fbpx

ศัตรูของศัตรูคือมิตร

ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องเน้นอยู่เสมอว่า หากเราต้องการเข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคสแกนดิเนเวียให้รอบด้านนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคนี้กับยุโรปภาคพื้นทวีปและรัสเซียด้วยอย่างสำคัญ

โดยเฉพาะเมื่อทะเลบอลติคเข้ามามีอิทธิพลในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกยุโรปในศตวรรษที่ 16 การเปลี่ยนแปลงสำคัญของสถาบันฟิวดัลส่งผลต่อการขยับปรับเปลี่ยน และการกำเนิดศูนย์กลางทางอำนาจและการค้าทั่วภูมิภาค ประเด็นหลักในที่นี่คือความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษตริย์และทุน

หน้าร้อนนี้ ผมเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟผ่านเมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) และลือเบกค์ (Lübeck) จึงขอนำเรื่องเก่ามาเรียนเล่าว่า บริเวณเยอรมนีตอนเหนือ สำคัญต่อประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวียเช่นไร

สันนิบาตฮันซา (Hanseatic League)

เมืองของสันนิบาตฮันซาในศตวรรษที่ 15

มีองค์กรทางการค้าหนึ่งซึ่งกลายเป็นผู้คุมการค้าในทะเลเหนือและบอลติคอย่างมีอิทธิพลสูงสุดเกือบ 300 ปี ซึ่งมีอิทธิพลมากจนถึงขนาดกำหนดการขึ้นและลงของกษัตริย์ได้ และพร้อมๆ กันนั้นก็เป็นแรงผลักให้เกิดการร่วมมือของสถาบันกษัตริย์ในสแกนดิเนเวียเพื่อทวงคืนผลประโยชน์

ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 12-13 เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มพ่อค้า โดยเฉพาะพ่อค้าเยอรมันที่ค้าขายในบริเวณทะเลเหนือและทะเลบอลติค แรกเริ่มเดิมทีเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าและข้อมูล

เมืองหลักที่เป็นเสมือนเมืองหลวงของสันนิบาตฮันซาคือเมืองลือเบกค์ เนื่องจากเชื่อมโยงการค้าไปทั้งสองทิศ ลากยาวมาตั้งแต่ตะวันตกจากลอนดอน (London), บรูจ (Bruges), ฮัมบูร์ก สตรัลซุนด์ (Stralsund), ดันท์ซิช (Danzig), วิสบี (Visby), รีกา (Riga), รีวัล (Reval) และนอฟโกรอด (Novgorod) ฝั่งตะวันออก รวมไปถึงอีกหลายต่อหลายเมืองไปตลอดเส้นทาง เช่น เบอร์เกน (Bergen) ของนอร์เวย์

พ่อค้าฮันซา Georg Giese (1531) โดย Hans Holbein

จะเห็นได้ว่าเมืองอย่างวิสบี ซึ่งเป็นเกาะของสวีเดน ถือเป็นเมืองฮันซาที่สำคัญในเส้นทางการค้าฮันซานี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สวีเดนมีส่วนร่วมกับสันนิบาตฮันซาอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางการค้ากับรัสเซีย

สินค้าที่เดินทางผ่านเส้นทางฮันซานี้มีหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารและวัตถุดิบ ตั้งแต่ ผ้าขนสัตว์ ลินิน หนังสัตว์ ปลาแห้ง เกลือ แวกซ์ ธัญพืช ของป่า อำพัน เหล็ก ไปจนกระทั่งถึงไวน์และเบียร์

เมื่อมีอิทธิพลทางการค้ามากขึ้น ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 มีการตั้งสภาฮันซา (Hanseatic Diet) ซึ่งทำให้องค์กรนี้ไม่ได้เป็นเพียงการรวมตัวอย่างหลวมๆ อีกต่อไป แต่เป็นองค์การทางเมืองด้วย เพราะเรื่องการเมืองกับเรื่องการค้าย่อมเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป

สภาฮันซ่าจะได้รับการสนับสนุนจากเมืองที่เป็นสมาชิกสันนิบาต พวกเขาจะมีกฎหมายร่วมกันเพื่อปกป้องการค้าเสรี และแน่นอนว่า ย่อมจะมีข้อตกลงร่วมกันในการร่วมปกป้องผลประโยชน์ด้วยกำลังทางการทหาร ในกรณีที่ผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นอันตรายหรือถูกคุกคาม

เมื่อภัยคุกคาม

Treaty of Stralsund (1370)

ภัยที่ว่า ก็คืออำนาจของกษัตริย์ที่ต้องการผลประโยชน์จากเส้นทางการค้าอันมีมูลค่ามหาศาลนี้

เหตุการณ์สำคัญ คือ ในปี 1360 กษัตริย์วัลเดอร์มาที่สี่ (Valdemar IV, 1320-1375) ของเดนมาร์ก ดำเนินนโยบายรุกเข้าไปยึดผลประโยชน์ในเส้นทางการค้าบอลติค เข้ายึดภูมิภาคสแกเนีย (Skåne) และเกาะกอตแลนด์ (Gotland) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองวิสบี

นอกจากนี้ก็ขึ้นอัตราภาษีกับเหล่าพ่อค้าฮันซาทั้งหมดหากใครจะมาค้าขายในเขตอิทธิพลของเดนมาร์ก พร้อมๆ กับเข้าคุมช่องแคบเออระซุน (Øresund) ไม่ยอมให้เชื่อมไปค้าขายกับเมืองดัชต์ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของตน เหล่านี้เป็นการโจมตีเข้าไปที่กล่องดวงใจของสันนิบาตฮันซา

ผลคือ เกิดการระดมกองกำลังจำนวนมากจากสภาฮันซาเข้ารบกับเดนมาร์ก ตามมาด้วยการยอมแพ้ของเดนมาร์ก และสินธิสัญญาสตรัลซุนด์ (Treaty of Stralsund, 1370) ซึ่งเดนมาร์กต้องยอมให้การค้าผ่านเดนมาร์กได้อย่างเสรี แถมยังต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย

สนธิสัญญานี้ทำให้สันนิบาตฮันซามีอิทธิพลถึงขนาดว่า มีอำนาจยอมรับหรือปฏิเสธกษัตริย์เดนมาร์กองค์ต่อไปด้วย

เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดสูงสุดของอำนาจสันนิบาตฮันซาทีเดียว

อำนาจทางการเมือง

Bryggen อยู่ในเมืองเบอร์เกน นอร์เวย์ เป็นสำนักงานสันนิบาตฮันซา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก

สันนิบาตฮันซาดำรงต่อมา แต่ก็จะค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงไปพร้อมๆ กับการขึ้นมามีอำนาจมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปเหนือ พร้อมๆ กับบทบาทของกษัตริย์และพ่อค้าดัชต์และอังกฤษที่จะเข้ามาท้าทายผลประโยชน์

นี่จะเป็นฉากเปิดของกำเนิดทุนนิยมโลกยุโรปของศตวรรษที่ 16 ที่กำลังจะมาถึง ที่จะดำเนินพลวัตด้วยการค้าทางไกล

ในเวลานี้สวีเดนกำลังก้าวขึ้นมามีอำนาจในบอลติคมากขึ้น กษัตริย์นาม กุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa, 1496-1560) เข้าทำสงครามปลดปล่อยสวีเดน (Befrielsekriget) ออกจากอิทธิพลของเดนมาร์ก

กุสตาฟ วาซา หันไปหาอิทธิพลจากศัตรูของศัตรู นั่นคือลือเบกค์ เมืองศูนย์กลางสันนิบาตฮันซ่าซึ่งยังทรงอิทธิพลอยู่ เพื่อมาสนับสนุนสงครามของเขา ลือเบกค์นี้เป็นคู่แข่งทางการค้าและการเมืองของเดนมาร์กมายาวนาน จึงส่งทั้งอาวุธและกำลังมาช่วยสวีเดน

จนในที่สุดก็สามารถปลดปล่อยอำนาจของสวีเดนออกจากเดนมาร์กได้ในปี 1523 และประกาศอิสรภาพ ซึ่งในพิธีราชาภิเษกของกุสตาฟ วาซานั้นมีตัวแทนจากลือเกค์เข้ามาด้วย

นักชาตินิยมสวีเดนเขาถือเอาปีนั้นเป็นกำเนิดประเทศอย่างเป็นทางการ จนถึงปีนี้ก็ครบ 500 ปี*

ศัตรูของศัตรูจึงคือมิตรด้วยประการฉะนี้


อ้างอิง

* กระนั้นก็ไม่มีใครพูดถึงลือเบกค์ในการเฉลิมฉลองเท่าใด อาจจะเป็นเพราะลือเบกค์คือเยอรมนี และใครจะมาพูดว่าเยอรมนีช่วยสร้างประเทศสวีเดน โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่นี่คงจะต้องว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง

– Michael North, The Baltic: A History (2015), 54-63

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save