fbpx

บาดแผลและการเยียวยาใน “Gift เมื่อเธอหวนคืน ฉันจึงกลับมา”

“ทุกคราวที่ลืมตาตื่น
ยามที่ความมืดภายใต้เปลือกตาเปิดออก
ฉันมองเห็นทุกสิ่งเป็นสีขาว
สีขาวคือผลรวมของทุกสี
ฉันจึงมองเห็นสิ่งที่รายล้อมรอบตัวได้อย่างชัดเจน…”

ข้อความดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในจดหมายลึกลับที่ถูกส่งมาให้ ‘กิฟต์’ ตัวละครเอกในนวนิยาย ‘Gift เมื่อเธอหวนคืน ฉันจึงกลับมา’ และเป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ซ้ำๆ ตลอดเรื่องโดยเฉพาะเมื่อตัวละครกิฟต์ตกอยู่ในภวังค์แห่งความว่างเปล่าหรือความเคว้งคว้างสับสน ข้อความนี้ยังปรากฏเป็นภาพที่อยู่ในความฝันของกิฟต์เมื่อยามหลับใหลอีกด้วย อะไรคือสิ่งที่ทำให้ข้อความนี้ถูกตอกย้ำซ้ำๆ อยู่ทั้งเรื่อง ความสำคัญของตัวข้อความและจดหมาย ‘ลึกลับ’ ฉบับนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนพยายามเชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้ขบคิดและติดตามชะตากรรมของตัวละคร ‘กิฟต์’ ไปจนจบเรื่อง

‘Gift เมื่อเธอหวนคืน ฉันจึงกลับมา’ เป็นผลงานนวนิยายของ Rhythm นักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง เมื่ออ่านนวนิยายจบแล้วทั้งเล่มและมาอ่านประวัติของผู้เขียนต่อด้านหลังอาจช่วยทำให้เราเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าทำไมเขาจึงเขียนเรื่องออกมาเช่นนี้ ในประวัติของนักเขียนท้ายเล่มอธิบายเอาไว้ว่า “…เป็นคนที่หลงใหลความเงียบ สันโดษ หลงรักฤดูฝนตอนบ่ายและฤดูหนาวตอนสายๆ เป็นลูกคนเดียวในครอบครัวชนชั้นกลาง และด้วยความทรงจำในวัยเด็ก ปม บาดแผล หรืออะไรก็ตามแต่ พอรู้ตัวอีกที เด็กคนนี้ก็โตมาด้วยโลกจินตนาการซึ่งเป็นโลกใบเดียวที่ปลอดภัย โลกที่สามารถพูดคุยได้ทุกอย่าง…” (หน้า 317)

แน่นอนว่านวนิยาย ‘Gift เมื่อเธอหวนคืน ฉันจึงกลับมา’ เป็นการเล่าเรื่องของปัจเจกบุคคลที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของความทรงจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทรงจำบาดแผล บาดแผลจากอดีตนั้นก่อร่างสร้างตัวเป็นตัวตนและบุคลิกบางอย่างให้กับตัวละครโดยที่บางครั้งเองตัวละครก็ไม่ได้ตระหนักว่ามันเกิดจากอะไร แต่สิ่งที่น่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือผู้เขียนได้นำเสนอหนทางและวิธีการที่จะเยียวยาบาดแผลของความทรงจำ แม้ว่าบาดแผลของความทรงจำนั้นไม่อาจลบเลือนไปได้ มันยังคงอยู่ภายในปัจเจกบุคคลอยู่ตลอดเวลาแต่การเยียวยาและต่อรองกับความทรงจำเหล่านั้นอาจช่วยทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถเผชิญหน้ากับชีวิตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

บาดแผลกับการปรากฏตัวบาดแผล

บาดแผลทางจิตใจ (trauma) มักจะถูกอธิบายว่าเป็นประสบการณ์ที่ท่วมท้นและยากจะต่อต้านเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รุนแรง การตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นช้าๆ ควบคุมไม่ได้และปรากฏขึ้นซ้ำๆ มีลักษณะเป็นอาการหลอนประสาทและรบกวนจิตใจตลอดเวลา สำหรับผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงจนก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ กลไกการรับมือของจิตคือการผลักไสความรุนแรงให้ไปอยู่ในจิตไร้สำนึก (unconsciousness) พร้อมการผลิตซ้ำเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

จากตัวเรื่อง เราจะเห็นได้ว่ามีการเล่าถึงพื้นที่สองแบบทับซ้อนกัน นั่นคือพื้นที่ของโลกแห่งความเป็นจริงที่ตัวละครต่างๆ ดำรงอยู่ (กิฟต์, กิ่ง, คุณตาของกิ่ง, ฯลฯ) กับพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเหมือนความฝัน พื้นที่อย่างหลังนี้คือพื้นที่ของจิตไร้สำนึกซึ่งเป็นสถานที่กักเก็บความทรงจำต่างๆ ของกิฟต์ ความทรงจำเหล่านั้นก็คือความทรงจำบาดแผลที่นำไปสู่ความโศกเศร้า ไร้ชีวิตชีวาของกิฟต์ โลกอีกแบบหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาในระดับจิตรู้สำนึกของกิฟต์นั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ไม่มีที่มา ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ใดทำให้การสลับโลกของกิฟต์นั้นเกิดขึ้น

“…และในขณะนั้นเอง ฉันก็เริ่มได้ยินเสียง…เสียงของคลื่นทะเลและกระแสลมใช่ เสียงคลื่นทะเล มันมักจะเริ่มต้นเช่นนี้เสมอเป็นเสียงสัญญาณแรกที่ดังขึ้น ดังเช่นเสียงประกาศบนชานชาลาที่รถไฟกำลังมุ่งเข้ามา โลกอีกใบกำลังจะเปิดประตูต้อนรับ” (หน้า 23)

ในโลกแห่งนี้มีลักษณะเหมือนกับห้องแบนราบไร้มิติ แต่ทำให้กิฟต์รู้สึกว่ามันจริงพอๆ กับโลกภายนอก

“พอรู้ตัวอีกที ฉันก็เลื่อนลอยออกไปยังท้องฟ้าราตรีไร้ดาว เสียงคลื่นทะเลเงียบหายไป และเสียงสุดท้ายที่ฉันได้ยินคือเสียงปิดประตูดัง ‘กึก’ ราวกับว่ามีใครบางคนล็อกมันจากข้างนอก
เมื่อสายตาปรับโฟกัสได้อีกครั้ง ท้องฟ้าราตรีที่ฉันเห็นกลับไม่ใช่ภาพสามมิติ กลายเป็นท้องฟ้ากระดาษที่ถูกแต่งแต้มด้วยดินสอ ด้วยสี หรืออะไรก็ตามที่ทำให้มันกลายเป็นภาพวาด แต่ก็ไม่ใช่ภาพวาดที่สวยงาม ทุกเส้นสายขยุกขยิกยุ่งเหยิง ดึงดูดให้รู้สึกคล้ายล่องลอยไร้ทิศทางอยู่ในเขาวงกตแต่จิตใต้สำนึกของฉันกลับรู้สึกว่าโลกแบนราบไร้มิตินี้จริงยิ่งกว่าโลกสามมิติที่รู้จัก ฉันตอบไม่ได้ว่าทำไม มันอยู่นอกเหนือขอบเขตการตั้งคำถามและถลำลึกลงไปมากกว่าความฝัน”
(หน้า 24)

เราจะเห็นได้ว่านี่คือกลไกในการรับมือกับบาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับตัวละครกิฟต์ ซึ่งการรับมือดังกล่าวนี้ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เป็นบาดแผลทางจิตใจหายไปจากชีวิตของตัวละคร แต่คือการผัดผ่อนและผลักไสบาดแผลเหล่านี้ให้ไปอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของจิตใจเพื่อต่อรองกับความทรงจำบาดแผลที่เกิดขึ้นจากอดีตของตัวละคร

ครอบครัวและบาดแผล

บาดแผลจากอดีตของตัวละครกิฟต์นั้นเกิดมาจาก ‘ครอบครัว’ ครอบครัวของกิฟต์นั้นเคยเป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีความรัก มีความหวังดีมอบให้กับลูกน้อย ความอบอุ่นในชีวิตของกิฟต์มีอายุขัยเพียงสามปีเท่านั้น จะเห็นได้จากตอนที่กิฟต์นั่งรูปถ่ายเก่าๆ ในบ้าน จนกระทั่งไปเจออัลบั้มหนึ่งที่เป็นภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวทะเลกันทั้งครอบครัว เหตุการณ์ที่ปรากฏในภาพถ่ายนั้นเป็นการกระตุ้นกิฟต์ให้ระลึกถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตเธอคือช่วงสามขวบ และเป็นช่วงเวลาที่ถูกจดจำผ่านเหตุการณ์การไปเที่ยวทะเล เพราะการไปทะเลในวัยสามขวบเป็นช่วงเวลาที่กิฟต์รู้สึกว่าเธอได้ทำอย่างที่ตัวเองอยากทำ ได้เป็นในสิ่งที่เธออยากจะเป็น

“จากนั้นแม่ก็ปล่อยให้เล่นตามใจ เธอมีอิสระเต็มที่ สร้างปราสาทขึ้นมาโดยไม่มีภาพจำในหัวว่าปราสาทต้องเป็นแบบไหน มันไม่ได้มาจากภาพวาดประกอบในหนังสือนิทานก่อนนอนหรือปราสาทของจริงในอารยธรรมโบราณ ปราสาทหลังนี้ถูกสร้างขึ้นจากตัวเธอเอง ภายในจิตใจดวงน้อยๆ ที่ต้องการจะสร้างสรรค์บางสิ่งบนผืนทรายขาว” (หน้า 157)

และก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชายทะเลเช่นกันที่กลายเป็นความทรงจำแห่งความทุกข์ ตัวเรื่องเล่าถึง ‘พายุ’ ที่เกิดขึ้นที่ทะเลทรายในวันนั้น ครอบครัวของกิฟต์วิ่งหนีพายุ ขับรถหนีพายุที่ไล่หลังมา จากนั้น

“พ่อกับแม่เปลี่ยนไปเป็นคนละคนราวกับทิ้งร่างเดิมเอาไว้ที่ชายหาด พ่อเขม้นมองไปตามทางไม่พูดไม่จา สบถด่าเมื่อทางข้างหน้ามีสิ่งกีดขวาง บางครั้งทั้งคู่ก็ทะเลาะกันเสียเอง บางครั้งก็หันกลับมาตะคอกใส่เธอเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้” (หน้า 161)

ตอนท้ายของเรื่อง ผู้เขียนได้ ‘เฉลย’ ปมของตัวละครเกือบทั้งหมดเ โดยเฉพาะปมเรื่องครอบครัวที่กลายเป็นบาดแผลในจิตใจของกิฟต์ พ่อผู้ประสบภัยจากพิษเศรษฐกิจทำให้ความเครียดกัดกินชีวิต จนกระทั่งความเครียดดังกล่าวนั้นส่งผลให้ “เริ่มก่นด่าหยาบคาย สบถให้กับทุกสิ่งที่รายล้อม หนีหายไปกับความเมามาย ด้วยเครื่องดื่มรสขม ด้วยควันสีขาว ด้วยยาเม็ดสีแปลกตา” (หน้า 305) จากนั้น “พ่อระบายทุกอย่างออกมาหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน โกรธทุกสิ่งในชีวิต กินเหล้าจนเมามายเพื่อหวังว่าจะหนีหายไปจากความจริง แต่ก็ทำไม่ได้ นอกจากระบายความแค้นออกมา พ่อเริ่มทุบตีแม่และลูกสาวของตัวเอง” (หน้า 306) ส่วนแม่นั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ปกป้องตัวเองและลูกไม่ได้ “ทำได้เพียงกลั้นน้ำตาปกปิดความแตกสลายที่อยู่ภายใน” (หน้า 306)

จุดแตกหักระหว่างกิฟต์กับครอบครัวก็คือ ตอนที่พ่อเห็นภาพวาดชายหาดของกิฟต์เกลื่อนเต็มพื้นพ่อจึงโมโหและเริ่มอาละวาด กิฟต์ป้องกันตัวเองด้วยการปาสีเทียนใส่หน้าพ่อและพ่อก็ใช้ขวดเหล้าฟาด ตัวเรื่องเล่าว่าเหตุการณ์ทำให้เธอสร้างโลกอีกใบขึ้นมาเป็นโลกที่ทำให้เธอปลอดภัย เธอสร้างตัวตนอีกแบบหนึ่งขึ้นมาในจินตนาการขึ้นมาเพื่อเก็บเอา ‘ตัวตน’ ที่มีความฝันเอาไว้ ขณะที่ตัวตนอีกคนหนึ่งต้องออกไปต่อสู้เผชิญกับความโหดร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง พ่อและแม่ของเธอพยายามจะแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง แต่ก็ไม่เคยได้ผลเพราะมันเป็นเพียงแค่เกลื่อนกลบบาดแผลเอาไว้เท่านั้น ในขณะที่ตัวตนของกิฟต์อีกแบบที่ถูกนำเสนอในโลกของความเป็นจริงนั้น “เริ่มไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถทนต่อไปได้นานแค่ไหน” (หน้า 311)

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ‘ตัวตน’ ที่ถูกนำเสนอมาตลอดเรื่องก่อนหน้านี้ อาจเป็นตัวตนอีกแบบที่กิฟต์สร้างขึ้น แต่มันก็ไม่อาจแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดกับตัวตนอีกแบบที่ถูกนำไปเก็บซ่อนไว้ด้านใน และไม่ว่าตัวตนของกิฟต์จะมีกี่แบบ ต่างก็เป็นตัวตนที่บอบช้ำด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น และหากเราพิจารณาด้วยว่า กลไกการรับมือกับบาดแผลทางจิตใจของปัจเจกบุคคลคือการผลักไสบาดแผลเหล่านั้นให้ไปอยู่ในจิตไร้สำนึก กิฟต์ที่ผู้อ่านได้รู้จักก่อนหน้านี้ ทั้งโลกทัศน์ วิธีการมองและเข้าใจโลก อาจเป็นโลกใบที่สอง… หรืออาจมากกว่านั้นที่กิฟต์สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองและรับมือกับบาดแผลทางจิตใจ และที่สำคัญโลกทุกใบที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากกัน เราจึงได้เห็นความแปลกแปร่งของโลกที่กิฟต์เห็นและรู้สึกซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกอึดอัดและพยายามค้นหาว่ากิฟต์กำลังรู้สึกหรือกำลังอยู่ในโลกแบบไหนกันแน่ เพราะสุดท้ายแล้ว โลกที่เป็น ‘จริง’ ที่สุด ก็คือโลกที่ผู้เขียนได้เฉลยเอาไว้ในตอนท้ายเรื่องนี่เอง

การเยียวยาและการต่อรอง

นวนิยาย ‘Gift เมื่อเธอหวนคืน ฉันจึงกลับมา’ นอกจากจะเป็นการนำเสนอบาดแผลทางจิตใจของตัวละครที่เกิดขึ้นจากครอบครัวได้อย่างน่าสนใจแล้ว ประเด็นเรื่องของการเยียวยาก็เป็นอีกเรื่องที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนพยายามจะนำเสนอเอาไว้ด้วย การเยียวยาในตัวเรื่องนั้นผู้เขียนได้สร้างตัวละครขึ้นมาอย่างน้อยสามคนคือ เจ้าของร้าน ‘ดำรงศิลป์’ ที่กิฟต์โดดเรียนและไปพบโดยบังเอิญ, ‘กิ่ง’ น้องฝึกงานที่ในภายหลังพาให้กิฟต์ไปพบกับอาจารย์ของกิ่งที่ญี่ปุ่น คือ ‘ยูนะ’

ผมสนใจตัวละคร ‘กิ่ง’ ที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของกิฟต์และนำกิฟต์ไปสู่หนทางแห่งการเยียวยาตนเอง ในตอนแรกกิ่งชวนให้กิฟต์เล่นบอร์ดเกมที่ชื่อว่าเดอะครีเอเตอร์ กิ่งอธิบายเกมนี้ว่า

“เราจะต้องสร้างตัวละครขึ้นมาคนละตัว ตั้งชื่อให้มัน แล้วก็วางจุดหมายให้มัน ว่าอยากให้ตัวละครตัวนี้เป็นแบบไหนในตอนจบ เช่นได้พบรัก ประสบความสำเร็จ ปีนเขาเอเวอร์เรสต์ หรืออะไรก็ได้…พอตัวละครมีเป้าหมาย เราจะต้องสุ่มการ์ดตามช่วงวัยของชีวิต เอาตั้งแต่แรกเกิดเลย…” (หน้า 73)

จากเกมนี้เอง กิฟต์ได้เปิดเปลือยเรื่องราวของตัวเองผ่านการเล่นเกม และเธอได้สร้าง ‘โลก’ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง นั่นคือโลกในเกมที่มีเธอและกิ่ง ในโลกแห่งนั้น กิฟต์สร้างตัวละครที่ชื่อ ‘ฟลาวเวอร์’ ส่วนกิ่งสร้างตัวละคร ‘ลูน่า’ ขึ้นมา ในโลกใบนี้ ดูเหมือนจะเป็นโลกที่กิ่งและกิฟต์สร้างขึ้นมาเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นโลกที่เยียวยาความรู้สึกของกิฟต์ได้ด้วยการเปิดเผยความทรงจำบาดแผลของตนเองขึ้นมาและกิ่งในฐานะ ‘ลูน่า’ ก็เป็นสิ่งที่คอยเยียวยา โอบกอดความรู้สึกของกิฟต์ในฐานะ ‘ฟลาวเวอร์’ ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ลูน่า’ และ ‘ฟลาวเวอร์’ ในโลกของเดอะครีเอเตอร์มีลักษณะคล้ายกับการบำบัดเยียวยาระหว่างคนไข้กับผู้รักษา ลูน่า หมายถึงพระจันทร์ในขณะที่ ฟลาวเวอร์ คือดอกไม้ที่เบิกบานเพราะพระจันทร์ การได้พบกิ่งจึงอาจหมายถึงกระบวนการในการเยียวยาบาดแผลของกิฟต์ได้เริ่มต้นขึ้น

นอกจากนี้ กิ่งยังได้ชวนให้กิฟต์ไปพบกับอาจารย์ยูนะที่ญี่ปุ่น ณ ที่แห่งนั้นเอง กิฟต์ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจิตใจของตัวเอง กิฟต์ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างหนัก คำแนะนำของยูนะก็คือกิฟต์ต้องเผาทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในจิตใจทั้งหมดแต่สุดท้ายแล้ว สิ่งกิฟต์ตระหนักและเรียนรู้จากกระบวนการการเยียวยาตนเองก็คือ ความโศกเศร้าทั้งหมดในใจที่กลายเป็นบาดแผลฉกาจฉกรรจ์นั้นไม่อาจเยียวยาได้ด้วยการกลบทับบาดแผล “ไม่ใช่การเบี่ยงเบนความเจ็บปวด ไม่ใช่การสะกดจิตด้วยคำพูดที่ว่า ‘ฉันไม่เป็นไร’ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน” (หน้า 293)

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นวนิยายเรื่องนี้พยายามนำเสนอว่าบาดแผลทางจิตใจนั้นคือสิ่งไม่อาจเยียวยาได้ไม่ว่าจะใช้กระบวนการบำบัดแบบใด สิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องเผชิญหน้าคือความเจ็บปวด สิ่งที่ทำได้มากที่สุดก็คือการรับมือกับมัน ความทุกข์คือสิ่งที่ไม่มีวันดับสูญ ไม่หายไป การต่อรองก็คือการค้นหาวิธีที่อยู่กับบาดแผลเหล่านั้นเพื่อให้ชีวิตดำรงต่อไปข้างหน้าได้ และเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาข้อความในจดหมายลึกลับที่ว่า

“ทุกคราวที่ลืมตาตื่น
ยามที่ความมืดภายใต้เปลือกตาเปิดออก
ฉันมองเห็นทุกสิ่งเป็นสีขาว
สีขาวคือผลรวมของทุกสี
ฉันจึงมองเห็นสิ่งที่รายล้อมรอบตัวได้อย่างชัดเจน…”

แท้จริงแล้วก็คือการพยายามบอกว่า เมื่อเราขจัดเรื่องราวต่างๆ ออกไปเราจะเห็นทุกอย่างได้ชัดเจนขึ้น เห็นทุกสี เห็นทุกสิ่งที่รายล้อมตัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในจดหมายลึกลับยังมีข้อความอีกบางส่วนที่กล่าวว่า

“สีฟ้าของดอกไฮเดรนเยีย
สีครามของท้องนภา
บนแผ่นไม้กระดานของชิงช้า
ฉันนั่งเฝ้ามองผีเสื้อโบยบินไปรอบๆ”

ดอกไฮเดรนเยียนั้นถูกกล่าวถึงอยู่ตลอดเรื่อง เมื่อเราพิจารณาความหมายของดอกไฮเดรนเยีย ซึ่งมีหลายความหมาย แต่โดยมากจะเป็นความหมายในเชิงบวก เช่น ความจริงใจ ความรู้สึกขอบคุณ ความเข้าใจกันและอยู่เคียงข้างกัน รวมไปถึงความรู้สึกเพิกเฉยเย็นชา นอกจากนี้สีแต่ละสียังมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีกด้วย เช่น สีฟ้า การให้อภัย การปฏิเสธ และความเสียใจ ดังนั้นสีฟ้าของดอกไฮเดรียนเยียที่ถูกกล่าวถึงในจดหมายลึกลับและตลอดทั้งตัวเรื่อง มันอาจหมายถึงว่าในการรับมือและต่อรองเพื่ออยู่กับบาดแผลทางจิตใจนั้น เราอาจต้องให้อภัยตัวเองบ้าง เราอาจจะปฏิเสธเรื่องราวบางอย่างได้บ้าง และเราก็ยังอาจเสียใจได้ เพราะบาดแผลนั้นทางจิตใจนั้นไม่เคยจะหายไปไหน

วิกฤตต้มยำกุ้งกับวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมากพอๆ กับการนำเสนอบาดแผลของตัวละครก็คือบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมชีวิตและพฤติกรรมของตัวละคร นั่นคือการนำเอาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาเสนอเป็นภูมิหลังของครอบครัวที่เริ่มต้นแตกสลายจากวิกฤติดังกล่าว

‘กิฟต์’ อายุ 29 ในตัวเรื่องตอนหนึ่งบรรยายว่าเมื่อตอนสามขวบไปเที่ยวทะเลแล้วเจอมรสุม ทำให้ทุกคนต้องหนี และพ่อกับแม่ก็เปลี่ยนไป หากพิจารณาเรื่องอายุ ในปีนี้คือ 2566 ถ้ากิฟต์อายุ 29 ปี เท่ากับว่า กิฟท์ต้องเกิดในปี 2537 ดังนั้นการไปเที่ยวทะเลและเจอมรสุมเมื่อตอนกิฟต์อายุสามขวบ เท่ากับว่ามรสุมที่กล่าวถึงคือ วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ในครอบครัวเลวร้ายลง พ่อและแม่ที่เคยคิดอยากจะสนับสนุนให้กิฟต์ได้เป็นได้ทำอย่างที่ต้องการโดยที่จะ “เป็นเพื่อนที่ดีของลูก รอคอยอย่างใจเย็นให้ปราสาทหลังนั้นสร้างจนเสร็จ ไม่ว่ามันจะหน้าตาแบบไหน” (หน้า 158) กลายเป็นพ่อที่คอยบังคับให้เรียนพิเศษ คอยดุด่า ไม่เคย “รอคอยอย่างใจเย็น” เพื่อให้ปราสาทในใจของกิฟต์ค่อยๆ เติบโตขึ้น เช่นที่ปรากฏในตอนต้นเรื่อง “ทำไมแกเป็นแบบนี้อีกแล้ว ถามจริงๆ ทุกวันนี้แกเคยตั้งใจเรียนบ้างหรือเปล่า… กูอุตส่าห์ให้มึงเรียนอย่างเดียว ไม่ต้องลำบาก แค่นี้มึงยังทำไม่ได้” (หน้า 28)

ผมคิดว่าในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในรอบสองทศวรรษมานี้หากจะพูดถึงหรือกล่าวถึงวิกฤตบางอย่างในสังคม, เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง โดยมากถ้าหากไม่เป็นเรื่องรัฐประหาร 2549 และ 2557 ก็เป็นเรื่องของการล้อมฆ่าคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 หรือเหตุการณ์ที่ใกล้ที่สุดเมื่อนับจากปี 2566 ก็คือกรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 นั้นแทบจะหายไปจากวรรณกรรมไทยเลยก็ว่าได้

ดังนั้นการปรากฏตัวของวิกฤติต้มยำกุ้งในนวนิยายไทย พ.ศ. 2566 นั้นอาจช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวในฐานะจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่ผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างฉับพลัน  สภาวะครอบครัวแหลกสลาย บ้านแตกสาแหรกขาดในช่วงปี 2540 ถูกนำเสนอในฐานะต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและบาดแผลที่ส่งผลต่อปัจเจกบุคคลในปัจจุบัน

ความโศกเศร้าและบาดแผลทางจิตใจในนวนิยาย ‘Gift เมื่อเธอหวนคืน ฉันจึงกลับมา’ จึงไม่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัญหาของปัจเจกบุคคลหรือจากสารเคมีในสมองทำงานไม่ปกติ แต่มันถูกเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย อารมณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรื่องจึงไม่ได้ล่องลอยและเป็นนามธรรมไปเสียทั้งหมด เราจึงได้เห็นการสวมกอดกันระหว่างปัญหาของปัจเจกบุคคลกับปัญหาในสังคมได้ในระดับที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ส่งท้าย: ข้อสังเกตบางประการ

นวนิยายเรื่องนี้มีจุดเด่นในเรื่องของการนำเสนอปัญหาของปัจเจกบุคคลที่เป็นผลมาจากครอบครัวที่แหลกสลายและวิกฤติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย แต่ในแง่ของกลวิธีแล้วผมคิดว่าวิธีการเล่าในหลายๆ จุดดูจะจงใจใส่เนื้อหาที่แปลกแปร่ง หรือคำพูดของตัวละครที่ดูจะประดักประเดิดไปบ้างในหลายๆ จุด เช่น ตอนที่กิฟต์ไปสัมภาษณ์คุณตาของกิ่ง บทสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นดูเหมือนจะกลายเป็นการอภิปรายหัวข้อทางปรัชญาชีวิตเสียมาก และดูจงใจจะใส่เข้ามาโดยขาดบริบทที่มารองรับ หรือในตอนสุดท้ายการตระหนักรู้ถึงชีวิตของกิฟต์ ก็เกิดขึ้นบนบริบทที่ไม่แข็งแรงมากพอ กล่าวคือจู่ๆ ตัวละครจะนึกได้ว่าชีวิตควรจัดการอย่างไรก็มาโดยฉับพลันทันด่วนอยู่พอสมควร และหากกล่าวอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่มีบาดแผลทางจิตใจการหาทางออกจากบาดแผลนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าตัวเรื่องจะพยายามอธิบายว่ากิฟต์ได้ค้นหาวิธีการที่จะอยู่ร่วมกับมันได้ แต่สิ่งที่กิฟต์ทำในตอนสุดท้ายคือการเขียนจดหมายลึกลับฉบับนั้น จดหมายถูกส่งให้กับตัวเองในอดีต ผมคิดว่าในตอนนี้มันทำให้ตัวเรื่องดูคล้ายกับละครคุณธรรมที่พยายามจะเทศนาคนดูว่าแท้จริงแล้วชีวิตควรทำอย่างไร

ผมคิดว่าผลงานชิ้นแรกๆ ของนักเขียนอาจมีเรื่องราวมากมายที่อยากจะเล่า แต่ด้วยประสบการณ์ที่ต้องการการเพาะบ่ม ในอนาคต Rhytm อาจมีท่วงทำนองในการนำเสนอที่เหมาะเจาะกับเรื่องที่เขาอยากจะเล่าก็เป็นได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save