fbpx
โอลิมปิกแห่งโชคชะตา : จากฮิโรชิม่า ฟุคุชิม่า สู่ไวรัสโคโรนา

โอลิมปิกแห่งโชคชะตา : จากฮิโรชิม่า ฟุคุชิม่า สู่ไวรัสโคโรนา

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อใดที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ชะตากรรมของชาติและผู้คนเหมือนจะถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย การตัดสินใจกลายเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่กลับทำได้ยากยิ่ง ทั้งการตัดสินใจในระดับบุคคลเพื่อเอาชีวิตรอด ไปจนถึงระดับผู้นำในการพาให้ชาติรอดไปได้ เพราะวิกฤตมักนำเราไปยืนอยู่หน้า ‘ทางแพร่ง’ (dilemma) ที่บังคับให้เลือกเดิน ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเลือกทางไหนก็มีผลลัพธ์ไม่แน่นอน ทั้งยังเสี่ยงจะเสียบางอย่างไปด้วย อีกทั้ง วิกฤตยังไม่ให้เวลาเราคิดอย่างถ้วนถี่ แต่บังคับให้ต้องรีบตัดสินใจให้ทันท่วงที

ดังนั้น ‘ความกล้าได้กล้าเสีย’ จึงอาจจัดเป็นคุณสมบัติของผู้นำในการรับมือกับวิกฤต ทั้งในการตัดสินใจ และการกล้ายอมรับต่อผลเสียที่จะตามมา เหมือนที่หลายชอบพูดว่า “วิกฤตสร้างผู้นำ” แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตจะสร้างผู้นำหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับ ‘โชค’ ด้วย โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตที่ว่าเกิดจากภัยตามธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้

สำหรับวิกฤต COVID-19 หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสคือญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องการแพร่ระบาด และการที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี 2020 สิ่งที่ยากจะตัดสินใจสำหรับผู้นำญี่ปุ่นคือ การกำหนดชะตากรรมของโอลิมปิก 2020 ซึ่งแม้จะยื้อเวลามาพักใหญ่ แต่สุดท้าย โตเกียวโอลิมปิกก็ถูกเลื่อนไปจัดปีหน้าแทน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นต้องเจอกับภัยธรรมชาติที่เข้ามากระทบต่อแผนการและยุทธศาสตร์ของรัฐ ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ปี 2011 เกิดเหตุการณ์ 3.11 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นอันดับที่ 4 เท่าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ในบริเวณแถบตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮคุ – Tohoku) แผ่นดินไหวครั้งนั้นก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ซ้ำร้าย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งจังหวัดฟุคุชิม่ายังระเบิดจนกัมมันตรังสีรั่วไหล

เหตุการณ์ดังกล่าวสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพรรคประชาธิปไตย (DJP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น พรรค DJP ถูกมองว่าไร้สมรรถนะในการบูรณะฟื้นฟู ทำให้พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่ผูกขาดอำนาจมายาวนานก่อนหน้านี้ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งปลายปี 2012 และทำงานต่อมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าลองคิดเล่นๆ แล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าพรรค DPJ ต้องประสบคราวเคราะห์ และถือเป็นโชคของพรรค LDP ที่ไม่ต้องเป็นเจ้าภาพรับมือภัยพิบัติในครั้งนั้น

ขณะที่วิกฤตไวรัสโควิด-19 ถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลไม่ต่างจากเหตุการณ์ 3.11 เพราะยิ่งจำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น เสียงวิจารณ์ก็ยิ่งหนาหูมากขึ้นถึงการทำงานของนายกฯ ชินโซ อาเบะ ส่วนหนึ่งของเสียงวิจารณ์พุ่งเป้าไปที่ความล่าช้าในการตัดสินเกี่ยวกับโตเกียวโอลิมปิก ซึ่งแต่เดิมจะเปิดฉากขึ้นปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ทั้ง เซโกะ ฮะชิโมโต รัฐมนตรีโอลิมปิก และ ยูริโกะ โคอิเคะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ต่างประสานเสียงยืนกรานว่าโอลิมปิกจะจัดขึ้นตามแผนเดิม ไม่มีทางที่จะเลื่อนหรือยกเลิก ขณะที่รัฐบาลก็พยายามยื้อการตัดสินใจ โดยรอความเห็นของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่มองว่า โอลิมปิกจะจัดได้ตามแผนหรือไม่ต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ และจะหาข้อสรุปให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างช้า ทำให้กว่าอาเบะจะแสดงภาวะผู้นำ โดยการประกาศเลื่อนจัดไปปีหน้า ญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากหลายทาง ทั้งจากผู้นำสหรัฐฯ และเหล่านักกีฬาชาติต่างๆ ที่ปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขัน ขณะที่ในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นถูกคนญี่ปุ่นโจมตีว่าเคลื่อนไหวช้า โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผลสำรวจความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นช่วงเดือนมีนาคมที่ชี้ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่คัดค้านการจัดโอลิมปิกในภาวะโควิด-19

นอกเหนือจากความล่าช้าในการตัดสินใจ สิ่งที่เราเห็นควบคู่ไปด้วยคือ ‘ความอาลัยอาวรณ์’ ที่สะท้อนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน ตลอดจนสื่อมวลชนในญี่ปุ่น – เหตุแห่งความอาวรณ์นี้คืออะไร โอลิมปิก 2020 มีความสำคัญและความหมายอย่างไรต่อญี่ปุ่น และรัฐบาลต้องเผชิญทางแพร่งอย่างไรในการตัดสินใจ เป็นประเด็นที่บทความนี้ต้องการอภิปราย

 

ชะตากรรมของโตเกียวโอลิมปิก 2020

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับทางแพร่งว่า จะ ‘เลื่อน’ หรือ ‘ยกเลิก’ โอลิมปิก โดยฝ่ายจัดงานของญี่ปุ่นยืนกรานว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องจัดให้ได้ เพราะการยกเลิกดูจะเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ การเลื่อนจึงดูเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุด แต่ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย เพราะติดเรื่องตารางเวลาถ่ายทอดกีฬาในประเทศอื่น รวมถึงการแข่งรอบคัดเลือกและการซ้อมที่ฉุกละหุกเกินไป สุดท้าย ทั้งญี่ปุ่นและ IOC จึงเจรจากันจนได้ข้อสรุปว่า โตเกียวโอลิมปิกจะต้องเลื่อนไปจัดในปีหน้าแทน แต่โคอิเคะ ผู้ว่ากรุงโตเกียวก็ยังแสดงความอาลัยอาวรณ์โดยการกล่าวในทำนองว่า “แม้โตเกียวโอลิมปิกจะเลื่อนไปจัดในปี 2021 แต่ก็จะยังคงเป็นโตเกียวโอลิมปิก 2020 ดังเดิม”

แม้โตเกียวโอลิมปิกจะเลื่อนจัดแล้ว แต่สำหรับคนที่กังขาต่อการบริหารวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล พวกเขามองว่า การที่รัฐบาลดึงดันจะจัดโอลิมปิกให้ได้ทำให้รัฐบาลขาดความจริงจังในการตรวจหาผู้ติดเชื้อและยกระดับมาตรการควบคุมโรค และยังเหมือนเป็นการบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ ทำให้ดูเหมือนว่าญี่ปุ่น ‘เอาอยู่’ เพื่อโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเห็นว่า โอลิมปิกยังสามารถจัดได้ตามแผน แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชาติต่างๆ เริ่มตื่นตัวกับปัญหาในประเทศของตนเอง รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศเลื่อนโตเกียวโอลิมปิก โดยรับภาระค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจนถึงปีหน้า ส่วนผู้ว่าหญิงของกรุงโตเกียวก็แสดงท่าทีจริงจังมากขึ้น โดยการขอให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน และให้บริษัทเน้นการทำงานทางไกล เธอยังได้เน้นย้ำถึง ‘ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ’ ที่ความชะล่าใจของประชาชนอาจทำให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เพราะแม้รัฐบาลจะสั่งปิดสถานศึกษา และกรุงโตเกียวสั่งปิดสถานที่สาธารณะตามอำนาจไปแล้ว แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ และนั่นอาจทำให้ญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับหนึ่งของโลก เดินตามรอยอิตาลีได้ไม่ยาก

 

เป้าหมายอเนกประสงค์ของโอลิมปิก  

 

กีฬาโอลิมปิกถือเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลก การเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกจึงเป็นความใฝ่ฝันของหลายชาติ กระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิกต้องใช้เวลานานนับทศวรรษ นับแต่วันรับสมัครจนถึงวันที่โอลิมปิกเปิดฉาก โดยกรุงโตเกียวเอาชนะกรุงมาดริด (สเปน) และกรุงอิสตันบูล (ตุรกี) ได้ในการคัดเลือกรอบสุดท้ายเมื่อปี 2013 เพื่อจะจัดงานในปี 2020 (ตามกำหนดเดิม)

แน่นอนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทุ่มงบประมาณและลงทุนอย่างมหาศาล มีการประมาณการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับโตเกียวโอลิมปิกสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเยน แม้ว่าญี่ปุ่นตั้งใจจัด ‘โอลิมปิกแบบประหยัด’ แล้วก็ตาม จึงเกิดคำถามตามมาว่า การจัดโอลิมปิกครั้งนี้สำคัญอย่างไร และให้ประโยชน์อะไรแก่ญี่ปุ่น

หากกล่าวโดยทั่วไป โอลิมปิกให้ประโยชน์แก่เจ้าภาพในหลายมิติ มิติที่ชัดเจนและรับรู้กันโดยทั่วไปคือ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และชื่อเสียงที่ประเทศเจ้าภาพจะได้รับ แต่โอลิมปิกก็แฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง ยุทธศาสตร์ และอำนาจได้เช่นกัน กล่าวคือ โอลิมปิกถือเป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า รัฐจะได้ประโยชน์ในแง่นี้มากแค่ไหน ในเมื่อต้องเสียงบประมาณในการจัดไปไม่ใช่น้อย

ข้อกังขานี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในการจัดโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ที่กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล จนเป็นเหตุให้คนบราซิลลุกขึ้นมาประท้วงการจัดโอลิมปิก ขณะที่ในปี 2020 นี้ ญี่ปุ่นก็ถูกตั้งคำถามว่า แทนที่จะมุ่งจัดโอลิมปิก รัฐบาลควรทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูพื้นที่แถบโทโฮคุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ต้องอยู่อย่างยากลำบากมากกว่า เพราะอย่างไรเสีย การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจะ ‘คุ้ม’ หรือไม่ ย่อมขึ้นกับความสามารถและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของชาติเจ้าภาพด้วยเช่นกัน

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากโอลิมปิกยังมาจากการจับจ่ายของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงการแข่งขัน และจากโอกาสประชาสัมพันธ์เมืองและประเทศ รายได้จากสปอนเซอร์ โฆษณาและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมกีฬา ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ การลงทุนด้านสาธารณูปโภคอันถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเจ้าภาพก็อาจถูกมองว่า เป็นวิธีอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบได้ ทั้งยังส่งผลบวกระยะยาวในการพัฒนาเมือง ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้

การชี้ให้เห็นข้อดีเหล่านี้ย่อมสร้างความเข้าใจและได้แรงสนับสนุนจากคนในชาติในการร่วมมือร่วมใจทำให้งานสำเร็จ เช่น เมื่อครั้งกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2008 จีนถือโอกาสปรับสภาพนครหลวงให้ทันสมัย ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1964 ก็ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ อย่างรถไฟความเร็วสูง ‘ชิงคันเซน’ ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

โอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1964 และปี 2008 ซึ่งสองชาติเอเชียเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการปรับสถานะจากชาติกำลังพัฒนาไปสู่ชาติแนวหน้าในเวทีโลก เพราะการจัดมหกรรมกีฬาที่ต้องลงทุนขนานใหญ่ถือเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะชาติพัฒนาแล้ว อีกทั้ง กระบวนการคัดเลือกของ IOC ก็เป็นการรับประกันว่า เจ้าภาพต้องมีศักยภาพพอจะจัดงานได้ การจัดโอลิมปิกจึงเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะและเกียรติภูมิแห่งชาติ ผ่านการแสดงวัฒนธรรม ค่านิยมและสุนทรียภาพผ่านพิธีเปิดและปิด ตลอดจนการได้นำเสนอภาพลักษณ์ต่างๆ ผ่านสื่อระหว่างประเทศที่จับจ้องมายังประเทศเจ้าภาพ

ในกรณีของญี่ปุ่น พวกเขาใช้โอลิมปิกครั้งแรกตอกย้ำการเป็นชาติเอเชียชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพ สะท้อนการปรับสถานะจากชาติแพ้สงครามสู่การเป็นชาติพัฒนาแล้วที่โลกยอมรับ ขณะที่โอลิมปิกกรุงปักกิ่งก็ถือเป็นหมุดหมายที่สะท้อนการเป็นที่ยอมรับในฐานะชาติเศรษฐกิจ แม้ว่าในช่วงเวลานั้น การประท้วงของชาวทิเบตและอุยกูร์จะทำให้โลกได้รับรู้ถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนก็ตาม

เมื่อมองการจัดโอลิมปิกเป็นสิ่งส่งเสริมสถานะและเกียรติภูมิ รัฐบาลชาติเจ้าภาพย่อมสามารถอ้างความสำเร็จจากมหกรรมนี้เพื่อยกระดับความชอบธรรมในการปกครองของตน ทำให้การเชิดหน้าชูตาและได้รับการยอมรับในเวทีโลกส่งผลต่อเกมการเมืองภายในอย่างแยกไม่ออก กล่าวคือ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยส่งเสริมฐานอำนาจให้แก่ผู้นำหรือระบอบ ในรูปของ ‘ความชอบธรรมจากผลงาน’ (performance legitimacy) โดยไม่เกี่ยงว่ารัฐนั้นปกครองด้วยวิถีแบบใด รัฐเผด็จการอย่างจีนอาจอ้างโอลิมปิกเป็นหนึ่งในความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในการยกฐานะของประเทศในประชาคมโลก ขณะที่รัฐบาลประชาธิปไตยอาจใช้เป็นวิธีเรียกคะแนนเสียงและความนิยมเพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง โอลิมปิกจึงมีความเกี่ยวพันกับการเมืองอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ แม้ว่าวัตถุประสงค์ของกีฬาและ IOC คือมิตรภาพระหว่างรัฐ แต่ถ้ามองเรื่องภายในรัฐแล้ว โอลิมปิกถือเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความคิดแบบชาตินิยมด้วย ซึ่งความคิดนี้มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเป็นเงื่อนไขสร้างความเป็นปึกแผ่นในชาติ ตลอดจนความสามารถในการระดมสรรพกำลังและสนับสนุนนโยบายของรัฐในการแข่งขันกับชาติอื่น ดังนั้น ถ้าเราบอกว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกสะท้อนการยกสถานะของประเทศ รัฐก็อาจใช้ทัศนคติของคนในชาติให้เอื้อต่อการปรับยุทธศาสตร์หรือบทบาท ไปสู่การเป็นผู้นำภูมิภาคหรือผู้นำระเบียบโลกได้

การจัดโอลิมปิกยังส่งเสริม ‘อำนาจอ่อน’ (soft power) หรือความสามารถในการโน้มน้าวให้ชาติอื่นอยากทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยชาติเจ้าภาพอาจเผยแพร่วัฒนธรรม ค่านิยม และประชาสัมพันธ์ท่าทีของตนผ่านโอลิมปิก ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้เป็นที่มาของอำนาจอ่อนตามที่ Joseph Nye เจ้าของแนวความคิดเสนอไว้ ดังนั้น เมื่อการเป็นเจ้าภาพถูกตีความเป็นความสำเร็จของชาติ และชาติอื่นอาจเกิดความรู้สึกชื่นชอบและเคารพนับถือ นี่จึงเป็น soft power ที่ช่วยจูงใจชาติต่างๆ ให้เข้ามาผูกมิตรหรือมองชาตินั้นเป็นแบบอย่าง ทัศนคติเช่นนี้เอื้อต่อการสร้างและรักษาพันธมิตร ตลอดจนความชอบธรรมในการดำรงบทบาทผู้นำ แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลดีในเชิงยุทธศาสตร์ และเป็นอำนาจอีกมิติที่ช่วยเสริมการทหารและเศรษฐกิจ (hard power) ของประเทศด้วย

 

โตเกียวโอลิมปิก 2020: โอลิมปิกเพื่อการฟื้นฟู

 

ย้อนกลับไปในปี 2013 ที่มีการแข่งขันคัดเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ญี่ปุ่นนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นชาติที่ปลอดภัย โดยเน้นไปที่อัตราการก่ออาชญากรรมที่ต่ำ เปลี่ยนภัยพิบัติ 3.11 ที่ยังสดใหม่ในเวลานั้นเป็นโอกาสเรียกคะแนนความเห็นใจ และสื่อนัยว่าตนเองจะจัดการปัญหากัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิม่าให้ได้ ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็น ‘โอลิมปิกเพื่อการฟื้นฟู’ (Reconstruction Olympics) ที่พุ่งเป้าไปยังพื้นที่โทโฮคุ แต่หากมองบริบทที่กว้างกว่านั้น คำว่า ‘ฟื้นฟู’ ในที่นี้มีความหมายมากกว่าการบูรณะระดับท้องถิ่น คือญี่ปุ่นหวังให้โอลิมปิกเป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ที่ช่วยพลิกฟื้นฐานะของประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจ ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ อำนาจอ่อน (soft power) แม้กระทั่งฐานอำนาจของรัฐบาล ไปจนถึงความทรงจำร่วมกันของชาติ

เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในคราวเดียว แต่เกิดจากการสั่งสมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นมองว่า โอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายทาง ซึ่งจะตอบสนองเป้าหมายธนูดอกที่สามในแผน Abenomics ที่มีขึ้นเพื่อฝ่าวังวนเงินฝืดและเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นกลยุทธ์เร่งการเติบโต (growth strategy) ที่มีการท่องเที่ยวและส่งออกสินค้าวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ญี่ปุ่นเห็นความสำคัญในเรื่องท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ด้วยสโลแกน Cool Japan แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันจริงจังกับเรื่องนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยสามารถเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวได้ปีละเป็นสิบล้าน ทั้งยังตั้งเป้าให้ปี 2020 มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาที่ญี่ปุ่นให้ได้ 40 ล้านคน

นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างสำหรับโอลิมปิกแล้ว ญี่ปุ่นยังหวังให้ปีนี้เป็นปีคืนทุน และให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าโรงแรม ร้านอาหาร หรือร้านค้า คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิก และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่คนญี่ปุ่นตื่นตัวมองหาอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อรับชมมหกรรมกีฬาครั้งนี้

นอกจากนี้ โตเกียวโอลิมปิกยังเป็นความหวังของพรรค LDP ด้วย กล่าวคือ ในช่วงที่ผ่านมา พรรค LDP ได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อให้อาเบะเป็นผู้นำพรรค และดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจากสองเป็นสามสมัย รวมระยะเวลาทั้งหมด 9 ปี การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเตรียมจัดโอลิมปิก และความต่อเนื่องทางการทูตกับสหรัฐฯ รวมถึงความหวังว่า โอลิมปิกที่สวยงามจะช่วยต่ออายุรัฐบาล และช่วยรักษาคะแนนนิยมก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะระยะหลังมานี้ รัฐบาลเริ่มถูกโจมตีด้วยกรณีอื้อฉาวหลายครั้ง จนคะแนนนิยมตกอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ

ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นได้นำเสนอภาพลักษณ์ที่หลากหลายผ่านการจัดโอลิมปิก หรือกระบวนการที่เรียกว่า nation branding ซึ่งมีเป้าหมายทั้งเพื่อการตลาด ส่งเสริมอำนาจอ่อน (soft power) ตลอดจนกอบกู้สถานะของญี่ปุ่นในยามที่เกียรติภูมิ ความสำคัญ และความเป็น ‘ที่หนึ่ง’ ดูจะตกต่ำลงจากการพัฒนาขึ้นของเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกที่ญี่ปุ่นพยายามผนวกเอาความทรงจำของโอลิมปิกครั้งเก่าเข้ามาในการจัดครั้งนี้ อย่างการใช้สนามแข่งเดิมที่ญี่ปุ่นเรียกว่า heritage zone เพื่อย้ำเตือนและโหยหายุครุ่งเรืองที่ผ่านมาของตน เราอาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นพยายามแต้มสีที่สดใสให้กับภาพจางในอดีตอีกครั้งผ่านภาพลักษณ์สดใหม่ที่สร้างขึ้นมา โดยมีวัฒนธรรมร่วมสมัย (pop culture) มังงะ อนิเมะ และเกมที่ทั่วโลกคุ้นเคยเป็นจุดขาย ตลอดจนแสดงค่านิยมประหยัด ใช้ทุกอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และการเป็นประเทศที่ปลอดภัยให้โลกได้รับรู้

 

ถ่อมตนและรำลึก: ความหมายแฝงในโตเกียวโอลิมปิก

 

นอกจากฉายภาพญี่ปุ่นให้คนภายนอกเห็นแล้ว โอลิมปิกยังเป็นการสื่อสารกับผู้คนในชาติด้วยการสร้างความเข้าใจและความหมายร่วมกัน กระบวนการนี้มักสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นจากมุมมองของญี่ปุ่นเอง โดยโตเกียวโอลิมปิกทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ผลิตซ้ำเนื้อหาว่าด้วย ‘ชะตากรรมของชาติ’ ที่ขึ้นอยู่กับการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงเงื่อนไขที่อาจอยู่นอกเหนือการควบคุม หรือเรียกได้ว่าขึ้นกับโชคชะตานั่นเอง

การให้ความหมายหรือตั้งโจทย์โอลิมปิกแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ (recurring theme) และไม่ได้จำกัดเฉพาะการจัดโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายอยู่ในวาทกรรมว่าด้วยความเป็นญี่ปุ่น การรับรู้ตัวตนแห่งชาติ และความเปราะบางทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนด้วย สำหรับคนญี่ปุ่น โอลิมปิกอาจแฝงไปด้วยนัยของความ ‘ถ่อมตน’ และการ ‘รำลึก’ ถึงความทุกข์ยากที่ต้องเผชิญ ภายใต้ฉาบหน้าของมหกรรมที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองและเชิดหน้าชูตา

การผูกโยงวาทกรรม ‘การเป็นชาติที่ต้องดิ้นรน’ ท่ามกลางภัยพิบัติให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของโอลิมปิกที่เป็น ‘โอลิมปิกเพื่อการฟื้นฟู’ ซึ่งเป็นรูปแบบงานปีนี้ ได้ตอกย้ำบรรยากาศความคิดที่รายล้อมโตเกียวโอลิมปิกปี 1964 ทั้งด้วยความบังเอิญและจงใจ เพราะในปี 1964 เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากสงคราม การจัดโอลิมปิกจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนความยินดีต่อความก้าวหน้าในการฟื้นฟูประเทศไปในทางสันติ และเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูราวปาฏิหาริย์ จนญี่ปุ่นกลายเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีและมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่ภายใต้ความยิ่งใหญ่และการผงาดเป็นชาติชั้นนำ โอลิมปิก 1964 ก็มีความหมายในแง่การกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลกจากการเป็นชาติผู้ก่อสงคราม มหกรรมครั้งนั้นจึงแฝงด้วยการรำลึกถึงสิ่งที่ญี่ปุ่นเผชิญมา คือสงครามและระเบิดปรมาณู

มาถึงในปี 2020 นี้ ญี่ปุ่นก็กำลังอยู่ในบริบทของการฟื้นฟูจากวิกฤตไม่ต่างจากเวลานั้น เราจึงเห็นความพยายามผูกเรื่องราวและให้ความหมายเชื่อมโยงโอลิมปิกทั้งสองครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงการตระหนักรู้ใน ‘ปมด้อย’ ของตัวตนความเป็นญี่ปุ่น คือการจำต้องอยู่กับหายนภัย แต่นี่ก็ถือเป็นแรงขับสำคัญให้คนญี่ปุ่นต้องหาทางเผชิญหน้าและดิ้นรนให้รอดพ้น ‘โอลิมปิกแห่งโชคชะตา’ จึงเป็นข้อความที่เชื่อมโยงมหกรรมกีฬาทั้งสองครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

อย่างไรก็ดี อาจมีคนมองว่า เหตุการณ์ทั้งสองครั้งไม่ใช่ภัยพิบัติ แต่เป็น ‘ผลกรรม’ จากการกระทำของญี่ปุ่นเอง แต่ผู้ที่อยู่ในแวดวงญี่ปุ่นศึกษารู้ดีว่า คนญี่ปุ่นมักรำลึกถึงสงครามในแบบไม่เรียกร้องให้ใครต้องรับผิดชอบ สงครามถูกเข้าใจและตีความเสมือนภัยพิบัติหนึ่ง ญี่ปุ่นไม่ได้แพ้สงคราม สงครามแค่ยุติ และคนญี่ปุ่นก็ตกเป็นเหยื่อภัยพิบัตินี้ไม่ต่างจากคนเอเชียชาติอื่นๆ ซ้ำร้าย ญี่ปุ่นยังเป็นเหยื่อของอาวุธทำลายล้างสูงอย่างระเบิดปรมาณู หรือนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ทิ้งใส่ฮิโรชิม่าและนางาซากิด้วย

แต่ในมุมหนึ่ง เราอาจมองกระบวนการเหล่านี้ว่า เป็นจิตวิทยาในการปกป้องตนเองได้เช่นกัน เพราะหากมองทะลุอคติทั้งหมดไป ‘ฮิโรชิม่า’ คือผลพวงของสงครามที่ญี่ปุ่นเป็นผู้เริ่ม ครั้นจะมัวโทษสหรัฐฯ ให้ต้องรับผิด ก็มีแต่จะสั่นคลอนระบบพันธมิตรที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพา จึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะมองเรื่องนี้เป็นเหมือนภัยพิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจต้องโทษโชคชะตาไม่ต่างจากที่ต้องเผชิญภัยธรรมชาติอื่นๆ เหมือน ‘ก็อตซิลล่า’ (Godzilla) ที่สื่อความหมายถึงความโกรธเกรี้ยวของธรรมชาติไม่ต่างกัน

ความรู้สึก ‘เป็นเหยื่อ’ ของปรมาณูยังถูกตอกย้ำด้วยอุบัติเหตุที่เรือประมง ‘ฟุคุริวมารุ’ ถูกกัมมันตรังสีจากการทดสอบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ บริเวณเกาะแปซิฟิกเมื่อปี 1954 ซึ่ง James Orr ชี้ว่า กรณีนี้ยิ่งเหมือนเป็นการตอกย้ำทัศนคติที่ว่า ญี่ปุ่นเป็นเหยื่อนิวเคลียร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โอลิมปิก 1964 จึงอบอวลไปด้วยการรำลึกถึงชะตากรรมเหล่านี้ คือแม้ญี่ปุ่นจะฟื้นตัวจากสงครามได้สำเร็จ แต่ก็ยังคงเป็นชาติเคราะห์ร้ายจากนิวเคลียร์อยู่เสมอไป ปี 1964 จึงมีการสร้างและจุด ‘ไฟแห่งสันติภาพ’ (peace flame) ขึ้นที่อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดโอลิมปิก ทั้งยังคัดเลือกนักกีฬาที่เกิดวันเดียวกับที่ฮิโรชิม่าถูกทิ้งระเบิดปรมาณูให้เป็นผู้จุดไฟโอลิมปิก ต่อมาในทศวรรษนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์สามข้อ คือ ไม่มี ไม่สร้าง และไม่ให้นำเข้ามาในญี่ปุ่น

ตัวตนการเป็นชาติที่ต้องแบกรับชะตากรรมอันโหดร้ายของนิวเคลียร์ถูกตอกย้ำอีกระลอกจากเหตุการณ์ 3.11 ซึ่งอาจมองว่าเป็นการรวบหายนภัยร้ายแรงในมโนสำนึกของคนญี่ปุ่นให้สำแดงออกมาในคราวเดียว ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ อีกทั้งกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิม่า ทำให้ญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าชิงเจ้าภาพโอลิมปิกช่วงต้นทศวรรษ 2010 ด้วยความกังวลในเรื่องนี้ แม้ ‘การฟื้นฟู’ จากโชคชะตาอันเลวร้ายคือหัวใจของการนำเสนอเนื้อหาการเป็นเจ้าภาพ แต่จุดอ่อนก็อยู่ที่ปัญหากัมมันตรังสี

แม้จะมีความวิตกกังวล แต่ญี่ปุ่นก็ได้ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” (bending adversity) อย่างที่ David Pilling มองว่า เป็นคุณสมบัติเด่นของชนชาตินี้ ด้วยการเน้นย้ำคำว่า ‘ปลอดภัย’ ชูให้เห็นความตั้งใจที่จะจัดการกับฟุคุชิม่าให้ได้ แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 10 ปี การฟื้นฟูแถบโทโฮคุยังคงเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ พื้นที่รายล้อมฟุคุชิม่ายังคงเป็นเขตอันตรายด้วยกัมมันตรังสี และเดือนมีนาคมยังเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงหายนภัยครั้งนั้น ตลอดจนชะตากรรมของผู้คนที่นั่น

แผนการที่วางไว้สำหรับโอลิมปิกปีนี้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 3.11 คือ การให้จังหวัดฟุคุชิม่าเป็นจุดเริ่มต้นการวิ่งคบเพลิงไปทั่วประเทศในวันที่ 26 มีนาคม หากแต่แผนการดังกล่าวได้ถูกโชคชะตาที่ไม่อาจคาดเดาทำให้ต้องระงับไปแล้ว และโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคมก็ต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน น่าเสียดายที่แม้ญี่ปุ่นจะเตรียมการเรียบร้อยอย่างไร ก็กลับเกิดภัยพิบัติที่มนุษยชาติในโลกสมัยใหม่ไม่เคยพบเจอพังทลายทุกสิ่งทุกอย่างไปต่อหน้าต่อตา และย่อมส่งผลสะเทือนต่อผลประโยชน์รอบด้าน กล่าวคือ โอลิมปิกที่เดิมทีอาจเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นว่า เป็นมหกรรมระดับโลกงานแรกในรัชสมัยเรวะ และเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายกฯ อาเบะ อาจต้องมีการทบทวนกันเสียใหม่ ตัวอาเบะคงต้องเปลี่ยนเป้าหมายการสร้างความสำเร็จในฐานะผู้นำทางการเมือง มาเป็นการหาทางฝ่าวิกฤตเฉพาะหน้าครั้งนี้ไปให้ได้ เพื่อพิสูจน์ความสามารถและภาวะผู้นำอันจะเป็นที่จดจำต่อไป

มาถึงตอนนี้ โลกอาจให้ความหมายโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะจัดในอนาคตเปลี่ยนไป คืออาจเป็นโอลิมปิกเพื่อการฟื้นฟูโลกหลังวิกฤตโควิด-19 แทน แต่นั่นก็ไม่ได้ห่างไกลจากแนวคิด ‘การฟื้นฟูจากโชคชะตาอันเลวร้าย’ ที่ญี่ปุ่นตั้งให้เป็นแนวคิดในโตเกียวโอลิมปิกเสมอมา

ด้วยความหวังให้วันนั้นมาถึงโดยเร็ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save