fbpx

ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.1 : #แบ่งแยกดินแดน วาทกรรมผลิตซ้ำ..โดยกองกำลังคีย์บอร์ด?  

ประชามติจำลอง..การเวียนกลับมาของวาทกรรม ‘แบ่งแยกดินแดน’

“คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”

คำถามที่ปรากฏบนบัตรสอบถามประชามติในกิจกรรมประชามติจำลอง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้งานเสวนาเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้จุดกระแสการโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงบนสื่อสังคมออนไลน์

ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้สื่อสังคมออนไลน์มีการสนทนาในประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กันมากขึ้น โดย 101 ได้สำรวจความเคลื่อนไหวของบทสนทนาในเรื่องนี้เบื้องต้น ด้วยการค้นหาข้อความที่ปรากฏคำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ บนแพลตฟอร์ม Facebook โดยใช้เครื่องมือติดตามรวบรวมบนสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์อย่าง CrowdTangle ที่พัฒนาโดยบริษัท Meta (Facebook) เป็นตัวช่วย จากการใช้เครื่องมือดังกล่าว เราพบว่าโพสต์บน Facebook ที่มีคำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ ที่ปรากฏบนหน้าแฟนเพจ (fan page) และกลุ่มสาธารณะ (public group) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาหลังจากที่ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น โดยในช่วง 4-10 มิถุนายน 2023 มีทั้งสิ้น 188 โพสต์ ก่อนเพิ่มขึ้นจนสูงสุดในสัปดาห์ถัดมา 11-17 มิถุนายนที่มีมากถึง 729 โพสต์ และหากนับรวมกันในช่วงระยะหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่เกิดประเด็นขึ้น พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 1,522 โพสต์ (ภาพ 1)[1]

ภาพ 1: (บน) กราฟแสดงจำนวนโพสต์บน Facebook ที่ปรากฎคำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ ระหว่างเดือนตุลาคม 2022 ถึงตุลาคม 2023
(ล่าง) กราฟแสดงจำนวนโพสต์บน Facebook ที่ปรากฎคำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ โดยเจาะลงไปในช่วงระหว่าง 7 มิถุนายน ถึง 7 กรกฎาคม 2023
หมายเหตุ: ภาพจากเครื่องมือ CrowdTangle

‘แบ่งแยกดินแดน’ ไม่ใช่คำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์นี้ แต่เป็นคำที่ถูกใช้มานานในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมักใช้ในบริบทประเด็นความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมาเรื้อรังยาวนานหลายทศวรรษ และปะทุขึ้นระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเราลองตรวจสอบจำนวนโพสต์ที่ประกอบด้วยคำดังกล่าวในช่วงเวลาก่อนหน้าเหตุการณ์ประชามติจำลอง นับย้อนไปถึงตุลาคม 2022 พบว่ามีโพสต์ที่ใช้คำนี้ปรากฏเพียงประปรายบางช่วงเวลาเท่านั้น ก่อนมาพุ่งสูงหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

เหตุผลที่ประเด็นการทำประชามติจำลองร้อนแรงขึ้นมาจนจุดกระแสเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นที่พูดถึงมากมายบนสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ใช่แค่เพราะประเด็นนี้เป็นการแตะต้องเรื่องเอกภาพของดินแดนไทยซึ่งถือเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสายตาของหน่วยงานความมั่นคงและกลุ่มคนฝั่งอนุรักษนิยมในประเทศไทย แต่ยังเป็นเพราะเรื่องนี้ถูกโยงใยถึงการเมืองระดับชาติ จากที่นักการเมืองของบางพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม และพรรคประชาชาติ ปรากฏบนโปสเตอร์ของงานกิจกรรม และมีบางส่วนที่ได้ไปร่วมกิจกรรมในวันงานจริง จนนำไปสู่การกล่าวหาว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเหล่านี้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

ที่สำคัญ ประเด็นนี้ยังเกิดขึ้นในห้วงยามที่ทิ้งห่างจากการเลือกตั้งทั่วไปมาได้ครึ่งเดือนเท่านั้น เนื้อหาของการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนหนึ่งจึงพบว่ามีความมุ่งหวังดิสเครดิตนักการเมืองและพรรคการเมืองเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคก้าวไกล ที่ประกาศตนต่อสู้กับฝั่งเครือข่ายอำนาจรัฐบาลทหารเดิมอย่างชัดเจน ทว่าได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนว่า วาทกรรมแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ถูกนำมาใช้ต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังถูกฉวยใช้ในการกล่าวหาโจมตีนักการเมืองฝั่งตรงข้ามและผู้เห็นต่างทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน

เมื่อดูจากข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่เราสามารถรวบรวมมาได้ในช่วงเวลานั้น เราสังเกตได้เบื้องต้นว่า ข้อความเกือบทั้งหมดมีต้นทางมาจากแฟนเพจ/กลุ่มสาธารณะด้านการเมืองหรือสำนักข่าวที่มีอุดมการณ์ทางฝั่งขวา เช่นที่พบได้บ่อยครั้งมากคือแฟนเพจของสำนักข่าว Top News นอกจากนี้ยังมีหลายข้อความที่มีต้นทางมาจากแฟนเพจ/กลุ่มสาธารณะที่มีบทสนทนาในเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ โดยมักมีเนื้อหาค่อนไปในทางต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบ-นักเคลื่อนไหวในพื้นที่ และสนับสนุนหน่วยงานความมั่นคง เช่น แฟนเพจ ‘เรื่องเล่าชายแดนใต้’ และ ‘สันติสุขแดนใต้’ เป็นต้น

ข้อค้นพบนี้คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนัก หากเราไม่พบว่าบางข้อความที่ได้รับการแชร์ออกไปตามกลุ่มสาธารณะต่างๆ มีลักษณะที่ค่อนข้างผิดสังเกต คือมีการแชร์ออกไปยังหลายกลุ่มในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันมาก โดยบัญชีผู้ใช้ที่เป็นผู้แชร์นั้นมีเพียงไม่กี่บัญชี และเมื่อเจาะลึกลงไปดูยังข้อมูลส่วนตัวและประวัติการเผยแพร่ข้อความของบัญชีเหล่านี้ ก็พบลักษณะร่วมกันบางประการที่น่าสนใจ

ภาพ 2: ตัวอย่างโพสต์ข้อความโจมตีในประเด็นการจัดประชามติจำลอง

ค้นพบกลุ่มบัญชีต้องสงสัย

บัญชีต้องสงสัยกลุ่มแรกที่เราค้นพบ เริ่มต้นจากการพบโพสต์หนึ่งซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 14 มิถุนายน 2023 เวลา 10:14 น. โดยแฟนเพจที่ชื่อ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการรายงานข่าวถึงการยื่นเรื่องร้องเรียนของบรรดากลุ่มปกป้องสถาบัน ต่อผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อให้ตรวจสอบการจัดประชามติจำลองของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ โพสต์นี้ได้รับการแชร์ไปทั้งสิ้น 16 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2023) โดยผู้ที่แชร์โพสต์นี้เท่าที่เราสามารถเห็นได้มีอยู่เพียง 3 บัญชี ซึ่งโดยมากเป็นการแชร์กระจายไปยังหลายกลุ่มสาธารณะในเวลาใกล้ๆ กัน

จากข้อมูลบนหน้าแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ พบว่าแฟนเพจดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาในวันที่ 28 มิถุนายน 2019 โดยมีจำนวนผู้ติดตามล่าสุดที่ราว 2,000 คน โดยเนื้อหาโพสต์ที่พบในแฟนเพจนี้พบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งโดยมากเป็นการโจมตีกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมไปถึงบรรดานักเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยมักเป็นการกล่าวหาว่าปลุกระดมการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน หรือรับเงินทุนจากต่างชาติ เป็นต้น

ภาพ 3: ตัวอย่างโพสต์ข้อความจากแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’

จากนั้นเมื่อไล่ดูโพสต์ข้อความจากแฟนเพจดังกล่าวหลายๆ โพสต์ เราพบว่าแต่ละโพสต์ล้วนมีรูปแบบการถูกแชร์ไปคล้ายๆ กัน คือเป็นการแชร์ไปยังหลายกลุ่มในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยบัญชีผู้ใช้ซ้ำๆ ไม่กี่บัญชี นอกจาก 3 บัญชีที่เราพบว่าแชร์โพสต์ข้อความข้างต้นแล้ว เมื่อไล่ดู เรายังพบอีก 3 บัญชีที่มักแชร์ข้อความจากแฟนเพจนี้เป็นประจำ ซึ่งมีทั้งการแชร์ลงหน้าไทม์ไลน์ส่วนตัว และการแชร์ไปยังกลุ่มต่างๆ ที่มีเนื้อหาพูดคุยในประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มที่ดูเหมือนว่าเป็นแหล่งพูดคุยของทหารในพื้นที่ นอกจากการแชร์จากแฟนเพจดังกล่าวแล้ว ในบางครั้งก็พบว่ามีการแชร์เนื้อหาจากแฟนเพจที่เกี่ยวกับประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพจอื่นๆ อยู่บ้าง

ภาพ 4: ตัวอย่างโพสต์ข้อความจากแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ ที่ถูกแชร์ไปตามกลุ่มต่างๆ โดยบัญชีไม่กี่บัญชี
หมายเหตุ: ปิดบังชื่อบัญชีบางส่วนของบัญชีผู้ใช้ด้านล่าง เนื่องจากพบว่าเจ้าของบัญชีน่าจะเป็นบุคคลจริง

เมื่อเข้าไปตรวจสอบดูหน้าบัญชีส่วนตัวของทั้ง 6 บัญชีนี้ เราพบว่ามีลักษณะร่วมกันอยู่หลายจุด ประการแรกคือทุกบัญชีล้วนใช้ภาพโปรไฟล์ที่แสดงตนเป็นผู้หญิง บางภาพเป็นการเปิดหน้าเพียงบางส่วน บางภาพก็เป็นภาพแอนิเมชันหรือมีการใช้ฟิลเตอร์ตกแต่งภาพอำพรางใบหน้า โดยหลายภาพนั้นสามารถดูออกได้ว่าน่าจะเป็นภาพที่นำมาจากแหล่งอื่น นอกจากนี้เมื่อเข้าไปดูยังอัลบั้มภาพของแต่ละบัญชี พบว่าบัญชีส่วนใหญ่มักมีการโพสต์ภาพในอัลบั้มที่คล้ายๆ กัน คือส่วนใหญ่เป็นภาพวาดผู้หญิง หรือภาพถ่ายผู้หญิงจริงที่มีการใช้ฟิลเตอร์จนรับรู้ใบหน้าที่แท้จริงได้ยาก ขณะที่บางส่วนก็เป็นภาพธรรมชาติ และภาพตัวหนังสือคำคม

ยิ่งไปกว่านั้น จุดสำคัญที่ทำให้น่าสงสัยมากขึ้นว่าบัญชีเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน คือวันที่สร้างโปรไฟล์ โดยมี 5 บัญชีที่สร้างขึ้นมาไล่เลี่ยกันในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2019 ในนี้มีสองบัญชีที่สร้างขึ้นมาวันเดียวกัน และมีอีกสองบัญชีที่สร้างขึ้นมาห่างกันเพียงสองวัน ซึ่งสังเกตได้ว่าวันที่สร้างบัญชีของบัญชีเหล่านี้เป็นวันที่ใกล้เคียงกับวันที่สร้างแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ นอกจากนี้ยังพบว่าทั้ง 5 บัญชีล้วนเป็นเพื่อนบน Facebook ซึ่งกันและกัน (ตาราง 1)

ชื่อบัญชีวันที่สร้างบัญชีลิงก์หน้าบัญชี
กุชชี่ เบลท์23/7/2019https://www.facebook.com/kusumavdi
ป.นัด ธิดา23/7/2019https://www.facebook.com/panuttidatida
สิริกาญจนา พงปานันท์25/6/2019https://www.facebook.com/sirikaycnaphng
Punetima Kurachai23/6/2019https://www.facebook.com/punetima.kurachai
กูยะห์ ดอเลาะ30/4/2019https://www.facebook.com/goyah.donald
Wichuda P(xxxxxxxxx)tตุลาคม 2009
ตาราง 1: รายชื่อบัญชี 6 บัญชีที่ต้องสงสัยจากพฤติกรรมการแชร์ข้อความจากแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ เหมือนๆ กันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
หมายเหตุ: ตารางนี้ปิดบังชื่อบัญชีบางส่วนและลิงก์สู่หน้าบัญชีของบัญชีสุดท้าย เนื่องจากพบว่าเจ้าของบัญชีน่าจะเป็นบุคคลจริง

หนึ่งในบัญชีเหล่านั้นคือ ทหารในกองทัพภาคที่ 4?

5 บัญชีที่มีวันสร้างบัญชีขึ้นมาใกล้เคียงกันนั้นนับว่ามีจุดร่วมกันที่น่าสงสัยอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่อีก 1 บัญชี กลับแทบไม่พบพฤติกรรมใดที่ดูสอดคล้องกับ 5 บัญชีอื่น เช่น วันที่สร้างโปรไฟล์ก็ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่ประวัติการโพสต์ภาพและข้อความต่างๆ ก็ดูหลากหลาย มีทั้งเรื่องราวในชีวิตประจำวันและเรื่องอื่นๆ ต่างจากบัญชีอื่นที่มักมีเพียงการแชร์เนื้อหาจากแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้เดียงสา’ เป็นส่วนใหญ่ และมีการโพสต์ภาพน้อยมาก จึงเชื่อได้ว่า 1 บัญชีที่มีพฤติกรรมแปลกแยกออกมานี้เป็นบัญชีที่บ่งบอกตัวตนของเจ้าของบัญชีที่แท้จริง

บัญชีดังกล่าวใช้ชื่อว่า Wichuda P(xxxxxxxxx)t โดยไม่พบการระบุข้อมูลประวัติการทำงานและประวัติการศึกษา แต่จากหลายภาพที่บัญชีนี้เคยโพสต์ในอัลบั้มภาพนั้น พบว่ามีภาพขณะแต่งเครื่องแบบทหาร โดยมีการติดแถบข้อความที่ระบุสังกัดว่า กรมทหารพรานที่ 46 ภายใต้กองทัพภาคที่ 4 โดยกรมทหารพรานนี้รับผิดชอบดูแลพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลนี้เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดดังกล่าวจริง เราลองนำชื่อของผู้ใช้บัญชีนี้ไปสืบค้น ทั้งโดยชื่อภาษาอังกฤษที่ปรากฏบนชื่อบัญชีผู้ใช้ และโดยชื่อภาษาไทยที่ปรากฏบนเครื่องแบบตามภาพถ่ายต่างๆ ในบัญชีนี้ กระทั่งเราพบข้อมูลบนเว็บไซต์ LinkedIn ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้านอาชีพชื่อดัง โดยเราพบว่าบนเว็บไซต์ดังกล่าว มีบัญชีผู้ใช้ชื่อเดียวกันคือ Wichuda P(xxxxxxxxx)t ซึ่งมีการระบุบนหน้าโปรไฟล์ถึงอาชีพตัวเองว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กิจการพลเรือน ที่ ฉก.ทพ.46” โดย ฉก.ทพ.46 นั้นย่อมาจาก ‘หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46’ จึงถือได้ว่าข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนนักว่าบัญชีผู้ใช้ Wichuda ร่วมมือกับอีก 5 บัญชีที่เหลือในการปั่นกระแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บนโลกออนไลน์จริงหรือไม่ เนื่องจากยังมีพฤติกรรมหลายอย่างที่แปลกแยก โดยมีเพียงจุดร่วมเพียงอย่างเดียวคือการชอบแชร์โพสต์จากแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ ไปยังกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มในเวลาใกล้เคียงกับที่บัญชีอื่นๆ ทำ ซึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นความบังเอิญ แต่ไม่ว่าบัญชีดังกล่าวจะมีส่วนร่วมจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นการโจมตี สร้างความเกลียดชังต่อบุคคลอื่น โดยที่หลายข้อความเป็นการกล่าวหาที่ไร้ซึ่งข้อเท็จจริงสนับสนุน เป็นสิ่งที่บุคลากรของกองทัพพึงกระทำหรือไม่

นี่ยังเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

ที่ผ่านมา 101 เคยเผยแพร่ผลงานสืบสวนเครือข่ายบัญชีต้องสงสัยว่าเป็นไอโอมาแล้วหลายชิ้น แต่ทั้งหมดล้วนเป็นบัญชีที่เคลื่อนไหวในบริบทการเมืองระดับชาติ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ 101 ตีแผ่ให้เห็นว่าบนโซเชียลมีเดียยังมีบัญชีบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมส่อว่าเคลื่อนไหวร่วมกันปั่นกระแสข้อมูลข่าวสารในประเด็นเฉพาะท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่า 1 แฟนเพจ และ 6 บัญชีผู้ใช้ ที่ปรากฏในบทความนี้ยังเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในชายแดนใต้ทั้งองคาพยพ ทำให้เราลองสืบสวนเจาะลึกต่อไปอีก กระทั่งพบว่าเครือข่ายบัญชีเล็กๆ นี้ยังมีพฤติการณ์เกี่ยวกันกับกลุ่มบัญชีอื่นที่มีจำนวนรวมกันมากถึง 26 แฟนเพจ และ 38 บัญชีผู้ใช้ ทำให้เราไม่สามารถจบบทความสืบสวนชิ้นนี้ได้เพียงในบทความเดียว

เครือข่ายบัญชีต้องสงสัยที่เราค้นพบเพิ่มเติมนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ติดตามได้ในตอนต่อไป


อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.2 : ยิ่งค้น ยิ่งเจอ! การขยายผลสู่ 27 แฟนเพจ-38 บัญชีต้องสงสัย

อ่านตอนที่ 3 ได้ที่ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.3: เมื่อรัฐคือผู้สร้างความแตกแยกในสังคม?

References
1 CrowdTangle มีข้อจำกัดคือสามารถเก็บรวบรวมข้อความได้จากแฟนเพจและกลุ่มที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อความได้จากกลุ่มที่ตั้งค่าเป็นส่วนตัวและบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวของคนทั่วไปได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save