fbpx

ความนิยมเยอรมันใน ‘ปรัสเซียแห่งบูรพาทิศ’

Seid ihr das Essen?

เจ้าหรือคือภักษาหาร?

Nein, wir sind der Jäger!

หาไม่, ข้าคือพรานผู้ล่า!

สำหรับคอการ์ตูนที่รู้ภาษาเยอรมัน ประโยคนี้ในกุเรน โนะ ยูมิยะ (Guren no Yumiya) เพลงเปิดแรกของ ผ่าพิภพไททัน ย่อมไม่สร้างความประหลาดใจนัก 

ภาษาเยอรมัน ตัวละครชาวเยอรมัน และวรรณคดีเยอรมัน เป็นองค์ประกอบอันดาษดื่นในอุตสาหกรรมมังงะและอนิเมะ หลายคนอาจคุ้นเคยกับโซริว อาซึกะ แลงลีย์ (Sohryu Asuka Langley) จาก อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา ที่มักสบถสาบานเป็นภาษาเยอรมันเมื่อมีน้ำโห, ลุดวิกหรือ ‘เยอรมันคุง’ จาก พลังอักษะ เฮตาเลีย, โยฮันน์ เฟาสต์ ที่แปด (Faust VIII) จาก ราชันย์แห่งภูต และสารพัดชื่อในผ่าพิภพไททัน รวมถึงเพลงประกอบภาษาเยอรมันอย่างโฟเกล อิม เคฟีก (Vogel im Käfig)

ความดาษดื่นที่ว่าสะดุดตานักวิชาการจำนวนไม่น้อย และนำไปสู่การศึกษาหลากแง่มุมของความนิยมเยอรมันในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยหนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจเป็นของอะกิโกะ สึกาวะ-ชิมาดะ (Akiko Sugawa-Shimada) ซึ่งเปิดเผยว่าอนิเมะหรือมังงะที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามหรือการทหาร[i]

เนิร์ดลิงเงิน (Nördlingen) เมืองที่มีกำแพงโบราณล้อมรอบในรัฐบาเยิร์น
ดึงดูดความสนใจของแฟนผ่าพิภพไททันจำนวนมาก

แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าความนิยมเยอรมันเป็นมรดกของการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งดูจะเป็นความสัมพันธ์เยอรมัน-ญี่ปุ่นที่เด่นชัดที่สุดเท่านั้น เพราะสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสองแผ่นดินถูกถักทอก่อนหน้านั้นนานนัก ทั้งยังมีขอบเขตกว้างขวาง ลึกซึ้งกว่าเพียงความสัมพันธ์ทางการทหาร ชี้ชะตาญี่ปุ่นสมัยใหม่ ตลอดจนให้ผลลัพธ์เชิงวัฒนธรรมหลากหลายกว่าที่ใครจะคาดคิด

ปรัสเซียแห่งบูรพาทิศ

คาซุโอะ มัตสึดะ (Kazuo Matsuda) ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ระบุว่า ตัวละคร ‘ชาวตะวันตก’ ในวรรณกรรมญี่ปุ่นค่อยๆ ปรากฏโฉมในศตวรรษที่ 19 โดยตัวละครเหล่านี้มักมีลักษณะทางกายภาพ ทักษะ และสติปัญญาเหนือกว่าตัวละครชาวญี่ปุ่น

การปรากฏโฉมของตัวละครผิวขาวผู้ถือไพ่เหนือกว่านั้นสอดคล้องกับความพยายามปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยของจักรวรรดิญี่ปุ่น และสะท้อนความรู้สึก ‘เป็นรอง’ ของชาวตะวันออกให้เห็นชัดเจน อันเป็นสามัญทรรศนะของรัฐทั้งหลายที่ต้องขวนขวายพัฒนาตนให้ทัดเทียม ‘เจ้าเข้าครอง’ จากตะวันตก ซึ่งขณะนั้นสยายปีกแห่งอำนาจข้ามมหาสมุทร ครอบครองดินแดนโพ้นทะเลจำนวนนับไม่ถ้วน

กระนั้นในหมู่รัฐที่เผชิญสถานการณ์ข้างต้น ญี่ปุ่นก็ดูจะมีภาษีดีกว่าใครด้วยสมญานาม ‘ปรัสเซียแห่งบูรพาทิศ’ (die Preußen des Ostens/die Preußen Asiens)[ii] ที่สื่อเยอรมันใช้ในทศวรรษ 1890 ท่ามกลางการขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจทั้งหลายในดินแดนตะวันออก สมญานามนั้นจึงเป็นเสมือนการอวดอ้างตนเองของจักรวรรดิเยอรมันใต้การนำของปรัสเซีย ว่าญี่ปุ่นซึ่งได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญาจากตนเติบโตเป็นชาติอุตสาหกรรมอันล้ำหน้าอย่างที่รัฐในความอุปภัมภ์ของมหาอำนาจอื่นๆ เทียบไม่ติดฝุ่น 

อาจไม่ใช่การสรรเสริญโดยบริสุทธิ์ใจ แต่เจ้าของนาม ‘ปรัสเซียแห่งบูรพาทิศ’ ก็ดูจะชอบพอการเป็น ‘ปรัสเซีย’ หรือเยอรมันของตนไม่น้อย โอกาอิ โมริ (Ogai Mori) นักเขียนมือทองแห่งสมัยเมจิและไทโช กล่าวถึงความประเสริฐแห่งวัฒนธรรมเยอรมันในสุนทรพจน์ปี 1902 ว่า “เพื่อนร่วมชาติผู้หลักแหลมทั้งหลายได้สร้างสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมแก่การงอกงามของวัตรปฏิบัติตะวันตกในญี่ปุ่นแล้ว … [วัตรปฏิบัติที่ว่านั้น] คือคุณลักษณะของชาวเยอรมันผู้นิยม ‘การกรำงาน’ (Arbeit) นั่นเอง” [iii]

หนึ่งในนวนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของโอกาอิคือ Maihime
โศกนาฏกรรมรักระหว่างนักเรียนชาวญี่ปุ่นและหญิงสาวชาวเยอรมัน

และคงไม่ใช่เพียงความคิดเห็นของโอกาอิเป็นแน่ เพราะชาวเยอรมันยัง ‘ครองแชมป์’ ชาวตะวันตกดีเด่นในญี่ปุ่นจวบจนทศวรรษ 1970 โดยผลสำรวจทัศนคติของชาวญี่ปุ่นต่อชาวต่างชาติระบุว่า ชาวเยอรมันยังเป็นกลุ่มชนที่ ‘เฉลียวฉลาดและขยันขันแข็ง’ ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทัศนคติของชาวญี่ปุ่นต่อชนชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปหรือแอฟริกัน

เมื่อพิจารณาพร้อมกันแล้วจึงพออนุมานได้ว่า ‘ความนิยม’ เยอรมันนั้นเริ่มเป็นรูปร่างก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะปะทุเสียอีก โดยก่อตัวท่ามกลางการแสวงหา ‘แบบอย่าง’ แห่งวิถีชีวิตใหม่จากตะวันตก หรือ นิวนอร์มอล แห่งศตวรรษแห่ง 19 ทว่าด้วยเหตุผลกลใดหนอ ท่ามกลางมหาอำนาจยุโรปมากหน้าหลายตา ปรัสเซียหรือจักรวรรดิเยอรมันจึงเป็นตัวแบบอันพึงประสงค์ที่สุด

คำตอบอยู่บนผืนธงอาทิตย์อุทัยอันสะบัดโบก ก่อความครั่นคร้ามทั่วเอเชียในเวลาต่อมานั่นเอง

รัฐธรรมนูญเมจิ และการก่อร่างสร้าง ‘ชาติ’

ปี 1995 เคลาส์ คิงเคล (Klaus Kinkel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าว ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า “ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและวิชาการนั้น คือหัวใจแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสองเราเสมอมา”[iv]

หลายคนอาจคุ้นเคยกับพลจัตวาชาวอเมริกัน แมทธิว ซี. เพอร์รี (Matthew C. Perri) ผู้ดำเนินนโยบายเรือปืนเพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี 1853 หลังการโดดเดี่ยวตนเองอันยาวนาน แต่อาจไม่คุ้นหูนักเมื่อกล่าวถึงคณะสำรวจออยเลนบวร์ก (Eulenburg Expedition) ผู้บุกเบิกเส้นทางมุ่งตะวันออกของปรัสเซีย ออยเลนบวร์กผู้นี้เดินทางถึงญี่ปุ่นในปี 1860 เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ทั้งจักรวรรดิเยอรมันและญี่ปุ่นก่อร่างสร้างตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยในปี 1871 ออตโต ฟอน บิสมาร์ก (Otto von Bismarck) รัฐบุรุษแห่งปรัสเซียได้รวบรวมแว่นแคว้นเยอรมันน้อยใหญ่ให้อยู่ใต้พระราชอำนาจไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 แห่งราชวงศ์โฮเอินซอลแลร์น ขณะที่โทกุงาวะ โยชิโนบุ (Tokugawa Yoshinobu) โชกุนคนสุดท้ายของตระกูลโทกุกาวะซึ่งปกครองญี่ปุ่นกว่าสองศตวรรษ ได้ถวายคืนพระราชอำนาจแด่พระจักรพรรดิแห่งบัลลังก์ดอกเบญจมาศ ประเดิมก้าวแรกสู่สมัยเมจิอันตื่นตา

แรกเริ่มเดิมที ปรัสเซียไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมในแดนอาทิตย์อุทัย ตรงกันข้าม ราชสำนักและมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นนิยม ‘โอยะโตะอิ ไกโคะคุจิน’ (oyatoi gaikokujin) หรือที่ปรึกษาต่างชาติจากสหรัฐอเมริกาและบริเตนมากกว่า กระทั่งสงครามเซนัน หรือสงครามกบฏซัตสึมะระเบิดขึ้นในปี 1877 เมื่อเหล่าซามูไรที่สูญเสียรายได้และฐานะทางสังคมกลับแปรพักตร์ หันคมดาบให้พระจักรพรรดิ (และใช่แล้ว สงครามเซนันนี้เองที่เป็นฉากหลังของภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง The Last Samurai ) ราชสำนักญี่ปุ่นจึงตระหนักว่าอำนาจนำของตนคลอนแคลนเพียงใด หนี ‘เสือ’ คือมหาอำนาจยุโรปก็นับว่าตึงมือแล้ว ยังต้องปะ ‘จระเข้’ หรือชนชั้นนำเดิมที่สูญเสียอำนาจอีกด้วย

ภาพไซโง ทาคาโมริ (Saigo Takamori) ผู้นำกลุ่มซามูไร และเหล่าซามูไรแห่งซัตสึมะ
จากนิตยสารข่าว Le Monde Illustré ปี 1877

แต่ใครหรือที่พวกเขาจะดำเนินรอยตามเพื่อ ‘ยกเครื่อง’ การปกครอง สถาปนารัฐชาติสมัยใหม่ที่ไพร่ฟ้าหน้าใสจะภักดีต่อพระจักรพรรดิ มิใช่อดีตโชกุนหรือไดเมียวผู้ทรงอิทธิพล หากไม่ใช่จักรวรรดิเยอรมันที่เพิ่งกำราบเหล่าเจ้าศักดินา เถลิงสิทธิ์ขาดเหนือประดาอาณาจักร รัฐบาลของสมเด็จพระจักรพรรดิจึงตัดสินใจในปี 1881 ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญปรัสเซียเป็นต้นแบบรัฐธรรมนูญเมจิ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 8 ปีให้หลัง 

ยุคแห่ง ‘ความนิยมเยอรมัน’ จึงมาถึง หลังการก่อตั้งสมาคมเผยแพร่ศาสตร์เยอรมัน (Gesellschaft für Verbreitung deutscher Wissenschaft) ของเชื้อพระวงศ์และเหล่าผู้ลากมากดีที่สำเร็จการศึกษาจากปรัสเซียในปี 1882 เพื่อ ‘เผยแพร่ศาสตร์เยอรมันสู่สาธารณะ’ ตลอดจนปรับใช้ในระดับนโยบาย โดยเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญเมจิ การจัดการศึกษาโดยรัฐ และการทหาร สามกงล้อซึ่งจะขับเคลื่อนญี่ปุ่นสมัยใหม่ต่อไป

ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงฟูมฟักรัฐธรรมนูญเมจิเห็นจะไม่พ้นอิโต ฮิโรบูมิ (Ito Hirobumi) ผู้เดินทางไปเบอร์ลินในปีเดียวกัน และได้เรียนรู้แนวทางร่างรัฐธรรมนูญจากรูดอล์ฟ ฟอน ไกนสต์ (Rudolf von Gneist) นักกฎหมายชื่อก้อง ตลอดจนรับคำแนะนำจากไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 โดยตรง ทั้งสองเห็นพ้องกันว่า อิโตควรจำกัดอำนาจของรัฐสภาในการอนุมัติงบประมาณต่างๆ เสีย โดยเฉพาะงบประมาณกองทัพ เพื่อขจัดแนวโน้มที่ฝ่ายเสรีนิยมสุดขั้ว (ultraliberal) จะเติบโตในจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งย่อมสั่นคลอนอำนาจนำแห่งพระจักรพรรดิ และเป็นข้อกังวลของราชสำนักเสมอมา

อิโตยึดคำแนะนำนั้นเป็นสรณะ ไม่หวั่นไหวแม้แฮร์มานน์ โรสเลอร์ (Hermann Roesler) นักกฎหมายและที่ปรึกษาพิเศษแห่งราชสำนักญี่ปุ่นจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทันสมัยกว่าฉบับปรัสเซีย โรสเลอร์คัดค้านแนวคิดจักรพรรดินิยมในรัฐธรรมนูญหัวชนฝา โดยเฉพาะการบ่มเพาะความเชื่อว่าพระจักรพรรดิเป็นเชื้อไขเทวีสุริยา หรืออามะเทราสึ (Amaterasu) ในศาสนาชินโต และยังทัดทานการดำรงตำแหน่งจอมทัพญี่ปุ่นของพระจักรพรรดิ รวมถึงการจำกัดอำนาจรัฐสภาด้วย

แต่ไม่ว่าโรสเลอร์จะโต้แย้งอย่างไร อิโตก็ไม่ฟังเสียง ด้วยเชื่อว่าแนวคิดจักรพรรดินิยมที่ผูกพันกับศาสนาชินโตจะมีบทบาทในญี่ปุ่นสมัยใหม่อย่างที่คริสต์ศาสนามีในยุโรป คือเป็นเทวสิทธิ์แห่งพระจักรพรรดิ ตลอดจนเป็นหัวใจแห่งสำนึกความเป็นชาติ เจตนาของเขาฟังเผินๆ ไม่เลวร้าย ทว่าใครเลยจะรู้ ว่าหากอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญของโรสเลอร์เสีย ไม่ดึงดันจะเปลี่ยนพระจักรพรรดิเป็นเทพยดา โศกนาฏกรรมแห่งโลกตะวันออกในสงครามโลกครั้งที่สองอาจไม่เกิดขึ้นเลย

ภาพเขียนแสดงการประชุมร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดยอิโต ฮิโรบูมิ

การร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง การกล่อมเกลาให้คนหมู่มากยอมรับกติกาใหม่ที่เพิ่งสถาปนานี้อย่างสนิทใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และวิธีใดเล่าจะรวดเร็วที่สุดในโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าอะไรก็แปรสภาพเป็น ‘โรงงาน’ ได้ หากไม่ใช่การจัดการศึกษาโดยรัฐเพื่อ ‘ผลิต’ พลเมืองผู้มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์จำนวนมหาศาล

อิโตตระหนักถึงความจริงข้อนี้ด้วย และได้หารือกับโมริ อาริโนริ (Mori Arinori) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้วที่ปารีสขณะยังเดินทางท่องยุโรป คนทั้งสองตกลงจะปรับใช้แนวทางการจัดการศึกษาปรัสเซียในญี่ปุ่น และไม่ช้างานเขียนของนักการศึกษาเยอรมันก็เป็นที่รู้จักกว้างขวาง โดยเฉพาะงานเขียนที่เน้นบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนหรือ เกไมน์ชาฟต์ (Gemeinschaft) ตลอดจนเป็นผู้อุทิศตนเพื่อครอบครัว

เกไมน์ชาฟต์ก็เหมือนร่างรัฐธรรมนูญของอิโต คือฟังเผินๆ แล้วไม่ใช่แนวคิดอันตราย เพียงแต่เกไมน์ชาฟต์ไม่ใช่ชุมชนทั่วไป ทว่าเป็นชุมชนปฐมภูมิซึ่งมีชุมชนเล็กๆ ในชนบทเป็นต้นแบบ สมาชิกของเกไมน์ชาฟต์จึงมีความกลมเกลียว ผูกพันแน่นแฟ้นกว่าผู้คนในเมืองใหญ่ ตลอดจนมีวิถีชีวิตอิงแอบจารีตและวัฒนธรรมท้องถิ่น มิได้หวั่นไหวด้วยกระแสความคิดจากโลกภายนอก

ด้วยเหตุนั้น เกไมน์ชาฟต์จึงเป็นเครื่องมือพัฒนาแนวคิดชาตินิยมที่มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนกว่าโฆษณาชวนเชื่อใดๆ โดยเป็นสารตั้งต้นของ โฟล์กส์เกไมน์ชาฟต์ (Volksgemeinschaft) หรือชุมชนปฐมภูมิ ‘ชาติพันธุ์เดียว’ ซึ่งค่อยๆ ก่อร่างในจักรวรรดิเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และลุกลามเป็นแนวคิดกระแสหลักขณะพรรคนาซีเรืองอำนาจถึงขีดสุด

ภาพจากหนังสือพิมพ์ Leslie’s Weekly 
แสดงการฝึกใช้ไรเฟิลของลูกเสือญี่ปุ่นในปี 1916

แนวทางการจัดการศึกษาของโมริได้รับการสนับสนุนจากรัฐบัญญัติการศึกษาหลายฉบับที่เน้นการจัดการศึกษาเพื่อ ‘สร้างพลเมืองผู้รักชาติ’ โดยในปี 1890 ราชสำนักออกประกาศการศึกษา (Imperial Rescript on Education: IRE) ความยาว 315 อักษร ว่าด้วยปลายทางแห่งการร่ำเรียน ซึ่งนักเรียนต้องจดจำประกาศดังกล่าว และต้องแสดงความเคารพเมื่อได้ยินประกาศนี้โดยหันไปทางพระบรมมหาราชวังและค้อมศีรษะ ผู้เขียนได้แปลย่อหน้าที่สองของประกาศไว้ ณ ที่นี้ เพื่อชี้ให้เห็นเจตนาบ่มเพาะแนวคิดชาตินิยมผ่านการจัดการศึกษา โดยสามารถอ่านประกาศการศึกษาฉบับเต็มได้ที่นี่

“ท่านทั้งหลาย พสกนิกรแห่งเรา จงกตัญญูต่อบุพการี รักใคร่พี่น้องหญิงชาย กลมเกลียวด้วยคู่ครอง ซื่อสัตย์ต่อสหาย เป็นผู้สมถะและประมาณตน มีความอารีต่อคนทั้งหลาย ตั้งใจเล่าเรียนและศึกษาสรรพวิชา เพื่อบำรุงปัญญาและจริยธรรมให้ถึงพร้อม นอกจากนี้จงยังประโยชน์แก่สาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและยำเกรงกฎหมาย หากมีภัยคุกคาม จงอาจหาญอุทิศตนแก่ชาติ ปกปักและธำรงความไพบูลย์แห่งราชบัลลังก์ซึ่งถือกำเนิดในห้วงเวลาเดียวกับสวรรค์และโลก”

ไม่เพียงการจัดการศึกษาเท่านั้น จักรวรรดิญี่ปุ่นยังปฏิรูปการฝึกทหารด้วยแนวทางการฝึกทหารปรัสเซียด้วย ปรัชญาขงจื๊อซึ่งให้ความสำคัญแก่ลำดับช่วงชั้น ตลอดจนวีรคติบูชิโดอันเป็นหัวใจแห่งเกียรติยศของนักรบญี่ปุ่น จึงหลอมรวมกับโครงสร้างรัฐสมัยใหม่ที่มีพระจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางเป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าแนวทางการจัดการศึกษาและฝึกทหารเช่นนี้ จะสร้างบัณฑิตและนักรบผู้นบนอบ พร้อมมอบกายเป็นราชพลีได้มีประสิทธิภาพเพียงใด

อย่างไรก็ตาม แบร์นด์ มาร์ติน (Bernd Martin) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันวิเคราะห์ว่า ความหวาดเกรงการโต้กลับของซามูไรและไดเมียวทั้งหลายไม่ใช่แรงจูงใจเดียวของการเร่งปฏิรูปกองทัพในสมัยเมจิ แต่จักรวรรดิญี่ปุ่น เลือก ปฏิรูปการฝึกทหารด้วยแนวทางการฝึกทหารปรัสเซีย เพราะการแผ่ขยายอิทธิพลครอบครองแว่นแคว้นเพื่อนบ้านเป็นยอดปรารถนาและเครื่องค้ำจุนราชสำนักเช่นกัน

ราชสำนักญี่ปุ่นไม่ใช่ชนชั้นนำ ‘ใหม่ถอดด้าม’ ในแดนอาทิตย์อุทัย ทว่าเป็นหนึ่งในชนชั้นนำดั้งเดิมที่ขับเคี่ยว ผลัดแพ้ชนะกับชนชั้นนำอื่นๆ มาแต่โบราณ นอกจากการอิงแอบเทวีสุริยาอันเป็นต้นธารวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการผูกตนเองกับความ ‘เจริญ’ สมัยใหม่จากตะวันตกแล้ว หากหวังจะมีภาษีดี โดดเด่นกว่าคู่แข่งจน ‘ชนะขาด’ ได้ ก็ต้องมีความสำเร็จทางการทหารเป็นที่ประจักษ์ เมื่อรวมกับความต้องการทรัพยากรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอันรุดหน้าในประเทศ ก็เห็นแต่จะมีการครอบครองดินแดนนอกจักรวรรดิเท่านั้นที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้

ด้วยเหตุนี้ กองทัพญี่ปุ่นจึงเน้นฝึกหัดทหารใหม่ให้พร้อมต่อการรณรงค์สงครามใหญ่ และริเริ่มนโยบายการต่างประเทศอันแข็งกร้าวนับแต่นั้น ด้วยการซึมซับไม่เพียงกลยุทธ์และองค์ความรู้ แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบ ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกองทัพปรัสเซีย เพื่อแผ้วถางเส้นทางสู่ชัยชนะอันเบ็ดเสร็จในจีนและคาบสมุทรเกาหลี เช่นเดียวกับชัยชนะของปรัสเซียในโลกตะวันตก

ผลการปฏิรูปกองทัพเป็นดังความปรารถนา เพราะชัยชนะในสงครามจีน-ญี่ปุ่นสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ชนชั้นนำใหม่ได้มหาศาล แต่มีได้ย่อมมีเสีย เมื่อการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในจีนกลับนำมาซึ่งความขัดแย้งกับจักรวรรดิเยอรมัน ด้วยมหาอำนาจยุโรปต่างมีผลประโยชน์ของตนในจีนให้ปกปัก ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนแปลงผกผันด้วยภูมิทัศน์ทางการเมืองจวบจนปัจจุบัน[v]

ควันหลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อพิจารณาวัฒนธรรมการสร้างชาติที่ใกล้ชิดกันเช่นนี้ ตลอดจนผลลัพธ์ของแนวทางสร้างชาติที่ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมในสงครามโลกครั้งที่สอง จึงน่าประหลาดใจไม่น้อยว่า เพราะเหตุใดท่าทีต่อประวัติศาสตร์บาดแผลในสงครามใหญ่ของสองประเทศจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เยอรมนีและญี่ปุ่นล้วนเป็นชาติอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งทั้งก่อนและหลังสงคราม เป็นผู้แพ้สงคราม และเป็นผู้สร้างบาดแผล ไม่ว่าจะด้วยการสังหารหมู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การใช้แรงงานเชลยโดยทารุณ หรือการข่มเหงหญิงบำเรอในดินแดนยึดครอง

เยอรมนีดูจะมีพัฒนาการดีกว่าในสายตาชาวโลก นับแต่การคุกเข่าของวิลลี บรันดต์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ (เยอรมนีตะวันตก) ที่อนุสาวรีย์ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ในปี 1970 ซึ่งนำไปสู่กระบวนการรอมชอมกับคู่สงครามในยุโรป ขณะที่ท่าทีของญี่ปุ่นยังเป็นที่ครหา ทั้งการแบนเนื้อหาประวัติศาสตร์บาดแผลในแบบเรียน การคุกคามนักกิจกรรมที่พยายามเรียกร้องให้กล่าวถึงอาชญากรรมสงครามอย่างตรงไปตรงมา การให้ค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิซึ่งบรรจุป้ายสถิตวิญญาณของวีรชนญี่ปุ่นทุกปี

กระนั้น คาร์เมน ชมิดต์ (Carmen Schmidt) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาโอสนาบรืกกลับอธิบายว่า ที่มาของท่าทีดังกล่าวไม่ใช่ ‘ความดื้อดึงไม่เข้าเรื่อง’ ของญี่ปุ่นแต่อย่างใด เพราะปฏิกิริยาของญี่ปุ่นต่อประวัติศาสตร์บาดแผลมีที่มาจากพลวัตทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงลักษณะของ ‘ประชาศาสนา’ หรือ ‘ศาสนาพลเมือง’ (Civil Religion) ที่แตกต่างจากของเยอรมนีต่างหาก

ศาสนาพลเมืองเป็นมโนทัศน์ที่ได้รับการพัฒนาโดยฌอง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ในปลายศตวรรษที่ 18 โดยมีลักษณะเป็น ‘กึ่งศาสนา’ (quasi-religious) ที่กำหนดโดย ‘ผู้นำ’ รัฐ เพื่อสถาปนาการควบคุมทางสังคม และศาสนาพลเมืองที่ว่าก็ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความเป็นพลเมืองของรัฐชาติ หรือพร้อมกับการผลักดันญี่ปุ่นสู่ความทันสมัยในยุคเมจินั่นเอง

ปัญหาคือศาสนาชินโตและเทวีสุริยาซึ่งมอบความมั่นคงทางการเมืองแด่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่นั้นเป็นศาสนาสำคัญและรากวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่แปลกแยกเหมือนลัทธินาซีในสาธารณัฐไวมาร์ที่เพิ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังหลังพรรคนาซีก้าวสู่อำนาจ แม้การผูกโยงพระจักรพรรดิกับเทพเจ้าในศาสนาชินโตจะเป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ในสมัยเมจิเช่นกัน ก็ยากกว่าสำหรับชาวญี่ปุ่นที่จะปฏิเสธอัตลักษณ์ซึ่งผูกพันกับศาสนาเก่าแก่ และเป็นที่เคารพบูชามาเนิ่นนาน

ตรงกันข้ามกับศาสนาชินโต รัฐธรรมนูญเมจิกลับไม่อาจสร้างความผูกพันลึกซึ้งเช่นเดียวกันได้ เพราะเป็น ‘ของนอก’ (exogenous) ที่ปราศจากความยึดโยงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ซ้ำยังเป็นต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองอันเรื้อรังระหว่างชนชั้นนำและผู้ต่อต้าน ความศรัทธาและหวงแหนรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยจึงต่ำกว่าในเยอรมนีมาก

เมื่อผสมกับปัจจัยอื่น คือการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิที่หยิบยื่นสถานภาพเหยื่อสงครามให้ญี่ปุ่น สงครามตัวแทนในอุษาคเนย์และอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในโลกตะวันออกซึ่งเบนเข็มความสนใจของญี่ปุ่นไปที่การกำจัดภัยคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่การรอมชอมกับอดีตคู่สงคราม รวมถึงการถือครองอำนาจยาวนานของพรรคอนุรักษนิยม จึงยากเหลือเกินสำหรับรัฐบาลอาทิตย์อุทัยที่จะเลือกประนีประนอมกับเหยื่อของตนในภูมิภาคเอเชีย[vi]

ขณะที่กระบวนการไกล่เกลี่ยในยุโรปไปไกลถึงการตั้งคำถามว่ากลุ่มบุคคลอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น รัฐบาลวีชีของฝรั่งเศส กลุ่มติดอาวุธชาอูลิสต์ (Shaulist) ในลิธัวเนียที่ให้ความร่วมมือกับพรรคนาซี ฯลฯ มีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และขอบเขตการชดเชยของเยอรมนีอยู่ที่ใด ประวัติศาสตร์บาดแผลในเอเชียดูจะต้องกลัดหนองต่อไปอีกยาวนาน

รู้เพื่อความใคร่รู้

การได้รู้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองไม่ใช่ก้าวแรกของความสัมพันธ์เยอรมนี-ญี่ปุ่น ดูจะไม่สลักสำคัญหรือนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การสำรวจแง่มุมที่หลากหลายของการปะทะสังสรรค์ระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกในศตวรรษที่ 19 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อประวัติศาสตร์จักรวรรดินิยมของใครหลายคนจากเป็นหน้าเป็นหลังมือ

รอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 คือเวลาที่กระแสโลกาภิวัตน์เริ่มเชี่ยวกราก ผู้เล่นทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผิดแผกกันเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือเป็นเวลาแห่งการประดิษฐาน ‘ปัจจุบัน’ ของหลายภูมิภาคในโลก เมื่อรัฐชาติซึ่งถือกำเนิดในยุโรป และงอกงามด้วยวัฒนธรรมยุโรป ทยอยเติบโตในดินต่างชนิด ชูช่อในร่มเงาภาษาและวัฒนธรรมตะวันออก 

ทุกชีวิตในรัฐแบเบาะเหล่านี้กระเสือกกระสนเอาตัวรอด ก้าวสู่โลกใหม่ที่แตกต่างจากใบเดิมเหมือนคนละจักรวาล ใช่ที่ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ เพียงแต่ผู้ชนะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ชนะศึก เป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มี ‘ต้นทุน’ เพียงพอจะธำรงและสืบทอดอำนาจนำของตน ทิ้งมรดกแห่งการดิ้นรนเป็นร่องรอยรางๆ ในปัจจุบันต่างหาก

อาจถึงเวลาต้องฉุกคิดมากกว่าที่เคย ว่าไทยเล่ามีอคติหรือทัศนคติทั้งเชิงบวกและลบต่อบางชนชาติ ซึ่งไม่ได้แบ่งบานโดยธรรมชาติ ทว่าผ่านการหล่อหลอมของสังคมและรัฐบ้างหรือไม่ กระแสลมจากตะวันตกนำความเปลี่ยนแปลงใดมาสู่สยามซึ่งต้อนรับคณะสำรวจออยเลนบวร์ก และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปรัสเซียเพียงสองปีหลังแดนอาทิตย์อุทัย การดิ้นรนของชนชั้นนำในรัฐเกิดใหม่แห่งนี้ เหมือนหรือต่างอย่างไรจากพระจักรพรรดิแห่งบัลลังก์ดอกเบญจมาศ

คงจะดีกว่าหากมีการศึกษาช่วงเวลาอันแหลมคมนั้นโดยรอบด้าน อย่างที่นักวิชาการญี่ปุ่นและเยอรมันได้กระทำเพื่อตีแผ่ความสัมพันธ์นี้ ไม่เพียงกอดเกี่ยวความเชื่อว่า ‘เพราะปรับตัวได้ จึงไม่เสียดินแดน’ ไว้เหนียวแน่น จนไม่เผื่อแผ่อ้อมแขนให้ความเชื่ออื่น ไม่ใช่เพราะเรื่องราวที่เคยรับรู้ไม่มีส่วนจริง แต่เพราะเป็นความจริงที่ถูกไขให้ส่องสว่าง บดบังการรับรู้อื่นๆ เสียสิ้น

ขอให้ความสงสัยเป็นคุณูปการของบทความนี้ อย่างที่การสบถสาบานเป็นภาษาเยอรมันของโซริว อาซึกะ แลงลีย์ กระตุ้นความใคร่รู้ของผู้เขียนในกาลที่ผ่านมา


[i] Timo Thelen, “Germany in Japanese Pop Culture and Its Influence on the Experiences of Young Japanese Going Abroad,” in German-Japanese Youth Culture Lifestyle Research Vol. 1, eds. Tano Daisuke and Yoshida Jun (Osaka, Yamaoka Memorial Foundation, 2020), 13.

[ii] ระวังสับสนกับสมญานาม ‘ปรัสเซียแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Prussia of Southeast Asia)’ ของเวียดนาม 

[iii] Kazuo Matsuda, “German Images in Japanese Literature: An Intercultural and Intertextual Analysis,” Comparative Literature Studies 37, no. 2 (2000): 212-22, JSTOR.

[iv] ที่มา: Deutschland und Japan – Verantwortung in einer Welt im Wandel – Rede von Bundesminister Dr. Kinkel in Tokio

[v] Bernd Martin, and Peter Wetzler, “The German Role in the Modernization of Japan — The Pitfall of Blind Acculturation,” Oriens Extremus 33, no. 1 (1990): 77-88, JSTOR.

[vi] Carmen Schmidt, “A comparison of civil religion and remembrance culture in Germany and Japan,” Asian Journal of German and European Studies 1, (2016): Article Number: 10, doi.org/10.1186/s40856-016-0010-1.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save