ผมเคยเล่าเรื่องว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอาณานิคมเดนมาร์กเหนือกรีนแลนด์มาก่อน พร้อมๆ ไปกับเท้าความเรื่องว่าด้วยเดนมาร์กในฐานะอาณานิคม
รอบนี้ขอนำบทความว่าด้วยกรีนแลนด์ที่ร่วมสมัยสักหน่อย มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เห็นว่าการเลือกตั้งจะมีความสำคัญในการกำหนดอนาคตประเทศกรีนแลนด์ครับ
สถานการณ์ปัจจุบัน
กรีนแลนด์อยู่ใต้อาณานิคมมาหลายร้อยปี จนกระทั่งปี 1953 ก็ถูกนับให้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของเดนมาร์ก โดยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา กรีนแลนด์ใช้เสียงของประชาชนในการตัดสินใจสำคัญๆ ของประเทศมาเป็นลำดับ
ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติเพื่อให้ปกครองตนเองในปี 1979 หรือการลงประชามติออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี 1982 รวมถึงประชามติเพื่อมุ่งสู่การมีอำนาจควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของตัวเอง และสิทธิในการจะประกาศอิสรภาพที่สำเร็จไปเมื่อปี 2008 และผลบังคับใช้ทางกฎหมายเริ่มเมื่อปี 2009 นี้

ทั้งกรีนแลนด์เองมีตัวแทนอยู่ในสภาอาร์กติก (Arctic Council) ด้วย จึงถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นของภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งอุณหภูมิทางการเมืองกำลังร้อนระอุสวนทางกับสภาพอากาศ
ประเด็นในเวลานี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก็ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องของโลกศตวรรษที่แล้ว คือ กรีนแลนด์พร้อมเป็นอิสรภาพอย่างสมบูรณ์หรือยัง
เส้นทางไปสู่การประกาศอิสรภาพ?
เพราะการมีอิสรภาพนี้ไม่ใช่จะเป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ประเด็นใจกลางคือการจะต้องมีอิสรภาพด้านเศรษฐกิจด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกรีนแลนด์ย่อมจะเป็นเดนมาร์ก
ในข้อตกลงต่อเนื่องที่เดนมาร์กและกรีนแลนด์ลงนามร่วมกันในปี 2009 รัฐบาลเดนมาร์กจะต่ออายุเงินสนับสนุนรายปีต่อกรีนแลนด์จำนวนปีละประมาณ 560 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งจำนวนขนาดนี้ถือเป็นตัวเลขจีดีพีร้อยละ 16 ทีเดียว
นี่มิพักรวมถึงในกรณีรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐกรีนแลนด์นั้น ยังจะต้องพึ่งพิงหรือผูกกับเดนมาร์กอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน ตำรวจ กองทัพ หรือนโยบายการต่างประเทศที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับโคเปนเฮเกน ภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้ กรีนแลนด์ยังได้รับการประกันให้กู้เงินจากรัฐบาลเดนมาร์กด้วย ทั้งกรีนแลนด์ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในเรื่องภาคการประมงและในเรื่องการศึกษาอีกต่างหาก

สิ่งที่กรีนแลนด์ ‘ได้รับ’ ในฐานะเป็นอาณานิคมของเดนมาร์กมาอย่างยาวนาน ก็คือระบบรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิค ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุขหรือการศึกษา ซึ่งเป็นระบบที่ประชาชนค่อนข้างพอใจ
บทความเล่าว่า สำหรับประชาชนชาวกรีนแลนด์แล้ว พวกเขาไม่ติดอะไรกับการมุ่งประกาศอิสรภาพจากเดนมาร์ก ตราบเท่าที่ระบบสวัสดิการที่พวกเขาได้รับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป นี่คงเป็นความท้าทายใหญ่ของรัฐบาลกรีนแลนด์ต่อๆ ไปในศตวรรษนี้
การเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ย่อมจะหมายถึงกรีนแลนด์ต้องพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ใหญ่พอทดแทนจำนวนเงินสนับสนุนที่จะต้องหมดไปโดยลำดับ ซึ่งผู้สังเกตการณ์เองก็ยังมองเห็นว่า เส้นทางการไปสู่การประกาศอิสรภาพนั้นอาจจะคงต้องเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา
ว่าด้วยภูมิรัฐศาสตร์
เมื่อล่วงเข้าศตวรรษที่ 21 กรีนแลนด์ในฐานะหน่วยทางการเมืองขนาดเล็ก แต่ขนาดพื้นที่มโหฬาร ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอาร์กติกอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปี 2016 จีนเข้าขอซื้อฐานทัพอากาศของกรีนแลนด์ในแคนกาลินกิต (Kangilinnguit) การเสนอซื้อครั้งนั้นสร้างความปั่นป่วนไม่น้อย เพราะฐานทัพอากาศที่ว่านี้เคยเป็นของสหรัฐอเมริกา ที่มาสร้างไว้ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
วอชิงตันเข้าขัดขวางการซื้อทันทีด้วยการกดดันไปที่โคเปนเฮเกน ซึ่งสุดท้ายก็ขัดขวางการซื้อนี้สำเร็จ
ในปี 2020 สหรัฐเปิดสถานกงสุลขึ้นในเมืองหลวงนูก (Nuuk) ทันที และเป็นที่รู้กันว่า นั่นไม่ใช่เป็นเพียงการยื่นมือเข้ามาช่วยกรีนแลนด์เท่านั้น แต่เป็นการกันไม่ให้อิทธิพลของจีนเข้ามาในภูมิภาคอันสำคัญนี้

กรีนแลนด์ไม่ได้เห็นเหมือนตะวันตกเสมอไป
สำหรับกรีนแลนด์เองแล้ว เราอาจจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ต่างออกไป กรีนแลนด์รู้ว่าตนเองจะ ‘เล่น’ กับสองประเทศใหญ่นี้อย่างไรด้วยการใช้ ‘อาการกลัวจีน’ ของโลกตะวันตกเป็นโอกาส
กรีนแลนด์ดึงเอาทั้งเดนมาร์กและสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสนามบินเชื่อมต่อภายในประเทศ
มีการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยกรีนแลนด์ว่าด้วยมุมมองเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นอะไรที่น่าสนใจอยู่ครับว่า แม้คนกรีนแลนด์ร้อยละ 68 สนับสนุนการร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี แต่ขณะเดียวกันประชาชนถึงร้อยละ 81 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาต่อจีน พวกเขาเห็นว่าการขึ้นมาของจีนเป็นเรื่องที่ดี และอยากมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับจีน
นอกจากนี้รัสเซียเองก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกรีนแลนด์ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกต่อรัสเซีย ทำให้กรีนแลนด์ได้รับผลกระทบอย่างมาก
ที่น่าสนใจคือดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ในกรีนแลนด์ต่อต้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย

การเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนดว่าจะเป็นอิสรภาพแบบใด
ผมเล่ามาถึงขนาดนี้ ก็เพื่อจะบอกกล่าวตัวอย่างเลียบขั้วโลก ว่ากรีนแลนด์ยึดแนวทางประชาธิปไตยรัฐสภาเพื่อตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในอนาคต
การเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนปี 2021 พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดสองพรรค คือพรรค Inuit Ataqatigiit ฝ่ายซ้าย และพรรค Siumut ฝ่ายกลางซ้าย ต่างพิจารณาเส้นทางไปสู่อิสรภาพทั้งคู่
ประเด็นที่เป็นเรื่องหลักหนึ่งของการเมืองกรีนแลนด์คือ สิทธิของชนพื้นเมืองอินูอิต (Inuit) ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตนเองมีสิทธิเท่าเทียมกับคนกรีนแลนด์-เดนมาร์ก และให้วิถีชีวิตของตนได้รับการคุ้มครองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็วในศตวรรษนี้
พวกเขาใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือกำหนดอนาคต
อ้างอิง
Philippe Descamps, “Greenland is not for sale”, Le Monde diplomatique, March 2023.