fbpx

ถอดปรากฏการณ์เฝ้าคูหา จับตาเลือกตั้ง’66 ในวันที่ความเชื่อมั่น กกต. อยู่ปากเหว กับ อานนท์ ชวาลาวัณย์

การเลือกตั้งใหญ่ 2566 ผ่านพ้นไปพร้อมกับชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย พร้อมกับสถิติผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 75.22% แม้จะต้องจับตาดูการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนว่าประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงและต้องการออกจากหลุมดำอันเป็นผลพวงของการทำรัฐประหาร

ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ก้าวไกลที่เป็นเรื่องไม่คาดฝันของสังคมไทย แต่ภาพที่ประชาชนไทยหลายหมื่นคนทั่วประเทศ รวมพลังรวมใจหยิบโทรศัพท์ไปเฝ้าคูหาจนดึกดื่นเพื่อเก็บภาพและช่วยทักท้วงขณะกรรมการประจำหน่วย (กปน.) นับคะแนน ก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของ กกต. และสะท้อนถึงความกังวลว่าเสียงประชาชนจะส่งไม่ถึงปลายทาง

สถานการณ์การนับคะแนนในปี 2562 ที่ผลคะแนนพลิกไปมาชั่วโมงต่อชั่วโมง และยังเกิดปัญหา ‘บัตรเขย่ง’ ที่จำนวนขั้วบัตรไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งในหีบในหลายหน่วยเลือกตั้ง ได้สร้างความเคลือบแคลงใจต่อผลคะแนนที่ กกต. ประกาศอย่างเป็นทางการ ปัญหาที่พบในการเลือกตั้งครั้งนั้นจึงสร้างความไม่ไว้วางใจ (trust issues) ต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนับคะแนนเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากเมื่อต้นปี กกต. ออกมาบอกว่าอาจจะไม่มีการรายงานผลแบบออนไลน์เนื่องจากงบในการทำระบบแพงเกินไป หนทางขจัดความไม่วางใจของประชาชนเลยไม่ง้อ กกต. นำโดยภาคประชาสังคมที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างระบบรายงานผลคู่ขนาน เพื่อให้มีหลักฐานเทียบกับคะแนนของ กกต. และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใส สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน

Vote62 เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจับตาการทำงานของ กกต. โดยเปิดรับอาสาสมัครร่วมจับตาการนับคะแนนและส่งรูปคะแนนดิบ ‘รายหน่วย’ เพื่อช่วยกันกรอกในระบบรายงานผล ทีม Vote 62 เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน Rocket Media Lab องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน และ Opendream บริษัทที่ให้บริการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อแก้ปัญหาสังคม

ปัญหาหน้าหน่วยในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เช่น กปน. เขียนเลขหน้าซองผิด ไม่กรอกรายละเอียดหน้าซอง หรือลืมเขียนรหัสเขต และความผิดปกติของรายชื่อผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในบางหน่วย ทำให้บรรยากาศความไม่วางใจเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วหวนกลับมา จำนวนอาสาสมัครที่ลงทะเบียนกับ Vote62 เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 คนในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งใหญ่ พร้อมๆ กับความร้อนแรงบนโลกออนไลน์ที่มีการถกเถียง เรียกร้องความรับผิดชอบจาก กกต. ผ่านแฮชแท็ก #กกตต้องติดคุก #กกตมีไว้ทำไม เมื่อวันเลือกตั้งใหญ่มาถึง เราจึงได้เห็นภาพประชาชนจำนวนมากแพ็กกระเป๋า เฝ้าคูหา จับตาการนับคะแนน เพื่อปกป้องเสียงตัวเองให้ถึงที่สุด

หลังผ่านพ้นคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ประชาชนคนไทยรอลุ้นผลเลือกตั้งจนหลับไม่ลง และมีหลายคนยังอยู่ที่คูหาจนกว่าจะนับคะแนนเสร็จเรียบร้อย 101 สนทนากับ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้จัดการโครงการ iLaw ประมวลบรรยากาศการจับตาการเลือกตั้ง’66 โดยภาคประชาชน เปิดข้อร้องเรียนที่ถูกส่งเข้ามา ถอดปรากฏการณ์ที่ประชาชนออกมาร่วมกันจับตาการนับคะแนนว่าสะท้อนอะไรต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะการทำงานของ กกต. และเรื่องใดบ้างที่ต้องจับตาดูต่อไป

อานนท์ ชวาลาวัณย์

มองการตื่นตัวของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562

ผมมองว่าประชาชนตื่นตัวกว่าปี 2562 อย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่ของการออกมาใช้สิทธิและการออกมาร่วมจับตาการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 เรามีอาสาร่วมจับตาที่ช่วยส่งภาพถ่ายมาประมาณ 3,000 คน ครั้งนั้นขนาดของกิจกรรมก็ไม่ได้ใหญ่เหมือนปีนี้ มีทีมหลังบ้านอยู่ไม่กี่คน แต่ปีนี้ทำไปทำมามีผู้ส่งผลจากหน่วยเลือกตั้งมามากกว่า 30,000 คน เพิ่มมา 10 เท่าเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหนึ่งหน่วยอาจจะมีหลายคนส่ง และหนึ่งคนส่งอาจมีหลายหน่วย

ความคึกคักของปีนี้ที่น่าสนใจคือในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง จำนวนอาสาจะอยู่ที่หมื่นกว่าคน แต่พอวันเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหามากมายเกิดขึ้น ยอดอาสาสมัครที่ลงทะเบียนเข้ามาก็เพิ่มขึ้นทะลุ 30,000 คนในสัปดาห์สุดท้าย ในจำนวนนี้ยังไม่รวมประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ลงทะเบียนแต่ส่งรูปมาหลังบ้าน หรือคนที่ไม่ได้ส่งรูปมาหลังบ้านแต่มาเฝ้าหน้าหน่วยและช่วยทักท้วงเจ้าหน้าที่

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า พอเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งล่วงหน้าทำให้ประชาชนไม่ใช่แค่ไปเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบแล้วกลับบ้าน แต่เขาไม่แน่ใจว่าเสียงที่เขาโหวตไปมันจะไปถึงหรือเปล่า ก็เลยไปเฝ้าที่หน้าคูหากันเยอะ หลายๆ คนที่อาจจะได้รับข้อมูลจาก iLaw หรือหน่วยงานอื่น ก็ไปยืนเถียงกับ กปน. เลยว่าระเบียบตามที่เขารับรู้มันเป็นแบบนี้นะ คุณต้องแก้ไขให้ถูกนะ ผมมองว่าเป็นการทักท้วงที่มีคุณภาพ รู้ว่ากติกาเป็นอย่างไร ไม่ใช่สักแต่จะท้วง

ที่น่าประทับใจ คือหลายๆ กรณีที่ประชาชนผู้สังเกตุการณ์รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เขาไม่ได้ร้องเรียนหรือถ่ายลงโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่เขียนแบบฟอร์ม ส.ส. 5/10 (แบบทักท้วงเจ้าหน้าที่กรณีนับผิดแล้วไม่แก้ไข) สะท้อนว่าเขาทักท้วงเป็นเรื่องเป็นราวนะ การทำแบบนี้ทำให้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีข้อทักท้วงของประชาชน ถ้าเป็นไปได้ หาก กกต. มีการเปิดเผยว่ามีการยื่นแบบฟอร์มทักท้วง ส.ส. 5/10 กี่กรณี เป็นกรณีใดบ้าง ก็น่าจะเกิดประโยชน์กับ กกต.ในการนำไปสรุปผลและถอดบทเรียน เพื่อนำไปอุดช่องว่างการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแสดงถึงความโปร่งใสของ กกต. ด้วย

วันจันทร์ที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งและเปิดเผยว่า ณ เวลานั้นได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 168 เรื่อง น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีมากกว่า 500 คำร้อง การเลือกตั้งในปีนี้จึงถือว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเข้าใจกฎระเบียบมากขึ้น ทางฝั่ง iLaw ได้รับเรื่องร้องเรียนมามากแค่ไหน เยอะกว่า กกต. หรือไม่

คำร้องมีมาจากหลายช่องทางมากๆ กรณีที่โทรมาก็อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบหมด ข้อมูลที่บันทึกไว้ระหว่างวันที่ 14 ตั้งแต่เวลาเปิดหีบถึง 18.49 น. มีผู้รายงานเข้ามา 375 กรณี ในจำนวนนี้อาจจะมีกรณีซ้ำ หรือสองคนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ประมาณการได้ว่ามากกว่า 168 เคสของ กกต. แน่ๆ

บางกรณีที่รายงานเข้ามาจะเป็นกรณียิบย่อย เช่น การถ่ายภาพ ซึ่งประเด็นนี้น่าตั้งคำถามถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ว่าแต่ละหน่วยรับรู้เรื่องการถ่ายภาพไม่เท่ากันหรือเปล่า เช่น กรณีที่อาสาขอถ่ายรูปใบ ส.ส. 5/11 ซึ่งเป็นใบรายงานผลคะแนน เจ้าหน้าที่หลายหน่วยช่วยเลื่อนมาให้ถ่าย แต่ก็มีบางหน่วยที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็อาจจะไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร นี่สะท้อนว่าแม้แต่เรื่องถ่ายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ก็ไม่เท่ากันแล้ว

มีกรณีที่ผมรับเรื่องด้วยตัวเอง ผู้ร้องเรียนไปคูหาพร้อมกับแม่ เขาก็ยืนอยู่นอกเส้นกั้นเพื่อจะถ่ายรูปแม่ แต่เจ้าหน้าที่มาบอกว่าห้ามถ่ายรูป ซึ่งความจริงมันทำได้ เพราะข้อห้ามหลักคือ 1. ห้ามเข้าไปในเขตคูหาถ้าไม่ได้ใช้สิทธิ 2. ห้ามถ่ายรูปบัตรที่ลงคะแนนแล้ว 3. การถ่ายรูปที่กีดขวางการทำงานเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขเหล่านี้ย่อมถ่ายได้

แล้วก็มีกรณีที่บอกว่าห้ามถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงาน อันนี้ไม่ค่อยเมกเซนส์มากๆ เพราะในระหว่างที่คุณทำงานซึ่งเป็นภารกิจสาธารณะ ยิ่งเป็นการเลือกตั้ง ยิ่งควรตรวจสอบได้ การถ่ายภาพยิ่งควรทำได้

ช่วยลงรายละเอียดหน่อยได้ไหมว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประเด็นใดถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด

ข้อมูลจาก Vote62 สรุปว่ามีผู้แจ้งปัญหาเข้ามาทั้งหมด 1,075 กรณี จาก 74 จังหวัด ปัญหาที่พบมากที่สุดคือปัญหาการนับคะแนน ถ้าย่อยออกมาดูจะพบว่าการรวมคะแนนผิด ขีดคะแนนผิดพบมากเป็นลำดับแรกๆ อันนี้เป็นข้อผิดพลาดหน้างานที่พอเข้าใจได้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ กปน. ก็ทำหน้าที่มาทั้งวัน มีเหนื่อย มีเบลอกันบ้าง เมื่อมีคนทักท้วงและกรรมการแก้ไขก็ไม่ถือว่าเสียหายอะไร แต่ในรายงานพบว่ามี 178 รายที่ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ไม่รับฟังและไม่ดำเนินการใดๆ เมื่อมีการทักท้วง

ปัญหาอื่นที่พบมากลำดับถัดๆ มา เช่นไม่ให้ถ่ายภาพหรือวิดีโอกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้ว หรือห้ามถ่ายระหว่างนับคะแนน แล้วก็มีการขานเบอร์ผิด ขานบัตรดีว่าเสีย-ขานบัตรเสียว่าดี สถานที่นับคะแนนมืดไป

ถ้าปัญหานับคะแนนเป็นเรื่องเข้าใจได้ แล้วความผิดพลาดแบบใดที่เข้าใจไม่ได้เลยและไม่ควรเกิดขึ้น

อย่างแรกเรื่องสีปากกา มีกรณีที่ผู้ใช้สิทธิกาด้วยปากกาสีอื่นที่ไม่ใช่สีน้ำเงิน แล้ว กปน. ขานเป็นบัตรเสีย ซึ่งตามระเบียบ กกต. ไม่ได้ระบุเรื่องสีปากกา ฉะนั้นจะใช้สีไหนก็ได้ อาสาก็มีการเข้าไปแย้ง ทำให้แก้ไขทัน แต่อาสาไม่ได้มีอยู่ทุกหน่วย เราเลยไม่ทราบว่ามีบัตรเสียเพราะสีปากกามากแค่ไหน

จริงๆ ปัญหาที่แจ้งเข้ามาเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่พอมาประกอบกันแล้วเราก็อยากจะตั้งคำถามถึงการอบรม กปน. ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ มันไม่มีมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า? ซึ่งปัญหาแบบนี้ ถ้าจะมอง กปน. ในฐานะมนุษย์หนึ่งคนก็มี human error ได้ แต่ กกต. ในฐานะหน่วยงานจัดอบรมคุณจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะคุณมีเวลา 4 ปีในการวางแผนเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้งว่าจะจัดอบรมอย่างไร เข้มข้นพอไหม มันจะมีเหตุการณ์แปลกๆ ที่เราเห็นในทวิตเตอร์ เช่น ขีดกากบาทเลยช่องมานิดหนึ่งก็นับว่าเป็นบัตรเสีย มันชวนให้ตั้งคำถามมากๆ

เรื่องที่รับไม่ได้และไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือปัญหาการกรอกรหัสเขตบนซองบัตรเลือกตั้งในวันเลือกตั้งล่วงหน้า ทำไมบนซองไม่ระบุไปเลยว่าช่องนี้เป็นรหัสเขตเลือกตั้ง? ป้องกันปัญหาได้ตั้งแต่ต้นถ้าพิมพ์ไปบนซองเลยว่า ‘รหัสเขตเลือกตั้ง’ พอมี 5 ตัวคนก็เข้าใจว่าเป็นรหัสไปรษณีย์ พอใส่ผิดแล้วจะนำไปสู่ปัญหาบัตรเขย่ง การส่งผิดเขต สุดท้ายบัตรที่คนตั้งใจจะโหวตให้พรรคการเมืองหนึ่งอาจจะกลายไปเป็นคะแนนของพรรคที่เขายี้มากในเขตอื่น ความผิดพลาดแบบนี้นำไปสู่การบิดเบือนเจตนารมณ์ผู้ลงคะแนนเลยนะ ฉะนั้นคุณแก้ได้โดยเริ่มที่การพิมพ์บนซองและต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้เข้มขึ้นเรื่องเลขเขต

หน้าที่ของ กกต. คือต้องหาโมเดลมาว่าทำยังไงจะไม่ส่งบัตรผิดเขต สุดท้ายอาจจะมีข้อผิดพลาดแหละ แต่คุณได้ทบทวนไหม ออกมาแถลงหรือเปล่าว่าในอนาคตจะทำแบบไหน ถ้าคุณแถลงแล้วสุดท้ายมีเหตุสุดวิสัย ผมเชื่อว่าสังคมพร้อมรับฟัง เพราะคงไม่มีใครที่ทำงานแล้วไม่มีผิดพลาดเลย เพียงแต่ว่าคุณยอมรับไหม ชี้แจงไหม และปรับปรุงไหม ถ้ามีสามสิ่งนี้ผมว่ากกต. จะเรียกคืนความไว้วางใจจากประชาชนได้ ข้อผิดพลาดไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่การไม่ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นต่างหากที่ยอมรับไม่ได้ และความไว้ใจจะไม่กลับมา

แล้วในระยะเวลา 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนจะมานับพร้อมกันในวันที่ 14 เราเห็นความพยายามจัดการปัญหาของ กกต. อย่างไร

กกต. ก็แถลงแค่ว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าถูกจำแนกและมีการส่งไปยังเขตแล้ว เราทราบแค่นั้นและเราไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร สมมติว่าผู้ใช้สิทธิอยู่เขต 1 กปน. กรอกชื่อเขตหน้าซองเป็นเขต 1 แต่กรอกรหัสเขตเป็น 02 กกต. มาแจงว่าเขา cross check และจะยึดรหัสเขตเป็นหลัก บัตรเลือกตั้งใบนี้ก็จะส่งไปผิดเขต ยังมีกรณีที่หน้าซองเขียนทั้งเลขเขตและรหัสเขตตรงกันแต่ไม่ใช่เขตเลือกตั้งของตัวผู้ใช้สิทธิ โดยที่ผู้ใช้สิทธิเองไม่ทันสังเกต เลยน่าตั้งคำถามว่าแล้วจะจำแนกอย่างไรว่าอยู่เขตไหนกันแน่ ถ้า กกต. ชี้แจงได้ชัดเจนว่าการแก้ไขและจัดส่งเป็นอย่างไร ประชาชนก็พอจะเข้าใจได้

ดูเหมือนว่าพอคนเจอความไม่ชอบมาพากลในหน่วยเลือกตั้ง แต่เลือกจะแจ้งภาคประชาชนอย่าง iLaw มากกว่า กกต. สิ่งนี้สะท้อนถึงความไม่เชื่อใจหรือเปล่า

เป็นไปได้ แต่ไม่ฟันธง เพราะอาจจะมีคนโทรไปสายด่วน กกต. (1444) แล้วสายไม่ว่างเลยก็เลยโทรมาแจ้งเรา หรือไม่รู้ว่าติดต่อ กกต. ทางไหน บางกรณีอาจจะมองว่าติดต่อเราง่ายกว่า มีความเป็นไปได้มากมาย

แต่ถ้าไปจับสัญญาณจากคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดีย ก็จะพบว่าความไม่พอใจและไม่ไว้ใจมีอยู่ มากแค่ไหนตอบไม่ได้ แต่มีแน่นอน ดูอย่างวันเลือกตั้งล่วงหน้า แฮชแท็ก เช่น กกต.มีไว้ทำไม หรือ กกต.ต้องติดคุก ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ไปเลย สะท้อนว่าความไม่พอใจปะทุขึ้นแล้ว

แล้วในทางกฎหมาย กกต. ติดคุกได้ไหม

เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย กกต. มีกฎหมายคุ้มครองอยู่อีก ถ้าฝ่ายเราไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากพอว่าคุณทุจริต ยังไงก็ยาก แต่อย่างน้อยผมว่านี่คือการส่งสัญญาณถึง กกต. ว่าประชาชนไม่ไว้ใจคุณนะ

ปรากฏการณ์ที่คนไม่ยอมกลับบ้าน เฝ้าหน้าคูหาจนดึกดื่นก็สะท้อนได้เหมือนกัน ถ้าเขาเชื่อใจ กกต. คงกลับไปนอนดูโทรทัศน์อยู่บ้านแล้ว มีกรณีของน้องคนหนึ่งโทรมาแจ้งว่าหน่วยเขาไม่ให้ถ่ายรูป พอไปแจ้ง กปน. แล้วก็ได้คำตอบที่เขาไม่พอใจมากๆ น้องก็ยอมเสียเวลาเขียนคำร้องแล้วยื่น แทนที่จะกลับบ้าน มันสะท้อนว่าคนไม่พอใจขนาดนี้แล้วนะถึงยอมเสียเวลาสู้กับ กกต. – กปน.

ไม่นับรวมประเด็นว่าใครแต่งตั้งมา ทั้ง กกต. รวมถึง ส.ว. ด้วย แม้จะพยายามเลี่ยงประเด็นนี้แต่คุณขว้างงูไม่พ้นคอหรอก เพราะที่มาของคุณมันทนโท่ หน้าที่ของคุณคือพิสูจน์ให้เห็นสิว่าต่อให้กลุ่มอำนาจนั้นแต่งตั้งคุณขึ้นมา แต่เมื่อคุณมาแล้วก็ทำหน้าที่ไปตามจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะคุณปฏิเสธที่มาของคุณไม่ได้ และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันถ้าคนจะตั้งคำถามถึงที่มาของคุณ ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง

ชาวเน็ตมีการถกเถียงกันว่าควรมีการนำเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เช่น เครื่องลงคะแนนในบราซิล ที่กดเลขแล้วจะขึ้นชื่อ-พรรค-ภาพ จากนั้นคะแนนจะถูกส่งตรงไปส่วนกลางเพื่อนับ โดยแต่ละเครื่องสามารถพิมพ์เป็นกระดาษสรุปผลได้ว่าแต่ละผู้สมัครได้กี่คะแนน หลายคนมองว่าระบบแบบนี้จะป้องกันการกาผิดเบอร์ กาเลยช่อง แล้วก็ป้องกันการทุจริตที่หลายคนกังวลเรื่องการสับเปลี่ยนหีบบัตรหรือไฟดับตอนนับคะแนน ซึ่งคนไทยมี trust issues กับเรื่องพวกนี้มากๆ คุณมองว่าถ้าไทยนำระบบลักษณะนี้มาใช้ ประชาชนจะเชื่อใจ กกต. ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ไหม

ผมคิดว่าจะเป็นกากบาทหรือกดก็ไม่สำคัญ เพราะเราเห็นแล้วว่าวันสุดท้ายเว็บล่ม สมมติคุณกดโหวตแล้วเว็บล่ม เสียงคุณไปไม่ถึงนี่หนักเลยนะ เพราะฉะนั้นจะเป็นเครื่องมือใดก็แล้วแต่ สุดท้ายอยู่ที่ระบบโครงสร้าง นโยบาย และทิศทางการทำงานของผู้บริหาร ถ้าทุกอย่างชัดเจนตั้งแต่ตรงนั้น จะกากบาทหรือใช้เทคโนโลยีเราก็จะมั่นใจ ปัจจุบันที่เราไม่มั่นใจกันนี่ไม่ใช่ว่ากาแล้วเป็นบัตรล่องหนนะ แต่เราไม่มั่นใจการจัดการ แม้จะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าการบริหารจัดการยังเป็นลักษณะเดิม ความเคลือบแคลงก็ยังมีอยู่ดี แล้วพอเขาไม่เชื่อใจเราจะรู้ได้ไงว่ากดแล้วมันจะไปเข้าเบอร์ที่เราเลือกจริงๆ พอเครื่องมือยิ่งซับซ้อนเรายิ่งตรวจสอบไม่ได้

ระบบปัจจุบัน มีการขานบัตร เรายังเห็นได้ ไปทักท้วงได้ แต่ถ้ากดแล้วส่งไปเลยเราจะรู้ได้ยังไง เราแกะคอมพิวเตอร์มาไม่ได้ เรากดเบอร์ 1 แล้วมันวิ่งไปตลอดทางหรือเปล่า หรือไปโผล่เป็นเบอร์อื่น ถ้าความเชื่อใจในระดับองค์กรไม่มี เทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งอันตรายเพราะเรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเครื่องมือสำคัญ แต่ถ้าความเชื่อใจต่อผู้บริหารหรือต่อนโยบายองค์กรไม่มี จะเปลี่ยนเครื่องมือยังไงก็ยังอยู่ในวังวนเดิม

การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. มีงบเกือบ 6,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จริงๆ ถ้าย้อนดูสถิติตั้งแต่ปี 2544 ก็เพิ่มขึ้นแทบทุกครั้ง ถ้าให้ประเมินการจัดการในการเลือกตั้งครั้งนี้ มองว่าสมน้ำสมเนื้อกับงบไหม

ผมมองว่าก็ยังมีปัญหามากอยู่ และมีหลายปัญหาที่งบน่าจะเข้ามาช่วยได้ เช่น อากาศที่ร้อนอบอ้าว ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า แทนที่จะใช้สถานที่ราชการ ตามลานจอดรถแบบนี้ ถ้าเอางบไปลงตรงการเช่าสถานที่ที่มีแอร์ก็น่าจะช่วยประชาชนได้ เช่น การเช่าพื้นที่ตามห้างสรรพสินค้า แน่นอนว่าเราไม่รู้ว่าคนเยอะๆ ไปรวมกันอยู่ในพื้นที่ที่เป็นห้องแอร์จะมีปัญหาอื่นหรือเปล่า และไม่ว่าคุณจะจัดหน้าร้อนหรือหน้าฝน อย่างน้อยจัดในที่ร่มหรือห้องแอร์ก็น่าจะดีกับผู้ที่ไปเลือกตั้งมากกว่า

ผมได้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ที่ว่าการอำเภอบางปะกง ฉะเชิงเทรา แล้วก็พบว่าสถานที่ที่เข้าไปมันคับแคบ เขาเลยมีบริการรถรับ-ส่ง แต่รถที่ว่านี้เป็นรถจิตอาสา ซึ่งถ้าคุณมีงบ คุณก็ไม่ต้องไปขอให้ใครมาขับรถให้คุณฟรี คุณสามารถใช้งบตรงนี้มาจ้างรถวิ่งบริการประชาชนได้ ทั้งนี้พูดบนฐานที่ไม่ทราบแน่ชัดว่างบไปลงส่วนไหนเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยเรื่อง facility ควรจะต้องดี

ครั้งนี้หลายคนเห็นตรงกันว่าการนับคะแนนช้ากว่าตอนเลือกตั้ง 2562 ภายหลัง กกต. ออกมาแจงว่าเน้นความถูกต้องมากกว่าความรวดเร็ว ถึงกระนั้นก็ยังมีคนกังขาเรื่องความถูกต้องอยู่ดี คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมคิดว่าระยะเวลาสำคัญแต่ความถูกต้องสำคัญกว่า ดังนั้นถ้ามีการทักท้วง เช่น คะแนนเฉือนกันไม่ถึงร้อย แล้วต้องมีการนับใหม่ก็เป็นเรื่องที่รับได้ ถ้าในหน่วยที่ยังสรุปไม่ได้แล้วต้องประกาศช้าหน่อย ก็ให้เป็นหน่วยๆ ไป แต่ในหน่วยที่ไม่มีการทักท้วงก็น่าตั้งคำถามว่าประกาศให้เร็วกว่านี้ได้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทุกอย่างพุ่งไปที่ กกต. ก็เพราะมีปัญหาหลายอย่างสะสมจนเกิดการตั้งคำถามไปทุกเรื่อง ทุกการเคลื่อนไหว

โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการร้องเรียนมาก ซึ่งการไหลบ่าของข้อมูลก็เร็วมากๆ ประกอบกับการมีแฟนดอมพรรคการเมือง พอมีคนโพสต์ปุ๊บก็พูดกันแล้วว่าพรรคนั้น พรรคนี้มีการโกงเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่ได้นับใหม่เลย เราซึ่งเป็นผู้รับสารพอจะกรองข้อมูลได้บ้างไหม

กรองได้อย่างเดียวคือ กกต. ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แน่นอนว่าในโลกของข้อมูลข่าวสารที่ทุกอย่างวิ่งเร็ว และแต่ละคนเองก็อาจจะมีพรรคการเมือง ชุดความคิด อุดมการณ์ และอคติส่วนตัวอยู่แล้ว ก็อาจจะมีบ้างที่จะเคลือบแคลงคำกล่าวอ้างจากผู้สนับสนุนพรรคอื่น

สิ่งเดียวที่ทำได้คือ กกต. ต้องสร้างความเชื่อมั่น ถ้าทำได้ กกต. จะเป็น final say ต่อให้จะมีข่าวปลอม ข่าวปล่อย อะไรก็แล้วแต่ ถ้า กกต. สามารถสร้างความเชื่อมั่นในฐานะผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ นั่นจะเป็นข้อยุติอย่างแท้จริง

แต่ถ้า ณ เวลาที่ กกต. ยังเรียกความเชื่อมั่นไม่ได้ ผมคิดว่าการเปิดเผยให้ประชาชน ผู้สมัคร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้าไปร่วมตรวจสอบ หาข้อยุติร่วมกัน นั่นอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้าคุณมัวแต่ไปทำลับๆ ล่อๆ ก็จะมีคำถามตามมาอีกไม่สิ้นสุด

คุณย้ำถึงการ ‘เปิด’ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมหลายครั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นว่าประชาชนก็พยายามจะมีส่วนร่วมมากๆ ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของหน่วยงานที่จัดเลือกตั้งอย่างไรต่อไป

สิ่งที่ดีมากๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือความตื่นตัวของประชาชนนี่แหละ สุดท้ายคนที่ออกมาจับตาการเลือกตั้งจะเป็นพยานว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร

ในหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สร้างปัญหาและอุปสรรคต่อประชาชนและผู้สังเกตการณ์ที่เข้ามาดู การให้ประชาชนเข้ามาบันทึกภาพได้ นั่นคือคุณได้ปกป้องตัวคุณเองแล้ว เพราะในอนาคตถ้ามีคนมากล่าวหาว่า กปน. ในหน่วยนี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คุณก็ไปถามคนที่ถ่ายรูป คนที่เห็นกระบวนการทั้งหมด เขาจะช่วยยืนยันได้เลยว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว การมีส่วนร่วมคือทำให้คนไปเห็นเอง และนี่จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นคืนมา กลับกันถ้าหน่วยไหนมีปัญหา แล้วคุณเอาหีบไปนับในที่ลับเพราะรำคาญเสียงทักท้วง นั่นยิ่งทำให้คนสงสัยเลยว่ามันมีอะไรหรือเปล่า

ฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถือครองอำนาจ การที่คุณจะสร้างความเชื่อมั่นต้องเริ่มที่การเปิดให้มากที่สุดเท่าที่จะเปิดได้ ให้คนมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นจะเป็นเกราะกำบังให้ตัวคุณเอง ต่อให้มีการนับคะแนนใหม่ การประกาศคะแนนต้องล่าช้าออกไป แต่อย่างน้อยถ้าคุณเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้าไปดูตอนนับด้วยกัน เมื่อทุกฝ่ายมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลชุดเดียวกัน ผลออกมาแบบไหนเขาก็จะยอมรับไปตามนั้น ไม่ว่าใครจะแพ้-ชนะก็ตาม แต่พอเข้าถึงข้อมูลได้ไม่เท่ากัน คำถามจะตามมาอยู่แล้วว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ฉะนั้น เมื่อใดประชาชนได้รับรู้ เมื่อนั้นความกังขาจะหมดไป

มีประเด็นใดบ้างที่เราควรจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

ตอนนี้ต้องจับตาดูว่าจะมีวิบากกรรมอะไรต่อ ใครจะโดนสอยกลางทางหรือไม่ ตอนนี้ กกต. น่าจะมีคำร้องค้างในกระบวนการอยู่มากระดับหนึ่ง หลังจากนี้ก็น่าจะมีคำร้องอีกบางส่วนตามเข้าไป เช่น กรณีที่ ‘นักร้องท่านหนึ่ง’ เพิ่งโพสต์ภาพที่คุณธนาธร คุณปิยบุตร และคุณพรรณิการ์ไปร่วมโต๊ะอาหารในวันประชุมแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วตั้งคำถามว่าถูกตัดสิทธิทางการเมืองอยู่แล้วมาทำไม เป็นการกระทำที่ครอบงำและชี้นำพรรคหรือเปล่า คำร้องทำนองนี้คงทยอยตามมา

ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ คือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรอิสระ คุณทำอะไรที่ทำให้ประชาชนรู้สึกมีความเชื่อมั่นบ้างไหมว่า กรณีที่มีคำร้องเข้ามา แล้วคุณจะตัดสินไปตามตัวบทด้วยความยุติธรรม ปัญหาคือตอนนี้สังคมเราอยู่ในภาวะเห็นต่างทางการเมือง มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำมากกว่า หรือถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ต่อให้มีการตัดสินไปตามเนื้อผ้าจริง แต่เครื่องหมายคำถามนี้ยังไม่ถูกลบล้างไป อาจจะด้วยเรื่องที่มาของคนในองค์กรว่าผูกพันอยู่กับผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้ มิเช่นนั้น ต่อให้ตัดสินออกมาแบบไหนหรือเที่ยงตรงแล้ว ภาพในอดีตก็จะคอยตามหลอกหลอนเสมอ

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save