fbpx

ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.2 : ยิ่งค้น ยิ่งเจอ! การขยายผลสู่ 27 แฟนเพจ-38 บัญชีต้องสงสัย

#สมควรยกเลิกมั้ย – กระแสต่อต้านยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการ copy-paste?

ในตอนที่แล้ว 101 ค้นพบ 6 บัญชีผู้ใช้ และ 1 แฟนเพจบน Facebook ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายว่าร่วมมือกันปั่นกระแสข้อมูลข่าวสารในประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดูเหมือนว่าศูนย์กลางข้อมูลของกลุ่มนี้อยู่แฟนเพจที่ชื่อ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’

จากการเฝ้าติดตามแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้เดียงสา’ เราพบความเคลื่อนไหวน่าสนใจหนึ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการโพสต์คลิปวิดีโอสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งเสียงสะท้อนว่าไม่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) ที่บังคับใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาต่อเนื่องกันนานกว่า 18 ปี

ภาพ 1: ตัวอย่างโพสต์คลิปวิดีโอสัมภาษณ์คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่อยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา

แฟนเพจดังกล่าวยังมีการโพสต์คลิปเนื้อหาคล้ายกันต่อเนื่องจากนั้นอีก 2 คลิป ในวันที่ 12 ตุลาคม และ 15 ตุลาคม และก่อนหน้าการโพสต์คลิปทั้ง 3 คลิปก็ยังพบว่ามีการโพสต์ภาพข้อความที่มีเนื้อหาคัดค้านการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกจำนวนหนึ่งต่อเนื่องกันในช่วงต้นเดือนตุลาคม เมื่ออ่านจากเนื้อหาจึงเข้าใจได้ว่าการเผยแพร่เนื้อหานี้ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว น่าจะเป็นความพยายามตอบโต้กลุ่มภาคประชาสังคม และ สส. บางพรรคการเมือง ที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ไม่ต่ออายุและเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจากที่ พ.ร.ก. ใกล้มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 19 ตุลาคม 2023[1]

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีขึ้นมาเป็นระยะ จากการที่ประชาชนในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิภายใต้กฎหมายดังกล่าวหลายรูปแบบ ขณะที่เนื้อหาของคลิปวิดีโอ รวมถึงภาพข้อความ ที่พบบนแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ ในเดือนที่ผ่านมานี้ คัดค้านแนวคิดนี้โดยให้เหตุผลว่าการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุง่ายขึ้น และทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดระแวงถึงความไม่ปลอดภัย

ภาพ 2: ตัวอย่างโพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา

การเห็นโพสต์คลิปวิดีโอเหล่านี้บนหน้าแฟนเพจดังกล่าวนับว่าสะดุดตาและชวนให้ประหลาดใจไม่น้อย เพราะคลิปดังกล่าวจัดทำขึ้นด้วยการลงทุนลงแรงลงพื้นที่ถ่ายทำและพูดคุยกับชาวบ้านด้วยตัวเอง จึงชวนให้คิดว่าบุคคลหรือทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังแฟนเพจนี้อาจไม่ธรรมดา แต่แล้วเราก็มาค้นพบว่าที่จริง ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ ไม่ใช่แฟนเพจแรกที่เผยแพร่คลิปเหล่านั้น เพราะหลังจากที่เรากดเข้าไปสำรวจบางแฮชแท็กที่แปะบนแคปชันของแต่ละคลิป ได้แก่ #สมควรยกเลิกมั้ย และ #ถ้ายกเลิกไปแล้วใครจะรับผิดชอบชีวิตผู้บริสุทธิ์ ก็พบว่ามีอีกหลายแฟนเพจที่โพสต์คลิปนี้พร้อมกับแคปชันประกอบที่เหมือนกันทุกตัวอักษร ในวันและเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยที่หลายเพจโพสต์คลิปขึ้นในเวลาก่อนหน้าที่แฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ โพสต์

ต้องย้ำว่า โพสต์คลิปวิดีโอที่ปรากฏในหลายแฟนเพจในเวลาใกล้ๆ กันนี้ ไม่ได้เป็นการกดแชร์โพสต์จากแฟนเพจต้นทางใด ทว่าแต่ละแฟนเพจนั้นต่างโพสต์คลิปวิดีโอขึ้นใหม่บนแฟนเพจของตัวเอง เสมือนว่าตนเป็นต้นฉบับของคลิปเหล่านี้ และความน่าแปลกกว่านั้นก็คือจุดที่ว่าแคปชันข้อความประกอบคลิปเหมือนกันเป๊ะราวตัดแปะ โดยเหมือนกันกระทั่งคำที่สะกดผิด อย่างคำว่า ‘ล้มตาย’ ที่สะกดผิดเป็น ‘ลมตาย’ ซึ่งหากจะมองว่าแต่ละแฟนเพจใช้วิธีดาวน์โหลดคลิปจากแฟนเพจแรกที่โพสต์คลิปนี้ พร้อมคัดลอกแคปชันมาโพสต์ใหม่ในแฟนเพจของตัวเอง ก็คงยากที่จะเชื่อได้ เพราะตามวิสัยของคนเล่น Facebook ปกติแล้ว หากอยากช่วยกระจายข้อความจากแฟนเพจต้นทางจริง ก็ย่อมใช้วิธีกดปุ่มแชร์ใต้ข้อความมายังแฟนเพจของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่ากันมาก จึงน่าสงสัยอย่างยิ่งว่าต้นทางของคลิปและข้อความเหล่านี้มาจากที่ใดกันแน่

ภาพ 3: ตัวอย่างโพสต์คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยหลายแฟนเพจในเวลาไล่เลี่ยกัน พร้อมแคปชันข้อความที่เหมือนกัน

เปิดหน้า 27 แฟนเพจ และ 38 บัญชี ต้องสงสัย

เมื่อนับจำนวนแฟนเพจที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอเหล่านี้จากการสำรวจแฮชแท็กดังกล่าว ก็พบว่ามีทั้งสิ้นถึง 27 แฟนเพจ (รวมถึง ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’) และเมื่อกดเข้าไปสำรวจประวัติการเผยแพร่ข้อความของแต่ละแฟนเพจนั้น ก็พบว่าแต่ละเพจต่างมีการโพสต์ข้อความที่เหมือนกันแทบจะทั้งหมด โดยโพสต์ข้อความส่วนมากเผยแพร่ขึ้นในวันเดียวกัน หรือไม่เช่นนั้นก็ห่างกันเพียงไม่เกิน 1-2 วัน อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นการโพสต์ข้อความขึ้นใหม่บนเพจของตัวเอง ซึ่งเนื้อหาส่วนมากเป็นการโจมตีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและนักเคลื่อนไหวในพื้นที่

อย่างไรก็ดีมีบางเพจที่การแชร์ข้อความต่อจากแฟนเพจอื่นๆ สลับกันไปอยู่บ้าง โดยแฟนเพจที่เป็นต้นทางของข้อความนั้นมีหลากหลาย แต่มักเป็นแฟนเพจที่โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการแชร์ข่าวในพื้นที่จากแฟนเพจสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง จากนั้นเราลองสุ่มสำรวจไปยังแต่ละโพสต์ข้อความต้นทางเหล่านั้น ก็ทำให้เราได้เห็นอีกว่า นอกจากข้อความเหล่านี้จะถูกแชร์โดยส่วนหนึ่งของ 27 แฟนเพจเหล่านี้แล้ว ยังพบบัญชีผู้ใช้ของบุคคลทั่วไปอีก 24 บัญชีที่ก็มักแชร์ข้อความต้นทางเหล่านี้เหมือนๆ กันในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน

ภาพ 4: ข้อมูลการโพสต์ข้อความรูปภาพของแฟนเพจบางส่วนที่เห็นได้ว่ามีการโพสต์ภาพเดียวกันแทบทั้งหมด

จากการเข้าไปสำรวจหน้าบัญชีของทั้ง 24 บัญชีผู้ใช้ เรามีข้อสังเกตว่าทุกบัญชีไม่มีการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง เห็นได้ชัดเจนจากภาพโปรไฟล์ที่มักใช้ภาพสัตว์บ้าง ตัวการ์ตูนบ้าง สถานที่ท่องเที่ยวบ้าง หรือหากเป็นภาพคนก็เป็นภาพที่ไม่เห็นใบหน้า หรือหากเห็นใบหน้าชัดเจน ก็ดูออกได้ง่ายว่าเป็นภาพที่นำมาจากแหล่งอื่น ขณะที่ภาพโปรไฟล์ของบางบัญชีผู้ใช้ก็มีลักษณะที่คล้ายกันมาก และเมื่อดูที่ประวัติการเผยแพร่ข้อความของแต่ละบัญชี ก็เห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นการแชร์โพสต์จากแฟนเพจต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการโจมตีผู้ก่อความไม่สงบและนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยแทบไม่มีการโพสต์ข้อความอื่นใด เสมือนว่าจงใจสร้างบัญชีขึ้นมาเพื่อแชร์เนื้อหาเหล่านี้โดยเฉพาะ

ยิ่งไปกว่านั้นหากไล่ดูประวัติการเผยแพร่ข้อความบนหน้าไทม์ไลน์ทีละบัญชีแล้ว จะเห็นว่าบัญชีเหล่านี้แชร์โพสต์เหมือนกันแทบทั้งหมด ชนิดที่ว่าเมื่อลองเอามือปิดชื่อบัญชีแต่ละบัญชีแล้ว ก็ให้ความรู้สึกเหมือนว่าแต่ละบัญชีคือบัญชีผู้ใช้เดียวกัน และเมื่อเราเอาหน้าไทม์ไลน์ของบัญชีเหล่านี้ไปย้อนเทียบกับ 27 แฟนเพจก่อนหน้า ก็เห็นได้ว่าเนื้อหาข้อความที่เผยแพร่คล้ายกันมาก ต่างกันตรงที่ว่าข้อความส่วนใหญ่ใน 27 แฟนเพจเป็นข้อความที่แต่ละแฟนเพจโพสต์ขึ้นใหม่เอง ขณะที่ข้อความส่วนใหญ่ใน 24 บัญชีผู้ใช้เป็นการแชร์มาจากแฟนเพจต่างๆ

นอกจากประวัติการเผยแพร่ข้อความที่คล้ายกันแล้ว เราพยายามหาจุดร่วมอื่นๆ ของทั้ง 27 แฟนเพจ และ 24 บัญชีนี้ โดยจุดหนึ่งที่อาจบ่งชี้ได้คือข้อมูลวันที่สร้างบัญชีของแต่ละบัญชีและแฟนเพจ ซึ่งเราสังเกตได้ในเบื้องต้นวันที่สร้างบัญชีค่อนข้างหลากหลาย แต่ก็มีจุดน่าสนใจตรงที่ว่าเกือบทุกบัญชีและแฟนเพจสร้างขึ้นมาหลังปี 2019 ทั้งหมด และกระจุกอยู่ในระหว่างปี 2021-2022 มากเป็นพิเศษ โดยมีเพียงบัญชีเดียวเท่านั้นที่สร้างขึ้นมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2013 (ดูรายละเอียดได้จากไฟล์ข้อมูลประกอบท้ายบทความ)   

แต่ท่ามกลางวันสร้างบัญชีและแฟนเพจที่หลากหลายนั้น ก็สังเกตได้ว่ามีบางส่วนที่สร้างขึ้นมาในวันเดียวกันหรือห่างกันเพียงไม่กี่วัน เช่นกลุ่มหนึ่งซึ่งได้แก่ บัญชีผู้ใช้ นายทองดี สนินาม, สุภากร สันสุภา และ ช้างศึก ส.ผู้ใหญ่ดำ โดย 2 บัญชีแรกสร้างขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2021 ขณะที่บัญชีหลังสุดสร้างขึ้นวันที่ 26 มีนาคม 2021 และเมื่อเราเข้าไปสำรวจในทั้ง 3 บัญชีนี้อีกครั้งนั้น ก็พบว่ายังมีจุดร่วมกันที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง นั่นคือ ‘เพื่อน’ ของแต่ละบัญชี ที่เราสังเกตได้ว่าปรากฏขึ้นซ้ำๆ กัน โดยสามารถสังเกตได้อยู่ 14 บัญชี นี่จึงชวนให้เราเข้าไปสำรวจต่อยังบัญชีเหล่านี้ จนพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าทั้ง 14 บัญชีล้วนแต่สร้างขึ้นมาในวันที่ 25 และ 26 มีนาคม 2021 เหมือนกันหมด (ดูรายละเอียดได้จากไฟล์ข้อมูลประกอบท้ายบทความ) และบัญชีเหล่านี้ยังล้วนเป็นเพื่อนของกันและกันเองบน Facebook ด้วย ขณะที่ภาพโปรไฟล์ของแต่ละบัญชี แม้จะเป็นภาพบุคคลที่เห็นใบหน้าชัด แต่ก็ดูออกได้ว่าไม่ใช่ภาพของเจ้าของบัญชี โดยเราพบว่าบางภาพนั้นนำมาจากแหล่งอื่น เมื่อนำภาพไปค้นหาด้วย Google Reverse Image Search

ภาพ 5: ภาพโปรไฟล์ของหนึ่งในบัญชีผู้ต้องสงสัยในกลุ่ม 14 บัญชี ที่ค้นพบจากการใช้ Google Reverse Image Search ว่านำภาพมาจากแหล่งอื่น

อย่างไรก็ตาม ประวัติการเผยแพร่ข้อความบนหน้าไทม์ไลน์ของบัญชีเหล่านี้ไม่ได้เหมือนกับกลุ่ม 24 บัญชีผู้ใช้ก่อนหน้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบว่าไม่มีการโพสต์หรือแชร์ข้อความใดๆ มีเพียงแต่การโพสต์ภาพโปรไฟล์และภาพปกอย่างละ 1 ภาพเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นข้อความในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างหนึ่งว่าบัญชีเหล่านี้อาจเน้นแสดงความคิดเห็นหรือกดไลก์ใต้ข้อความของแฟนเพจอื่นๆ ซึ่งด้วยข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม Facebook ทำให้เราไม่สามารถสำรวจประวัติกิจกรรมในรูปแบบเหล่านี้ได้ ต่างจากกิจกรรมในลักษณะการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เราสามารถมองเห็นและรวบรวมข้อมูลได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีบางบัญชีที่มีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ลงหน้าไทม์ไลน์ของตัวเองอยู่ ทว่าข้อความที่แชร์มานั้นค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่ม 24 บัญชีก่อนหน้า จนเราไม่สามารถจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ แต่ในกลุ่ม 14 บัญชีนี้ เราก็พบว่ามีบางบัญชีที่มักแชร์ข้อความเหมือนๆ กัน โดยแต่ละข้อความที่แชร์เหมือนกันนั้น เป็นการแชร์ที่ห่างกันเพียงหลักนาที เช่น บัญชีผู้ใช้ หวังเฉา หม่าฮั่น, พงศกร แซ่จู และ อิสมาแอ เวาะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการแชร์ข้อความครั้งล่าสุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2021 และไม่มีการแชร์ใดๆ หลังจากนั้นอีก

ภาพ 6: ตัวอย่างที่แสดงว่าบัญชีต้องสงสัยส่วนหนึ่งในกลุ่ม 14 บัญชี มีการแชร์ข้อความจากแหล่งอื่นๆ ในเวลาใกล้เคียงกันมาก โดยข้อความที่ภาพคือข้อความสุดท้ายที่พบว่าบัญชีเหล่านี้แชร์

เบาะแสจากไลฟ์ปริศนา?

27 แฟนเพจ และ 44 บัญชีผู้ใช้บน Facebook ที่เราค้นพบรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ตอนแรกมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถนำเราไปเจอบทสรุปได้แน่ชัดว่าตกลงแล้วใครหรือหน่วยงานใดที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังบัญชีและแฟนเพจเหล่านี้ บทความสืบสวนนี้จึงยังชี้ให้เห็นได้เพียงว่ากลุ่มบัญชีและแฟนเพจนี้นั้นมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ส่อว่าอาจร่วมมือกันทำปฏิบัติการปั่นกระแสข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะชี้ตัวผู้อยู่เบื้องหลังไม่ได้ชัดเจนนัก แต่จากการสำรวจบัญชีผู้ใช้และแฟนเพจเหล่านี้ เราก็พบเบาะแสสำคัญที่บัญชีผู้ใช้หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ปักษา ทักษิณ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม 24 บัญชี และยังมีแฟนเพจชื่อเดียวกันที่อยู่ในกลุ่ม 27 แฟนเพจต้องสงสัยอีกด้วย โดยเราไปพบว่าบัญชีผู้ใช้ดังกล่าวมีการโพสต์คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งเป็นการแพร่ภาพสด (Live) ในวันที่ 14 มิถุนายน 2022 ความยาว 44.15 นาที

คลิปดังกล่าวไม่มีแคปชันข้อความใดๆ ที่อธิบายว่า คลิปนี้เป็นการถ่ายทอดสดเหตุการณ์อะไร แต่เมื่อเรากดเข้าไปดูในคลิป ก็พบว่าสถานการณ์ในคลิปคล้ายเป็นการประชุมบางอย่างที่มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหาร ก่อนจะสังเกตเห็นป้ายด้านหลังที่ระบุว่าเป็นการประชุม ‘การขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตยระดับตำบล ตำบลนาคำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี’

จากนั้นเมื่อเราลองฟังบทสนทนาในคลิป ก็พอจับใจความได้คร่าวๆ ว่าเป็นการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานหลายเรื่องในพื้นที่ และได้ยินว่าผู้เข้าร่วมประชุมในขณะนั้นมีทั้งบุคคลที่เป็น นายก อบต., ผู้ใหญ่บ้าน, หัวหน้าส่วนราชการของบางหน่วยงาน, สมาชิกสภาประชาธิปไตยระดับตำบล และกรมทหารพรานที่ 44 นอกจากนี้เมื่อสังเกตที่เสื้อของผู้ร่วมประชุมบางคนก็พบข้อความระบุว่า ‘กรมการปกครอง’ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้แปลว่าบุคคลและหน่วยงานเหล่านี้คือผู้อยู่เบื้องหลังบัญชี ‘ปักษา ทักษิณ’ หรือบัญชีอื่นๆ ที่ต้องสงสัยว่าอยู่ในเครือข่าย เพราะยังไม่มีอะไรที่บ่งชี้ได้เช่นนั้น แต่ก็น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าการที่บุคคลเจ้าของบัญชี ‘ปักษา ทักษิณ’ สามารถถ่ายทอดสดการประชุมจากสถานที่จริงได้นั้น อาจหมายความว่าเขาต้องเป็นบุคคลที่ทำงานภายใต้สังกัดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นใช่หรือไม่ และทำไมผู้ใช้บัญชีดังกล่าวถึงได้ถ่ายทอดการประชุมผ่านบัญชีตัวเอง แทนที่จะเป็นบัญชีของหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุม เราจึงไม่เข้าใจว่าบัญชีนี้ตั้งใจถ่ายทอดการประชุมให้ใครรับชมกันแน่

แต่ไม่ว่าอย่างไร หากเจ้าของบัญชี ‘ปักษา ทักษิณ’ เป็นบุคคลของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจริง ก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ที่บุคคลผู้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเผยแพร่ข้อความสร้างความเกลียดชังต่อประชาชนเช่นนี้

ภาพ 7: ภาพจากโพสต์คลิปวิดีโอถ่ายทอดสดการประชุม จากบัญชีผู้ใช้ ‘ปักษา ทักษิณ’

ปฏิบัติการที่ไร้ผลสัมฤทธิ์?

ไม่ใช่แค่คลิปถ่ายทอดสดการประชุมเท่านั้นที่ชวนให้เราสงสัยว่าผู้รับชมรับฟังคือใคร แต่ตลอดเวลาที่เราสำรวจทั้ง 26 แฟนเพจ และ 44 บัญชีผู้ใช้ เราเกิดความฉงนขึ้นมาตลอดว่าแต่ละข้อความที่เผยแพร่หรือแชร์มานี้ต้องการให้ไปถึงใคร เพราะแต่ละโพสต์นั้นแทบไม่มีการกดไลก์หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ขณะที่แฟนเพจส่วนมากนั้นก็มีผู้กดไลก์และติดตามน้อยมาก โดยบางแฟนเพจน้อยจนถึงขั้นเป็นเพียงเลขหลักหน่วย เช่นเดียวกับบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวหลายบัญชีที่ก็มีเพื่อนจำนวนไม่มากเช่นกัน เว้นแต่กรณีของแฟนเพจ ‘กว่าจะรู้ เดียงสา’ ที่มีบัญชีผู้ใช้จำนวนหนึ่งคอยแชร์โพสต์ไปยังกลุ่มต่างๆ ให้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เนื้อหาจากแฟนเพจค่อนข้างได้รับปฏิสัมพันธ์ (engagement) ที่ดีระดับหนึ่ง

หากว่ากลุ่มบัญชีและแฟนเพจเหล่านี้มีใครหรือหน่วยงานใดที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังจริง เราจึงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าการลงทุนของพวกเขาในปฏิบัติการนี้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่คุ้มค่าหรือไม่

หรือไม่อย่างนั้น เป็นไปได้ไหมที่เป้าหมายหลักของบัญชีเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขยอด engagement แต่มีจุดมุ่งหมายอย่างอื่น แล้วจุดมุ่งหมายนั้นเป็นอะไรไปได้บ้าง และที่เราคิดว่าปฏิบัติการแบบนี้มีผลสัมฤทธิ์ต่ำนั้น มันต่ำจริงหรือไม่ มาร่วมขบคิดวิเคราะห์กันต่อในตอนสุดท้ายของซีรีส์สืบสวน ‘ลอกคราบไอโอชายแดนใต้’ เร็วๆ นี้


ดูข้อมูลบัญชีและแฟนเพจต้องสงสัยทั้งหมดที่ปรากฏตั้งแต่ใน EP.1 และ 2 ได้ด้านล่างนี้


อ่านตอนที่ 1 ได้ที่ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.1 : #แบ่งแยกดินแดน วาทกรรมผลิตซ้ำ..โดยกองกำลังคีย์บอร์ด?

อ่านตอนที่ 3 ได้ที่ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ EP.3: เมื่อรัฐคือผู้สร้างความแตกแยกในสังคม?

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save