fbpx

มรณกรรมของ ‘หลี่เค่อเฉียง’ กับความเปราะบางของการเมืองจีน

หลี่เค่อเฉียง

หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกฯ จีนซึ่งครองตำแหน่งถึง 10 ปี ในช่วง ค.ศ. 2012-2022  เสียชีวิตกะทันหันด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ในประวัติศาสตร์ การตายของอดีตผู้นำจีนมักเป็นเรื่องเปราะบางทางการเมือง อย่างการตายของอดีตนายกฯ โจว เอินไหล หรืออดีตผู้นำพรรคอย่างหู เย่าปัง ล้วนเคยนำไปสู่บรรยากาศสั่นคลอนทางการเมือง

โดยเฉพาะการตายของหู เย่าปัง ซึ่งเป็นนักปฏิรูปในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง และเคยถูกพรรคถอดออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค สุดท้ายนำไปสู่กระแสการไว้อาลัยและเรียกร้องให้ชำระชื่อเสียงของเขาเสียใหม่ หนึ่งสัปดาห์ภายหลังการตายของหู เย่าปัง ก็เกิดการชุมนุมใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Square Protests and Massacre) จนเป็นเหตุการณ์ลือลั่นในปี 1989

มาตอนนี้ ภายหลังมรณกรรมของหลี่ เค่อเฉียง ประชาชนจำนวนมากต่อแถวนำดอกไม้และเทียนไขวางหน้าบ้านเกิดหรือหน้าสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับท่าน แต่หากค้นหาคำว่า ‘หลี่ เค่อเฉียง’ ในโซเชียลมีเดียของจีน จะค้นไม่พบภาพเหล่านี้ สะท้อนว่ารัฐบาลจีนพยายามควบคุมกระแสสังคมและไม่ประสงค์ทำข่าวการเสียชีวิต รวมทั้งการไว้อาลัยให้ใหญ่โต

หลายคนสังเกตว่า ข่าวทางการในช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลที่ประกาศการเสียชีวิตของอดีตนายกฯ มีการนำเสนอข่าวสั้นๆ เพียง 2-3 นาที จากนั้นทุกอย่างก็เหมือนดำเนินไปเช่นปกติ ไม่มีพิธีกรรม สารคดี หรือความประสงค์ให้เกิดกระแสการไว้อาลัยระดับชาติที่นำโดยรัฐ 

ดูเหมือนรัฐบาลจีนตัดสินใจไม่จัดพิธีเคารพศพอย่างยิ่งใหญ่แบบการตายของอดีตผู้นำเจียง เจ๋อหมิน เมื่อปีก่อน ซึ่งอาจมองได้ว่าเพราะหลี่ เค่อเฉียงไม่ใช่อดีตผู้นำสูงสุด พิธีการที่แจ้งในขณะนี้คือ ในวันเผาศพจะมีการลดธงชาติลงครึ่งเสาทั่วประเทศ และมีพิธีส่งดวงวิญญาณ แต่จะไม่เชิญแขกต่างชาติและไม่เชิญผู้นำจากมณฑลต่างๆ นอกปักกิ่งเข้าร่วมงาน โดยอ้างว่าเป็นไปตามแนวทางการจัดงานศพผู้นำอย่างเรียบง่ายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ทว่าคำถามสำคัญคือ เหตุใดมรณกรรมของหลี่ เค่อเฉียงจึงกลายเป็นเรื่องเปราะบางทางการเมืองในจีน คำตอบคือทุกคนทราบดีว่า หลี่ เค่อเฉียงเคยเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับสี จิ้นผิง แต่สุดท้ายในปี 2012 พรรคเลือกให้สีจิ้นผิงเป็นเบอร์ 1 และให้หลี่เค่อเฉียงเป็นเบอร์ 2

หลี่ เค่อเฉียงจึงเป็นสัญลักษณ์ของอีกความเป็นไปได้ของจีนที่ไม่ได้เกิดขึ้น หลายคนชวนถามว่า หากในปี 2012 ประเทศจีนได้ผู้นำเบอร์ 1 เป็นหลี่ เค่อเฉียง จีนวันนี้จะเหมือนหรือแตกต่างจากที่เป็นอยู่อย่างไร

แน่นอนประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปไม่ได้ และจีนภายใต้การนำของหลี่ เค่อเฉียงอาจแย่หรือดีกว่าจีนวันนี้ก็ได้ แต่หลายคนที่ไม่พอใจสภาพการณ์ของจีนในปัจจุบันย่อมชวนตั้งคำถามดังกล่าว 

นอกจากนี้ หลายคนมองว่า หลี่ เค่อเฉียงเป็นทั้งนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์ (เขาจบปริญญาตรีโทกฎหมายและปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง) เป็นผู้ที่เคยเรียกร้องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในจีน ดังนั้น หากเขามีอำนาจสูงสุดน่าจะทำให้จีนเสรีและเปิดกว้างกว่าภาพของจีนที่ปิดและควบคุมหนักขึ้นเช่นในวันนี้ และจีนน่าจะเปิดกว้างต่อเอกชนและพ่อค้า มากกว่าภาพที่จีนกำราบเอกชนและพ่อค้าอย่างหนักภายใต้การจัดระเบียบธุรกิจของสี จิ้นผิง

เห็นแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมการตายของหลี่ เค่อเฉียงจึงกลายเป็นเรื่องเปราะบางในทางการเมืองไปได้

เพราะหลี่ เค่อเฉียงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่กำลังหายไปของจีน ไม่ว่าจะเป็นยุคของการเปิดกว้างมากขึ้น ยุคของการเชื่อมกับตะวันตกมากขึ้น ยุคของเศรษฐกิจเอกชน และยุคที่ความร่ำรวยเป็นเกียรติยศ 

สมัยเป็นนักศึกษา ตัวหลี่ เค่อเฉียงเคยร่วมแปลหนังสือ Due Process of Law จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีน เขาเป็นนักการเมืองจีนระดับสูงที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว และมีดีกรีปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้เขาชอบพูดถึงการปฏิรูปกลไกตลาดและส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน

ในทางการเมือง เขายังเป็นตัวแทนของปัญญาชนคนรุ่นใหม่การศึกษาดีที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ผ่านสันนิบาตเยาวชน ซึ่งเป็นสายการเมืองของอดีตผู้นำหู จิ่นเทา แต่ปัจจุบัน ขั้วการเมืองของสันนิบาตเยาวชนดูจะถูกกำจัดไปหมดสิ้น มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า บัดนี้เหลือเพียงขั้วของสี จิ้นผิงขั้วเดียวเท่านั้นที่ครองอำนาจนำในพรรค

การเมืองจีนเป็นกล่องดำ ไม่มีใครรู้ตื้นลึกหน้าบางภายใน การที่หลี่ เค่อเฉียงครองตำแหน่งนายกฯ ได้ถึง 10 ปี แสดงว่าสี จิ้นผิงเองก็ต้องให้เกียรติเขาในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน จีนภายใต้การนำของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียงไม่ได้เดินไปในทิศทางที่เสรีมากขึ้นตามที่หลายคนเคยคาดหวัง หลายคนคิดว่าเพราะหลี่ เค่อเฉียงเป็นนายกฯ ที่มีอำนาจและบทบาทน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องด้วยพลังบารมีที่เหนือกว่าและการเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานภาครัฐของสี จิ้นผิง

ในขณะเดียวกัน ความจริงแล้วหลี่ เค่อเฉียงอาจไม่คิดจะผลักดันจีนไปในทิศทางที่เสรีขึ้น เพียงแต่หลายคนเข้าใจเขาผิดและไปตั้งความหวังที่สูงเกินไปต่อเขา หรือเขาอาจจะอยากผลักจีนไปในทิศทางที่เสรีขึ้น แต่ถูกสี จิ้นผิงขัดขวางและผลักดันจีนไปในทิศทางตรงข้าม และดูเหมือนคนที่ไม่พอใจสภาพการณ์ในจีนปัจจุบันจะฝังใจเชื่อแบบหลัง

มีภาษิตว่า คนตายเป็นคนดีเสมอ เพราะเรามักให้คนตายทำหน้าที่ตัวแทนสิ่งที่เราอยากได้ อยากเห็น หรือสิ่งที่เรามองว่าอาจเป็นไปได้ แต่ไม่ได้เป็น หลี่ เค่อเฉียงในวันนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แทนอารมณ์ความรู้สึกร่วมถึงอีกเส้นทางที่จีนอาจเดินไปได้ แต่ไม่ได้เดิน และเป็นตัวแทนคุณลักษณะของยุคสมัยหนึ่งที่กำลังหมดไป 

แต่ดูจากดอกไม้และเทียนอาลัยถึงอดีตนายกฯ ท่านนี้ที่หลั่งไหลจากคนจีนทั่วสารทิศ แสงไฟในจีนถึงอาจมืดลง แต่ไม่ได้มอดมิดอย่างแน่นอน  

หลี่เค่อเฉียง

หลี่เค่อเฉียง

หลี่เค่อเฉียง

หลี่เค่อเฉียง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save