fbpx
เมื่อวิธีการมาก่อนความหมายใน “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ”

ญี่ปุ่นในสมรภูมิ COVID-19 กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

 

เมื่อโควิด-19 มาเยือน ประเทศที่เจอภัยพิบัติบ่อยเป็นอันดับต้นๆ อย่าง ‘ญี่ปุ่น’ มีมาตรการรับมืออย่างไร โรคระบาดกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง และชะตากรรมของ ‘โตเกียวโอลิมปิก’ จะเป็นอย่างไรในห้วงยามแห่งโรคระบาดนี้

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด และการรับมือกับไวรัสของประเทศญี่ปุ่น

ฟังรายการ 101 One-On-One Ep.145: ญี่ปุ่นในสมรภูมิ COVID-19 (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563)

 

มาตรการ soft lockdown แบบญี่ปุ่น

 

ช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเริ่มพบผู้ติดเชื้อในแต่ละวันลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลพยายามขอร้องให้ประชาชนอยู่กับบ้านให้มากที่สุด และลดการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันจนเกินไป ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมองว่า สถานการณ์ดีขึ้นจนได้ประกาศผ่อนปรนสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อไม่นานมานี้

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี เราจะเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนหลายๆ ประเทศ แต่ผมมองว่าเขาไม่ได้ตั้งใจให้ผู้คนใช้ชีวิตเป็นปกติ แต่ทางฝั่งรัฐบาลต้องเจอกับอุปสรรคหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีเข้มงวดแบบปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนอย่างที่ประเทศต่างๆ ทำ ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องกฎหมาย เพราะมีข้อถกเถียงมานานในเรื่องการให้อำนาจฝ่ายบริหารของญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ว่า ฝ่ายบริหารจะสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ ในกรณีที่เกิดวิกฤตฉุกเฉิน ฝ่ายบริหารจะสามารถกุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และสามารถบังคับใช้อำนาจโดยการเข้าไปปิดกั้นเสรีภาพ การเคลื่อนย้ายคน และไม่ให้ผู้คนออกจากบ้าน อะไรเหล่านี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่นคือฉบับที่ถูกร่างขึ้นมาหลังสงครามโลกที่ 2 เป็นฉบับที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงอำนาจของฝ่ายบริหารในการกันไม่ให้ประชาชนออกจากบ้าน เรื่องนี้ก็จะกระทบเสรีภาพของประชาชนที่ถูกรับประกันในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นด้วย

อย่างไรก็ดี เคยมีข้อถกเถียงเหมือนกันว่า ควรมีการใส่มาตราที่เกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินเข้าไปในรัฐธรรมนูญด้วยหรือเปล่า ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้มีการทบทวนแก้รัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังไม่มีการแก้ไข จึงกลายเป็นกรอบจำกัดอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลจะมีอำนาจแค่ไหนในการประกาศภาวะฉุกเฉิน และเราจะเห็นว่า เมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว ก็เป็นแบบ soft lockdown เพราะรัฐบาลก็ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน ทำได้แค่ความขอร่วมมือหรือขอร้อง และถ้าประชาชนไม่ทำตาม หรือกิจการบางอย่างไม่ยอมปิดชั่วคราว รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิจะเข้าไปลงโทษ หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำตาม ตรงนี้ผมคิดว่า มันค่อนข้างเป็นปัญหาในการจัดการกับประเด็นความมั่นคงหรือภาวะฉุกเฉิน เพราะญี่ปุ่นจะค่อนข้างอ่อนไหวและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพมากกว่าอำนาจของรัฐบาล

 

รัฐบาลท้องถิ่นกับการรับมือโควิด-19

 

เราจะเห็นว่า มีบางจังหวัด เช่น ฮอกไกโด ที่ผู้ว่าการใช้มาตรการเข้มงวดก่อนที่รัฐบาลกลางจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ถ้าเทียบกับมาตรการของไทยหรือสหรัฐอเมริกาที่มีกฎเกณฑ์และกำหนดบทลงโทษชัดเจน มาตรการของญี่ปุ่นก็อาจจะไม่ได้เข้มงวดอะไรขนาดนั้น มากที่สุดก็คือการขอร้อง และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวขึ้นมาบ้างว่า เรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต และทุกคนต้องช่วยกัน หรือถ้าจะมากไปกว่านั้น ก็อาจจะประกาศชื่อธุรกิจต่างๆ ที่ไม่ยอมทำตาม คือทำให้เขาเกิดความละอายขึ้นมา แต่ก็ยังไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย

อย่างกรณีของผู้ว่าการจังหวัดฮอกไกโดที่ประกาศภาวะฉุกเฉินก่อน ถ้าเราอ่านข่าวจะเห็นท่านผู้ว่าการเน้นว่า นี่ไม่ได้มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ แต่การประกาศภาวะฉุกเฉินในครั้งนั้นเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่ปกติ ทำให้เกิด sense of crisis ขึ้นในหมู่ประชาชน อีกอย่างคือ ตอนนั้นรัฐบาลกลางยังไม่มีกฎหมายที่จะนำมาใช้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้วย ทำให้ฮอกไกโดต้องดำเนินการไปก่อน เพราะสถานการณ์ในฮอกไกโดตอนนั้นค่อนข้างวิกฤต

ถ้าถามว่า นี่สะท้อนให้เห็นภาพการปกครองส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นอย่างไร ต้องบอกก่อนว่า ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นเป็นข้อถกเถียงกันนานแล้ว ถ้าเป็นกฎหมายแบบอุดมคติคือ ต้องการให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นมากพอสมควร เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้สามารถจัดการเรื่องการเมืองและการบริหารส่วนท้องถิ่นของตนเองได้ แต่ถ้าเป็นทางปฏิบัติ จะเห็นว่าท้องถิ่นยังต้องพึ่งพารัฐบาลกลางอยู่ไม่น้อย เช่น เรื่องงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้อนุมัติงบประมาณในการทำโครงการต่างๆ และรัฐบาลกลางก็มักจะเข้ามาแทรกแซงกิจการในท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น คนเห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นตื่นตัวกว่ารัฐบาลกลาง ทำให้เริ่มเกิดกระแสขึ้นมาให้มีการพิจารณาทบทวนว่า จริงๆ แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ปัญหา และใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า น่าจะสามารถตัดสินใจหรือริเริ่มแนวทางนโยบายต่างๆ ได้จริงจังและเข้มข้นมากกว่ารัฐบาลกลางไหม เพราะในเวลานี้ รัฐบาลกลางถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่า จัดการกับโควิด-19 ได้ค่อนข้างล่าช้า กว่าจะออกกฎหมายหรือกว่าจะตัดสินใจแต่ละอย่าง ขณะที่ฝั่งรัฐบาลท้องถิ่นที่เห็นปัญหาชัดและมีส่วนช่วยผลักดันประเด็นปัญหา ก็อาจจะช่วยกดดันให้รัฐบาลกลางต้องทำอะไรเพิ่มเติมอย่างรวดเร็วเหมือนกัน ส่วนในอนาคต เราจะเห็นผู้นำท้องถิ่นมีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกระดับชาติมากขึ้นไหม ก็ต้องดูกันต่อไป

 

มองสังคมและคนญี่ปุ่นในห้วงยามแห่งโรคระบาด

 

ถ้าเราบอกว่าคนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย ผมมักจะเห็นภาพคนญี่ปุ่นที่ยึดติดกับธรรมเนียม หรือการกระทำซ้ำๆ ในแบบที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่ายๆ มากกว่า ผมคิดว่าสังคมญี่ปุ่นไม่ได้ถูกกำหนดด้วยกฎหมาย แต่ถูกกำหนดด้วยบรรทัดฐานบางอย่าง ซึ่งเป็นเหมือนเป็นการตกลงกันในสังคม

ในกรณีของโควิด-19 เราต้องบอกว่า มันไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่เป็นสถานการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้คนญี่ปุ่นยังยึดติดกับสภาพเดิมๆ ของเขา เช่น การต้องเบียดรถไฟไปทำงานทุกวัน หรือการกรอกแบบฟอร์มอะไรต่างๆ ที่ดูเป็นธรรมเนียมซึ่งค่อนข้างอนุรักษนิยมในแบบของญี่ปุ่น นั่นแหละที่ผมคิดว่า สะท้อนความเป็น ‘วินัย’ ของญี่ปุ่น และเขาก็ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตตรงนี้ง่ายๆ ดังนั้น เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด และทำให้คนญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง จากที่เคยไปทำงานทุกวันก็ต้องอยู่ที่บ้าน ไม่ทำงาน ไม่เปิดกิจการ ตรงนี้น่าจะส่งผลต่อจิตวิทยาของพวกเขาไม่น้อย

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นมีความอ่อนไหวกับประเด็นนี้พอสมควร เวลาเกิดภัยพิบัติใดๆ เช่น แผ่นดินไหวหรืออุทกภัย แล้วคนญี่ปุ่นต้องอพยพจากบ้านไปอยู่ในสถานที่หลบภัย เราจะเห็นสื่อพยายามเสนอภาพว่า คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับภาวะเครียดจากการต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง ปัญหาเลยอาจจะเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและการถูกกระทบทางจิตใจมากกว่า ซึ่งเป็นประเด็นที่คนญี่ปุ่นอ่อนไหวและค่อนข้างให้ความสำคัญอยู่แล้ว

พอมาเกิดโควิด-19 มันก็เป็นสภาพที่คล้ายๆ กัน แต่โควิดไม่ใช่วิกฤตที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และทำให้คุณรู้สึกว่า ต้องทำอะไรสักอย่างแบบจริงจัง โควิดไม่ได้บังคับให้คุณต้องไปหลบในที่หลบภัย แต่มันทำให้คุณต้องค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งตรงนี้ สำหรับคนญี่ปุ่นที่ยึดถือธรรมเนียมหรือแบบแผนอะไรอย่างต่อเนื่อง ทำจากวินัยไม่ใช่กฎเกณฑ์ ทำให้ผมมองว่า เขาค่อนข้างเปลี่ยนแปลงยากอยู่เหมือนกัน แต่ถามว่าเปลี่ยนไหม ผมว่าเปลี่ยนนะ อย่างที่เราเห็นจากสื่อต่างๆ ว่า คนญี่ปุ่นยังมาชมซากุระกันอยู่เลย นั่นคือความพยายามที่จะกดดันหรือพยายามจะบอกว่า แค่นี้ไม่พอ คุณต้องทำมากกว่านี้ เพราะกลุ่มที่ออกมาจริงๆ ผมว่าเป็นส่วนน้อย แต่เป็นส่วนน้อยที่สังคมพยายามจะบอกว่า เป็นกลุ่มที่มีปัญหา

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เราอาจมองได้ว่า ญี่ปุ่นใช้วิธี soft lockdown เพราะผู้นำเขามองว่า ญี่ปุ่นมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่ระดับหนึ่ง พูดง่ายๆ คือมองว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่น่าจะเชื่อฟังและพูดคุยกันรู้เรื่อง จึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับแบบที่มีบทลงโทษแรงๆ แต่อย่างใด

 

new normal แบบญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร?

 

จริงๆ คำว่า new normal มีปัญหาอยู่เหมือนกันนะครับ คำนี้ที่เราใช้กันบ่อยๆ ในบางครั้งมันคือ new rule มากกว่า คือรัฐบาลอาจจะพยายามกะเกณฑ์ให้เราต้องทำอะไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำไปในระยะยาวหลังจากนี้ แต่เรากลับมองไปว่า นั่นคือ new normal แล้ว ซึ่งผมมองว่าไม่ค่อยแฟร์ เพราะสุดท้าย เราก็ไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์ที่บังคับให้ทุกคนกระทำจะยังคงอยู่แบบนั้นต่อไปหรือไม่ เนื่องจากในญี่ปุ่น สังคมจะดำเนินไปด้วยบรรทัดฐาน ด้วยความเข้าใจและการปฏิบัติร่วมกันของผู้คน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาบังคับให้ทำ เพราะฉะนั้น new normal อาจจะต้องมองไปยาวๆ กว่านี้

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ ตอนที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายภาวะฉุกเฉิน เราเห็นสมาคมธุรกิจต่างๆ ในญี่ปุ่นพยายามออกเงื่อนไขให้แต่ละกิจการใช้ความระมัดระวัง และใช้มาตรการในการรักษาระยะห่างทางสังคม รวมถึงหลีกเลี่ยงวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น การที่ผู้น้อยเติมเครื่องดื่มให้ผู้อาวุโสกว่า หรือสำหรับร้านจำพวกปาจิงโกะหรือร้านที่มีเครื่องเล่นเกม เขาก็บอกว่า อาจจะต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นแทนที่จะนั่งติดกัน และอาจจะลดเสียงเพลงที่เคยเปิดดังๆ ให้เบาลง คนจะได้คุยกันสบายขึ้นโดยไม่ต้องตะโกนใส่กัน เพื่อกันละอองฟุ้งจากน้ำลาย ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นแค่ช่วงนี้ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น new normal ทั้งหมดเลยหรือเปล่า

 

ระบบสาธารณสุขกับโควิด-19

 

ญี่ปุ่นก็มีประกันสุขภาพเหมือนกัน โดยเราจะจ่ายรายเดือนให้กับทางเขต และถ้าต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะสามารถนำไปช่วยตัดค่าใช้จ่ายได้พอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัด และคนไทยในญี่ปุ่นก็มักจะคุยกันแบบนี้เช่นกันคือ หมอญี่ปุ่นมักจะระมัดระวังมากในการตรวจวินิจฉัยหรือสรุปอาการออกมา บางครั้ง เราเลยไม่ค่อยมั่นใจว่า จริงๆ หมอรู้หรือเปล่าว่าเราเป็นอะไร เพราะเขาจะบอกไม่ชัดเจนว่าเราเป็นอะไรกันแน่ แต่จะให้เราไปดูอาการแล้วค่อยมารักษา

นอกจากนี้จะเห็นว่า ญี่ปุ่นใช้มาตรการค่อนข้างเข้มงวดมากในการตรวจโควิด-19 ไม่ใช่ว่าคุณมีอาการเล็กน้อยแล้วจะได้ตรวจ แต่ต้องแน่ใจก่อนถึงจะตรวจจริงจัง แต่ถ้าไม่มีอาการเข้าเกณฑ์ก็ไม่ต้องตรวจ หรือต้องตรวจหลายรอบก่อนถึงจะได้ไปตรวจโควิด-19 ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นปัญหาของเขาด้วย หมอบางคนออกมาบ่นในสื่อว่า บางครั้งวินิจฉัยแล้วมีแนวโน้มจะติดโควิด แต่โรงพยาบาลไม่รับตรวจง่ายๆ ก็มี เพราะโรงพยาบาลญี่ปุ่นไม่อยากให้เคสที่ไม่แสดงอาการมากมายเข้ามา เพราะนั่นอาจจะทำให้คนเข้ามาตรวจเยอะมากจนรับไม่ไหว เพราะเขามีอุปกรณ์การตรวจไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลก็อาจมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยคนอื่นๆ คนที่จะเข้ามาตรวจได้จึงต้องแน่ใจและมีอาการชัดเจนก่อน ซึ่งญี่ปุ่นก็ตั้งเกณฑ์ไว้ค่อนข้างสูงอยู่ คือต้องมีไข้ 37.5 องศาขึ้นไปเป็นเวลาติดกันอย่างน้อย 4 วัน และอาจจะต้องมีอาการลงปอดแล้วจึงจะเข้ามารักษาในโรงพยาบาลได้

อีกประเด็นที่ผมคิดว่าอาจจะเกี่ยวกันคือ โรงพยาบาลในญี่ปุ่นอาจจะกลัวว่า เมื่อตนรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาแล้วจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นหรือไม่ เพราะคนอาจจะมองว่า โรงพยาบาลนี้รับผู้ป่วยโควิดแล้ว จึงไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ ตรงนี้ก็อาจจะเป็นประเด็นแอบแฝงอยู่ด้วยเหมือนกัน

 

ต้นทุนทางวัฒนธรรมหนึ่งปัจจัยช่วยพยุงสถานการณ์

 

ตอนนี้เราคงยังตอบไม่ได้เต็มปากว่า สถานการณ์ในญี่ปุ่นเลวร้ายหรือไม่ เพราะมันอยู่แบบครึ่งๆ กลางๆ และมีความหวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดการระบาดระลอกที่สองด้วย เช่น กรณีของฮอกไกโดที่เจอการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ในญี่ปุ่น ณ ตอนนี้ดูไม่เลวร้ายเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้ตรวจจริงจัง คือไม่ได้มีการระดมตรวจเหมือนอย่างเกาหลีใต้ แต่ถ้าเขาตรวจจริงจังขึ้นมาก็อาจจะเจอเพิ่มขึ้นก็ได้ นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง หรือถ้าเรามองว่า ญี่ปุ่นควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดีพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเมื่อญี่ปุ่นมีหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการที่ญี่ปุ่นพึ่งพิงการท่องเที่ยวมาก และมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับต้นๆ หรือญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก คือมีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากกว่าอิตาลีเสียอีก แต่ก็ไม่ได้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขนาดนั้น ตรงนี้อาจเป็นเพราะญี่ปุ่นมีต้นทุนทางวัฒนธรรมระดับหนึ่ง คือคนญี่ปุ่นเชื่อฟังและพูดคุยกันรู้เรื่อง จึงร่วมมือตามที่รัฐบาลร้องขอ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างอ่อนไหวเรื่องที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ตรงนี้เป็นวัฒนธรรมในระดับสังคมหรือบุคคล และโควิดก็เป็นโรคที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ง่าย เพราะถ้าเกิดเราติดขึ้นมา คนที่อยู่ใกล้กับเราก็อาจจะต้องเดือดร้อนไปด้วย นี่เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่อยากติดโควิด-19 เพราะถ้าติดขึ้นมา ทั้งที่ทำงานหรือเพื่อนบ้านต้องวุ่นวายแน่ๆ นอกจากนี้ เรายังจะเห็นบางกรณีที่คนญี่ปุ่นแสดงความรังเกียจหรือกีดกันคนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคตัวนี้ ผมเลยมองว่า ตรงนี้ทำให้คนญี่ปุ่นเกรงกลัวและไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมาบังคับมากมาย และคนญี่ปุ่นยังใช้หน้ากากอนามัยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะคนญี่ปุ่นจำนวนมากแพ้พวกเกสรดอกไม้ และเขายังสวมหน้ากากเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ถ้าเป็นประเด็นของผู้สูงอายุ เราก็อาจมองได้ว่า แม้ญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุเยอะ แต่ก็ไม่ได้อยู่ร่วมกับคนหนุ่มสาวสักเท่าไหร่ เพราะคนญี่ปุ่นนิยมใช้ชีวิตแบบครอบครัวเล็กที่มีแค่ พ่อ แม่ ลูก ส่วนผู้สูงอายุก็อาจจะแยกบ้านออกไปอยู่กันสองคนตายาย อยู่ในชนบท ส่วนลูกหลานมาอยู่ในตัวเมือง ทำให้ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันขนาดนั้น นี่ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ได้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เยอะขนาดนั้น

 

โควิดเปิดปัญหา การเมืองเศรษฐกิจ

 

เดิมที รัฐบาลญี่ปุ่นจะเยียวยาประชาชนโดยให้เงินครัวเรือนละ 3 แสนเยน และตั้งเงื่อนไขว่า ครัวเรือนนั้นต้องมีรายได้ลดลงอย่างมากเพราะโควิด-19 แต่สุดท้าย มาตรการนี้ก็ถูกโจมตีด้วยเหตุผลที่คล้ายกับไทย คือเราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ว่ามีรายได้ลดลงอย่างมาก อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่านี่เป็นความอ่อนไหวในวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน คือการที่คุณจะไปตัดสินหรือแบ่งว่า ใครจะได้หรือไม่ได้เงิน จะทำให้คนที่ได้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า เพราะคนญี่ปุ่นคงไม่ได้อยากจะได้อย่างเดียว แต่ประเด็นคือ ถ้าเขาต้องได้เงินช่วยเหลือจากภาษีของคนอื่นมาเพื่อจัดการปัญหาของตัวเอง เขาก็อาจจะเกิดความรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน อาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีก็ได้

สุดท้าย รัฐบาลเลยออกนโยบายให้แบบถ้วนหน้า โดยให้เงิน 1 แสนเยน (ประมาณ 3 หมื่นบาท) กับคนญี่ปุ่นหรือคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น 3 เดือนขึ้นไป โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่วิธีของเขาก็ยังค่อนข้างเป็นไปตามธรรมเนียม (conventional) พอสมควร คือส่งจดหมายไปให้ครัวเรือนต่างๆ กรอกข้อมูลส่งมา เพื่อจะได้รับเงินกลับไป

ส่วนในระดับธุรกิจที่รัฐบาลขอให้ปิดชั่วคราว ก็จะได้รับเงินเยียวยามูลค่า 5 แสนเยน ถ้าเป็นธุรกิจที่ใหญ่ก็อาจจะได้ 1 ล้านเยน ซึ่งจริงๆ แล้วถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่ก็ถือเป็นการเยียวยาชั่วคราว จะเห็นว่าญี่ปุ่นพยายามรีบปรับมาตรการให้ผ่อนคลายลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ธุรกิจหรือกิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมมองว่า เป็นการคำนึงถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบปัญหามานานแล้ว

ถ้ามองในระดับมหภาค เงินที่รัฐบาลออกงบประมาณเสริมเข้าไปจากงบประมาณปกติของประเทศก็ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว คือปกติคิดเป็นมูลค่าร้อยล้านล้านเยน ก็ทบเข้าไปอีกเท่าหนึ่ง เพื่อที่จะมาจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ ตรงนี้ผมคิดว่า รัฐบาลเน้นไปที่เรื่องการเยียวยา หรือทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ปลดพนักงาน และทำให้ธุรกิจมีเงินทุนพอจะเช่าที่ได้ ไม่ให้ต้องกระทบมากจนเกินไป

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ช่วงโควิดทำให้ญี่ปุ่นเริ่มเห็นว่า เศรษฐกิจของตนเองเชื่อมโยงหรือพึ่งพิงกับจีนมากเกินไป ญี่ปุ่นเลยมีการให้เงินกับธุรกิจต่างๆ ที่จะย้ายฐานจากจีนกลับมายังญี่ปุ่น หรือย้ายไปยังประเทศอื่นเพื่อลดการพึ่งพิงจีน เพราะการที่ญี่ปุ่นพึ่งพิงจีนมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาด้วย

ขณะที่ประชาชนดูจะไม่ค่อยพอใจมาตรการจัดการของรัฐบาลเท่าไหร่ ถึงเราจะมองว่าญี่ปุ่นไม่ได้เจอกับปัญหาหนักจนเกินไป ยังพอจัดการปัญหาได้ แต่นายกฯ อาเบะถูกวิจารณ์มาตลอดว่าทำงานช้า เช่น เรื่องการแก้กฎหมายเพื่อจะประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะโควิดเริ่มแพร่ระบาดและมีการตื่นตัวในระดับนานาชาติตั้งแต่ช่วงกลางมกราคมแล้ว แต่กว่าอาเบะจะแก้กฎหมาย ซึ่งเดิมคือกฎหมายจัดการกับพวกโรคระบาดจำพวกไข้หวัดใหญ่ เพื่อจะมาจัดการกับโควิด ก็ปาเข้าไปช่วงต้นเดือนมีนาคม และประกาศภาวะฉุกเฉินในช่วงกลางเดือนเมษายน ตรงนี้หลายคนเลยรู้สึกไม่ค่อยพอใจและตั้งคำถามว่า สาเหตุที่การจัดการเป็นไปอย่างล่าช้าเช่นนี้ เพราะญี่ปุ่นพยายามจะจัดโอลิมปิกให้ได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้น ประชาชนก็ส่งเสียงออกมาเหมือนกันว่า ที่ไม่ยอมตรวจหาเชื้อจริงจังก็เพราะอยากจะจัดโอลิมปิกให้ได้ ส่วนผลโพลก็บอกว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่านี่ไม่ใช่เวลามาจัดโอลิมปิก จึงเป็นตัวแสดงชี้ชัดว่า ประชาชนคิดว่ารัฐบาลกลางจัดการปัญหาได้ค่อนข้างช้า และเมื่อเทียบกับรัฐบาลท้องถิ่นที่ดูจริงจังและตื่นตัวมากกว่า ทั้งในกรณีผู้ว่าการฮอกไกโดหรือผู้ว่าการกรุงโตเกียวอย่างยูริโกะ โคอิเคะ ที่พยายามผลักดันและกดดันให้รัฐบาลทำอะไรที่จริงจังด้วย ตรงนี้มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) รวมถึงตัวอาเบะด้วยแน่นอน

 

หนทางสู่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

ผมคิดว่า การแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นเป้าหมายทางการเมืองของอาเบะและพรรค LDP ต่อไป แต่ที่เคยมีเป้าหมายชัดเจนว่า ปี 2020 จะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ตอนนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะต้องทุ่มให้กับการจัดการประเด็นปัญหาโรคระบาดก่อน แต่เรื่องการจัดการโควิดมีประเด็นหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงมาตลอดคือ การให้อำนาจรัฐบาลกลางในการใช้อำนาจอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นอำนาจที่อาจจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกรับประกันไว้ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ประเด็นนี้จะกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในการแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะในการแก้รัฐธรรมนูญ เขาไม่ได้พูดแค่เรื่องการไม่ทำสงครามหรือไม่มีทหาร แต่จะมีประเด็นเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินพ่วงไปด้วย

จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และได้รับการถกเถียงกันมานานแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆ เกิดขึ้นเป็นประเด็นให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่พอเกิดโควิด ประเด็นเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมา เพราะถ้าไม่มีการเขียนเรื่องการให้อำนาจบริหารชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า มันจะเกิดการถกเถียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายนักกฎหมายด้านรัฐธรรมนูญที่บอกว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิจะประกาศภาวะฉุกเฉินและใช้วิธีการควบคุมประชาชน

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ถกเถียงกันในช่วงที่ผ่านมาอาจจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระหว่างประเทศด้วย เช่น ญี่ปุ่นจะถูกต่างชาติรุกราน เพราะแต่เดิม ปัญหาสำคัญที่อาเบะพยายามจัดการคือเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ และแม้โควิดจะเป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง แต่มันก็เชื่อมกับประเด็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารเช่นกัน ผมว่านี่จะกลายเป็นข้อถกเถียงที่เข้าไปผสมโรงกับมาตรา 9 หรือการที่ญี่ปุ่นจะมีกองกำลังและใช้ศักยภาพกองกำลังได้มากแค่ไหนด้วย

 

มองฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านในช่วงโรคระบาด

 

ถ้าถามถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมว่ายังยากอยู่ที่ฝ่ายค้านจะมาเป็นรัฐบาลได้ เพราะตอนนี้ ฝ่ายค้านยังไม่สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นชัดเจน และดูไม่ใช่ตัวเลือกสำคัญของคนญี่ปุ่น อีกทั้งพวกเขายังทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดี แต่เราก็ต้องดูต่อไปยาวๆ เหมือนกัน ยังฟันธงอะไรชัดเจนไม่ได้ เพราะเรายังอยู่ตรงกลางของวิกฤต สถานการณ์หลังจากนี้ต่อไปก็ยังมีความหวังอยู่อีกมาก เช่น ถ้าปีหน้าญี่ปุ่นที่นำโดยพรรค LDP และอาเบะจัดโอลิมปิกได้ มันก็จะช่วยทั้งในแง่จิตวิทยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะทำให้พรรค LDP ได้รับคะแนนเสียงมากอยู่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ความต่อเนื่องก็เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการกับวิกฤตใหญ่ขนาดนี้ หลายคนจึงมองว่า ให้พรรค LDP ทำงานต่อไปก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้ามีพรรคฝ่ายอื่นขึ้นมาจะเป็นอย่างไร อีกทั้งในการเมืองญี่ปุ่น พรรค LDP เป็นพรรคที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการและปกครองประเทศมากที่สุด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านเข้ามาแล้วจะเข้ามาสานต่องานหรือทำงานแก้ไขไปในลักษณะไหนได้ แต่เท่าที่ผ่านมา ฝ่ายค้านก็ทำงานเต็มที่ ทั้งในแง่การสอดส่องการทำงานหรือการจัดการปัญหาของรัฐบาล และยังมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย เช่น ตอนที่จะผ่านกฎหมายเพื่อจัดการกับภาวะฉุกเฉินนี้ ฝ่ายค้านก็ร่วมให้ผ่านกฎหมายอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องเถียงอะไรกันมาก

 

ชะตากรรมของ โตเกียวโอลิมปิก

 

ญี่ปุ่นหวังกับโอลิมปิกไว้เยอะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยหวังให้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นตัวช่วยจุดประเด็นเรื่องสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของญี่ปุ่นในประชาคมนานาชาติด้วย เพราะถ้าเราดูเชิงเปรียบเทียบ จะเห็นว่าชาติข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือเกาหลีใต้ เหมือนเข้ามายืนในตำแหน่งที่ญี่ปุ่นเคยภูมิใจมาก่อนในอดีต เพราะฉะนั้น โอลิมปิกมีผลหลายอย่าง และญี่ปุ่นก็หวังว่าจะใช้โอลิมปิกตอบสนองจุดประสงค์ในหลายๆ เรื่อง แต่พอโอลิมปิกถูกเลื่อนไปแบบนี้ แน่นอนว่า มันไม่เป็นไปตามแผนเท่าไหร่

อีกเรื่องหนึ่งคือ โอลิมปิกก็เป็นประเด็นทางการเมืองด้วย เพราะอาเบะอยากให้มีมรดกตกทอดทางการเมืองโดยการจัดโอลิมปิกในช่วงทศวรรษที่ 2010 นอกจากเรื่องโอลิมปิกแล้ว อาเบะยังวางแผนจะทิ้งมรดกทางการเมืองไว้อีกหลายอย่าง รวมถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์หลังสงครามด้วย แต่พอโควิดระบาด เรื่องรัฐธรรมนูญก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ทั้งอาเบะรวมถึงผู้ว่าการกรุงโตเกียวก็พยายามยื้อเรื่องจัดโอลิมปิกไว้เต็มที่ จนถึงปลายเดือนมีนาคมจึงค่อยยอมรับว่า ไม่ไหวแล้ว เพราะโควิดกลายเป็นปัญหาของโลก และต่อให้ญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกได้ก็คงไม่มีใครมาร่วม

ย้อนกลับไปตอนที่ปัญหาโควิดยังไม่หนักขนาดนี้ ญี่ปุ่นก็คิดไว้หลายแนวทางเหมือนกัน เช่น แทนที่จะใช้คนวิ่งคบไฟเพลิงโอลิมปิก ก็อาจจะให้รถพาไปแทน แต่ก็ดูจะพลิกแพลงเกินไป หรือให้แข่งแบบไม่มีผู้ชม ก็จะเสียความเป็นโอลิมปิกไปแน่นอน ตรงนี้ไม่แน่ใจว่า ญี่ปุ่นจะปรับเปลี่ยนอะไรยังไงในปี 2021 และยังไม่แน่ใจด้วยว่า จะจัดได้ตามที่หวังไว้ไหม

อย่างไรก็ดี ถ้าญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกได้ในปี 2021 จริงๆ ผมคิดว่า มันก็จะสอดคล้องกับแนวคิดหลัก (theme) ที่ญี่ปุ่นตั้งไว้ก่อนหน้านี้ คือโอลิมปิกเพื่อการฟื้นฟู (Reconstruction Olympic) แต่การฟื้นฟูที่ญี่ปุ่นใช้ก่อนหน้าคือการฟื้นฟูในระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่น เป็นการจัดการกับปัญหาทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮคุ) ที่เผชิญภัยพิบัติมาตั้งแต่ช่วงปี 2011 และยังเป็นปัญหาในการฟื้นฟูให้ผู้คนกลับไปยังพื้นที่นั้นจนถึงปัจจุบัน แต่พอโควิดแพร่ระบาดเช่นนี้ และถ้าญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกที่เป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกขึ้นมาได้ การให้ความหมายแก่โอลิมปิกในครั้งนั้นอาจจะมีความหมายยิ่งใหญ่กว่านั้น คือการที่โลกเราจัดการโควิดได้ในระดับไหน ซึ่งก็ต้องไปลุ้นกัน แต่ถ้าจัดโอลิมปิกได้ปีหน้าก็เท่ากับว่าสถานการณ์ต้องดีขึ้นแล้ว โอลิมปิกในปีหน้าก็อาจจะสะท้อนภาพของการฟื้นฟูเหมือนกัน แต่เป็นอีกนัยหนึ่ง คือนัยของการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิดที่เราเผชิญกัน ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่หมายถึงโลกในปัจจุบันนี้

 

ตัดเกรดรัฐบาลญี่ปุ่น

 

ถามว่ารัฐบาลญี่ปุ่นสอบผ่านไหม ผมว่าพูดยากครับ ถ้าเราดูว่า ประชาชนญี่ปุ่นเขาคิดอย่างไร จะเห็นว่า พวกเขามองว่ารัฐบาลกลางดำเนินการช้าไปหน่อย แต่ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขของญี่ปุ่นกับประเทศที่เจริญแล้ว และเปรียบสถานการณ์ของญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งเรื่องการรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ญี่ปุ่นถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้พอสมควร แต่ตรงนี้ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่า เราเชื่อตัวเลขที่ญี่ปุ่นนำเสนอโดยที่ไม่มีกระบวนการตรวจหาเชื้อจำนวนมาก (mass testing) หรือไม่

สำหรับผม ตอนนี้ญี่ปุ่นเหมือนจะเอาอยู่ และพยายามจะสร้างสมดุลระหว่างการจัดการโรคและเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คน คือให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ประกาศภาวะฉุกเฉินเท่าที่ทำได้ หรือที่บอกว่าเป็น soft lockdown และถ้าเรามองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเจออุปสรรค แต่ก็ยังดำเนินการได้ขนาดนี้ ก็อาจจะถือว่ายอมรับได้อยู่หรือเปล่า แต่แน่นอนว่า ยังมีหลายกรณีที่เป็นปัญหาโดนวิพากษ์วิจารณ์ เช่น การที่รัฐบาลแจกหน้ากากอนามัยครัวเรือนละ 2 แผ่นโดยใช้งบไปเยอะมาก คนญี่ปุ่นก็จะถามว่า ทำไปทำไม ก็จะมีประเด็นแบบนี้เหมือนกัน คือเป็นมาตรการที่ไม่ค่อยดีในสายตาประชาชน และคนญี่ปุ่นมองว่า สู้ไม่ทำจะดีกว่า

เราจะเห็นว่า ในวิกฤตใหญ่ระดับโลกย่อมมีทั้งประเทศที่จัดการกับวิกฤตได้ดี และอาจจะไม่ค่อยดีนัก ถ้าเป็นญี่ปุ่น เราคงเห็นแล้วว่า สื่อนานาชาติมองญี่ปุ่นว่าน่าเป็นห่วงมากกว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบ แต่สำหรับญี่ปุ่น สิ่งสำคัญตอนนี้คงเป็นการเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้มากกว่าจะคิดเรื่องที่ว่า ตนเองจะปรับสถานะให้ดีขึ้นในเวทีโลกได้หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจว่าโควิดจะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นไหม เพราะโอกาสดูจะผ่านมาแล้วเหมือนกัน

 

ความเป็น ญี่ปุ่นในการรับมือโควิด-19

 

สิ่งที่ผมเห็นอย่างหนึ่งในเรื่องญี่ปุ่นกับโควิดคือ ความอ่อนไหวในเรื่องกฎเกณฑ์ ตรงนี้เชื่อมกับรัฐธรรมนูญ และสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง กล่าวคือญี่ปุ่นยังถูกประวัติศาสตร์ในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลอกหลอน เพราะในตอนนั้น อำนาจอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) รวมถึงลัทธิทหารต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ เข้ามาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ รวมถึงมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นหลังสงคราม ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยที่ยึดถือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก และถือเป็นหลักคุณค่าอย่างหนึ่ง

ดังนั้น เวลาหลายคนพูดถึงการจัดการวิกฤต เขาจะมองว่ามันเป็น ‘either…or…’ ว่าจะเลือกเศรษฐกิจหรือชีวิต แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่น มันจะมีเรื่องหลักคุณค่าอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ผมจึงไม่อยากให้มองว่า ที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศหรือไม่ได้เข้มงวดจนเกินไปเพราะคิดแต่ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ เพราะสุดท้าย เศรษฐกิจโดยรวมก็ย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งจริงๆ เศรษฐกิจญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ก็แย่แล้ว

อีกเรื่องคือ ญี่ปุ่นมีทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งนี่อาจจะเป็นตัวช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถจัดการปัญหาโควิดได้โดยไม่ต้องใช้ยาแรงหรือใช้กฎเกณฑ์บังคับมากมาย ใช้เพียงการขอความร่วมมือ ผู้คนก็พยายามจะปฏิบัติตามให้ได้มากที่สุดแล้ว ส่วนในกรณีคนที่ไม่เชื่อฟัง ก็จะมีสื่อญี่ปุ่นคอยชี้ว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม คุณควรจะทำตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐพยายามร้องขอให้ทำมากกว่า ซึ่งผมคิดว่า สิ่งนี้สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นที่มีลักษณะเฉพาะอยู่เหมือนกัน

แต่ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ได้ปรับตัวได้ง่ายๆ ผมถึงบอกว่า ถ้าเราพูดถึง new normal ในญี่ปุ่นจะต้องมองในระยะยาว เพราะคนญี่ปุ่นยึดติดกับแบบแผนมาตลอด ถ้าจะให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างรวดเร็วโดยใช้กฎเกณฑ์เข้ามาบังคับ ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร และเราอาจจะมองได้ด้วยว่า ประเด็นความล่าช้าในการจัดการปัญหาของญี่ปุ่นก็มาจากประเด็นทางวัฒนธรรม ทั้งตัวรัฐบาล และผู้คนที่ใช้ชีวิตในสังคมญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save