fbpx

“เป็น กกต. ต้องอย่าอ่อนไหว” คำแนะนำจากอดีต กกต. : โคทม อารียา

คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 500 รายชื่อ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานนับเดือนเรื่องทำงานล่าช้า

กระนั้น ก็ดูเหมือนว่าคำครหาของ กกต. ชุดนี้จะยังไม่หมดสิ้นเสียทีเดียวนัก เมื่อพินิจจากผลงานที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปัญหาการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน, การใช้บัตรเลือกตั้งแบบไม่ระบุรายชื่อพรรค ตลอดจนการรับคำร้อง ตรวจสอบผู้ลงสมัครเลือกตั้งกรณีต่างๆ รวมทั้งกรณีมีมติไม่รับคำร้องที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลถือหุ้น ITV แต่ยังพิจารณาตามมาตรา 151 ที่ลงสมัครทั้งที่รู้ว่าไม่มีคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติต้องห้าม ทั้งหมดนี้ยืนยันด้วยกระแส #กกตมีไว้ทำไม ในพุ่งถล่มทลายในทวิตเตอร์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

บทบาทของ กกต. นั้นสำคัญต่อการเลือกตั้งและโฉมหน้าทางการเมืองแน่ และโดยเฉพาะกับการเมืองที่แหลมคมเช่นในเวลานี้ คำถามคือ บทบาทหน้าที่ของ กกต. นับจากนี้ควรเป็นอย่างไร และข้อครหาต่างๆ นี้จะส่งผลต่อตัวองค์กรเอง รวมทั้งประชาธิปไตยในภาพใหญ่บ้างหรือไม่

101 สนทนากับ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และอดีต กกต. ปี 2540-2544 ถึงก้าวต่อไปที่ กกต. ควรเดิน ในโมงยามที่การเมืองไทยยังระอุเช่นนี้

หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานล่าช้า ล่าสุด กกต. เพิ่งประกาศรับรอง ส.ส. ครบทั้ง 500 คน ส่วนตัวมองว่าช้าไปไหม

ผมว่ามองได้สองทาง คือเขารู้ผลการนับคะแนนมาสองสัปดาห์ หากตัดสินใจจะประกาศรับรองผลก็ต้องประกาศได้แล้ว และอีกทาง คือถ้าจะทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นจึงเพิ่งมาประกาศ ผมว่าเขาอาจคิดว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนคัดค้านทั้ง 71 สำนวน แล้วก็อยากพิจารณาให้ทันครบทุกสำนวนในระยะเวลา 60 วัน เพราะถ้าทำทันแค่ครึ่งๆ กลางๆ หรือแค่ 50 สำนวนก็ไม่ยุติธรรม ดังนั้น กกต. เลยทำสิ่งที่ควรทำแต่แรกนั่นคือเมื่อตระหนักแล้วว่าทำไม่น่าทันเวลา เลยประกาศผลทั้ง 500 ที่นั่งแล้วจึงไปพิจารณาสำนวน สอบสวนต่อ

มองว่าเป็นผลจากการที่สังคมกดดันและวิพากษ์วิจารณ์ไหม

ไม่นะ ผมรู้สึกว่า กกต. ตระหนักเห็นภาระงานนี้และรู้ว่าไม่น่าทำงานทัน จึงประกาศรับรองผลแล้วค่อยทำงาน พิจารณาต่อ ผมว่า กกต. เองก็ตั้งใจทำงาน ยึดถือความยุติธรรมเป็นหลักและประเมินว่าไม่น่าทำงานได้ทันเวลา จึงต้องประกาศรับรองผล ทั้งหมดนี้ไม่น่าเกี่ยวกับแรงกดดันจากสังคมใดๆ

การประกาศรับรองผลตอนนี้ซึ่งหลายคนคิดว่าช้าพอสมควร ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองไหม

สมัยก่อน การมีทุจริต เขาก็ส่งขึ้นศาล ศาลก็พิจารณาจนกระทั่งครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร แล้วจึงจำหน่ายคดีเพราะตัดสินไปก็ไม่มีประโยชน์ จึงต้องมี กกต. เพื่อให้ทำงานกันได้เร็วๆ โดยที่ยังมีกระบวนการศาลอยู่ด้วย ฉะนั้น อะไรที่ชัดว่าผิด เขาก็ให้อำนาจ กกต.

กกต. ทำงานเร็วและควรจะทำงานเร็ว เพราะตอนนี้มีสื่อเต็มไปหมด ถ้ามีการทุจริตอะไรก็ว่ากันไปตามระเบียบ ดูตัวอย่างที่เขาเลือกตั้งกันในประเทศอื่นๆ ผมว่าเขาไม่ได้ชักช้าอะไรนะ เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็นับคะแนน คนชนะก็ขอบคุณประชาชน คนแพ้ก็ขอบคุณประชาชน แสดงความยินดีกับผู้ชนะแล้วไปดำเนินการต่างๆ หรือถ้าเป็นรัฐบาลผสมก็อาจจะช้า ต้องคุยกับหนักหน่อย แต่ผลการเลือกตั้งนี่ประกาศได้เลยนะ ไม่ได้ต้องมารีรออะไร และหากว่ามีการทุจริตจริงๆ ก็ยังมีกระบวนการอื่นรองรับ 

ตอนรุ่นผม เราขีดเส้นตายว่าถ้าคุณจะร้องเรียน ก็ร้องเรียนมาก่อนวันนั้นวันนี้ แล้วทุกสำนวนที่มาถึงก่อนเส้นตาย เราจะพิจารณาไต่สวนให้แล้วเสร็จ เราจะตั้งคณะไต่สวนกี่คณะก็ได้ ทำสำนวน แสดงความเห็น เถียงกันว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน มีหลักฐานพอว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันเลือกตั้งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม กกต. ชุดนี้ถูกวิจารณ์เยอะ อาจารย์มองยังไง

สไตล์การทำงานของแต่ละคนมาจากภูมิหลังนะ บางคนเป็นนักกฎหมาย เมื่อมาทำงานเป็น กกต. ก็ทำงานแบบนักกฎหมาย หรือเคยเป็นผู้พิพากษาก็เอาสำนวนมาอ่าน ไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์มาก ด้วยกลัวว่าจะเสียความเป็นกลางหรือเสียรู้นักการเมือง หรือกระทั่งว่าตัวเองอาจไม่ถนัดเองก็ได้ เลยระมัดระวังตัวมาก ขณะที่คนอื่นก็อาจเป็นอดีตข้าราชการ ก็มีลักษณะการบริหารแบบบนลงล่าง กางระเบียบเหมือนระบบราชการ

ลักษณะงานจริงๆ นั้น ตอนเริ่มคิดเลือก กกต. เราอยากให้ กกต. เป็นการผสมผสานระหว่างการทำงานด้วยใจ กับการทำงานตามระเบียบแบบแผนข้าราชการ ซึ่งคำว่าการทำงานด้วยใจคือเร่งผลสัมฤทธิ์ ภารกิจคือทำการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ใช่ให้เรียบร้อยอย่างเดียว

คือก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ก็เน้นการเลือกตั้งที่เรียบร้อย ไม่มีปัญหาขลุกขลักด้านการบริหารจัดการ แต่รัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยปี 2540 เขียนไว้ว่า คนที่ทำงาน กกต. ต้องสุจริต เที่ยงธรรม เป็นที่ประจักษ์ และต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมด้วย ดังนั้นความเรียบร้อยอย่างเดียวจึงเป็นเพียงหนึ่งในโจทย์ แต่ไม่ใช่โจทย์ทั้งหมด 

เมื่อภูมิหลังเป็นเช่นนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างที่เราเห็น และอีกอย่างหนึ่งคือ ผมว่ามีความเกรงใจกันด้วย คล้ายเป็นพื้นฐานของระบบราชการที่มีความเกรงใจผู้มีอำนาจในระบบ ก็ยังไม่สามารถออกไปจากระบบคิดทำนองนี้ได้

เท่ากับว่า อาจมีอำนาจอื่นที่ กกต. รู้สึกเกรงใจหรือเปล่า

พูดเช่นนั้นก็ไม่ได้ ผมดูจากพฤติกรรม จากภูมิหลังเขา จะไปก้าวล่วงว่ามีอิทธิพลครอบงำก็เกินการรับรู้ที่ผมมี

ผมว่าถ้าจะให้ดีกว่านี้ กกต. ต้องมั่นใจว่าตัวเองได้รับมอบหมายภารกิจ เป็นองค์กรอิสระ ก็ต้องอิสระจริงๆ เป็นองค์กรที่เที่ยงธรรม ก็ต้องเที่ยงธรรมจริงๆ อย่าไปอ่อนไหวต่อบางสิ่งบางอย่าง หรืออย่าไปกลัวการสื่อสารกับสังคม เพราะถ้าเราเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา สังคมสุจริตชนก็จะให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน การทำงานก็จะได้ผลตามเจตนารมณ์ของการมีกรรมการการเลือกตั้ง

คิดว่าการทำงานของ กกต. ชุดนี้มีประเด็นไหนทำงานได้ไม่ตรงเป้าที่สุด

ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 แล้วล่ะ ผู้ที่เป็นปรมาจารย์กฎหมายว่าอย่างไรนะ แล้ว กกต. ก็ว่าตามนั้น ทั้งที่ในทางคณิตศาสตร์แล้ว การคำนวณต่างๆ ของเขาประหลาดมาก ไม่สามารถอธิบายได้ แต่ก็ไม่อธิบาย ทำให้เกิดความแคลงใจ 

แต่อย่าให้ผมด่วนสรุปเลยว่าเขารับคำสั่งโดยตรงจากใคร ผมเข้าใจว่าคงไม่มี เพราะคนที่สั่งก็ต้องระวัง เหมือนถ้าวาทยกรส่งสัญญาณเพื่อประสานงานองค์กรในเครือทั้งหลายหรือ The powers that be เครือข่ายอำนาจที่อยู่ในอำนาจรัฐ เป็นรัฐซ้อนรัฐ เขาก็อาจฟังมากกว่าวิจารณญาณของตัวเองหรือเสียงจากสังคมด้วยซ้ำไป 

สิ่งนี้ส่งผลต่อระบบประชาธิปไตยในระยะยาวไหม

(หัวเราะ) นี่คือความย้อนแย้งแรงสุดเลย พอโกรธขึ้นมาก็บอกว่าพวกนี้เป็นประชาธิปไตยที่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตต่างๆ นานา แต่ความจริงไม่ใช่เลย ประชาธิปไตยต้องเชื่อมั่นในการตัดสินของประชาชน เอาหลักนี้เลย ไม่ต้องมาพูดเรื่องเสรีภาพเกินขอบเขตอะไรเลย มันมีกติกา แต่เลือกตั้งเสร็จแล้วมันกลับไม่จบ 

เหมือนคุณแข่งกีฬา ฝ่ายหนึ่งทำประตูนำชัย คุณบอกว่าไม่ใช่ ฝ่ายที่ทำประตูได้ชัยชนะมันเล่นตุกติกต่างๆ ตอนนั้นล้ำหน้า กรรมการไม่ได้เป่า อะไรก็ว่ากันไป นี่แหละคือการไม่มีจิตใจทำตามกติกา ซึ่งคือการมีน้ำใจนักกีฬา แข่งขันกันตรงไปตรงมา ไม่เอาเปรียบ สู้กันซึ่งหน้าอย่าลับหลัง ประชาธิปไตยคือการฟังเสียงประชาชน เคารพเสียง และรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

ถ้าเทียบว่าการเลือกตั้งเป็นกีฬานัดหนึ่งแล้ว กกต. เป็นกรรมการ มองว่ากรรมการชุดนี้เป็นอย่างไร

แปลกมาก (ตอบเร็ว) ตอนเรื่องมาตรา 151 นี่ผมว่าแปลกมาก เพราะเหมือนอ้างเหตุผลมาเฉยๆ ว่าได้ข้อมูลจากคำร้องที่ตัวเองตีตก แล้วก็ไม่มีความเร่งด่วนของการยกมาตรานี้ขึ้นมาเลย และกรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ก็เคยยกมาตรานี้มาแล้ว อัยการสูงสุดก็บอกว่าไม่ฟ้อง ทำให้เกิดความสงสัยไปเรื่อยๆ และนำมาสู่ความไม่เลื่อมใสสำหรับบางคน 

แต่ผมยังให้ประโยชน์แก่ กกต. ชุดนี้อยู่ อย่าไปทับถมกันมาก แต่ถึงอย่างไรเขาก็ต้องกู้ชื่อ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น สร้างความเลื่อมใสไม่ได้ก็ยิ่งเสื่อม และถ้าจะกู้ชื่อ ก็ให้อธิบายอย่างตรงไปตรงมาเถอะ

ทั้งนี้ การอ้างว่าผู้สมัครรู้ แล้วยังสมัคร เขาสมัครมาตั้งแต่ปี 2562 เป็น ส.ส. มาแล้วสี่ปี รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ เพราะบริษัทที่บอกว่าเป็นสื่อก็ปิดกิจการสื่อไปตั้งแต่ปี 2550 นี่คือปิดไป 16 ปีแล้วนะ ฉะนั้น คุณพิธาจึงรู้ชัดเจนว่าตัวเองถือหุ้นของบริษัทที่เลิกผลิตสื่อ เขาจึงไม่ได้ถือหุ้นสื่อ แต่การร้องนี้ก็กลับไปอ้างตัวอักษรว่า ในวัตถุประสงค์ของบริษัทเขายังเขียนว่าสื่อ ทั้งที่ศาลต่างๆ ก็วินิจฉัยแล้วว่าจะดูแต่เฉพาะตัวอักษรที่เขียนในวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่ได้ ต้องดูทางปฏิบัติจริงด้วยว่า เขาทำหรือเปล่า ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่สื่ออยู่แล้ว 

คุณไปถามชาวบ้านก็ได้ว่ารู้ไหมว่า ITV เป็นสื่อ เขาจะได้ถามสิว่าสื่อที่ไหน หรือถ้าจะอ้างว่าเขาอาจทำโฆษณา โฆษณาเรื่องอะไรกัน เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือเปล่า ทำให้การเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรมหรือไม่

ดังนั้นถ้าจะทำให้ตรงไปตรงมา ก็ไต่สวนอย่างตรงไปตรงมา เพราะนี่ยังอยู่ในอำนาจ กกต. นะ เขายังไม่วินิจฉัยนะ ผมก็ยังฝากความหวังอยู่ เราต้องเชื่อในทางที่ดีไว้ก่อนว่าหลังจากฟังความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายแล้ว เขาจะสามารถนำเรื่องนี้ไปไตร่ตรองได้ อย่าฟังแต่ความคิดเห็นชี้นำของบุคคลใหญ่ทางนิติศาสตร์ที่เขาเชื่อถืออย่างเดียว

บุคคลใหญ่ทางนิติศาสตร์ชี้นำ กกต. ได้หรือ

คุณดูตัวอย่างทางสื่อสิ คนใหญ่คนโตทางนิติศาสตร์ก็ออกมาเป็นระยะๆ นะ 

หลังรัฐประหารปี 2557 เรามี กกต. ด้วยกันสองชุด อยากให้ลองเทียบเคียงการทำงานหน่อย

ผมตอบไม่ได้หรอก เพราะต้องลงรายละเอียดและเทียบกัน เหมือนให้ผมไปสอนหนังสือให้ให้ดูว่านิสิตสองคนนี้ คนไหนจะได้เกรดดีกว่าคนไหน เป็นรายละเอียดซึ่งผมไม่ได้ติดใจ ไม่ได้สืบค้นอะไร

ให้คะแนนเท่ากัน (หัวเราะ)

มองกลับไป กกต. จากรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากภาคประชาสังคมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชุดหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจาก สนช. คิดว่าส่งผลให้มีความแตกต่างอะไรไหม

ตอนนั้นเราเพิ่งเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาเป็นชุดเดิมที่แต่งตั้งโดยคุณบรรหาร ศิลปอาชา (อดีตนายกรัฐมนตรี) แล้วหลังจากนั้นในปี 2542 ก็มีการเลือกตั้ง

กกต. มาจากการสรรหาและผ่านการรับรองโดย ส.ว. ดังนั้น กระบวนการแรกคือการสรรหา และผมเรียกการสรรหานั้นว่าเป็นระบบเกาหลัง คุณเกาหลังผมทีหนึ่ง แล้วผลัดกัน ผมเกาให้คุณ คืออยู่ในแวดวงเดียวกัน กรรมการสรรหาก็คล้ายๆ กัน องค์ประกอบก็คล้ายๆ กัน ความคิดเห็นก็คล้ายๆ กัน ผลจากการสรรหาก็ยังมีการกลั่นกรอง แต่ถ้ากรรมการสรรหามีชุดความคิดแบบนี้ และผู้กลั่นกรองขั้นสุดท้ายคือ ส.ว. มีชุดความคิดเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็จะได้มาซึ่งบุคคลที่มีชุดความคิดเดียวกัน ทั้งการสรรหาและการกลั่นกรองโดย ส.ว. ก็ไม่น่าประหลาดใจเมื่อมองจากที่มาและเหตุปัจจัยต่างๆ

ยุคก่อนหน้า กกต. มีอำนาจในการแจกใบเหลืองและใบแดงให้ผู้สมัครด้วย ขณะที่หลังๆ เริ่มมีใบส้มต่างๆ เห็นพลวัตทางอำนาจของ กกต. ไหม

ยุคนี้ให้อำนาจ กกต. เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ผมก็ยังไม่เห็นมีผลมากนัก มีใบตั้งหลายใบ แจกไปแล้วเด้งกลับก็มี

สมัยผม ใบแดงเป็นอำนาจของ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยตัดสิทธิผู้สมัคร เพราะผู้สมัครคนนั้นต้องสงสัยด้วยตัวเอง สมมติ ต้องสงสัยว่าเป็นคนแจกเงินด้วยตัวเอง หลักฐานมาถึงตัว แต่ถ้าคนอื่น ไม่ว่าจะหัวคะแนนหรือคนที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกันแต่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เราก็ยังให้โอกาสผู้สมัครลงสมัครอีกจากการเลือกตั้งใหม่ นี่จบแล้ว และถ้าจบตรงนี้ ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมอะไรก็ให้เป็นเรื่องของศาล

เวลานี้อำนาจของ กกต. มีมากขึ้น ยังมีการแจกใบส้มด้วย แต่สมัยผมยังไม่มี

มองอำนาจของ กกต. ที่เพิ่มขึ้นอย่างไร

เขาตั้งใจจะให้ กกต. เป็นเสมือนเปาบุ้นจิ้นเลยล่ะ เที่ยงธรรมที่สุด แต่ปุถุชนน่ะคุณ อำนาจมากขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างมีประสิทธิพล ตรงตามเจตนารมณ์ได้ดี มันไม่ใช่เรื่องของอำนาจแต่เป็นเรื่องการเมืองที่ซับซ้อน มีคนที่เชื่อว่าเขียนกฎหมายแล้วจะมีผลเลย เขียนรัฐธรรมนูญมาแล้วก็ต้องปราบโกงได้สิ เช่น ยาเสพติดเลวร้ายมาก ก็ต้องเพิ่มโทษสิ แล้วมันจะหมดไปในไม่ช้า เป็นต้น คุณต้องเอาปัจจัยสังคมวิทยามาดูด้วย สังคมวิทยาเป็นพฤติกรรมของสังคม ซึ่งกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่นักกฎหมายก็ทำอิหลักอิเหลื่อมาก เพราะไปคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์กายสิทธิ์ เนรมิตทุกอย่างได้ด้วยการเขียน ถึงที่สุดการใช้กฎหมายก็ลักลั่น ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเท่าที่ควร 

มีคนวิจารณ์ว่า ถ้า กกต. ยึดมั่นเรื่องระเบียบการสมัครเป็นผู้แทนฯ จริงๆ ทำไมไม่เคยตัดสิทธิผู้สมัครที่มาจากการรัฐประหารเลย มองเรื่องนี้ยังไง

กกต. ทำไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนอย่างนั้น เขาให้ตัดสิทธิ์คนที่ไม่มีคุณสมบัติกับมีลักษณะต้องห้าม และอย่าลืมว่าพวกนี้ถูกปกป้องโดยนักกฎหมายทั้งหลาย คล้อยตามกันไปเรื่อยบอกว่าเป็นรัฐประหารที่ชอบธรรมบ้างอะไรบ้าง 

พวกนี้หมายถึงใคร

ฝ่ายตุลาการทั้งหมด 

จำได้ว่าสมัยคุณอุทัย พิมพ์ใจชน (อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์) กับเพื่อนไปฟ้องศาล บอกว่ารัฐประหารผิด ผลเป็นยังไงล่ะ คนฟ้องศาลติดคุก คุณอุทัยถูกจับติดคุกเพราะไปบอกว่าการรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ชอบธรรม แต่ก็มีคนบอกว่า เมื่อรัฐประหารนั้นสำเร็จแล้ว คนก่อรัฐประหารเป็นใหญ่ อีกทั้งคนพวกนี้ก็ฉลาด มีนักกฎหมายคุ้มครอง เขียนนิรโทษกรรมตัวเองไปสิ เขียนถ้อยคำให้มันครอบคลุมว่าฉันไม่มีโทษ 

เมื่อไหร่ที่สังคมเปลี่ยนจิตสำนึกทางการเมือง ไม่ยอมรับการได้มาซึ่งอำนาจแบบนี้ ไม่ยอมรับการฉ้อฉลใดๆ ที่จะแย่งชิงอำนาจไปจากประชาชนซึ่งแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง มันก็จบ ถ้าคุณจบที่เลือกตั้งก็เดินหน้าไปได้ 

ถ้าอาจารย์เป็น กกต. ชุดนี้ จะทำงานอย่างไร

ผมก็จะทำงานเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม คงต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินเลย แต่ถ้าว่ากันเป็นเรื่องๆ ถ้าผมเป็น กกต. ผมจะบอกว่า คำร้องที่เกี่ยวกับ ITV นั้นขอให้ตกไปทั้งหมด 

ผมว่า กกต. ชุดนี้ก็จัดการเลือกตั้งเรียบร้อย นับคะแนนก็ค่อนข้างเรียบร้อย ให้มีการนับคะแนนใหม่ด้วย ประชาชนอย่างผมก็พยายามตามข่าว ทำความเข้าใจ แต่ความเข้าใจก็ยังไม่ชัด

ถ้าให้แนะนำ ผมจะสื่อสาร อธิบายให้สังคมเข้าใจมากขึ้นว่าที่ กกต. ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีเหตุผลรองรับเช่นนี้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเลือกตั้ง หรือเพื่อนำไปสู่ความมั่นใจในการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ กกต. เขายังไม่สื่อสาร หรืออาจรอสื่อสารทีหลังก็ไม่ทราบได้

อย่างล่าสุดมีเรื่องการเปลี่ยนสโลแกน ตัดคำว่าโปร่งใสแล้วเพิ่มคำว่าชอบด้วยกฎหมาย ส่วนตัวแล้วให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน

เหมือนคำถามว่า คุณจะต้องเลือกระหว่างสองอย่างซึ่งผมชอบ ผมชอบทั้งสองเพราะมันไปด้วยกันได้ สมัยผมไม่มีสโลแกนอะไร ขอให้ทำตามสโลแกนของตัวเองก็พอ เอาสองข้อแรกก่อนก็ได้ (หัวเราะ) แล้วจะไปเติมข้ออื่นๆ ก็อนุโมทนา

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save