fbpx

ทำร้ายในโลกเสมือน สะเทือนชีวิตจริง: นักกิจกรรมการเมืองเจ็บแค่ไหนเมื่อโดนคุกคามออนไลน์?

ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าขึ้น ‘โลกออนไลน์’ รวมถึงพื้นที่โซเชียลมีเดีย ได้กลายเป็นพื้นที่หลักในการแสดงออกทางการเมืองของใครหลายคน รวมถึงบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ แต่แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะขยับจากท้องถนนเข้ามาสู่พื้นที่บนโลกเสมือนก็ตาม การข่มขู่คุกคามต่อผู้ที่แสดงออกทางการเมืองในเชิงเห็นต่าง ก็ยังคงมีอยู่สืบมา และยิ่งเมื่อประเทศไทยมีการรัฐประหารในปี 2557 ตามด้วยการยกระดับการเคลื่อนไหวทางการเมืองสู่การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2020 ที่ยังผลให้สังคมไทยแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น การคุกคามผู้เห็นต่างบนพื้นที่ออนไลน์ก็ยิ่งเด่นชัด ทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบ และมีความเป็นระบบมากขึ้น

ไม่ว่าใครก็คงพอจินตนาการออกว่าหากตนถูกคุกคามทางออนไลน์ เช่นอาจถูกระดมด้วยข้อความด่าทอหรือที่เรียกกันว่าทัวร์ลง ถูกขุดประวัติเรื่องราวในอดีตมาเปิดโปงบนโซเชียลมีเดีย ถูกใช้เครื่องมือสอดแนม หรือถูกแฮ็กข้อมูล ก็ย่อมสะเทือนจิตใจ และอาจส่งผลถึงชีวิตส่วนตัวไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาอาจมีงานศึกษาหลายชิ้นที่สำรวจการคุกคามทางออนไลน์ต่อนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยในรูปแบบต่างๆ ทว่ายังไม่มีใครที่ศึกษาอย่างจริงจังว่า นักกิจกรรมผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นได้รับผลกระทบรุนแรงแค่ไหนจากการถูกคุกคาม

101 ร่วมกับ โครงการ Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE) จึงสำรวจผลกระทบของการคุกคามทางออนไลน์ต่อนักกิจกรรมทางการเมืองผู้ตกเป็นเหยื่อ ผ่านการทำแบบสำรวจนักกิจกรรมจำนวน 52 คนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2023 พร้อมศึกษาวิเคราะห์บทสนทนาเชิงคุกคามบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปี 2021 ถึงต้นปี 2023 เพื่อให้เห็นภาพการคุกคามทางออนไลน์อย่างรอบด้านจากทั้งฝั่งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมทั้งร่วมมองหาแนวทางรับมือ-ป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากการถูกคุกคามออนไลน์ และหามาตรการที่จะปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้คนบนโลกออนไลน์ได้อย่างยั่งยืนขึ้น

นักกิจกรรมทางการเมืองเกือบทั้งหมดเคยถูกคุกคามออนไลน์

จากแบบสำรวจ พบว่านักกิจกรรมทางการเมืองเคยถูกคุกคามทางออนไลน์มาแล้วมากถึง 90.38% ซึ่งเท่ากับว่าเกือบทุกคนเคยผ่านประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อมูลว่าการถูกคุกคามนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่ได้บ่อยนัก แต่อีกครึ่งหนึ่งบอกว่าโดนคุกคามอย่างเป็นประจำ โดยมีทั้งโดนคุกคามแบบรายเดือน (18%) รายอาทิตย์ (26%) และจำนวนหนึ่งก็โดนทุกวัน (6%)

นอกจากนั้นเมื่อถามว่าคิดว่าใครคือบุคคลหลักที่ทำการคุกคามตน ส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 41% คิดว่าคือกองทัพ ตามมาด้วย 23.53% ที่มองว่าเป็นพลเมืองทั่วไปที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากตน ขณะที่ 9.8% มองว่าเป็นรัฐบาล 7.84% มองว่าเป็นตำรวจ และยังมีคำตอบอื่นที่หลากหลาย เช่น นักการเมือง หน่วยงานข่าวกรอง กลุ่มจัดตั้งทางการเมืองฝั่งตรงข้าม ฯลฯ

ส่วนใหญ่ถูกคุกคามในลักษณะการถูกใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์มากที่สุด

การคุกคามทางออนไลน์มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งนักกิจกรรมทางการเมืองต่างก็เคยมีประสบการณ์เผชิญการคุกคามในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย โดยส่วนมากคิดเป็น 28.57% ชี้ว่าลักษณะการคุกคามที่เจอมากที่สุดคือการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์เพื่อทำลายชื่อเสียงหรือความน่าเชื่อถือ ซึ่งจำนวนมากให้รายละเอียดว่าตนถูกกล่าวหาด้วยข้อความบิดเบือน เช่น กล่าวหาว่ากำลังเคลื่อนไหวบ่อนทำลายประเทศชาติ ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หรือรับเงินต่างชาติเพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหว เป็นต้น

นอกจากการถูกใส่ร้ายป้ายสีแล้ว นักกิจกรรมทางการเมืองยังเผชิญการคุกคามทางออนไลน์อีกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกแฮ็กข้อมูล หรือพบว่าถูกสอดแนมด้วยสปายแวร์ เช่น Pegasus, การถูกขุดคุ้ยนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย (doxing), การถูกถล่มวิจารณ์ด่าทออย่างเป็นขบวนการโดยหลายบัญชีผู้ใช้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นม็อบออนไลน์ หรือโทรลล์ (troll), การถูกบุลลี เช่นเรื่องรูปร่างหน้าตา และการแต่งตัว, การถูกใส่ร้ายป้ายสีในประเด็นเพศสภาพ, การถูกบันทึกโพสต์ข้อความเป็นหลักฐานในการนำไปฟ้องร้องทางกฎหมาย, และการจู่โจมเว็บไซต์ให้ไม่สามารถใช้การได้ (DDoS attack) เป็นต้น

พบว่าข้อความคุกคามบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นเชิงใส่ร้ายป้ายสี ในบริบทประเด็นการเมือง-การชุมนุม

ขณะที่นักกิจกรรมการเมืองส่วนใหญ่บอกว่าตัวเองถูกคุกคามในลักษณะการใส่ร้ายป้ายสีบนโลกออนไลน์มากที่สุด เมื่อเราไปสำรวจวิเคราะห์ข้อความเชิงคุกคามบนแพลตฟอร์ม Twitter (ปัจจุบันคือ X) จำนวน 67,894 ข้อความ โดยเป็นข้อความที่มาจากบัญชีกลุ่มตัวอย่าง 23 บัญชีที่มีการเคลื่อนไหวโจมตีนักกิจกรรมการเมืองต่อเนื่อง ในช่วงระหว่าง 1 มกราคม 2021 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2023 พร้อมกับจัดจำแนกประเภทของคำเชิงคุกคามที่ปรากฏในข้อความ ก็พบว่าคำส่วนใหญ่เป็นคำในเชิงใส่ร้ายป้ายสีในหลายประเภท จึงนับว่าสอดคล้องกับประสบการณ์ที่นักกิจกรรมการเมืองส่วนใหญ่เผชิญจริง

เมื่อดูตัวเลขสัดส่วนประเภทคำแบบละเอียดก็พบว่า คำส่วนใหญ่คิดเป็นราวร้อยละ 27 เป็นคำเชิงจงใจบั่นทอนทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือต่อตัวตนของนักกิจกรรมผู้เห็นต่าง (character assassination) และถัดลงมาก็เป็นคำที่ใช้ในเชิงกล่าวหานักกิจกรรม โดยมีทั้งกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายบ้านเมืองพร้อมกับสนับสนุนให้นักกิจกรรมถูกดำเนินคดี กล่าวหาว่าชังชาติและยุยงปลุกปั่น กล่าวหาว่าล้มเจ้า และกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต โดยมีสัดส่วนถ้อยคำกล่าวหาแต่ละประเภทที่ใกล้เคียงกันมากในช่วงระหว่างร้อยละ 10-14 นอกจากนั้น เรายังพบถ้อยคำคุกคามในประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสัดส่วนสูงมากนัก ทั้งถ้อยคำเหยียดเพศ ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และข่มขู่ประสงค์ร้าย เป็นต้น

ถัดมา เรายังทำการจัดจำแนกกลุ่มคำตามประเด็นบริบทสถานการณ์ของข้อความ ซึ่งก็พบว่าข้อความคุกคามต่อผู้เห็นต่างเหล่านี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย คิดเป็นราวร้อยละ 34 โดยจำนวนมากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมประท้วง ตามด้วยข้อความคุกคามที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 28.5 โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นักกิจกรรมว่าเป็นปฏิปักษ์หรือล่วงละเมิดสถาบัน ขณะที่ร้อยละ 17.38 เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลและนโยบายรัฐ เช่น เป็นข้อความที่ปกป้องรัฐบาลจากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักกิจกรรมทางการเมือง และมีอีกร้อยละ 12.21 เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 เช่น ข้อความที่โจมตีนักกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวในการรับมือการระบาดและการจัดหาวัคซีน 

เกือบทั้งหมดถูกคุกคามในโลกความเป็นจริง ควบคู่ไปกับโลกออนไลน์

โดยทั่วไป การคุกคามทางออนไลน์ต่อนักกิจกรรมทางการเมืองมักไม่จบแค่บนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่นักกิจกรรมเกือบทุกคนยังต้องเผชิญการคุกคามในโลกความเป็นจริง โดยที่การคุกคามนั้นมักมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการคุกคามทางออนไลน์ในทางใดทางหนึ่ง โดยมีนักกิจกรรมถึงราวร้อยละ 90 ที่บอกว่าตนถูกคุกคามในโลกออฟไลน์ควบคู่ไปกับการถูกคุกคามทางออนไลน์ด้วย

เมื่อถามถึงรูปแบบการถูกคุกคาม นักกิจกรรมส่วนมาก คิดเป็นร้อยละ 34 ตอบว่าตนถูกคุกคามในลักษณะการถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือถูกจับกุม โดยเฉพาะการถูกเก็บหลักฐานการโพสต์ข้อความหรือภาพเพื่อนำไปแจ้งข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่ หรือโดยกลุ่มองค์กรจัดตั้งภาคประชาชน เช่น ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

การคุกคามอีกรูปแบบหนึ่งที่นักกิจกรรมพบได้มากคือการถูกเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐติดตามในชีวิตจริง คิดเป็นร้อยละ 21.28 โดยบางส่วนมีข้อสงสัยว่าบุคคลเหล่านี้รู้ได้อย่างไรว่าในบางห้วงขณะเวลา ตนกำลังอยู่ที่ไหนหรือเดินทางไปไหน และสามารถติดตามไปได้อย่างถูกสถานที่ โดยที่ตนไม่ได้แจ้งให้ใครรู้ จึงเกิดความกังวลว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐอาจสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทางดิจิทัลของตนด้วยวิธีการบางอย่าง

นอกจากนี้ นักกิจกรรมจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 14.89 ยังเคยมีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างการชุมนุมประท้วง การถูกทำร้ายในลักษณะนี้อาจไม่ได้สัมพันธ์กับการคุกคามบนโลกออนไลน์ในทางตรงอย่างเห็นได้ชัดนัก แต่ก็มีความเกี่ยวข้องส่วนหนึ่งในแง่ที่ว่าข้อความบนโลกออนไลน์จำนวนมากนั้นมีลักษณะของการสร้างภาพลบหรือขยายข่าวด้านลบของการชุมนุม เช่น การบ่งชี้ว่าผู้ชุมนุมกำลังป่วนเมือง สร้างความเดือดร้อน หรือจงใจทำลายชาติและสถาบัน จนนำไปสู่การใช้ข้อความในเชิงให้ความชอบธรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินปฏิบัติการสลายการชุมนุม รวมไปถึงมีการแสดงความสะใจเมื่อผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายหรือดำเนินคดีตามกฎหมาย

ไม่ใช่แค่เรื่องการชุมนุมเท่านั้น แต่เมื่อเราสำรวจวิเคราะห์ข้อความบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ยังพบว่าข้อความจำนวนมากมีเนื้อหามุ่งหวังให้นักกิจกรรมทางการเมืองถูกดำเนินการทางกฎหมาย โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ใช้มาตรา 112 ในการจัดการนักกิจกรรมการเมืองที่มีพฤติการณ์ล่วงละเมิดสถาบัน ซึ่งรวมไปถึงการทำข้อความประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้พบเห็นการกระทำหรือเผยแพร่ข้อความที่ส่อผิดมาตรา 112 สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิด เป็นต้น

นักกิจกรรมการเมืองยังโดนคุกคามในโลกจริงที่เชื่อได้ว่าเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับการคุกคามทางออนไลน์อีกหลายรูปแบบ เช่น การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกที่พักหรือที่ทำงาน การถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐ และการถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น

นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุกคามออนไลน์มักได้รับผลกระทบทางจิตใจ

การถูกคุกคามบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงการถูกคุกคามในโลกจริงที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการคุกคามในพื้นที่ออนไลน์ ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อนักกิจกรรมผู้ตกเป็นเหยื่อไม่น้อย โดยนักกิจกรรมเกิดความรู้สึกที่หลากหลายจากการโดนคุกคาม ซึ่งส่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 25 รู้สึกว่าการคุกคามเหล่านี้กำลังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตน ขณะที่นักกิจกรรมในสัดส่วนใกล้กันที่ราวร้อยละ 23 บอกว่ารู้สึกโกรธ ตามด้วยร้อยละ 11.54 ที่บอกว่าทำให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม นอกจากนี้ นักกิจกรรมส่วนใหญ่ยังบอกว่าการถูกคุกคามทางออนไลน์มีผลถึงสุขภาพจิตของตัวเอง โดยร้อยละ 36.54 บอกว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก และร้อยละ 32.69 ได้รับผลกระทบบางส่วน

นักกิจกรรมการเมืองผู้ตอบแบบสำรวจให้รายละเอียดถึงผลกระทบทางสุขภาพจิตของตัวเองไว้อย่างหลากหลาย โดยมีตั้งแต่อาการทั่วไปอย่างความเครียด ความรู้สึกจิตตก ความหงุดหงิดรำคาญใจ การสูญเสียสมาธิ การสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ความวิตกกังวล และความหวาดระแวง ขณะที่บางส่วนก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจที่รุนแรงจนถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวช เช่น อาการซึมเศร้า, PTSD (ความเครียดและวิตกกังวลหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง), Panic Disorder (โรคตื่นตระหนก) และอาการนอนไม่หลับ โดยนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่าตนถึงขั้นต้องเข้ารับคำปรึกษาหรือบำบัดเยียวยาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมทางการเมืองบางส่วนก็ระบุว่าตนสามารถรับมือต่อการถูกคุกคามทางออนไลน์ได้ โดยร้อยละ 11.54 บอกว่าตนรู้สึกเฉยๆ หรือบางส่วนก็มีความรู้สึกในลักษณะเห็นใจผู้มาคุกคามตัวเองด้วยซ้ำ โดยคิดเป็นร้อยละ 9.62 นอกจากนี้เมื่อถามในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพจิต ก็ยังมีจำนวนหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 7.69 ที่บอกว่าตนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ขณะที่ร้อยละ 13.46 บอกว่าแทบไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็เห็นได้ว่านักกิจกรรมที่สามารถรับมือการถูกคุกคามทางออนไลน์ในทางจิตใจได้มีสัดส่วนที่น้อยกว่าคนได้รับผลกระเทือนทางจิตใจอยู่มาก

นักกิจกรรมเพศหญิง-เพศหลากหลาย อ่อนไหวต่อการถูกคุกคามมากกว่าเพศชาย

ข้อสังเกตหนึ่งที่เราพบจากการสอบถามความรู้สึกของนักกิจกรรมเมื่อถูกคุกคามทางออนไลน์ คือแต่ละเพศมีความอ่อนไหวต่อการถูกคุกคามในระดับที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยในกรณีเพศชาย พบว่าจำนวนมากไม่รู้สึกได้รับผลกระทบทางจิตใจมากนัก โดยร้อยละ 22.73 ซึ่งเป็นสัดส่วนมากสุดบอกว่ารู้สึกเห็นใจผู้มาคุกคามตัวเอง และรองลงมาที่ร้อยละ 18.18 บอกว่ารู้สึกเฉยๆ

ขณะที่นักกิจกรรมเพศหญิงที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 35 บอกว่ารู้สึกโกรธ ตามด้วยร้อยละ 25 ที่บอกว่ารู้สึกถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่บอกว่ารู้สึกเฉยๆ และไม่มีใครเลยที่บอกว่ารู้สึกเห็นใจผู้มาคุกคามตัวเอง ส่วนทางด้านนักกิจกรรมเพศหลากหลายนั้น ทุกคนที่ตอบแบบสำรวจล้วนรู้สึกได้รับผลกระทบในด้านลบ โดยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44 บอกว่ารู้สึกตัวเองถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และไม่มีใครตอบว่ารู้สึกเฉยๆ หรือเห็นใจผู้คุกคามตัวเองเลย

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้บ่งบอกว่านักกิจกรรมเพศหญิงและเพศหลากหลายมีความเข้มแข็งทางจิตใจในการรับมือเผชิญหน้าต่อการคุกคามทางออนไลน์น้อยกว่าเพศชายแต่อย่างใด แต่ส่วนหนึ่งเราพบว่าอาจเป็นเพราะนักกิจกรรมหญิงและเพศหลากหลายนั้นมีหลายประเด็นที่ทำให้มีโอกาสตกเป็นเป้าการคุกคามสูงกว่า เนื่องจากเมื่อเราทำการสัมภาษณ์นักกิจกรรมหญิงและเพศหลากหลายในเชิงลึก หลายคนชี้ว่ามีการโดนเหยียดเพศสภาพ วิพากษ์วิจารณ์การแต่งหน้า-แต่งตัว-กิริยาท่าทาง ไปจนถึงคุกคามทางเพศ และยิ่งเป็นนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมเพศ ก็มักโดนคุกคามไม่ใช่แค่จากฝั่งคนเห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังโดนจากคนที่มีอุดมการณ์การเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยเหมือนกัน โดยนักกิจกรรมหญิงและเพศหลากหลายต่างมองว่าเป็นเพราะคนในสังคมไทยจำนวนมากยังไม่ตื่นรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แม้หลายคนจะตื่นรู้เรื่องทางการเมืองและสังคมแล้วก็ตาม นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักกิจกรรมหญิงและเพศหลากหลายมีความรู้สึกเปราะบางต่อการคุกคามมากกว่าเพศชาย

นักกิจกรรมทางการเมืองยังได้รับผลกระทบอีกหลายด้านจากการถูกคุกคามออนไลน์

ไม่ใช่แค่ในเชิงสภาพจิตใจเท่านั้น แต่การคุกคามทางออนไลน์ยังส่งผลกระทบต่อนักกิจกรรมการเมืองในอีกหลายด้าน ด้านหนึ่งคือเรื่องการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและรณรงค์ทางการเมือง โดยส่วนมากคิดเป็นร้อยละ 32.69 บอกว่าการคุกคามออนไลน์ส่งผลกระทบในด้านนี้อย่างมาก ขณะที่อีกร้อยละ 30.77 บอกว่าส่งผลทางลบบ้าง โดยจำนวนมากให้เหตุผลว่าเป็นเพราะตนรู้สึกสูญเสียกำลังใจและความมั่นใจในการเดินหน้าเคลื่อนไหว รวมทั้งยังรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของตนได้รับความเชื่อถือจากมวลชนหรือองค์กระภาคประชาสังคมต่างๆ น้อยลง นอกจากนี้นักกิจกรรมจำนวนมากยังระบุคล้ายกันว่าการคุกคามทำให้ตนรู้สึกหวาดกลัวว่าตนจะเป็นอันตรายเมื่อออกไปนำการเคลื่อนไหว และมองว่าประชาชนผู้ต้องการร่วมเคลื่อนไหวก็รู้สึกกลัวที่จะมาเข้าร่วมเช่นกัน

ขณะเดียวกัน นักกิจกรรมผู้ตอบแบบสำรวจหลายคนก็รู้สึกว่าตนได้รับผลกระทบในเชิงสถานะทางสังคมและสถานะทางการเงินเช่นกัน โดยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.77 บอกว่าได้รับผลกระทบในบางส่วน และร้อยละ 19.23 บอกว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก นักกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบในแง่นี้ส่วนมากให้เหตุผลว่าการถูกใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ ส่งผลให้ตนต้องสูญเสียหน้าที่การงาน บ้างถูกไล่ออกจากงาน บ้างต้องหยุดดำเนินธุรกิจส่วนตัวชั่วคราว หรือบ้างก็ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำงานมากขึ้น เช่น ถูกยกเลิกการจัดกิจกรรมหรือโครงการ หรือถูกถอนแหล่งเงินทุนสนับสนุนการทำกิจการ ขณะที่นักกิจกรรมบางคนที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนก็ระบุว่าตนต้องถูกตัดออกจากรายชื่อผู้รับทุนการศึกษาที่ตนได้รับมาตลอด นอกจากนี้นักกิจกรรมจำนวนไม่น้อยยังบอกว่าสิ่งที่ตนเผชิญส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเพื่อนหรือครอบครัว โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างทางการเมือง ย่ำแย่ลง ยิ่งในกรณีครอบครัวนั้น บางรายได้รับผลร้ายแรงถึงขั้นที่ว่าถูกครอบครัวตัดขาดความสัมพันธ์ จนบางรายต้องเผชิญความยากลำบากทางการเงิน เนื่องจากก่อนหน้านี้พึ่งพารายได้จากผู้ปกครองเป็นหลักมาตลอด

นอกจากนี้ เรายังสอบถามถึงผลกระทบในเชิงสุขภาพร่างกายของนักกิจกรรม แต่ส่วนใหญ่ระบุว่าตนไม่ได้รับผลกระทบในแง่นี้เลย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 34.62 โดยส่วนน้อยที่ระบุว่าได้รับผลกระทบทางร่างกายนั้นมักบอกว่าเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากสุขภาพจิตโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนไม่หลับ อาการปวดหัวคลื่นไส้ การมีพฤติกรรมการกินไม่ปกติ เบื่ออาหาร ขาดสารอาหารที่เพียงพอ จนนำมาสู่โรคต่างๆ ทั้งกรดไหลย้อน ตะคริว เหน็บชา รวมไปถึงน้ำหนักที่ลดอย่างรวดเร็ว

รับมือ/ป้องกันตัวเองอย่างไร และสังคมควรมีมาตรการอย่างไรในการแก้ปัญหาการคุกคามออนไลน์

ไม่ใช่นักกิจกรรมการเมืองเท่านั้นที่มีโอกาสเผชิญการคุกคามบนโลกออนไลน์จากการแสดงออกทางความคิดที่แตกต่าง แต่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือมีอุดมการณ์การเมืองแบบไหนก็ตาม ต่างก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน เราจึงแนะนำวิธีป้องกันตัวเองและรับมือด้วยตัวเองเบื้องต้นเมื่อต้องเผชิญการคุกคามบนโลกออนไลน์ ดังนี้

1. คอยประเมิน-บริหารจัดการความเสี่ยงทางดิจิทัลของตัวเอง

คนที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมืองต้องคอยพิจารณาว่าการกระทำของตัวเองอาจเป็นที่จับจ้องและเสี่ยงที่จะนำจะไปสู่การถูกคุกคามมากขนาดไหน ประเมินว่าการคุกคามรูปแบบใดที่ตนอาจมีโอกาสเผชิญได้บ้าง รวมทั้งต้องตรวจสอบอุปกรณ์ทางดิจิทัลของตัวเอง อย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวต่างๆ อย่างอีเมล และโซเชียลมีเดีย ว่าได้ตั้งค่าระดับการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ที่เพียงพอหรือยัง เช่น มีการตั้งรหัสผ่านที่รัดกุมพอไหม มีการตั้งค่าระบบยืนยันตัวตนแบบหลายชั้นแล้วหรือไม่ และมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญหรือเป็นความลับไว้ในที่ที่ปลอดภัยมากพอแล้วหรือยัง นอกจากนี้ยังต้องคอยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางดิจิทัล เช่น ไม่กดลิงก์แปลกๆ หรือพยายามลบแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็นออก อย่างไรก็ดี การประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงทางดิจิทัลเป็นเรื่องที่มีความละเอียดและต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางเทคนิคสูง จึงต้องหาเวลาศึกษาเรียนรู้หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากผู้มีความรู้ด้านความปลอดภัยดิจิทัล

2. ตั้งสติเมื่อเจอการคุกคาม

แม้จะมีการป้องกันและรับมือความเสี่ยงทางดิจิทัลด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางดิจิทัลเสียทีเดียว เพราะการคุกคามอาจมาในรูปแบบที่ไม่คาดคิดหรือซับซ้อนเกินกว่าจะป้องกัน เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ตัวว่าถูกคุกคามทางดิจิทัลไม่ว่าจะรูปแบบใดก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติ และพยายามทำความเข้าใจว่าตนกำลังโดนคุกคามในรูปแบบใดอยู่ ก่อนจะไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป

    3. เก็บบันทึกหลักฐานการคุกคาม

    สิ่งต่อมาที่ต้องทำคือการเก็บบันทึกหลักฐานการคุกคามตัวเอง เช่น การแคปภาพหน้าจอ เพื่อเป็นรายละเอียดประกอบในการนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยดิจิทัล หรือในการดำเนินการทางกฎหมาย

    4. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยดิจิทัล

    ในหลายกรณี เราอาจไม่สามารถรับมือหรือแก้ปัญหาการถูกคุกคามทางดิจิทัลด้วยตัวเองได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รูปแบบการคุกคามที่มีความซับซ้อน เช่น การถูกใช้โปรแกรมติดตามสอดแนมในอุปกรณ์ดิจิทัล การถูกแฮ็กข้อมูล หรือการถูกจู่โจมเว็บไซต์ (ddos attack) จึงจำเป็นต้องขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลในการแก้ปัญหา เช่นหน่วยงานอย่าง AccessNow และ iLaw

    5. ประเมิน-เยียวยาสภาพจิตใจตัวเอง / ปรึกษานักจิตวิทยา

    โดยทั่วไป ผู้ถูกคุกคามทางดิจิทัลย่อมเกิดความรู้สึกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด ความหวาดระแวง หรือร้ายแรงกว่านั้นอาจลุกลามไปเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต เพราะฉะนั้นผู้ถูกคุกคามจึงต้องสังเกตตัวเองว่ากำลังมีอารมณ์ความรู้สึกแบบใด มีอาการทางร่างกายใดๆ เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องหรือไม่ มีความรุนแรงขนาดไหน และตัวเองยังรับมือไหวหรือไม่ โดยในเบื้องต้น เราอาจหาวิธีจัดการเยียวยาจิตใจตัวเองหลังถูกคุกคาม เช่น พักการใช้โซเชียลไปสักระยะหนึ่ง ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด หรือพูดคุยระบายกับคนรอบตัว แต่หากรู้สึกว่าตนไม่สามารถรับมือด้วยตัวเองได้ ก็ควรเข้าขอคำปรึกษาหรือรับการบำบัดรักษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์     

      อย่างไรก็ตาม ปัญหาการคุกคามทางออนไลน์ไม่ควรเป็นเรื่องที่เหยื่อผู้โดนคุกคามแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่สังคมยังต้องร่วมหาทางแก้ปัญหานี้ที่ต้นเหตุ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมี โดยไม่ถูกคุกคาม เราจึงให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาการคุกคามทางออนไลน์ต่อนักกิจกรรมและบุคคลผู้แสดงออกทางการเมืองดังนี้

      1. มีนโยบายและแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากขึ้น

      ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘รัฐ’ คือองค์กรที่ควรมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยรัฐต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างจริงจัง อีกทั้งยังต้องมีการเพิ่มกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเดิมเพื่อเพิ่มหลักประกันในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนควบคู่กันไป ตัวอย่างหนึ่งคือการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชนเหมือนดังที่เป็นอยู่

      2. ตรวจสอบ-ลงโทษ-ยกเลิกการคุกคามที่กระทำโดยรัฐ

      ในหลายกรณีมีการพบหรือต้องสงสัยว่าหน่วยงานของรัฐเองที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการคุกคามทางดิจิทัลต่อประชาชน เช่น การทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอต่อประชาชนผู้เห็นต่างบนโซเชียลมีเดีย และการใช้สปายแวร์อย่างเพกาซัส (Pegasus) เพื่อสอดแนมโทรศัพท์มือถือของนักกิจกรรมการเมือง ดังนั้นรัฐจึงต้องยกเลิกการกระทำต่างๆ ที่เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเหล่านี้ ขณะเดียวกันแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐ ฝ่ายค้าน หรือหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างๆ ก็ต้องร่วมกันตรวจสอบและจับตารัฐในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น และเมื่อพบว่ามีการคุกคามที่กระทำหรือสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐ ก็ต้องมีการใช้กฎหมายหรือมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดจริงจัง

        3. มีบุคลากร-มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกคุกคาม

        สำหรับบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบจากการคุกคาม ไม่ว่าจะในด้านจิตใจหรือด้านใดก็แล้วแต่ รัฐควรมีมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างจริงจัง รวมไปถึงมีบุคลากรหรือหน่วยงานที่ผู้ตกเป็นเหยื่อจะสามารถเชื่อถือและพึ่งพิงได้ เช่น การมีบุคลากรด้านจิตวิทยา ที่ไม่เพียงแต่มีความรู้ความสามารถในการบำบัดเยียวยาจิตใจเหยื่อเท่านั้น แต่ยังต้องมีความเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่เหยื่อเผชิญ ที่ผ่านมา นักกิจกรรมจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางออนไลน์ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาที่ตนเข้ารับการปรึกษานั้นมีอคติต่อความคิดทางการเมืองของตน ทำให้ในที่สุดพวกเขาไม่อาจได้รับการบำบัดเยียวยาที่เหมาะสม

        4. แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องยกระดับความรับผิดชอบ

        บริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ในฐานะที่เป็นสื่อกลางของการคุกคามทางออนไลน์ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้ เช่น อาจต้องมีระบบตรวจจับข้อมูลข่าวสารเท็จ ข้อมูลสร้างความเกลียดชัง รวมไปถึงบัญชีผู้ใช้ที่จงใจปลอมแปลงตัวตน มีส่วนร่วมในขบวนการปั่นข้อมูลข่าวสาร หรือผลิตเนื้อหาโจมตีผู้อื่น โดยเป็นระบบที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว และสามารถกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกจากแพลตฟอร์มได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น


        ติดตามรายงานผลการศึกษาฉบับเต็มได้ เร็วๆ นี้


        ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการ Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE) และ The101.world

        MOST READ

        Social Issues

        9 Oct 2023

        เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

        ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

        เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

        9 Oct 2023

        Social Issues

        5 Jan 2023

        คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

        สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

        สมชาย ปรีชาศิลปกุล

        5 Jan 2023

        Social Issues

        27 Aug 2018

        เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

        วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

        กองบรรณาธิการ

        27 Aug 2018

        เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

        Privacy Preferences

        คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

        Allow All
        Manage Consent Preferences
        • Always Active

        Save