fbpx

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย: ตีโจทย์ยุคโลกเดือดอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมให้ได้-ไปต่อให้เป็น

ปีนี้ ‘โลกเดือด’ แล้ว ไม่ใช่เพียง ‘ร้อน’ หรือ ‘รวน’ เท่านั้น

ด้วยฤดูร้อนที่ร้อนเหมือนทุกสิ่งจะหลอมละลาย ลมหนาวแสนสั้นที่เหลือเพียงในความทรงจำเลือนราง ไหนจะมรสุมคุ้มดีคุ้มร้ายที่ไม่รู้ว่าจะมาและจะหยุดเมื่อไร จึงไม่มีใครปฏิเสธได้อีกต่อไปว่าสภาพภูมิอากาศกำลังแปรปรวนรุนแรง และไม่มีใครรอดพ้นจากความผันผวนระดับปรากฏการณ์นี้ได้ คำถามคือประเทศไทยจะก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่าอย่างไร จะปรับตัวอยู่รอดในปัจจุบันด้วยวิธีไหน รวมถึงทุกภาคส่วนที่มีส่วนรับผิดชอบในภาวะโลกเดือดต่างกันไป “ต้องทำอะไรกันแน่”

ปัญหาใหญ่ระดับดาวเคราะห์อย่าง ‘ภาวะโลกเดือด’ ย่อมมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องหลากหลาย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เหยียดยาวเกินจินตนาการ และต้องพึ่งพาความร่วมมือเพื่อแก้ไขจากทุกองคาพยพ แต่จะ ‘ตีโจทย์’ อย่างไรให้ ‘ตอบโจทย์’ ความเดือดครบถ้วนก่อนที่ทุกสิ่งจะสายเกินไป ร่วมหาคำตอบผ่านข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดใหม่ว่าด้วยการผลิตอาหาร และโมเดลลดโลกเดือดที่คำนึงถึง ‘ความยุติธรรมทางสังคม’ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์รับมือความรวนเรของสภาพภูมิอากาศ

ร่วมเปิดประเด็นโดย กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, จักรชัย โฉมทองดี จาก Madre Brava องค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของระบบอาหารและเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย, เพชร มโนปวิตร มูลนิธิโลกสีเขียว และวิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ร่วมกับ วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและบริหารการวิจัย เป็นผู้ชวนเสวนา

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่สี่ในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ร่วมตีโจทย์นโยบายและโจทย์วิจัย เพื่อตอบอนาคตสังคมเศรษฐกิจไทย และหาคำตอบว่าเมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยเปลี่ยน โจทย์นโยบายและโจทย์วิจัยควรเปลี่ยนไปอย่างไร

หมายเหตุ: เรียบเรียงผ่านการเก็บความจากงานเสวนา  Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ – ‘ประเทศไทยในโลกเดือด (Global Boiling)’

ชะลอด้วย ปรับตัวได้ คือเป้าหมายของการรับมือโลกเดือด — เพชร มโนปวิตร

เพชร มโนปวิตร จากมูลนิธิโลกสีเขียว เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการบอกว่ามีผู้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ตั้งแต่ราว 50 ปีที่แล้ว กระนั้นปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงเป็นภาวะโลกเดือดก็ไม่ได้คืบหน้านัก ส่วนหนึ่งเพราะหลายคนเห็นว่าผลกระทบของภาวะดังกล่าวอยู่ในอนาคตอันไกลเกินกว่าจะเร่งลงมือ

“เวลาที่เราพูดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราคิดว่าเป็นปัญหาของอนาคต แต่ไม่ใช่เลย ปี 2010 เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่หมู่เกาะสุรินทร์ ภายในสามเดือนปะการังก็ตายไปมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์” เขาบอก

สำหรับเพชร การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้คนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต แนวคิด และนโยบายให้พร้อมรับมือภัยอันไม่คาดฝันนั้น เป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” ของภัยจากภาวะโลกเดือดที่คอยท่าอยู่ในอนาคต และย่อมจะกระเทือนทุกมิติในสังคม ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังไม่มีผู้ให้ความสนใจเพียงพอ

ปัจจุบัน องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเป็นนโยบายคือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) โดยคณะกรรมการดังกล่าวจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงฉบับที่หกแล้ว ผ่านการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยกว่า 14,000 ชิ้น ของนักวิทยาศาสตร์กว่า 200 คนจาก 65 ประเทศ พบว่าปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีลักษณะสุดขั้วกว่าเดิม ภัยธรรมชาติทั้งอุทกภัย ไฟป่า และวาตภัย รุนแรงกว่าปกติ ขณะที่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในรอบสองล้านปี และเป้าหมายที่นานาชาติร่วมกันกำหนดในความตกลงปารีส (Paris Agreement) คือจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศานั้น เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

ยิ่งกว่านั้น ระดับน้ำทะเลยังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตถึงสามเท่า และการปฏิกิริยาของระบบนิเวศต่อกิจกรรมของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่แม้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่สุดก็ชี้ขาดไม่ได้ เพชรบอกว่าเดิมคาดการณ์ว่ามนุษยชาติจะมีเวลาถึงสิ้นศตวรรษนี้ แต่การค้นพบล่าสุดเผยให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนจะเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เท่ากับว่าความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างนั้น “หยุดยั้งไม่ได้แล้ว ถึงจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงก็เป็นรถไฟที่ออกจากชานชาลาไปแล้ว ดังนั้นเวลานี้นโยบายที่เราต้องพูดถึงการปรับตัวเพื่อรับมือด้วย ไม่ใช่แค่การชะลอผลกระทบ”

เมื่อถามว่าไทยพร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความยืดหยุ่นสำหรับรับมือการเปลี่ยนแปลงหรือยัง เพชรตอบว่า “ยังห่างไกลมาก ข้อมูลที่เป็นจุดตั้งต้นของการปรับเปลี่ยนก็ยังขาดแคลน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถเตรียมการได้ สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์พูดกันนานแล้วคือพวกเขาเชื่อว่าการมีระบบนิเวศที่ยังได้รับการปกป้องอยู่นั้นเป็นตาข่ายความปลอดภัย (safety net) ที่สำคัญ บางคนบอกว่าเราพัฒนาก่อนแล้วค่อยกลับมาอนุรักษ์ธรรมชาติได้ไหม อย่างยุโรปหรืออเมริกาก็ใช้ทรัพยากรเต็มที่แล้ว ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนแล้วจึงหันไปอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ผมว่าสมการไม่ง่ายอย่างนั้น และเราสามารถก้าวข้ามความผิดพลาดในการพัฒนาแบบเดียวกันนั้นได้”

เพชรยกกรณีปะการังฟอกขาวเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเร่งกำหนดนโยบายเพื่อรับมือความผันผวนของโลกพร้อมกับที่พยายามรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศนั้นเป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังตั้ง 80,000 ล้านบาท ยังไม่ต้องพูดถึงความสัมพันธ์กับการทำประมงและการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะแนวปะการังจะลดกำลังคลื่นได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการสูญเสียแนวปะการังจะเป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวง เมื่อเกิดวิกฤตก็ต้องจัดหางบประมาณเยียวยา แต่ตอนที่ยังไม่เกิดวิกฤตเรากลับไม่มีมาตรการดูแลปะการัง”

เขาบอกว่าโชคยังดีที่ปี 2022 ปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์เริ่มฟื้นสภาพ เท่ากับธรรมชาติแสดงความสามารถในการเยียวยาตนเองหากได้รับโอกาสและมีระบบนิเวศที่ใช้การได้ โดยคาดว่าปีหน้าจะเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่เช่นกัน ซึ่งมนุษย์หยุดยั้งและคำนวณเวลาเกิดอย่างแม่นยำไม่ได้ การไม่สามารถชี้ขาดทั้งความเร็วในการฟื้นสภาพและการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้แผนรับมือที่ยืดหยุ่นทวีความจำเป็น โดยหัวใจสำคัญของการกำหนดนโยบายคือการสื่อสารกับผู้ใช้ทรัพยากรนั้นๆ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหากพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง รัฐบาลยิ่งต้องเร่งแทรกแซงเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ชะงักนานเกินไป

อีกสองโจทย์ที่เพชรเห็นว่ารัฐบาลไทยเห็นว่าต้องเร่งต้องตีให้แตกคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการขาดแคลนแนวเชื่อมต่อ (connectivity) ของป่า แม้ไทยจะมีพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าจำนวนไม่น้อย แต่แนวเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่เหล่านี้จะจำเป็นยิ่งต่อการเคลื่อนที่และย้ายถิ่นของสัตว์เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด ปมปัญหานี้เองที่เกี่ยวพันกับอีกโจทย์หนึ่ง คือ “ต้องมีระบบติดตามผลระยะยาวด้วย แต่งานวิจัยของเรามีน้อย นักวิจัยก็มีน้อย เพราะเป็นนักวิจัยแล้วไม่มีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ สุดท้ายก็ออกไปจนหมด”

เพชรยังเห็นอีกด้วยว่ารัฐบาลไทยสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหางเสือขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการหรือเอสดีจี (Sustainable Development Goals – SDGs) ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากกลุ่มเปราะบางทางสังคมย่อมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงก่อน หรือการเข้าถึงอาหาร แหล่งน้ำสะอาด พลังงานสะอาด และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับการจัดการความเสี่ยงจากภาวะโลกเดือดทั้งสิ้น

เขาทิ้งท้ายด้วยการแนะนำแนวคิดใหม่เพื่อการรับมือภาวะโลกเดือด คือระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ (nature positive economy) “แค่ลดผลกระทบไม่พอหรอก ต้องเพิ่มการลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ส่งผลดีต่อระบบนิเวศด้วย อย่างจะให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงลงอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องคิดว่าแล้วจะสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างไร”

ทั้งนี้ เพชรกล่าวถึงบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเน้นให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสนใจมาโดยตลอด “แต่ผมว่ารัฐบาลก็ยังขาดโรดแม็ปว่าจะไปถึงได้อย่างไร เช่น การใช้ธรรมชาติเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตอนนี้เรายังใช้เขื่อนอยู่เลย ถามว่าต่อไปทำให้ไม่ใช้ได้ไหม ไหนจะการเกษตรเพื่อฟื้นฟู (regenerative farming) ที่มองว่าเกษตรกรเป็นผู้ดูแลที่ดิน ไม่ได้ใช่แค่ผลิตอาหาร ถ้าจัดการได้ ผมคิดว่าเราก็เพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนได้”

อย่ามุ่งปรับตัวต่ออากาศในอนาคตเพื่อคงสภาพการณ์ปัจจุบันไว้ — กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์

เมื่อถามว่าปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกระทบประเทศไทยอย่างไรบ้าง กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ตอบได้ทันทีว่า “บ้านเราร้อนขึ้นเป็นที่ประจักษ์ 30 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน้อยหนึ่งองศา ฝนแปรปรวนขึ้น พายุอาจจะน้อยลง แต่พายุที่รุนแรงกว่าดีเปรสชั่นมีจำนวนมากขึ้น ถ้าถามว่ากระทบระบบเศรษฐกิจอย่างไรก็มีงานวิจัยในประเด็นนี้เหมือนกัน พบว่าในภาพรวมคือเมื่อเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรง เศรษฐกิจจะหดตัว โดยเฉพาะภาคเกษตร และกว่าจะกลับมาจุดติดได้จะนานกว่าภาคอื่น ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายต้องคิดถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย”

เธอบอกว่ามูลค่าความเสียหายสะสมที่ภาคเกษตร ทั้งการปลูกพืช ทำปศุสัตว์ และทำประมงได้รับจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศนั้นสูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาทแล้ว

สำหรับภาคธุรกิจนั้น กรรณิการ์เห็นว่าแม้จะได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็มีความหวัง เพราะหลายบริษัทสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ดีหลังประกาศเจตนารมณ์ว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่ออากาศโดยรวม โดยเฉพาะกลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เธอคิดว่าหากผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกเดือด และปรับตัวเพื่อรุกตลาดที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติได้เร็วก็จะนับเป็นโอกาสทอง อย่างไรก็ตาม ความพยายามชะลอผลกระทบของภาวะโลกเดือดในภาคธุรกิจไทยยังมาไกลเพียงการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก และมักไม่มีการดำเนินการต่อเนื่อง โดยจะพบการดำเนินการมากหลังประสบภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัยปี 2011 เท่านั้น

ที่ไม่น่าประหลาดใจคือผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวดูจะตระหนักถึงผลกระทบของภาวะดังกล่าวเป็นอย่างดี “ช่วงก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่เคยมีใครสงสัยว่าภาคการท่องเที่ยวจะชะงัก ตอนที่ไปพูดคุยกับผู้ประกอบการรายเล็ก พวกเขารู้ว่าการระบาดนี้เป็นเวฟแรกเท่านั้น ถ้าทำทุกอย่างเหมือนเดิมต่อไป เน้นพึ่งพาธรรมชาติ ไม่หาทางดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยวิธีใหม่ๆ เมื่อเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฤดูกาลเลื่อนหรือน้ำท่วมหนักก็จะสายเกินไป เราภูมิใจว่าบ้านเราทะเลสวย น้ำใส แต่อย่าลืมว่ามันต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม ถ้าในอนาคตสภาพอากาศไม่อำนวยจะทำอย่างไร เอาไข่ทุกใบใส่ตะกร้าเดียวกันอย่างนี้เสี่ยงมาก”

ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมความตระหนักในหมู่ประชาชนเพื่อเร่งสร้างความสามารถในการอยู่ร่วมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะยาว (long term climate resilience) จึงเป็นวิธีเดียวที่ป้องกันความเสียหายต่อธุรกิจได้ กระนั้นนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ก็ยังประสบปัญหาในการสร้างความตระหนักนั้น

“ทุกครั้งที่มีแนวโน้มสภาพภูมิอากาศใหม่ๆ มันไม่ถูกย่อยเพื่อสื่อสารกับคนหมู่มาก เราต้องสื่อสารกับแต่ละภาคส่วนให้ตรงจุด เช่น ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ว่าผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับ ซึ่งไม่เหมือนกัน จะเป็นอย่างไร และแต่ละกลุ่มควรรับมือกับปัญหาอย่างไร ประเทศไทยมีข้อมูล แต่ขาดการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าถึงได้”

กรรณิการ์บอกว่าประเด็นที่ต้องร่วมหารือกันต่อไปหลังทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลแล้ว คือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะกระเทือนระบบต่างๆ รวมถึงพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอย่างไร เพื่อกำหนดแผนรับมือความรวนที่คำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างรอบด้าน รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น

“ลองตีกรอบภาคต่างๆ เป็นภาคเกษตร โจทย์ที่ต้องตอบคือดินและน้ำที่สมบูรณ์ ภาคสาธารณสุข โจทย์คืออุณหภูมิ คลื่นความร้อน ปริมาณฝน และการแพร่กระจายโรค ภาคการท่องเที่ยว โจทย์คือฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ภาคประชากร โจทย์คือความถี่และความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการตั้งถิ่นฐาน น้ำหลากมา ชุมชนขวางทางน้ำอยู่ ถ้าไม่มีเงินขยับขยายไปพื้นที่อื่นจะให้ทำอย่างไร ต้องจัดระเบียบที่ดินใหม่ไหม อย่างกรณีพื้นที่ปากแม่น้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีน้ำขึ้นน้ำลงตลอดเวลา ตอนนี้ก็มีการพูดคุยกันว่าจะให้ผู้อาศัยอยู่ริมน้ำอพยพขึ้นพื้นที่สูงหน่อยได้ไหม การพูดคุยทำนองนี้ไม่ควรกระจุกอยู่ในวงเล็กๆ เพราะทุกพื้นที่มีปัญหาต่างกันไป ยิ่งนำภาคส่วนมาพิจารณาซ้อนทับกับพื้นที่ปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้นอีก”

โดยแนวทางการกำหนดแผนรับมือที่เธอสนใจ คือการส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่นให้สามารถตัดสินใจได้อย่างคล่องตัว ขณะที่รัฐบาลมีกลไกการสนับสนุนเพิ่มเติม หนึ่งในแนวทางที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนคือมาตรการภาษีคาร์บอน อันเป็นกลไกสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยภาษีที่เก็บได้จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใช้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยปรับตัวได้ อีกส่วนเป็นกองทุนเพื่อการปรับตัว (adaptation fund) สำหรับท้องถิ่น เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนอาชีพและวิถีชีวิตต่อไป

“สิ่งหนึ่งที่อยากชวนทุกภาคส่วนคิดคือ ทั้งหมดนี้ต้องไม่ใช่การปรับตัวต่ออากาศในอนาคตเพื่อรักษาสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันไว้ แต่ต้องเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในปัจจุบันให้ดีขึ้นทันที คิดแบบนี้จะวิน-วินทุกฝ่าย ประชาชนก็จะเอาด้วย เพราะทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เราจะได้ยินคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นจริงหรือ การยกแนวโน้มในอนาคตไปจูงใจให้คนปรับตัวนั้นไม่ได้ผล แต่ต้องทำให้ทุกภาคส่วนยืดหยุ่นขึ้น พร้อมเผชิญทุกเวฟของการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน”

ทั้งนี้ กรรณิการ์เสนอว่าอาจปรับใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อตั้งสมมติฐานว่าสิ่งใดขัดขวางความสามารถในการปรับตัวของแต่ละภาคส่วนอยู่ จากนั้นจึงเริ่มกำหนดแผนรับมือโลกเดือดในวงเล็กๆ ก่อน เมื่อทดสอบแผนแล้วจึงขยับขยายขอบเขตของแผนเป็นแซนด์บ็อก แล้วผลักดันเป็นนโยบายต่อไป ซึ่งจะทำให้นโยบายที่นำเสนอนั้นมีน้ำหนัก และมีแนวโน้มสูงที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว

“กินอาหารเป็นยา” ด้วยระบบอาหารใหม่ในยุคโลกเดือด — จักรชัย โฉมทองดี

“ถ้าพูดเฉพาะตัวเลขกลมๆ ตอนนี้ระบบอาหารมีส่วนร่วมก่อโลกร้อนถึงหนึ่งในสามส่วน ถึงเราจะเปลี่ยนพลังงานทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาดก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาได้เลย อุณหภูมิโลกน่าจะสูงขึ้นทะลุ 2 องศาด้วยซ้ำเมื่อสิ้นศตวรรษ เราจึงละเลยระบบอาหารไม่ได้อีกต่อไป” จักรชัย โฉมทองดี จาก Madre Brava องค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของระบบอาหารและเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดประเด็นสนทนาด้วยสถิติน่าใจหาย

และด้วยสถิติน่าใจหายนี้เอง Madre brava จึงมุ่งสร้างความยั่งยืนในระบบอาหารด้วยการให้คำปรึกษา รณรงค์ และสื่อสารองค์ความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารอย่างเป็นธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือผู้ผลิตอาหารมีคุณภาพชีวิตที่ดี และผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีคุณภาพ

จักรชัยบอกว่าสองในสามส่วนของระบบอาหารคือการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และ 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแก๊สเรือนกระจกในปัจจุบันก็มาจากอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ โดยตัวเลขล่าสุดสูงขึ้นอีกด้วย เพราะภาคส่วนอื่นๆ เริ่มลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกบ้างแล้ว แต่แนวทางการผลิตอาหารถูกปรับเปลี่ยนน้อยมาก แม้ระบบอาหารในปัจจุบันจะด้อยประสิทธิภาพอย่างรุนแรง “ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในโลกถูกใช้เพื่อผลิตโปรตีนจากสัตว์ แต่สร้างแคลอรีให้มนุษย์ได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สร้างโปรตีนไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสิ้นเปลืองมาก และนอกจากมูลสัตว์แล้ว การเปลี่ยนที่ดินเป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ก็สร้างแก๊สเรือนกระจกมากด้วย”

เขาอธิบายเจาะลึกลงไปว่าการผลิตโปรตีนหนึ่งกิโลกรัมจากแหล่งต่างๆ นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างกันไป โดยการผลิตโปรตีนจากเนื้อหมูและไก่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากกว่าโปรตีนจากพืชกว่า 10-12 เท่า “เอาโปรตีนให้ไก่ห้ากิโลกรัม เราจะได้โปรตีนจากไก่หนึ่งกิโลกรัม ถ้าเป็นหมูก็สิบต่อหนึ่ง ถ้าเป็นวัวก็ฉกาจฉกรรจ์หน่อย ให้ 30 ได้หนึ่งกิโลกรัมเท่านั้นเอง ไหนจะที่ดินและน้ำต่างๆ ที่ต้องใช้”

เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในปี 2050 ซึ่งจะสูงถึง 10,000 ล้านคนแล้ว ก็ชัดเจนว่าโลกไม่อาจรองรับระบบอาหารที่ด้อยประสิทธิภาพและใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่าเช่นนี้ได้อีกต่อไป

สำหรับแนวทางชะลอวิกฤตนั้น จักรชัยเห็นว่าจุดเริ่มต้นที่ดีคือการปรับสัดส่วนการบริโภคโปรตีนในระดับบุคคล โดยอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนอย่างเต็มตัว แต่ปรับลดสัดส่วนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารลง เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ว่าหากประชากรยุโรปลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะชะลอผลกระทบจากภาวะโลกเดือดได้มหาศาล ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันยังมีเพียงประชากรในภูมิภาคเอเชียใต้เท่านั้นที่ได้บริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์น้อยกว่าปริมาณที่จำเป็น ขณะที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์เกินความต้องการถึง 2.6 เท่า

“เป็นข่าวดีที่ทางออกของเรากับโลกตรงกัน ถ้าอยากเคารพโลกก็เริ่มต้นจากการเคารพตัวเองและดูแลสุขภาพของตัวเองได้”

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่าน เพราะเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบอาหารของโลกอยู่แล้ว โดยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่มากเป็นอันดับสี่ของโลก รวมถึงส่งออกเครื่องปรุงและอาหารสัตว์อันดับห้าของโลก จักรชัยเห็นว่าเวลานี้เป็นโอกาสทองทางเศรษฐกิจหากต้องการลงทุนเพื่อสร้างระบบอาหารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในไทย เพราะภายในปี 2040 ภาคการผลิตอาหารของยุโรปจะกลายเป็นภาคส่วนที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุด และรัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มกำหนดแผนเก็บภาษีคาร์บอนในภาคส่วนดังกล่าวอย่างจริงจัง

“อีกอย่างคือเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดในไม่กี่ปีข้างหน้า การปฏิวัติระบบอาหารจะทำให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ได้ผ่านการรับประกันคุณภาพชีวิตประชากร” จักรชัยอธิบาย “เราไม่ได้แค่ต้องเพิ่มเวลาให้ชีวิต แต่ต้องใส่ชีวิตเพิ่มเติมในเวลาที่มีอยู่ด้วย ดังนั้นระบบอาหารที่จะดูแลมนุษย์ในฐานะยาจึงสำคัญมาก อย่างข้าวไรซ์เบอร์รีก็เป็นมากกว่าข้าวได้ เพราะสกัดโปรตีนจากใบได้ด้วย เมื่อผสมกับแป้งที่เราบริโภค มันจะลดค่าดัชนีน้ำตาลได้เยอะเลย สุดท้ายก็จะเหมือนกินข้าวเป็นยา”

เขาเห็นว่าหากประเทศไทยหวังจะเป็นฐานการส่งออกอาหารที่มีกระบวนการผลิตแบบยั่งยืนและตอบโจทย์สุขภาพในอนาคต ช่องว่างสำคัญที่มีอยู่คืองานวิจัยที่เพียงพอ โดยเฉพาะงานวิจัยเพื่อปรับปรุงการผลิตพืชเศรษฐกิจให้มีความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งระบบนิเวศและการดูแลสุขภาพ

“ไทยมีถั่วเกือบ 50 สายพันธุ์ แต่บริโภคแค่ไม่กี่สายพันธุ์เอง ทั้งที่มันให้โปรตีนเยอะ เอามาผสมและแยกส่วนได้หลากหลาย ผมเพิ่งพูดกับวิสาหกิจชุมชนในพัทลุงและสงขลาที่ผลิตเห็ดแครงมา เห็ดชนิดนี้มีโปรตีน 17 เปอร์เซ็นต์ แพ้ไก่ไม่เท่าไหร่ แถมให้ไฟเบอร์มหาศาล เพราะฉะนั้นงานวิจัยด้านนี้สำคัญมาก และต้องทำร่วมกับชุมชน เพราะชุมชนจะได้ประโยชน์เบื้องต้น ซึ่งเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม”

นอกจากการลงทุนในการวิจัยแล้ว ก่อนที่การผลิตอาหารในวิถีปัจจุบันจะไปถึงทางตัน จักรชัยเห็นว่าต้องเร่งส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับระบบอาหารที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มอุปสงค์ของอาหารรูปแบบใหม่ในประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญก่อนส่งออกอาหารดังกล่าวต่อไป “หนึ่งคือต้องวิจัยว่าอะไรจะยกระดับสุขภาพของเด็กและผู้สูงวัยได้ สองคือการสื่อสารสาธารณะที่สำคัญไม่แพ้กัน ตอนที่มีการทดลองปรับปรุงความหลากหลายทางอาหารในโรงเรียน กลุ่มที่ต่อต้านมากที่สุดคือผู้ปกครอง เพราะกลัวลูกไม่ได้บริโภคเนื้อนมไข่เพียงพอ พวกเขาถูกสอนมาแบบนั้น”

โดยอุปสรรคสุดท้ายของระบบอาหารยั่งยืนสำหรับจักรชัยคือระบบภาษีที่ยังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกำแพงภาษีสำหรับอาหารแปรรูปที่กีดกันอาหารแพลนต์เบสไม่ให้เจาะตลาดได้ ทั้งที่ผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคไทยพร้อมโอบรับอาหารชนิดใหม่นี้หากราคาต่ำลง

นับเป็นโอกาสที่สูญไปอย่างน่าเสียดาย

เกษตรกรไม่อาจลืมตาอ้าปากอย่าง “ยั่งยืน” ด้วยเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า — วิษณุ อรรถวานิช

วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ภาวะโลกเดือดไม่แตกต่างจากผู้ร่วมสนทนา คือความเป็นไปได้ในการชะลอผลกระทบนั้นน้อยมาก และความแม่นยำในการคาดคะเนผลกระทบก็ต่ำเช่นกัน

“นักวิทยาศาสตร์จาก IPCC ลองเจาะแกนน้ำแข็งเพื่อดูความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนนี้อยู่ที่ 400 พีพีเอ็ม (parts per million – ppm) ทั้งที่ไม่เคยเกิน 300 ตลอด 800,000 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองโลกในแง่ดี ในปี 2100 ความเข้มข้นนี้จะอยู่ที่ 500 ถ้ามองโลกในแง่ร้ายก็อยู่ที่ 900 ดังนั้นเราไม่สามารถใช้ข้อมูลความเสียหายในอดีตบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เพราะเราอยู่นอกเหนือประวัติศาสตร์ 800,000 ปีนั้นแล้ว”

วิษณุบอกว่าแม้จะหยุดปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งหมดทันที ส่วนที่ปล่อยไปแล้วก็จะไม่ย่อยสลายไปอีกหลายสหัสวรรษ การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหนทางรอดระยะสั้นที่สำคัญ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

สถิติที่น่าสนใจแม้จะชวนกังวลยิ่ง คือระหว่างปี 1991-2010 สภาพภูมิอากาศแปรปรวนทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรไทยลดลง 15.5 เปอร์เซ็นต์ และจากงานวิจัย ‘Persistent effect of El Niño on global economic growth‘ ในนิตยสาร Science ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงมากที่จะเผชิญผลกระทบของภาวะโลกเดือด โดยคาดว่าในปี 2022-2099 รายได้ต่อหัวจะลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปทีเดียว

และเช่นเดียวกับผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระเทือนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรมากที่สุด เพราะนอกจากผลผลิตจะได้รับความเสียหาย ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกยังจะต่ำลงหากหลายประเทศดำเนินมาตรการกีดกันสินค้าที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากในกระบวนการผลิต

“ภาคเกษตรไทยเปราะบางอยู่แล้ว เพราะเกษตรกรเข้าถึงการศึกษาน้อย และ 80 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นเกษตรกรรายย่อย ไม่มีที่ดิน ต่อไปยังจะพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วย เพราะจำนวนคนหนุ่มสาวในภาคเกษตรลดลงจากราว 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหลือ 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น พื้นที่การเกษตรที่มีน้ำตลอดปีก็มีเพียง 26 เปอร์เซ็นต์”

สำหรับวิษณุ จุดแข็งของภาคเกษตรไทยคือการมีบุคลากรที่ชำนาญ มีเกษตรตำบลที่ทำงานร่วมกับชุมชนได้ทั่วประเทศ และนโยบายของทุกรัฐบาลก็มุ่งทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญ ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรในไทยยังมีลักษณะกระจุกตัว กล่าวคือปลูกพืชชนิดเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หากมีการลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยีการเกษตรก็สามารถยกระดับผลิตภาพได้เป็นวงกว้างและไม่สิ้นเปลืองนัก

กระนั้นก็ยังมีช่องโหว่สำคัญคืองานวิจัยด้านการเกษตรในปัจจุบันครอบคลุมพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิด ทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรเองขาดความยืดหยุ่นหากต้องรับมือกับสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ นอกจากนี้หลายหน่วยงานยังไม่แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้องค์ความรู้จากการวิจัยกระจัดกระจาย ตลอดจนไม่มีงบประมาณวิจัยที่ต่อเนื่อง นักวิชาการเกษตรจึงขาดแคลนเพราะขาดความก้าวหน้าในอาชีพ

เขายังชี้ว่าไทยขาดกลไกด้านการตลาดและการเงินเพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ โดยแนวทางสนับสนุนเกษตรกรของรัฐบาลไทยไม่เคยไปไกลกว่าการเยียวยาการขาดแคลนรายได้ “เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าไม่ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในปรับตัว ขณะที่หลายประเทศให้ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องปลูกพืชที่กำหนด หรือต้องปรับวิธีทำเกษตรให้มีความยั่งยืนมากขึ้น แถมหน่วยงานส่วนใหญ่ในไทยยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับท้ายๆ ด้วย”

โดยแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่วิษณุสนใจคือการให้เงินสนับสนุนเพื่อปรับใช้ “แนวทางเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” (climate-smart agriculture) เช่น การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยในบางพื้นที่แทนการปลูกข้าว การทำเกษตรหมุนเวียนและผสมผสาน การใช้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ค่าดิน รวมถึงการบรรลุมาตรฐานจีเอพี (Good Agricultural Practices – GAP) หรือการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พร้อมหลักประกันความเสียหายและความช่วยเหลืออื่นๆ ที่รัฐจัดหาให้ เช่น ตลาดเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกษตรกรเข้าถึงได้ถ้วนหน้า

“นี่คือการปรับตัวเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในอนาคต” วิษณุย้ำ “อากาศเปลี่ยนไป แต่วิธีทำเกษตรไม่เปลี่ยนแปลง อนาคตผลผลิตจะยิ่งเสียหายกว่านี้ ต้องการเงินเยียวยามากกว่านี้ ยิ่งไม่มีงบประมาณวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลงเรื่อยๆ”

สำหรับประเด็นวิจัยในอนาคตที่เขาเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันพัฒนานั้นแบ่งได้เป็นสี่ประเด็นหลัก คือการวิจัยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Impact) แนวทางการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) แนวทางลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Mitigation) และแนวทางประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยในสถานการณ์จริง (Driving in Actions)

โดยกรณีการวิจัยผลกระทบนั้น วิษณุเห็นว่าต้องครอบคลุมพืชหลากหลายชนิดกว่าในอดีต ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรทั้งหมด ขณะที่ในประเด็นวิจัยที่สองอย่างการปรับตัวต่อความผันผวนของสภาพภูมิอากาศนั้น นอกจากพัฒนาวิธีทำเกษตรที่ยืดหยุ่นและระบบแจ้งเตือนภัยธรรมชาติที่แม่นยำแล้ว เขาเห็นว่าปลายทางสำคัญคือการสร้างองค์ความรู้กลางระหว่างหน่วยงานเพื่อพัฒนาเป็นฉันทามติและนโยบายต่อไป ทั้งนี้ต้องมีระบบประเมินคุณภาพองค์ความรู้ที่เชื่อถือได้ด้วย “ถ้าสุดท้ายมันไม่ได้ผล ชาวบ้านจะไม่เชื่อรัฐบาลอีกเลย ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ดังนั้นนอกจากมิติทางวิทยาศาสตร์แล้วต้องให้ความสนใจมิติอื่นๆ ด้วย เช่น ทำแล้วได้กำไรจริงไหม”

งานวิจัยในประเด็นที่สามและสี่เองก็ต้องมีทิศทางที่สอดคล้องกัน คือเน้นยกระดับความสามารถของเกษตรกรอย่างยั่งยืนผ่านการสนับสนุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวิธีตรวจวัดปริมาณแก๊สเรือนกระจกในภาคเกษตร การประเมินมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำและความเต็มใจจ่ายของผู้บริโภคเพื่อกำหนดราคาผลิตผลและมาตรการจูงใจเกษตรกรให้ปรับตัว รวมถึงแนวทางผลักดันแนวคิดและนโยบายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงโดยคำนึงถึงอุปสรรคที่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ต้องเผชิญ

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคเมื่อโลกทวีความเป็นโลกาภิวัตน์ขึ้นทุกขณะอีกด้วย

โลกไม่อาจ (ร่ม) เย็นได้โดยไร้ความยุติธรรมทางสภาพอากาศ — ธารา บัวคำศรี

หนึ่งในประเด็นว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่ร้อนแรงไม่แพ้อุณภูมิโลกคือการที่คนต่างกลุ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน และมีส่วนรับผิดชอบในวิกฤตนี้ไม่เท่ากันด้วย ซึ่งแนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมด้านภูมิอากาศ (climate justice) ต่างสายก็มีรายละเอียดต่างกันไป ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย อธิบายว่าบางแนวคิดก็กำหนดความรับผิดชอบย้อนกลับไปถึงยุคการสำรวจทะเลและล่าอาณานิคมทีเดียว

ที่น่าตกใจแม้ไม่น่าประหลาดใจนักคือเมื่อมีการถกเถียงว่าด้วยความรับผิดชอบในเวทีเจรจาระดับโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบมาก อาทิ บริษัทน้ำมัน มักใช้ทรัพยากรที่ตนมีชักจูงทิศทางการเจรจาให้เป็นคุณแก่ตนเอง รวมถึงพัฒนา “กลยุทธ์ขัดขวางปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ทั้งการใช้อิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้งและการกำหนดนโยบายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม การสร้างภาพลักษณ์เป็นแบรนด์ที่ใส่ใจโลก และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ถึงกับพูดกันว่าเราจะไม่มาถึงจุดนี้เลยถ้าไม่มีความพยายามขัดขวางการตัดสินใจทางนโยบายของประชาคมโลกเกี่ยวกับภูมิอากาศอย่างนี้” ธาราบอก

เขาเล่าว่าจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางภูมิอากาศคือการประชุมระดับนานาชาติที่โคเปนเฮเกน ปี 2009 แต่แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 14 ปี ข้อถกเถียงและงานวิจัยว่าด้วยความยุติธรรมก็ยังไม่แพร่กระจายไปนอกแวดวงผู้ใช้ภาษาอังกฤษมากเท่าที่ควรจะเป็น

สำหรับข้อเรียกร้องหลักของการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมด้านภูมิอากาศนั้น ธาดากล่าวว่าคือส่วนแบ่งการชดเชยจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เป็นธรรม โดยมีกลไกสำคัญอย่างแนวคิดหนี้นิเวศน์ (ecological debt หรือ climate debt) และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) โดยหนี้นิเวศน์นั้นมุ่งให้ประเทศร่ำรวยและเป็นผู้ก่อผลกระทบทางภูมิอากาศให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนาที่เผชิญผลกระทบ ขณะที่การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเน้นจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและการปรับตัวต่อภาวะโลกเดือด

“แต่ตอนนี้แม้แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้” ธาราบอกเล่าอุปสรรค “อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเงินทุนส่วนใหญ่ที่ประเทศไทยใช้ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเงินกู้ ซึ่งสุดท้ายจะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ยิ่งกว่านั้น การให้กู้ในปัจจุบันยังเน้นให้ใช้เพื่อชะลอผลกระทบมากกว่า ไม่ใช่การปรับตัว ดังนั้นก็ต้องกู้ไม่มีที่สิ้นสุด ยังไม่นับปัญหาที่ว่าประเทศรายได้ต่ำมักกู้ได้น้อยด้วย”

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นวิจัยที่ธาราเห็นว่าประเทศไทยควรเร่งให้ความสำคัญควบคู่ไปกับพัฒนากลไกฟื้นฟูสภาพแวดล้อมระดับโลก คือเงินชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากโลกรวน (loss and damage) ที่มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องทบทวนเป้าหมายการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ซึ่งยังคงอยู่ที่ปี 2065 แม้จะมีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วนว่าช้าเกินไป

เมื่อถามถึงสถานการณ์การฟอกเขียว (greenwashing) หรือการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทต่างๆ ว่ามีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธารายอมรับว่าสถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมความอยุติธรรมด้านภูมิอากาศจริง โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรา 6 ของความตกลงปารีสที่เปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยและบริษัทยักษ์ใหญ่ชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตามปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกมานั้นมีปัญหาในการตีความมาก และเป็นหนึ่งในวิธีฟอกเขียวที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

“ตอนนี้การชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ (อาทิ การปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต) ก่อความกังวลมากในประเทศซีกโลกใต้ เพราะมีโครงการทำนองนี้เยอะ และมีสภาพเหมือนการขุดทองโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น บางประเทศอย่างอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินีก็กำลังพยายามทำให้ตลาดคาร์บอนภาคป่าไม้มีข้อบังคับที่ชัดเจนขึ้น อยู่”

นอกจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็มีอีกกระแสที่ธารากำลังจับตามอง คือคดีสภาพภูมิอากาศของเยาวชนและผู้ได้รับผลกระทบในหลายประเทศเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลหรือผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ ดังกรณีที่เยาวชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีต เพราะมาตรการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ ไม่เพียงพอจะลดมลพิษในอากาศ หรือกรณีชาวเปรูที่ฟ้องร้องบริษัทพลังงานสัญชาติเยอรมันอย่างแอร์เวเอ (RWE) เพราะมีส่วนทำให้ธารน้ำแข็งในเปรูละลาย

“การที่คดีแบบนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีงานวิจัย ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าการละลายของธารน้ำแข็งเชื่อมโยงกับบริษัทนั้น ก็ต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์”

เขาจึงเห็นด้วยกับผู้ร่วมสนทนาที่ว่าประเทศไทยต้องเพิ่มการลงทุนในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาทั้งผลกระทบ หาแนวทางปรับตัว และชดเชยความเสียหายให้กลุ่มต่างๆ อย่างเป็นธรรม โดยที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องยกระดับความจริงจังบนบนเวทีเจรจาระดับโลก โดยเฉพาะหลังบทบาทของไทยในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมขาดตอนไประหว่างวิกฤตทางการเมือง รวมถึงรับฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด และดำเนินมาตรการแก้ไขที่จะไม่ซ้ำเติมคนเหล่านี้อย่างทันท่วงที

“เรามีสมัชชาคนจนมาชุมนุมข้างทำเนียบและเพิ่งกลับไป ก่อนหน้านั้นก็มีขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟที่พยายามเจรจากับรัฐบาลด้วยเรื่องเดิม คือเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งมีผลวิจัยที่ชัดเจนตลอด 30 ปีที่ผ่านมาว่าไม่จำเป็นต้องสร้าง แต่พี่น้องก็ยังต้องมาเจรจาครั้งแล้วครั้งเล่า” ธาราเล่า “ความยุติธรรมด้านภูมิอากาศเป็นส่วนขยายของการดูแลทรัพยากรชุมชน และการปกป้องสิทธิของคนในพื้นที่ในการดูแลทรัพยากรของชุมชน ควรจะมีการสะสางปัญหาเดิมๆ ที่ต่อสู้กันมาตลอด 30 ปีเพื่อหันไปรับมือความท้าทายใหม่ๆ ได้แล้ว”

แน่นอนว่าแนวทางที่รัฐบาลเลือกใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวจะกำหนดจุดยืนของไทยบนเวทีเจรจาระดับโลกต่อไป และอาจกล่าวได้ว่าหากไทยไม่สามารถจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางภูมิอากาศในประเทศได้ ความหวังที่จะได้รับความยุติธรรมด้านภูมิอากาศเมื่อต้องต่อรองกับนานาประเทศก็ยังเลือนรางเต็มที

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save