fbpx

ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.3: เมื่อรัฐคือผู้สร้างความแตกแยกในสังคม?

“7-8 ปีที่แล้ว ผมไปงานบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่งานหนึ่ง จนต่อมาก็มีรูปผมในงานนี้ออกมา (ทางโซเชียลมีเดีย) แล้วบอกว่าผมกำลังพูดปลุกระดม”

อาหมัด (นามสมมติ) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ไม่ประสงค์ให้เปิดเผยชื่อ เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวที่เขาเคยถูกกล่าวหาบนโซเชียลมีเดียว่ามีส่วนร่วมในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเขาเชื่อว่าผู้กล่าวหาเขาเป็น ‘ไอโอ’ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลัง

เช่นเดียวกับ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยกลุ่มใจ องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ก็มีประสบการณ์โดนบัญชีไอโอคุกคามมาอย่างต่อเนื่องหลายปี

“พวกนี้ตามเราไปทุกโพสต์ ไม่ว่าจะในโพสต์เรื่องส่วนตัวหรือโพสต์เรื่องงาน มันจะมีบัญชีเข้ามาคอมเมนต์โจมตีเราตลอด แล้วมักจะเป็นบัญชีชื่อเดิมๆ ซ้ำๆ กัน หรือบางทีก็มีแฟนเพจที่ทำตัวเหมือนเป็นเพจข่าว แต่คอยโพสต์ถ้อยคำโจมตีเราอยู่เรื่อยๆ เป็นถ้อยคำหยาบคาย ด่าว่าเราเป็นสุนัขบ้าง มีการกล่าวหาว่าเราสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน และมีการขู่สังหาร” อัญชนาเล่า

ในสังคมออนไลน์โดยทั่วไปอาจมองไอโอเป็นเรื่องน่าขบขัน และอาจคิดว่ากองทัพบัญชีปลอมที่ทำงานอย่างหยาบๆ นั้นไม่น่าจะทำร้ายใครได้ แต่สำหรับอาหมัด อัญชนา และนักกิจกรรมสามจังหวัดชายแดนใต้หลายคน ไอโอส่งผลไม่น้อยต่อพวกเขา

“มันทำให้เราไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากชาวบ้าน จากคนที่เราทำงานด้วย รวมถึงจากบุคคลที่ได้รับสารอะไรเหล่านี้ แล้วมันยังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในภาพรวมมองว่าเราเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ” อัญชนากล่าว

เช่นเดียวกับอาหมัด ที่เล่าว่าไอโอทำให้คนและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เชื่อว่าเขามีส่วนร่วมในขบวนการก่อความไม่สงบจริง โดยมีบางครั้งที่เขาถูกเรียกต่อหน้าว่า “โจรใต้” และนั่นก็ทำให้เขาทำงานขับเคลื่อนด้านต่างๆ ในพื้นที่ได้ยากขึ้นเช่นกัน

ภาพ 1: อัญชนา หีมมิหน๊ะ
ภาพจาก Facebook – Duayjai Group กลุ่มด้วยใจ

ผู้อยู่เบื้องหลังคือกองทัพ?

เรื่องราวการถูกโจมตีด้อยค่าโดยกลุ่มบัญชีไอโอที่เล่าผ่านปากของนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ทั้งสองคนนั้น เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องที่พูดมาลอยๆ เพราะการสืบสวนของเราในสองตอนก่อนหน้านี้ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างหนึ่งว่ามีกลุ่มบัญชีและแฟนเพจอวตารพฤติกรรมแปลกแปร่งกำลังกระทำการคล้ายอย่างที่ทั้งสองเล่าอยู่จริง โดยมีนักกิจกรรมและนักการเมืองจำนวนมากที่ตกเป็นเป้าการโจมตี และเราก็เห็นว่าชื่อและใบหน้าของทั้งคู่ที่เราได้พูดคุย ปรากฏอยู่ในข้อความกล่าวหาเหล่านั้นเหมือนกัน

งานสืบสวนของเราได้พบร่องรอยเบาะแสอยู่เล็กน้อยว่ากลุ่มบัญชีและแฟนเพจดังกล่าวคล้ายมีความเชื่อมโยงกับบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะฟันธงได้ว่ารัฐอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ เราเชื่อว่า 44 บัญชี และ 27 แฟนเพจ Facebook ต้องสงสัยที่เราค้นพบในซีรีส์ชุดนี้ เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ายังมีเครือข่ายอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมลักษณะเดียวกัน ซึ่งยังต้องรอการสืบสวนเพิ่มเติม รวมถึงการขุดคุ้ยหาเบาะแสว่าใครคือผู้ที่อาจอยู่เบื้องหลังต่อไป

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเปิดโปงเครือข่ายไอโอที่เคลื่อนไหวในประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้อภิปรายในสภา แฉปฏิบัติการไอโอซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย และไม่นานหลังจากนั้น Facebook ก็ได้ประกาศสั่งปิดบัญชีผู้ใช้ กลุ่ม และแฟนเพจ โดยชี้ว่าบัญชีเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพไทยและมีการมุ่งกลุ่มเป้าหมายผู้รับสารไปที่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เรารู้สึกมานานแล้วว่าเราถูกโจมตี แต่ตอนนั้นเรายังไม่ทราบว่าเป็นใคร จนมารู้หลังมีการเปิดโปงในสภา” อัญชนาเล่า โดยเธอพบจากการอภิปรายในสภาครั้งนั้นว่า เว็บไซต์ไอโอที่ถูกนำมาเปิดโปงส่วนหนึ่งมีเนื้อหาบิดเบือนใส่ร้ายต่อตัวเธอเอง นั่นจึงเป็นเวลาที่เธอได้รับรู้อย่างแน่ชัดว่าผู้ที่โจมตีเธอมาโดยตลอดคือกองทัพ

ภาพ 2: ส่วนหนึ่งของสไลด์ประกอบการเปิดโปงไอโอที่เชื่อมโยงกับกองทัพ โดยพบว่าอัญชนาคือหนึ่งในบุคคลที่ถูกโจมตี
ภาพจาก: https://prachatai.com/journal/2020/03/86617

เช่นเดียวกับอาหมัดมั่นใจว่ากองทัพอยู่เบื้องหลังการใช้กองกำลังบัญชีอวตารโจมตีตน เขากล่าวว่า “ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าแฟนเพจและบัญชี (ที่เอารูปเขาไปโพสต์) นั้นเป็นของทหาร ใช้รูปผีบ้าง รูปซาตานบ้าง เป็นเพจอวตาร แล้วผมก็พอรู้ได้ว่าใครน่าจะเป็นคนทำ บางทีเราเจอเจ้าหน้าที่ตามงานกิจกรรมต่างๆ ของเรา จากนั้นก็มีรูปเราปรากฏ (บนโซเชียล) เราก็จำได้ว่ามันคือฉากของกิจกรรมนั้น ก็เลยพอรู้ได้ว่าเป็นใครทำ”

นอกจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารนี้จะจงใจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนในพื้นที่แล้ว อาหมัดยังเชื่อว่าไอโอมีจุดประสงค์อีกอย่างหนึ่งเพื่อปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่รัฐเองเกิดความไม่ไว้วางใจในตัวนักเคลื่อนไหวด้วย

“ผมว่าไอโอมีผลต่อเจ้าหน้าที่รัฐเองมากกว่า มันเคยมีเอกสารหลุดออกมาที่ชี้ว่า มีการป้อนข้อมูลต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเป็นข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กับองค์กรด้านสิทธิ มันมีการแยกว่าองค์กรไหนอยู่ฝั่งไหนบ้าง และเขาก็ใช้โซเชียลมาโจมตีด้อยค่าพวกเราไปพร้อมกัน เหมือนที่เขาทำกับพรรคการเมืองที่เห็นต่าง เพราะฉะนั้นมันคือการด้อยค่าเราสองรูปแบบไปพร้อมกัน หนึ่งคือการด้อยค่าผ่านการปลูกฝังความคิดต่อเจ้าหน้าที่ และสองคือการด้อยค่าผ่านทางโซเชียล” อาหมัดแสดงความคิดเห็น

คำพูดของอาหมัดทำให้เราย้อนนึกถึงกลุ่มบัญชีและแฟนเพจต้องสงสัยที่เราค้นพบ ดังที่เราต้องข้อสงสัยว่าบัญชีหรือแฟนเพจเหล่านี้ต้องการให้ข้อความไปถึงใคร ในเมื่อมีเพื่อนหรือผู้ติดตามที่น้อยมาก และสังเกตได้ว่าแต่ละข้อความยังแทบไม่ได้รับปฏิสัมพันธ์ (engagement) ใดๆ นอกจากนี้ เรายังเห็นได้ว่ามีบางบัญชีที่คอยกระจายเนื้อหาไปยังกลุ่ม Facebook ต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าเป็นกลุ่มสนทนาของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และ กลุ่มชมรมทหารกองหนุนนอกราชการกำลังพลสำรองไทย เป็นต้น ข้อสังเกตของเราจึงถือว่าสอดคล้องกับสมมติฐานของอาหมัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าบัญชีและแฟนเพจที่เราค้นพบมีความเชื่อมโยงกับกองทัพจริง

ภาพ 3: ตัวอย่างการกระจายข้อความไปยังกลุ่ม Facebook โดยกลุ่มบัญชีต้องสงสัยในงานสืบสวน ซึ่งพบว่าหลายกลุ่มเป็นกลุ่มสนทนาของเจ้าหน้าที่ทหาร (ดูรายละเอียดในตอนที่ 1)

พิษร้ายจากไอโอ ใต้เงื้อมมือกฎอัยการศึก

เมื่ออคติต่อนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในมโนสำนึกของเจ้าหน้าที่รัฐ นักเคลื่อนไหวจึงได้รับผลกระทบอย่างมากในหลายรูปแบบ โดยอาหมัดชี้ว่า “พอมีการปั่นด้วยไอโอแล้ว คนที่โดนคุกคามก็มีเยอะ เช่น แกนนำนักศึกษา และแกนนำภาคประชาสังคม เขาถูกไอโอเอารูปมาชี้ว่ากำลังพยายามปลุกระดมแบ่งแยกดินแดน ถามว่าคนพวกนี้ได้รับผลกระทบไหม ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดนเจ้าหน้าที่ตามไปที่บ้าน โดนคุกคามบ่อยๆ โดนขู่ว่าจะเอาชีวิต โดนอุ้มหาย หลายคนยังไม่โดนดำเนินคดีก็จริง แต่ก็จะโดนคุกคามรูปแบบพวกนี้กันตลอด”

อาหมัดเล่าว่าตัวเขาเองก็โดนคุกคามในรูปแบบเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งเคยถูกบุกข่มขู่ถึงบ้าน เคยถูกรถเจ้าหน้าที่สะกดรอยตามอยู่บางครั้ง และที่ร้ายแรงที่สุดคือการถูกซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว

“ถ้าไม่ใช่สามจังหวัดภาคใต้ มันไม่มีกฎอัยการศึก คือถ้าจะคุมตัว ต้องแจ้งข้อกล่าวหาก่อน นำหมายมาก่อน เป็นขั้นเป็นตอน แต่สำหรับพวกเราในสามจังหวัด มันหมายถึงชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่มีกฎอัยการศึกในมือ จะควบคุมตัวเราตอนไหนก็ได้ ยึดคอมพิวเตอร์หรือมือถือก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก” อาหมัดกล่าว

การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ยังทำให้อาหมัดได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างมาก โดยเฉพาะการมีอาการ PTSD (ภาวะความเครียดหลังผ่านพ้นภยันตราย) จนต้องไปปรึกษานักจิตวิทยาบ่อยครั้ง

“สมมติเวลาเกิดเหตุระเบิดหรือเหตุรุนแรงในพื้นที่ตำบลหรืออำเภอที่เราอาศัย เราจะรู้สึกเหมือนเรากำลังจะโดนเจ้าหน้าที่ปิดล้อมอยู่ตลอดเวลา แล้วกลัวเขาจะเอาเราไปซ้อมทรมาน วัฏจักรนี้วนกลับมาหาเราบ่อยๆ เพราะเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ และพอเรามีปัญหา คนในครอบครัวเราก็จะไม่เข้าใจ เช่นว่าทำไมเราต้องหนีไปนอนที่อื่น ทำไมเราถึงกระวนกระวาย เดินไปเดินมา นอนไม่ได้ หงุดหงิด ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจ” อาหมัดเล่า

ส่วนทางด้านอัญชนา แม้จะยังไม่ถึงขั้นพบประสบการณ์เลวร้ายถึงขั้นอาหมัด แต่การถูกไอโอโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจไม่น้อย

“เราเสียเวลากับการมานั่งอ่านถ้อยคำหยาบคายซ้ำกันหลายครั้ง พอเห็นซ้ำๆ เราก็รู้สึกแย่ แล้วมันเป็นแบบนี้มาต่อเนื่องหลายปี มันเลยส่งผลต่อเรามากพอสมควร แล้วมันยังทำให้เรากังวลเรื่องความปลอดภัยด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตคนที่รับสารเหล่านี้จะแยกแยะได้ไหม คนที่รับข้อมูลเรื่องเราแบบนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ อาจเข้าใจจริงๆ ว่าเราเป็นแบบนั้น” อัญชนาเล่า

เป้าหมายของการทำไอโอย่อมไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐเพียงกลุ่มเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมหวังผลในการโน้มน้าวชักจูงความคิดประชาชนในพื้นที่ให้คล้อยตามด้วย ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับว่าไอโอแต่ละเครือข่ายจะมีศักยภาพในการส่งสารไปถึงประชาชนในวงกว้างได้มากขนาดไหน โดยในกรณีของบัญชีและแฟนเพจที่เราค้นพบนั้น หากเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐจริง นั่นคงเป็นตัวอย่างของเครือข่ายที่ไม่ประสบความสำเร็จนักในการส่งข้อมูลเข้าถึงประชาชน แต่เราเชื่อว่าเครือข่ายบัญชีที่ทำงานลักษณะนี้ย่อมมีอีกหลายเครือข่าย ซึ่งเรายังไม่อาจค้นพบและทราบได้ว่าสัมฤทธิ์ผลมากเพียงใด

เมื่อนักปกป้องสิทธิลุกขึ้นปกป้องสิทธิตัวเองจากไอโอ

เมื่อต้องทนทุกข์จากการถูกใส่ร้ายป้ายสีโดยไอโออย่างต่อเนื่อง ในปี 2020 อัญชนาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมกับอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยการยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก ที่ทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์

“เราต่อสู้เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกโจมตีจากการใช้ไอโอของรัฐ เราต้องการให้ประชาชนหรือผู้ถูกโจมตีลุกขึ้นมาใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว ปกป้องตัวเอง แสดงถึงการปฏิเสธในสิ่งที่รัฐกระทำ จริงๆ เราอยากให้รัฐยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิประชาชน เราอยากเป็นตัวแทนทุกคน อยากแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าใครที่เป็นผู้กระทำก็ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย รับผิดในสิ่งที่ตัวเองกระทำ ซึ่งประเทศเราขาดตรงนี้” อัญชนากล่าว

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้มีคำตัดสินในกรณีดังกล่าว แม้ใจความของคำพิพากษาจะคุ้มครองและรับรองการดำเนินงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั้งสอง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คำพิพากษาของไทย อีกทั้งมีการยืนยันว่าทั้งสองได้รับความเสียหายจากการทำปฏิบัติการดังกล่าวจริง แต่ในที่สุดศาลแพ่งก็ได้ยกฟ้องคำร้องของทั้งสอง เนื่องจากยังขาดหลักฐานที่เพียงพอในการเชื่อมโยงไปถึง กอ.รมน. และกองทัพ

อย่างไรก็ตาม อัญชนายืนยันที่จะต่อสู้ต่อไป โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา อัญชนาและอังคณาได้ยื่นอุทธรณ์คดี

“แม้จะหาหลักฐานที่ชี้ชัดได้ถึงตัวบุคคลและไอพีแอดเดรส (IP Address) ของผู้เผยแพร่ข้อมูลได้ยาก แต่เชื่อว่าพยานแวดล้อมหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องจะเป็นตัวบ่งชี้ผู้กระทำได้ ในที่สุดมันต้องมีคนรับผิดชอบ” อัญชนากล่าว แน่นอนว่าสำหรับอัญชนา คนที่ต้องรับผิดชอบนั้นหมายถึงรัฐ

“รัฐได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองอยู่แล้ว ซึ่งมีข้อหนึ่งคือเสรีภาพแสดงความเห็น โดยไม่ไปกระทบหรือทำร้ายใคร เพราะฉะนั้นรัฐต้องเปิดเสรีในเรื่องทางความคิดด้วย เราเองยอมรับได้เรื่องการถูกโจมตีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการโจมตีโดยรัฐเองที่ใช้งบประมาณมาโจมตีประชาชนผู้จ่ายภาษี เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง” อัญชนาแสดงความเห็น

“ในขณะที่สังคมต้องการความสมานฉันท์ปรองดองกัน แต่รัฐกลับใช้ไอโอแบ่งแยกคนด้วยเฮตสปีช (hate speech: ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) ผลักคนให้ไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ถือว่ารัฐเป็นผู้ขีดเส้นแบ่งสังคมในภาคใต้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ได้ช่วยให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ และทำให้ความขัดแย้งหนักขึ้น เพราะฉะนั้นในการทำอย่างนี้ รัฐไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น แต่ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนเองด้วย” อัญชนากล่าว

“รัฐต้องยุติการโจมตีบุคคลทางการเมืองหรือบุคคลที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง แต่ควรใช้วิธีอื่นในการสร้างความสัมพันธ์ต่อประชาชน และทำให้ประชาชนยอมรับ และก็ไม่ได้หมายถึงรัฐอย่างเดียว แต่หมายถึงองคาพยพอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง เพราะคุณจะปกป้องประเทศไม่ได้ ถ้าคุณไม่ปกป้องประชาชน” อัญชนากล่าวทิ้งท้าย


อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.1 : #แบ่งแยกดินแดน วาทกรรมผลิตซ้ำ..โดยกองกำลังคีย์บอร์ด?

อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.2 : ยิ่งค้น ยิ่งเจอ! การขยายผลสู่ 27 แฟนเพจ-38 บัญชีต้องสงสัย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save