fbpx

การเปลี่ยนแปลงอาจมาจากเบื้องบน

เมื่อนักประวัติศาสตร์มองย้อนไปจากปัจจุบันเพื่อพยายามทำความเข้าใจอดีต สิ่งที่สั่งสอนกันอยู่ในห้องเรียนวิชาวิธีวิทยา คือการระมัดระวังมิให้ทัศนคติ ค่านิยม ความเห็น และอุดมคติของปัจจุบันเข้าไปตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต นักประวัติศาสตร์ฝึกฝนวินัยในการศึกษาหลักฐานเพื่อให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดและบริบทแวดล้อมของเหตุการณ์นั้นๆ เอง

ทว่า มิใช่เพียงแต่อดีตเท่านั้น ปัจจุบันเองก็เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและบริบทแวดล้อม  นักประวัติศาสตร์อาชีพจะระมัดระวังการใช้ทัศนคติ ค่านิยม ความเห็น และอุดมคติของปัจจุบันในการทำความเข้าใจอดีตได้เช่นไรเล่า คำถามเช่นนี้จึงนำมาสู่ข้อเสนอว่า ไม่มีประวัติศาสตร์ใดปราศจากอคติ ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ย่อมเป็นบทสนทนาอันไม่รู้จบกับอดีต เมื่อปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปฉันใด อดีตก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปฉันนั้น ข้อเสนอเช่นนี้ย่อมเป็นข้อถกเถียงของวิธีวิทยาในสาขาวิชาเอง

วันนี้ผมจะขอนำมาเล่าเพียงเฉพาะเรื่อง ว่าด้วยบทบรรยายทางประวัติศาสตร์เฉพาะหนึ่งๆ ที่สถาปนาขึ้นและเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ว่าด้วยเรื่องกำเนิดอุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์จากนมของเดนมาร์ก จากหนังสือที่อ่านสนุกคือ A Land of Milk & Butter: How Elites Created the Modern Danish Industry (2018) โดย มาร์คัส แลมป์ (Marcus Lampe) และ พอล ชาร์ป (Paul Sharp)

ภาพโดย โอ เอ เฮอร์แมนเซน (O. A. Hermansen)

ความเข้าใจโดยทั่วไป

หนังสือเริ่มต้นด้วยความเข้าใจโดยทั่วไปของการกำเนิดประเทศเดนมาร์กสมัยใหม่ ซึ่งมีคุณลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือการเกิดขึ้นของการรวมหมู่เป็นสหกรณ์ของเกษตรกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งประเทศในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่องราวการรวมตัวของชาวนาชาวไร่นี่แทบจะเป็นเรื่องเล่าหลักของการกำเนิดชาติเดนมาร์กสมัยใหม่ทีเดียว

การกลายเป็นสมัยใหม่ของเศรษฐกิจเดนมาร์ก จึงเป็นเรื่องเล่าที่ต่างจากที่อื่นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในแง่ที่ว่า เรื่องเล่านี้มีเกษตรกรอยู่ตรงใจกลาง วีรบุรุษและวีรสตรีของการกลายเป็นสมัยใหม่มิใช่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ใหญ่ในเมือง แต่เป็นคนธรรมดาที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มขนาดไม่ใหญ่นักในชนบท และต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือผลักดันประเทศเข้าสู่สมัยใหม่ พัฒนาเกษตรกรรมและเศรษฐกิจ รวมทั้งก่อร่างสร้างชาติด้วยกัน เป็นฐานของการก่อร่างสร้างระบอบประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากเบื้องล่าง เป็นฉันทามติของประชาชน

บุคคลสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์แทนความเคลื่อนไหวของเรื่องเล่านี้คือ สาธุคุณ นิโคไล กรุนดท์วิก (N. F. S. Grundtvig, 1783-1872) ซึ่งเป็นบุคคลใจกลางการเกิดและพัฒนาการของโรงเรียนราษฎร (Folkeskolen)

ความเคลื่อนไหวของคนธรรมดาเข้าร่วมกัน จนในที่สุดก็ก่อร่างสร้างประเทศสมัยใหม่ กลายเป็นต้นแบบของการ ‘ฮุกกะ’ ที่นานาประเทศทึ่งและใฝ่ฝันจะมี 

สาธุคุณกรุนดท์วิก

ตั้งคำถาม

แต่ใน A Land of Milk & Butter แลมป์และชาร์ปตั้งคำถามตรงไปตรงมาว่า กระบวนการก่อตัวของสหกรณ์ทั่วประเทศอย่างฉับพลันและเข้มข้นในช่วงเวลาปลายศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นไปได้อย่างไร การรวมตัวเป็นสหกรณ์นี้มีรูปแบบมาจากที่อื่นที่ใดหรือไม่ และเหตุใดจึงแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ 

นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนกันขึ้นมาใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่สะท้อนสภาวะการสูญเสียขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากเดนมาร์กพ่ายแพ้สงครามแก่ปรัสเซียในปี 1864 และสูญเสียดินแดนชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Scheleswig-Holstein) ไป

เป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์เสียดินแดน ที่ต้องเขียนเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่เพื่อเยียวยาความสูญเสียของตนเอง นำมาสู่ประโยคจับใจชาวเดนมาร์กว่า ‘อะไรที่สูญเสียไปข้างนอก ย่อมจะต้องได้มาจากข้างใน’ (Hvad udad tabes, skal indad vindes)

และไม่มีอะไรจะเหมาะสมไปกว่าเรื่องเล่าของการก่อร่างสร้างสหกรณ์ของเกษตรกรเดนมาร์ก ที่ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากความสูญเสียครั้งใหญ่นั้น

การสนทนากับอดีต

หนังสือเสนอเรื่องเล่าที่กลับกันกับความเข้าใจเดิม ใช้วิธีการทางปริมาณเพื่อชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ฉับพลันทันทีเท่าที่เข้าใจกันมาก่อน แต่มีบทบาทของขุนนางพูดภาษาเยอรมันจำนวนมาก รวมทั้งผู้มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรจากเยอรมนีตอนเหนือที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเดนมาร์ก ซึ่งเป็นดินแดนที่ล้าหลังกว่าและมีโอกาสทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้เป็นผู้วางรากฐานริเริ่มการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมาทำให้การเคลื่อนไหวของระบบสหกรณ์โดยเกษตรในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นไปได้ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น

รากฐานที่ว่านี้มีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการนำเข้าเทคโนโลยี เรียกว่าระบบฮ็อลชไตน์ (Holstein system ในภาษาเยอรมันคือKoppelwirtschaftและในภาษาเดนมาร์กคือ kobbelbrug) ในการทำฟาร์มนมเข้ามา  ซึ่งทำให้มีการเพิ่มผลผลิตได้จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อดัม ก็อตต์ล็อบ มอลต์เกอ (Adam Gottlob Moltke) ชนชั้นนำคนหนึ่งที่นำระบบ Kobbelbrug เข้าไปในเดนมาร์ก

ระบบและเทคโนโลยีแบบใหม่

ระบบที่ว่านี้เริ่มต้นขึ้นในฮ็อลชไตน์ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 16 จากเหล่าเจ้าที่ดินทั้งหลายที่ต้องการแก้ปัญหาว่า ทำการเกษตรประณีต ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ในอัตราสูง ย่อมต้องการปุ๋ยคอกจำนวนมากพร้อมๆ ไปกับอาหารสัตว์ การผลิตมักติดขัดหยุดชะงักเพราะปริมาณปุ๋ยและอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ

จากเดิมมีระบบเกษตรหมุนเวียนสามแปลงสามปี (three-field crop rotation) ซึ่งไม่สามารถให้ผลอย่างต่อเนื่องได้ ก็ขยายออกไปเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและสามารถผลิตได้อย่างเข้มข้น และในที่สุดสามารถมีปริมาณปุ๋ยและพร้อมๆ กันไปอาหารสัตว์ได้ตลอด

นอกจากนี้ เจ้าที่ดินจะให้เช่าวัวนมกับผู้เช่าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ผู้มีความเชื่อมต่อกับตลาดและจะนำนมออกไปขายในตลาดเอง นี่รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่สำคัญยิ่ง คือ เนย ด้วย

โรงนมของเดนมาร์ก มีแรงงานเป็นสตรีส่วนใหญ่ในช่วงต้น (ที่มาภาพ)

จากระบบเกษตรหมุนเวียน การผลิตภายใต้ผู้มีองค์ความรู้นี้ก็จะมีระบบการทำบัญชี พร้อมๆ ไปกับความคิดเรื่องการทำการเกษตรแบบทันสมัย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการทำการเกษตรในยุโรปในช่วงเวลาศตวรรษที่ 18 ซึ่งมุ่งไปสู่การผลิตตอบรับอุปสงค์มหาศาลของตลาด พร้อมๆ ไปกับการกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วซึ่งย่อมต้องการอาหาร และบนโต๊ะอาหารของชาวยุโรปก็ย่อมมีนมและเนยเป็นส่วนสำคัญ

ข้อเสนอของ ​​A Land of Milk & Butter จึงพยายามที่จะเน้นให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรรมเดนมาร์กสมัยใหม่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบน มากกว่าจะเป็นการริเริ่มเพียงฝ่ายเดียวของเกษตรกร กระนั้นเองหนังสือยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการลดความสำคัญของการเคลื่อนไหวรวมตัวเป็นสหกรณ์ของเกษตรกรเดนมาร์กแต่อย่างใด

แต่เน้นตรงที่ว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใดที่เกิดขึ้นลอยๆ ย่อมมีที่มาอย่างยาวนานเสมอ


อ้างอิง

– Markus Lampe and Paul Sharp, A Land of Milk and Butter: How Elites Created the Modern Danish Industry (2018) 

– Mats Olsson, Review in Scandinavian Economic History Review 69(3), 2021, 326-7.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save