fbpx
Global Competitiveness Index 4.0 : เข็มทิศเศรษฐกิจใหม่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

Global Competitiveness Index 4.0 : เข็มทิศเศรษฐกิจใหม่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

ท่ามกลางเศรษฐกิจอันเปราะบาง สังคมแยกขั้วแบ่งข้าง โลกาภิวัตน์ถูกตั้งคำถาม ความเหลื่อมล้ำขยายลุกลาม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วจนตามแทบไม่ทัน  หนทางใหม่สู่ความมั่งคั่งและรุ่งเรืองคืออะไร?

นี่คือคำถามสำคัญที่ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) และทีมงานต้องการแสวงหาคำตอบภายใต้กระบวนการจัดทำรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลกในปี 2018 (The Global Competitiveness Report 2018) – รายงานฉบับที่ 40 ปีพอดิบพอดี นับจากการเผยแพร่รายงานฉบับแรกในปี 1979 จนกลายเป็น ‘ซีรีส์’ ที่กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมทั่วโลกต้องติดตาม

เมื่อโลกเปลี่ยน โจทย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยน ดัชนีที่ใช้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันก็ยิ่งต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์และความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ

แล้วคำตอบรูปธรรมของ WEF ก็ปรากฏผ่าน ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index 4.0 หรือ GCI 4.0)  – ‘เข็มทิศ’ นำทางประชาคมโลก เครื่องมือใหม่ที่ช่วยให้เราเข้าใจพลวัตและรายละเอียดเชิงลึกของเศรษฐกิจในโลกใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า WEF เป็นสมาคมของชนชั้นนำโลก (global elites club) ที่แคบและจำกัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา เสียงของ Schwab และคณะผู้เชี่ยวชาญของ WEF มีส่วนในการกำหนดข้อถกเถียง วิธีคิด และวาระทางเศรษฐกิจของโลกอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีทำความเข้าใจโลกของคนกลุ่มนี้จึงมีความแหลมคมและเต็มไปด้วยความน่าสนใจยิ่ง

GCI 4.0 สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร และจะส่งผลชี้นำ-ขับเคลื่อนโลกไปทางไหน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม || แก่นความหมายของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปรับเปลี่ยนไปอย่างไรในโลกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 || การยกระดับประเทศให้เท่าทันโลกและพร้อมรับมืออนาคตต้องทำอย่างไร

ในสายตาของทีมนักคิดด้านเศรษฐกิจการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก มีคำตอบอะไรให้เราชวนคิดต่อบ้าง

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : ไอเดียเบื้องหลังของ GCI 4.0

 

อันที่จริง WEF เริ่มมีแนวคิดในการสร้าง GCI 4.0 มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว หลังจากที่มีการปรับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในปี 2004 โดยมีแรงผลักดันเบื้องหลังคือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่ Schwab ใช้อธิบายปรากฏการณ์การเกิดขึ้นและผลกระทบของคลื่นเทคโนโลยีใหม่ อาทิ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ไบโอเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) เครื่องพิมพ์สามมิติ รถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในสังคมสมัยใหม่ แต่การเลือกใช้คำว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ บ่งบอกว่า คลื่นเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จะส่งผลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วิถีการทำงาน และความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนในระดับรากฐาน

ในหนังสือเรื่อง The Fourth Industrial Revolution ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2016 แม้ Schwab จะฉายภาพความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างละเอียด แต่ข้อสรุปสุดท้ายที่เขาบอกคือ การเปลี่ยนผ่านที่มนุษย์กำลังเผชิญ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ขนาดและความซับซ้อน และยังไม่มีใครรู้ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางใด

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงแตกต่างจากครั้งก่อนหน้า?

เมื่อไล่เรียงดูประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตในลักษณะที่แตกต่างกันไป

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต จากแรงงานสัตว์และคน มาเป็นการใช้พลังงานของเครื่องจักรไอน้ำ และทำให้เกิด ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยใหม่’ (modern economic growth) ขึ้นเป็นครั้งแรก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 คือ การนำไฟฟ้าและพลังงานสันดาปจากเครื่องยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตจนทำให้เกิดการผลิตจำนวนมาก (mass production)

ส่วน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโลกที่เรามองเห็น ทำความเข้าใจได้ และจินตนาการออก อย่างน้อยก็ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นบนฐานของการปฏิวัติดิจิทัล (ซึ่งเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3) แต่สิ่งที่ต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญคือ การหลอมรวมของเทคโนโลยีจะทำให้เส้นแบ่งทางกายภาพ (physical) ดิจิทัล (digital) และชีวภาพ (biological) พร่าเลือนไป ทุกกิจกรรมของมนุษย์จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความมั่นคง ธุรกิจ การบริหารราชการ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความเป็นส่วนตัว ชีวิตคู่ ฯลฯ

ถึงที่สุดแล้ว เทคโนโลยีจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ว่า ‘เราทำอะไร’ แต่เปลี่ยนถึงขนาดว่า ‘เราคือใคร’

ทั้งหมดนี้ทำให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลกระทบเกิดขึ้นแบบเอ็กโพเนนเชียล ไม่ใช่แบบเส้นตรง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ คำถามใหม่ ยาก และท้าทายจำนวนมากที่มนุษย์ต้องขบคิดและถกเถียงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อรับมือกับ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ คือ ความเร่งด่วน

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 มนุษย์มีเวลากว่าศตวรรษในการรับมือความเปลี่ยนแปลง และมีเวลาหลายสิบปีสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2  ในขณะที่มีเวลาราว 10-20 ปีเพื่อรับมือกับผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 แต่สำหรับครั้งที่ 4 นี้ มนุษย์มีเวลาปรับตัวน้อยมาก ทั้งที่ผลกระทบรุนแรงมหาศาล สำหรับ Schwab กรอบระยะเวลา 5-10 ปี อาจสายเกินไปเสียด้วยซ้ำ

ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ยิ่งแหลมคมมากขึ้น เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางอย่างมาก นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินโลก 2008 แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้วก็ตาม ในแง่นี้ Schwab มองว่า ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากวิกฤตการณ์การเงินที่ผ่านมา และนำบทเรียนนั้นมาออกแบบเศรษฐกิจใหม่ให้มีความยืดหยุ่น (resilience) และมีกันชน (buffer) ที่จะรับมือกับ ‘ช็อก’ ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้

ในกรอบใหญ่ ผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลกต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า ประเทศของตนต้องการระบบการศึกษาที่มีพลวัต ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น ระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ พลังงานที่สะอาด เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ฯลฯ แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือ เราจะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

GCI 4.0 จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น ‘เข็มทิศ’ นำทางให้กับชุมชนผู้กำหนดนโยบาย โดย WEF เชื่อว่า ประสบการณ์จากการทำดัชนี GCI เดิม ที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการวัดขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศมาเนิ่นนาน เมื่อผนวกกับข้อมูลเชิงลึกและมุมมองสดใหม่ของคณะทำงานกว่า 120 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จะทำให้ GCI 4.0 เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในแข่งขันที่ตอบโจทย์แห่งอนาคตได้จริง

 

จาก GCI สู่ GCI 4.0 : โลกเปลี่ยนไปอย่างไร

 

[box]

 

The Global Competitiveness Index (GCI) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดัชนี 12 เสาหลัก (รวมทั้งสิ้น 114 ตัวชี้วัดย่อย) ได้แก่

กลุ่มดัชนีพื้นฐาน (Basic Requirement) ประกอบด้วย 4 เสาหลักคือ สถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ความมั่นคงของเศรษฐกิจในระดับมหภาค (Macroeconomic environment) และการสาธารณสุขและการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Health and primary education)

กลุ่มดัชนีการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency enhancers) ประกอบด้วย 6 เสาหลักคือ การศึกษาระดับสูงและการฝึกทักษะ (Higher education and training) ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency) ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor market efficiency) การพัฒนาของตลาดการเงิน (Financial market development) ความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology readiness) และขนาดของตลาด (Market size)

กลุ่มดัชนีนวัตกรรม (Innovation and sophistication factors) ประกอบด้วย 2 เสาหลักคือ ศักยภาพทางธุรกิจ (Business sophistication) และนวัตกรรม (Innovation)

 

The Global Competitiveness Index 4.0 (GCI 4.0) ประกอบด้วย 4 กลุ่มดัชนี 12 เสาหลัก (รวมทั้งสิ้น 98 ตัวชี้วัดย่อย) ได้แก่

กลุ่มดัชนีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประกอบด้วย 4 เสาหลักคือ สถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การปรับตัวตามเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT adoption) และเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomics stability)

กลุ่มดัชนีทุนมนุษย์ (Human capital) ประกอบด้วย 2 เสาหลักคือ การสาธารณสุข (Health) และทักษะ (Skills)

กลุ่มดัชนีตลาด (Markets) ประกอบด้วย 4 เสาหลักคือ ตลาดสินค้า (Product market) ตลาดแรงงาน (Labor market) ระบบการเงิน (Financial system) และขนาดของตลาด (Market size)

กลุ่มดัชนีระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation ecosystem) ประกอบด้วย 2 เสาหลักคือ พลวัตของภาคธุรกิจ  (Business dynamism) และสมรรถนะด้านนวัตกรรม (Innovation capacity)

[/box]

 

หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การคำนวณ GCI 4.0 เปลี่ยนไปจาก GCI แบบเดิมหลายประการ (ดูล้อมกรอบที่ 1) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่การเรื่องเทคนิคการคำนวณเท่านั้น แต่สะท้อนวิธีมองโลกและวิธีคิดเชิงนโยบายที่น่าสนใจหลายประการ ดังเช่น

 

การพัฒนาเศรษฐกิจในโลกใหม่ไม่ได้เป็นเส้นตรงอีกต่อไป

GCI เดิมตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีระดับการพัฒนา (theory of stages of development) ที่เชื่อว่า เส้นทางการพัฒนาประเทศมีแค่แบบเดียวและแบ่งเป็นลำดับขั้น โดยในขั้นแรก เมื่อประเทศยังมีรายได้ต่ำ การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการ ‘กลายเป็นอุตสาหกรรม’ (industrialization) ที่ใช้แรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในขั้นนี้ควรมุ่งเป้าไปที่ ‘กลุ่มดัชนีพื้นฐาน’

ขั้นที่สอง เมื่อประเทศเริ่มพัฒนา ระดับค่าจ้างจะเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มหมดลง การพัฒนาประเทศในขั้นนี้จะต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ และการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ควรมุ่งเป้าไปที่ ‘กลุ่มดัชนีการเพิ่มประสิทธิภาพ’ อาทิ การพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาตลาดการเงิน เป็นต้น

เมื่อประเทศเข้าสู่ระดับการพัฒนาในขั้นสุดท้าย นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นโยบายที่เหมาะสมจึงเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

ด้วยสมมติฐานข้างต้น การคำนวณขีดความสามารถในการแข่งขันของ GCI ของแต่ละประเทศจึงให้น้ำหนักแต่ละเสาหลักไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าระดับการพัฒนาของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างไร เช่น ประเทศไทย ซึ่งถูกกำหนดให้อยู่ในลำดับขั้นการพัฒนาที่สอง กลุ่มดัชนีนวัตกรรมมีน้ำหนักเพียง 10% เท่านั้น ส่วนสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับขั้นที่สาม กลุ่มดัชนีนวัตกรรมมีน้ำหนักมากถึง 30%

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ประเทศกำลังพัฒนาอาจก้าวกระโดดทางการพัฒนาครั้งใหญ่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้เลย เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เข้าถึงตลาด ความรู้ และเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น แม้จะยังไม่มีสูตรสำเร็จที่แน่นอนว่าต้องดำเนินนโยบายพัฒนาอย่างไร แต่หนทางสู่ความมั่งคั่งและความรุ่งเรืองของแต่ละประเทศนั้นเปิดกว้างมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ภายใต้ฐานคิดเช่นนี้ GCI 4.0 จึงแบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 4 ด้าน 12 เสาหลัก โดยแต่ละเสาหลักมีน้ำหนัก 8.3% เท่ากันหมด

การให้น้ำหนักทุกเสาหลักเท่ากันหมดสะท้อนว่า โมเดลการพัฒนาแบบใหม่จำเป็นต้องมองแบบองค์รวม (holistic approach) เห็นความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ มากกว่าการให้น้ำหนักไปที่เสาหลักใดเสาหลักหนึ่งอย่างเดียว เพราะแต่ละเสาหลักไม่สามารถทดแทนกันได้ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับแรงงาน ดอกผลของการลงทุนย่อมไม่เกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังสามารถจัดลำดับความสำคัญของนโยบายตามความเหมาะสมและข้อจำกัดของตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับระดับการพัฒนาเหมือนเมื่อก่อน

 

‘คน’ เป็นหัวใจของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่

แม้จะมีนิยาม แหล่งข้อมูล และการวัดที่แตกต่างกันในรายละเอียด แต่หากเปรียบเทียบ GCI 4.0 กับ GCI เดิมโดยคร่าวจะพบว่า กลุ่มดัชนีบางกลุ่มอาจพอเทียบเคียงกันได้ เช่น กลุ่มดัชนีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (GCI 4.0) กับ กลุ่มดัชนีพื้นฐาน (GCI) หรือ กลุ่มดัชนีระบบนิเวศของนวัตกรรม (GCI 4.0) กับกลุ่มดัชนีนวัตกรรม (GCI) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นที่สำคัญของ GCI 4.0 คือ ‘กลุ่มดัชนีทุนมนุษย์’  (อย่าลืมว่า ภายใต้ GCI 4.0 แต่ละเสาหลักมีน้ำหนักเท่ากัน ดัชนีทุนมนุษย์จึงมีความสำคัญโดยปริยาย) ซึ่งมีนัยสะท้อนว่า

การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนวก ‘คน’ เข้ามาอยู่ในสมการ

ในอดีต การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศรายได้ต่ำมักจะเป็นการ ‘แลก’ (trade off) ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) แต่ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุขภาพ การศึกษา และทักษะของประชาชนเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การมีทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งจะทำให้เศรษฐกิจยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือความไม่แน่นอน

การให้ความสำคัญกับ ‘คน’ ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ยังช่วยเสนอคำตอบให้กับข้อถกเถียงว่าด้วยการจัดการโลกาภิวัตน์ ซึ่งกำลังร้อนแรงได้อย่างน่าสนใจด้วย นัยเชิงนโยบายภายใต้ GCI 4.0 ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเปิดรับโลกาภิวัตน์ ในฐานะตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพราะไม่เพียงจะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น แต่สิ่งที่อาจสำคัญกว่าคือ การแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ เทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม การจะเก็บเกี่ยวดอกผลจากโลกาภิวัตน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประเทศจะต้องมีการลงทุนด้านทุนมนุษย์ที่เข้มแข็ง ทั้งในแง่ของการเตรียมความพร้อมให้คนเปิดรับโอกาสใหม่ และในแง่ของการดูแลเมื่อเกิดผู้พ่ายแพ้จากโลกาภิวัตน์

 

ปัจจัยอ่อน (soft factors)  มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ในบรรดาตัวชี้วัดทั้ง 98 ตัวของ GCI 4.0 มีเพียง 34 ตัวเท่านั้นที่นำมาจาก GCI เดิม ในขณะที่ 64 ตัวเป็นตัวชี้วัดใหม่ ความน่าสนใจอย่างยิ่งประการหนึ่งของตัวชี้วัดใหม่คือ การให้ความสำคัญกับปัจจัยอ่อน ซึ่ง WEF เชื่อว่าสอดคล้องกับการพัฒนาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อาทิ วัฒนธรรมผู้ประกอบการ การเปิดกว้างทางความคิด ความหลากหลายของแรงงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความไว้วางใจทางสังคม โครงสร้างองค์กรที่แบนราบ เป็นต้น

การหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยอ่อนยังสะท้อนด้วยว่า นวัตกรรมในโลกใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในห้องวิจัยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ และยังเกิดขึ้นได้ในรูปแบบที่หลากหลายด้วยตั้งแต่ผลผลิตใหม่ บริการรูปแบบใหม่ โมเดลธุรกิจแบบใหม่ หรือระบบการบริหารจัดการองค์กรแบบใหม่

 

[box]

เศรษฐกิจในอุดมคติของ GCI 4.0

 

ในรายงาน The Global Competitiveness Report 2018 เสนอว่า เศรษฐกิจที่จะประสบความสำเร็จในยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะต้องตอบโจทย์ดังต่อไปนี้

มีความยืดหยุ่น (be resilient) – มีการออกแบบกลไกทางเศรษฐกิจที่สามารถป้องกันวิกฤตการณ์การเงิน เศรษฐกิจตกต่ำ และ ‘ช็อก’ จากภายนอกได้

มีความปราดเปรียว (be agile) – เปิดรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าฝืนตัวต่อต้าน ภาครัฐ ภาคเอกชน และแรงงานปรับตัวและเก็บเกี่ยวดอกผลจากโอกาสใหม่ในวิธีการใหม่ได้เร็ว

มีการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (build an innovation ecosystem) – ระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดีจะต้องสร้างแรงจูงใจให้คนในระบบมีส่วนทำให้ความคิดใหม่เกิดขึ้น และแปลงความคิดนั้นให้เป็นนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมได้

ใช้การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (adopt a human-centric approach to economic development) – ตระหนักว่าทุนมนุษย์จำเป็นต่อการสร้างความมั่งคั่งและความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ และมองเห็นว่านโยบายใดที่บั่นทอน ‘มนุษย์’ ย่อมส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ผู้กำหนดนโยบายต้องมั่นใจว่า นโยบายและการปรับใช้เทคโนโลยีมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

[/box]

 

ไทยอยู่ตรงไหนในโลกใหม่

 

ที่มา: WEF. The Global Competitiveness Report 2018, 2018.

 

GCI 4.0 เป็นระบบการให้คะแนนความก้าวหน้า (progress score) โดยที่คะแนน 100 เต็มหมายถึง เป้าหมาย (frontier / policy goal) ที่ต้องไปให้ถึง ซึ่งแตกต่างจาก GCI เดิมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เปรียบเทียบระหว่างประเทศเป็นหลัก ในแง่นี้ GCI 4.0 จึงเป็นเครื่องมือที่แต่ละประเทศสามารถใช้ได้ทั้งตรวจสอบสถานะตนเองโดยเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือใช้ตรวจสอบว่าตนเองอยู่ห่างไกลเป้าหมายแค่ไหน โดยที่ไม่จำเป็นต้องแข่งกับใครก็ได้

GCI 4.0 จึงเปลี่ยนโลกของการแข่งขันให้เป็นโลกที่ทุกคนสามารถชนะได้

จากรายงานล่าสุด The Global Competitiveness Report 2018 ผลการจัดอันดับของไทยในภาพรวมพบว่า ประเทศไทยมีผลคะแนนและอันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ผลการจัดอันดับของไทยปี 2561 อยู่ที่อันดับ 38 (67.5 คะแนน) จาก 140 ประเทศ ดีขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่อันดับ 40 (66.3 คะแนน) อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบว่าดัชนีใดดีขึ้นหรือแย่ลงในรายละเอียดยังทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากทาง WEF ทำการเปรียบเทียบเฉพาะคะแนนในภาพรวมเท่านั้น ยังไม่สามารถเปรียบเทียบดัชนีย่อยแต่ละตัว เนื่องจากเพิ่งปรับมาใช้ GCI 4.0 เป็นปีแรก

ผลการจัดอันดับชี้ว่า ไทยมีจุดแข็งหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค (90 คะแนน) ระบบสาธารณสุข (87 คะแนน) และระบบการเงิน (84 คะแนน)  ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน (70 คะแนน) ขนาดตลาด (75 คะแนน) และพลวัตภาคธุรกิจ (71 คะแนน) ก็นับว่าอยุ่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ จุดแข็งเหล่านี้เป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อยู่มากในหลายเสาหลัก เช่น สถาบัน (55 คะแนน) การปรับตัวตามเทคโนโลยีสารสนเทศ (57 คะแนน) ตลาดสินค้า (53 คะแนน) และสมรรถนะด้านนวัตกรรม (42 คะแนน) เป็นต้น ซึ่งไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเสาหลักเหล่านี้ เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกใหม่เป็นปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยอันหลากหลาย ไม่สามารถมุ่งพัฒนาเพียงเสาหลักใดเสาหลักหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวได้

หากยึดคะแนน 100 เป็นเป้าหมายเส้นชัยที่เราควรไปถึง ไทยยังสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในแทบทุกเสาหลัก และนี่คือโอกาสสำคัญของการสร้างอนาคตไทยให้ทันโลก เพื่อคนไทยทุกคน

—————————————–

Futurising Thailand – สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก กับ สภาพัฒน์ 

สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สภาพัฒน์’ เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยมีความตั้งใจทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในประเทศและระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ในงาน Futurising Thailand สร้างอนาคตไทย ให้ทันโลก : “โลกใหม่ ความท้าทายใหม่: ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0” จัดโดยสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ลงทะเบียนฟรี! ที่นี่ http://bit.ly/seminarfuturisingthailandregister

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
เวลา 09.30-12.15 น. (เริ่มลงทะเบียน 08.30 น.)
ณ ห้อง Ballroom B และ C ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 087 401 2225
หรือ [email protected]

#futurisingthailand #การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน #สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก #sponsor #สภาพัฒน์

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save