารที่ตีพิมพ์โดยนีลส์ มัทสัน เชิปปิง (Nils Matson Kiöping) นักเดินทางและทหารเรือชาวสวีเดนผู้ที่ตีพิมพ์บันทึกการเดินทางในอินเดียตะวันออกคนแรกๆ

และพร้อมๆ กันนั้นเขาก็เห็นบริษัทอินเดียตะวันออกสวีเดน (SOIC) ในการเป็นส่วนหนึ่งในการขยายความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ในสวีเดน เขาจึงพยายามสนับสนุนให้ลูกศิษย์ของเขาหลายๆ คนได้เดินทางไปกับเรือของบริษัทฯ

Homo troglodytes ซ้ายสุด (ที่มาภาพ)

จุดที่น่าสนใจคือ ในงาน Systema Naturae ฉบับปี 1758 ลินเนียสจัดประเภทว่ามนุษย์ไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีสองแบบ คือ Homo sapiens และ Homo troglodytes

Homo sapiens ในแง่นี้คือความหมายว่าเป็น Homo diurnus หรือ ‘ผู้ออกหากินในเวลากลางวัน’

ในทางกลับกัน Homo troglodytes ที่ว่านี้เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ Homo nocturnus หรือ ‘ผู้ออกหากินในเวลากลางคืน’ ซึ่งพบได้ตามช่องแคบซุนดาและหมู่เกาะชวา

ผู้ออกหากินกลางคืนเหล่านี้ถูกมองในเวลานั้นว่าเป็นญาติกับมนุษย์ ซึ่งนั่นหมายความว่ายังไม่ได้มนุษย์นั่นเอง

ลินเนียสให้อรรถาธิบายว่า Homo troglodyte เป็น ‘คนตัวเล็ก…ผมสั้นและหยิก อยู่อาศัยในถ้ำ มีดวงตาที่แปลกเพราะไม่สามารถทนแสงแดดได้’ ดังนั้นพวกเขาจะปรากฏตัวเฉพาะกลางคืน ซึ่งจะเข้ามาขโมยของมนุษย์ คนเหล่านี้มีภาษาเป็นของตนเองซึ่งไม่ใช่ภาษามนุษย์ จึงทำให้ยากที่มนุษย์จะเรียนได้ และคนเหล่านี้เหมาะที่จะเป็นข้าทาสบริวารมากที่สุด

ลินเนียสระบุว่าคนเหล่านี้อาศัยบนเขาใกล้ช่องแคบมะละกา และอยู่ในเกาะชวา

ข้อจำกัดของความรู้ยุโรป

อนุสาวรีย์ของลินเนียสในเมืองลุนด์ ถูกพ่นสีโดยนักเคลื่อนไหว Black Lives Matter
ถ่ายโดย วิกโก จอห์นสสัน (Viggo Johnsson) (ที่มาภาพ)

ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่ว่าลินเนียสเข้าใจผิดหรือถูก เท่ากับที่ว่าองค์ความรู้ที่คนอย่างคาร์ล ลินเนียสทำงานอยู่นั้น กำหนดจากสภาวะแวดล้อมทางสังคมและการเมืองอย่างสำคัญ

ดินแดนที่องค์ความรู้เหล่านี้มาถึงยุโรปได้ คือดินแดนที่พ่อค้าวาณิชย์ เจ้าอาณานิคม และนักเดินทางชาวยุโรปเดินทางมาถึง ไม่ว่าจะเป็น VOC หรือ SOIC

สภาวะอาณานิคม  (coloniality) ในที่นี้จึงเป็นเรื่องการผลิตความรู้ ควบคู่ไปกับปืนและระบบราชการ


อ้างอิง

– Christina Skott, “Human Taxonomies: Carl Linnaeus, Swedish Travel in Asia and the Classification of Man” Itinario 43 (2) 2019, 218-242. 

– Gunnar Broberg, The man who organise nature: the life of Linnaeus (2023)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save