fbpx

การเมืองเรื่องการปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีฟุคุชิม่า

เทคโนโลยีนิวเคลียร์ถือเป็นความก้าวหน้าอัน ‘สุดโต่ง’ รูปแบบหนึ่งที่อารยธรรมมนุษย์ให้กำเนิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะมองในแง่อาวุธทางทหารหรือแหล่งพลังงานอันล้ำค่าต่อมนุษยชาติ สิ่งที่เดือนสิงหาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ได้เตือนให้เราตระหนักอีกครั้งเกี่ยวกับวิทยาการด้านนิวเคลียร์ ถึงความด้อยสมรรถนะของมนุษย์ในการจัดการผลอันไม่พึงประสงค์ที่ส่งต่อสู่ผู้คนในปัจจุบันให้ต้องหาทางบรรเทาความเลวร้ายอย่างช่วยไม่ได้

ในด้านหนึ่ง เดือนสิงหาคมคือช่วงเวลารำลึกเหตุการณ์ที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิของญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูก่อนสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา แม้ต่อมาการใช้อาวุธร้ายแรงนี้จะไม่เคยเกิดขึ้นอีก แต่การปรากฏโฉมครั้งนั้นก็ทำให้ ‘ศักราชแห่งนิวเคลียร์’ (nuclear age) เปิดฉากขึ้น เปลี่ยนโลกไปในระยะยาว ก่อให้เกิดยุคสงครามเย็น เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการทหาร ไปจนถึงความพยายามสร้างกรอบปฏิบัติขึ้นเพื่อจำกัดนิวเคลียร์

แม้โลกจะเข้าใจถึงความน่ากลัวของมัน ความพยายามลดและเลิกอาวุธนี้กลับติดหล่มอยู่ในที่ประชุมเจรจา เมื่อเสียงที่แตกระหว่างการทำให้โลกปลอดนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงกับการยังคงมองอาวุธร้ายแรงนี้เป็นเครื่องค้ำประกันความปลอดภัยของรัฐใดรัฐหนึ่ง ทำให้มนุษยชาติไม่อาจฝ่าทางแพร่งเพื่อลดความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ได้ ขณะที่เหยื่อผู้รอดตายจากระเบิดปรมาณูในญี่ปุ่นและญาติมิตรยังคงเก็บงำความทรงจำอันเลวร้ายและรอยแผลจากอดีต

ในอีกด้าน เดือนสิงหาคมปีนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะเริ่มระบายน้ำกัมมันตรังสีที่เก็บกักไว้จนใกล้เต็มพิกัดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิม่าไดอิจิลงสู่ทะเล หลังผ่านกระบวนการบำบัดจนได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งสะท้อนอีกแง่มุมปัญหาระยะยาวของเทคโนโลยีนิวเคลียร์แม้ในกรณีที่ใช้ด้านพลเรือน อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุธรณีพิบัติภัยครั้งใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (โทโฮคุ) ตั้งแต่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว

ท่ามกลางความหนักใจของรัฐบาลและความวิตกกังวลของผู้คนทั้งในญี่ปุ่น ชาติข้างเคียง และประชาคมโลก โดยเฉพาะเมื่อได้ยินคำว่า ‘กัมมันตรังสี’ คงเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ด้านนี้ที่โลกเรามีให้ช่วยกันสอดส่องและรับรองว่าวิธีที่ญี่ปุ่นดำเนินการจะปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากที่สุด อย่างไรก็ดีสำหรับข้อเขียนนี้อยากชวนผู้อ่านมองดูปัญหาจากมุมการต่างประเทศ โดยตั้งข้อสังเกตว่าการจัดการเรื่องนี้ได้ดีหรือแย่ส่งผลต่อจุดยืนและความชอบธรรมบนเวทีโลกของญี่ปุ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผลเชิงสิ่งแวดล้อมที่กระทบความเป็นอยู่ของทั้งคนญี่ปุ่นและคนชาติอื่นเป็นวงกว้างอาจมองเป็นปัญหาที่เรียกว่า ‘ความมั่นคงรูปแบบใหม่’ ที่นานาชาติให้ความสนใจมากอยู่ในเวลานี้ เนื่องจากส่งผลต่อชีวิตและสวัสดิภาพของผู้คนแบบข้ามพ้นพรมแดน ไม่ต่างจากประเด็นภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง วิกฤตเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านอาหาร หรือโรคอุบัติใหม่ที่มนุษย์ยังไม่หายจากอาการเข็ดขยาด

ญี่ปุ่นในฐานะที่เป็น ‘ต้นเหตุ’ ของปัญหานิวเคลียร์ในครั้งนี้เผชิญกับประเด็นความมั่นคงอีกรูปแบบหนึ่งเองด้วยเช่นกัน นั่นคือ ‘ความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะ’ (ontological security) ความมั่นคงนี้เกี่ยวโยงกับความรู้สึกมั่นใจว่าตนเป็นที่ยอมรับและดำรงภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาและทัศนะของนานาชาติ น่าสนใจว่าญี่ปุ่นรับมืออย่างไรเพื่อปกป้องสถานะเชิงสังคมในเวทีโลกและลดผลกระทบจากกรณีฟุคุชิม่าที่อาจมีต่อ ‘ความมั่นคงเชิงตัวตน’ นี้ ตลอดจนอุปสรรคท้าทายในความพยายามดังกล่าว

น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี สิ่งตกค้างจากภัยพิบัติในอดีต

แผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิที่ถาโถมพื้นที่โทโฮคุเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิม่าไดอิจิของบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียวหรือ TEPCO จนเกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงและการรั่วไหลของกัมมันตรังสีครั้งใหญ่ เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์อย่างกรณีเชอร์โนบิลในยูเครน (1986) และยังอดที่จะรู้สึกไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเผชิญเคราะห์กรรมจากนิวเคลียร์อีกครั้งหลังจากที่เคยถูกทิ้งระเบิดปรมาณูมาแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนราวสามแสนชีวิตต้องอพยพออกจากเมืองฟุตะบะและโอคุมะซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าฟุคุชิม่าไดอิจิ อย่างที่กล่าวมาว่าสิ่งตกค้างอันไม่พึงประสงค์จากนิวเคลียร์มักส่งผลยาวนาน ดังนั้นกว่าพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะได้รับการพลิกฟื้นกลับมาให้ผู้คนอยู่อาศัยได้ก็กินเวลากว่า 10 ปี รัฐบาลเพิ่งอนุญาตให้ประชาชนกลับเข้าอาศัยในบางพื้นที่ของเมืองฟุตะบะเมื่อปีที่แล้ว ขณะอีกหลายพื้นที่ยังคงถูกจัดเป็น ‘เขตที่ยากต่อการกลับเข้าอยู่อาศัย’ (difficult-to-return zone)

หลังเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหล ประเทศและดินแดนกว่า 50 แห่งรีบกำหนดมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและประมงจากญี่ปุ่นด้วยเกรงการปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ทางการญี่ปุ่นก็กำหนดมาตรฐานของตัวเองอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้สินค้าปนเปื้อนหลุดรอดถึงผู้บริโภค แม้ว่าญี่ปุ่นจะรับประกันความปลอดภัยและร้องขอชาติต่างๆ ให้ผ่อนปรนมาตรการเพื่อเห็นแก่การฟื้นฟูภูมิภาคประสบภัย แต่ใช่ว่านานาชาติจะอุ่นใจต่อสถานการณ์และยังคงข้อจำกัดทางการค้าดังกล่าวมานับทศวรรษ

ในโรงไฟฟ้า ความพยายามลดอุณหภูมิจากการหลอมละลายทำให้เกิดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลจากกระบวนการหล่อเย็นในเตาปฏิกรณ์ ญี่ปุ่นได้เก็บกักน้ำอันเป็นของเสียนิวเคลียร์ที่ผ่านการบำบัดแล้วนี้ในแทงค์ขนาดใหญ่ที่เรียงรายกันหนาแน่นอยู่บริเวณโรงงาน ปริมาณน้ำจนถึงตอนนี้มีมากกว่า 1 ล้าน 3 แสนตันแล้ว ซึ่งใกล้เต็มพิกัดความสามารถรองรับเต็มที รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นปัญหานี้มาสักพักและได้วางแผนเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่าจะต้องปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงทะเลฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในไม่ช้า

การประกาศแผนดังกล่าวให้โลกรับรู้ตั้งแต่ปี 2021 เป็นความพยายามเรียกหาความเข้าใจจากหลายภาคส่วน แม้การเตรียมการล่วงหน้าและประชาสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนานจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แล้วสำหรับการทำงานและดำเนินโครงการแบบญี่ปุ่น ยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องใหญ่ๆ ด้วยแล้ว แต่ในกรณีนี้เวลาดูจะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเตรียมการและทำความเข้าใจอย่างทั่วถึง เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวซึ่งกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ

แนวทางแสวงหาความเข้าใจและให้ความเชื่อมั่น

ขณะที่หลายชาติยังคงวางเงื่อนไขการนำเข้าผลิตผลและอาหารทะเลด้วยเกรงการปนเปื้อน ในญี่ปุ่นเองกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังไม่จางหายไปดีนักจากบทเรียนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลได้สั่งระงับการใช้งานและให้ตรวจเช็กความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าแห่งต่างๆ เป็นการใหญ่ก่อนเริ่มทยอยเดินเครื่องอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ โดยมองเป็นหนทางลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุเป้าการเป็นสังคมปลอดคาร์บอน แต่แผนการปล่อยน้ำเสียนิวเคลียร์ก็อาจกระตุ้นกระแสต่อต้านขึ้นมาใหม่

รัฐบาลเน้นการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อคลายความวิตกแก่ประชาชนญี่ปุ่นซึ่งแน่นอนว่าเป็น ‘แนวหน้า’ รับผลของกัมมันตรังสีเมื่อ TEPCO เริ่มปล่อยน้ำเสียออกสู่มหาสมุทรไกลจากชายฝั่ง 1 กิโลเมตร คนท้องถิ่นฟุคุชิม่าที่ทำมาหากินกับการประมงย่อมต้องเผชิญความไม่แน่นอนเรื่องความปลอดภัยต่อร่างกาย อาหารทะเลที่ปนเปื้อน นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของผู้คนแถบนั้นแล้ว ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและตลาดก็อาจกระทบชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความเสี่ยงที่สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณดังกล่าวจะเสื่อมทรามลง

รัฐบาลยืนกรานต่อสาธารณชนทั้งในและนอกญี่ปุ่นว่าน้ำที่จะปล่อยได้ผ่านกระบวนการแยกสารกัมมันตรังสีกว่า 60 ชนิดออกจนมีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เว้นแต่กัมมันตรังสีพวก ‘ทริเทียม’ (tritium) ที่ไม่อาจกำจัดออกได้หมด แต่ก็รับรองว่ากระบวนการบำบัดด้วยเทคโนโลยี Advanced Liquid Processing System (ALPS) ช่วยลดปริมาณจนต่ำกว่าระดับที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เป็นระดับที่พบเจอทั่วไปตามธรรมชาติ ทั้งยังต่ำกว่าระดับที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทำงานปกติในสากลโลกปล่อยออกมาด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์เพื่อลดแรงต้านดำเนินไปในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการออกมาสคอตเป็นตัวการ์ตูน ‘ทริเทียม’ ที่ดู ‘คาวาอี้’ เพื่อสื่อความไม่มีพิษมีภัย แต่กลับกลายเป็นเรียกเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสม ดูเหมือนสังคมญี่ปุ่นไม่ยอมให้รัฐบาลทำเรื่องซีเรียสเช่นนี้เป็นเหมือนอะไรเล่นๆ จนต้องเลิกใช้ตัวมาสคอตนั้นไป ส่วนอีกแนวหน้าที่สำคัญและขาดมิได้ในเมื่อแผนการนี้ไม่ได้กระทบแต่กับคนญี่ปุ่น คือ ‘การทูต’ เพื่อร้องขอการยอมรับต่อแผนการปล่อยน้ำบำบัดที่จะดำเนินไปนานถึง 30-40 ปีจากนี้

บทบาทบนเวทีโลกกับความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะ

มาตรการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันมักมองเป็นเรื่อง ‘ส่วนรวม’ ที่คนบนโลกไม่ว่าที่ไหนให้ความสนใจร่วมกัน คงถือไม่ได้ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพแล้วแต่การตัดสินใจตามอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น กัมมันตรังสีที่อาจกระจายไปในมหาสมุทรทำให้เรื่องนี้ถูกมองได้ว่าเป็น ‘ประเด็นข้ามชาติ’ (transnational issue) ที่หลายประเทศมีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งยังเข้าข่ายความมั่นคงรูปแบบใหม่ หรือ ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่นานาชาติคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวของรัฐต่างๆ อยู่ในขณะนี้

ญี่ปุ่นในฐานะที่วางตนเป็นชาติที่ตื่นตัวและแข็งขันในประเด็นสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมี ‘พิธีสารเกียวโต’ (Kyoto Protocol) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเครื่องตอกย้ำสถานะนี้โดยมีชื่อเมืองญี่ปุ่นแปะหราอยู่บนข้อตกลง จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะอ่อนไหวเรื่องภาพลักษณ์หากถูกมองเป็นต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาญี่ปุ่นเผชิญเสียงวิจารณ์และกดดันมามากแล้วในเรื่องการลดคาร์บอนซึ่งก็เป็นผลจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิม่าเช่นกัน เพราะหลังอุบัติเหตุ ทางการระงับใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศและหันไปพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานแทน

การฟูมฟักบทบาทด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นบนเวทีโลกเป็นผลจากการรับรู้และนิยามตัวตนเป็นชาติชั้นนำ ‘สายพลเรือน’ (civilian power) ซึ่งก็มีสาเหตุอีกต่อหนึ่งมาจากบรรทัดฐานภายในประเทศที่มุ่งเน้นสันตินิยม หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอันเป็นหลักคุณค่าที่บ่มเพาะปลูกฝังมาในสังคมยุคหลังสงครามด้วยสำนึกถึงความเลวร้าย และการเป็นทั้งผู้ก่อและเหยื่อของสงคราม อย่างที่วาระการรำลึกในญี่ปุ่นช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีสะท้อนให้เห็น

ดังนั้น เมื่อสถานะของประเทศเปลี่ยนเป็น ‘มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ’ บทบาทบนเวทีโลกที่ญี่ปุ่นเลือกเล่นเพื่อทำตนให้เป็นประโยชน์สมศักดิ์ศรีจึงจำกัดเฉพาะด้านที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการทหาร ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สิ่งแวดล้อม การรับมือภัยพิบัติดูจะเป็นประเด็นที่ญี่ปุ่นถนัด แม้ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นส่งกองกำลังเข้าร่วม ‘รักษาสันติภาพ’ แต่ก็ยังคงเล่นบทบาทจำกัดและย้ำการไม่ร่วมใช้กำลัง ในทศวรรษเดียวกันนี้บทบาทที่โดดเด่นกว่าของญี่ปุ่นคือการเป็นแนวหน้าส่งเสริมหลักการ ‘ความมั่นคงของมนุษย์’

‘ความมั่นคง’ ที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการเน้นสวัสดิภาพของรัฐมาสู่ชีวิตของปัจเจกบุคคลเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับค่านิยมและตัวตนของญี่ปุ่น บทบาทที่อาจดูมีความสำคัญระดับรองหากเทียบกับประเด็นยุทธศาสตร์และความมั่นคงของรัฐ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน การศึกษาพัฒนาและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมองเรื่องเหล่านี้ว่าเป็น ‘ความมั่นคง’ แบบหนึ่ง ก็ช่วยยกระดับวาระเหล่านี้ให้มีความสำคัญ ซึ่งก็ทำให้บทบาทของญี่ปุ่นในฐานะชาติที่ทำประโยชน์ต่อวาระดังกล่าวมีคุณค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเข้าใจพื้นฐานการรับรู้และนิยามตัวตน ไปจนถึงมุมมองด้านสถานะและการกำหนดบทบาทบนเวทีโลกของญี่ปุ่นเช่นนี้แล้ว แผนปล่อยน้ำที่ฟุคุชิม่าจึงสุ่มเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะ (ontological security) ในหลายทาง ความพยายามของญี่ปุ่นที่ผ่านมายึดอยู่บนฐานการทำตนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก การมีส่วนร่วมทำประโยชน์ในกิจการต่างๆ เพื่อยืนหยัดในความเป็น ‘ชาติชั้นนำที่รับผิดชอบ’ (responsible power)

ดังนั้นการต้องตกเป็นต้นเหตุของปัญหานิวเคลียร์ไปเสียเองจึงไม่ค่อยน่าพิสมัยเท่าใดนัก ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ถูกโจมตีจากท่าทีอิดออดที่จะเข้าร่วม ‘สนธิสัญญาต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์’ โดยอ้างการอาจต้องยอมรับตรรกะการมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อการป้องปราม ท่าทีนี้ไม่เพียงถูกมองว่าไม่สอดรับกับอัตลักษณ์ ‘เหยื่อนิวเคลียร์’ ที่ญี่ปุ่นมักตอกย้ำให้โลกได้เห็น แต่ยังขัดกับจุดยืนการเป็นรัฐที่รับผิดชอบผลักดันกรอบการกำจัดนิวเคลียร์ด้วย อาจมองว่าการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีมีแต่จะทำให้สถานะดังกล่าวย่ำแย่ลง

นอกจากนั้น สถานะผู้สร้างประโยชน์ในประเด็นความมั่นคงข้ามชาติและความมั่นคงของมนุษย์ที่ญี่ปุ่นใช้ชดเชยบทบาทด้านยุทธศาสตร์และการทหารในกิจการระหว่างประเทศ ก็อาจถูกปนเปื้อนด้วยภาพลักษณ์การคิดแต่จะปัดเป่าปัญหาเฉพาะหน้าส่วนตนที่ฟุคุชิม่าโดยไม่สนผลข้างเคียงต่อคนชาติอื่นและสิ่งแวดล้อม ‘ความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะ’ ที่ญี่ปุ่นสั่งสมมาจากการแสดงความกระตือรือร้นร่วมมือจัดการปัญหาโลกาภิบาล (global governance) ก็อาจถูกสั่นคลอน

ฟุคุชิม่ากับการทูตเพื่อรักษาความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะ

แล้วญี่ปุ่นจัดการอย่างไรเพื่อลดแรงกระแทกต่อความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะ ทั้งในแง่การเป็นรัฐทำประโยชน์ รัฐที่รับผิดชอบ และรัฐที่มีบทบาทนำในการปฏิบัติตามกรอบสิ่งแวดล้อมและนิวเคลียร์ คำตอบนี้มีอยู่ในการดำเนินการทูตระหว่างช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดเผยแผนและวันเริ่มต้นการปล่อยน้ำบำบัด (ที่คงมีขึ้นในเร็ววันนี้) การทูตดังกล่าวดูจะตั้งอยู่บน 3 เสาหลัก ได้แก่ ความโปร่งใส (transparency) พหุภาคีนิยม (multilateralism) และความชอบธรรมสากล (universal legitimacy)

การเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมโลกและการร่วมมือกับหน่วยงานสากล คือ สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มีส่วนช่วยลดความน่าเคลือบแคลงของแผนการลง ญี่ปุ่นใช้เวทีการทูตประกาศแผนดังกล่าวและขอความเข้าใจจากนานาชาติ อีกทั้งการมีสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีฝ่ายค้าน ประชาชน กลุ่มสังคม และสื่อ คอยสอดส่องและตั้งข้อกังขาถึงผลกระทบต่างๆ ซึ่ง ‘แนวหน้ารับเคราะห์’ ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคนญี่ปุ่นและคนท้องถิ่นแถบโทโฮคุ ก็ทำให้โลกภายนอกเห็นกระบวนการตรวจสอบ ข้อมูล และการสนองตอบของรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่เสมอ

นอกจากความโปร่งใสจะช่วยลดแรงต้านลงได้ การเดินหน้าปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้นำชาติอื่นก็ชี้ให้เห็นการบริหารจัดการ ‘แบบพหุภาคี’ นี่สะท้อนความเข้าใจว่าปัญหานี้ก่อความวิตกแก่หลายประเทศ ญี่ปุ่นที่ต้องอาศัยพึ่งพิงชาติอื่นๆ เพื่อความอยู่รอดและเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโดดเดี่ยว ‘เครือข่ายความพึ่งพิง’ นี้เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องปกปักรักษาและไม่อาจคิดเพียงจะแก้ปัญหาส่วนตัว เงื่อนไขนี้จึงทำให้นานาชาติสามารถกดดันให้ญี่ปุ่นรับฟังเสียงเรียกร้อง การที่หลายชาติยังคงข้อจำกัดการนำเข้าเป็นเหมือนสิ่งเตือนใจญี่ปุ่นในเรื่องนี้

การคำนึงถึงทัศนะของหลายชาติทำให้ญี่ปุ่นทุ่มเทเวลากับการทูตแบบขอความเห็นใจและรับประกันความปลอดภัยเรื่องฟุคุชิม่า หลายครั้งกระบวนการนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการเชื่อมสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์หรือพันธมิตรความมั่นคง อย่างที่เห็นในการเยือนยุโรปหลายครั้งของผู้นำญี่ปุ่น เนื่องจากวาระการรักษาดุลอำนาจทางทหารเป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ ‘การกระชับมิตร’ หรือหุ้นส่วนในเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดกว่าอย่างการสอดส่องท่าทีของจีนทำให้แผนปล่อยน้ำเสียเป็นเรื่องพูดคุยง่ายขึ้น

คงปฏิเสธยากว่าการจับมือและแบ่งฝ่ายในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) มีส่วนปรุงแต่งทัศนคติของชาติต่างๆ ต่อประเด็นโรงไฟฟ้าฟุคุชิม่า ความรู้สึกเป็นมิตรและไว้ใจซึ่งกันที่มีอยู่เป็นพื้นฐานน่าจะช่วยเปลี่ยนแรงต้านเป็นความเห็นใจและเชื่อมั่นในการจัดการของญี่ปุ่น ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศที่ง่ายต่อการรับฟังเหตุผลจนบรรลุความเข้าใจ จะเห็นว่าญี่ปุ่นใช้ทั้งเวที G7 และ ASEAN+3 ขอการสนับสนุนในเรื่องนี้

ญี่ปุ่นประวิงเวลาระบายน้ำออกไปจนกว่าจะได้พบปะผู้นำเกาหลีใต้ที่สหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดสามฝ่าย (trilateral talk) กับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ (18 สิงหาคม) เพื่อเอื้อให้ฝ่ายหลังซึ่งหันมาจับมือญี่ปุ่นในการถ่วงดุลกับเกาหลีเหนือ สามารถบอกประชาชนของตนเองได้ว่าได้กำชับกับญี่ปุ่นถึงข้อกังวลของเกาหลีใต้แล้ว การผูกมิตรในเรื่องใหญ่กว่าอย่างความมั่นคงทางทหารทำให้การตกลงเรื่องนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากวาระนี้เกิดขึ้นสมัยผู้นำเกาหลีคนก่อนที่เน้นการเรียกร้องค่าชดเชยประเด็นประวัติศาสตร์จากญี่ปุ่นก็คงยากที่สองชาติจะประนีประนอมกันได้

การทูตที่คำนึงถึงสายตาของนานาชาตินี้ยังเชื่อมโยงกับ ‘การแสวงหาความชอบธรรม’ ซึ่งการหันพึ่ง IAEA เป็นวิธีการสำคัญของเรื่องนี้ การเปิดให้หน่วยงานอันเป็นที่ยอมรับด้านองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญนิวเคลียร์ ทั้งยังมีอำนาจฟันธง (authority) และมีตัวแทนจากหลายชาติแบบพหุภาคี ได้เข้าสำรวจตรวจสอบสถานที่ กระบวนการ และเทคนิควิธีที่เกี่ยวข้องทำให้ญี่ปุ่นอ้างได้ว่ามาตรการที่ตนใช้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ท่าทีต่อต้านของจีนและการตอบโต้ของญี่ปุ่น

รายงาน IAEA ที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคมซึ่งให้ความเห็นชอบแผนการของญี่ปุ่นช่วยตอกย้ำความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และการดำเนินขั้นตอนที่กำหนดโดยหน่วยงานระดับโลก อันเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ความเห็นชอบนี้ยังช่วยยืนยันความปลอดภัยของระดับสารประกอบทริเทียมที่ไม่สามารถบำบัดให้หมดไปได้ว่าไม่น่ามีผลกระทบ เมื่อ IAEA รับรองชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายชาติหุ้นส่วนความมั่นคงกับญี่ปุ่นก็เคลื่อนไหวในทางที่เป็นผลดีต่อแผนการและต่อความมั่นคงเชิงตัวตนของญี่ปุ่น

สหรัฐฯ ออกมาแสดงความยินดีและเห็นชอบที่ญี่ปุ่นเสร็จสิ้นขั้นตอนก่อนเดินหน้าระบายน้ำ สหภาพยุโรปก็ตกลงยกเลิกเงื่อนไขนำเข้าผลิตผลจากฟุคุชิม่าที่บังคับใช้มานานเมื่อต้นเดือนนี้ ส่วนเกาหลีใต้ซึ่งในทีแรกยังกังขาต่อรายงาน IAEA ก็หันมายอมรับโดยอ้างผลการศึกษาของตนเองว่าแผนของญี่ปุ่นดูไม่น่าเป็นห่วง แม้จะยังคงเงื่อนไขการนำเข้าอยู่ต่อไป การยอมรับจากชาติเหล่านี้ช่วยเพิ่มความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นให้แพร่ไปยังชาติอื่นๆ ผ่อนเบาความกังวลเรื่องฟุคุชิม่าลงได้

แม้ดูเหมือนความพยายามปกป้องความมั่นคงเชิงตัวตนและสถานะจะดำเนินไปด้วยดี แถมยังมีชาติที่จ่อจะยกเลิกเงื่อนไขการนำเข้าผลิตผลจากญี่ปุ่นเพิ่มอีกโดยไม่ห่วงแผนการระบายน้ำ แต่การธำรงภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือก็เผชิญอุปสรรคใหญ่ นั่นคือการไม่อาจซื้อใจมหาอำนาจในพื้นที่อย่างจีนได้ กลับกลายเป็นว่าจีนเป็นหัวหอกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์แผนปล่อยน้ำนี้ โดยตั้งคำถามถึงความปลอดภัยไปจนกระทั่งความเห็นของ IAEA

นอกจากความกังวลที่เกิดขึ้นเหมือนกันในทุกแห่ง การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้จีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อเรื่องนี้กว่าใครเพื่อน ประเด็นบาดหมางระหว่างทั้งสองไม่ว่าจะเป็นการกระชับมิตรกับไต้หวันของญี่ปุ่น หรือการเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ปิดกั้นจีนจากเทคโนโลยีผลิตชิปชั้นสูง ทำให้จีนมีแรงจูงใจหลายประการที่จะไม่รับฟังเหตุผล อาจมองด้วยว่าท่าทีนี้สะท้อนความต่อเนื่องของการใช้ญี่ปุ่นในฐานะศัตรูเก่าปลุกปั่นชาตินิยมในประเทศ การโจมตีญี่ปุ่นของรัฐบาลยังส่งเสริมความชอบธรรมของตนในฐานะผู้ปกป้องความปลอดภัยให้แก่ประชาชนอีกด้วย

จีนกำลังสั่นคลอนความมั่นคงเชิงสถานะของญี่ปุ่นด้วยการกระจายความเคลือบแคลงสงสัย ในฐานะตลาดส่งออกอาหารทะเลใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น จีนขู่จะระงับการนำเข้าผลิตผลจาก 10 จังหวัด หากญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำบำบัดซึ่งจีนยืนกรานว่าเป็น ‘น้ำเสียปนเปื้อน’ ถึงกระนั้นทางการจีนได้เริ่มมาตรการตรวจเข้มสารกัมมันตรังสีในสินค้าประมงนำเข้าจากญี่ปุ่นไปก่อนแล้ว หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศตำหนิญี่ปุ่นว่ากำลังใช้มหาสมุทรเป็น ‘ท่อน้ำทิ้งส่วนตัว’ และว่าข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หาใช่สิ่งสำคัญเท่า ‘ทัศนคติ’ ซึ่งน่าจะหมายความว่าญี่ปุ่นยังไม่พิสูจน์ให้จีนเชื่อมั่นเพียงพอ

คำวิจารณ์และต่อต้านของรัฐบาลจีนอาจส่งผลขยายความหวั่นเกรงที่ดำรงอยู่แล้วให้ใหญ่โตขึ้น ไม่เพียงแค่ในสังคมจีนเท่านั้น แต่อาจแพร่ไปในหมู่สาธารณชนเกาหลีใต้ที่ไม่ค่อยพอใจญี่ปุ่นอยู่เป็นทุนเดิม หรือแม้แต่ส่งเสริมกระแสต่อต้านในสังคมญี่ปุ่นเพราะการถูกกีดกันจากตลาดจีนก็เป็นข้อกังวลของภาคประมงในท้องถิ่นที่เกรงว่าการปล่อยน้ำจะ ‘กระทบชื่อเสียง’ ของผลิตผลและเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนความพยายามทำให้จีนรับฟังและเห็นพ้องคงไม่ใช่เรื่องง่ายหากความขุ่นเคืองในความสัมพันธ์ภาพใหญ่ยังไม่คลี่คลาย กลไกการปกป้องตนเอง (defense mechanism) ของญี่ปุ่นดูจะทำงานเพื่อดำรง ‘ความมั่นคงเชิงตัวตน’ ไม่ให้เสียหาย ด้วยการตีความว่าสิ่งที่จีนทำคือการใช้โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เบี่ยงเบนมติมหาชนและทำลายความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น เช่นนี้แล้วเป้าหมายจึงคงไม่ใช่การทำให้จีนเข้าใจหรือเห็นใจ แต่เป็นการลดความเสียหายของญี่ปุ่นด้วยการทำให้จีนกลายเป็น ‘เสียงส่วนน้อย’ ที่แสดงออกด้วยวาระซ่อนเร้นหรือไม่ก็ด้วยอคติจาก ‘ความเป็นศัตรู’ มากกว่ายึดหลักเหตุผล

เห็นชัดว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นเริ่มมีวาทะตอบโต้โดยชี้ว่าจีนไม่ได้ถกเถียงจากหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งที่แผนของญี่ปุ่นมี IAEA รับรองแต่ ‘จีนกำลังเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ’ (incorrect information) ดังที่รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นยืนกราน อีกทั้งการตั้งข้อสงสัยต่อรายงานของ IAEA ก็เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานระดับโลกนี้ด้วย

จากเนื้อหาที่เสนอมา ดูเหมือนว่าทัศนะต่อแผนการปล่อยน้ำบำบัดกัมมันตรังสีที่ฟุคุชิม่าจะแยกออกเป็นสองฝ่ายตามเส้นแบ่งการแข่งขันถ่วงดุลอำนาจเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ความพยายามทางการทูตในช่วงที่ผ่านมาของญี่ปุ่นส่งผลสร้างความเชื่อมั่นและดูดซับแรงกระแทกต่อความมั่นคงเชิงสถานะและตัวตนได้ในหมู่ชาติพันธมิตร และหุ้นส่วนความมั่นคงที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเป็นทุนเดิม

แต่สำหรับจีน กระแสต่อต้านกลับรุนแรงในแบบประนีประนอมกันได้ยาก เพื่อปกป้องแผนการและสถานะในสายตาประชาคมโลก ดูเหมือนญี่ปุ่นจะใช้วิธีฉายภาพให้จีนเป็น ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ที่ยังไงก็ไม่อาจคล้อยตามข้อพิสูจน์และหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความปลอดภัยที่ญี่ปุ่นเสนอให้ได้ วิธีนี้ช่วยลดทอนความน่าเชื่อถือของสิ่งที่จีนโต้แย้งโดยชี้ถึงความไม่บริสุทธิ์ใจและมีความต้องการบ่อนทำลายญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลัง

การทำเช่นนี้อาจช่วยให้ญี่ปุ่นปกปักรักษาความมั่นคงและยืนหยัดอย่างมั่นใจ ในสถานะที่นานาชาติมองว่าญี่ปุ่นยังคงเป็นรัฐที่รับผิดชอบ และจัดการวิกฤตได้โดยไม่ก่อภาระหรืออันตรายเกินกว่าที่จะยอมรับได้

แต่การดิ้นรนเพื่อรักษาสถานะนี้ด้วยการผลักจีนให้เป็นฝ่ายศัตรูที่โจมตีญี่ปุ่นด้วยอคติ ก็ทำให้ต้องจับตามองว่าการปล่อยน้ำที่ฟุคุชิม่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองตกต่ำลงแค่ไหนและจะกลับมาดีกันได้ยังไง พร้อมไปกับการต้องจับจ้องและตรวจสอบญี่ปุ่นว่าจะดำเนินการปล่อยน้ำที่ฟุคุชิม่าโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและผู้คนตามที่ให้คำมั่นได้แน่หรือไม่

เอกสารอ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save