fbpx
ศาลเจ้ายาสุคุนิ การบูชาดวงวิญญาณ ความไม่ยอมรับผิด และการทำใจให้อภัย

ศาลเจ้ายาสุคุนิ การบูชาดวงวิญญาณ ความไม่ยอมรับผิด และการทำใจให้อภัย

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

นันทภัค คูศิริรัตน์ ภาพประกอบ

 

 

ศาลเจ้ายาสุคุนิ 靖国神社 (ศาลเจ้าสันติรัฐ) เป็นศาลเจ้าที่เป็นศูนย์กลางความขัดแย้งและความบาดหมางระหว่างประเทศที่รุนแรงที่สุดของญี่ปุ่น ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับศาลเจ้าแห่งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้บริหารชั้นสูงของญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะ ก็จะเกิดการประท้วง ประณาม และมีข่าวเรียกร้องต่างๆ จากอดีตประเทศที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน โดยเฉพาะจีนและเกาหลี อยู่เสมอ เนื่องจากศาลเจ้าแห่งนี้ได้มีป้ายสถิตวิญญาณของเหล่าทหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชญากรสงครามระดับ A ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะพลเอกโตโจ ฮิเดกิ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นตั้งเพื่อทำพิธีสักการะอยู่ แตกต่างจากชื่อของศาลที่หมายความถึงสันติอย่างยิ่ง

แต่ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงยังไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ และยาสุคุนิมีความเป็นมา มีความสำคัญเช่นไร?

 

ในความเชื่อของชินโต สรรพสิ่งล้วนมีเทพสถิตอยู่ แม้กระทั่งข้าวเมล็ดหนึ่งก็มีเทพอารักษ์อยู่เจ็ดองค์ มนุษย์ก็เช่นกัน ล้วนแล้วแต่มีความเป็นเทพภาวะสถิตอยู่ในตัว

เมื่อมนุษย์ตายลง วิญญาณของคนเป็นจะเปลี่ยนรูปเป็นวิญญาณคนตาย เรียกว่า “มิทามะ” 御魂 โดยจะมีศักดิ์ของวิญญาณยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยตามพฤติกรรมและความเข้มแข็งของจิตใจที่มีมาขณะยังมีชีวิตอยู่ หากประกอบวีรกรรมยิ่งใหญ่หรือมีจิตเข้มแข็งรุนแรง ก็จะเป็นวิญญาณเทพที่มีอำนาจ ซึ่งก็จะเรียกว่า “มิทามะ” 神霊 (อ่านเหมือนกัน แต่สะกดใช้คำว่า มิ จาก คามิ [เทพเจ้า] 神 และ ทามะ จาก เรย์ [วิญญาณ] 霊 แทน)

ในทฤษฎีชินโตที่ได้รับความเชื่อถือและนับถือกันมากที่สุดเรียกว่า อิจิเรย์ ชิคง 一霊四魂 (หนึ่งจิต สี่วิญญาณ) กล่าวว่ามนุษย์ประกอบด้วยหนึ่งดวงจิตและสี่วิญญาณ ได้แก่

 

1. 荒御魂 อารามิทามะ วิญญาณร้าย เป็นสภาพวิญญาณที่โกรธเกรี้ยว อาฆาต ดุร้าย และสร้างภัยพิบัติ

2. 和御魂 นิงิมิทามะ วิญญาณสงบ เป็นสภาพวิญญาณปกติ นิ่งสงบไม่ก่อสิ่งใด

3. 幸御魂 ชิกิมิทามะ วิญญาณสุข เป็นสภาพวิญญาณที่มีสุข และจะอำนวยพรให้

4. 奇御魂 ซากิมิทามะ วิญญาณร่อนเร่ เป็นสภาพวิญญาณที่ไม่อยู่กับที่ คอยพเนจรร่อนเร่ไปมา

 

วิญญาณทั้งสี่นั้นอยู่ร่วมในดวงจิตเดียวกัน จะแสดงออกขึ้นมาเมื่อคุณลักษณะของดวงจิตนำพาให้เป็นไป เมื่อคนตายลง ดวงจิตที่มีสี่วิญญาณก็จะเกิดพลังขึ้นมาบันดาลให้สภาพธรรมชาติและคนใกล้ชิดที่ส่งผลวิปริตผิดแปลกหรือได้รับพรตามอำนาจของวิญญาณนั้น การตั้งป้ายบูชาวิญญาณหรือตั้งสุสาน เป็นการรักษาดวงจิตไม่ให้กลายเป็นซากิมิทามะ วิญญาณร่อนเร่ และให้วิญญาณสงบลงเป็นนิงิมิทามะไม่เกิดปัญหาใดๆ หากเป็นคนธรรมดา เมื่อวิญญาณหมดกำลังลงก็จะสลายไปหรืออ่อนแอลงไม่มีผลดีผลร้ายกับผู้คน

แต่ถ้าหากเป็นดวงจิตที่เข้มแข็ง พฤติกรรมก่อนตายมีความดีความชั่วรุนแรงหนักหนา เมื่อตายลงดวงจิตที่มีอำนาจก็จะเป็นวิญญาณที่แผลงฤทธิ์ได้ การสร้างศาลเจ้าชินโตไว้บูชาทำพิธีสักการะ ก็เพื่อรักษาวิญญาณไม่ให้เกิดปัญหาแก่สังคมคนเป็น และยังจะอำนวยพรให้แก่ผู้บูชาเช่นกัน

การสร้างศาลเจ้าชินโตนั้นไม่ใช่การบูชาว่าคนที่ตายเป็นคนดีแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เมื่อคนชั่วร้าย หรืออาชญากรหรือแม้แต่กบฎที่มีอำนาจมากตายลง ก็มักจะสร้างศาลเจ้าเพื่อสถิตวิญญาณคนเหล่านั้น ไม่ให้กลายเป็นอารามิทามะ วิญญาณร้ายคลั่งแค้นสร้างภัยพิบัติขึ้นมา

ตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าเทนจิน 天神 ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ต้นกำเนิดมาจากขุนนางในยุคเฮอัน นามว่า สึงาวาระ โนะ มิจิซาเนะ 菅原 道真 ซึ่งถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เนรเทศไปตายที่ดะไซฟุเมืองชนบทห่างไกล เมื่อตายลง วิญญาณแค้นของมิจิซาเนะกลายเป็นอารามิทามะ แสดงอำนาจแก้แค้นสร้างภัยพิบัติแก่นครหลวงเฮอันเคียว ภัยแล้ง แผ่นดินไหว โรคระบาด สายฟ้าฟาดไหม้ท้องพระโรง จนแม้แต่องค์รัชทายาทก็สวรรคต ราชสำนักจึงต้องสร้างศาลเจ้าเพื่อบูชามิจิซาเนะ และบูชาให้เป็นเทพผู้ใหญ่เพื่อสะกดข่มดวงวิญญาณร้าย จากนั้นเทนจินก็กลายเป็นเทพที่คนนับถือด้านการเรียน การสอบ และการรับราชการแทนขงจื๊อในญี่ปุ่น

 

ศาลเจ้าดะไซฟุเทมมังงู ศาลเจ้าหลักบูชาเทพเทนจิน เมืองดะไซฟุ จังหวัดฟุกุโอกะ ญี่ปุ่น

 

ในศาลเจ้ายาสุคุนิ ได้ตั้งป้ายสถิตดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นฝ่ายรัฐบาลไว้ราว 2,466,000 นาย นับตั้งแต่สงครามโบชินครั้งปฏิรูปเมจิ โดยโอมุระ มาสุจิโร่ 大村 益次郎 (1824-1869) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม หนึ่งในผู้ร่วมปฏิวัติเมจิ และบิดาของกองทัพญี่ปุ่นสมัยใหม่ ได้เสนอให้สร้างศาลสถิตวิญญาณทหารเพื่อสักการะปลอบประโลมดวงวิญญาณของทหารที่เสียชีวิตไปในสงคราม โดยตั้งโทริอิทำจากเหล็กและทองแดงขนาดใหญ่ แตกต่างจากศาลเจ้าอื่นที่ทำจากไม้ทาสีแดง เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่และอุตสาหกรรมแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้รับเอาศาลแห่งนี้ให้เป็นศาลเจ้าหลวงของราชวงศ์นับแต่นั้น

คำว่า 靖 (ยาสุ- สันติ) ใน 靖国 (ยาสุคุนิ-สันติรัฐ) จึงมิได้หมายถึงสันติภาพที่ปราศจากสงคราม แต่หมายถึงความสงบสันติของดวงวิญญาณที่ตายจากสงครามอันเกิดขึ้นในชาติรัฐ มิให้วุ่นวายก่อเหตุอาละวาดเดือดร้อน และยังหมายถึงความสันติที่หมายถึงความสงบไม่มีปัญหาและเป็นระเบียบตามกฎเกณฑ์ในแบบทหารยุคปลายศตวรรษที่ 19 อีกด้วย

 

อนุสาวรีย์โอมุระ มาซาจิโร่ รัฐมนตรีกระทรวงทหารบกของจักรวรรดิญี่ปุ่น หน้าศาลเจ้ายาสุคุนิ

 

ลำพังการสักการะบูชาศาลเจ้ายาสุคุนิ อาจไม่มีความสำคัญทางการเมืองใดๆ เลย เนื่องจากการให้ความเคารพคนที่ตายไปและนับถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณโทษนั้นเป็นความเชื่อทางศาสนา หรือแม้แต่การให้ความเคารพคนตายเพราะว่าตายไปแล้ว ก็ไม่เป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้แต่อย่างใด ดังเช่นที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคน ต้องเข้าทำพิธีวางพวงหรีดสักการะหลุมศพของทหารที่เสียชีวิตในสงครามที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตันเป็นประจำทุกปี ซึ่งในจำนวนนั้นมีทหารที่รุกรานเวียดนาม คิวบา ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งสงครามระยะใกล้อย่างอิรักและอัฟกานิสถาน มีบุคคลที่อาจถือว่าเป็นอาชญากรสงครามและผู้วางแผนมากมายเช่นกัน ที่ยาสุคุนิภายหลังตั้งป้ายสถิตวิญญาณเหล่าอาชญากรสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ก็ยังมีผู้คนมากมายทั้งจากอเมริกา จีน และเกาหลี มาเยือนเสมอ

แต่สิ่งที่หลายคนไม่อาจยอมรับได้ในการบูชาสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ซึ่งเกิดขึ้นและสมควรประท้วงประณามอย่างยิ่ง คือท่าทีของผู้นำชั้นบริหารและฝ่ายขวาจัดญี่ปุ่น อันแสดงออกมาในศาลเจ้ายาสุคุนิและพิพิธภัณฑ์ยูชูคังด้านข้าง คือ “การไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นฝ่ายผิด” และ “ไม่ชดเชยในสิ่งที่กระทำผิด”

 

ยูชูคัง พิพิธภัณฑ์สงครามญี่ปุ่น

 

หากเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ยูชูคัง ซึ่งอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เป็นสถานที่ที่เล่าเรื่องโกหกได้โดยไม่ต้องโกหกสักคำ” เราจะเห็นการเล่าความจริงที่คัดเลือกมาเฉพาะในส่วนที่รัฐทหารนิยมจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายถูกกระทำ และเป็นผู้ปกป้องอธิปไตยความยิ่งใหญ่จากการกดขี่ของชาติตะวันตก เป็นผู้ส่งเสริมการแสวงหาเอกราชของชาวเอเชีย รวมถึงว่า [การข่มขืนที่นานกิงไม่มีจริง] โดยไม่ได้กล่าวว่าไม่มีจริง ใช้วิธีเขียนอ้อมๆ ว่าผู้บัญชาการได้กวดขันวินัยทหาร ไม่มีทหารคนใดนอกลู่นอกทางในนานกิงครั้งนั้น พออ่านแล้วก็ให้รสขมแปลกปร่าเหลือทนทาน

หรือแม้แต่ภารกิจป้องกันประเทศครั้งสุดท้ายในสมรภูมิโอกินาว่า ก็เล่าว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจของทั้งทหารและพลเรือน โดยแท้แล้วความจริงจากฝั่งโอกินาว่า คือการถูกล้างสมอง หลอกลวงและข่มขู่ของทหารญี่ปุ่นต่อนักเรียนหญิงชายชาวโอกินาว่าจนต้องล้มตาย ฆ่าตัวตาย และถูกทหารญี่ปุ่นฆ่าเพื่ออ้างว่าปกป้องแผ่นดินที่ไม่ใช่ของตน และถูกยึดครองโดยอเมริกาแทนคนญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ในที่สุด เรื่องเล่านี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากพิพิธภัณฑ์อนุสรณสถานชิรายูริที่โอกินาว่า หรือแม้แต่อนุสรณ์สถานระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่า ซึ่งผู้เสียหายล้มตายมากกว่าคือประชาชนไม่ใช่ทหาร

และแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับฝั่งเยอรมัน ที่ทั้งยอมรับผิดและช่วยเหลือชดเชย

เราจะทำใจให้อภัยผู้ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองผิดได้อย่างไร?

เราจะทำใจให้อภัยผู้ที่ไม่เคยต้องรับผิดได้อย่างไร?

เราจะทำใจให้อภัยผู้ที่ยังคิดทำความผิดซ้ำรอยเดิมได้อย่างไร?

แม้แต่พระเจ้า พระพุทธเจ้า หรือเหล่าทวยเทพเจ้ายังไม่ให้อภัยผู้ที่ไม่ยอมรับผิด แล้วเราเล่าเป็นใคร?

 

 

ผมจึงไปชมซากุระที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ แต่ไม่สักการะดวงวิญญาณในศาลเจ้าหลัก แต่เดินอ้อมไปด้านซ้ายมือ ไปสักการะศาลชินเรย์ฉะ 鎮霊社 ซึ่งถูกล้อมรั้วไว้ อันเป็นที่สถิตดวงวิญญาณทหารฝ่ายศัตรูของจักรวรรดิญี่ปุ่นในทุกสงคราม นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองโบชิน จนถึงสงครามโลกแทน

 

ชินเรย์ฉะ ศาลเจ้าบวงสรวงวิญญาณของทหารชาติศัตรูในสงครามของญี่ปุ่น

 

ศาลเจ้ายาสุคุนิ อยู่ในกรุงโตเกียวด้านเหนือของสวนขวาจิโดริงาฟุจิของพระราชวังหลวง ตรงข้ามกับนิปปอนบุโดคัง สามารถมาได้โดยรถไฟใต้ดินสายโทเอชินจูกุ (สีเขียวเข้ม) โตเกียวเมโทรสายโทไซ (สีน้ำเงิน) และสายฮันโซมง (สีม่วง) ขึ้นสถานีคุดันชิตะ เป็นจุดชมซากุระที่งดงามและมีการแสดงละครโนห์กับการแข่งซูโม่บูชาเทพในต้นเดือนเมษายน และชมใบแปะก๊วยเรียงรายที่ขรึมขลังในต้นเดือนธันวาคม ไม่เสียค่าเข้าชม

พิพิธภัณฑ์ยูชูคังอยู่ข้างศาลเจ้าทางขวา ค่าเข้าชม 800 เยน สามารถเข้าไปดูเพื่อศึกษาวิธีเขียนประวัติศาสตร์แบบเลือกที่จะพูดโดยไม่ต้องโกหกแต่งเรื่องได้แนบเนียนยิ่ง มียุทโธปกรณ์ยุคสงครามให้ชมมากมาย โดยเฉพาะเครื่อง Mitsubishi type 0 หรือ “ซีโร่” ที่โด่งดัง รวมถึงดาบโคะการาสึมารู 小烏丸 ที่ปรากฏในเกมโทเคนรัมบุที่ได้รับความนิยมด้วย

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save